27 พฤศจิกายน 2561

ก้าวเดินตามคำเผยพระวจนะอย่างมีปัญญา


ในวาระที่ผ่านมา คริสตจักรหลายท้องถิ่นก็เริ่มสอนและฝึกฝนให้ผู้คนใช้ของประทานแห่งการเผยพระวจนะ ในระยะๆแรก ผู้นำก็มักจะฝึกฝนให้สมาชิกเผยพระวจนะให้กัน แต่ในระยะต่อมา สิ่งสำคัญที่จะต้องว่ากันต่อก็คือ ถ้าได้รับคำเผยพระวจนะแล้ว ควรจะทำอะไรต่อไป? 

บางคำเผยพระวจนะก็เป็นถ้อยคำแห่งการหนุนใจ แต่บางถ้อยคำก็เป็นเหมือนป้ายบอกทางที่ชี้เส้นทางให้กับเรา ถ้าเป็นถ้อยคำแห่งการหนุนใจ เมื่อรับฟังแล้วก็อบอุ่นหัวใจ แต่ถ้าเป็นถ้อยคำที่ชี้เส้นทางบางอย่าง แล้วคนเราจะต้องทำประการใด? มีข้อพระคัมภีร์ข้อหนึ่งที่ได้แนะนำเส้นทางสู่ความสำเร็จผ่านการเผยพระวจนะ 
(2 พงศาวดาร 20:20) “ยู​ดาห์​และ​ชาว​เย​รู​ซา​เล็ม​เอ๋ย จง​ฟัง​ข้าพ​เจ้า จง​วาง​ใจ​ใน​พระ​ยาห์​เวห์​พระ​เจ้า​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย แล้ว​ท่าน​จะ​ได้​รับ​ความ​มั่น​คง จง​เชื่อ​บรร​ดา​ผู้​เผย​พระ​วจนะ​ของ​พระ​องค์ แล้ว​ท่าน​จะ​ได้​รับ​ความ​สำ​เร็จ” 
ก้าวแรกสู่ความสำเร็จตามข้อพระคัมภีร์นี้ก็คือการเชื่อในเหล่าผู้เผยพระวจนะ บางครั้งบางคราวเมื่อชีวิตคนเรามาถึงทางแยกว่าจะต้องอาศัยอยู่ในที่ไหนหรือควรจะประกอบการงานอาชีพใด ถ้อยคำของการเผยพระวจนะก็เป็นแสงสว่างสำคัญที่คนเราควรจะเชื่อฟัง จริงอยู่ว่าถ้อยคำจากพระคัมภีร์ก็เป็นแสงสว่างที่เรียกร้องให้คนเราประพฤติตาม แต่ถ้อยคำจากเหล่าผู้พระวจนะก็เป็นอีกแสงสว่างหนึ่งที่คนเราต้องประพฤติตามด้วย 
บางคนเมื่อได้รับถ้อยคำเผยพระวจนะก็อาจจะลังเลที่ต้องประพฤติตาม เพราะบางครั้งถ้อยคำเผยพระวจนะดูเหมือนจะชี้ทางให้ทำงานหรือธุรกิจบางอย่างที่น่าจะมีรายได้น้อย บางครั้งก่อนที่จะได้รับคำเผยพระวจนะ ก็มีทางเลือกมากมาย บางทางเลือกก็เป็นงานที่ให้ค่าตอบแทนสูง บางทางเลือกก็เป็นงานที่ให้ค่าตอบแทนน้อย แต่เมื่อถ้อยคำเผยพระวจนะมาถึง ถ้อยคำดังกล่าวกลับชี้ทางให้เลือกงานที่น่าจะให้ผลตอบแทนน้อย สมมติถ้าถ้อยคำเผยพระวจนะชี้ให้เลือกงานที่ค่าตอบแทนสูง คนเราก็อาจเลือกงานนั้นอย่างไม่ลังเล แต่พอถ้อยคำเผยพระวจนะชี้ให้เลือกงานที่ค่าตอบแทนน้อย คนเราก็อาจจะลังเลใจ
 บางครั้งบางคราว คนเราก็ประเมินว่าเส้นทางนี้น่าจะให้ค่าตอบแทนมาก แต่พอก้าวเดินเข้าจริงๆ ปรากฏว่าเส้นทางนี้กลับให้ค่าตอบแทนน้อยกว่าที่คิด หรือบางทีคนเราก็ประเมินว่าเส้นทางนั้นน่าจะให้ค่าตอบแทนที่น้อย แต่พอลองก้าวเดินไปเรื่อยๆกลับกลายเป็นว่าเส้นทางนั้นให้ค่าตอบแทนที่สูงมากๆ  หลายครั้งหลายคราสิ่งที่คนเราคาดการไว้ในตอนแรกก็กลับพลิกผัน เส้นทางที่คาดการไว้ว่าจะรุ่งเรืองกลับรุ่งริ่ง ทว่าเส้นทางที่คาดการว่าคงรุ่งริ่งแต่วันเวลาผ่านไปกลับรุ่งเรือง

หลายครั้งสิ่งที่คนเราคาดการหรือประเมินไว้ในตอนแรกก็อาจะผิดพลาดได้เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นการเชื่อฟังและก้าวเดินตามถ้อยคำเผยพระวจนะจึงเป็นทางเลือกที่ประเสริฐยิ่ง ที่จริงคนเราควรเชื่อฟังถ้อยคำเผยพระวจนะมากกว่าการคาดการหรือการประเมินโดยความคิดของเราเอง
 แต่สิ่งสำคัญของการก้าวเดินตามขั้นตอนนี้ก็คือ การเชื่อฟังเหล่าผู้เผยพระวจนะ ถ้าดูจากข้อพระคัมภีร์นี้แล้ว ข้อพระคัมภีร์นี้ไม่ได้เขียนว่าจงเชื่อผู้เผยพระวจนะเพียงคนเดียว แต่จงเชื่อในเหล่าผู้เผยพระวจนะ บางครั้งเมื่อคนเราจะต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ คนเราไม่ควรจะตัดสินใจบนพื้นฐานของคำเผยพระวจนะแค่อันเดียว แต่ควรพิจารณาดูจากการสำแดงอื่นๆและถ้อยคำเผยพระวจนะอื่นๆด้วย เป็นการโง่เขลาถ้าหากคนเราตัดสินใจเรื่องสำคัญๆบนพื้นฐานของคำเผยพระวจนะแค่อันเดียวหรือแค่คนเดียว
 ถ้าหากเพื่อนๆกำลังตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ แต่มีถ้อยคำเผยพระวจนะชี้ทางแค่ถ้อยคำเดียว เพื่อนๆสามารถทูลขอให้พระเจ้าประทานถ้อยคำอื่นๆเสริมหรือให้พระองค์ประทานการสำแดงอื่นๆมาก็ได้ แต่สมมติถ้าการสำแดงทั้งหลายได้ชี้ให้เลือกเส้นทางที่น่าจะรุ่งริ่ง เพื่อนๆก็ควรจะเดินบนเส้นทางที่น่าจะรุ่งริ่งนี้ และแล้วเมื่อเพื่อนๆเชื่อฟังองค์พระผู้เป็นเจ้า ความรุ่งริ่งก็จะแปรเปลี่ยนเป็นความรุ่งเรืองในแบบนี้เพื่อนๆนึกไม่ถึงมาก่อน

(1 โครินธ์ 2:9ดัง​ที่​มี​เขียน​ไว้​ว่า  “สิ่ง​ที่​ตา​ไม่​เห็น หู​ไม่​ได้​ยิน และ​สิ่ง​ที่​ใจ​มนุษย์​คิด​ไม่​ถึง คือ​สิ่ง​ที่​พระ​เจ้า​ทรง​จัด​เตรียม​ไว้​สำ​หรับ​คน​ทั้ง​หลาย​ที่​รัก​พระ​องค์”
  
พระคุณจงทวีคูณแด่เพื่อนๆ
PhiliP Kavilar

24 พฤศจิกายน 2561

สุขสันต์วันศุกร์รับพร(Blessed Friday)

สุขสันต์วันศุกร์รับพร(Blessed Friday) ไม่ใช่วันศุกร์มืดมน(Black Friday)
ที่มาของวันศุกร์มืดมน(Black Friday) 
Black Friday จะตรงกับวันศุกร์ในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี หลังจากวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) ของประเทศสหรัฐอเมริกา
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเมืองฟิลาเดลเฟีย ช่วงเวลาหลังจากวันขอบคุณพระเจ้าของทุกปีจะมีประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อของเพื่อมอบให้แก่กันในช่วงเทศกาลคริสต์มาสอย่างคับคั่งถึงขั้นเกิดปัญหาจราจล ทำให้ตำรวจหลายนายเรียกวันนี้ว่า"Black Friday" เพราะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อระงับเหตุต่างๆ ในเมือง ต่อมามีการพูดถึงเหตุการณ์ และคำพูดของตำรวจจนเป็นที่นิยมสุดท้ายกลายเป็นชื่อเทศกาล Black Friday
ต่อมาจึงใช้เทศกาล Black Friday เพื่อเป็นการลด แลก แจก แถม เพื่อส่งเสริมการขายของโดยห้างร้านต่างๆ เรียกว่า Black Friday Sale

ผมชอบชื่อเมืองฟิลาเดลเฟีย เพราะมาจากคำในภาษากรีก ให้ความหมายว่า รักกันฉันท์พี่น้อง เช่นเดียวกับชื่อคริสตจักรเมืองฟิลาเดลเฟียในพระธรรมวิวรณ์ บทที่ 3

สำหรับวันศุกร์นี้จึงไม่ขอรับคำว่า วันศุกร์มืดมน เพราะความสว่างนั้นมาโดยพระเยซูคริสต์ ทรงเป็นความหวังแห่งพระสิริ ที่ฉายส่องให้ความมืดมน สับสนในชีวิตของเราหมดไป พระองค์ทรงประสงค์ให้เราเดินติดตามเพื่อเราจะได้รับพร
“อีกครั้งหนึ่งพระเยซูตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “เราเป็นความสว่างของโลก ผู้ที่ตามเรามาจะไม่เดินในความมืด แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต”” (ยอห์น‬ ‭8:12‬ )
อีกทั้ง‭พระเยซูทรงมาเพื่อ SALE ลด แลก แจก แถม ให้กับทุกคนดังนี้
S: Salvation ความรอดแบบลดราคาแต่ไม่ลดคุณค่า
A: Attitude ทัศนคติที่แลกเปลี่ยนใหม่
L: Love ความรักที่ได้รับแจกแบบไม่มีเงื่อนไข
E : Everlasting life ชีวิตนิรันดร์แถมให้ทันทีที่เชื่อ
ลูกา 2:14 “ พระ สิริ จง มี แด่ พระ เจ้า ใน ที่ สูงสุด ส่วนบน แผ่นดิน โลก สันติ สุข จง มี ท่ามกลาง มนุษย์ ทั้ง ปวง ซึ่ง พระ องค์ ทรง โปรด ปราน นั้น”

จากบทความเรื่อง Christmas SALE- ลด แลก แจก แถม

14 พฤศจิกายน 2561

พื้นฐานภาษาฮีบรู (อ่านแปปเดียวจบ)

ภาษาฮีบรูเป็นภาษาดั้งเดิมของพระคัมภีร์ และด้วยเหตุที่ภาษาฮีบรูมีพยัญชนะอยู่ 22 ตัว ก็มีบางท่านเสนอว่า ภาษาฮีบรูเป็นภาษาที่ง่ายต่อการเรียนรู้ ยิ่งถ้าเทียบกับภาษาไทยแล้ว ภาษาฮีบรูก็อาจจะเรียนรู้ง่ายกว่าภาษาไทยมาก นอกจากนี้ภาษาฮีบรูแบบดั้งเดิมก็ไม่มีสระด้วย (ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่)
ภาษาฮีบรูไม่มีสระ
        ภาษาฮีบรูแบบดั้งเดิมจะเขียนเป็นพยัญชนะติดกันโดยไม่มีสระ ทั้งนี้วิธีการออกเสียงของคำแต่ละคำในภาษาฮีบรูจะขึ้นอยู่กับว่าคนรุ่นก่อนๆออกเสียงกันยังไง เช่นคำว่า Shalom ถ้าดูจากภาษาฮีบรูดั้งเดิมจะเขียนเป็น Sh-l-m (ไม่มีสระ) แต่เนื่องด้วยคนรุ่นก่อนออกเสียง Sh-l-m เป็น Shalom ด้วยเหตุนี้ Sh-l-m จึงออกเสียงว่า Shalom
ภาษาฮีบรูมีการแยกแยะเพศ
       คำศัพท์แต่ละคำในภาษาไทยจะไม่มีการแยกเพศ ทว่า ในแผ่นดินโลกนี้ก็มีบางภาษาที่มีการแยกแยะเพศ (เช่น ภาษาฝรั่งเศส) ในภาษาฝรั่งเศส ศัพท์บางคำจะเป็นเพศชาย แต่ศัพท์บางคำก็เป็นเพศหญิง ภาษาฮีบรูก็เป็นภาษาหนึ่งที่มีการแยกแยะเพศในแต่ละคำ
การผันรูปเป็นพหูพจน์
ในภาษาอังกฤษ การผันรูปเป็นพหูพจน์จะทำง่ายๆโดยการเติม s เข้าไป ส่วนภาษาฮีบรูการผันรูปเป็นพหูพจน์จะทำโดยการเติมเสียง –im (อิม) หรือ –oth (โอ้ด) เข้าไป เช่นคำว่า Mitvah ที่แปลว่า “พระบัญญัติ” หากต้องการจะผันคำนี้เป็นรูปพหูพจน์ก็จะผันเป็น Mitvoth ที่แปลว่า “พระบัญญัติหลายๆข้อ”
ภาษาฮีบรูเป็นภาษาภาพ
       พยัญชนะฮีบรูแต่ละพยัญชนะจะเป็นภาพสะท้อนของสิ่งต่างๆ เช่น พยัญชนะ Alef ให้ภาพของ “เขาสัตว์” อันเป็นสัญลักษณ์ของพละกำลัง ส่วนพยัญชนะ Beth จะให้ภาพของ “บ้าน” เมื่อนำอักษร Alef กับ Beth มารวมกันก็จะได้คำว่า Av ที่แปลว่า “คุณพ่อ” ซึ่งถ้าดูจากตัวอักษรแล้ว คำว่า “คุณพ่อ” หมายถึงผู้มีพละกำลังในบ้าน ในภาษาฮีบรูนี้ศัพท์หลายคำจะมีความหมายตามภาพของพยัญชนะที่มาประกอบกัน
คำศัพท์ฮีบรูเบื้องต้น
Elohim แปลว่า “พระเจ้า”
ศัพท์คำนี้ตามความหมายจะสื่อถึง “ผู้ที่มีสภาพเทวะหรือผู้ที่มีสภาพเหนือมนุษย์” นอกจากนี้ศัพท์คำนี้ยังเป็นรูปพหูพจน์อีกด้วย (รูปพหูพจน์ในภาษาฮีบรูจะลงท้ายด้วย –im (อิม) หรือ –oth (โอท) )
ในประเด็นนี้ บางท่านจึงเสนอว่า คำศัพท์ “พระเจ้า” ในภาษาฮีบรูมีนัยยะที่สะท้อนถึง ตรีเอกานุภาพ
Adonai แปลว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” หรือ “เจ้านาย”
ศัพท์คำนี้หมายถึง “เจ้านาย” ซึ่งในภาษาฮีบรูแล้วศัพท์คำนี้จะใช้กับมนุษย์หรือใช้กับพระเจ้าก็ได้ ในกรณีที่เราเป็นลูกน้องของมนุษย์ มนุษย์ที่เป็นนายของเรา เราก็สามารถเรียกเป็น “Adonai” ได้ ทั้งนี้พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่มักจะเขียนให้พระเยซูมีฐานะเป็น Adonai(เจ้านาย) ของผู้เชื่อ และเขียนให้พระเจ้ามีฐานะเป็น Av(คุณพ่อ) ของผู้เชื่อ
YHWH เป็นพระนามของพระเจ้า ซึ่งมีการถกเถียงกันอยู่ว่าต้องออกเสียงอย่างไร
ภาษาฮีบรูแบบดั้งเดิมเป็นภาษาที่ไม่มีสระ และพระนามของพระเจ้าก็ประกอบไปด้วย พยัญชนะ 4 ตัวเขียนติดกันคือ พยัญชนะ Yod + Hey + Vav + Hey เนื่องด้วยการไม่มีสระ จึงไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าคำนี้ต้องออกเสียงอย่างไร สำหรับคนฮีบรูรุ่นก่อน ก็ไม่ได้ออกเสียงคำนี้ตรงๆ แต่จะออกเสียงเป็น Adonai แทน เพราะคนยิวมีความยำเกรงต่อคำนี้มาก จึงไม่กล้าออกเสียง YHWH เลย กระนั้นบางคนก็เสนอว่า คำนี้ควรออกเสียงเป็น “เยโฮวาห์” แต่นักวิชาการบางคนกลับเห็นว่า ออกเสียง “ยาห์เวห์” อาจจะถูกต้องกว่า อนึ่ง แม้ว่าหลายครั้งคนยิวจะออกเสียง YHWH เป็น Adonai แต่บางทีคนยิวก็ออกเสียง YHWH เป็น Yah (ยาห์) โดยที่ไม่เติม Weh (เวห์)
Shalom แปลว่า “สันติสุข” หรือ “ครบบริบูรณ์”
ศัพท์คำนี้ในภาษาฮีบรูให้ภาพของความครบบริบูรณ์ที่ไม่มีรูรั่ว รากของศัพท์คำนี้สื่อถึงการชดเชยหรือการซ่อมแซม ด้วยเหตุนี้คำว่า Shalom จึงหมายถึงความครบบริบูรณ์ที่มีพื้นฐานมาจากการชดเชยหรือการซ่อมแซม ความครบบริบูรณ์นี้จะใช้กับความสัมพันธ์ของมนุษย์หรือใช้กับความกินดีอยู่ดีก็ได้ นอกจากนี้คำว่า Shalom ยังเป็นคำศัพท์ที่คนยิวใช้ทักทายกันด้วย ในการทักทายนี้จึงเป็นการอวยพรที่ว่า ขอให้รูรั่วต่างๆในชีวิตได้รับการซ่อมแซมจนครบบริบูรณ์

ชาโลม
Philip Kavilar

01 พฤศจิกายน 2561

อวยพรแบบคนยิว (รวยแบบยิว)

        จากสถิติที่ผ่านมามีความชัดเจนว่า คนยิวเป็นชนชาติที่ประสบความสำเร็จในด้านการเงินมากเป็นอันดับต้นๆของโลก มีการประมาณการไว้ว่า 35% ของเศรษฐีในอเมริกาก็มีเชื้อชาติยิว ซึ่งนับว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก เหตุที่คนยิวสามารถก้าวหน้าในด้านการเงินได้ก็มีอยู่หลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่ผมขอเสนอในที่นี้คือปัจจัยที่เกี่ยวกับการอวยพร

ในขนบของศาสนาคริสต์ เมื่อผู้คนเจอกันหรือลาจากกันก็จะอวยพรด้วยประโยค “พระเจ้าอวยพร” หรือ “God Bless You” ทว่าในธรรมเนียมยิวซึ่งมีรากส่วนหนึ่งมาจากพระคัมภีร์ ผู้คนจะไม่ได้อวยพรด้วยคำว่า “พระเจ้าอวยพร” แต่จะอวยพรหรือลาจากกันด้วยคำว่า “Shalom” ซึ่งแปลว่า “ครบบริบูรณ์”
        หมายเหตุ คำว่า Shalom มีคำแปลหลายคำ ซึ่งหลายครั้งจะแปลเป็นคำว่า “สันติสุข” แต่ด้านหนึ่งก็แปลว่า “ครบบริบูรณ์” ก็ได้ ทั้งนี้ในภาษาเดิมคำว่า Shalom ให้ภาพของ “ความครบถ้วนบริบูรณ์” เหมือนกับกำแพงที่ไร้รูรั่ว ซึ่งในทัศนะของผมแล้ว คำว่า “ครบบริบูรณ์” จะให้ภาพของคำว่า Shalom ได้ดีกว่าคำว่า “สันติสุข”

คำว่า Shalom นี้ตามความหมายแล้วสามารถใช้ได้ทั้งในเรื่องของหัวใจและเรื่องของความเป็นอยู่ก็ได้ เมื่อคำว่า Shalom ใช้ในบริบทของหัวใจจะมีความหมายถึง หัวใจที่ครบบริบูรณ์และไร้รูรั่ว (หมายถึง ไร้ความวิตก ไร้ความหวาดผวา ไร้ความสิ้นหวัง ฯลฯ) หัวใจที่มี Shalom เป็นหัวใจที่สะท้อนถึงความเปรมปรีดิ์ มีทั้งความเชื่อ ความหวัง และความรัก อยู่เต็มเปี่ยม

คำว่า Shalom ถ้าใช้กับบริบทของความเป็นอยู่ จะหมายถึงความเป็นอยู่ที่ครบบริบูรณ์และไร้รูรั่ว ซึ่งไม่ขัดสน ไม่เจ็บป่วย แต่มีความมั่งคั่ง มีสุขภาพแข็งแรง และมีชื่อเสียงดี
กรอบความคิดของคนยิวเป็นกรอบความคิดที่ไม่ได้แบ่งแยกโลกฝ่ายวิญญาณกับโลกฝ่ายกายภาพ ดังนั้นเมื่อคนยิวอวยพรด้วยคำว่า Shalom การอวยพรนี้เป็นการอวยพรให้เกิดความครบบริบูรณ์ทั้งในฝ่ายวิญญาณและฝ่ายกายภาพ การอวยพรนี้ไม่ได้เป็นการขอให้มีแต่ความสุขในฝ่ายวิญญาณเท่านั้น แต่เป็นการอวยพรที่ขอให้ความเป็นอยู่ในฝ่ายกายภาพมีความครบสมบูรณ์ด้วย

ในกรอบความคิดของคนต่างชาติ บางครั้งก็มีแนวคิดที่ว่า “พระเจ้าประทานสันติสุขในวิญญาณเท่านั้น” แนวคิดนี้สอนว่า คนเราสามารถมีความสุขในวิญญาณได้แม้ว่าความเป็นอยู่ภายนอกอาจจะย่ำแย่ แนวคิดนี้อาจฟังดูดี แต่ด้านหนึ่งก็เป็นกรอบความคิดแบบคนต่างชาติที่เน้นแต่ฝ่ายวิญญาณ ในกรอบความคิดของคนต่างชาติ คำว่า Shalom จะให้ความหมายถึง “ความครบบริบูรณ์ในหัวใจเท่านั้น” ทว่าในภาษาเดิมและในกรอบความคิดของคนยิวแล้ว คำว่า Shalom จะให้ความหมายถึง ความครบบริบูรณ์ทั้งในหัวใจและความเป็นอยู่

คำว่า Shalom ยังมีรากศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับคำว่า Shalam ซึ่งหมายถึง “การชดเชยหรือการซ่อมแซม” ดังนั้นคำว่า Shalom จึงหมายถึง ความครบบริบูรณ์ที่มีนัยยะของการชดเชยหรือการซ่อมแซม
ในธรรมบัญญัติ เมื่อผู้หนึ่งไปขโมยทรัพย์สินของผู้หนึ่ง เมื่อถูกจับได้แล้ว ผู้ที่ขโมยจะต้องชดเชยให้กับเจ้าของ โดยผู้ที่ขโมยจะต้องชดเชยให้มากยิ่งกว่าทรัพย์สินที่ขโมยไป คำว่า ชดเชย นี้เองคือรากศัพท์ของคำว่า Shalom ทั้งนี้ การชดเชยตามธรรมบัญญัติเป็นการชดเชยที่ล้ำเลิศกว่าสภาพเดิม เช่น ก่อนหน้านี้หากเรามีโคอยู่ 1 ตัว แล้วถ้าโคของเราถูกขโมยไปขาย หากคนที่ขโมยถูกจับ คนที่ขโมยจะต้องชดเชยให้เราคืนด้วยโค 5 ตัว เห็นได้ว่าภายหลังการชดเชย สภาพที่เป็นหลังการชดเชย (โค 5 ตัว) ก็ล้ำเลิศกว่าสภาพก่อนชดเชยเสียอีก (โค 1 ตัว)

ด้วยเหตุนี้ คำว่า Shalom จึงหมายถึงความครบบริบูรณ์ที่มีพื้นเพจากการซ่อมแซมให้ดีกว่าสภาพเดิม คนเราเมื่อดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการทำธุรกิจ บางครั้งบางคราวก็เกิดรูรั่วขึ้น ซึ่งรูรั่วที่เกิดขึ้นนี้บางทีก็เกิดขึ้นโดยไม่ได้เจตนาให้เกิด แต่เมื่อ Shalom มาถึง รูรั่วเหล่านี้ก็ได้รับการชดเชยหรือซ่อมแซมจนเกิดเป็นความครบบริบูรณ์ เมื่อคนยิวอวยพรผู้หนึ่งว่า Shalom การอวยพรนี้มีนัยยะที่ว่า ขอให้รูรั่วต่างๆ (รูรั่วนี้อาจหมายถึง ปัญหาการเงิน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาทางอารมณ์ ฯลฯ) ได้รับการชดเชยและซ่อมแซมจนดียิ่งกว่าเดิม 

       ในขนบของศาสนาคริสต์แบบต่างชาติ ถ้อยคำของอวยพรคือ “ขอพระเจ้าอวยพร” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่เน้นในมิติของพระพร แต่ในธรรมเนียมยิว ถ้อยคำของการอวยพรคือ Shalom อันเป็นถ้อยคำที่เน้นในมิติของการซ่อมแซมจนครบบริบูรณ์

      การอวยพรด้วยคำว่า Shalom เป็นวัฒนธรรมที่ฝังแน่นกับชาวยิวมาช้านาน ด้วยเหตุนี้เมื่อประชากรของพระเจ้าเกิดรูรั่วขึ้น พวกเขาจะไม่วิตกกับรูรั่วมากจนเกินไป แต่พวกเขาจะมีความหวังอยู่เสมอว่า รูรั่วต่างๆนั้นจะได้รับการซ่อมแซม เมื่อประชากรของพระเจ้าเกิดทำสิ่งใดพลาด แม้ว่าความพลาดจะก่อให้เกิดรูรั่ว แต่ประชากรของพระเจ้าก็จะมีความหวังอยู่เสมอว่าพระเจ้าจะเข้ามาซ่อมแซมรูรั่วนั้น และถ้ารูรั่วเหล่านั้นได้รับการซ่อมแซมแล้ว สภาพภายหลังการซ่อมแซมก็จะดียิ่งกว่าสภาพเดิมเสียอีก เพราะพระเจ้าทรงเป็นความครบบริบูรณ์ของพวกเรา (Adonai Shalom)


ชาโลม
Philip Kavilar