23 เมษายน 2557

พันธสัญญาที่ปลดแอกแห่งพันธนาการ

สวัสดีครับเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงเทศกาลปัสกา(Passover) หรือในภาษาฮีบรูคือ เพแซ็ค หรือ เพซัค (Pesach-פֶּסַח)
เป็นเทศกาลของชาวอิสราเอลที่ระลึกถึงการช่วยกู้ของพระเจ้าที่ทำให้ออกมาจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์ 

สำหรับผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์ พิธีปัสกาเป็นภาพเงาทำให้เราได้ระลึกถึงการไถ่โดยพระโลหิตทำให้เราพ้นจากการเป็นทาสเข้าสู่ความเป็นไทในพระคริสต์ นี่คือพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงประทำให้กับคนของพระองค์ ซึ่งเป็นพันธสัญญาที่ปลดแอกจากพันธนาการที่ควบคุมชีวิตของเราดั่งการเป็นทาส และรับเสรีภาพใหม่ในพระองค์

เมื่อเราศึกษาจากพระธรรมโยชูวา บทที่ 5  โยชูวานำคนอิสราเอลทำพิธีปัสกาและเข้าสุหนัตใหม่ (Circumcise) ที่กิลกาล
"กิลาล" หมายถึง กลิ้งออก นั่นคือความทุกข์ ความอับอายที่พวกเขาเคยเป็นทาส ได้กลิ้งออกไปแล้ว 

สิ่งนี้คือ การทะลุทะลวงในฝ่ายวิญญาณ คนอิสราเอลไม่สามารถหันหลังกลับไปได้อียืปต์อีกแล้ว เพราะจะต้องวนเวียนตายในถิ่นทุรกันดารเช่น 40 ปีที่ผ่านมา

การจัดสรรแบบชั่วคราว คือ "มานา" จะหมดไป
การจัดสรรใหม่แบบจัดหนัก คือ ผลผลิตที่เขาจะได้กินจากน้ำมือที่เขาปลูกในดินแดนพันธสัญญา คือ คานาอัน
การเข้าสุหนัต ไม่สำคัญเท่าการเข้าสนิท ยึดมั่นในพันธสัญญา เพราะผู้ที่มีความเชื่อแท้คือการเข้าสุหนัตทางใจ คือการเข้าส่วนในพระกาย(บัพติศมา) 

บัพติศมา(Baptizo) คือ การจุ่มให้มิด เช่นพิธีการบัพติศมาในน้ำ คือ การจุ่มร่างกายทุกส่วนลงไปในน้ำให้มิด เหมือนกับการย้อมผ้า  
การบัพติศมาในพระกาย หรือพระวิญญาณบริสุทธิ์ คือ การให้พระเจ้าเข้ามาควบคุมชีวิตแบบสุดหัวใจเพื่อรับการทรงนำของพระวิญญาณของพระเจ้า
นี่คือการเข้าสุหนัตแท้ เป็นสัญลักษณ์ฝ่ายวิญญาณว่าเป็นคนของพระเจ้า


 ฟิลิปปี 3:3 เพราะว่าเราทั้งหลายเป็นพวกถือพิธีเข้าสุหนัตแท้ เป็นผู้นมัสการพระเจ้าด้วยจิตวิญญาณ และอวดพระเยซูคริสต์ และไม่ได้ไว้ใจในเนื้อหนัง


หัวใจที่เข้าส่วนในพระกายกับพระคริสต์ คือ ชีวิตที่ทะลุทะลวง แม้ศัตรูขวางหน้าก็ไม่หวั่นเพราะมั่นใจในพันธสัญญาแห่งการช่วยกู้

1 ยอห์น 4:4 เพราะว่าพระองค์ผู้สถิตอยู่ในท่านทั้งหลายเป็นใหญ่กว่าผู้นั้นที่อยู่ในโลก
 
ความเชื่อเช่นนี้เหมือนกับโยชูวา(ชื่อหมายถึง พระเจ้าทรงช่วยให้รอด) มั่นใจในฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า เมื่อท่านได้พบกับผูัถือดาบ ท่านมีชัยชนะเข้าสู่คานาอันได้สำเร็จ

พิธีเข้าสุหนัตและบัพติศมา เป็นการเข้าส่วนในพันธสัญญา ทั้ง 2 สิ่งนี้ มันคือความั่นใจ ว่านั่นคือ "พันธสัญญาที่ปลดแอกแห่งพันธนาการ"

บทความในวันนี้ ขอกล่าวถึงเรื่องของ "พันธสัญญา"หรือในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า "Covenant" : a compact (because made by passing between pieces of flesh)

คำว่า Compact พจนานุกรมให้ความหมายว่า สัญญา ข้อตกลง
หรืออีกคำคือคำว่า "Testament " ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ คำว่า διαθήκη -ดีอาเธเก้  ให้นิยามหมายถึงคำว่า "พันธสัญญา"และคำว่า"พินัยกรรม"อีกด้วย
  


คำว่า "พินัยกรรม" เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะคำนี้หมายถึง หนังสือที่เจ้าของมรดกได้ทำขึ้นไว้ เพื่อแสดงเจตนาว่าเมื่อตนตายไปแล้วต้องการให้ทรัพย์สินต่างๆ ตกเป็นของใคร โดยพินัยกรรมจะมีผลก็ต่อเมื่อเจ้าของมรดกได้ตายไปแล้ว ทั้งนี้กฎหมายได้กำหนดให้พินัยกรรมต้องทำตามแบบ หากไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดพินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะหรือโมฆียะ

ความหมายของคำว่าโมฆะ และโมฆียะ

โมฆะ คือ นิติกรรมที่ตกเป็นอันเสียเปล่า ใช้บังคับไม่ได้ไม่เกิดผลในทางกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้น
 
โมฆียะคือ นิติกรรมที่เมื่อทำขึ้นแล้วมีผลผูกพันกันได้ตามกฎหมาย แต่ก็อาจถูกบอกล้างได้ในภายหลัง


ด้วยเหตุนี้เอง พระเยซูคริสต์ทรงมาตายเพื่อเราจะได้รับชีวิต เพื่อทำให้กฏบัญญัติแห่งความตายเป็นโมฆะ ความเชื่อในพระราชกิจแห่งการไถ่นี้เองเป็นเงือนไขที่ทำให้เราได้รับมรดกนี้พระคัมภีร์จึงเป็นดั่งพินัยกรรมบอกถึงคำสัญญาที่พระเจ้าทรงเขียนให้เราได้ทราบถึงมรดกที่เราจะได้รับ เราเป็นทายาทที่จะรับมรดกของพระเจ้า
พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม(Old Testament)เป็นเงาที่เล็งถึงพินัยกรรมใหม่ที่พระเยซูคริสต์ทรงทำพันธสัญญาใหม่(New Testament)


อิสยาห์ 28:18 แล้วพันธสัญญาของเจ้ากับความตายเป็นโมฆะ และข้อตกลงของเจ้ากับแดนคนตายจะไม่ดำรง เมื่อภัยพิบัติอันท่วมท้นผ่านไป เจ้าจะถูกเหยียบย่ำลงด้วยโทษนั้น




เอเฟซัส 2:15 คือการเป็นปฏิปักษ์กัน โดยในเนื้อหนังของพระองค์ ได้ทรงให้ธรรมบัญญัติอันประกอบด้วยบทบัญญัติและกฎหมายต่างๆนั้นเป็นโมฆะ เพื่อจะกระทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นคนใหม่คนเดียวในพระองค์ เช่นนั้นแหละ จึงทรงกระทำให้เกิดสันติสุข
เราจะต้องทำความเข้าใจว่า “พันธสัญญา” คืออะไรและอะไรไม่ใช่พันธสัญญา ชุมชนคริสเตียนในโลกมักจะสับสนกับคำว่า“พันธสัญญา” กับคำว่า “สัญญา”
การทำ “สัญญา” นั้นเป็นการกระทำระหว่างคนที่มีการตกลงร่วมกันและต้องใช้ความพยายาม
ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุข้อตกลงในที่สุด ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ทำตาม
ข้อตกลงนั้น สัญญานั้นก็จะขาดลงและอีกฝ่ายก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ท่าทีที่อยู่เบื้องหลังสัญญานี้คือ “ถ้าคุณทำอย่างนี้ให้ฉัน ฉันก็จะทำอย่างนั้นเป็นการตอบแทน”
ความสัมพันธ์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องของข้อแม้ และเป็นเพียงชั่วคราว จนกว่าสัญญานั้นจะสำเร็จหรือขาดลง
สัญญา มักจะทำในฐานะของผู้ทำสัญญามีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

แต่คำว่า "พระสัญญา"หรือ "พันธสัญญา" ในพระคัมภีร์กล่าวถึงพระเจ้าที่ทรงทำพันธสัญญากับประชากรของพระองค์ เป็นการทำสัญญาของผู้ที่มีสถานะสูงกว่าทำกับผู้ที่มีสถานะที่ต่ำกว่า

คำว่า "พันธสัญญา" นั้นมี 2 แบบคือ


   1.  เป็นแบบพันธสัญญาที่กษัตริย์มอบให้ (Royal Grant Treaty Covenant) : ไม่มีเงื่อนไขและเป็นพันธสัญญานิรันดร์

พันธสัญญานี้ไม่ขึ้นกับความดีของตัวผู้รับ แต่ขึ้นกับน้ำพระทัยและความสูงส่งของผู้มอบให้ ตัวอย่างเช่น ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 12 พระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับอับราฮัมว่าจะเป็นบิดาแห่งประชาชาติ 

   2. แบบพันธสัญญาที่กษัติย์ทำกับประชากรของพระองค์(Suzerain-vassal Treaty )


พันธสัญญานี้ทำโดยมีเงื่อนไขคือการเชื่อฟังตามคำบัญชาหรือพระบัญญัติ พระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์และอิสราเอลเป็นประชากรของพระเจ้า(Colony)
ตัวอย่างเช่น ในพระธรรมอพยพ บทที่ 20 พระเจ้าทรงปลดแอกคนอิสราเอลออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ และประทานพระบัญญัติ 10 ประการให้กับพวกเขาเพื่อระวังที่จะทำตาม พวกเขาจึงเป็นประชากรของพระเจ้า

นี่คือการทำพันธสัญญาแห่งการปลดแอกจากพันธนาการ เข้าสู่ความเป็นไทในพระเจ้า
เพราะในพระธรรมอพยพบทที่ 3 เสียงร้องแห่งการคร่ำครวญจากการถูกแอกที่กดขี่ขมเหงได้ไปถึงพระเจ้าและพระองค์ทรงใช้โมเสสที่จะมาปลดแอกพวกเขาจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์
อพยพ 3:7 พระเจ้าตรัสว่า "เราเห็นความทุกข์ของประชากรของเราที่อยู่ในประเทศอียิปต์แล้ว เราได้ยินเสียงร้องของเขา เพราะการกดขี่ของพวกนายงาน เรารู้ถึงความทุกข์ร้อนต่างๆ ของเขา

จะเห็นได้ว่านี่คือพันธสัญญาแห่งการปลดแอกของพันธนาการ ที่พระเจ้าทรงให้กับคนชาติของพระองค์ คือ อิสราเอล
ไม่เพียงเท่านั้น เราทั้งหลายที่เชื่อและเชื่อมกับพันธสัญานี้เราก็จะเป็นประชากรในอาณาจักรของพระเจ้า(Colony)ด้วยเช่นเดียวกัน

วันนี้เราได้ทำพันธสัญญาร่วมยืนเคียงข้างกับชนชาติของพระเจ้าคืออิสราเอล เป็นการแสดงตัวร่วมความเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิตของพระเยซู (Yeshua) คือเป็นคนใหม่คนเดียวกัน (One New Man)


เอเฟซัส 2:14-15
14 เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นสันติสุขของเรา เป็นผู้ทรงกระทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทรงรื้อกำแพงที่กั้นระหว่างสองฝ่ายลง
15 คือการเป็นปฏิปักษ์กัน โดยในเนื้อหนังของพระองค์ ได้ทรงให้ธรรมบัญญัติอันประกอบด้วยบทบัญญัติและกฎหมายต่างๆนั้นเป็นโมฆะ เพื่อจะกระทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นคนใหม่คนเดียวในพระองค์ เช่นนั้นแหละ จึงทรงกระทำให้เกิดสันติสุข


การทำพันธสัญญาระหว่างเรากับอิสราเอล เป็นเรื่องสองหัวใจที่มาเชื่อมกัน ไม่ใช่เรื่องสองสมองที่เชื่อมกัน และมีบททดสอบและพิสูจน์ในการดำเนินในพันธสัญญา
พูดง่ายๆ คือ เมื่อก่อนเรามองอิสราเอลแบบผู้ชายดูใจคบกับผู้หญิง แต่ตอนนี้เมื่อทำพันธสัญญา หมายถึงตกลงปลงใจมาแต่งงานกันนั่นเอง
เราจึงต้องทำความเข้าใจกัน ตกลงใจกัน เพื่อจะร่วมเดินในพันธสัญญาด้วยกัน การทำพันธสัญญาครั้งนี้จึงเป็นภาพความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งคริสตจักรที่มีต่อชนชาติอิสราเอล


อาโมสส 3:3 "สองคนจะเดินไปด้วยกันได้หรือ นอกจากทั้งสองจะได้ตกลงกันไว้ก่อน

ดังนั้น พันธสัญญา จึงมีความหมายสำหรับคู่สมรสที่ต้องกล่าวคำสัญญาต่อกันในวันแต่งงาน (Marriage vows) มีความหมายถึง การทำสัญญาที่กลั่นออกมาจากเลือดเนื้อจิตวิญญาณภายใน พันธสัญญาระหว่างชายและหญิงโดยพระเจ้าเป็นผู้ที่ผูกพันครอบครัวด้วยพันธสัญญา คู่สมรสจึงเป็นเนื้อเดียวกัน

มัทธิว 19:4-6
4 พระองค์ตรัสตอบเขาว่า "พวกท่านไม่ได้อ่านหรือว่า พระผู้ทรงสร้างมนุษย์แต่เดิม ได้ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง
5 และตรัสว่า เพราะเหตุนั้นบุรุษจึงต้องละบิดามารดาของตน ไปผูกพันอยู่กับภรรยาและเขาทั้งสองจะเป็นเนื้ออันเดียวกัน
6 เขาจึงไม่เป็นสองต่อไป แต่เป็นเนื้ออันเดียวกัน เหตุฉะนั้นซึ่งพระเจ้าได้ทรงผูกพันกันแล้ว อย่าให้มนุษย์ทำให้พรากจากกันเลย"


ผมจึงขอหนุนใจให้เราร่วมทำพันธสัญญาร่วมกันกับชนชาติอิสราเอลตามที่ตัวแทนของคริสตจักรได้ไปทำแล้วในช่วงที่ผ่านมา ที่เราจะยืนเคียงข้างและร่วมเดินในพันธสัญญากับพระเจ้าร่วมกัน

"หัวใจ" หมายถึง เครื่องหมายแห่งพันธสัญญา และ "บททดสอบ คือสถานที่แห่งพันธสัญญา"แต่ละสถานที่ในประเทศอิสราเอลล้วนเป็นบททดสอบชีวิต ที่มีความสำคัญในฝ่ายวิญญาณ ที่เราควรจะได้เดินทางไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิตของเรา 

เครื่องหมายของพันธสัญญา : พระเยซูมีเครื่องหมายของพันธสัญญาบนมือของพระองค์

อิสยาห์ 49:15-16
15 “ผู้หญิงจะลืมบุตรที่ยังกินนมของนาง และจะไม่เมตตาบุตรจากครรภ์ของนางได้หรือ” แม้ว่าคนเหล่านี้ยังลืมได้ กระนั้นเราก็จะไม่ลืมเจ้า
16 ดูเถิด เราได้สลักเจ้าไว้บนฝ่ามือของเรา กำแพงเมืองของเจ้าอยู่ต่อหน้าเราเสมอ


เครื่องหมายพันธสัญญาของเรากับพระเจ้าคือ การตัดความเป็นเนื้อหนังออก และดำเนินชีวิตในความบริสุทธิ์
เมื่อเราอยู่ต่อหน้าพระองค์ ให้เรายกมือที่บริสุทธิ์ขึ้นต่อหน้าพระองค์
เมือเราอยู่ต่อหน้าศัตรู ให้เรายกมือของเราขึ้นเพื่อเตือนศัตรูว่า ฉันมีผู้ปกป้อง เพราะพระเจ้าสลักเราไว้บนฝ่ามือของพระองค์


อสย.9:17 ผู้ก่อสร้างเจ้าก็เอาชนะผู้ทำลายเจ้า และบรรดาผู้ที่ทำให้เจ้าถูกทิ้งร้างก็ออกไปจากเจ้า
และเมื่อเรายกมือของเราขึ้นต่อหน้าของเรา ก็คือเป็นการเตือนว่า เราทำพันธสัญญากับพระเจ้า
พันธสัญญานั้นเป็นเรื่องจริงจัง แต่ก็เป็นพระ
พรที่ยิ่งใหญ่

พระเจ้าทรงมีแผนการปลดแอกแห่งพันธนาการของความบาป ผ่านทางพระเยซูคริสต์ ตามคำเผยพระวจนะของอิสยาห์
อิสยาห์ 9:4-6
4 เพราะว่าแอกอันเป็นภาระของเขาก็ดี ไม้พลองที่ตีบ่าเขาก็ดี ไม้ตะบองของผู้บีบบังคับเขาก็ดี พระองค์จะทรงหักเสียอย่างในวันของคนมีเดียน
5 เพราะรองเท้าทุกคู่ที่กระทืบไปอย่างสั่นสะเทือนและเสื้อคลุมทุกตัวที่เกลือกอยู่ในโลหิต จะถูกเผาเป็นเชื้อเพลิงใส่ไฟ
6 ด้วยมีเด็กคนหนึ่งเกิดมาเพื่อเรา มีบุตรชายคนหนึ่งประทานมาให้เรา และการปกครองจะอยู่ที่บ่าของท่าน และท่านจะเรียกนามของท่านว่า "ที่ปรึกษามหัศจรรย์ พระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ พระบิดานิรันดร์ องค์สันติราช"


วันนี้พระเยซูเชื้อเชิญเราทุกคนเข้าสู่พันธสัญญา ที่มาจากการเสียสละชีวิตของพระองค์ เป็นเครื่องบูชาไถ่บาปให้กับเรา

การทำพันธสัญญาในสมัยพระคัมภีร์เดิมเป็นการทำพิธีแบบ “ผ่าพันธสัญญา”เพราะว่าการฆ่าสัตว์เพื่อบูชาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมในการทำพัธสัญญา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าต่างฝ่ายต่างจะรักษาพันธสัญญานี้ด้วยชีวิตของตนเอง คือการนำสัตว์ที่จะถวายเครื่องบูชามาผ่าเป็น 2 ซีก และผู้ที่ไม่รักษาพันธสัญญาก็จะเป็นแบบนั้น


พระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับอับราฮัม


ปฐมกาล 15:10-18
10 อับราม(อับราฮัม)จึงนำสัตว์เหล่านี้มาถวายและผ่ากลางตัววางข้างละซีกตรงกันแต่นกนั้นหาได้ผ่าไม่
17 ครั้นดวงอาทิตย์ตกและค่ำมืดก็มีเตาที่ควันพลุ่งอยู่ และคบเพลิงเลื่อนลอยมาระหว่างกลางซีกสัตว์เหล่านั้น
18 ในวันนั้นพระเจ้าทรงกระทำพันธสัญญาไว้กับอับรามว่า "เรามอบดินแดนนี้ให้เชื้อสายของเจ้าแล้ว ตั้งแต่แม่น้ำอียิปต์ไปถึงแม่น้ำใหญ่ คือแม่น้ำยูเฟรติส

(ผมได้อธิบายไว้ในบทความเรื่อง เดินร่วมพันธสัญญากับอิสราเอล  สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ link นี้ ครับ   http://pattamarot.blogspot.com/2012/08/blog-post_18.html)

จะเห็นได้ว่า คำว่า “พันธสัญญา” กับคำว่า "สัญญา" นั้นต่างกันโดยสิ้นเชิงและเพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องนี้  เราจะต้องมองด้วยความคิดจากมุมมองของชาวฮีบรู ไม่ใช่จากมุมมองแบบชาวตะวันตก 
 การทำตามพันธสัญญาจะเป็นเงื่อนไขของการรับมรดกตามพินัยกรรมของพระเจ้าที่บันทึกพระสัญญาไว้มากมาย
หนังสือเรื่อง Destined to Reign Devotional ของโจเซฟ ปรินซ์ (Joseph Prince) อธิบายเรื่องการรับมรดกของพระเจ้าไว้ดังนี้ว่า  
พระเจ้าทรงทำสัญญากับอับราฮัมว่าท่านจะเป็นผู้ได้รับมรดกในโลกนี้ เป็นผู้สืบเชื้อสายทางความเชื่อด้วย
(ในพระธรรมโรม บทที่ 3:19-22 ฉบับภาษาอังกฤษกล่าวว่า “For the promise that he would be the heir of the world was not to Abraham or to his seed through the law, but through the righteousness of faith.”)

ดังนั้น พระสัญญานี้จึงไม่ได้ทำเฉพาะกับอับราฮัมเท่านั้น แต่กับพงศุ์พันธ์ของท่านทางความเชื่อด้วย นี่จึงรวมถึงพวกเราทุกคนผู้ซึ่งเป็นของพระคริสต์ด้วย

 (และถ้าท่านเป็นของพระคริสต์แล้วท่านก็เป็นพงศ์พันธุ์ของอับราฮัม คือ เป็นผู้รับมรดกตามพระสัญญา กาลาเทีย 3:29)
 
จงจำไว้ว่า พระเจ้าไม่ได้ตรัสว่า เราเป็นผู้รับมรดกของประเทศที่เราอาศัยอยู่ แต่เป็นผู้รับมรดกของโลกนี้!!! 
คำว่า “โลก” ในคำกรีก คือคำว่า “kosmos” ซึ่งหมายถึง จักรวาล ให้ความหมายเช่นเดียวกับ วงจรของสิ่งที่ดีทั้งหมดบนโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็น ทุน, ความร่ำรวย, ผลประโยชน์ และความพึงพอใจ ทั้งหมดนี้เป็นของเราที่จะได้รับผ่านทางความชอบธรรมโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์และการงานของพระองค์ที่สำเร็จแล้วบนไม้กางเขน ความชอบธรรมนี้มอบให้แก่เราเป็นของขวัญจากพระเจ้า ดังนั้น เราไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้ผ่านการกระทำดี

พูดง่ายๆคือ พระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับเราโดยพระคุณ แต่ให้เราดำเนินตามพระบัญญัติของพระเจ้าโดยพระคุณ ไม่ใช่การแบกภาระ(แอก) แต่จงผ่อนคลายและรับความชื่นชมยินดีในมรดกที่จะได้รับ
ดั่งที่พระเยซูคริสต์กล่าวไว้ว่า

มัทธิว 11:29-30 
29 จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพและใจอ่อนน้อม และจิตใจท่านทั้งหลายจะได้พัก
30  ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา" 





พิธีปัสกา(passover -Pesach)-พิธีมหาสนิท เป็นดั่งพันธสัญญาที่ปลดแอกแห่งพันธนาการ


พิธีปัสกา คือ การปลดแอกอิสราเอลออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ พวกเขามองไปข้างหน้าด้วย"ความหวังใจ"ในพันธสัญญาในเรื่องดินแดน

พิธีมหาสนิทเป็นการปลดแอกจากการเป็นทาสของบาป เข้า

สู่ความเป็นไท รับแอกแห่งการพักสงบ(มธ.11:29-30)
ในความสัมพันธ์กับพระคริสต์ เรามองกลับหลังไปด้วย "ความเชื่อ"ในพระราชกิจที่เสร็จสิ้นที่กางเขนของพระองค์

พระเยซูคริสต์ได้ทรงสถาปนาพิธีมหาสนิทในการฉลองปัสกา (ลก.22:15-20) เป็นการเชื่อมพันธสัญญาเดิม(Old Testament) และพันธสัญญาใหม่(New Testament) เข้าด้วยกัน ไม่ได้ล้มล้าง แต่ทำให้สมบูรณ์ ทั้งปัสกาและมหาสนิท มีจุดบรรจบกันคือ "ความรัก" ที่ทำให้ทุกสิ่งสมบูรณ์แบบโดยพระเจ้าทรงมอบให้คนของพระองค์
ในการดำเนินชีวิตสำหรับคริสตชน คือ ดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ ความหวังใจและความรัก (1 คร.13:13)

เมื่อเรานึกถึงพันธสัญญา(ภาษากรีก διαθήκη -ดีอาเธเก้)ของทั้ง 2 สิ่งนี้ มันคือความั่นใจ ว่านั่นคือพันธสัญญาที่ปลดแอกแห่งพันธนาการ

ภาพแห่งพันธสัญญาคือการแต่งงาน คือการเทียมแอก คือการใช้ชีวิตร่วมกันดั่งแอกที่นำมาเทียมสัตว์ที่เป็นพาหนะในการเดินทาง หากการเทียมแอกไม่เหมาะสมก็ทำให้เดินทางลำบาก

พระเจ้าจึงเตือนใจไม่ให้ผู้เชื่อไปแต่งงานหรือไป "เทียมแอกกับคนที่ไม่เชื่อ" ไม่ใช่"เทียมแอกกับคนที่ไม่ชอบ"นะครับ

2โครินธ์ 6:14 ท่านอย่าเข้าเทียมแอกกับคนที่ไม่เชื่อ เพราะว่าความชอบธรรมจะมีหุ้นส่วนอะไรกับความอธรรม และความสว่างจะเข้าสนิทกับความมืดได้อย่างไร

นอกจากนี้พระเจ้ายังเตือนใจผู้เชื่อ เมื่อปลดแอกในการเป็นทาสแล้วก็อย่ากลับไปเป็นทาสอีก
กาลาเทีย 5:1 เพื่อเสรีภาพนั้นเอง พระคริสต์จึงได้ทรงโปรดให้เราเป็นไท เหตุฉะนั้นจงตั้งมั่น และอย่าเข้าเทียมแอกเป็นทาสอีกเลย


ทั้งนี้เพราะหลายๆครั้ง ผู้เชื่อก็ดำเนินชีวิตแบบเก่าๆ คือ ทำงานหนัก แบกภาระหนัก ไม่พึ่งพาพระเจ้า ตัวเป็นไทแต่หัวใจเป็นทาส
ออกจากอียิปต์มาแล้ว แต่อียิปต์ยังไม่เคยออกจากใจเลย

ขอหนุนใจทุกท่านว่า "ธาตุแท้"ตัวตนของเรา คือ เราเป็นไทแล้วเพื่อจะรับมรดกตามพระสัญญา อย่าทำตัวแบบเดิม เป็น "ทาสแท้ๆ"ของมารอีก

เราต้องรับพันธสัญญาแห่งการปลดแอกจากพระเจ้า วันนี้เราได้แต่งงานกับพระเจ้าแล้วในทางความเชื่อ คือ การบัพติศมาเข้าสุหนัตทางใจ เข้าส่วนในพระกายของพระคริสต์แล้ว 
ให้เราดำเนินตามพระ"สัญญา"ของพระเจ้า  ไม่ใช่ดำเนิน ตาม"สันดาน"เดิมของเรา อุปนิสัยเก่าของเราเปลี่ยนแปลงใหม่แล้ว
ทุกครั้งที่เรารับพิธีปัสกา หรือ มหาสนิท ขอให้เราเชื่อมั่นใน "พันธสัญญาที่ปลดแอกแห่งพันธนาการ"
ให้เราเอนกายพักสงบในพระเจ้ามั่นคงในพันธสัญญา ดั่งพิธีมหาสนิทที่พระองค์
ทรงตั้งไว้ดังนี้
ลูกา 22:14-20
14 เมื่อถึงเวลา พระองค์ทรงเอนพระกายเสวยพร้อมกับอัครทูต
15 พระองค์ตรัสกับเขาว่า "เรามีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะกินปัสกานี้กับพวกท่านก่อนเราจะต้องทนทุกข์ทรมาน

16 ด้วยเราบอกท่านทั้งหลายว่าเราจะไม่กินปัสกานี้อีก จนกว่าจะสำเร็จความหมายของปัสกานั้นในแผ่นดินของพระเจ้า"
17 พระองค์ทรงหยิบถ้วยโมทนาพระคุณแล้วตรัสว่า "จงรับถ้วยนี้แบ่งกันดื่ม
18 เพราะเราบอกท่านทั้งหลายว่า เราจะไม่ดื่มน้ำผลแห่งเถาองุ่นต่อไปอีก จนกว่าแผ่นดินของพระเจ้าจะมา"
19 พระองค์ทรงหยิบขนมปัง โมทนาพระคุณ แล้วหักส่งให้แก่เขาทั้งหลาย ตรัสว่า "นี่เป็นกายของเรา [ซึ่งได้ให้สำหรับท่านทั้งหลาย จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา"
20 เมื่อรับประทานแล้ว จึงทรงหยิบถ้วยกระทำเหมือนกันตรัสว่า "ถ้วยนี้ซึ่งเทออกเพื่อท่านทั้งหลายเป็นคำสัญญาใหม่ โดยโลหิตของเรา]

ขอพระเจ้าอวยพระพรนะครับ

09 เมษายน 2557

ปรากฏการณ์ดวงจันทร์กลายเป็นสีเลือด (Tetrad)

เขียนบทความนี้เมื่อต้นปี 2014 นำมาแบ่งปันอีกครั้งเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ หมายสำคัญบนท้องฟ้า ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ดวงจันทร์กลายเป็นสีเลือด เรียกว่า เทแทรด (Tetrad)

ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ดวงจันทร์กลายเป็นสีเลือด เรียกว่า เทแทรด...
(Tetrad) นั่นคือจันทรุปราคาเต็มดวงติดต่อกัน 4 ครั้ง เมื่อมีจันทรุปราคาเต็มดวงทำให้ดวงจันทร์กลายเป็็นสีเลือด
ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ บอกให้เรารู้จักสังเกตและจับตาเป็นพิเศษเพื่อจะไม่พลาดจากการสำแดงของพระเจ้า ผู้ที่สังเกตและเปิดใจจะเข้าใจและเคลื่อนไปตามวาระเวลาของพระเจ้า ตัวอย่างเช่น โหราจารย์ดูดวงดาวและตามหาพระเยซูคริสต์ (มัทธิว 2:16)

ในพระธรรมปฐมกาล 1:14 บอกว่า "พระเจ้าตรัสว่า จงให้มีดวงสว่างบนพื้นฟ้าอากาศ ... เพื่อใช้เป็นหมายสำคัญและที่กำหนดฤดู ..."
คำว่า "ฤดู" ตรงนี้ในภาษาฮีบรู คือคำว่า "โมเอ็ด" (Moed-מועד) แปลคำว่า "เทศกาล" (Festival) ในปฐมกาล 1:14 เหตุที่พระเจ้า "ให้มีดวงสว่างบนพื้นฟ้าอากาศ" เพื่อใช้เป็นหมายสำคัญ และ เพื่อกำหนดเทศกาลของพระเจ้าซึ่งคนยิวได้ฉลองกัน มี 3 เทศกาลหลัก แบ่งย่อยได้เป็น 7 เทศกาลคือ
ซึ่งในปี 2014-2015 ช่วงเทแทรด (Tetrad) จะตรงกับเทศกาลของยิวตามพระธรรมเลวีนิติบทที่ 23 ที่บันทึกไว้ ตามนี้




1.เทศกาลปัสกา (Passover-Pesach) อยู่ในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ (เดือน
มี.ค. - เม.ย.) มี 3 เทศกาลย่อย นั่นคือ

1. เทศกาลปัสกา (ปี 2014 ตรงกับวันที่ 15 เม.ย./ปี 2015 ตรงกับวันที่ 4 เม.ย.) จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์เป็นสีเลือด
2. เทศกาลขนมปังไร้เชื้อ (Unleavened Bread)
3. เทศกาลถวายผลแรก (Firstfruits)

2.เทศกาลเพ็นเทคอสต์ (Pentecost -Shavuot) อยู่ในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ (เดือน พ.ค.- มิ.ย.)
3. เทศกาลอยู่เพิง (Tabernacle-Sukkot) อยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (เดือน ก.ย. - ต.ค.) มี 3 เทศกาลย่อย

1. เทศกาลเสียงแตรเข้าสัตว์ (เริ่มต้นปีใหม่) (Rosh Hashanah) (ปี 2015 ตรงกับวันที่ 13 ก.ย.) จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์เป็นสีเลือด
2. เทศกาลลบมลทินบาป (Atonement-Yom kippur)
3. เทศกาลอยู่เพิง (ปี 2014 ตรงกับวันที่ 8 ต.ค./ปี 2015 ตรงกับวันที่ 28 ก.ย.) จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์เป็นสีเลือด

ดังนั้นในสมัยพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม เมื่อเห็นว่าปรากฏการณ์แบบเทแทรด (Tetrad) บนท้องฟ้าอากาศ และมีเทศกาลพร้อมกันมีความหมายที่สมบรูณ์ของพระเจ้าเป็นปรากฏการณ์ที่เล็งถึงคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์เป็นจริงตามคำพยากรณ์

มีการคำนวนการเกิดเทแทรด (Tetrad) พบว่าในศตวรรษที่ 20 มีเทดเทรด เกิดขึ้นมาแล้ว 5 ครั้ง นั่นคือ เกิดในช่วงปีค.ศ.1909-10,1927-28,1949-50,1967-68และ1985-86)
ที่ผ่านมามีเทแทรด 2 ครั้งที่น่าสนใจ คือในช่วงปี 1949-50 และอีกครั้งเริ่มในปี 1967 ซึ่งคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์เป็นจริงตามคำพยากรณ์ ทั้ง 2 ครั้งคือ

1.ชนชาติอิสราเอลที่กระจัดกระจายไปทั่วโลกกลับมารวมเป็นประเทศ เกิดขึ้นเป็นจริงเมื่อปี ค.ศ.1948

ปรากฏการณ์เทแทรด (Tetrad) ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่ออิสราเอลกลับมาเป็นประเทศหลังจากไม่ได้เป็นประเทศ 1,878 ปี เมื่ออิสราเอลประกาศกลับมาเป็นประเทศ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 สงครามนี้เรียกว่า สงครามของความเป็นอิสระ และเกิดในช่วงเทศกาลปัสกา หลังจากนั้นมีจันทรุปราคาเป็นการเริ่มต้นของเทแทรด (Tetrad)

2) ชนชาติอิสราเอลอิสราเอลได้กรุงเยรูซาเล็มกลับคืนมา เกิดขึ้นเป็นจริงเมื่อปี ค.ศ.1967 ในช่วงวันที่ 5 - 10 มิถุนายน เรียกว่า "สงคราม 6 วัน" ( Six Day War) สงครามนี้สำคัญมากๆเพราะในตอนนั้นเขาชนะได้เมืองหลวงของเขากลับคืนมาคือ กรุงเยรูซาเล็ม หลังจาก 1,897 ปี ใน 1967 ก่อนสงครามนั้นในวันปัสกา มีจันทรุปราคาเป็นการเริ่มต้นของเทดเทรด

จากบทความเรื่อง หมายสำคัญบนท้องฟ้าและคำอธิษฐานอวยพรประจำเดือนอาดาร์ 5774
  เข้าไปอ่านในรายละเอียดได้ที่
http://pattamarot.blogspot.com/2014/01/5774.htm

05 เมษายน 2557

บทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทศกาลปัสกา

ในช่วงเทกาลปัสกา(Passover หรือ Pesach เพเสคในภาษาฮีบรู) วันที่ 14-21 เม.ย.14 เป็นการฉลองการไถ่ของพระเจ้าสำหรับคนอิสราเอลที่ออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ และเป็นภาพเงาถึงพันธสัญญาใหม่ที่พระเจ้า ทรงให้พระเยซูคริสต์มาตายบนไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปชีวิตของเราทั้งหลาย
ผมจึงรวบรวมบทความต่างๆไว้ เพื่อนำไปอ่านทบทวนและแบ่งปันต่อกันได้นะครับ ตาม Link นะครับ
 
Chag Pesach Sameach :Happy Passover
 
http://pattamarot.blogspot.com/2011/04/blog-post_15.htmlทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทศกาลปัสกาและอีสเตอร์
 
ปัสกา เทศกาลแห่งชัยชนะ
 
เทศกาลปัสกา : ก้าวสู่เสรีภาพใหม่ด้วยใจขอบพระคุณ


 อาหารในเทศกาลปัสกา 


การหลั่งพระโลหิต7ครั้งของพระเยซู

ไขปริศนา วันที่แท้จริงที่พระเยซูคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชนม์

02 เมษายน 2557

“สนุกเพลิดเพลินกับการอ่านพระคัมภีร์”#3 "สะสมพระดำรัส"

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน ในบทความคั้งก่อนหน้านั้นผมได้เขียนบทความเรื่อง “สนุกเพลิดเพลินกับการอ่านพระคัมภีร์” ต่อเนื่องกันมา 2 ตอนไปแล้ว นั่นคือ  ตอนที่ 1  "สนุกกับพระคำ" และตอนที่  "สนิทกับพระวจนะ"
 (สามารถกลับไปอ่านได้โดย Click ตามที่ link ไว้)

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์และมีความสนุกเพลิดเพลินกับการอ่านพระคัมภีร์แบบเฝ้าเดี่ยวโดยใช้เวลาสนิทสนมกับพระวจนะที่สำแดงผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ทำให้เราเข้าใจพระวจนะของพระเจ้าอย่างลึกซึ้งมากขึ้น
สำหรับบทความครั้งนี้จะเป็นเรื่องของการสะสมพระดำรัสของพระเจ้าตามพระวจนะที่กล่าวว่า "ข้าพระองค์ได้สะสมพระดำรัสของพระองค์ไว้ในใจของข้าพระองค์ เพื่อข้าพระองค์จะไม่ทำบาปต่อพระองค์" (สดุดี 119:11)

การสะสมพระวจนะ  เราสามารถเลือกพระวจนะของพระเจ้าโดยเฉพาะในข้อที่เป็นพระดำรัส คือ คำสั่ง นั่นหมายถึงการให้ความสำคัญมาท่องจำเพื่อใคร่ครวญเพื่อจะไม่ทำผิดพลาด เป็นการยอมให้พระวจนะของพระเจ้าเข้ามาชำระเปลี่ยนแปลงความคิดของเรา จนสำแดงออกมาเป็นการกระทำ
เมื่อเราอ่านพระวจนะ เราต้องยอมให้พระวจนะเข้ามาชันสูตรพิสูจน์ใจของเรา(ไม่ใช่ชันสูตร พลิกศพ) ทำให้เราได้รับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ เมื่อเราอ่านพระวจนะ พระวจนะก็อ่านใจเราด้วยเช่นกัน

ฮีบรู 4:12 เพราะว่า พระวจนะของพระเจ้านั้นไม่ตายและทรงพลานุภาพอยู่เสมอ คมยิ่งกว่าดาบสองคมใดๆแทงทะลุกระทั่งจิตและวิญญาณ ตลอดข้อกระดูกและไขในกระดูก และสามารถวินิจฉัยความคิดและความมุ่งหมายในใจด้วย

หนุนใจให้ผู้อ่านได้อ่านคัมภีร์และสะสมพระดำรัสของพระองค์ทุกวัน
เราสามารถอ่านพระวจนะใคร่ครวญส่วนตัวแบบเฝ้าเดี่ยวหรืออ่านพระวจนะแบบเป็นกลุ่มและนำข้อคิดมาแบ่งปันกันเพื่อหนุนจิตชูใจกันได้นะครับ

วิธีการอ่านพระคัมภีร์เป็นกลุ่ม เราสามารถเลือกตอนที่ต้องการศึกษามา 1 บทหรือ 1 ตอนเพื่ออ่านร่วมกัน มีวิธีการง่ายๆ 7 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
 
1. อธิษฐานเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อสำแดงความจริงประทานความเข้าใจในการอ่านพระคัมภีร์ 
ยอห์น 16:13 เมื่อพระวิญญาณแห่งความจริงจะเสด็จมาแล้ว พระองค์จะนำท่านทั้งหลายไปสู่ความจริงทั้งมวล
 
2.อ่านพระคัมภีร์ร่วมกัน

ให้แต่ละคนในกลุ่มอ่านพระวจนะนั้นอย่างช้าๆ หรืออาจจะให้คนหนึ่งในกลุ่มอ่านให้ทุกคนฟังและให้ทุกคนรับฟังพระวจนะและจดจำพระวจนะ
3.เลือกหาคำประทับใจและอธิษฐานภาวนาพระคำร่วมกัน
ให้ทุกคนอยู่ในความเงียบระยะหนึ่ง และให้แต่ละคนเลือกคำหรือข้อความที่ประทับใจ แล้วอ่านด้วยความสำรวมอย่างช้าๆ 3 ครั้ง เว้นช่วงระหว่างที่แต่ละคนอ่านให้ห่างพอสมควร จนกว่าทุกคนจะอ่านครบหมดทุกคน


4.ใช้เวลาอธิษฐานภาวนา  ปล่อยให้พระวจนะตรัสกับเราในความเงียบ
ให้ทุกคนอยู่ในความเงียบประมาณ
2-3 นาที เพื่อให้พระเจ้าได้ตรัสกับเราในถ้อยคำที่เรามีความประทับใจ

5. แบ่งปันสิ่งที่พระตรัสกับเราในใจ
ให้แต่ละคนพิจารณาว่า ข้อความไหนในตอนที่อ่าน อ่านแล้วเกิดความประทับใจ  และแบ่งปันให้คนอื่นได้รับทราบ แต่ต้องไม่ใช่เป็นการสอนคนอื่น เป็นการแบ่งปันข้อคิดที่ตนได้รับจากพระวจนะ


6.  จดบันทึกสิ่งที่พระเจ้าตรัสผ่านพระวจนะ ไว้ในสมุดบันทึกเพื่อเก็บมาทบทวนและใคร่ครวญ 
 
7. อธิษฐานขอบคุณพระเจ้าร่วมกัน

ให้ผู้นำกลุ่มฯ อธิษฐานขอบคุณพระเจ้า เพื่อทำการปิดประชุมกลุ่มด้วยการภาวนาร่วมกัน หรืออาจจะจบด้วยการร้องเพลงเพื่อตอบสนองพระวจนะร่วมกัน

ข้อแนะนำ การอ่านพระคัมภีร์เป็นกลุ่มแบบ 7 ขั้นตอน จะต้องทำเฉพาะในกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 5-6 คน หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 7-8 คน การเชิญให้แบ่งปันไม่ควรให้ทุกคนทำการแบ่งปันเพราะจะใช้เวลามาก เลือกเฉพาะบางคน สัก 2-3 คน

การใช้เครื่องมือในการศึกษาพระคัมภีร์

การสะสมพระดำรัสของพระเจ้า เป็นเรื่องของทุกคน เราต้องทำเข้าใจว่าการศึกษาพระคัมภีร์ มิใช่หน้าที่ของผู้ที่เตรียมสอนหรือผู้เทศนาเท่านั้น  แต่ทุกคนควรจะมีใจปรารถนาอยากจะรู้จักพระเจ้า รู้ลึกซึ้งเป็นส่วนตัว และเข้าใจในพระคัมภีร์จนสำแดงออกเป็นธรรมชาติชีวิตที่รู้จักพระเจ้า ไม่เพียงแต่การได้ฟังเทศนาในแต่ละสัปดาห์เท่านั้น  แต่เราควรที่จะทำความรู้จักเครื่องมือในการศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์
 ในปัจจุบันก็สามารถค้นคว้าสรรหามาใช้ได้อย่างกว้างขวางทาง Internet  โดยที่ไม่จำเป็นต้องหาซื้อมาใช้ส่วนตัว หรือหากใครอยากมีเก็บสะสมไว้ในห้องสมุดส่วนตัวก็จะดียอดเยี่ยมเลย เพราะเครื่องมือแต่ละชนิดเปรียบเสมือนมีดที่มีขนาดต่างๆกัน และแต่ละแบบ เพื่อใช้ในการปอกผลไม้แบบต่างๆ

เราต้องเข้าใจว่า ผู้ที่เป็นผู้ช่วยในการศึกษาพระคัมภีร์ที่ดีที่สุด คือ “พระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นพระวิญญาณแห่งความจริง” ทำหน้าที่ในการเปิดเผยให้เราเข้าใจพระวจนะของพระเจ้า

เราไม่อาจค้นพบความหมายที่แท้จริงโดยความสามารถหรือการศึกษาของเราเอง เราต้องขอให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสอนเราให้เข้าใจความหมายฝ่ายจิตวิญญาณที่ซ่อนอยู่ในพระวจนะ (1 คร. 2:14) และเครื่องมือที่ดีที่สุดในการศึกษาพระคัมภีร์   นั่นคือ พระคัมภีร์ เพราะพระคัมภีร์จะตีความพระคัมภีร์เอง เราเปรียบเทียบพระคัมภีร์ตอนหนึ่งกับอีกตอนหนึ่งได้เพื่อจะเข้าใจพระคัมภีร์ชัดเจนขึ้น  

พระคัมภีร์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ พระคัมภีร์เดิมเป็นพื้นฐานให้แก่พระคัมภีร์ใหม่ ส่วนพระคัมภีร์ใหม่ทำให้เรื่องราวในพระคัมภีร์เดิมสมบูรณ์ พระคริสต์ทรงเป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์ทั้ง 2 ภาค เราจะเข้าใจพระคัมภีร์เมื่อเรามองดูพระคริสต์และแผนการของพระเจ้าในการไถ่มนุษย์โดยทางพระองค์ผ่านพระคัมภีร์ทั้งเล่ม  พระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่เปรียบเสมือนหนังสืออธิบาย(Commentaries)พระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม

เครื่องมือที่ควรจะมีไว้เพื่อศึกษา
 

1. หนังสืออธิบายพระคัมภีร์(Commentaries) 
เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดในการศึกษาเพราะผู้เขียนได้ไปศึกษาและสรุปรวบรวมไว้ให้อ่านประกอบการศึกษาพระคัมภีร์  เราควรจะเลือกหนังสือที่เขียนโดยผู้ที่มีความเข้าใจพระวจนะอย่างถ่องแท้ ปัจจุบันมีการแปลหนังสืออธิบายพระคัมภีร์(Commentaries) เป็นภาษาไทยทำให้สะดวกมากขึ้นในการศึกษา

2.  ศัพท์สัมพันธ์ (Concordances)
เป็นหนังสือที่รวบรวมคำศัพท์ต่างๆในพระคัมภีร์ โดยเรียงลำดับตัวอักษร  
ศัพท์สัมพันธ์ (Concordances) เหมาะสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นคำต่างๆ สามารถบอกจำนวนคำนั้นว่าปรากฏกี่ครั้งในพระคัมภีร์และคำนั้นอยู่ในพระธรรมใดมักจะใช้ควบคู่กับหนังสือรวบรวมคำศัพท์ภาษาฮีบรู และภาษากรีก (strong’s concordance with Hebrew-Greek lexicons)

3.  หนังสือรวบรวมคำศัพท์ภาษาฮีบรู และภาษากรีก (Strong’s concordance with Hebrew -Greek lexicons)
เป็นหนังสือที่รวบรวมคำศัพท์ต่างๆในพระคัมภีร์ โดยเป็นการศึกษารากศัพท์ที่แปลมาจากภาษากรีกและฮีบรูที่เป็นภาษาหลักในการเขียนพระคัมภีร์  ในปัจจุบันมีการทำเป็น โปรแกรมเพื่อศึกษาพระคัมภีร์ (Bible  study software)  ทำให้สะดวกมากขึ้นในการศึกษา

4.   หนังสือสารานุกรมพระคัมภีร์ (Encyclopedias)
เป็นหนังสือที่รวบรวมรูปภาพ สถานที่ บุคคล  ฯลฯ  ที่สำคัญที่บันทึกในพระคัมภีร์ เป็นประโยชน์ทำให้เราเข้าใจถึงบริบท  ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมต่างๆในพระคัมภีร์ ทำให้เกิดความเข้าใจในการศึกษาพระคัมภีร์มากขึ้น


5. โปรแกรมศึกษาพระคัมภีร์ (Bible  study software)
เป็นโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อใช้ศึกษาพระคัมภีร์โดยรวบรวมข้อมูลต่างๆไม่ว่าจะเป็น  หนังสืออธิบายพระคัมภีร์(Commentaries) ,ศัพท์สัมพันธ์ (Concordances),หนังสือรวบรวมคำศัพท์ภาษาฮีบรู และภาษากรีก (Strong’s concordance with Hebrew -Greek lexicons) ซึ่งเราสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมทั้งนี้เครื่องมือการศึกษาพระคัมภีร์มีมากกว่านี้ และมีขั้นตอนต่างๆ มาก เราสามารถไปศึกษาได้ในชั้นเรียนพระคัมภีร์ เพื่อทำให้เราเข้าใจอย่างเป็นระบบ และเป็นประโยชน์ในชีวิตฝ่ายวิญญาณ

สำหรับโปรแกรมศึกษาพระคัมภีร์ ในปัจจุบันทางสมาคมพระคริสตธรรมไทย ได้ทำโปรแกรม The Word มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาพระคัมภีร์ เราสามารถหาซื้อมาไว้ใช้ประกอบการศึกษาและสะสมพระดำรัสของพระเจ้า

แต่สิ่งที่สำคัญสุด คือ การรับการสำแดงจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์จะเป็นผู้ทำให้เราเข้าใจและเข้ามาใกล้ชิดในพระคำของพระเจ้า ซึ่งเป็นดั่งหนังสือคู่มือแห่งชีวิตในการดำเนินชีวิตของเรา ขอพระเจ้าอวยพระพรให้เรา สนุกเพลิดเพลินกับการอ่านพระคัมภีร์ มีใจสนใจพระวจนะอย่างเช่นยิวชาวเมืองเบโรอาที่สนใจพระวจนะอย่างเป็นวิถีชีวิต

กิจการของอัครทูต 17:11 ยิวชาวเมืองนั้นมีจิตใจสูงกว่าชาวเมืองเธสะโลนิกา ด้วยเขามีใจเลื่อมใสรับพระวจนะของพระเจ้า และค้นดูพระคัมภีร์ทุกวัน หวังจะรู้ว่าข้อความเหล่านั้นจะจริงดังกล่าวหรือไม่

พบกันใหม่ในบทความเรื่องต่อๆไปครับ ขอพระเจ้าอวยพระพร