17 มกราคม 2560

อัครทูตกับการปฏิรูปสังคม

บทความเรื่อง อัครทูตกับการปฏิรูปสังคม โดย  Haiyong Kavilar

การฟื้นฟูเป็นความใฝ่ฝันของคริสเตียนหลายๆคน บางคนก็จินตนาการภาพของการฟื้นฟูว่า จะมีการเก็บเกี่ยวเพิ่มทวีขึ้นและผู้คนมากมายจะเข้าสู่คริสตจักร บางคนก็จินตนาการถึงภาพของการอัศจรรย์และการรักษาโรคที่จะมีขึ้นอย่างแพร่หลาย บางคนก็จินตนาการว่าผู้คนมากมายจะมีประสบการณ์กับฤทธิ์เดชของพระวิญญาณบริสุทธิ์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีและผมเองก็อยากให้สิ่งเหล่านี้เพิ่มทวียิ่งขึ้น

การฟื้นฟูเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างชีวิตชีวาให้กับคริสตจักร และเป็นสิ่งที่ผู้เชื่อมักจะคาดหวังให้เกิดขึ้น แต่ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญด้วยก็คือความยั่งยืนของการฟื้นฟู จากประวัติศาสตร์คริสตจักรที่ผ่านมา ก็มีการฟื้นฟูเกิดขึ้นในบางประเทศ ซึ่งการฟื้นฟูในแต่ละประเทศก็มีระยะเวลาที่แตกต่างกัน บางประเทศก็มีการฟื้นฟูที่ยั่งยืนและยาวนาน แต่บางประเทศก็มีการฟื้นฟูเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ การทำให้การฟื้นฟูมีความยั่งยืนจึงนับเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ 
 ซินดี้ เจคอปส์(Cindy Jacobs) 
  
ซินดี้ เจคอปส์ (ผู้เผยพระวจนะชื่อดัง) ได้เขียนไว้ในหนังสือปฏิรูปประชาชาติว่า การฟื้นฟูอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพื่อให้การฟื้นฟูเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือการปฏิรูปสังคม ถ้าค่านิยมหรือวัฒนธรรมของสังคมยังขัดกับหลักการของอาณาจักรพระเจ้า แม้จะมีการฟื้นฟูเกิดขึ้น การฟื้นฟูก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ไม่นาน สาเหตุหนึ่งที่ประเทศอเมริกาเคยประสบกับการฟื้นฟูที่ยาวนาน ด้านหนึ่งเป็นเพราะว่าหลักการของอาณาจักรพระเจ้าได้เข้าไปมีส่วนในกฎหมายและสังคมในระยะแรกของประเทศ

ในหนังสือวิถีชีวิตเหนือธรรมชาติของ คริส แวลโลตัน ได้กล่าวถึงนิยามของอัครทูตไว้ว่า 
พระเยซูยืมคำว่าอัครทูตมาจากชาวโรมัน อัครทูตเป็นนายพลแห่งโรมันซึ่งรับผิดชอบเจาะจงในการเปลี่ยนวัฒนธรรมของประเทศที่เขาพิชิต เขาจะสอนประชาชนที่ถูกยึดครองถึงวิถีชีวิต กฎหมายและธรรมเนียมโรมัน ชาวโรมันเข้าใจว่าจะไม่สามารถคงการปกครองเหนือผู้คนเว้นแต่จะสามารถใช้วัฒนธรรมโรมันในที่เหล่านี้ ในทำนองเดียวกัน ต้องมีวัฒนธรรมอัครทูตเพื่อคงอาณาจักรพระเจ้าไว้ในกลุ่มคนของพระเจ้า คล้ายกับนายพลโรมันในสมัยของพระองค์ พระเยซูทรงส่งอัครทูตของพระองค์ออกไปไม่เพียงแต่รักษาคนป่วย ให้คนรับความรอดและประกาศข่าวประเสริฐ แต่ยังตั้งวัฒนธรรมแห่งอาณาจักรสวรรค์ท่ามกลางผู้คนที่มีประสบการณ์การอัศจรรย์เหล่านี้

ปีเตอร์ แวกเนอร์ (นักวิชาการชื่อดังด้านการเพิ่มพูนคริสตจักร) ได้กล่าวถึงอัครทูตไว้ 3 ชนิดคือ
1.อัครทูตแนวตั้ง (เน้นตั้งคริสตจักร)
2.อัครทูตแนวนอน (เน้นเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ)
3.อัครทูตในที่ทำงาน (เน้นการปฏิรูปสังคม)

(รายละเอียดของอัครทูตชนิดต่างๆดูได้ที่ http://pattamarot.blogspot.com/2016/12/blog-post_19.html)

บนภูเขาทั้ง7 อัครทูตสองชนิดแรกจะมีพันธกิจบนภูเขาศาสนา แต่อัครทูตในที่ทำงานจะมีพันธกิจบนภูเขาอื่นๆ  อัครทูตในที่ทำงานจะเป็นอัครทูตที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อให้วัฒนธรรมและค่านิยมของสังคมสะท้อนถึงอาณาจักรพระเจ้า พันธกิจของอัครทูตในที่ทำงานจะเป็นพันธกิจนอกกำแพงโบสถ์ อันเป็นพันธกิจที่จะช่วยให้การฟื้นฟูเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน

(รายละเอียดและเทคนิคการจำชื่อภูเขาทั้ง7 ดูได้ที่ http://pattamarot.blogspot.com/2017/01/7.html )

ความแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างคริสตจักรบนรากฐานของศิษยาภิบาลกับคริสตจักรบนรากฐานของอัครทูต คือ รากฐานของศิษยาภิบาลจะเน้นที่โบสถ์ การเก็บเกี่ยวและการดึงดูดคนเข้าสู่การนมัสการ แต่รากฐานของอัครทูตจะเน้นที่อาณาจักรพระเจ้า การปฏิรูปสังคมและการส่งคนออกไปเปลี่ยนแปลงประชาชาติ
พันธกิจแบบศิษยาภิบาลจะเน้นเพียงภูเขาศาสนา แต่พันธกิจแบบอัครทูตจะมุ่งไปยังภูเขาทั้ง7 อย่างไรก็ตาม แม้มุมมองแบบอัครทูตจะเน้นการปฏิรูปสังคม แต่มุมมองแบบอัครทูตก็ไม่ได้ทอดทิ้งการเก็บเกี่ยว เพราะการเก็บเกี่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปสังคม พันธกิจตามมุมมองแบบอัครทูตจะไม่ได้จำกัดเพียงแต่งานในโบสถ์ แต่ยังครอบคลุมถึงการทำงานอาชีพเพื่อเข้าไปมีส่วนในการพัฒนาสังคม

ในกรอบความคิดแบบศิษยาภิบาลได้แบ่งผู้เชื่อเป็นผู้รับใช้กับฆราวาส โดยผู้รับใช้จะเป็นผู้ที่ทำพันธกิจต่างๆในโบสถ์ ส่วนฆราวาสเป็นผู้ที่เข้ามาร่วมนมัสการพระเจ้า แต่ในกรอบความคิดแบบอัครทูต ผู้เชื่อทุกคนนับเป็นผู้รับใช้พระเจ้า โดยบางคนจะทำพันธกิจในโบสถ์ แต่หลายคนจะถูกส่งออกไปทำพันธกิจในที่ทำงาน และไม่ว่าผู้เชื่อจะทำงานในโบสถ์หรือนอกโบสถ์ ผู้เชื่อทุกคนก็มีส่วนในการนำอาณาจักรพระเจ้าเข้ามายังสังคม โอ ขอให้การฟื้นฟูเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนเถิด

หนังสือแนะนำเพิ่มเติม
ปฏิรูปประชาชาติ เขียนโดย ซินดี้ เจคอปส์
The Church in the Workplace เขียนโดย C. Peter Wagner

ที่มาของรูป

รูป ซินดี้ เจคอปส์ จาก https://www.arsenalbooks.com/Cindy-Jacobs-s/1863.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น