28 กรกฎาคม 2560

การเห็นต่างในวิถีแบบอาณาจักร

การเห็นต่างในวิถีแบบอาณาจักร โดย Haiyong Kavilar


            ในบทความที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงว่า ในการขับเคลื่อนแบบอัครทูตหรือแบบอาณาจักร ทุกคนไม่จำเป็นต้องมีความเห็นด้านคำสอนที่เหมือนกัน พวกเราสามารถมีความเห็นด้านคำสอนที่แตกต่างกันและยังคงแผ่ขยายอาณาจักรพระเจ้าให้รุดหน้าต่อไปได้

            อย่างไรก็ตาม ในบทความที่แล้วผมไม่ได้ให้แนวทางที่ชัดเจนว่าจะเห็นต่างโดยคงความเป็นหนึ่งได้อย่างไร ในบทความนี้ ผมจึงนำเนื้อความใน blog ของ โจนาธาน เวลตัน มาแปล ซึ่งบทความนี้มีหัวข้อว่า How to Disagree in the Kingdom (การเห็นต่างในวิถีแบบอาณาจักร) หวังว่าเมื่อเพื่อนๆอ่านบทความนี้ เพื่อนๆจะสามารถเห็นต่างกัน แต่ยังคงให้เกียรติกัน และคงความเป็นหนึ่งในพระกายได้ –Haiyong Kavilar 

ก่อนที่พวกเราจะศึกษาระบบความเชื่อและคำสอนของพระคัมภีร์ พวกเราจำต้องตระหนักถึงความแตกต่างระว่างสองวัฒนธรรมในแวดวงคริสเตียนคือ วัฒนธรรมของนักวิชาการคริสเตียน กับวัฒนธรรมของคริสเตียนสามัญ

จากมุมมองของนักมนุษยวิทยา วัฒนธรรมทั่วโลกประกอบไปด้วยสองส่วนหลักๆคือ วัฒนธรรมของคนชนชั้นสูง กับ วัฒนธรรมของสามัญชน

วัฒนธรรมของคนชนชั้นสูง มักจะมาจากคนที่มั่งคั่งและมีการศึกษาที่สูง ผู้คนในวัฒนธรรมชนชั้นสูงมักจะให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆที่มีความละเอียดอ่อน เช่น ไวน์ราคาแพง มื้ออาหารที่ปราณีต เพลงแบบคลาสสิค เสื้อผ้าที่เป็นทางการ ฯลฯ เป็นต้น วัฒนธรรมของคนชนชั้นสูงเป็นวัฒนธรรมของคนส่วนน้อย  ทว่ากลับเป็นวัฒนธรรมที่มีพลังและทรงอิทธิพล

แต่ก็ยังมีวัฒนธรรมอีกวัฒนธรรมหนึ่งซึ่งเป็นของคนส่วนใหญ่ อันเป็นวัฒนธรรมของสามัญชน(จะเรียกว่าวัฒนธรรมของตลาดก็ได้) ผู้คนในวัฒธรรมนี้จะฟังเพลงตลาดในวิทยุและชมภาพยนตร์ที่ฉายกันทั่วๆไป พวกเขากินข้าวในร้านอาหารธรรมดาๆและซื้อของตามร้านค้าที่ไม่ได้เลิศหรูนัก

นอกจากวัฒนธรรมของชนชั้นสูงและวัฒนธรรมของสามัญชนแล้ว ยังมีอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมอินดี้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ต่อต้านสามัญชน ผู้คนในวัฒนธรรมนี้จะดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากคนทั่วไป ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจไม่กินเนื้อสัตว์ คลอดลูกเองที่บ้าน ไม่ยอมให้ลูกรับวัคซีนป้องกันโรค เพลงและภาพยนตร์ที่พวกเขารับชมก็เป็นสิ่งบันเทิงที่ไม่ค่อยมีให้เห็นในสื่อบันเทิงกระแสหลัก โดยปกติผู้คนในวัฒนธรรมอินดี้จะรู้สึกภาคภูมิใจในการทำสิ่งที่แตกต่างจากสามัญชน

วัฒนธรรมทั้ง 3 แบบ (1.ชนชั้นสูง 2.สามัญชน 3.อินดี้) มีความแตกต่างกันมาก แต่ทั้งหมดนี้ก็นับรวมกันเป็นวัฒนธรรมทั้งหมดของคนในสังคม

วัฒนธรรมของพระกายก็ประกอบไปด้วยสามส่วนหลักๆก็คือ

1. วัฒนธรรมของคริสเตียนทั่วไปหรือคริสเตียนสามัญ นี่เป็นวัฒนธรรมของคริสเตียนส่วนใหญ่ อันเป็นการดำรงชีวิตเหมือนคริสเตียนปกติ และฟังเพลงนมัสการแบบทั่วๆไป

2. วัฒนธรรมของคริสเตียนแบบอินดี้ อันเป็นวัฒนธรรมของโบสถ์บางกลุ่ม ที่มีรูปแบบการนมัสการและการประชุมที่แตกต่างไปจากคริสเตียนส่วนใหญ่อย่างเห็นได้ชัด (แต่ไม่ใช่ลัทธิเทียมเท็จ)

เพื่อให้การอธิบายราบรื่น ผมขอรวบวัฒนธรรมแบบสามัญกับแบบอินดี้เป็นอันเดียวกัน ซึ่งโดยปกติแล้ว ทั้งคริสเตียนสามัญและคริสเตียนอินดี้ มักจะไม่ยืดหยุ่นในเรื่องคำสอน

3. วัฒนธรรมของนักวิชาการคริสเตียน นี่เป็นวัฒนธรรมของพวกนักศาสนศาสตร์และนักวิชาการพระคัมภีร์ พวกเขามักจะชอบพูดคุยและอภิปรายประเด็นทางศาสนศาสตร์ต่างๆ ผู้คนในวัฒนธรรมของนักวิชาการคริสเตียนมักจะพูดภาษาที่ยุ่งยากซับซ้อนซึ่งเป็นภาษาที่คริสเตียนทั่วไปเข้าไม่ถึง

ปัจจุบันก็มีนักศาสนศาสตร์บางคน (เช่น เอนทีไรท์ และ กอร์ดอน ฟี) พยายามที่จะสื่อสารหลักศาสนศาสตร์ในภาษาแบบง่ายๆ แต่หนังสือศาสนศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นหนังสือที่อ่านยากเพราะมีแต่คำศัพท์ทางวิชาการ

            วัฒนธรรมของคริสเตียนแบบสามัญกับแบบวิชาการมีความแตกต่างกันอยู่มาก ซึ่งทั้งสองวัฒนธรรมนี้ก็มีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไป จุดด้อยอย่างหนึ่งในวัฒนธรรมแบบนักวิชาการก็คือการเน้นแต่ความรู้จนบางทีก็ละเลยความรัก อัครทูตเปาโลได้เขียนไว้ใน (1 โครินธ์ 8:1) ว่า “ความ​รู้​นั้น​ทำ​ให้​ลำ​พอง แต่​ความ​รัก​เสริม​สร้าง​ขึ้น

ถ้าพวกเราเข้าใจในศาสนศาสตร์ทุกอย่างและมีความรู้ศัพท์ภาษากรีกอย่างดี
แต่ถ้าพวกเรามีความประพฤติที่แย่ต่อครอบครัวและเพื่อน
โดยไม่ได้สำแดงชีวิตคริสเตียนที่ดี นั่นแสดงว่าพวกเรามีปัญหาใหญ่แล้ว

            อย่างไรก็ตาม นักวิชาการคริสเตียนก็มักมีจุดดีอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือพวกเขาสามารถเห็นต่างกันโดยที่ยังคงให้เกียรติกันได้ แต่ในวัฒนธรรมของคริสเตียนสามัญ เมื่อผู้คนมีความเห็นที่ต่างกัน พวกเขาก็มักจะไม่ให้เกียรติกัน บางครั้งผู้นำในวัฒนธรรมของคริสเตียนสามัญก็ใช้ถ้อยคำที่หลู่เกียรติต่อผู้เห็นต่างและไม่ค่อยเปิดใจในการพูดคุยกับผู้ที่เห็นต่างจากตน โดยปกติผู้นำก็ไม่อยากให้คนภายใต้ไปหลงคล้อยกับคำสอนที่ผู้นำเห็นต่าง เมื่อผู้นำไม่ให้เกียรติผู้ที่ผู้เห็นต่าง คนภายใต้ของผู้นำก็มักจะไม่ให้เกียรติผู้ที่ผู้นำเห็นต่างตามไปด้วย หลายครั้งการไม่ให้เกียรติผู้เห็นต่างได้ถ่ายทอดจากผู้นำสู่คนภายใต้เพราะ “ความหวังดี” จากผู้นำที่ไม่อยากให้คนภายใต้หลงไปกับคำสอนเทียมเท็จ

            ในวัฒนธรรมของนักวิชาการคริสเตียน การโต้วาทีกับการอภิปรายเป็นเรื่องปกติ การพูดคุยกับผู้เห็นต่างจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย วัฒนธรรมของนักวิชาการคริสเตียน เป็นวัฒนธรรมที่ง่ายในการให้เกียรติต่อผู้เห็นต่าง เพราะในการอภิปรายหรือโต้วาที สองฝ่ายที่เห็นต่างกันจะมีโอกาสในการวิเคราะห์ระบบความคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งทำให้แต่ละฝ่ายเรียนรู้ที่จะเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายหนึ่ง การเปิดใจกับมุมมองที่แตกต่างจึงเกิดขึ้นได้บ่อยๆในแวดวงวิชาการ

            โดยปกตินักวิชาการจะให้ความสำคัญกับความเห็นส่วนบุคคลอันเป็นผลมาจากการศึกษาด้วยตัวเอง นักวิชาการมักพูดว่า “เราเชื่อเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะเหตุผลนั้นเหตุผลนี้” นักวิชาการจึงสามารถพูดคุยกับผู้เห็นต่างได้โดยยังคงให้เกียรติต่อผู้เห็นต่าง
ในวัฒนธรรมแบบนักวิชาการคริสเตียน ผู้คนอภิปรายกันโดยไม่คิดที่จะให้ร้ายกัน นักวิชาการไม่ได้ยึดถือว่าความเห็นของตนจะต้องถูกต้องที่สุด การให้เกียรติผู้เห็นต่างจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ทว่าในวัฒนธรรมแบบคริสเตียนสามัญ ผู้คนมักจะหลงคิดไปว่า ความเห็นของตนนั้นถูกต้องที่สุด การให้เกียรติผู้เห็นต่างจึงทำได้ยากหน่อย

ทางที่ดีที่สุดในการเข้าถึงศาสนศาสตร์ก็คือการยอมรับความเห็นต่าง
และการเปิดใจในการเรียนรู้จากผู้อื่น

นักวิชาการคริสเตียนเป็นแบบอย่างในการรับฟังความเห็นที่แตกต่างกันได้อย่างดี พวกเราควรจะเอาพวกเขาเป็นตัวอย่างด้วยซ้ำ นักวิชาการมักมีกระบวนทัศน์ที่ว่า ผู้คนสามารถฟังมุมมองที่แตกต่างกันได้เพื่อว่าท้ายสุดแต่ละคนจะได้ตัดสินใจอย่างมีเหตุผลในการเลือกจุดยืนของตน ในวัฒนธรรมของนักวิชาการคริสเตียน แต่ละคนมีอิสระในการรับฟังมุมมองที่แตกต่างกันและสามารถมีข้อสรุปที่เป็นของตนเอง  แม้ว่าข้อสรุปของเราจะไม่เหมือนคนอื่น แต่การให้เกียรติกันและกันก็ยังเกิดขึ้นได้

ในแวดวงนักวิชาการคริสเตียนมีหนังสือมากมายที่แสดงถึงความเห็นที่แตกต่างกันในคำสอนเรื่องเดียวกัน หนังสือเหล่านี้ไม่ได้เขียนโดยผู้เขียนเพียงคนเดียว แต่เป็นหนังสือที่ประกอบไปด้วยข้อเขียนของนักศาสนศาสตร์หลายคน เช่น หนังสือ[1] และยังมีหนังสืออีกแบบหนี่งที่เห็นได้ทั่วไปในแวดวงนักวิชาการคริสเตียน นั่นก็คือหนังสือโต้แย้ง อันเป็นหนังสือที่นักศาสนศาสตร์คนหนึ่งเขียนขึ้นมาเพื่อโต้แย้งกับงานเขียนของนักศาสนศาสตร์อีกคนหนึ่ง เช่น หนังสือ[2]

เชิงอรรถ

หนังสือ [1]: The Nature of the Atonement: Four Views (ธรรมชาติของการลบมลทินบาป 4 มุมมอง)หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนักศาสนศาสตร์ชั้นนำถึง 4 คน โดยแต่ละคนจะมีความเห็นที่แตกต่างไปในเรื่องการลบมลทินบาป นอกจากนี้ยังมีหนังสือ Four Views on the Book of Revelation (4 มุมมองสำหรับหนังสือวิวรณ์) และหนังสือ God and Time: Four Different Views (พระเจ้ากับเวลา มุมมองที่แตกต่างกัน 4 แบบ) หนังสือเหล่านี้แสดงถึงมุมมองที่แตกต่างกันในหัวเรี่องเดียวกัน

หนังสือ[2]: หนังสือของ Kenneth Gentry (เคนเนธ เจนทรี) ที่ชื่อว่า The Charismatic Gift of Prophecy: A Reformed Response to Wayne Grudem (ของประทานแบบคาริสมาติกเรื่องการเผยพระวจนะ: การโต้แย้งต่อ เวย์น กรูเดม ด้วยมุมมองแบบรีฟอร์ม) ในหนังสือเล่มนี้ เจนทรี แสดงความเห็นต่างไปจากความเชื่อของกรูเดมในเรื่องเกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ โดยเจนทรีแสดงความเห็นต่างอย่างชัดเจนในมิติแบบนักวิชาการ แต่ยังคงให้เกียรติต่อกรูเดม

การให้เกียรติต่อผู้เห็นต่างก็คือการนำถ้อยคำของผู้เห็นต่างมาอ้างอย่างถูกต้องตามบริบทที่เขาสื่อสาร ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่จะระมัดระวังเรื่องนี้มากๆ น่าเสียดายที่ผู้นำมากมายในวัฒนธรรมแบบคริสเตียนสามัญมักจะนำถ้อยคำของผู้เห็นต่างมาอ้างอิงอย่างนอกบริบท ซึ่งทำให้ผู้ฟังเข้าใจผู้เห็นต่างผิดไป นี่เป็นการสื่อสารที่ผิด เป็นความความใจผิด และเป็นการทำร้ายผู้อื่นที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน นี่เป็นการไม่ให้เกียรติและยังไม่ช่วยให้เราสะสางการเห็นต่างอย่างถูกต้อง พวกเราควรจะเรียนรู้การเห็นต่างโดยที่ไม่หลู่เกียรติและไม่นำถ้อยคำของผู้เห็นต่างมากล่าวเกินนอกบริบทที่เขาสื่อสาร เป้าหมายของพวกเราควรจะเป็นการเข้าใจความเชื่อของผู้อื่นอย่างถูกต้องและยุติธรรม เพื่อว่าเราจะได้มีข้อสรุปของเราเอง

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

Blog ของ โจนาธาน เวลตัน
หนังสือ Understanding the Whole Bible เขียนโดย Jonathan Welton

23 กรกฎาคม 2560

ป่าวประกาศการเริ่มต้นใหม่(Start Up)ในเดือนอับ(Av)

ป่าวประกาศการเริ่มต้นใหม่(Start Up)ในเดือนอับ(Av)
ในเย็นย่ำค่ำวันนี้(23 ก.ค.2017)เป็นการเข้าสู่เดือนใหม่หรือ โรช โคเดช (Rosh Chodesh) เป็นการเริ่มต้นใหม่ในเดือนอับ(Av) ปี 5777 (ช่วงวันที่ 24 ก.ค. -22 ส.ค.2017)

คำว่า Av”  ในรากศัพท์ภาษาฮีบรูหมายถึง “บิดา” ผู้ให้กำเนิด"  
พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระบิดาทรงมีเป้าประสงค์ลิขิตสำหรับเราทุกคน 

เราต้องทำความเข้าใจถึงหัวใจของพระบิดาโดยสดับฟังพระสุรเสียงของพระองค์ เพื่อตั้งชีวิตของเราเชื่อมตรงกับเป้าประสงค์(Alignment)

เดือนนี้เป็นการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ (Start Up)  ชีวิตของเราจะไม่อับเฉาและไม่อับแสง เพราะแสงแห่งพระสิริของพระยาห์เวห์จะฉายส่องเหนือชีวิตของเรา ให้เราลุกขึ้น(Stand up)ฉายแสง 
อิสยาห์ 60:1-
1 จง​ลุก​ขึ้น ฉาย​แสง เพราะ​ว่า​ความ​สว่าง​ของ​เจ้า​มา​แล้ว และ​พระ​สิริ​ของ​พระ​ยาห์​เวห์​ขึ้น​มา​เหนือ​เจ้า  2 เพราะ​ว่า​ดู​สิ ความ​มืด​จะ​ปกคลุม​แผ่น​ดิน​โลก และ​ความ​มืด​ทึบ​คลุม​ชน​ชาติ​ทั้ง​หลาย แต่​พระ​ยาห์​เวห์​จะ​ทรง​ขึ้น​มา​เหนือ​เจ้า และ​พระ​สิริ​ของ​พระ​องค์​จะ​ปรากฏ​เหนือ​เจ้า

เป็นเดือนที่เราจะยืนขึ้นและกล่าวถ้อยคำแห่งความจริง(Stand up,Speak up)เพื่อทำลายคำหลอกลวงของศัตรู!

อาโมส 3:8 สิงห์​เปล่ง​เสียง​คำ​ราม​แล้ว ใคร​จะ​ไม่​กลัว​บ้าง? พระ​ยาห์​เวห์​องค์​เจ้า​นาย​ตรัส​แล้ว ใครบ้างจะ​ไม่​เผย​พระ​วจนะ?


เดือนอับ(Av)เป็นเดือนที่ ตามปฏิทินศาสนาและเป็นเดือนที่ 11 ตามปฏิทินราชการของอิสราเอล ให้เราอธิษฐานป่าวประกาศดังต่อไปนี้ 

 1. เดือนแห่งการได้ยิน ตระหนักและกระทำตาม

อธิษฐานป่าวประกาศตามพระวจนะ    เฉลยธรรมบัญญัติ 6:1-“ต่อไปนี้เป็นพระบัญญัติ กฎเกณฑ์และกฎหมาย ซึ่งพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านทั้งหลาย​… ​เพื่อท่านจะยำเกรงพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านโดยรักษากฎเกณฑ์และพระบัญญัติทั้งสิ้นของพระองค์…​ตลอดวันคืนแห่งชีวิตของท่าน เพื่อว่าวันคืนของท่านจะยืนยาว..จงฟังและจงระวังที่จะทำตามเพื่อจะเป็นการดีต่อท่าน…”

เดือนนี้เป็นเดือนแห่งเผ่า สิเมโอน (Simeon) ความหมายของชื่อคือ "ได้ยินและตระหนักรับรู้" เดือนนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการพบพระพักตร์ ตระหนักรับรู้ถึงความรักของพระบิดา  มีความมั่นคงทางจิตใจและรับการปลดปล่อยจากพันธนาการที่ถ่วงรั้งอยู่เพื่อไปสู่เป้าประสงค์ของพระองค์  

 2. เดือนแห่งการยอมจำนนและถูกสร้างขึ้นใหม่ 

อธิษฐานป่าวประกาศตามพระวจนะ  สดุดี 51:10   ​ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงเนรมิตสร้างใจสะอาดในข้าพระองค์ ​และขอทรงสร้างจิตใจหนักแน่นขึ้นใหม่ภายในข้าพระองค์    

ตามประวัติศาสตร์ของอิสราเอล ในวันที่ 9 ของเดือนนี้ พระวิหารถูกทำลายและพวกเขาต้องหนีกระจัดกระจายไปทั่วโลก แต่เมื่อกลับใจ  พระยาห์เวห์ทรงให้อภัยและรื้อฟื้นประเทศกลับขึ้นมาใหม่  เดือนนี้เกี่ยวข้องกับตัวอักษร “เทธ” ในภาษาฮีบรูเป็นภาพของครรภ์มารดา ให้ความหมายถึงการคลอดสิ่งใหม่  สิ่งดีต่างๆจะเกิดขึ้น  เดือนนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำหรับการอธิษฐานสารภาพความผิดบาปด้วยใจยอมจำนนและขอพระองค์สร้างจิตใจใหม่ให้เข้มแข็ง  

3.เดือนแห่งการพัฒนาชีวิต

อธิษฐานป่าวประกาศตามพระวจนะ  สดุดี 32:8  เราจะแนะนำและสอนเจ้าถึงทางที่เจ้าควรจะเดินไป เราจะให้คำปรึกษาแก่เจ้าด้วยจับตาเจ้าอยู่

เดือนนี้พระยาห์เวห์ปรารถนาจะยกระดับฝ่ายวิญญาณของเรา เมื่อเราถ่อมใจรับถ้อยคำปรึกษาเราจะเติบโตขึ้น เราจะต้องอธิษฐานแสวงหาการทรงนำและรับคำปรึกษาจากผู้นำเพื่อการพัฒนาชีวิต

4.เดือนแห่งปลดปล่อยถ้อยคำแห่งความเชื่อ

      อธิษฐานป่าวประกาศตามพระวจนะ  สดุดี 19:1 ฟ้าสวรรค์ประกาศพระสิริของพระเจ้า และภาคพื้นฟ้าสำแดงพระหัตถกิจของพระองค์  

เดือนนี้เป็นเดือนที่พระประสงค์ของพระบิดากำลังถูกทำให้สำเร็จ พระองค์จะเริ่มทำสิ่งต่างๆให้สำเร็จ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตอบสนองและการมีส่วนร่วมของเรา ดังนั้นเราต้องปลดปล่อยถ้อยคำแห่งความเชื่อและดำเนินด้วยความเชื่อตามพระสัญญาของพระองค์      


22 กรกฎาคม 2560

ขอบคุณพระเจ้าสำหรับยอดวิวทะลุ 700,000

ขอบคุณพระเจ้าสำหรับยอดวิวทะลุ 700,000
ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตาม Blog และกำลังใจที่มอบให้กันตลอด 7 ปีที่ผ่านมานะครับ

21 กรกฎาคม 2560

คนใหม่คนเดียวกัน : ความ​ล้ำ​ลึก​ของ​พระ​เมสสิยาห์(One New Man: The Mystery of Messiah)

บทความเรื่อง "คนใหม่คนเดียวกัน : ความ​ล้ำ​ลึก​ของ​พระ​เมสสิยาห์"
(One New Man: The Mystery of Messiah)
โดย เอเรียล บูลเมนธัล (Ariel Blumenthal)


อัครทูตเปาโลได้สรุปคำสอนในเรื่อง คนใหม่คนเดียวกัน(One New Man)ใน 6 ข้อแรกของพระธรรมเอเฟซัส บทที่ 3 ท่านใช้คำว่า "ข้อ​ล้ำ​ลึก"
 (mystery) และ "ความ​ล้ำ​ลึก​ของ​พระ​คริสต์​" (the mystery of Christ) เป็นคำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่เชื่อมกับพระคุณของพระเจ้า  ท่านได้ป่าวประกาศถึงสิ่งที่เป็นข้อความลึกลับนั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยสำแดงผ่านทางการเผยพระวจนะในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม(OT) แต่บัดนี้ได้เปิดเผยสำแดงผ่านทางพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่(NT)โดยอัครทูตและผู้เผยพระวจนะ  
ท่านได้สรุปไว้อย่างเจาะจงว่า คนต่างชาติ(Gentile)ได้เป็น​ผู้รับ​มรดก​ร่วมกัน และ​เป็น​อวัยวะ​ของ​กาย​อัน​เดียว​กัน และ​มี​ส่วน​ได้​รับ​คำ​สัญญา​ใน​พระ​เยซู​คริสต์​โดย​ข่าว​ประเสริฐ​นั้น
เอเฟซัส 3:4-6 
4 และ​โดย​คำ​เหล่า​นั้น เมื่อ​ท่าน​อ่าน​แล้ว ท่าน​ก็​รู้​ถึง​ความ​เข้าใจ​ของ​ข้าพเจ้า​ใน​เรื่อง​ความ​ล้ำ​ลึก​ของ​พระ​คริสต์​
5 ซึ่ง​ใน​สมัยก่อน​พระ​องค์​ไม่ได้​ทรง​โปรด​สำแดง​แก่​มนุษย์​เหมือน​อย่าง​บัดนี้ ซึ่ง​ทรง​โปรด​เผย​แก่​พวก​อัครทูต​ผู้​บริสุทธิ์​และ​พวก​ผู้เผย​พระ​วจนะ​โดย​พระ​วิญญาณ​

6 นี่​คือ​คน​ต่างชาติ​ได้​เป็น​ผู้รับ​มรดก​ร่วมกัน และ​เป็น​อวัยวะ​ของ​กาย​อัน​เดียว​กัน และ​มี​ส่วน​ได้​รับ​คำ​สัญญา​ใน​พระ​เยซู​คริสต์​โดย​ข่าว​ประเสริฐ​นั้น

Ariel Blumenthal
ในที่นี้อัครทูตเปาโลใช้คำผสม 3 คำในภาษากรีกเพื่ออธิบายความลึกลับคือคำว่า  synkleroma, sysoma, synmetoka   ซึ่งทั้งหมดเป็นคำที่ขึ้นต้นด้วยคำนำหน้า(prefix) เพื่อเป็นการผสมคำว่า(syn) ซึ่งเราสามารถเข้าได้ในภาษาอังกฤษ เช่นคำว่า synchronize-ประสาน, synthesize-สังเคราะห์,และ synergy-ประสานกำลัง

ในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่(NT) เป็นภาษากรีกซึ่งยากที่จะอธิบายให้เราเข้าใจทั้ง 3 คำนี้ในภาษาในภาษาอื่น ๆ

คำแรก คือคำว่า "ซินเคโรมา" synkleroma (หรือ sygklēronomos -συγκληρονόμος) หมายถึง ​"ผู้รับ​มรดก​ร่วมกัน" (co-heirs)

เป็นคำในภาษากฏหมาย(legal) แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่ความเท่าเทียมกันแต่เป็นสิทธิพิเศษที่ได้รับผลประโยชน์ร่วม ดังเช่น หุ้นส่วนทางธุรกิจร่วมกันหรือสมาชิกครอบครัวที่ได้รับมรดกร่วมกัน เป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาทั่วไปแต่เป็นการรับมรดกร่วมกัน( joint heirs) เหมือนดังตัวอย่างคำอุปมาเรื่องบุตรน้อยหลงหาย (ลูกา 15:11-31)

คนยิวกับคนต่างชาติมีพ่อคนเดียวกัน "ฉัน(คนยิว)ได้รับส่วนของฉันและคุณ(คนต่างชาติ)ได้รับของคุณ" แต่แทนที่จะเป็นเหมือนสองส่วนที่ต่างคนต่างได้ แต่เราเป็น "พี่น้องในสายเลือด" ที่ได้ผูกพันกันอย่างเต็มที่สิ่งต่างๆที่จะได้รับต้องมีการพึ่งพากันจึงจะได้รับมรดกร่วมกัน ดังนั้นสิ่งที่เป็นความหวังและความสำเร็จ เราสามารถคาดหวังที่จะได้รับร่วมกันจากพระบิดา  
ในพระเมสสิยาห์  เราที่เป็นชาวยิวจะไม่ได้รับมรดกที่ดีที่สุดจากพระบิดาจนกว่าประเทศต่างๆจะได้รับมรดกของพวกเขาและในทางกลับกัน คนต่างชาติจะไม่ได้รับมรดกหากคนยิวยังไม่ได้รับ!

คำที่ 2 คือคำว่า "ซิสโซมา" (sysoma -
σύσσωμος) หมายถึง "อวัยวะ​ของ​กาย​อัน​เดียว​กัน" (co-body) ดังเช่นในพระธรรมโรมและ 1โครินธ์

โรม 12:5 เรา​ผู้​เป็น​หลาย​คน​ยัง​เป็น​กาย​เดียว​ใน​พระ​คริสต์​และ​เป็น​อวัยวะ​แก่​กัน​และ​กัน​อย่าง​นั้น


1 โครินธ์ 12:27 ส่วน​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​กาย​ของ​พระ​คริสต์ และ​แต่​ละ​อวัยวะ​ก็​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​กาย​นั้น

อัครทูตเปาโลอธิบายภาพของคริสตจักร( เอคเคเซีย-ecclesia)เป็นสิ่งมีชีวิต(organic)หรือองคาพยพ(organism)  
ในทางชีววิทยา เราเป็นพระกายที่มีชีวิตโดยมีพระเยซูคริสต์ทรงเป็นศีรษะ 
ในข่าวประเสริฐเรื่องพระเมสสิยาห์  คนยิวและคนต่างชาติเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยพระโลหิตของพระคริสต์ในฝ่ายวิญญาณเชื่อมเราให้เป็นอันหนึ่งเดียวกัน เราจึงมี DNA แห่งสวรรค์ร่วมกัน เราเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย มีผลกระทบต่อร่างกายทั้งหมด

ยอห์น 1:13 ​ซึ่ง​ใน​ฐานะ​นั้น​พวก​เขา​ไม่ได้​เกิด​จาก​เลือด​เนื้อ​หรือ​กาม หรือ​ความ​ประสงค์​ของ​มนุษย์ แต่​เกิด​จาก​พระ​เจ้า

​คำสุดท้าย คือ คำว่า "ซินเมโทคา" (synmetoka -συμμέτοχος ) หมายถึง  "การมีส่วน​ได้​รับ​คำ​สัญญา"​(partakers of the same promise) เป็นผู้ร่วมรับพันธสัญญาในพระเยซูคริสต์ 

คำ​สัญญา( Promise) ในที่นี้เป็นเอกพจน์(singular) จึงเป็นคำสัญญาเดียวไม่ใช่หลายคำสัญญาที่ถือรักษาไว้ตามสิ่งที่อัครทูตเปาโลได้เขียนอธิบาย เราสามารถทำความเข้าใจในสิ่งนี้โดยอ้างถึงคำสัญญาที่พระเจ้าทรงมีพระสัญญากับอับราฮัม ดังที่อ้ครทูตเปาโลสอนไว้ในพระธรรมโรม บทที่ 4,8:17 กาลาเทีย บทที่ 3:26-29 และโรม บทที่ 4:11-17 ทำให้เราเข้าความคิดในพระธรรมเอเฟซัส บทที่ 3 และบทต่างๆในจดมายฝากฉบับนี้

โรม 4:16 ​เพราะ​เหตุ​นี้ การ​เป็น​ทายาท​นั้น​จึง​ขึ้นอยู่​กับ​ความ​เชื่อ เพื่อ​จะ​ได้​เป็น​ตาม​พระ​คุณ เพื่อ​รับรอง​พระ​สัญญา​นั้น​แก่​ลูกหลาน​ของ​อับราฮัม​ทุก​คน ...


โรม  8:17 ​และ​ถ้า​เรา​เป็น​ลูก​แล้ว เรา​ก็​เป็น​ทายาท​ คือ​เป็น​ทายาท​ของ​พระ​เจ้า และ​เป็น​ทายาท​ร่วมกับ​พระ​คริสต์​ ...

กาลาเทีย  3:26-29 
26 ​เพราะ​ว่า พวก​ท่าน​ทุก​คน​เป็น​บุตร​ของ​พระ​เจ้า​โดย​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​เยซู​คริสต์​
27 ​เพราะ​ว่า​พวก​ท่าน​ทุก​คน​ที่​ได้รับ​บัพติศมา​เข้า​ใน​พระ​คริสต์​แล้ว ​ก็​ได้​สวม​ชีวิต​ของ​พระ​คริสต์​ด้วย
28 ​จะ​ไม่​เป็นยิว​หรือ​กรีก จะ​ไม่​เป็น​ทาส​หรือ​ไท จะ​ไม่​เป็น​ชาย​หรือ​หญิง เพราะ​ว่า​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​อัน​หนึ่ง​อัน​เดียว​กัน​ใน​พระ​เยซู​คริสต์​
29 ​และ​ถ้า​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​ของ​พระ​คริสต์​แล้ว ท่าน​ก็​เป็น​พงศ์​พันธุ์​ของ​อับราฮัม คือ​เป็น​ทายาท​ตาม​พระ​สัญญา​

อับราฮัมได้รับพระสัญญาเป็นพระสัญญาเดียว แต่อธิบายได้เป็น 2 วิถีทาง นั่นคือท่านจะได้เป็นผู้ให้มรดกแก่โลก(heir of the world) และท่านเป็นบิดาแห่งประชาชาติ(father of many nations) 
นี่เป็นข้อความอันลึกลับที่น่าเหลือเชื่อที่เราได้รับข่าวประเสริฐนี้ร่วมกันผ่านทางพระเยซูคริสต์(ผู้เป็นบุตรที่ยิ่งใหญ่เชื้อสายอับราฮัม) 

คนยิวและคนต่างชาติเป็น"ผู้รับ​มรดก​ร่วมกัน" ผ่านทางพระสัญญาของพระเจ้าที่มีต่ออับราฮัม เป็นส่วนหนึ่งครอบครัวในพระเมสิยาห์ร่วมกัน และทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนพระสัญญาเดียวกันของพระบิดาผ่านทาง บรรพบุรุษของเรา คือ อับราฮัม


ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.reviveisrael.org/one-new-man-the-mystery-of-messiah/

สามารถเข้าไปอ่านได้อีกช่องทางคือ https://www.pageqq.com/en/content/view/page/cntth3/0-3750598.html

ในโบสถ์เดียวกัน ทุกคนต้องมีความเห็นด้านคำสอนเหมือนกันหรือไม่?

ในโบสถ์เดียวกัน ทุกคนต้องมีความเห็นด้านคำสอนเหมือนกันหรือไม่? โดย Haiyong Kavilar

          อัครทูตปีเตอร์ แวกเนอร์ ได้ให้ความเห็นว่าตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา คริสตจักรในโลกตะวันตกก็ได้ประสบกับการปฏิรูปเรื่องสำคัญ นั่นก็คือการปฏิรูปเรื่องอัครทูตครั้งใหม่(New Apostolic Reformation) ซึ่งการปฏิรูปนี้กำลังนำการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อรูปแบบการทำคริสตจักร นับตั้งแต่การจัดวางลำดับสิทธิอำนาจ รูปแบบการนมัสการ และอื่นๆ การปฏิรูปเรื่องอัครทูตครั้งใหม่นี้กำลังพลิกโฉมคริสตจักรอย่างลึกซึ้งนับตั้งแต่ที่มีการปฏิรูปโปรเตสแตนต์เป็นต้นมา

               ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีทางการสื่อสารพัฒนาไปมาก แม้เราจะเป็นสมาชิกในโบสถ์หนึ่ง แต่ด้วยเทคโนโลยีทางอินเตอร์เนท เราก็สามารถฟังคำเทศนาของโบสถ์อื่นๆได้อย่างง่ายดาย ปัจจุบันนี้ สมมติถ้าเราอยู่คณะเพนเทคอส เราก็สามารถหาฟังคำสอนจากคณะเพรสไบทีเรียนหรือคณะอื่นๆได้ไม่ยาก ด้วยเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่กว้างไกล แม้ว่าเราจะอยู่ไปโบสถ์หนึ่งเป็นประจำ แต่เราอาจจะชอบคำเทศนาของโบสถ์อื่นมากกว่า ซึ่งท้ายสุด แม้ร่างกายเราจะไปโบสถ์หนึ่งเป็นประจำ แต่หัวใจของเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับคำสอนในโบสถ์ที่เราไปเป็นประจำ บางครั้งกรอบความคิดของเรา ก็ได้รับอิทธิพลจากหลายๆโบสถ์รวมกัน ซึ่งอาจจะเป็นกรอบความคิดที่มาจากโบสถ์ของตนเองผสมผสานไปกับคำสอนของโบสถ์อื่นๆ

            เหตุที่เทคโนโลยีทางอินเตอร์เนทที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว การทำให้ทุกคนในโบสถ์แห่งหนึ่งมีกรอบความคิดที่เหมือนกันก็เป็นไปได้ยากมาก เพราะแต่ละคนก็สามารถได้รับอิทธิพลจากคำสอนของโบสถ์อื่นๆซึ่งหาฟังได้ตามอินเตอร์เนท ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาณาจักรพระเจ้าสามารถรุดหน้าไปจะไม่ได้อยู่กับการบีบบังคับให้ทุกคนในโบสถ์มีกรอบความคิดแบบเดียวกัน แต่การรุดหน้าของอาณาจักรพระเจ้าก็คือความหลากหลายในพระกายแต่ยังคงความเป็นหนึ่งเดียวกัน

            ปีเตอร์ แวกเนอร์ ได้กล่าวถึงความหลากหลายของพระกายไว้ในหนังสือ The Book of Acts A Commentary (อรรถาธิบายหนังสือกิจการ) ไว้ว่า แม้บางคนจะรู้สึกอึดอัดกับความมากมายของโบสถ์ต่างๆ ขององค์กรมิชชัน ของคณะนิกาย หรือของเครือข่ายอัครทูต ทว่าโดยปกติแล้ว ตราบเท่าที่ความเป็นหนึ่งในฝ่ายวิญญาณยังดำรงอยู่ ยิ่งองค์กรมีอยู่หลากหลายมากเท่าใด อาณาจักรของพระเจ้าก็ยิ่งรุดหน้าไปได้มากเท่านั้น
  
            ในฤดูกาลนี้ ก็เป็นวาระหนึ่งของการเปลี่ยนถ่ายจากการขับเคลื่อนแบบศิษยาภิบาลสู่การขับเคลื่อนแบบอัครทูต ลักษณะหนึ่งของการขับเคลื่อนแบบศิษยาภิบาลคือ การไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง การคงอยู่กับในสภาพเดิม และการบังคับให้สมาชิกทุกคนมีความเห็นเหมือนกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แต่ลักษณะของการขับเคลื่อนแบบอัครทูตจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระยะๆ มีการกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์ กรอบความคิดแบบอัครทูตจะพร้อมเผชิญกับความเห็นต่างและความหลากหลายเพื่อให้อาณาจักรพระเจ้าได้รุดหน้าต่อไป ในกรอบความคิดแบบอัครทูต ผู้คนในกองทัพแห่งอาณาจักรไม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นด้านคำสอนที่เหมือนกัน แต่ผู้คนในกองทัพสามารถร่วมประสานกันได้ โดยที่แต่ละฝ่ายต่างก็ทำหน้าที่ตามการทรงเรียกที่ตนได้รับจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

            หากเพื่อนๆศึกษากระบวนการเคลื่อนไหวในกลุ่มอัครทูต เพื่อนๆจะพบว่าในหลายครั้งอัครทูตแต่ละคนก็มีความเห็นในด้านคำสอนที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น อัครทูตปีเตอร์ แวกเนอร์ กับ อาจารย์โรเบิร์ต ไฮเลอร์ แม้ว่าพันธกรทั้งสองท่านนี้จะอยู่ในองค์กรเดียวกัน แต่พันธกรทั้งสองท่านนี้ก็มีนิยามเกี่ยวกับของประทาน ถ้อยคำของความรู้(Word of Knowledge) ที่ไม่เหมือนกัน และยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องภาษาแปลกๆที่แตกต่างกันด้วย (แวกเนอร์มองว่าภาษาแปลกๆนับเป็นของประทานอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะมีของประทานนี้ ด้วยเหตุนี้แวกเนอร์จึงมองว่า คริสเตียนบางคนที่ไม่มีของประทานการพูดภาษาแปลกๆต่อให้เขาพยายามมากขนาดไหนเขาก็พูดภาษาแปลกๆไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม ไฮเลอร์มองว่าภาษาแปลกๆเป็นของประทานที่ผู้เชื่อทุกคนสามารถปลดปล่อยออกมาได้ ด้วยเหตุนี้ไฮเลอร์จึงมองว่าทุกคนสามารถพูดภาษาแปลกๆได้ - รายละเอียดของความแตกต่างนี้เพื่อนๆสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ Your Spiritual Gifts Can Help Your Church Grow ที่เขียนโดยแวกเนอร์ กับหนังสือ Experiencing the Sprit ที่เขียนโดยไฮเลอร์)
 
เพื่อนของผมคนหนึ่งได้แปลคำกล่าวของคริส แวลโลตันไว้ว่า
         คริส แวลโลตัน เล่าว่า มีอยู่วันนึงพระเจ้าทรงตรัสกับเขาเรื่อง “การเปลี่ยนถ่ายสภาพจากการเป็นนิกายไปสู่สภาวะแห่งความเป็นเครือข่ายอัครทูต”

สิ่งที่จุดประกายความคิด โดยยังไม่ต้องพูดถึงความถูกผิด เราจะพบว่า ในช่วงระยะเวลาสองพันปีที่ผ่านมา การแยกตัวออกจากคาทอลิกเกิดขึ้นเพียงสองครั้งเท่านั้น ครั้งนึงคือ มาร์ติน ลูเธอร์ ส่วนการแยกตัวภายในนิกายโปรเตสแตนต์เกิดขึ้นมากมายต่อเนื่องเรื่อยมาแม้แต่เพียงแค่ระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาก็มี.....สิ่งที่น่าสังเกตคือ ระบบการปกครองของคาทอลิก มีโป๊ปเป็นผู้นำสูงสุด ซึ่งแปลว่า “พ่อ” ส่วนโปรเตสแตนต์ มีชื่อว่า “ผู้ประท้วง”
        ความเป็นนิกาย (Denomination) คือ พวกเขามารวมตัวกันเพราะความเห็นพ้อง และเมื่อไม่เห็นพ้อง พวกเขาก็แยกตัวออกจากกัน แล้วถ้าเราอยู่ใน “ความเป็นนิกาย” เราจะพยายามอย่างยิ่ง ทำยังไงก็ได้ เพื่อไม่ให้พวกเรา “ไม่เห็นพ้อง” แล้วจากนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการ “ไม่เห็นพ้อง” เราก็ต้องจำกัดการออกความเห็น ซึ่งการออกความเห็นมาจากการที่เราเริ่มคิด ดังนั้นแล้ว สิ่งที่พวกเราทำกันใน “ความเป็นนิกาย” คือ ทำยังไงก็ได้ เพื่อที่เขาจะไม่ใช้ความคิด เพราะการคิด เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งยวดใน “ความเป็นนิกาย” และเมื่อเราทำการเทศนา เราจะเทศน์เพื่อโน้มน้าวความคิดคน แทนที่จะเทศน์เพื่อจุดประกายความคิดคน เพราะการจุดประกายความคิด จะทำให้คนเริ่มคิด และความคิดเป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่งยวดต่อ “ความเป็นนิกาย” ซึ่งนั่นทำให้ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมนวัตกรรมใหม่ ๆ มักจะไม่เกิดขึ้นจากภายในคริสตจักร เพราะคริสตจักรส่วนมากฝังรากฐานอยู่ใน “ความเป็นนิกาย”

ความเป็นเครือข่ายอัครทูต (Apostolic) พวกเขามารวมตัวกัน ไม่ใช่เพราะพวกเขาเห็นพ้องต้องกัน แต่เพราะความเป็นครอบครัว ความเป็นสมาชิกในครอบครัวเป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ ความเป็นเพื่อนเลือกได้ คริสตจักรไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมันเป็นองค์ประชุมในที่ประชุมที่ไหนสักแห่ง แต่เกิดขึ้นเพราะมันเป็นพันธสัญญาที่เกิดขึ้นเมื่อเรารับพระคริสต์เข้ามาในชีวิต ซึ่งพันธสัญญาหมายถึง “ฉันจะอยู่กับเธอจนกว่าความตายจะแยกจากกัน” และที่เรามาอยู่ร่วมกัน ก็ไม่ใช่เพราะเราเชื่อทุกอย่างเหมือนกันหมดเลย แต่เป็นเพราะเรามี “พ่อ” องค์เดียวกัน เรามีครอบครัวเดียวกัน อยู่ในครอบครัวเดียวกัน เราอยู่กันเป็นเครือข่ายแบบอัครทูต ซึ่งนั่นหมายความว่า ฉันไม่จำเป็นต้องมีความเห็นพ้องต้องกันกับคนอื่น ๆ ภายใต้หลังคาเดียวกันนี้ก็ได้ แล้วความคิดเรื่องถุงหนังองุ่นใหม่นี้ ควรจะมีโครงสร้างองค์กรที่ทำให้พวกเราสามารถใช้ชีวิต มีความคิด มีแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ ได้ เพราะว่าการที่ฉันมีความคิดแตกต่าง แปลก ๆ ใหม่ ๆ ไม่เหมือนกับเธอ ก็ไม่ได้หมายถึง ฉันอยู่ร่วมกันกับเธอต่อไปไม่ได้อีกแล้ว และก็ไม่ได้หมายถึง การตีความพระคัมภีร์ต่างออกไปจากเธอ จะกลายเป็นการสื่อว่า ฉันไม่จงรักภักดีกับเธออีกต่อไปแล้ว ซึ่งเอาจริง ๆ นะ การที่ฉันเห็นต่าง กลับเป็นตัวสะท้อนว่า ฉันจงรักภักดีต่อเธอเสมอมาต่างหากด้วยซ้ำไป  

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
ขอขอบคุณ Tweelapaporn สำหรับการแปลคำกล่าวของ คริส แวลโลตัน

หนังสือ Changing Church เขียนโดย C. Peter Wagner

20 กรกฎาคม 2560

คนใหม่คนเดียวกันพระคริสต์ (One New Man) ร่วมใจอธิษฐานเพื่ออิสราเอล

ร่วมใจอธิษฐานเพื่ออิสราเอล

Theme: คนใหม่คนเดียวกันพระคริสต์ (One New Man)

เอเฟซัส 2:14 เพราะ​ว่า​พระ​องค์​เอง​ทรง​เป็น​สันติภาพ​ของ​เรา โดย​ร่างกาย​ของ​พระ​องค์ ทรง​ทำ​ให้​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​เป็น​หนึ่ง​เดียว​กัน…

One - Oneness หนึ่งเดียวกันในความเชื่อ เชื่อว่าพระเยซูคริสต์เป็นพระ​เมส​สิ​ยาห์​ ผู้มาตายไถ่บาปบนกางเขน เป็นทางสู่ความรอดทางเดียว (กจ.4:12)

New -New wineskin - หนึ่งเดียวกันในความคิด เรื่องคริสตจักรแบบถุงหนังใหม่ (มธ.9:17)

Man - Manifesto prayer – หนึ่งใจเดียวกันในถ้อยแถลงการณ์อธิษฐาน (สดด.122:6, อสย.62:1-2)

หัวข้อในการอธิษฐาน

1.ขอความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างคริสเตียนกับอิสราเอล เป็นคนใหม่คนเดียวกันในพระคริสต์ อฟ.2:14

2.ขอความเป็นเอกภาพในคริสตจักรต่างๆ เพื่อรับการอวยพระพร สดด.133

3.อธิษฐานป่าวประกาศการยืนคียงข้างอิสราเอลในฝ่ายวิญญาณและฝ่ายกายภาพ ระหว่างไทยและอิสราเอล

4.อธิษฐานขอสันติภาพเกิดขึ้น สดด.122:6

5.อธิษฐานเผื่อคนยิวที่จะเปิดใจรับความรอดผ่านทางพระเยซูคริสต์ อสย.62:1-2

6.อธิษฐานเผื่อคริสตจักรต่างๆที่มีความเข้าใจในเรื่องคนใหม่คนเดียวในพระคริสต์ รม.9-11

7.อธิษฐานอวยพรเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิสราเอล

16 กรกฎาคม 2560

ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของอัครทูตในอิสราเอล(Apostolic Integrity and Authenticity in Israel)

ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของอัครทูตในอิสราเอล(Apostolic Integrity and Authenticity in Israel)  โดย อาเชอร์ อินเทรเตอร์( Asher Intrater)
ในยุคนี้ เรากำลังได้เห็นการริ้อฟื้นพันธกิจของอัครทูตและผู้เผยพวจนะ (เอเฟซัส 4:11-13) ในพระกายของพระเมสสิยาห์ และทีละเล็กทีละน้อยพันธกิจของอัครทูตและผู้เผยพวจนะก็กำลังได้รับการรื้อฟื้นท่ามกลางผู้ที่หลงเหลืออยู่ในอิสราเอล แต่แล้วพันธกิจของอัครทูตและผู้เผยพวจนะส่วนใหญ่ในอิสราเอลนั้นถูกขยายเกินจริงหรือไม่ก็เป็นของปลอม และการเคลื่อนที่สามารถวัดในมาตฐานสากลว่าถูกต้องนั้นก็ถูกนำเข้ามาจากต่างชาติ ไม่ได้กำเนิดที่อิสราเอลแต่อย่างใด (ไม่ใช่พันธกิจท้องถิ่น)
อาจารย์เปาโล (เซาโล) ได้กล่าวถึงสงครามเหนือธรรมชาติใน 2 โครินธ์ 10:3-5 และสาระสำคัญของ         2 โครินธ์ 10-12 ก็ได้กล่าวถึงการต่อสู้เพื่อแยกแยะให้ออกระหว่างอัครทูตแท้ และอัครทูตเทียม (2 โครินธ์ 11:13) สงครามฝ่ายวิญญาณหลักที่อาจารย์เปาโลได้เผชิญ ใน 3 บทนี้ เกี่ยวกับความถูกต้องและ       ความน่าเชื่อถือของพันธกิจอัครทูต และช่างเป็นมุมมองที่เปิดโลกทัศน์ให้เราเป็นอย่างมาก!
ความท้าทายฝ่ายวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ต่อหน้าพวกเราและก็เป็นความปรารถนาจากเบื้องลึกของใจผมก็คือความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือของพันธกิจอัครทูตท้องถิ่นในอิสราเอลที่มีสิทธิอำนาจของอัครทูตอย่างแท้จริง ความน่าเชื่อถือนั้นนำมาซึ่งสิทธิอำนาจ การเป็นพันธกิจท้องถิ่นของอิสราเอลก็เป็นการทำให้เห็นถึง   ความถูกต้อง สำนวนที่เป็นที่นิยมที่อิสราเอล “ความจริงจากแผ่นดิน facts on the ground”                   ในฝ่ายวิญญาณสำนวนนี้สามารถหมายถึงการเกิดผลที่แท้จริงในผู้คนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินอิสราเอล   (คนท้องถิ่น)
[หมายเหตุ: พันธกิจจะต้องเป็นพันธกิจท้องถิ่นต่อเมื่อเรียกตัวเองว่าเป็นพันธกิจของ “อิสราเอล” หรือของ “ชาวยิว” เอง ไม่เช่นนั้น ก็ไม่จำเป็น ปัจจัยที่บ่งบอกความเป็นท้องถิ่นนั้นก็คือ ประสบการณ์ทำงาน, สถานที่เกิด, เชื้อสายวงศ์ตระกูล, การใช้ภาษาฮีบรู, ภาษี, การเข้าถึงวัฒนธรรม, มุมมองทางประวัติศาสตร์ หรือ การเชื่อมกับเหตุการณ์ปัจจุบัน, การเป็นพลเมือง, การรับใช้ทางทหาร, การช่วยเหลือผู้ยากไร้, และ         การบริการที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ในทำนองเดียวกันที่เยชูวาห์เองก็เติบโตมาและทำงานเป็นเวลาถึง 30 ปี ก่อนที่พระองค์จะเริ่มทำพันธกิจสั่งสอนและประกาศข่าวประเสริฐ]
การริ้อฟื้นของทีมพันธกิจของอัครทูตและผู้เผยพวจนะในอิสราเอลนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการการริ้อฟื้นพันธกิจของอัครทูตและผู้เผยพวจนะดั้งเดิมที่เคยมีในศตวรรษที่หนึ่ง แต่การรื้อฟื้นนี้เป็นกุญแจหลัก         ในการวางตำแหน่งที่ถูกต้องของการปกครองฝ่ายวิญญาณของพระกายของพระเมสสิยาห์โดยรวม         ในภาพใหญ่
หากพันธกิจของอัครทูตและผู้เผยพวจนะในอิสราเอลมีความถ่อมและหัวใจของผู้รับใช้ พวกเค้าสามารถเป็นแหล่งแห่งพระพรนำไปสู่การฟื้นฟูและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และยิ่งถ้ามีความถูกต้องและความน่าเชื่อถือ พวกเค้าจะกลายเป็นเครื่องมือใช้ทำยุทธศาสตร์อย่างดีในอาณาจักรของพระเจ้าในระหว่างที่เรากำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการเสด็จมาของเยชูวาห์
ข้อมูลจาก http://www.reviveisrael.org/apostolic-integrity-and-authenticity-in-israel/

14 กรกฎาคม 2560

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Remnant(คนที่เหลืออยู่)

บทความเรื่อง "ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Remnant(คนที่เหลืออยู่)" 

โดย Haiyong Kavilar
           ในหลายปีที่ผ่านมาผมได้พบปะกับพี่น้องหลายโบสถ์หลายคณะและหลายองค์กรบางทีผมยังได้พบปะกับพี่น้องที่อยู่ในกลุ่มที่ลึกลับบางกลุ่มด้วยจากประสบการณ์ของผม มีความเข้าใจผิดประการหนึ่งที่ทำให้การร่วมประสานกันในพระกายมีปัญหานั่นก็คือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องRemnant อันแปลเป็นภาษาไทยว่า “คนที่เหลืออยู่”
             คำว่าคนที่เหลืออยู่ เป็นคำที่ใช้ในพระคัมภีร์ ซึ่งมักมีการใช้ในบริบทที่ว่าแม้ว่าคนอิสราเอลจะมีอยู่มากมายทว่าคนอิสราเอลส่วนใหญ่กลับไม่ได้นับถือองค์พระผู้เป็นเจ้าโดยไปปรนนิบัติพระอื่นแต่ยังมีคนอิสราเอลจำนวนหนึ่งที่เป็นคนส่วนน้อยที่ยังคงสัตย์ซื่อและนับถือองค์พระผู้เป็นเจ้าคนอิสราเอลส่วนน้อยที่ยังคงสัตย์ซื่อต่อองค์พระผู้เป็นเจ้านี้ถูกเรียกว่า “คนที่เหลืออยู่”

            คริสเตียนบางคนได้เปรียบเปรยความหมายของคนที่เหลืออยู่ไว้ว่าแม้จะมีคริสเตียนบนแผ่นดินโลกมากมายทว่าคริสเตียนส่วนใหญ่ไม่ได้ร้อนรนและไม่ได้ยืนอยู่บนฐานที่ถูกต้องแต่บนแผ่นดินโลกนี้จะมีคริสเตียนสักกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นคริสเตียนส่วนน้อยอันเป็นกลุ่มที่ร้อนรนจริงและยืนอยู่บนฐานที่ถูกต้องโดยคริสเตียนส่วนน้อยนี้ถูกเรียกว่า คนที่เหลืออยู่ อย่างไรก็ตามส่วนตัวผมเห็นว่าการเปรียบเปรยแบบนี้เป็นการเปรียบเปรยที่เข้าใจผิดและสร้างปัญหาหลายอย่าง
 อิสราเอลส่วนใหญ่(ที่ปรนนิบัติรูปเคารพ) เทียบเท่ากับ คริสเตียนส่วนใหญ่
อิสราเอลที่ส่วนน้อย(คนที่เหลืออยู่) เทียบเท่ากับคริสเตียนส่วนน้อย(คนที่เหลืออยู่)
การเปรียบเปรยที่เข้าใจผิด
           คนที่เปรียบเปรยแบบนี้ โดยมากแล้วมักจะเชื่อว่าคริสเตียนส่วนใหญ่ยังคงได้รับความรอดและยังคงเป็นพี่น้องกับคริสเตียนส่วนน้อยทว่าคริสเตียนส่วนใหญ่ยังคงปรนนิบัติรูปเคารพในทางใดทางหนึ่งอยู่แต่คริสเตียนส่วนน้อยที่อยู่บนฐานที่ถูกต้องจะเป็นเหมือนหญิงพรหมจารีย์ที่บริสุทธิ์และเป็นเจ้าสาวพระคริสต์ที่หมดจดจริงๆคริสเตียนที่เชื่อว่าตนเองเป็นคนที่เหลืออยู่มักจะมีความคิดที่สบประมาทคริสเตียนส่วนใหญ่แต่ก็ยังคงมองคริสเตียนส่วนใหญ่ในฐานะพี่น้องอยู่
             ด้วยการเปรียบเปรยแบบนี้คริสเตียนที่เชื่อว่าตนเป็นคนที่เหลืออยู่มักจะจาบจ้วงลักษณะของคริสตจักรทั่วไปในปัจจุบันโดยมองว่าตนเองยืนอยู่บนฐานที่ถูกต้อง แต่โบสถ์ทั่วไปต่างตกต่ำไปจากมาตรฐานของพระเจ้าและกำลังไหว้รูปเคารพแบบอ้อมๆอยู่
             ความเข้าใจแบบนี้มักจะถูกส่งเสริมผ่านข้อพระคัมภีร์บางข้อ เช่น “จงเข้าไปทางประตูแคบ” (มัทธิว 7:13) คนที่เชื่อว่าตนเองเป็นคนที่เหลืออยู่มักจะตีความว่าตนเองเป็นคนกลุ่มน้อยและอยู่ในประตูแคบที่แท้จริงบางครั้งคนที่เชื่อว่าตนเองเป็นคนที่เหลืออยู่ก็มักจะอธิบายว่า คริสเตียนส่วนใหญ่เป็นแต่อุ่นๆไม่เย็นไม่ร้อน (วิวรณ์ 3:15) ทว่าตัวเขาที่เป็นคริสเตียนส่วนน้อยนั้นเป็นคนที่ร้อนรนจริงและมีหัวใจเพื่อพระเจ้าอย่างแท้จริง
             คนที่เชื่อว่าตนเป็นคนที่เหลืออยู่มักจะมีชื่อเฉพาะในการเรียกกลุ่มของตนโดยมีนัยยะที่เหยียดโบสถ์ทั่วไปบางกลุ่มเรียกตนเองว่า “ผู้มีชัยชนะ” เหตุที่เรียกกลุ่มของตนแบบนี้เนื่องจากมุมมองที่ว่าคริสเตียนส่วนใหญ่ทั่วไปต่างพ่ายแพ้แต่กลุ่มของพวกเขาเป็นกลุ่มที่มีชัยชนะอย่างแท้จริง
             บางครั้งคนที่เชื่อว่าตนเองเป็นคนที่เหลืออยู่ยังคิดว่าตนเองได้รับภารกิจพิเศษบางอย่างจากพระเจ้าอันเป็นภารกิจที่มอบหมายให้เฉพาะคนส่วนน้อยที่เหลืออยู่โดยภารกิจนี้มักจะเป็นพันธกิจที่มีความพิศดารไปจากพันธกิจของคริสเตียนทั่วไปบ้างก็เชื่อว่าภารกิจที่ตนทำเป็นภารกิจพิเศษเพื่อเตรียมทางให้กับการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซู
             เอาหล่ะผมได้กล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจผิดในเรื่องคนที่เหลืออยู่มาพอควรแต่ผมยังไม่ได้อธิบายว่าความเข้าใจที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไรก่อนอื่นผมต้องอธิบายว่า การเปรียบเปรยที่ว่าอิสราเอลส่วนใหญ่เปรียบเหมือนคริสเตียนส่วนใหญ่” เป็นการเปรียบเปรยที่ไม่ถูกต้องการเปรียบเปรยที่ถูกต้องคือ คนอิสราเอลส่วนใหญ่เปรียบเหมือนคนในเชื้อชาติของเราที่ยังไม่ได้รับความรอด
 คนอิสราเอลส่วนใหญ่(ที่ปรนนิบัติรูปเคารพ) เปรียบเหมือน คนในเชื้อชาติของเราที่ไม่ได้นับถือพระเยซู
คนอิสราเอลที่เหลืออยู่ เปรียบเหมือน คริสเตียนทุกคนในเชื้อชาติของเรา
การเปรียบเปรยที่ถูกต้อง (และไม่สร้างปัญหา)
           ถ้าว่ากันตามหลักของการชำระให้ชอบธรรมโดยความเชื่อคนอิสราเอลส่วนใหญ่ที่ปรนนิบัติรูปเคารพนับว่าเป็นคนที่ไม่ได้เชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้าและไม่ได้รับความรอดแต่คนอิสราเอลที่เหลืออยู่เป็นคนที่เชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้าและได้รับความรอด(ความรอดในที่นี้หมายถึง ได้รับการชำระให้ชอบธรรม) ดังนั้นการเปรียบเปรยที่ว่าอิสราเอลส่วนใหญ่เป็นเหมือนคริสเตียนส่วนใหญ่ นับเป็นการเปรียบเปรยที่ผิดพลาดเพราะอิสราเอลส่วนใหญ่ที่ปรนนิบัติรูปเคารพเป็นพวกที่ไม่ได้รับความรอดแต่คริสเตียนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ต่างก็ได้รับความรอดทั้งสิ้นดังนั้นอิสราเอลส่วนใหญ่ที่ปรนนิบัติรูปเคารพเปรียบเหมือนคนในเชื้อชาติของเราที่ยังไม่ได้รับความรอดและคนอิสราเอลส่วนน้อยที่เหลืออยู่ซึ่งนับถือองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็เปรียบเหมือนคริสเตียนทุกคนในเชื้อชาติของเราที่นับถือพระเยซูคริสต์
             ในพระคัมภีร์เปาโลได้เรียกคริสเตียนว่า “ธรรมมิกชน” ซึ่งตามรากศัพท์แล้วหมายถึงคนที่ได้รับการแยกไว้เป็นพิเศษ ตามมุมมองของเปาโล แม้ในเชื้อชาติหนึ่งจะมีหลายๆคนแต่เฉพาะคริสเตียนในเชื้อชาตินั้นเท่านั้นที่ได้รับการแบ่งแยกไว้เป็นพิเศษในสายตาของพระเจ้าคริสเตียนทุกคนในเชื้อชาติหนึ่งนับเป็นคนที่พระเจ้าทรงแยกไว้เป็นพิเศษและเป็นคนที่เหลืออยู่สำหรับเชื้อชาตินั้นๆ
             ตามหลักพระคัมภีร์แล้วไม่จำเป็นต้องมี ธรรมมิกชนของธรรมมิกชนอีก และไม่จำเป็นต้องมีคนที่เหลืออยู่ของคนที่เหลืออยู่อีกเพราะว่าทุกคนที่นับถือพระเยซูคริสต์ต่างก็เป็นธรรมมิกชนและเป็นคนที่เหลืออยู่อย่างบริบูรณ์แล้วความเข้าใจผิดที่เชื่อว่าโบสถ์ของตนเท่านั้นหรือกลุ่มของตนเท่านั้นที่เป็นคนที่เหลืออยู่เป็นความเข้าใจผิดที่ก่อให้เกิดความหยิ่งในตัวเองและทำให้การร่วมประสานกันในพระกายเกิดปัญหาบางทีความเข้าใจผิดนี้ยังทำให้คริสเตียนบางคนหรือบางกลุ่มชอบทำตัวลึกลับและไม่ยอมเปิดเผยหรือเปิดใจกับคริสเตียนคนอื่นๆทั่วไปความเข้าใจผิดนี้ยังส่งผลให้การปฏิสัมพันธ์กับคริสเตียนทั่วๆไปมีปัญหาด้วยเชื่อผมเถอะ ผมเคยผ่านชีวิตแบบนี้มาก่อนแล้ว!
 แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
หนังสือ Raptureless เขียนโดย Jonathan Welton