26 มกราคม 2554

โกหกสีขาว(White Lies) การกระทำสีเทาๆ

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน วันเวลาช่างผ่านไปไวเหมือนโกหก เพิ่งสวัสดีปีใหม่ไปไม่นาน ตอนนี้จะเข้าสู่เดือนที่สองของปี 2011 แล้ว ได้ข้อคิดว่า เราคงจะบริหารเวลาให้ดีไม่เช่นนั้น วันเวลาจะผ่านไปอย่างเสียเปล่า เราก็จะมาเสียใจและเสียดายเวลาไม่ได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้

ผมมีโอกาสได้คุยกับพี่น้องคริสเตียน มีคำถามประเด็นร่วมสมัย คือ เรื่อง โกหกสีขาว ผิดพระคัมภีร์หรือไม่


ที่มาของการโกหกสีขาว (White Lies) เป็น การโกหกด้วยเจตนาดี เพื่อถนอมความรู้สึกและรักษาน้ำใจ แทนที่จะบอกความจริงที่เชื่อว่าผู้ฟังคงรับไม่ได้ออกไป บางครั้งการโกหกในลักษณะนี้เป็นการพูดเพื่อให้กำลังใจอีกฝ่าย เรียกได้ว่าเป็นการโกหกเพื่อทำให้ผู้อื่นมีความสุขนั่นเอง


การ รู้จักโกหกเพื่อเข้าสังคมนั้น ส่งผลให้บุคคลนั้นๆ เป็นที่ชื่นชอบของคนในสังคมมากกว่าผู้ที่พูดแต่ความจริงเพราะการเข้าสังคม บางครั้งจำเป็นต้องปรุงแต่คำพูดซึ่งต่างไปจากความรู้สึกที่แท้จริงเพื่อให้ คู่สนทนาสบายใจและประทับใจ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ใส่หน้ากากเข้าหากัน”


พอล เอ๊กแมน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งศึกษาเรื่องการโกหกมานานกว่า 40 ปี ลงความเห็นว่า มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการโกหกได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจเรื่องการโกหกจะเป็นผลดีต่อชีวิต ฉะนั้นเราต้องรู้จักแยกแยะข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็นเวลาที่มีคนมาพูดอะไรให้เราฟัง อย่าเพิ่งเชื่อทันทีต้องใช้สติปัญญาในการกลั่นกรองข้อมูลอย่างถูกต้อง เราคงต้องมาพิจารณาดูประเภทของการโกหกก่อน



  1. โกหกเพื่อปกป้องตนเอง เป็นการโกหกเพื่อการเอาตัวรอด เช่น กลัวความผิด กลัวถูกทอดทิ้ง กลัวเสียเกียรติ กลัวการเผชิญหน้า กลัวความผิดหวัง ฯลฯ การโกหกประเภทนี้ในบางครั้งอาจร้ายแรงถึงขั้นโยนความผิด ใส่ความผู้อื่น เป็นพยานเท็จ ฯลฯ

  2. โกหกเพื่อหวังผลประโยชน์ เป็นการโกหกเพื่อทำให้ตนเองได้รับการยอมรับ ความไว้วางใจ ได้โอกาสในการทำงาน มักเป็นในรูปของการปลอมแปลงข้อมูลทางคุณวุฒิ คุณสมบัติ ฐานะการเงิน ฯลฯ

  3. โกหกตนเอง มักเกิดกับคนที่สูญเสียความมั่นใจ สับสน และหวาดกลัวความจริง คนประเภทนี้มักสร้างเรื่อง หลอกตนเองให้คลายจากความทุกข์ชั่วขณะ เช่นหลอกว่าคนรักที่ทอดทิ้งไปยังมีใจให้อยู่เสมอ และสุดท้ายคนเหล่านี้มักโทษตนเอง อาจเลยไปถึงขั้นทำร้ายร่างกายตนเองหรือตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า เพราะไม่สามารถรับความเป็นจริงได้

ดังนั้นในความคิดของผม คิดว่าการโกหกเป็นเพียงการหลีกเลี่ยงความจริง เมื่อคนที่ฟังทราบความจริงแล้วจะเสียความรู้สึกมากกว่าพูดตั้งแต่ครั้งแรก เราต้องใช้สติปัญญาในการพูดความจริงให้เหมาะสม หรือมีวิธีการสื่อสารที่ดีมากกว่าตัดสินใจเลือกวิธีการโกหกแบบบริสุทธิ์ใจหรือโกหกสีขาว



สิ่งที่ผมคิดในใจก็คือ การโกหกไม่ว่าจะสีอะไร ก็ผิดหลักการพระคัมภัร์อยู่แล้ว
เพราะพระคัมภีร์บอกว่า
มัทธิว 5:37
จริงก็จงว่าจริง ไม่ก็ว่าไม่ พูดแต่เพียงนี้ก็พอ คำพูดเกินนี้ไป มาจากความชั่ว {หรือ มารร้าย}

ในพระบัญญัติของพระจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสไว้อย่างชัดเจน เช่น ในเลวีนิติ
19:11 กล่าวว่า เจ้าอย่าลักทรัพย์
หรือโกง หรือมุสาต่อกัน

ดังนั้นชัดเจนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องถอดรหัส ตีความเกินเลยไปกว่านั้น การโกหกไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ถือเป็นความผิดบาปทั้งสิ้น เพราะบาปทุกบาปเป็นสิ่งที่ร้ายแรงในสายพระเนตรพระเจ้าหากเรามีเจตนาดีในการพูด แต่ใช้วิธีโกหก
นั่นก็ถือเป็นความผิดบาป เพราะพระเจ้าสนใจวิธีการ เนื้อหาและท่าที ทั้ง 3 สิ่งนี้จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่เราต้องพิจารณาให้พระเจ้าทรงชันสูตร
เพราะการโกหกนำมาซึ่งการปรับโทษ


เรายังเห็นตัวอย่างที่พระเจ้าไม่พอพระทัยเมื่ออานาเนียและสัปฟีรามุสาและพระองค์ลงโทษพวกเขาอย่างรุนแรง (กจ.5:3-5)
หรือแม้ว่าตัวอย่างการโกหกของบุคคลที่ถูกบันทึกในพระคัมภีร์


ตัวอย่างการโกหก Classic ของอับราฮัมโกหกต่ออาบีเมเลคพระราชาแห่งเกราร์ก็ ว่าซาราห์ ภรรยาเป็นน้องสาว (ปฐก.2:2-10) ซึ่งส่งผลเสียมากกว่าผลดีในการปกป้องภรรยาและตนเอง



กรณีนี้ สามีหลายท่านก็มักจะใช้ไม้เด็ดในการบอกกับคนอื่นที่มาถามไถ่ถึงภรรยาก็บอกว่าเป็นน้องสาว เรียกว่า “เป็นโสดเฉพาะคืนนี้”



ในทางตรงกันข้าม บางครั้ง การพูดแบบซื่อ ๆ ก็อาจจะไม่ดีเสมอไป โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ประสงค์ดีต่อเรา


มีคำกล่าวว่า "ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนที่พูดความจริงอาจจะตายได้" เช่น โยเซฟ แทบเอาตัวไม่รอดเมื่อเล่าเรื่องความฝันของตนให้พี่ชายฟัง(ปฐก.37)


ข้อคิดคือ เราจึงควรใช้สติปัญญาในการพูดด้วย ทั้งนี้ โดยไม่บิดเบือนความจริง ดังที่พระเยซูกล่าวไว้


มัทธิว 10:16 "ดูเถิด เราใช้พวกท่านไปดุจแกะอยู่ท่ามกลางหมาป่า เหตุฉะนั้นจงฉลาดเหมือนงู และไม่มีภัยเหมือนนกพิราบ



การพูดต้องพูดให้ถูกที่ ถูกเวลาและถูกคนว่าพูดกับใครด้วย



องค์ประกอบในการพิจารณา
กล่าวโดยสรุป การพิจารณาว่า คำพูดใดเป็นการโกหกหรือไม่ ควรคำนึงถึงองค์ประกอบ
3 สิ่ง ดังนี้



  1. แรงจูงใจ พระเจ้าสนพระทัยแรงจูงใจของเราแรงจูงใจที่ถูกต้อง คือ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของตนเองเป็นหลักแต่เห็นแก่ผู้อื่น ด้วยเห็นแก่สิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม เราเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนจากกรณีของนางผดุงครรภ์ช่วยโมเสสให้รอดจากการถูกฆ่า (อพย .1:1-21) ไม่ได้พูดอย่างตรงไปตรงมาไม่โกหกแต่ใช้สติปัญญาทั้งนี้ เพราะยำเกรงพระเจ้า

  2. วิธีการ วิธีการที่เราเลือกควรจะไม่ขัดแย้งกับหลักการพระคัมภีร์ เช่น ในการทำธุรกิจ เช่น พูดไม่ครบหรือถึงขนาดพูดโกหก แต่คริสเตียนทำเช่นนั้นไม่ได้ แท้ที่จริง การแข่งขันในการทำงานเพื่อให้ได้ผลกำไรไม่ผิด แต่ต้องไม่ใช้วิธีการที่ผิดเช่นโกหก

  3. จิตสำนึก เรารักษาจิตสำนึกชอบเสมอในการทำทุกสิ่ง รวมทั้งในการพูดด้วย เพราะหากเราเลือกวิธีการเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่คับขันด้วยการโกหก จิตสำนึกของเราจะเริ่มเสื่อมไป เพราะคิดว่าจะไม่เป็นไร โกหกครั้งแรกได้ก็มีครั้งต่อๆไป จิตสำนึกเราจะถูกครอบงำโดยมารได้ง่าย 1 ทิโมธี 4:2 ซึ่งมาจากการหน้าซื่อใจคดของคนที่โกหก คือคนที่จิตสำนึกเป็นทาสของมาร


ข้อแนะนำในภาคปฎิบัติ


1.
เลือกใช้วิธีการที่ถูกต้องที่สุดอย่างสุดความสามารถโดยไม่ประนีประนอม

2.
พิจารณาแรงจูงใจเบื้องหลังของผู้ถาม และตอบอย่างเหมาะสม หรือบางครั้งไม่ตอบเสียดีกว่าตอบไปอย่างบิดเบือน


3.
ในการสื่อสารควรคิดพิจารณาอย่างรอบคอบของผลที่จะตามมาก่อนจะสื่อสาร หากไม่แน่ใจ ควรขอคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์และมีความเข้าใจพระคัมภีร์

4.
คิดก่อนที่จะพูดทุกครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องที่สำคัญ

5.
พูดความจริงด้วยใจรัก โดยเห็นแก่ความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง


ดังนั้นการโกหกสีขาว เป็นการกระทำสีเทาๆ ที่เราต้องพิจารณาในหลักการของพระเจ้า เราควรจะยึดมันในหลักการ จริงก็ว่าจริง ไม่ก็ว่าไม่ พูดความจริงจากใจจริง สิ่งที่ตามมาคือ ความจริงที่แจ้งไป เราเอาใจใครทุกคนไม่ได้ บางครั้งสิ่งที่ถูกใจอาจจะไม่ถูกต้อง เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำอะไรสีเทาๆ ครึ่งๆกลางๆ จะทำไม่ได้


ขอพระเจ้าอวยพระพรในการยึดมั่นในหลักความจริงของพระองค์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น