บทความเรื่อง "อัครทูตกับการอุทิศตัวเพื่อท้องถิ่น"
โดย Haiyong Kavilar
หลังจากที่ มาร์ติน ลูเธอร์ ปฏิรูปคริสตศาสนาในศตวรรษที่16 นิกายโปรเตสแตนต์ก็ถือกำเนิดขึ้น นับตั้งแต่นั้นคณะต่างๆของนิกายโปรเตสแตนต์ก็เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด เช่น คณะเพรสไบทีเรียนเกิดขึ้นช่วงปี 1560 คณะแบ๊บติสต์เกิดขึ้นช่วงปี 1609 คณะเพนเทคอสเกิดขึ้นช่วงปี 1910 เป็นต้น
แม้ว่านิกายโปรเตสแตนต์จะมีคณะอยู่มากมาย โดยแต่ละคณะก็มีจุดเน้นในคำสอนที่แตกต่างกัน ทว่าระยะหลังๆมานี้ ผู้นำคริสเตียนในแต่ละคณะต่างให้ความสนใจมากขึ้นต่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในพระกาย การประชุมหรือการรวมตัวของคริสเตียนในหลายๆคณะกำลังมีขึ้นอย่างแพร่หลาย ซึ่งการประชุมในลักษณะนี้ไม่ค่อยจะพบเห็นในศตวรรษก่อนๆนัก ราวกับว่าในศตวรรษนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์กำลังรื้อฟื้นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมายังเจ้าสาวของพระคริสต์
วอท์ชแมน นี (ผู้นำการฟื้นฟูที่ประเทศจีนช่วงก่อนยุคคอมมิวนิสต์) ได้กล่าวถึงคริสตจักรไว้ว่า ในพระคัมภีร์คำว่าคริสตจักรมีอยู่สองรูปคือ รูปเอกพจน์(คริสตจักร) กับรูปพหูพจน์(คริสตจักรทั้งหลาย) เมื่อพระคัมภีร์ใช้คำว่าคริสตจักรในรูปเอกพจน์ บ่อยครั้งมักจะหมายถึงคริสตจักรในเมืองเมืองหนึ่ง เช่น คริสตจักรในเมืองโครินธ์ คริสตจักรในเมืองเอเฟซัส เป็นต้น ส่วนคำว่าคริสตจักรในรูปพหูพจน์มักจะหมายถึงคริสตจักรทั้งหลายในแคว้นหรือในมลฑล เช่น คริสตจักรทั้งหลายในมณฑลกาลาเทีย คริสตจักรทั้งหลายในแคว้นอาคายา
รูป วอท์ชแมน นี
การที่พระคัมภีร์ใช้คำว่าคริสตจักรในรูปเอกพจน์สำหรับเมืองเมืองหนึ่งสะท้อนเป็นนัยว่า แม้ในเมืองหนึ่งจะมีที่ประชุมหลายที่ ทว่าที่ประชุมเหล่านี้ก็นับว่าเป็นคริสตจักรเดียวกัน แม้ว่าที่ประชุมแต่ละที่จะถือกำเนิดมาจากอัครทูตที่แตกต่างกัน ตราบใดที่แต่ละที่ประชุมยังอยู่ในเมืองเดียวกัน ที่ประชุมเหล่านั้นก็ถือว่าเป็นคริสตจักรเดียวกัน
ความเข้าใจนี้สามารถประยุกต์ใช้ในปัจจุบันได้ว่า แม้ในเมืองหนึ่งจะมีโบสถ์หลายๆโบสถ์ และแม้แต่ละโบสถ์จะกำเนิดมาจากองค์กรที่แตกต่างกัน ทว่าในภาพฝ่ายวิญญาณแล้ว โบสถ์ทุกโบสถ์ในเมืองเดียวกันก็ถือว่าเป็นคริสตจักรเดียวกัน
เมื่อผมได้ศึกษาประวัติศาสตร์การฟื้นฟูที่เกิดขึ้นในแต่ละเมือง ผมพบสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเหล่าศิษยาภิบาลในเมืองมีความเกี่ยวข้องอย่างมากต่อการฟื้นฟูในเมืองนั้น แม้ว่าศิษยาภิบาลจะมาจากโบสถ์คนละโบสถ์ แม้ว่าศิษยาภิบาลจะมาจากองค์กรคนละองค์กร แต่ถ้าศิษยาภิบาลเหล่านั้นได้มีโอกาสร่วมประสานกันหรือมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดการฟื้นฟูได้ง่ายขึ้น
การสร้างเครือข่ายเพื่อให้ศิษยาภิบาลในแต่ละโบสถ์ได้ร่วมประสานกันจึงเป็นส่วนสำคัญหนึ่งต่อการฟื้นฟู โดยเครือข่ายของการร่วมประสานนี้จะไม่ได้มีจุดเน้นเพื่อคณะใดคณะหนึ่ง แต่มีจุดเน้นเพื่อการฟื้นฟูเมืองหรือท้องถิ่น การร่วมประสานกันในเครือข่ายนี้จึงเป็นการหันเปลี่ยนจาก “การอุทิศตัวเพื่อคณะนิกาย” สู่ “การอุทิศตัวเพื่อท้องถิ่น” ในการอุทิศตัวเพื่อท้องถิ่นนี้ ความทุกข์ของโบสถ์อื่นนับว่าเป็นความทุกข์ของเรา เกียรติของโบสถ์อื่นก็นับว่าเป็นเกียรติของเรา ความสำเร็จของโบสถ์อื่นก็ถูกนับว่าเป็นความสำเร็จของเรา
(1 โครินธ์ 12:26) ถ้าอวัยวะหนึ่งทุกข์ อวัยวะทั้งหมดก็ร่วมทุกข์ด้วย ถ้าอวัยวะหนึ่งได้รับเกียรติ อวัยวะทั้งหมดก็ร่วมชื่นชมยินดีด้วย
กระบวนการเคลื่อนไหวหนึ่งที่มีความสำคัญต่อลักษณะของคริสตจักรคือ การปฏิรูปอัครทูตครั้งใหม่ (New Apostolic Reformation) อันเป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญต่อการมีอยู่ของอัครทูตในยุคปัจจุบัน ชื่อเรียกของกระบวนการเคลื่อนไหวนี้คิดค้นมาโดย ปีเตอร์ แวกเนอร์ (นักวิชาการด้านการเพิ่มพูนคริสตจักรแห่งสถาบันศาสนศาสตร์ฟูลเลอร์) ทว่าในช่วงแรก ปีเตอร์ แวกเนอร์ ไม่ได้ตั้งชื่อกระบวนการเคลื่อนไหวนี้ว่า “การปฏิรูปอัครทูตครั้งใหม่” แต่เขาตั้งชื่อกระบวนการเคลื่อนไหวนี้ว่า “คริสตจักรยุคหลังคณะนิกาย” (Postdenominational) เนื่องจากเขาเห็นว่าลักษณะของคริสตจักรในกระบวนการเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้อยู่บนรากฐานของคณะนิกาย แต่มีรากฐานอยู่บนอัครทูตและผู้เผยพระวจนะตาม (เอเฟซัส 2:20)
คริสตจักรบนรากฐานของคณะนิกายกับคริสตจักรบนรากฐานของอัครทูตก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน รากฐานบนคณะนิกายจะมีจุดเน้นอยู่ที่โบสถ์และการเก็บเกี่ยว แต่รากฐานบนอัครทูตจะมีจุดเน้นอยู่ที่อาณาจักรพระเจ้าและการปฏิรูปสังคม นอกจากนี้ลักษณะการอุทิศตัวก็แตกต่างกันด้วย ในระบบแบบคณะนิกายจะเป็นการอุทิศตัวเพื่อคณะและองค์กร แต่ในระบบแบบอัครทูตจะเป็นการอุทิศตัวเพื่อท้องถิ่น
การสร้างเครือข่ายหรือการร่วมประสานกันระหว่างผู้นำคริสเตียนในเมืองหนึ่งนั้น จะเกิดขึ้นได้โดยมีอัครทูตแนวนอนเป็นส่วนสำคัญ อัครทูตแนวนอนเป็นอัครทูตที่มีพันธกิจในการเชื่อมต่อผู้นำคริสเตียนเข้าด้วยกัน ซึ่งต่างจากอัครทูตแนวตั้งที่มีพันธกิจในการบุกเบิกคริสตจักร
(รายละเอียดของอัครทูตชนิดต่างๆสามารถดูได้ที่ http://pattamarot.blogspot.com/2016/12/blog-post_19.html )
โดยพันธกิจและของประทานที่อัครทูตแนวนอนมี การร่วมประสานกันระหว่างผู้นำคริสเตียนในท้องถิ่นหนึ่งก็สามารถเกิดขึ้นได้ อัครทูตแนวนอนนับเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในพระกาย โอ ขอให้อัครทูตแนวนอนจงลุกขึ้นเถิด
หนังสือแนะนำเพิ่มเติม
หนึ่งในพระวิญญาณ เพื่อการพลิกฟื้นชุมชน เขียนโดย รูธ รุยบอล
Changing Church เขียนโดย C. Peter Wagner
The Normal Christian Church Life เขียนโดย Watchman Nee
ที่มาของรูป
รูปแขนงคณะนิกาย จาก http://www.calledtocommunion.com/2009/07/branches-or-schisms/
รูป วอท์ชแมน นี จาก https://pl.wikipedia.org/wiki/Watchman_Nee
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น