27 กุมภาพันธ์ 2555

หลักปฏิบัติในคริสตจักร เรื่อง "การถวายเกียรติพระเจ้าในห้องประชุม"

สวัสดีครับ วันนี้ผมขอแบ่งปันคำสอนในเรื่อง หลักปฏิบัติในคริสตจักร เรื่อง การถวายพระเกียรติพระเจ้าในห้องประชุม ซึ่งผมได้เรียบเรียงจากคำสอนของอ.นิมิต พานิช ศบ.คริสตจักรแห่งพระบัญชา ในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวแต่บางครั้งละเลยที่จะทำการปฏิบัติให้เหมาะสม โดยเฉพาะในปัจจุบันกระแสสังคมในโลกได้มีอิทธิพลต่อสมาชิกคริสตจักรพอสมควร เราจะมีหลักปฏิบัติที่เหมาะสมอย่างไร เรามาพิจารณาร่วมกันครับ
"การดำเนินชีวิตที่ถวายเกียรติพระเจ้า" เป็นการดำเนินชีวิตที่แสดงออกมาเป็นที่ประจักษ์สายตาคนทั้งปวง แล้วพระเจ้าได้รับพระเกียรติ โดยมีหลักการสำคัญ คือการไม่ได้ยึดถือและทำตามที่ใจตนคิดเพียงอย่างเดียวเป็นที่ตั้ง แต่คำนึงพระทัยของพระเจ้าว่า สิ่งนั้นเป็นที่ถวายเกียรติของพระเจ้าหรือไม่ และคำนึงใจของคนคนรอบข้างว่ารู้สึกเช่นไร และผลลัพธ์ที่ตามมาส่งผลกระทบทางบวกหรือทางลบ
1 คร.10:23
23 เราทำสิ่งสารพัดได้ไม่มีใครห้าม แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งที่จะทำได้นั้นเป็นประโยชน์ เราทำสิ่งสารพัดได้ไม่มีใครห้าม แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งที่จะทำให้เจริญขึ้น
24 อย่าให้ผู้ใดเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่น

พระคัมภีร์ได้ให้ความหมาย “การถวายเกียรติ” ว่าเป็นการให้เกียรติ การยกย่องเชิดชู ในทุกทาง ทุกมิติของชีวิตและในทุกอิริยาบถ

1 ปต.4:11 บอกว่า…ให้ถวายเกียรติในทาง “วาจา” ในการ “ปรนนิบัติรับใช้” (กระทำบริการ)
1 คร.6:18-20 บอกว่า
…ให้ถวายเกียรติด้วยการดูแลรักษา “ร่างกาย” ไม่ให้เป็นมลทินแปดเปื้อนด้วยความบาป (ทางเพศ)
1คร.6:18-20

18 จงหลีกเลี่ยงเสียจากการล่วงประเวณี บาปอย่างอื่นที่มนุษย์กระทำนั้นเป็นบาปนอกกาย แต่คนที่ล่วงประเวณีนั้น ทำผิดต่อร่างกายของตนเอง
19 ท่านไม่รู้หรือว่า ร่างกายของท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งสถิตอยู่ในท่าน ซึ่งท่านได้รับจากพระเจ้า ท่านไม่ใช่เจ้าของตัวท่านเอง
20 พระเจ้าได้ทรงซื้อท่านไว้แล้ว ด้วยราคาสูง เหตุฉะนั้น ท่านจง
ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยร่างกายของท่านเถิด
1 คร.10:31 บอกให้…ถวายเกียรติใน “การกระทำทุกอย่าง”(การกิน การดื่ม)
2 คร.9:11-13 บอกให้…
ถวายเกียรติด้วย “การอารักขาทรัพย์สิน” ที่พระเจ้าประทานให้ด้วยการมีใจกว้างขวางแบ่งปันให้ผู้อื่นรับพร
2 คร. 9:11-13

11 โดยทรงให้ท่านทั้งหลายมีสิ่งสารพัดมั่งคั่งบริบูรณ์ขึ้น เพื่อให้ท่านมี
แจกจ่ายอย่างใจกว้างขวาง ซึ่งโดยเราจัดแจก จะให้เกิดการขอบพระคุณพระเจ้า
12 เพราะว่าการรับใช้ในการปรนนิบัตินั้น มิใช่จะช่วยธรรมิกชนซึ่งขัดสนเท่านั้น แต่ยังเป็นเหตุให้มีการขอบพระคุณพระเจ้าเป็นอันมากด้วย
13 และเนื่องจากผลแห่งการปฏิบัตินั้น เขาจึงสรรเสริญพระเจ้า โดยเหตุที่ท่านทั้งหลายยอมฟัง และตั้งใจอยู่ในอำนาจข่าวประเสริฐของพระคริสต์ และเพราะเหตุท่านได้แจกจ่ายแก่เขา และแก่คนทั้งปวงด้วยใจกว้างขวาง

มธ.5:16 บอกให้… ถวายเกียรติด้วยชีวิตที่แสดงออกเป็น “การทำดี”
มธ.5:16 ท่านทั้งหลายก็เหมือนกับตะเกียง จงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง เพื่อว่าเมื่อเขา
ได้เห็นความดีที่ท่านทำ เขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้ทรงอยู่ในสวรรค์
การดำเนินชีวิตที่ถวายเกียรติเหล่านี้ ทำให้คนเห็นและอดไม่ได้ที่จะสรรเสริญ พระเจ้าของเรา
คำถาม คือ การดำเนินชีวิตของเรานั้นเป็นที่ถวายเกียรติพระเจ้าหรือไม่ เพียงไร?

โดยพิจารณาจากผลลัพธ์ที่ตามมาว่า... ผู้คนมองทะลุผ่านชีวิตของเราแล้วเห็น อดไม่ได้ที่จะยกย่องสรรเสริญพระเจ้า ผู้อยู่เบื้องหลังชีวิตของเรา
ขอให้ชีวิตของเราถวายเกียรติพระเจ้า โดยให้คนมองเห็นพระคริสต์ในเรา เป็นดุจตัวอักษรของพระคริสต์ที่คนอ่านได้
2 คร.3:3 ท่านปรากฏเป็นหนังสือของพระคริสต์ซึ่งเราได้เขียนไว้มิใช่ด้วยน้ำหมึกแต่
ด้วยพระวิญญาณของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์และมิได้เขียนไว้ที่แผ่นศิลา แต่เขียนไว้ที่แผ่นดวงใจมนุษย์...
สรุป “การดำเนินชีวิตที่ถวายเกียรติพระเจ้า” เป็นการดำเนินชีวิตที่แสดงออกมาปรากฏชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ชัด ผู้คนรอบข้างสัมผัสได้ ไม่มีข้อสงสัย ไม่มีข้อติเตียน ส่งผลให้คนยกย่องสรรเสริญพระเจ้า "การกระทำดังกว่าคำพูดที่เรากล่าวออกไป"

เราจะดำเนินชีวิตที่ถวายเกียรติพระเจ้าได้อย่างไร?
1.มีองค์ประกอบสำคัญ 3 สิ่งในชีวิต : ความรัก ความรู้ และวิจารณญาณ

เราจะดำเนินชีวิตถวายพระเกียรติพระเจ้าได้โดยเริ่มจากพิจารณาในเรื่อง การมีองค์ประกอบสำคัญ 3 สิ่งในชีวิต คือ "ความรัก ความรู้ และวิจารณญาณ”
ฟป.1:9-11

9 และข้าพเจ้าอธิษฐานขอให้ความรักของท่านจำเริญยิ่งๆขึ้น พร้อมกับความรู้และวิจารณญาณทุกอย่าง
10 เพื่อท่านทั้งหลายจะสังเกตได้ว่าสิ่งใดประเสริฐที่สุด และเพื่อท่านจะได้เป็นคนบริสุทธิ์ และไม่เป็นที่ติได้ในวันแห่งพระคริสต์
11 จะได้เป็นผู้ที่บริบูรณ์ด้วยผลของความ ชอบธรรม ซึ่งเกิดขึ้นโดยพระเยซูคริสต์ เพื่อถวายพระเกียรติและความสรรเสริญแด่พระเจ้า

นี่คือ คำอธิษฐานของอัครทูตเปาโลเพื่อให้ผู้เชื่อที่ฟิลิปปีมีชีวิตที่ ถวายเกียรติ โดยบอกว่า
“และข้าพเจ้าอธิษฐานขอให้ ความรักของท่านจำเริญยิ่งๆขึ้น พร้อมกับ ความรู้และวิจารณญาณทุกอย่าง”
คำว่า “พร้อมกับ” ให้ความหมายว่าในขณะที่มีความรัก ให้มีความรู้ด้วย ให้มีวิจารณญาณด้วย นั่นคือ ไม่อาจขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เพื่อถวายพระเกียรติและความสรรเสริญแด่พระเจ้า
นั่นคือ มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ที่จำเป็นต้องมีในชีวิต เพื่อเราจะดำเนินชีวิตอย่างเป็นที่ถวายเกียรติพระเจ้า ให้เราพิจารณา องค์ประกอบแรก “ความรัก”
คำว่า “ความรัก” ในที่นี้เปาโลใช้คำว่า “อากาเป้” นั่นคือความรักสูงสุดแบบพระเจ้า
อัครทูตเปาโลบอกว่า...ขอให้ความรักของท่านจำเริญยิ่งๆขึ้น (ฟป.1:9)
คำว่า “เจริญยิ่งขึ้นเรื่อยๆ” มาจากภาษากรีกหลายๆ คำรวมกันให้ความหมายว่า... มีมากมายแบบทวีคูณ อย่างล้นเหลือ มากขึ้นจากเดิมที่เคยมี ที่มีอยู่แล้วให้มี มากไปกว่านั้นอีก
นั่นคือ ให้มีความรักอากาเป้ที่ทวีคูณ

…ขอให้ความรักของท่านจำเริญยิ่งๆขึ้น พร้อมกับความรู้(ฟป.1:9)
คำว่า “ความรู้” เปาโลใช้คำที่ให้ความหมายว่าเป็นความรู้แบบรู้จัก ความรู้แบบ มีความสำนึก
คำว่า “ความรู้” ในภาษากรีกนี้ ถูกใช้เมื่อต้องการพูดถึง...การ “รู้จัก” พระเจ้า
อฟ.1:17 ข้าพเจ้าอธิษฐานว่า ขอพระเจ้าแห่งพระเยซูคริสตเจ้าของเรา คือพระบิดา
ผู้ทรงพระสิริทรงโปรดประทานให้ท่านทั้งหลาย มีจิตใจอันประกอบด้วยสติปัญญา และความประจักษ์แจ้งในเรื่องความรู้ถึงพระองค์

ไม่เพียงแค่"รู้จักพระเจ้า" แต่ต้อง “รู้พระทัย”(รู้ใจ)พระเจ้า
คส.1:9 เพราะเหตุนี้นับตั้งแต่วันที่เราได้ยิน เราก็ไม่ได้หยุดในการที่จะอธิษฐานขอเพื่อ
ท่าน ให้ท่านเพียบพร้อมด้วยความรู้ถึงพระทัยของพระองค์ ในสรรพปัญญาและในความเข้าใจฝ่ายวิญญาณ
การ “รู้ในการดี” ที่มีในพระเยซูคริสต์
ฟม.1:6 และข้าพเจ้าอธิษฐานขอให้การที่ท่านร่วมเชื่อกับพวกเรานั้น จงเพิ่มพูน
ความรู้ในการดีทั้งปวงของพวกเรา ซึ่งมีในพระคริสต์
“การดีทั้งปวงของพวกเราซึ่งมีในพระเยซูคริสต์” หมายถึง การกระทำดี บุคลิกภาพดี ความรู้สึกนึกคิดดี เหตุผลดี หลักการดี ฯลฯ ซึ่งเกิดจากการมีพระคริสต์อยู่ภายในชีวิต ที่ปรากฏออกมาเป็นการแสดงออกมาภายนอก
นั่นคือ การมี “ความรัก” อากาเป้ที่ทวีคูณ การมี “ความรู้”อย่างล้ำลึกเกี่ยวกับพระเจ้า รู้ใจของพระเจ้า และรู้เกี่ยวกับการดีในมาตรฐานของพระคริสต์
ซึ่งอัครทูตเปาโลบอกว่าให้มีพร้อมกับ องค์ประกอบที่สาม ด้วย ได้แก่ “วิจารณญาณ”

…ขอให้ความรักของท่านจำเริญยิ่งๆขึ้น พร้อมกับความรู้และวิจารณญาณทุกอย่าง (ฟป.1:9)
เราพบคำว่า “วิจารณญาณ” ในพันธสัญญาใหม่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งให้ความหมายว่า ความเข้าใจลึกซึ้งโดยใช้วิจารณญาณในารตัดสิน “ทุกอย่าง”
ซึ่งคำว่า “ทุกอย่าง” ภาษาเดิมให้ความหมายว่ามีครบถ้วน มีทุกด้าน มีในทุกสิ่ง มีเสมอไป มีเรื่อยๆ มีตลอดไป
ฟป1: 10 เพื่อท่านทั้งหลายจะสังเกตได้ว่าสิ่งใดประเสริฐที่สุด และเพื่อท่านจะได้เป็น
คนบริสุทธิ์ และไม่เป็นที่ติได้ในวันแห่งพระคริสต์

คำว่า “สังเกต” ให้ความหมายว่า ทดสอบ หรือ ชันสูตร

ส่วนคำว่า “ประเสริฐสุด” ให้ความหมายว่ามีค่ายิ่งกว่า มีค่าสูงส่งกว่าดียอดเยี่ยมหรือถูกต้อง
ดังนั้น เมื่ออัครทูตเปาโลบอกว่า…เพื่อท่านจะสังเกตว่าสิ่งใดประเสริฐสุด จึงหมายถึง ให้มีวิจารณญาณ หรือการทดสอบ หรือการสามารถทดสอบได้ว่าสิ่งใดมีค่ายิ่งกว่า สูงส่งกว่า ดียอดเยี่ยม หรือถูกต้อง
นี่แหละคือ ชีวิตที่ถวายเกียรติพระเจ้า เป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ ไร้ที่ตินั่นเองที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ปรารถนาดำเนินชีวิตเป็นที่ถวายเกียรติพระเจ้าได้นั้น
ต้อง “มีความรัก” แบบพระเจ้า เป็นรักแบบอากาเป้ ความรักเช่นนี้ที่ทำให้เราตัดสินใจทำทุกอย่างด้วยความรักที่มีต่อพระเจ้า และเห็นแก่ผู้อื่นก่อนเสมอ
ต้อง “มีความรู้” แบบรู้จักพระเจ้า รู้พระทัยของพระเจ้าอย่างลึกซึ้ง รู้ถึงการดีที่พึงมีของผู้ที่มีชีวิตของพระคริสต์ ซึ่งทำให้เรารู้ว่าใจของพระเจ้าคิดอย่างไร รู้ว่าการดีอะไร พึงกระทำที่จะทำให้ พระเจ้าได้รับพระเกียรติ
และต้อง “มีวิจารณญาณ” ที่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรคือประเสริฐที่สุด ดีที่สุด ยอดเยี่ยมที่สุด สามารถแยกแยะสิ่งผิดถูกนี่เองช่วยให้เราสามารถตัดสินใจกระทำแต่สิ่งที่ พระเจ้าได้รับพระเกียรติเท่านั้น

สิ่งต่อมาที่จะทำให้เราเป็นผู้ที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้าได้ในทุกอิริยาบทในชีวิต นั่นคือ

2.การรักษาจิตสำนึกชอบ

การดำเนินชีวิตที่ถวายเกียรติพระเจ้า พระคัมภีร์ไม่ได้บอกไว้อย่างชัดเจน แต่มีหลักการนิรันดร์ (หลักการที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา) ที่เราสามารถประยุกต์ได้
ด้วยเหตุนี้ การพึ่งพาพระวิญญาณ และอาศัยจิตสำนึกร่วมกับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระเจ้า และหลักการดำเนินชีวิตคริสเตียนจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้เราแน่ใจได้ว่าสิ่งที่เราทำ หรือแสดงออกในชีวิตประจำวันเป็นที่ถวายเกียรติหรือไม่
เมื่อแรกเริ่มเดิมทีนั้น พระเจ้าได้สร้างมนุษย์เรามาพร้อมกับจิตสำนึกที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่อยู่ในส่วนลึกภายในใจของมนุษย์ เป็นกลไกหรือระบบเตือนภายในที่พระเจ้าทรงใส่ไว้ในใจของมนุษย์เพื่อชี้บอกว่า ความคิด ท่าที และการกระทำขอเงเราว่าเป็นเช่นไร จิตสำนึกจะทำหน้าที่ฟ้องให้มนุษย์เกิดความไม่สบายใจ เมื่อทำผิด เป็นเหมือนแท่งสามเหลี่ยมที่หมุนอยู่ในใจที่คอยทิ่มแทงให้รู้สึกตัวเมื่อคิดผิด หรือทำผิด
แต่เพราะอิทธิพลแห่งบาปทำให้การทำงานของจิตสำนึก บิดเบี้ยวไป
การรักษาจิตสำนึกผิดชอบจึงมีผลอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของเราว่าจะเป็นที่ถวายเกียรติพระเจ้าเพียงไร
กจ.24:16 ในข้อนี้ข้าพเจ้าอุตส่าห์ประพฤติตามที่จิตสำนึกเห็นว่าดีเสมอ มิให้ผิด
ต่อพระเจ้าและต่อมนุษย์

อัครทูตเปาโลบอกว่า “อุตส่าห์” ประพฤติตามที่จิตสำนึกเห็นว่าดีเสมอ
คำว่า “อุตส่าห์” ภาษากรีกให้ความหมายคำนี้ว่า พยายาม หรือการทำจนสุดกำลัง
นั่นเองที่แสดงว่าการรักษาจิตสำนึกต้องมีความตั้งใจ มีความเพียรพยายาม
จิตสำนึกเป็นเหมือนกล้ามเนื้อที่จำเป็นต้องมีการออกกำลังกาย ฝึกฝนอยู่เสมอ
กล้ามเนื้อที่ไม่มีการออกกำลังจะหย่อนยานและขาดเรี่ยวแรงเช่นไร จิตสำนึกที่ขาดการฝึกฝนย่อมหย่อนยานและขาดเรี่ยวแรงเช่นกัน
ต้องมีการฝึกฝนอย่างไร ผู้เขียนพระธรรมฮีบรูใช้คำว่า
“ฝึกหัดอบรม”
ฮบ.5:13-14“เพราะว่าทุกคนที่ยังกินน้ำนมนั้น ยังไม่เข้าใจในเรื่องความชอบธรรม เพราะ
เขายังเป็นผู้เยาว์ อาหารแข็งเป็นอาหารสำหรับผู้ใหญ่ สำหรับผู้ที่ได้รับการ
ฝึกหัดอบรมให้สามารถรู้จักผิดชอบชั่วดีแล้ว”

คำว่า “การฝึกหัดอบรม” มาจากภาษากรีกคำว่า “กุมนาดโซ” (Gumnazo) หมายถึง การฝึกฝนตนเองอย่างต่อเนื่อง
คำนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “ยิมเนเซียม”(Gymnasium) ซึ่งชาวกรีกนิยมการบริหารร่างกายอย่างมาก ส่วนต่างๆ ในร่างกายของเราสามารถรับการฝึกฝนจนมีประสิทธิภาพอย่าง น่าอัศจรรย์ฉันใด ประสาทสัมผัสฝ่ายวิญญาณหรือจิตสำนึกผิดชอบของเราก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการฝึกฝน เพื่อเราจะเป็นผู้มีวิจารณญาณที่ดีฉันนั้น
เราสามารถฝึกฝนจิตสำนึกผิดชอบของเราได้โดยการเชื่อฟังพระวจนะของพระเจ้าและกระทำในสิ่งที่พระเจ้าสั่งให้ทำ

ในที่สุด ชีวิตของเราเติบโตและพัฒนาจากการดื่มแต่น้ำนม มารับประทานอาหารแข็งได้ในที่สุด การฝึกฝนในชีวิตเช่นนี้เป็นนิจ ในที่สุดจิตสำนึกของเราจะเข้มแข็งและแม่นยำมากขึ้นๆ
และสิ่งที่ต่อไปคือ "ดำเนินชีวิตไม่เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับผลกระทบในทางลบ"
3.ดำเนินชีวิตไม่เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับผลกระทบในทางลบ

1 คร.10:32 อย่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้พวกยิว หรือพวกกรีก หรือคริสตจักรของพระเจ้าหลงผิดไป
คำว่า “อย่าเป็นต้นเหตุ” ในที่นี้ให้ความหมายว่า ไม่เป็นอันตราย นั่นคือ การไม่เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับผลในทางลบเพราะการดำเนินชีวิตของเรา
พระเยซูให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้ พระองค์มีความคิดเห็นว่า แม้แต่คนเล็กน้อยที่วางใจในพระองค์ หากผู้ใดทำให้คนเหล่านี้หลงผิดไป ให้เอาหินโม่ก้อนใหญ่ผูกคอผู้นั้นถ่วงเสียที่ทะเลลึก(มธ.18:6-7)
นั่นคือ การไม่เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบในทางลบ จากการดำเนินชีวิตของเรา จึงจะเป็นการดำเนินชีวิตที่ถวายเกียรติพระเจ้า
อย่าให้เสรีภาพที่เรามี ทำลายจิตสำนึกที่อ่อนของผู้อื่น
บริบทในคริสตจักรนั้น มีผู้เชื่อที่แตกต่างกัน บางคนมีจิตสำนึกที่อ่อน บางคนมีจิตสำนึกที่เข้มแข็ง คนที่มีจิตสำนึกอ่อน ซึ่งมักมาจากความไม่รู้ หรือภูมิหลังในชีวิตก่อนมาเชื่อ ทำให้กระทบกระเทือนใจง่าย
ดังนั้น คนที่ตั้งใจดำเนินชีวิตถวายพระเกียรติจึงควรระมัดระวังไม่ให้สิ่งที่เราเห็นว่าดี เพราะสิ่งดีนั้นอาจกระทบกระเทือนต่อผู้ที่มีจิตสำนึกอ่อน

อัครทูตเปาโลบอกว่าจงมุ่งประพฤติในสิ่งที่ทำให้เกิดความสงบสุขและความเจริญแก่กันและกัน
รม.14:19 เหตุฉะนั้นให้เรามุ่งประพฤติ ในสิ่งซึ่งทำให้เกิดความสงบสุขแก่กัน และกัน และทำให้เกิดความเจริญแก่กันและกัน
อัครทูตเปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีอีกผู้หนึ่งที่ตั้งใจดำเนินชีวิตถวายเกียรติพระเจ้าโดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องรอบข้าง
2 คร. 6:3 เรามิได้ให้ผู้ใดมีเหตุสะดุดในสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เพื่อมิให้การที่เรารับใช้ปฏิบัตินั้นเป็นที่เขาจะติเตียนได้
ท่านมีความตั้งใจอย่างยิ่งยวดที่จะไม่เป็นเหตุผู้ใดสะดุดสักสิ่ง เพื่อให้ไม่มีใครติเตียนการรับใช้ของท่านได้ ทุกสิ่งที่ท่านทำ ท่านจะคำนึงเสมอว่าการกระทำนั้นส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร และจะทำให้พระคริสต์จะได้รับเกียรติหรือไม่

ดังนั้นการดำเนินชีวิตที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้าในชีวิตประจำวัน เราต้องนำหลักการทั้ง 3 ประการ คือ
1.มีองค์ประกอบสำคัญ 3 สิ่งในชีวิต : ความรัก ความรู้ และวิจารณญาณ
2.การรักษาจิตสำนึกชอบ
3.ดำเนินชีวิตไม่เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับผลกระทบในทางลบ

เมื่อเราเข้าใจหลักการเบื้องต้นแล้ว ในภาคปฏิบัติ เราจะดำเนินชีวิตที่ถวายเกียรติพระเจ้าอย่างไร ผมขอสรุปนำเรื่องที่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับพี่น้องในคริสตจักร นั่นคือ การถวายเกียรติแด่พระเจ้าในที่ประชุมโดยเฉพาะในวันอาทิตย์

การแต่งกายในที่ประชุม
การแต่งกายและรูปลักษณ์ภายนอกของคนเป็น “อวจนะภาษา” ที่มีพลังมากในแง่ของสังคม และเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพในทางสังคม
ซึ่งหมายถึง ภาพของแต่ละบุคคลที่ปรากฏทางการแต่งกาย ท่วงทีกริยามารยาท การแสดงออก ที่จะทำให้ผู้พบเห็นมีความประทับใจได้ทั้งในด้านบวกหรือด้านลบ
ผู้ที่ปรากฏตัวทางกายอย่างดี ทั้งด้านการแต่งกายและมารยาท กาลเทศะทางสังคมอันดี จะเป็นที่ประทับใจ และทำให้คนอยากคบหาสมาคมกับบุคคลนั้น
สิ่งที่เราสวมใส่มักสะท้อนให้เห็นบุคลิกภาพ หรือ สิ่งที่เป็นเราไม่มากก็น้อย เช่น
บางคนเป็นคนที่สบายๆ ง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตองมากนัก การแต่งตัวจะไม่คำนึงถึงความเนี้ยบมากนัก เวลาไปไหนมาไหน อาจจะเพียงแค่เสื้อยืดตัว กางเกงตัว บางทีอาจไม่รีดด้วยซ้ำ
บางคนเป็นคนที่เนี้ยบ ละเอียด มีระเบียบ การแต่งกายจะเน้นความประณีต มีความเรียบร้อยอยู่ในรูปแบบของเสื้อผ้าที่เขาสวมใส่ เป็นต้น
โดยทั่วไปแต่งตัวหรือใส่เครื่องประดับอาจมาจากวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
บ้างก็เพื่อความพอใจของตัวเอง หรือทำเพื่อต้องการให้คนชื่นชมว่าเป็นคนรวย มีอำนาจ หรือมีสถานะทางสังคม หรือบางทีก็แต่งตัวตามแฟชั่นเพื่อจะเข้ากับสังคมได้ดี
บางคนไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้สนใจถึงเรื่องการแต่งตัวเท่าไหร่ มีอะไรก็ใส่อย่างนั้น โดยคิดว่า “มันก็แค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ”
คำถามคือ คริสเตียนควรสนใจเรื่องการแต่งกายของเราในโอกาสต่าง ๆ หรือไม่และจะถวายเกียรติพระเจ้าอย่างไร?
คำตอบคือ การแต่งกายที่ดีเหมาะสม บวกกับจิตใจภายในที่รับการชำระแล้ว สามารถสร้างการยอมรับนับถือและ ทำให้ผู้อื่นเห็นพระคริสต์ท่ามกลางสังคมคนที่ไม่เชื่อ
เป็นการแสดงถึงการรู้จักมารยาท กาลเทศะทางสังคม
มธ. 5:48 เหตุฉะนี้ท่านทั้งหลายจงเป็นคนดีรอบคอบ เหมือนอย่างพระบิดาของท่าน
ผู้ทรงสถิตในสวรรค์เป็นผู้ดีรอบคอบ

คำว่า “ดีรอบคอบ” ความหมายในภาษาเดิม คือความดีพร้อม ความสมบูรณ์แบบ
นั่นคือ เราจึงควรเป็นคนดีพร้อม มีความสมบูรณ์แบบในทุกๆ ด้าน
ดังนั้น หากเราถือหลักการถวายเกียรติแด่พระเจ้าเป็นหลักสูงสุด โดยเข้าใจว่าทุกสิ่งที่เราเป็นและทำนั้น มีเป้าหมายเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้าที่เรารัก
แม้แต่การแต่งกาย เราจึงต้องให้ความสำคัญว่า เราจะแต่งกายถวายเกียรติ พระเจ้าอย่างไรดี มีพระคัมภีร์หลายตอนที่จะช่วยสะท้อนให้เราเห็นมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้


1ทธ. 2:9 ฝ่ายพวกผู้หญิงก็เหมือนกัน ให้แต่งตัวสุภาพเรียบร้อย ไม่ใช่ถักผมหรือ
ประดับกายด้วยเครื่องทองและไข่มุก หรือเสื้อผ้าราคาแพง แต่ให้ประดับด้วยการกระทำดี ซึ่งสมกับหญิงที่ประกาศตัวว่าถือพระเจ้า

คำว่า “แต่งตัวสุภาพเรียบร้อย” มาจากภาษากรีก 2 คำ ให้ความหมายว่า “ระเบียบเรียบร้อย” และ “เหมาะสม หรือน่านับถือ”
ดังนั้น หลักการแต่งกายจากพระคัมภีร์ตอนนี้ กล่าวได้ว่า เราควรใช้หลักแต่งแบบ “สุภาพเรียบร้อย เหมาะสม”
ซึ่งหลักนี้ก็ถือว่าสอดคล้องกับหลักสากลทั่วไป คือการแต่งตัวที่มีความสุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับกาลเทศะ กลุ่มคน และสถานที่ที่เราไป และเหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ที่เรารับผิดชอบ
1ปต. 3:3-4

3 การประดับกายของท่านนั้น อย่าให้เป็นการประดับภายนอก ด้วยการถักผมประดับด้วยเครื่องทองคำและนุ่งห่มเสื้อผ้าสวยงาม
4แต่จงให้เป็นการประดับภายในจิตใจ แต่งด้วยเครื่องประดับซึ่งไม่รู้เสื่อมสลาย คือด้วยจิตใจที่สงบและสุภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่งในสายพระเนตรพระเจ้า
ในพระธรรมตอนนี้ อัครทูตเปโตรได้สอนพวกผู้หญิงในคริสตจักรที่ท่านเขียนจดหมายฝากไปถึง โดยในสมัยของท่านนั้น หญิงเหล่านี้มีเจตนาในการแต่งตัว หรือแต่งเสื้อผ้า ใบหน้า ทรงผม เพื่อจะทำให้ตัวเองดูดีในสายตาของคนอื่น ซึ่งในสังคมชั้นสูงของโรมันสมัยนั้นมักจะนิยมตกแต่งผมอย่างหรูหรา
ขณะที่การแต่งกายภายนอกส่งผลต่อผู้เชื่อทุกคนในคริสตจักรไม่ว่าหญิงหรือชาย
อัครทูตเปโตรจึงได้แนะนำให้ความสำคัญกับความงามที่แท้จริง
แท้จริงแล้วไม่ใช่สิ่งผิดที่จะแต่งตัวให้งดงามเพื่อให้ผู้อื่นได้เห็นความงดงามของพระเจ้าผ่านชีวิตของเรา
สภษ.31:22เธอทำผ้าปูสำหรับเธอ เสื้อผ้าของเธอทำด้วยผ้าลินินเนื้อละเอียดและ
ผ้าสีม่วง

แต่หากไม่ได้ตกแต่งให้ภายในจิตใจของเรางดงาม ก็จะไม่ได้เป็นคุณค่าแท้สำหรับชีวิต
สภษ.11: 22 สตรีงามที่ปราศจากความเฉลียวฉลาด ก็เหมือนห่วงทองคำที่จมูกหมู
แม้พระคัมภีร์ได้เตือนใจผู้หญิง แต่เราสามารถปรับประยุกต์หลักการนี้มาใช้กับผู้ชายด้วย
ให้ระมัดระวังการแต่งกายของซึ่งเป็นภาพลักษณ์ภายนอก โดยให้ความสำคัญการสร้างคุณค่าภายในด้วย เพื่อให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า
การแต่งกายที่เหมาะสมกับเพศ
ฉธบ.22:5 อย่าให้ผู้หญิงใช้เครื่องแต่งกายของผู้ชาย และอย่าให้ผู้ชายแต่งกายด้วย เครื่องของผู้หญิง เพราะผู้ใดกระทำสิ่งเหล่านี้ก็เป็นที่พึงรังเกียจแด่พระเยโฮวาห์ พระเจ้าของท่าน
เป็นการแต่งกายที่บ่งบอกความแตกต่างระหว่างเพศ ซึ่งเป็นการทรงสร้างของพระเจ้าตั้งแต่ต้นที่แยกชายแยกหญิง
หลักการในพระธรรมข้อนี้ คือการตระหนักถึง “เพศ” ทางธรรมชาติที่พระเจ้าให้ไว้
ประเด็นพิจารณา ที่เกี่ยวกับการแต่งกายบางประเด็น
ความสุภาพเรียบร้อย ขึ้นกับวัฒนธรรมของสังคม เช่น ถ้าเป็นสังคมไทยในปัจจุบัน การแต่งกายของผู้หญิงที่มองดูแล้วสุภาพ เรียบร้อย เช่น การใส่เสื้อ กับกระโปรงที่มีความยาวเหมาะสม ไม่สั้น ไม่รัด ไม่เปิดลำคอกว้าง ไม่บาง ที่กลายเป็นจุดสนใจของคนรอบข้าง
หรือใส่ชุดกางเกงผ้าแบบของสุภาพสตรีที่ดูดีเหมาะสม ดูแล้วสวยงาม สุภาพเรียบร้อย ก็เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ทั้งนี้ขึ้นกับบทบาทหน้าที่ในสังคมนั้น ๆ ด้วย ความสุภาพเรียบร้อยไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา
เราสามารถแต่งกายดีที่สุด เท่ากับที่เรามีอยู่เพื่อถวายเกียรติพระเจ้า หากเราแต่งกายดูไม่ภูมิฐานเช่น ใส่กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะมาคริสตจักร คนที่มาครั้งแรกหรือบางคนที่มีความเชื่อน้อยก็อาจจะคิดว่า เราไม่ให้ความสำคัญต่อสถานที่และไม่เป็นการถวายเกียรติพระเจ้า
บางคนคิดว่า “เราจะแต่งกายอย่างไร ก็เป็นสิทธิ์ของเรา คนอื่นไม่น่ามายุ่ง”
บางคนคิดที่ว่า “รับไม่ได้กับการที่เห็นผู้หญิงใส่กางเกง (ผ้า) มาคริสตจักรวันอาทิตย์ หรือ สุภาพเรียบร้อยต้องเป็นกระโปรงเท่านั้น”
สรุปหลักสำคัญ คือแต่งกายสุภาพเหมาะสม ถูกกาลเทศะ และต้องไม่ตัดสินคนอื่นด้วยมาตรฐานของตน
เพราะแต่ละคน แต่ละสถานที่ แต่ละโอกาส มีความแตกต่างกันไป เราต้องรักษาจิตสำนึกชอบไม่แต่งกายเป็นเหตุให้มีผู้ใดสะดุด
สำหรับเรื่องอื่นๆ จะเกี่ยวกับการถวายเกียรติพระเจ้าในห้องประชุม เพราะเนื่องจากในการประชุมวันอาทิตย์ มีพี่น้องและผู้สนใจที่มาครั้งแรก ดังนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญในการถวายเกียรติพระเจ้าในที่ประชุม ดังต่อไปนี้
1.ผู้เข้าร่วมประชุมควรงดการสนทนากัน เพราะจะเป็นการรบกวนที่ประชุม รวมถึงการพลาดข่าวสารที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเทศนา เนื่องจากไม่ตั้งใจในการรับฟัง เอาแต่พูดคุยกัน เพื่อเป็นการถวายเกียรติพระเจ้า ควรจะปิดโทรศัพท์มือถือหรือเปลี่ยนเป็นระบบสั่นเพื่อจะไม่มีเสียงรบกวนที่ประชุม หากมีเรื่องที่จะสื่อสารเราควรเขียนใส่กระดาษโน๊ตส่งให้กันแทน
2.ผู้ปกครองดูแลเด็ก ควรดูแลเด็กไม่ให้วิ่งไปมาเป็นการรบกวนที่ประชุม ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานควรจะพาบุตรหลานไปคริสตจักรเด็ก เพื่อรับการอบรมในทางของพระเจ้า เพื่อบุตรหลานของท่านจะเติบโตในทางพระเจ้า
สุภาษิต 22:6 จงฝึกเด็กในทางที่เขาควรจะเดินไป และเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่แล้วเขาจะไม่พรากจากทางนั้น
3.การบันทึกคำสอน ถือเป็นจริยธรรมคริสเตียน หากจะทำการอัดคำสอนหรือถ่ายภาพต้องได้รับการอนุญาตก่อน เพราะบางอย่างเป็นลิขสิทธิ์ ไม่ควรบันทึกคำสอนเพื่อไปใช้ในการค้าดังนั้นเราต้องรักษาจิตสำนึกชอบในเรื่องนี้
อีกประเด็นคือ การบันทึกคำสอนเองอาจจะไม่ได้คุณภาพเท่ากับการบันทึกคำสอนผ่านทางระบบของเจ้าหน้าที่ และเมื่อคริสตจักรมีฝ่ายบันทึกคำสอน เราควรจะสนับสนุนคริสตจักรโดยการซื้อ CD คำสอน เราจะได้รับ CD คำสอนที่มีคุณภาพ และไม่ผิดจริยธรรมคริสเตียน


ขอพระเจ้าอวยพระพร เราทุกคนที่จะมีชีวิตที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าในทุกๆเรื่องของชีวิต

20 กุมภาพันธ์ 2555

Acts 3:1-12_ประกาศข่าวประเสริฐตามการทรงนำ

ศึกษาพระธรรมกิจการของอัครทูต

คริสตจักร “ต้นแบบ” ตามพระบัญชา

กิจการของอัครทูต 3:1-12
1 ฝ่ายเปโตรกับยอห์นกำลังขึ้นไปจะเข้าบริเวณพระวิหาร ในเวลาอธิษฐานเป็นเวลาบ่ายสามโมง
2 มีคนหนึ่งเป็นง่อยตั้งแต่คลอดออกมา ทุกวันคนเคยหามเขามาวางไว้ริมประตูพระวิหาร ซึ่งมีชื่อว่าประตูงาม เพื่อให้ขอทานจากคนที่จะเข้าไปในพระวิหาร
3 คนนั้นพอเห็นเปโตรกับยอห์นจะเข้าไปในพระวิหารก็ขอทาน
4 ฝ่ายเปโตรกับยอห์นเพ่งดูเขาบอกว่า "จงดูเราเถิด"
5 คนขอทานนั้นได้เขม้นดู คิดว่าจะได้อะไรจากท่าน
6 เปโตรกล่าวว่า "เงินและทองเราไม่มี แต่ที่เรามีอยู่เราจะให้ท่าน คือในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์ชาวนาซาเร็ธ จงเดินเถิด"
7 แล้วเปโตรจับมือขวาของเขาพยุงขึ้น และในทันใดนั้นเท้าและข้อเท้าของเขาก็มีกำลัง
8 เขาจึงกระโดดขึ้นยืนและเดินเข้าไปในพระวิหาร ด้วยกันกับเปโตรและยอห์น เดินเต้นโลดสรรเสริญพระเจ้าไป
9 คนทั้งปวงเห็นเขาเดินและสรรเสริญพระเจ้า
10 จึงรู้ว่าเป็นคนนั้นซึ่งนั่งขอทานอยู่ที่ประตูงามแห่งพระวิหาร เขาจึงพากันมีความประหลาดและอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่คนนั้น
11 เมื่อคนง่อยที่หายนั้นยังยึดเปโตรและยอห์นอยู่ ฝูงคนก็วิ่งไปหาท่านที่เฉลียงพระวิหารซึ่งเรียกว่า เฉลียงของซาโลมอนด้วยความอัศจรรย์ใจยิ่งนัก
12 พอเปโตรแลเห็นก็กล่าวแก่คนเหล่านั้นว่า "ท่านชนชาติอิสราเอลทั้งหลาย ไฉนท่านพากันประหลาดใจด้วยเรื่องของคนนี้ เขม้นดูเราทำไมเล่า อย่างกับว่าเราทำให้คนนี้เดินได้โดยฤทธิ์หรือความชอบธรรมของเราเอง

อารัมภบท

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน พบกันอีกเช่นเคยกับการร่วมศึกษาพระธรรมกิจการฯด้วยกัน เราได้พิจารณาหนังสือกิจการต่อเนื่องกันมา ครั้งนี้เป็น ตอนที่ 7 หากเป็นภาพยนตร์ก็เนื้อเรื่องเริ่มเข้าข้นมากขึ้น เพราะในสัปดาห์ก่อนเราศึกษาในบทที่ 2:42-47 คริสตจักรที่เป็นชุมชนแห่งพระพร...เป็นชุมชนที่มีการสอนพระวจนะ อธิษฐาน นมัสการ มีหมายสำคัญและมีการอัศจรรย์เกิดขึ้นมากมายหลายประการ เป็นการฝึกฝนวิทยายุทธ์การรับใช้ตามของประทาน ในบทที่่ 3 ครั้งนี้จึงเป็นเวลา "ปล่อยของ" ปลดปล่อยของประทานในการรับใช้โดยออกไปประกาศข่าวประเสริฐ ในบทที่ 3 อัครทูตเปโตรกับอัครทูตยอห์นกำลังขึ้นไปจะเข้าบริเวณพระวิหาร หลังจากที่พระเยซูคริสต์ได้เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ การไปพระวิหารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันของเหล่าสาวก ดังที่ ลก.24:53 เขาทั้งหลายอยู่ในพระวิหารทุกวัน สรรเสริญพระเจ้า หรือที่ใน กจ.2:46 ก็บอกในทำนองเดียวกันว่า …เขาได้ร่วมใจกันไปในพระวิหาร นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เหล่าสาวกเคยชินกับการมาที่พระวิหารเพื่อนมัสการ เพราะสถานที่นี้เป็นธรรมเนียมที่บรรพบุรุษของพวกเขาจะมานมัสการกัน

ปลายข้อ 1บอกว่า ทั้งสองเดินทางมายังพระวิหาร ในเวลาอธิษฐานเป็นเวลาบ่ายสามโมง นี่เป็นเวลาปกติที่คนยิวอธิษฐาน ซึ่งเป็นไปได้ที่อ้างอิงมาจากกษัตริย์ดาวิดได้พรรณนาใน สดุดี 55:17 ว่า …ทั้งเวลาเช้า เวลาเย็น และเวลาเที่ยง ข้าพเจ้าร้องทุกข์และคร่ำครวญ และพระองค์จะทรงฟังเสียงของข้าพเจ้านั่น คือ เวลาแห่งการอธิษฐานของคนยิวนั้น มี 3 เวลา ; เวลาเช้า เวลาเที่ยงวัน และเวลาเย็น (ดนล 6:10)ดาเนียล ท่านก็คุกเข่าลงวันละสามครั้งอธิษฐานและโมทนาพระคุณต่อพระเจ้า นั่นคือ มี 3 เวลา ที่ชัดเจนที่เป็นเวลาแห่งการอธิษฐาน ซึ่งเราควรที่จะเลียนแบบวิถีชีวิตแบบนี้ อย่างน้อยที่สุดใน 1 วันที่เรารับประทานอาหาร 3 มื้อ เราควรจะอธิษฐานขอบพระคุณพระเจ้าก่อนเสมอ พี่น้องบางท่านรับประทานอาหารมากกว่า 3 มื้อ ก็เป็นการดีเลย เพราะจะได้อธิษฐานบ่อยๆ จากพระธรรมตอนนี้เราพบว่า ทุกวัน ๆ เปโตรกับยอห์นเดินทางมายังพระวิหารนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ในการเดินทางมายังพระวิหารครั้งนี้มีสิ่งที่แตกต่างไปจากทุกครั้งที่ผ่านมา ข้อ 2 บันทึกว่า มีคนหนึ่งเป็นง่อยตั้งแต่คลอดออกมา ทุกวันคนเคยหามเขามาวางไว้ริมประตูพระวิหาร ซึ่งมีชื่อว่าประตูงาม เพื่อให้ขอทานจากคนที่จะเข้าไปในพระวิหาร คนง่อยคนนี้เขาจะต้องเป็นที่รู้จักกันอย่างดีท่ามกลางคนในเยรูซาเล็ม เนื่องจากไม่ได้เพิ่งเป็นง่อย แต่เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เกิด และที่สำคัญชายคนนี้มาปรากฏตัวที่สาธารณะทุกวัน ๆ เพราะข้อ2บอกว่า ทุกวันคนเคยหามเขามาวางไว้ริมประตูพระวิหาร ซึ่งมี ชื่อว่า ประตูงาม เพื่อให้ขอทานจากคนที่จะเข้าไปในพระวิหาร แสดงให้เห็นว่าพระวิหารเป็น Office ของคนง่อยคนนี้ และมีคนมาส่งทุกวัน หากเป็นสมัยนี้คงจะนั่งรถประจำตำแหน่ง ในสมัยพระธรรมกิจการฯนั้น อาณาจักรโรมัน ไม่มีโรงพยาบาลสำหรับคนเจ็บป่วย และ ไม่มีบ้านพักสำหรับคนยากลำบากที่มาขอทาน คนยากจนมักจะถูกปล่อยทิ้งไว้ ด้วยเหตุนี้ คนเหล่านี้จึงถูกหามมาวางไว้ในที่ ๆ จะได้รับความเมตตาจากคนที่มีสถานะดีกว่า อย่างเช่นที่ประตูของคนร่ำรวย ตามที่ ลก.16:20 ได้บันทึกไว้ว่า..และมีคนขอทานคนหนึ่งชื่อลาซารัส เป็นแผลทั้งตัว นอนอยู่ที่ประตูรั้วบ้านของเศรษฐีหรือ บางครั้งก็จะนั่งอยู่บนทาง เพื่อขอทาน เพราะเป็นเส้นทางที่จะมี คนมากมายเดินผ่านไปผ่านมา อย่างเช่นที่มีบันทึกใน มก.10:46 มีคนตาบอดคนหนึ่งชื่อ บารทิเมอัส ซึ่งเป็นบุตรของทิเมอัสนั่งขอทานอยู่ที่ริมหนทาง สำหรับเหตุการณ์ที่บันทึกในหนังสือกิจการ 3 นี้ ชายที่เป็นง่อยแต่กำเนิดนี้ถูกหามให้มาวางไว้ที่ ทางประตูเข้าของพระวิหาร เพื่อมาขอทาน เหตุผลที่เลือกสถานที่นี้ เพราะเขารู้ดีว่า คนที่ไปพระวิหารเป็นประจำ ย่อมเป็นคนที่มีจิตใจเมตตากรุณาต่อคนที่ยากลำบากกว่าตนและ สถานที่นี้ เป็นที่ ๆ มีคนมากมายเคยชินที่จะเข้ามาที่นั่น และเหตุผลที่มายังพระวิหารก็แสดงถึงวัตถุประสงค์ทางจริยธรรม ความเชื่อ ดังนั้น คนที่ช่วยหามชายที่เป็นง่อยจึงคิดว่า คนที่มาพระวิหารน่าจะมี แนวโน้มที่จะให้ทานมากกว่าใคร และ ให้ทานมากกว่าเวลาอื่น ๆ ในชีวิตปกติประจำวัน ดังนั้น เหตุการณ์ที่บันทึกนี้ จึงเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อหลอกลวงคนที่อยู่ในละแวกนั้น ชายที่เป็นง่อยนี้ เป็นบุคคลจริง ที่มีตัวตน และ การนั่งขอทานของเขาที่หน้าพระวิหารก็เป็นภาพที่ผู้คนเห็นเป็นประจำยาวนาน กจ 4:22 บอกชัดเจนว่า ชายผู้นี้ที่เป็นง่อยแต่กำเนิดนั้น อายุมากกว่า 40 ปีแล้ว ชายคนนี้นั่งขอทานอยู่เช่นนี้เป็นระยะเวลายาวนาน เป็นภาพปกติที่ผู้คนเห็น รวมทั้งเปโตรกับยอห์นด้วยเช่นกันที่เห็น แต่ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ภายหลังจากได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์แล้ว การกระทำของทั้งสองแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ ความเชื่อ ที่แสดงว่า ย่อมได้รับการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ทำสิ่งที่ปกติเลยผ่านไป ไม่ได้ทำมาก่อน ซึ่งการที่พระวิญญาณทรงนำครั้งนี้ ก็เพื่อให้เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนการป่าวประกาศการอัศจรรย์การรักษาโรค ทำให้ฝูงชนพากันเข้ามาดูการอัศจรรย์นี้ ซึ่งเป็น การรวมตัวกันที่ทำให้เป็นโอกาสอันดีในการประกาศข่าวประเสริฐ ดังนั้นหัวข้อที่จะศึกษาครั้งนี้ผมขอใช้ชื่อว่า "ประกาศข่าวประเสริฐตามการทรงนำ"เราจะมาพิจารณาร่วมกัน

1.ข้อสังเกตเพื่อใคร่ครวญ

จากพระธรรมตอนนี้เปโตรกับยอห์นไม่ได้เดินเลยผ่านชายที่เป็นง่อย ข้อ 4-8 ได้บันทึกสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเปโตรและยอห์นได้ทำสิ่งที่ปกติแต่เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำให้รักษาชายคนง่อยคนนี้ ท่านทั้งสองตอบสนองต่อสิ่งที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ต้องการให้ทำบางสิ่งที่ปกติไม่ได้ทำ เพราะการ"เชื่อฟังว่าจึงมีสิ่งยิ่งใหญ่เกิดขึ้น"กับชายคนนั้นที่เป็นง่อยมาแต่กำเนิด
หากเราเป็นคนหนึ่งที่ไวต่อการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราต้องแสดงออกในภาคปฏิบัติที่แสดงให้เห็นถึงการตอบสนองการทรงนำ อย่าเพิกเฉยต่อการทรงนำนั้น จะเห็นได้ว่าเปโตรและยอห์นท่านทั้งสองไม่มีความละอาย ท่านตอบสนองการทรงนำด้วยการเชื่อฟัง
ท่านตอบสนองที่จะทำในสิ่งที่แต่ก่อนไม่เคยทำ แม้เคยผ่านเข้าออกพระวิหารและเห็นชายคนง่อยนั่งอยู่ที่นั่นเสมอ ซึ่งพระวิญญาณไม่ได้ทำงานในใจให้ทำสิ่งใด แต่บัดนี้ เป็นเวลาของพระเจ้า เป็นเวลาที่ต้องเริ่มเป่าแตรเพื่อสื่อพระคุณความรักของพระเจ้าตามพระมหาบัญชา เปโตรและยอห์นรู้การทรงนำ ท่านทั้งสองตระหนักถึงเวลาของพระเจ้าที่มาถึงแล้ว ท่านจึงสั่งให้ชายคนง่อยคนนั้นลุกขึ้นและเดิน นี่เป็นวาระเวลาของพระเจ้า เราจึงต้องรู้กาลเวลาของพระเจ้าที่ทรงนำในชีวิตของเรา เปรียบเทียบได้กับเผ่าอิสสาคาร์ของชาวอิสราเอล เป็นเผ่าที่รู้กาลเวลาของพระเจ้า เมื่อถึงเวลาของพระเจ้า เผ่านี้จะบอกกับชาวอิสราเอลเผ่าอื่นๆ ให้ลุกขึ้นและเดินไปครอบครองแผ่นดินที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้
ผมเชื่อว่าในปี 2012 เป็นวาระเวลา "ปีการปกครองของพระเจ้า" ให้เราเคลื่อนไปตามการทรงนำของพระเจ้า เมื่อพระเจ้าทรงนำ "จงลุกขึ้นและครอบครอง"
2.ข้อคิดสะกิดใจ

การเชื่อฟังต้องมีการแสดงออก ที่จะบอกว่า เชื่อฟังแต่ไม่ปฏิบัติ นั่นไม่อาจนับได้ว่า เป็นการตอบสนองที่เชื่อฟัง ไม่เพียงแต่เปโตรและยอห์นจะตอบสนองด้วยใจที่เชื่อฟังต่อการทรงนำ ท่านทั้งสองยัง “ตอบสนองด้วยการลงมือกระทำ” เป็นการประกาศข่าวประเสริบออกไปให้คนรู้
ข้อ 5-8 บรรยายต่อไปว่า …
5 คนขอทานนั้นได้เขม้นดู คิดว่าจะได้อะไรจากท่าน 6 เปโตรกล่าวว่า "เงินและทองเราไม่มี แต่ที่เรามีอยู่เราจะให้ท่าน คือในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์ชาวนาซาเร็ธจงเดินเถิด"
7 แล้วเปโตรจับมือขวาของเขาพยุงขึ้น และในทันใดนั้นเท้าและข้อเท้าของเขาก็มีกำลัง
8 เขาจึงกระโดดขึ้นยืนและเดินเข้าไปในพระวิหารด้วยกันกับเปโตรและยอห์น เดินเต้นโลดสรรเสริญพระเจ้าไป

สำหรับชายที่เป็นง่อยแต่กำเนิดผู้นี้ด้วยความพิการเช่นนี้ เขาย่อมไม่อาจเลี้ยงชีพของตนได้นอกจากการมาขอทาน ขนาดจะมาขอทานก็ยังต้องพึ่งคนอื่นช่วยหามมาวางไว้ เพราะเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่เขาคาดหวังคงไม่พ้นเงินหรือทอง
ในจังหวะที่ชายขอทานที่เป็นง่อยเขม้นมองดูท่านทั้งสองด้วยใจคาดหวังว่าจะได้อะไร เปโตรได้ฉวยโอกาสอันดีนั้น ตอบสนองสิ่งที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ต้องการให้ทำ คือ การประกาศพระนามของพระเยซูคริสต์
เปโตรกล่าวใน ข้อ 6ว่า…“เงินและทองเราไม่มี แต่ที่เรามีอยู่เราจะให้ท่าน คือ ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์ชาวนาซาเร็ธ จงเดินเถิด
สิ่งที่ดียิ่งกว่าเงินและทอง คือ “พระเยซูคริสต์” องค์พระเป็นเจ้า ผู้ทรงเป็นเจ้าชีวิต ผู้ทรงเป็นเจ้าของสรรพสิ่ง พระเยซูคริสต์เป็นกุญแจของทุกสิ่ง มีพระองค์เรามีทุกสิ่ง
นี่คือ สัจธรรมความจริงที่มนุษย์ทุกคนต้องรู้และรับไว้ พระคริสต์เป็นผู้ทรงคุณค่าที่สุด ที่มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องรับไว้เป็นองค์พระเป็นเจ้า และเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของตน
ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ทอง ที่เป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิต ไม่ใช่ทรัพย์ศฤงคาร ไม่ใช่สมบัติพัสถาน เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต ไม่ใช่ชื่อเสียง ไม่ใช่เกียรติยศ ไม่ใช่ยศฐานันดร เราจึงต้องสื่อข่าวสารความจริงนี้ออกไป เราจึงต้องตอบสนองสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้เราทำ คือ การสื่อข่าวสารเรื่องราวของพระเจ้าที่มารับสภาพเป็นมนุษย์ คือ องค์พระเยซูคริสต์ทรงเป็นคำตอบของทุกปัญหา

อัครทูตเปโตรกล่าวขยายพระนามของพระคริสต์ว่า "พระเยซูคริสต์ชาวนาซาเร็ธ"
คำว่า “ชาวนาซาเร็ธ” เป็นชื่ออันเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในท่ามกลางคนยิว
ก่อนหน้านี้ เปโตรก็ระบุชื่อพระเยซูอย่างชัดเจนว่าเป็นชาวนาซาเร็ธเช่นกันใน กจ.2:22
การที่ระบุชัดเจนเช่นนี้ก็เพื่อต้องการเน้นให้เห็นว่า พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าที่บังเกิดมาเป็นมนุษย์ และ ทรงดำเนินอยู่ท่ามกลางเขา เป็นบุคคลที่เขารู้จักกันดีท่ามกลางคนยิวในขณะที่พระองค์ยังทรงดำเนินอยู่ในโลกนี้ และบัดนี้ แม้ว่า พระองค์จะเป็นขึ้นมาจากความตาย และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์แล้วก็ตาม พระองค์ก็ยังทรงพระชนม์อยู่ และ ยังทรงมีฤทธิ์อำนาจเหมือนเดิม
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเปโตรอ้างถึงพระนามของพระเยซูชาวนาซาเร็ธ จึงเป็น การอ้างที่เปี่ยมด้วยสิทธิอำนาจและฤทธิ์อำนาจผ่านพระนามนั้น
ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์ชาวนาซาเร็ธ จงรับการเยียวยารักษาจากโรคร้ายเถิด
ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์ ชาวนาซาเร็ธ จงลุกขึ้นจากความสิ้นหวังเถิด
ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์ ชาวนาซาเร็ธ จงสลัดทิ้งความท้อแท้ใจเถิด
ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์ ชาวนาซาเร็ธ จงสลัดพันธนาการแห่งความบาปเถิด
ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์ ชาวนาซาเร็ธ จงสลัดทิ้งชีวิตเก่าเถิด
ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์ ชาวนาซาเร็ธ จงรับชีวิตใหม่เถิด
ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์ ชาวนาซาเร็ธ สิ่งใดที่ยากเกินนั้นไม่มีอีกต่อไป จงรับพระนามนี้ไว้ด้วยความเชื่อเถิด
ในวันนี้ให้เราลองคิดใคร่ครวญดูว่ามีสิ่งใดที่เราคิดว่าทำไม่ได้และมีสิ่งใดที่เป็นความยากลำบากในชีวิตของเรา เราจงปลดปล่อยถ้อยคำ การป่าวประกาศด้วยความเชื่อในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์ชาวนาซาเร็ธ ทุกสิ่งจะเป็นไปได้ เอเมน!

ข้อ 9-11 บรรยายต่อไปว่า…
9 คนทั้งปวงเห็นเขาเดินและสรรเสริญพระเจ้า
10 จึงรู้ว่าเป็นคนนั้นซึ่งนั่งขอทานอยู่ที่ประตูงามแห่งพระวิหาร เขาจึงพากันมีความประหลาดและอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่คนนั้น
11 เมื่อคนง่อยที่หายนั้นยังยึดเปโตรและยอห์นอยู่ ฝูงคนก็วิ่งไปหาท่านที่เฉลียงพระวิหารซึ่งเรียกว่า เฉลียงของซาโลมอนด้วยความอัศจรรย์ใจยิ่งนัก
ในวันที่พระวิญญาณเสด็จลงมาในวันเพนเทคศเตนั้น ทำให้คนยิวซึ่งเดินทางมาจากบ้านของตนในประเทศต่าง ๆ พากันแปลกประหลาดใจ
การอัศจรรย์ที่ผ่านมือของเปโตรก็เช่นกัน ทำให้ผู้คนพากันมาสนใจ เป็นการดึงดูดฝูงชนให้มีความสนใจ การอัศจรรย์จึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนเปิดใจเพื่อจะฟังข่าวประเสริฐ
นี่คือ สิ่งที่ประจักษ์ต่อสายตาของคนทั้งปวง นี่จึงไม่ใช่การหลอกลวงเพราะคนทั้งหลายต่างก็เห็นชายคนนี้เป็นเวลายาวนานแล้วว่าไม่เคยเดินได้ เพราะเขาเป็นง่อยแต่กำเนิด แต่บัดนี้ เขาเดินได้แล้ว แล้วไม่ได้เดินอย่างเงียบ ๆ แต่เดินไปส่งเสียงสรรเสริญพระเจ้าไป
คนทั้งปวงรู้สึกประหลาดและอัศจรรย์อย่างยิ่ง ไม่ใช่รู้สึกประหลาดใจแบบธรรมดา ๆ เพราะสิ่งที่เขาเห็นนั้นชัดเจน ชายที่นั่งขอทานที่ประตูงามแห่งพระวิหาร ไม่ได้เพิ่งมานั่งไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน หรือ ไม่กี่ปี แต่เพราะเขาเป็นง่อยมาแต่กำเนิด และ เขาอายุกว่า 40 ปีแล้ว สิ่งที่ยังชีพของเขาคือการมานั่งที่ตรงนี้และขอทาน แต่บัดนี้ เขาเดินได้แล้ว !
ไม่ใช่เพียงบางคน คนสองคน สิบคน แต่เป็น “ฝูงคน” ได้วิ่งมาหาเปโตรด้วยความอัศจรรย์ใจยิ่งนัก นี่แหละคือผลของการไวต่อการทรงของพระวิญญาณ ที่ตอบสนองด้วยการเชื่อฟังและลงมือกระทำ ทำให้เกิดการอัศจรรย์ต่อหน้าต่อตา ปากต่อปากต่างโจษจัณฑ์กันถึงมหกิจที่พระเจ้าทรงกระทำ
คำว่า “ยึด” หมายถึงการยึดมั่น เอาตัวมาร่วมด้วย นี่คือ การแสดงออกของชายผู้นี้ที่ไม่ใช่พอได้รับการรักษาให้หายอย่างอัศจรรย์ แล้วก็จากไปแต่เขาปรารถนาที่จะอยู่กับเปโตรกับยอห์น อยากมีส่วนร่วม ไม่อยากที่จะจากไปไหน ในขณะนั้นเอง ฝูงชนก็วิ่งมาหาเปโตรที่เฉลียงพระวิหาร มาด้วยความรู้สึกตื่นเต้น อัศจรรย์ใจ อยากรู้อยากเห็น
การอัศจรรย์นี้จึงเป็นดุจการเป่าแตรนำหน้าในการประกาศข่าวประเสริฐ เป็นการดึงดูดความสนใจของคนให้อยากรู้อยากเห็นว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร
การหายโรคอย่างอัศจรรย์ของชายที่เป็นง่อยนั้น ทำให้คนฉงนสนเท่ห์ยิ่งนัก
ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างอัศจรรย์เช่นนี้แหละที่ดึงดูด ความสนใจของคนได้เป็นอย่างดี เป็นการจุดประกายไฟความสนใจของคนรอบด้านที่อยากรู้ว่า เรามีอะไรดี
ดังนั้น วิถีชีวิตของเราต้องต่างไปจากเดิม เราต้องดำเนินชีวิตเป็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิด เพื่อให้คนได้เห็นความจริงที่เป็นสิ่งที่จะยึดเหนี่ยวเขาไว้มาสู่ความรอด
3.ข้อสรุปเพื่อการประยุกต์ใช้


อัครทูตเปโตรได้ใช้โอกาสที่ฝูงชนกำลังใจสิ่งอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนี้ ประกาศเป็นพยานถึงฤทธานุภาพของพระเจ้า
ข้อ 12 บรรยายต่อไปว่า …พอเปโตรแลเห็นก็กล่าวแก่คนเหล่านั้นว่า "ท่านชนชาติอิสราเอลทั้งหลาย ไฉนท่านพากันประหลาดใจด้วยเรื่องของคนนี้ เขม้นดูเราทำไมเล่า อย่างกับว่าเราทำให้คนนี้เดินได้โดยฤทธิ์หรือความชอบธรรมของเราเอง
อัครทูตเปโตรตั้งใจให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่การพูดสิ่งที่สำคัญที่สุด พูดสิ่งที่เป็นสาระมากที่สุด สิ่งที่เปโตรต้องการพูดมากที่สุดให้ฝูงชนที่พากันติดตามท่านมาตั้งใจฟังนั้น ก็คือ ข่าวประเสริฐเรื่องพระคริสต์
ท่านไม่ได้บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นพระเจ้าทรงโปรดปรานท่าน หรือเพราะท่านมีชีวิตที่ดีกับพระเจ้า แต่ท่านพูดเจนว่า ไม่ใช่ท่าน สิ่งที่เกิดขึ้น ที่ชายซึ่งเป็นง่อยแต่กำเนิดเดินได้นี้ ไม่ใช่โดยฤทธิ์หรือความชอบธรรมของท่านเลย ดังนั้นเมื่อทำการอัศจรรย์สิ่งที่สำคัญคือ ความถ่อมใจ สิ่งที่เป็นการอัศจรรย์นั้นไม่ใช่เพราะเราทำแต่มาจากพระเจ้าใช้ผ่านสิ่งที่เราทำต่างหาก
ผมขอสรุปภาคประยุกต์ไว้ตอนท้ายนี้คือ "การประกาศข่าวประเสริฐนั้นเราต้องให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำ เมื่อถึงเวลที่เหมาะสมแล้ว เราตอบสนองทำตามที่พระองค์ทรงนำ เราจะเห็นถึงการอัศจรรย์ และสิ่งที่สำคัญคือต้องรักษาความถ่อมใจไว้ เพราะสิ่งที่เราทำการอัศจรรย์นั้นมาจากพระเจ้า"


ขอพระเจ้าอวยพรพระทุกท่านครับ พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ



15 กุมภาพันธ์ 2555

Acts_2:42-47 คริสตจักรที่เป็นชุมชนแห่งพระพร

ศึกษาพระธรรมกิจการของอัครทูต
คริสตจักร “ต้นแบบ” ตามพระบัญชา



กิจการของอัครทูต 2:42-47
42เขาทั้งหลายได้ขะมักเขม้นฟังคำสอนของจำพวกอัครทูตและร่วมสามัคคีธรรม ทั้งขะมักเขม้นในการหักขนมปังและการอธิษฐาน
43 เขามีความเกรงกลัวด้วยกันทุกคนและพวกอัครทูตทำการอัศจรรย์ และหมายสำคัญหลายประการ
44 บรรดาผู้ที่เชื่อถือนั้นก็อยู่พร้อมกัน ณ ที่แห่งเดียว และทรัพย์สิ่งของของเขาเหล่านั้นเขาเอามารวมกันเป็นของกลาง
45 เขาจึงได้ขายที่ดินและทรัพย์สิ่งของ มาแบ่งให้แก่คนทั้งปวงตามซึ่งทุกคนต้องการ
46 เขาได้ร่วมใจกันไปในพระวิหารและหักขนมปังตามบ้านของเขา ร่วมรับประทานอาหารด้วยความชื่นชมยินดีและใจกว้างขวางทุกวันเรื่อยไป
47 ทั้งได้สรรเสริญพระเจ้าและคนทั้งปวงก็ชอบใจ ฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้า ได้ทรงโปรดให้คนทั้งหลายซึ่งกำลังจะรอดมาเข้ากับพวกสาวกทุกวันๆ

อารัมภบท
สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน กลับมาศึกษาพระธรรมกิจการฯกันอีกครั้ง ในตอนที่ 6 ซึ่งเป็นตอนที่มีความสำคัญ เพราะจะเห็นได้ว่ามีชุมชนผู้ที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ ที่ได้ตอบสนองต่อข่าวประเสริฐ จากชุมชนเล็กๆ รวมตัวกันจนได้กลายเป็นชุมชนที่ใหญ่มากขึ้นในทุกวัน และเป็นชุมชนแห่งพระพร ที่ส่งต่อความรักและความรอดของพระเจ้าออกไป ครั้งขอตั้งชื่อตอนว่า
"คริสตจักรที่เป็นชุมชนแห่งพระพร" มีสิ่งใดบ้างที่ข้อคิดและหลักการที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้บ้าง เราจะมาศึกษาร่วมกัน


1.ข้อสังเกตเพื่อใคร่ครวญ
จากเหตุการณ์ตอนนี้ เราจะเห็นได้ว่าคริสตจักรในสมัยแรก จากพระธรรมกิจการฯ เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่บันทึกเหตุการณ์จริงที่ให้แง่มุมมองหลายสิ่งจากตอนนี้ มุมมองที่สำคัญที่น่าจะคิดใคร่ครวญ คือ การสามัคคีธรรมในกลุ่มย่อย เห็นถึงการเจริญเติบโตของคริสตจักรอย่างรวดเร็ว กลุ่มสามัคคีธรรมเป็นกลุ่มที่เล็กที่สุดในการที่ผู้เชื่อได้มาร่วมกันเพื่อสามัคคีธรรม
ลักษณะการสามัคคีธรรม 2 อย่าง คือ สามัคคีธรรมกับ ”พระเจ้า” และ สามัคคีธรรมกับ “พี่น้อง” ในชุมชน
คำว่า “สามัคคีธรรม” นี้ มาจากภาษาเดิม คือ koinonia ซึ่งให้ ความหมายว่า การแบ่งปัน การมีหุ้นส่วนกัน เมื่อกล่าวถึงการสามัคคีธรรมนั้น ก็มักจะกล่าวถึงพิธีมหาสนิท และ บ่อยครั้งที่อ้างถึงการแบ่งปันข้าวของ หรือ การมีหุ้นส่วนกัน หรือ การมีความสัมพันธ์กันในชุมชน หรือ การมีมิตรภาพต่อกัน การสามัคคีธรรมกันนั้นแสดงออกได้ใน 7 รูปแบบ ที่เป็นดังเสาหลักของคริสตจักรสมัยแรก ดังต่อไปนี้

1.การสามัคคีธรรมในกลุ่มย่อย(46) โดยคริสตจักรสมัยแรกมักจะใช้บ้านเป็นกลุ่มสามัคคีธรรม
46...เขาได้ร่วมใจกันไปในพระวิหารและหักขนมปังตามบ้านของเขา
2.การสอนพระวจนะ(
42)…เขาทั้งหลายได้ขะมักเขม้นฟังคำสอนของจำพวกอัครทูต
3.การอธิษฐาน
(42) …ขะมักเขม้นในการหักขนมปังและการอธิษฐาน
4.การถวายทรัพย์ แบ่งปันสิ่งของกันและกัน
(44) บรรดาผู้ที่เชื่อถือนั้นก็อยู่พร้อมกัน ณ ที่แห่งเดียว และทรัพย์สิ่งของของเขาเหล่านั้นเขาเอามารวมกันเป็นของกลาง
5.การปลดปล่อยของประทานการรับใช้ (43)...เขามีความเกรงกลัวด้วยกันทุกคนและพวกอัครทูตทำการอัศจรรย์ และหมายสำคัญหลายประการ
6.การนมัสการ(47) ทั้งได้สรรเสริญพระเจ้าและคนทั้งปวงก็ชอบใจ

7.ประกาศข่าวประเสริฐ(47) ทั้งได้สรรเสริญพระเจ้าและคนทั้งปวงก็ชอบใจ ฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้า ได้ทรงโปรดให้คนทั้งหลายซึ่งกำลังจะรอดมาเข้ากับพวกสาวกทุกวันๆ

แม้ว่ารูปแบบคริสตจักรในสมัยปัจจุบันโดยเฉพาะการสามัคคีธรรมอาจจะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้เพื่อปรับให้เข้ากับยุคสมัยและความสะดวกสำหรับผู้ร่วมกลุ่มสามัคคีธรรม แต่หลักการต่างๆในคริสตจักรสมัยแรกก็ยังคงใช้ได้อยู่เพียงแต่ปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบทท้องถิ่น เรียกว่า "ยึดหลักการ แต่ยืดหยุ่นในวิธีการ"
2.ข้อคิดสะกิดใจ

จากพระธรรมตอนนี้ คำที่น่าคิดสะกิดใจคือ คำว่า “ขะมักเขม้น” คำนี้แสดงให้เห็นถึงการมีความพากเพียรอุตสาหะ ในลักษณะที่ยึดมั่นถือมั่น เอาจริงเอาจัง หิวกระหาย
นี่คือ ลักษณะวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนคริสตจักรในสมัยแรกที่เป็นต้นแบบของคริสตจักรในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่า การตัดสินใจอย่างกลับใจอย่างทันทีทันใดจากเหตุการณ์ตอนที่แล้วที่มีผู้เชื่อทวีมากขึ้นเป็น 3,000 คนในคราวเดียว แต่ก็มีการมาผูกพันรวมตัวกันในชุมชนอย่างทันทีทันใด ซึ่งแม้การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ย่อมนำการข่มเหงมาสู่ชุมชนผู้เชื่อ ซึ่งเราจะให้ได้ในเหตุการณ์การข่มเหงในพระธรรมกิจการฯในบทต่อๆไป
ดังนั้น คำว่า “ได้ขะมักเขม้น” ในที่นี้ จึงหมายถึงการยังคงมีความตั้งใจ เด็ดเดี่ยว มั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ถูกสั่นคลอนให้ล้มเลิกที่จะฟังคำสอนของพวกอัครทูต ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร ก็ยังคงมีความกระตือรือร้นที่จะรับคำสอนและร่วมสามัคคีธรรม เพราะพวกเขาเห็นว่าการสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ทำให้เผชิญสิ่งต่างๆได้

ในพระธรรมกิจการฯบทที่ 2 นี้ถือว่าเป็นการสถาปนาคริสตจักรอย่างเป็นทางการหลังจากที่พระวิญญาณบริสุทธุิ์เทลงมา คำว่า "คริสตจักร" หรือ "Ekklessia" ไม่ได้หมายถึงตัวอาคารสถานที่ แต่หมายถึงชุมชนของผู้เชื่อที่ถูกเรียกออกมาจากความมืดเข้าสู่ความสว่างในพระคริสต์และมารวมกันเป็นชุมชน
(1เปโตร 2:9 แต่ท่านทั้งหลายเป็นชาติที่พระองค์ทรงเลือกไว้แล้ว เป็นพวกปุโรหิตหลวง เป็นประชาชาติบริสุทธิ์ เป็นชนชาติของพระเจ้าโดยเฉพาะ เพื่อให้ท่านทั้งหลายประกาศพระบารมีของพระองค์ ผู้ได้ทรงเรียกท่านทั้งหลายให้ออกมาจากความมืด เข้าไปสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์) จะเห็นได้ว่าคริสตจักรสมัยแรกจะไปร่วมสามัคคีธรรมในพระวิหาร หรือธรรมศาลา(Synagogue)และตามบ้าน

การสามัคคีธรรมนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการสามัคคีธรรมกับพระเจ้า คือ ไม่ว่าจะในรูปแบบของการร่วมพิธีมหาสนิท การอธิษฐาน และ นมัสการ
ยังมีการสามัคคีธรรมกันระหว่างพี่น้องอีกด้วย ซึ่งแสดงออกเป็น 2 รูปแบบที่พบได้ในตอนนี้ คือ การแบ่งปันสิ่งของและแป่งปันประสบการณ์ชีวิตที่เป็นพระพรต่อกันและกัน


ข้อ 44 บรรดาผู้ที่เชื่อถือนั้นก็อยู่พร้อมกัน ณ ที่แห่งเดียว และทรัพย์สิ่งของของเขาเหล่านั้นเขาเอามารวมกันเป็นของกลาง
ข้อ 45 เขาจึงได้ขายที่ดินและทรัพย์สิ่งของ มาแบ่งให้แก่คนทั้งปวงตามซึ่งทุกคนต้องการ
นั่นคือ ภาพของการสามัคคีธรรมที่มีต่อกันระหว่างพี่น้อง

เป็นการสามัคคีธรรมที่แสดงออกด้วยการแบ่งปัน ซึ่งเป็นไปตามความหมายของภาษาเดิม koinonia เป็นเพราะพวกเขาตระหนักดีว่า เมื่อก่อนนั้นพวกเขาถูกแยกออกจากกัน ขาดความสัมพันธ์ที่พึงมี เพราะกำแพงแห่งความสัมพันธ์ ของขนบธรรมเนียมประเพณี เชื้อชาติ ระหว่างยิวและคนต่างชาติ
แต่มาบัดนี้ โดยพระโลหิตของพระเยซูที่หลั่งออกที่ไม้กางเขน ทำให้ความสัมพันธ์นั้นกลับคืนมาดังเดิมแล้ว
ดังที่ เอเฟซัส 2:13-19 ได้บรรยายไว้ว่า…
13 แต่บัดนี้ในพระเยซูคริสต์ท่านทั้งหลายซึ่งเมื่อก่อนอยู่ไกล ได้เข้ามาใกล้โดยพระโลหิตของพระคริสต์
14 เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นสันติสุขของเรา เป็นผู้ทรงกระทำให้ ทั้งสองฝ่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทรงรื้อกำแพงที่กั้นระหว่างสองฝ่ายลง
15 คือการเป็นปฏิปักษ์กัน โดยในเนื้อหนังของพระองค์ ได้ทรงให้ธรรมบัญญัติอันประกอบด้วยบทบัญญัติและกฎหมายต่างๆนั้นเป็นโมฆะ เพื่อจะกระทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นคนใหม่คนเดียว
ในพระองค์ เช่นนั้นแหละ จึงทรงกระทำให้เกิดสันติสุข
16 และเพื่อจะทรงกระทำให้ทั้งสองพวกคืนดีกับพระเจ้า เป็นกายเดียวโดยกางเขน ซึ่งเป็นการทำให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อกันหมดสิ้นไป
17 และพระองค์ได้เสด็จมาประกาศสันติสุขแก่ท่านที่อยู่ไกล และประกาศสันติสุขแก่คนที่อยู่ใกล้
18 เพราะว่าพระองค์ทรงทำให้เราทั้งสองพวกมีโอกาสเข้าเฝ้าพระบิดาโดยพระวิญญาณองค์เดียวกัน
19 เหตุฉะนั้นท่านจึงไม่ใช่คนต่างด้าวต่างแดนอีกต่อไป แต่ว่าเป็นพลเมืองเดียวกันกับธรรมิกชน และเป็นครอบครัวของพระเจ้า
ถ้าเราทำความเข้าใจหลักการนี้ การแบ่งปันก็จะไม่ใช่เรื่องยากเย็นเลย เพราะเราเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ความทุกข์ของสมาชิกในครัวเรือน คนในครัวเรือนย่อมทุกข์ร้อนด้วยพระวจนะพระเจ้าบอกว่า การแบ่งปันข้าวของซึ่งกันและกัน เป็นเครื่องบูชาที่พระเจ้าพอพระทัย
ฮีบรู 13:16 จงอย่าละเลยที่จะกระทำการดี และจงแบ่งปันข้าวของซึ่งกันและกัน เพราะเครื่องบูชาอย่างนั้นเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า
นั่นคือ สิ่งที่เราทำกับพี่น้องก็เป็นเช่นการกระทำถวายแด่พระเจ้า นอกจากนั้น ในการแบ่งปัน พระวจนะระบุว่า ยังต้องให้ด้วยใจกว้างขวาง
โรม 12:8 …ถ้าเป็นการบริจาคก็จงให้ด้วยใจกว้างขวาง…
การให้ด้วยใจกว้างขวางแสดงว่า เป็นการให้มาจากใจ ไม่ใช่รู้สึกฝืนใจที่ต้องให้ แต่ให้ด้วยความเต็มใจ การสามัคคีธรรมกับพี่น้องด้วยการแบ่งปันนั้น จึงต้องทำมาจากใจ และ จากใจที่กว้างขวาง การให้ด้วยใจกว้างขวางนี้เอง ที่เป็นเหตุให้พระเจ้าเพิ่มเติมให้อีก เพื่อจะได้มีแจกจ่ายต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด
2โครินธ์ 9:11…โดยทรงให้ท่านทั้งหลายมีสิ่งสารพัดมั่งคั่งบริบูรณ์ขึ้น เพื่อให้ท่านมีแจกจ่ายอย่างใจกว้างขวางซึ่งโดยเราจัดแจก จะให้เกิดการขอบพระคุณพระเจ้า
นี่คือ ความอัศจรรย์ที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของเราได้ อยากรับประสบการณ์นี้ จงเริ่มต้นให้ออกไป แล้วท่านจะเห็นการเทลงมาอย่างมั่งคั่งบริบูรณ์ เพื่อจะได้มีแจกจ่ายอย่างใจกว้างขวางต่อไป
นี่คือ หลักการของพระเจ้าในการหมุนเวียนทรัพยากรภายในความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง ที่ทำให้ไม่มีใครสักคนต้องขัดสนท่ามกลางพวกเราเลย ตรงกันข้าม คนที่หวงแหนสิ่งที่ควรจำหน่ายออกไป ก็จะยิ่งขัดสนอย่างไม่สิ้นสุด (สุภาษิต 11:24 บอกไว้อย่างนั้นว่า บางคนยิ่งจำหน่ายยิ่งมั่งคั่ง บางคนยิ่งยึดสิ่งที่ควรจำหน่ายไว้ยิ่งขัดสนก็มี)
นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในคริสตจักรสมัยแรกนั้น มีการช่วยเหลือกันและกัน คนที่มีมากกว่าก็ช่วยเหลือคนที่มีน้อยกว่าเช่นในกจ.4:34-35 บันทึกไว้ว่า ในพวกศิษย์ไม่มีผู้ใดขัดสน
เพราะอัครทูตทำหน้าที่แจกจ่ายให้ทุกคนตามที่ต้องการนั่นคือ ด้วยการแบ่งปันกัน ในที่สุดจะไม่มีใครที่ขัดสนเลย
ไม่เพียงแต่แบ่งปันกันภายในหมู่พี่น้องที่อยู่ใกล้ชิดเท่านั้น คริสเตียนที่เมืองอันทิโอกยังแบ่งปันให้กับพี่น้องคริสเตียนที่แคว้นยูเดีย ในคราวที่มีการกันดารอาหารอีกด้วย (กจ.11:29)
คริสตจักรที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นคริสตจักรต้นแบบที่สามัคคีธรรมกันด้วย “การแบ่งปันกัน”
และเป็นชุมชนแห่งพระพรที่ส่งออกไปทั่วโลก จนทำให้คนทั้งหลายได้มารับความรอด


บิล จอห์นสัน (Bill Johnson) ศบ.คริสตจักรเบธเอล (Bethel Church) ใน USA ผู้เขียนหนังสือ “เมื่อสวรรค์บุกรุกโลก” ได้กล่าวว่า “บางคนอาจจะให้ได้โดยไม่มีความรัก แต่เป็นไปไม่ได้ถ้ารักและจะไม่ให้ เมื่อมีความรักจะให้ออกไปโดยไม่เก็บเอาไว้ มีคนอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทแรกเมื่อพระเจ้าเร้าใจก็จะให้ออกไป และอีกประเภทคือเขาจะให้ออกไปจนกว่าพระเจ้าจะเร้าใจให้หยุด”
ในวันนี้ขอให้เราเป็นคนประเภทที่ 2 ที่เราจะแบ่งปันความรักของพระเจ้าด้วยการให้ออกไป จนกว่าพระเจ้าจะเร้าใจให้หยุดให้ออกไป เพราะรักจึงให้ออกไปแบบที่พระเจ้าทรงรักเราด้วยความรักของพระองค์ พระคัมภีร์สอนให้เราแบ่งการถวายของเราเป็น 3 ส่วน คือ สิบลด การไปถวายในเทศกาลต่างๆ และการให้แก่ผู้ยากไร้ผู้ขัดสน(ฉธบ15:9-15)


คำต่อมาที่น่าสนใจคือ “มีหมายสำคัญและการอัศจรรย์” หมายสำคัญและการอัศจรรย์ย่อมเกิดขึ้นในชุมชนคริสตจักรที่มีการสอนพระวจนะอย่างสัตย์ซื่อ อย่างครบถ้วน อย่างมีความเชื่อในสิ่งที่สอน อย่างตั้งใจทำและ ตั้งใจเป็น ในสิ่งที่พระวจนะบอกไว้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคริสตจักรที่มีสามัคคีธรรมกับพระเจ้าอย่างสนิทสนมซึ่งเป็นการนำการทรงสถิตของพระเจ้ามาอยู่ด้วยอย่างชัดเจน
ที่ไหนที่พระเจ้าสถิตอยู่ด้วย ยากยิ่งที่จะไม่ได้เห็นหมายสำคัญการอัศจรรย์
หมายสำคัญและการอัศจรรย์ไม่ใช่สิ่งที่พ้นสมัยแล้ว แต่ยังร่วมสมัยอยู่
(มก.16:17 มีคนเชื่อที่ไหนหมายสำคัญเหล่านี้จะบังเกิดขึ้น ที่นั้น …)
นี่คือ เหตุที่คริสตจักรในสมัยกิจการฯเป็นคริสตจักรต้นแบบนี้ มีหมายสำคัญและการอัศจรรย์เกิดขึ้น พระคัมภีร์บอกว่า หลายประการ ไม่ใช่บางประการ และ แสดงว่า เกิดขึ้นบ่อย ไม่ใช่นาน ๆ ครั้งแน่ ดังที่ตลอดหนังสือกิจการ บันทึกไว้อย่างมากมาย อาทิเช่น...
(กจ.3:6-10) คนง่อยแต่กำเนิดเดินได้ (
กจ.5:12) มีหมายสำคัญและการอัศจรรย์หลายอย่าง ซึ่งอัครทูตได้ทำด้วยมือของตน ในหมู่ประชาชน พวกสาวกอยู่พร้อมกันในเฉลียงของซาโลมอน
นั่นคือ มีหมายสำคัญการอัศจรรย์หลายประเภท หลายอย่าง ทั้งคนง่อยเดินได้ คนตาบอดมาเห็นได้ คนหูหนวกได้ยิน คนถูกพันธนาการจากวิญญาณชั่ว ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นไท
กจ. 5:15 บอกอย่างนั้นว่า
...ผู้คนคาดหวังการอัศจรรย์ถึงขนาดว่า เอาคนเจ็บป่วยนอนบนแคร่และวางตามถนนที่รู้ว่า เปโตรจะเดินผ่าน เพราะคาดหวังว่า เงาเปโตรจะได้รักษาคนป่วยได้เลยทีเดียว
กจ.9:40 บรรยายต่อไปให้เห็นว่า
มีคนตายไปแล้วก็ยังฟื้นขึ้นมาผ่านการอธิษฐาน และคำสั่งของเปโตรที่บอกให้ฟื้นขึ้น
ลักษณะคริสตจักรต้นแบบ เป็นที่ที่มีการทรงสถิตของพระเจ้า เพราะดำเนินชีวิตอยู่ในสัจธรรมของพระเจ้า
ยอห์น 14:12 ผู้ที่วางใจในเราจะกระทำกิจการซึ่งเราได้กระทำนั้นด้วย และเขาจะกระทำกิจที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก
เราจะทำกิจที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก หากเราเชื่อ นี่คือ พระสัญญาของพระเจ้า
ที่ใดที่มีคนเชื่อ หมายสำคัญและการอัศจรรย์จะเกิดขึ้นที่นั่น และ ที่ใดที่มีคนร่วมใจกัน ผูกพันกัน ที่ใดที่มีการสามัคคีธรรมกัน มีความสัมพันธ์กับพระเจ้า และ มีความสัมพันธ์กันระหว่างพี่น้องในพระคริสต์ที่นั่น หมายสำคัญและการอัศจรรย์จะเกิดขึ้นแน่ เพราะพระเจ้าอยู่ที่นั่น


ในวันนี้เราจึงต้องมาถามกลุ่มสามัคคีธรรมของเรา ว่า กลุ่มสามัคคีธรรมของเรามีลักษณะแบบคริสตจักรในสมัยกิจการฯหรือไม่? และมีสิ่งใดบ้างที่เราต้องการให้พระเจ้าเพิ่มเติมมากขึ้นในกลุ่มสามัคคีธรรมของเรา?



3.ข้อสรุปเพื่อการประยุกต์ใช้
จากมุมมองที่ผมเห็นในกลุ่มสามัคคีธรรมของคริสตจักรในสมัยแรก และเทียบจากปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ารูปแบบการสามัคคีธรรมจะแตกต่างไปตามสถานการณ์และบริบทท้องถิ่นนั้นๆ แม้แต่บางคริสตจักรจะมีชื่อเรียกที่ต่างกันออกไป บางคริสตจักรจะเรียกกลุ่มสามัคคีธรรมระหว่างสัปดาห์ว่า "กลุ่มเซลล์ (Cell)" หรือ บางที่เรียกว่า "กลุ่มแคร์ (Care)" หรือกลุ่มสร้างสรรค์ชีวิต หรืออื่นๆ สำหรับผมแล้วคิดว่าจะเรียกว่าอย่างไรก็ตามแต่สะดวกและเห็นควรเพียงแต่สิ่งที่ต้องรักษาไว้คือการสามัคคีธรรมที่เป็นพรต่อกัน มีการแบ่งปันหนุ่นใจพระวจนะและมีการช่วยเหลือกันทั้งในด้านจิตใจ จิตวิญญาณและฝ่ายกายภาพ โดยหวังเพื่อประโยชน์กับสมาชิกกลุ่มที่มาร่วม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ต่อตนเอง หรือสมาชิกในกลุ่มบางคน เช่นผลประโยชน์ด้านธุรกิจ กลุ่ม Cellที่หมายถึง สิ่งที่ชีวิตที่มาเชื่อมต่อและขยายแพร่ตัวดัง Cell ในร่างกาย ก็จะกลายร่างเป็น กลุ่ม Sale ทำการค้าขายตรง หรือ กลุ่ม care ที่หมายถึงการดูแลกันและกัน ก็จะกลายเป็นกลุ่มแชร์ (Share)แทนที่จะแบ่งปันพระพรของพระเจ้าต่อกันและกัน กลายเป็นกลุ่มเล่นแชร์ลุูกโซ่หวังผลประโยชน์จากสมาชิก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้กลุ่มสามัคคีธรรมนั้นถูกบิดเบื้อนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น


ผมขอให้ข้อคิดโดยสรุปจากพระธรรมตอนนี้เป็นคำภาษาอังกฤษจากคำว่า "CARE"หมายถึงการเอาใจใส่ดูแลกันและกันและเป็นความหมายของกลุ่มสามัคคีธรรมที่มักพูดติดปากว่ากลุ่มแคร์ มีหลักการดังนี้
C-Christ Center กลุ่มสามัคคีธรรมต้องมีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะทำกิจกรรมต่างๆ เช่นการนมัสการ แบ่งปันพระคำ หรือการอธิษฐาน และสมาชิกในกลุ่มจะได้รับพระพรเมื่อพระองค์ทรงเป็นศูนย์กลางดังคริสตจักรในสมัยกิจการอัครทูต

A-Administration กลุ่มสามัคคีธรรมต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้ทุกคนได้ใช้ของประทานและมีการจัดการเพื่อแบ่งปันสิ่งต่างๆเพื่อเป็นพระพรต่อกันและกัน หากไม่มีการบริหารจัดการเมื่อกลุ่มขยายใหญ่มากขึ้นจะเกิดปัญหาได้ เช่นในพระธรรมกิจการฯบทที่ 6 ซึ่งมีปัญหาเรื่องการแจกทานไม่ทั่วถึง อัครทูตจึงแต่งตั้งผู้ที่ทำหน้าที่แจกทาน คือมัคนายก(Deacon)ทำหน้าที่บริหารจัดการกลุ่ม
R-Relationship กลุ่มสามัคคีธรรมต้องมีการปฎิสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง และเป็นกันเอง(relax) เพื่อให้ทุกคนได้ผ่อนคลายและได้รับการเสริมสร้างชีวิตในฝ่ายวิญญาณ รวมถึงการดูแลกันและกันทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจ
E-Evangelism กลุ่มสามัคคีธรรมต้องมีการประกาศข่าวประเสริฐและการขยายกลุ่มออก(Expansion)ไปเพื่อเป็นพระพรไปสู่คนทั้งหลาย ไม่ใช่เพียงสามัคคีธรรมในกลุ่มที่ปิดเท่านั้น อย่างเช่นกจ.2:47 มีคนมารับความรอดทุกวันๆ


ขอพระเจ้าอวยพระพรทุกกลุ่มสามัคคีธรรมให้เป็นชุมชุนแห่งพระพรและส่งต่อพระพรของพระเจ้าออกไปสู่ชุมชนภายนอกคริสตจักร พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะครับ

09 กุมภาพันธ์ 2555

จัดเต็มรัก จัดหนักให้หัวใจ

สวัสดีครับเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันแห่งความรัก คือวันที่อุทิศไว้ให้กับเซนต์วาเลนไทน์ (St.Valentine)ที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อความรักที่บริสุทธิ์
(สามารถอ่านประวัติวันวาเลนไทน์ได้ที่
http://pattamarot.blogspot.com/2011/02/valentine.htm)
วันวาเลนไทน์เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เพราะความรักเป็นสิ่งที่สวยงามแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนในโลกนี้ต้องการ มีบางคนให้นิยามความรัก ว่า "ความรักเหมือนอากาศ ที่เราขาดมันไม่ได้ แม้ว่ามองไม่เห็นแต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น" หลายคนคงเห็นด้วยเช่นนั้น เพียงแต่ว่าความรักที่ทำให้เกิดความทุกข์เป็นความรักที่เห็นแก่ตนเอง เมื่อไม่ได้รับความรักตามความต้องการก็จะทำให้เกิดความผิดหวัง แต่ความรักที่ทำให้เกิดความสุขคือความรักที่ได้ให้ออกไป ในปัจจุบันมุมมองความรักถูกมองให้มุมที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวทั่วไป จะนำเอาความรักเป็นเครื่องแสดงออกทางความสัมพันธ์ทางเพศ คือว่าเมื่อรักกัน ฉันและเธอต้องไปตอบสนองความต้องการทางเพศด้วยกัน ซึ่งในวันวาเลนไทน์ ของแต่ละปีมีสถิติที่น่าตกใจ คือ กลุ่มวัยรุ่นมักจะใช้วันนี้เพื่อพิสูจน์ความรักด้วยการไปมีความสัมพันธ์ทางเพศต่อกัน จึงเป็นที่มาของ "วันแห่งการเสียความบริสุทธิ์แห่งชาติ" แทนที่จะให้ความรักบ่มเพราะในเวลาที่เหมาะสม เรียนจบ รับผิดชอบตนเองได้ และถึงจะนำอีกคนมารับผิดชอบโดยการแต่งงานมีครอบครัว จึงขอหนุนใจให้กลุ่มวัยรุ่นทั้งหลายในปัจจุบัน ได้เห็นคุณค่าแห่งความรักที่แท้จริง และรักษาชีวิตที่บริสุทธิ์ไว้ ในวันแห่งการสมรส
ในวันนี้ผมขอแบ่งปันข้อคิดแห่งความรักจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ ตอนหนึ่งซึ่งให้ความหมายของความรักแท้ที่มาจากพระเจ้าผู้เป็นแห่งแห่งความรัก ที่พระองค์ประทานให้เรา แบบเน้นๆ โดยไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าเราจะมีความไม่สมบูรณ์ ความรักของพระเจ้าที่ให้กับเรานั้น พระองค์ประทานมาให้แบบ "จัดเต็มรัก จัดหนักให้หัวใจ" พระธรรมตอนนี้มาจากพระธรรม
1ยอห์น 4:18-21
18 ในความรักนั้นไม่มีความกลัว แต่ความรักที่สมบูรณ์นั้นก็ได้ขจัดความกลัวเสีย เพราะความกลัวเข้ากับการลงโทษและผู้ที่มีความกลัวก็ยังไม่มีความรักที่สมบูรณ์
19 เราทั้งหลายรัก ก็เพราะพระองค์ทรงรักเราก่อน
20 ถ้าผู้ใดว่า "ข้าพเจ้ารักพระเจ้า" และใจยังเกลียดชังพี่น้องของตน ผู้นั้นก็เป็นคนพูดมุสา เพราะว่าผู้ที่ไม่รักพี่น้องของตนที่แลเห็นแล้ว จะรักพระเจ้าที่ไม่เคยเห็นไม่ได้
21 พระบัญญัตินี้เราทั้งหลายก็ได้มาจากพระองค์ คือว่าให้คนที่รักพระเจ้านั้นรักพี่น้องของตนด้วย
พระวจนะตอนนี้สะท้อนให้เราเห็นว่า แม้มนุษย์มีความบกพร่องมากมายซึ่งทำให้เราขาดความรัก แต่สามารถได้รับการเติมเต็มความรักให้สมบูรณ์ได้ด้วยการรับความรักของพระเจ้าเข้ามาในชีวิต พระเจ้าทรงเป็นความรัก ทรงริเริ่มในการรักมนุษย์ก่อน เป็นพระคุณที่ประทานให้แม้มนุษย์ทุกคนจะเป็นคนบาปและไม่สมควรจะได้รับ เราได้เห็นสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อเรา และผลที่เราจะได้รับหากเราได้รับความรักของพระเจ้า ดังนี้คือ

1.สิ่งที่พระเจ้าทำ :ประทานความรักที่สมบูรณ์ (ข้อ 18ก)
ในความรักนั้นไม่มีความกลัว แต่ความรักที่สมบูรณ์นั้นก็ได้ขจัดความกลัวเสีย เพราะความกลัวเข้ากับการลงโทษและผู้ที่มีความกลัวก็ยังไม่มีความรักที่สมบูรณ์
เมื่อเราแสวงหาพระเจ้า พระเจ้าจะประทานความรักที่สมบูรณ์แก่เรา เป็นความรักที่เติมเต็มในใจ ดับความรู้สึกกระหาย(ยน.6:35) แม้สถานการณ์ทั่วไปอาจจะยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป คนรอบข้างอาจจะยังไม่รักเราเช่นเดิม และพระเจ้ายังทำให้เรารักผู้อื่นได้อีกด้วย โดยพระเจ้าทรงสำแดงความรักแก่เราก่อน
ในข้อที่ 19 บอกว่า เราทั้งหลายรัก ก็เพราะพระองค์ทรงรักเราก่อน ดังนั้นเราทั้งหลายรักก็เพราะทรงรักเราก่อน พระเจ้าทรงสำแดงความรักแก่เราโดยได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์มาตายเพื่อไถ่บาปเราทั้งหลาย (1 ยน.4:10; รม.5:8) ความรักของพระเจ้าทำให้เราสามารถเริ่มต้นรักผู้อื่นก่อนได้เช่นกัน แม้เขาจะไม่น่ารัก พระบัญญัติที่เราได้มาจากพระองค์คือ ให้คนที่รักพระเจ้านั้นรักพี่น้องของตนด้วย พระเจ้าทรงให้พระวจนะเป็นเครื่องนำทางในการดำเนินชีวิตแก่เราด้วย เพราะพระองค์ทรงรักเราและต้องการให้เราหลีกพ้นจากหายนะ พบแต่สันติสุข

2.ผลสำหรับผู้ที่ได้รับ

ในพระธรรมตอนนี้ได้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของชีวิตเมื่อผู้ที่เชื่อได้รับความรักจากพระเจ้า ชีวิตของเขาจะไม่มีทางเหมือนเดิมอีกเลย สิ่งที่ชีวิตจะเปลี่ยนไปคือ

2.1 ปราศจากความกลัว (ข้อ 18ข)
…ในความรักนั้นไม่มีความกลัว แต่ความรักที่สมบูรณ์นั้นก็ได้ขจัดความกลัวเสีย
พระวจนะกล่าวว่า ความรักที่สมบูรณ์ได้ขจัดความกลัวออกไปเสีย ผู้ที่รู้จักพระเจ้าและรับความรักของพระองค์จะมีความมั่นคงในจิตใจ มีความกล้าหาญที่จะเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ด้วยกำลังที่มาจากพระเจ้า รวมถึงความกล้าหาญในการเข้าเฝ้าพระเจ้าในวันแห่งการพิพากษาด้วย


2.2 ไม่มีใจเกลียดชัง (ข้อ 20)ถ้าผู้ใดว่า "ข้าพเจ้ารักพระเจ้า" และใจยังเกลียดชังพี่น้องของตน ผู้นั้นก็เป็นคนพูดมุสา เพราะว่าผู้ที่ไม่รักพี่น้องของตนที่แลเห็นแล้ว จะรักพระเจ้าที่ไม่เคยเห็นไม่ได้
ความรักของพระเจ้าที่เติมเต็มในใจและการที่พระเจ้ามีเงื่อนไขให้เราให้อภัยผู้อื่นเหมือนที่พระเจ้าให้อภัยเรา ช่วยกำจัดความเกลียดชังออกไปจากใจของเรา พระวจนะกล่าวว่าผู้ที่ว่าตนรักพระเจ้า แต่เกลียดชังพี่น้องนั้นพูดมุสา ผู้ที่รักพระเจ้าอย่างแท้จริงจะสามารถเอาชนะความเกลียดชังได้ และตัดสินใจรักและให้อภัยได้แม้กระทั่งศัตรู (อพย.23:4-5; 1 ปต.3:9; มธ.6:14-15; 18:21-22) มิได้แปลว่า คนของพระเจ้าจะต้องทำสิ่งต่างๆ โดยโง่เขลาและขาดปัญญา แต่เพราะเขาถูกเปลี่ยนจากท่าทีภายในและแสดงออกมาเป็นภายนอก ทุกคนที่เชื่อได้รับการอภัยขากพระเจ้า เขาจึงให้อภัยผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย


2.3 เต็มด้วยความรักให้ผู้อื่น (ข้อ 21ข)
พระบัญญัตินี้เราทั้งหลายก็ได้มาจากพระองค์ คือว่าให้คนที่รักพระเจ้านั้นรักพี่น้องของตนด้วย
เมื่อเรารับความรักของพระเจ้าเข้ามาในชีวิตมากเท่าไร ยิ่งทำให้เรารักผู้อื่นได้มากเท่านั้น พระวจนะสอนให้เราแสดงออกในความรักต่อผู้อื่นด้วยการกระทำ (1ยน.3:18; กท.6:10) มิใช่เเพื่อประโยชน์ของเขา แต่เพื่อให้พระเจ้าได้รับเกียรติ

บางคนอาจจะให้ได้โดยปราศจากความรัก แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่เมื่อมีความรักจะปราศจากการให้ ดังนั้นเมื่อรับความรักของพระเจ้าแล้ว พระองค์เข้ามาเติมเต็มชีวิตของเรา เราจึงต้องส่งต่อไปสู่คนทั้งหลายด้วยความรักของพระเจ้า
ขอพระเจ้าอวยพระพรให้เราทั้งหลายเป็นผู้ที่เปี่ยมล้นด้วยความรักของพระองค์และส่งผ่านความรักออกไปให้กับผู้อื่นเสมอ เมื่อให้ความรักออกไป สิ่งที่จะได้กลับคืนมาคือความรัก และจะเป็นความรักอย่างไม่มีสิ้นสุด

06 กุมภาพันธ์ 2555

Acts_2:37-41_คริสตจักรที่ตอบสนองข่าวประเสริฐ

ศึกษาพระธรรมกิจการของอัครทูต
คริสตจักร “ต้นแบบ” ตามพระบัญชา
กิจการของอัครทูต 2:37-41

37 เมื่อคนทั้งหลายได้ยินแล้วก็รู้สึกแปลบปลาบใจ จึงกล่าวแก่เปโตรและอัครทูตอื่นๆว่า "พี่น้องเอ๋ย เราจะทำอย่างไรดี"
38ฝ่ายเปโตรจึงกล่าวแก่เขาว่า "จงกลับใจใหม่และรับบัพติศมา {พิธีใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ เล็งถึงการที่พระเจ้าทรงให้อภัยคนบาป} ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคนเพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปของท่านเสีย แล้วท่านจะได้รับพระราชทานพระวิญญาณบริสุทธิ์
39 ด้วยว่าพระสัญญานั้นตกแก่ท่านทั้งหลายกับลูกหลานของท่านด้วย และแก่คนทั้งหลายที่อยู่ไกล คือทุกคนที่องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเราทรงเรียกมาเฝ้าพระองค์"
40 เปโตรจึงกล่าวอีกหลายคำเป็นพยาน และได้เตือนสติเขาว่า "จงเอาตัวรอดจากชาตพันธุ์ที่คดโกงนี้เถิด"
41 คนทั้งหลายที่รับคำของเปโตรก็รับบัพติศมา ในวันนั้นมีคนเข้าเป็นสาวกประมาณสามพันคน
อารัมภบท
สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งในการศึกษาพระธรรมกิจการฯ ซึ่งเป็นคริสตจักรต้นแบบตามพระบัญชาของพระเจ้า เราได้ศึกษากันมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้เป็นตอนที่ 5 แล้วซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากครั้งที่แล้ว คือใน
กจ.2:22-36 คริสตจักรที่สื่อสารข่าวประเสริฐ

ในครั้งนี้จะเป็นผลของคริสตจักรที่ตอบสนองข่าวประเสริฐ ซึ่งเราจะเห็นการเกิดผลอย่างมากมาย ดังต่อไปนี้


1.ข้อสังเกตเพื่อใคร่ครวญ
เมื่ออัครทูตเปโตรสรุปลงท้ายในคราวก่อน ใน ข้อ 36 ว่า "… เหตุฉะนั้น ให้พงศ์พันธุ์อิสราเอลทั้งปวงทราบแน่นอนว่า พระเจ้าได้ทรงยกพระเยซูนี้ ซึ่งท่านทั้งหลายได้ตรึงไว้ที่กางเขนนั้น ทรงตั้งขึ้นให้เป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นพระคริสต์"
คำกล่าวนั้น มีผลต่อใจคนฟังอย่างมาก ในข้อ 37 บอกว่า เมื่อคนทั้งหลายได้ยินแล้วก็รู้สึกแปลบปลาบใจ นั่นคือ ลักษณะการตอบสนอง เมื่อได้ฟังข่าวประเสริฐเรื่องพระคริสต์ คือ การรู้สึก
“สำนึกบาป”
คำว่า “แปลบปลาบใจ” ความหมายในภาษาเดิมให้ความรู้สึกว่าเป็น
ความเจ็บปวดแบบเฉียบพลัน เหมือนถูกเข็ม หรือ ถูกสิ่งที่แหลมคมแทงทะลุเข้าไปถึงในใจ
เป็นลักษณะความเจ็บปวด แบบแสนสาหัส แบบเฉียบพลัน ในที่นี้จึงให้ความหมายว่า ผู้ที่กำลังฟังคำกล่าวของอัครทูตเปโตรขณะนั้นมีผล ทำให้ปวดร้าวอย่างเฉียบพลัน และ ตื่นตระหนกในสิ่งที่อัครทูตเปโตรได้กล่าวไป
เหตุที่ทำให้รู้สึกแปลบปลาบใจนั้น คือ การเป็นผู้ทำให้พระเยซู ต้องถูกมอบให้ถึงแก่ความตาย
เป็นความรู้สึกฟ้องผิดในการกระทำที่น่าละอายของตนที่มอบพระเยซูผู้ทรงเป็นพระคริสต์ พระมาซีฮา หรือ พระผู้ช่วยให้รอดที่พระเจ้าส่งมาให้เพื่อช่วยเหลือพวกเขาแท้ ๆ
เป็นความรู้สึกฟ้องผิดระคนกับความกลัวที่จะต้องถูกพิพากษาลงโทษ โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่า พระเยซูคริสต์ที่พวกเขามีส่วนมอบพระองค์ให้ศัตรู ปลงพระชนม์นั้น ทรงเป็นขึ้นมาจากความตายแล้ว โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่า พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ และ ปัจจุบันทรงประทับอยู่บนสวรรค์
โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่า พระเยซูทรงถูกยกขึ้นให้เป็นทั้งองค์พระเป็นพระเจ้า และ เป็นพระคริสต์ ตามคำกล่าวของอัครทูตเปโตรที่ได้กล่าวใน ข้อ 22-36 ซึ่งได้พิจารณาในครั้งก่อนแล้ว
ผู้อ่านลองคิดดูเมื่อพวกเขาได้รู้ความจริงนี้ และ ความจริงนี้ก็ปรากฏต่อหน้าต่อเขา คือ การที่พวกเขาเห็นบรรดาผู้เชื่อรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ โดยมีหมายสำคัญที่สามารถพูดภาษาท้องถิ่นของพวกเขา ทั้ง ๆ ที่พูด ไม่เป็นมาก่อนเลย
การได้รู้ความจริง และ ประจักษ์ต่อหน้าต่อตาเช่นนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกแปลบปลาบใจ
คนยิวทั้งหลายได้รู้สึกสำนึกในบาปที่พวกเขาได้อายัดผู้ที่ไร้ความผิด มือทั้งสองของเขานั้นเปื้อนโลหิต เพราะได้ทำให้โลหิตของผู้ไร้ความผิด คือ พระเยซูคริสต์ ต้องตก ความรู้สึกฟ้องผิดนี้เองได้กดดันให้จิตใจรู้สึกอึดอัด
สิ่งนี้เป็นไปตามคำพยากรณ์ที่ถูกบันทึกไว้ใน เศคาริยาห์ 12:10 ว่า
"… ดังนั้นเมื่อเขาทั้งหลายมองดูเรา ผู้ซึ่งเขาเองได้แทงเขาจะไว้ทุกข์ เพื่อท่าน เหมือนคนไว้ทุกข์เพื่อบุตรคนเดียวของตน และร้องไห้ อย่างขมขื่นเพื่อท่าน เหมือนอย่างคนร้องไห้เพื่อบุตรหัวปีของตน"
นี่คือ ความรู้สึกปกติของคนที่บาปที่มีเมื่อรู้สึกสำนึก ถ้าคนใดทำผิดแล้วกลับไม่รู้สึกอะไรเลย นั่นไม่ได้แสดงอาการกลับใจจากบาป “การรู้สึกสำนึก” คือ สิ่งที่ควรมี คือ สิ่งที่ควรตอบสนองเมื่อได้ยินข่าวประเสริฐเรื่องของพระคริสต์
คำถามที่ใคร่ครวญ คือ ทำไมต้องรู้สึกสำนึกเมื่อได้ยินข่าวประเสริฐเรื่องพระคริสต์
คำตอบ คือ เพราะข่าวสารของพระคริสต์บ่งบอกให้รู้ว่า มนุษย์เราได้ทำผิดต่อพระเจ้า โดยกบฎ ดื้อดึง ไม่ยอมนบนอบต่อพระเจ้า
ก็เพราะข่าวสารของพระคริสต์ทำให้รู้ว่า เราเป็นคนบาปที่สมควรแก่ พระอาชญา
ก็เพราะข่าวสารของพระคริสต์ทำให้รู้ว่า เราจำเป็นต้องพึ่งพาพระคุณของพระเจ้า
ก็เพราะข่าวสารของพระคริสต์ทำให้เราสำนึกว่า ตนเป็นคนบาปที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากพระคริสต์
แท้จริงแล้ว แม้มนุษย์ทุกคนจะไม่ใช่เป็นผู้ปลงพระชนม์พระเยซู แต่ การปฏิเสธไม่ยอมรับพระองค์นั้น ก็มีค่าเท่ากัน
แม้มนุษย์ทุกคนจะไม่ได้สวมมงกุฎหนามที่ศีรษะของพระองค์ หรือ ดูหมิ่นพระองค์ขณะที่ถูกตรึงที่กางเขนก็ตาม แต่ก็ดูหมิ่นพระองค์มากมายโดยการปฏิเสธไม่ยอมรับพระองค์
แม้มนุษย์ทุกคนไม่ได้แทงที่สีข้างของพระองค์ แต่ก็ทำให้พระองค์ปวดร้าวพระทัยเมื่อปฏิเสธพระองค์
ดังนั้น เมื่อได้ยินข่าวสารของพระคริสต์ว่า พระองค์ต้องสิ้นพระชนม์เพราะบาปผิดของเรา และ เราไม่สามารถหลบหลีกจากโทษทัณฑ์แห่งบาปได้ สิ่งที่ควรตอบสนอง คือ การรู้สึกสำนึกบาป นี่คือ กระบวนการตอบสนองต่อการได้ยินได้ฟังเรื่องราวข่าวสารของพระคริสต์ที่พึงมี ที่จะนำไปสู่การได้รับชีวิตใหม่ ที่จะนำไปสู่การได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า
เพราะด้วยการรู้สึกสำนึกในความผิด ทำให้ขวนขวายที่การช่วยเหลือ
ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ด้วยความรู้สึกแปลบปลาบใจ ซึ่งเป็นอาการของ การรู้สึกสำนึก ปลายข้อ 37 บอกต่อไปว่า..."พี่น้องเอ๋ย เราจะทำอย่างไรดี"
คนที่สำนึกต้องมีอาการของการอยากเปลี่ยนแปลง อยากแก้ไข อยากปรับปรุง
การรู้สึกสำนึกไม่ใช่การตกอยู่ในการปรักปรำ การรู้สึกสำนึกไม่ใช่ยังคงพอใจที่จะอยู่ในสภาพเดิม ๆ พวกเขารู้สึกแปลบปลาบใจเมื่อได้ยินสิ่งที่อัครทูตเปโตรพูด และ ไม่อาจอยู่เฉยได้ จนต้องกล่าวออกมาว่า เราจะทำอย่างไรดี
นั่นคือ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน การสำนึกเป็นกระบวนการในความคิดที่มีเหตุมีผล
เป็นการตัดสินใจอย่างเต็มใจ อย่างยอมรับในความผิด
การสำนึกในความผิดเป็นกระบวนการสู่การกลับใจใหม่เพื่อรับการยกโทษบาป การรู้สึกสำนึกผิดนั้น แตกต่างไปจากการรู้สึกปรักปรำ
การสำนึกผิดนำไปสู่การได้รับอภัยโทษและรับการช่วยเหลือ ในขณะที่ การปรักปรำนั้น หยุดอยู่แต่เพียงความรู้สึกกดดัน และ รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง
ขอบพระคุณพระเจ้าที่พระวจนะพระเจ้าบอกชัดเจนว่า พระเจ้าทรงยอมรับคนที่รู้สึกสำนึกผิด และ พร้อมจะช่วยเหลือเสมอ
สดุดี 34:18...พระเจ้าทรงอยู่ใกล้ผู้ที่จิตใจฟกช้ำ และ ทรงช่วยผู้ที่จิตใจสำนึกผิด สดุดี 51:17...เครื่องบูชาที่พระเจ้าทรงรับได้คือจิตใจที่ ชอกช้ำ จิตใจที่สำนึกผิดและ ชอกช้ำนั้น ข้าแต่พระเจ้า พระองค์มิได้ทรงดูถูก

ข้อคิด คือ การรู้สึกสำนึกผิดอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอที่จะรับความรอด แต่ต้องกลับใจใหม่ด้วย

คำแนะนำในภาคปฎิบัติของอัครทูตเปโตรในข้อ 38 ฝ่ายเปโตรจึงกล่าวแก่เขาว่า "จงกลับใจใหม่และรับบัพติศมา {พิธีใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ เล็งถึงการที่พระเจ้าทรงให้อภัยคนบาป} ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคนเพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปของท่านเสีย แล้วท่านจะได้รับพระราชทานพระวิญญาณบริสุทธิ์
คำว่า “กลับใจใหม่” ความหมายในภาษาเดิมหมายถึง การเปลี่ยนแปลงทิศทางไปสู่ทางใหม่
เป็นคำเดียวกันที่ใช้ใน กิจการฯ 3:19 ซึ่งใช้คำว่า “หันกลับ”
เหตุฉะนั้นท่านทั้งหลายจงหันกลับและตั้งใจใหม่ เพื่อพระเจ้าจะทรงลบล้างความผิดบาปของท่านเสีย เพื่อวาระพักผ่อนหย่อนใจจะได้มาจากพระพักตร์พระเจ้า
นั่นคือ สาระสำคัญของการกลับใจใหม่ เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น สำหรับมนุษย์ทุกคน ไม่มียกเว้น
เพราะพระคัมภีร์บอกชัดเจนว่า ไม่มีใครสักคนได้รับการยกเว้นไม่ต้อง รายงานชีวิตของตนกับพระเจ้า ดังนั้น มนุษย์จึงต้องจัดการกับชีวิตของตนให้เรียบร้อยก่อนถึงวันนั้น
นั่นคือ การหันทิศทางชีวิตให้ถูกต้อง หรือ กลับใจใหม่ นั่นเอง ซึ่งสิ่งนี้มนุษย์ไม่อาจทำได้ด้วยตัวเองหากปราศจากพระคุณพระเจ้า
ตัวอย่างยูดาส แม้ว่าเขาได้รู้สึกสำนึกบาป แต่ไม่เป็นเหตุให้มาถึงซึ่งความรอด เขารู้สึกผิดที่ได้อายัดพระเยซูคริสต์จึงนำเงินที่ได้มาจากการอายัดไปโยนทิ้งในพระวิหารและไปผูกคอตายตกลงมาไส้แตก (มธ.27:5,กจ.1:16-19)แม้จะสำนึกผิดแต่ไม่กลับใจจึงไม่ได้รับการยกโทษบาปจากพระเจ้า
การกลับใจใหม่ที่แท้จริงต้องแสดงออกมาเป็นการกระทำ ตามที่อัครทูตเปโตรเรียกร้องให้ผู้เชื่อกระทพคือการบัพติศมาในน้ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังจากเหตุการณ์นี้มีคนจำนวนมากกลับใจใหม่และรับบัพติศมาในน้ำจำนวนมากประมาณ 3,000 คน ในข้อ 41

2.ข้อคิดสะกิดใจ
จากพระธรรมตอนนี้มีข้อคิดใน2สิ่งคือ

สิ่งแรกคือเราต้องรับช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์(38-39)
สิ่งที่2คือ ไม่รับอิทธิพลของโลก(40-41)

นี่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อได้ยินข่าวสารของพระคริสต์ ซึ่งเราสังเกตได้อย่างชัดเจนตลอดหนังสือกิจการฯ ว่า เมื่อกลับใจใหม่ ไม่เพียงแต่จะรับบัพติศมาด้วยน้ำ ยังรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ เริ่มต้นที่ห้องชั้นบน ผู้เชื่อ 120 คนได้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ
นี่คือ ตัวอย่างของคริสตจักรสมัยแรกที่ผู้เชื่อรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ นอกเหนือจากการรับบัพติศมาด้วยน้ำ
และ หมายสำคัญที่บ่งบอกว่า ได้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ ก็คือ การพูดภาษาต่าง ๆ ดังที่เราได้พิจารณาผ่านมาแล้วในกิจการฯ 2
เมื่อพระวิญญาณเทลงมามีผลทำให้คนเหล่านั้นเริ่มต้นพูดภาษาต่าง ๆ ตามที่พระวิญญาณทรงโปรดให้พูด
อัครทูตเปโตรกล่าวใน ข้อ 39...
ด้วยว่าพระสัญญานั้นตกแก่ท่านทั้งหลายกับลูกหลานของท่านด้วยและแก่คนทั้งหลายที่อยู่ไกล คือทุกคนที่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของเราทรงเรียกมาเฝ้าพระองค์"
การรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ จึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่ตามมาเมื่อ ตอบสนองข่าวสารของพระคริสต์ ดังนั้น หากเราจะเป็นคนหนึ่งที่ตอบสนองต่อข่าวสารของพระคริสต์ อย่างสมบูรณ์ จึงต้องตอบสนองเชื่อฟังด้วยการรับพระวิญญาณบริสุทธิ์
การรับพระวิญญาณบริสุทธิ์นี้ เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิตคริสเตียน แต่หลังจากนั้น ต้องมีการเต็มล้นด้วยพระวิญญาณเสมอ ๆ จนเป็นลักษณะชีวิตของเรา
ดังคำสั่งใน เอเฟซัส 6:18 ที่บอกว่า จงเต็มด้วยพระวิญญาณ ซึ่ง หมายถึงประสบการณ์ที่ควรเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยไป
ฉะนั้นแต่ก่อนจะเต็มล้นนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่จำเป็นมากในชีวิตคริสเตียน มีผลทำให้เรารู้จักพระเยซูคริสต์มากยิ่งขึ้น ดังที่พระเยซูได้ตรัสไว้ใน ยอห์น 15:26 ว่า …
แต่เมื่อองค์พระผู้ช่วยที่เราจะใช้มาจากพระบิดาหาท่านทั้งหลาย คือ พระวิญญาณแห่งความจริงผู้ทรงมาจากพระบิดานั้น ได้เสด็จมาแล้ว พระองค์ก็จะทรงเป็นพยานให้แก่เรา
มีผลทำให้เรานมัสการพระเจ้าด้วยจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
ยอห์น 4: 24 บอกว่า พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ และผู้ที่นมัสการพระองค์ ต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง
มีผลในการใช้ของประทานเพื่อการรับใช้ (1คร.12:8-11)
มีผลทำให้สื่อข่าวสารพระคริสต์ออกไปอย่างมีฤทธิ์เดช (กจ.1:8)
มีผลทำให้เราเข้าใจพระคัมภีร์ได้ดียิ่งขึ้น (ยน.14:26,16:13)



มีผลต่อการดำเนินชีวิตโดยสำแดงผลของพระวิญญาณทั้ง 9 ประการ(กท.5:22-23)


มีผลทำให้รับการทรงนำจากพระเจ้าได้ดียิ่งขึ้น ดังประสบการณ์ของ คริสตจักรในยุคแรกที่รับการทรงนำ(กจ.13:2)
การรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ และ มีชีวิตที่เต็มล้นด้วยพระวิญญาณ นี่เอง จึงเป็นเคล็ดลับให้เราดำเนินชีวิตอย่างมีชัยชนะ
ดังนั้น จึงไม่ควรมีใครสักคนที่ได้รับข่าวสารของพระคริสต์แล้วปฏิเสธ ไม่ตอบสนองอย่างครบถ้วน ตอบสนองอย่างครบถ้วน จึงต้องไม่เพียงแต่รู้สึกสำนึกในความผิด กลับใจใหม่ ยอมรับการยกโทษแสดงออกด้วยการรับบัพติศมาด้วยน้ำ ยังต้องรับ บัพติศมาด้วยพระวิญญาณด้วย
นอกจากนี้สิ่งที่เป็นข้อคิดอีกประการคือ การไม่รับอิทธิพลของโลก
แท้จริงแล้วคริสตชนควรจะส่งอิทธิพลที่ดีไปสู่โลก เป็นเกลือและแสงสว่างแห่งโลก(มธ.5) แต่เราไม่ควรให้โลกมีอิทธิพลเหนือเรา เปรียบเทียบภาพคือ คริสตชนต้องเป็นเรือที่อยู่บนน้ำแต่ไม่ใช่ให้น้ำมาอยู่บนเรือ ไม่เช่นนั้นเรือก็จะอับปางได้
1ทิโมธี 1:19 จงยึดความเชื่อไว้ และมีจิตสำนึกว่าตนชอบ ซึ่งข้อนี้บางคนได้ละทิ้งเสีย ความเชื่อของเขาจึงอับปางลง
ข้อ 40 บอกว่า เปโตรก็กล่าวอีกหลายคำเป็นคำพยาน จากนั้นก็ได้ เตือนสติว่า "จงเอาตัวรอดจากชาตพันธุ์ที่คดโกงนี้เถิด"
คำว่า "คดโกง’"ให้ความหมายว่า วิปริต วิปลาส คดเคี้ยว มาจากคำที่ให้ความหมายว่า บกพร่อง ไม่ครบ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ลูกา 3:5 ใช้คำว่า “ทางคด” เมื่อกล่าวถึงงานของยอห์นซึ่งเป็นผู้ เตรียมทางให้พระคริสต์ว่า หุบเขาทุกแห่งจะถมให้เต็ม ภูเขาและเนินทุกแห่งจะให้ต่ำลง ทางคดจะกลายเป็นทางตรง และทางที่สูง ต่ำๆ จะเป็นทางราบ
ส่วนความหมายของคำว่า “เอาตัวรอด” ในภาษาเดิมหมายถึง การรักษาตัวให้ปลอดภัย
นี่คือ สิ่งสำคัญของคริสตจักรที่ตอบสนองข่าวประเสริฐ คือ การไม่รับอิทธิพลของโลก แต่ไม่ได้หมายความว่า แยกตัวออกจากกันไม่เกี่ยวข้องกัน
เพราะเราพบความจริงว่า ผู้เชื่อในยุคนั้น ได้มีบทบาทสำคัญนำคนมากมายมารับพระคุณความรักของพระเจ้า
ถ้าไม่ได้นำตัวออกไปส่งอิทธิพลที่ดีจะนำคนมากมายมาพบพระคุณพระเจ้าได้อย่างไร
ดังนั้น การที่อัครทูตเปโตรบอกเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ให้เราแยกตัวออก ไม่เกี่ยวข้องข้องแวะกับคนในโลกนี้ แต่หมายถึง ไม่ให้รับอิทธิพลที่ไม่ดีตรงกันข้ามให้ส่งอิทธิพลที่ดีออกไป
1 ยอห์น 2:15-17 บอกว่า “อย่ารักโลกหรือสิ่งของในโลก” หมายความว่า อย่ามีใจพันผูกเสน่หาทั้งคนในโลกและสิ่งของในโลก เพราะถ้ารักโลก ความรักต่อพระบิดาก็ไม่อยู่ในผู้นั้น
อีกทั้งโลกกับสิ่งยั่วยวนในโลกก็กำลังล่วงไป ไม่จีรังยั่งยืน
ในวันนี้เราต้องพึ่งพาพระวิญญาณบริสุทธฺ์ิ เพราะเป็นสิ่งที่พระเยซูคริสต์มอบไว้สำหรับผู้เชื่อทุกคนเป็นดังผู้ช่วยในการดำเนินชีวิต
คำถามที่เราควรจะใคร่ครวญในวันนี้คือ
1.ในวันนี้เราได้พึ่งพาพระวิญญาณบริสุทธฺ์ในการดำเนินชีวิตในทุกเรื่องหรือไม่ เราต้องเปิดโอกาสให้พระวิญญาณทำงานผ่านชีวิตของเรา


2.อิทธิพลของโลกในปัจจุบัน มีสิ่งใดบ้างที่มีผลกระทบต่อชีวิตของเรา ทำให้เราห่างไกลจากความเชื่อในพระเจ้า เมื่อเราทราบแล้วให้เราออกห่างจากสิ่งเหล่านั้น


3.ข้อสรุปเพื่อประยุกต์ใช้
ผมขอสรุปหลักการจากพระธรรมตอนนี้เป็นข้อๆ ดังนี้
1.กลับใจใหม่ยอมรับการยกโทษบาป(37-38)
2.รับช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์(38-39)
3.ไม่รับอิทธิพลของโลก(40-41)

ในวันนี้ขอให้เราเป็นคริสตจักรที่ตอบสนองต่อข่าวประเสริฐที่กลับใจใหม่ยอมรับการยกโทษจากพระเจ้า รับการช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธุิ์ และไม่รับอิทธิพลของโลกนี้มาทำให้เราห่างไกลจากความเชื่อ เราต้องรักษาชีวิตของเราให้รอดปลอดภัยจากสิ่งชั่วร้าย การที่เราถูกเลือกออกมาเป็นชุมชนคริสตจักรก็เป็นสิ่งที่ปกป้องเราให้พ้นจากสิ่งชั่วร้าย และคริสตจักรยังเป็นชุมชนแห่งพระพรที่เมื่อเราได้ผูกพันชีวิตของเรา เราจะเป็นผู้ที่ได้รับพระพร


ในสัปดาห์หน้า เราจะมาติดตามต่อในเรื่อง คริสตจักรที่เป็น"ชุมชนแห่งพระพร"ร่วมกัน