26 มกราคม 2554

โกหกสีขาว(White Lies) การกระทำสีเทาๆ

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน วันเวลาช่างผ่านไปไวเหมือนโกหก เพิ่งสวัสดีปีใหม่ไปไม่นาน ตอนนี้จะเข้าสู่เดือนที่สองของปี 2011 แล้ว ได้ข้อคิดว่า เราคงจะบริหารเวลาให้ดีไม่เช่นนั้น วันเวลาจะผ่านไปอย่างเสียเปล่า เราก็จะมาเสียใจและเสียดายเวลาไม่ได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้

ผมมีโอกาสได้คุยกับพี่น้องคริสเตียน มีคำถามประเด็นร่วมสมัย คือ เรื่อง โกหกสีขาว ผิดพระคัมภีร์หรือไม่


ที่มาของการโกหกสีขาว (White Lies) เป็น การโกหกด้วยเจตนาดี เพื่อถนอมความรู้สึกและรักษาน้ำใจ แทนที่จะบอกความจริงที่เชื่อว่าผู้ฟังคงรับไม่ได้ออกไป บางครั้งการโกหกในลักษณะนี้เป็นการพูดเพื่อให้กำลังใจอีกฝ่าย เรียกได้ว่าเป็นการโกหกเพื่อทำให้ผู้อื่นมีความสุขนั่นเอง


การ รู้จักโกหกเพื่อเข้าสังคมนั้น ส่งผลให้บุคคลนั้นๆ เป็นที่ชื่นชอบของคนในสังคมมากกว่าผู้ที่พูดแต่ความจริงเพราะการเข้าสังคม บางครั้งจำเป็นต้องปรุงแต่คำพูดซึ่งต่างไปจากความรู้สึกที่แท้จริงเพื่อให้ คู่สนทนาสบายใจและประทับใจ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ใส่หน้ากากเข้าหากัน”


พอล เอ๊กแมน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งศึกษาเรื่องการโกหกมานานกว่า 40 ปี ลงความเห็นว่า มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการโกหกได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจเรื่องการโกหกจะเป็นผลดีต่อชีวิต ฉะนั้นเราต้องรู้จักแยกแยะข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็นเวลาที่มีคนมาพูดอะไรให้เราฟัง อย่าเพิ่งเชื่อทันทีต้องใช้สติปัญญาในการกลั่นกรองข้อมูลอย่างถูกต้อง เราคงต้องมาพิจารณาดูประเภทของการโกหกก่อน



  1. โกหกเพื่อปกป้องตนเอง เป็นการโกหกเพื่อการเอาตัวรอด เช่น กลัวความผิด กลัวถูกทอดทิ้ง กลัวเสียเกียรติ กลัวการเผชิญหน้า กลัวความผิดหวัง ฯลฯ การโกหกประเภทนี้ในบางครั้งอาจร้ายแรงถึงขั้นโยนความผิด ใส่ความผู้อื่น เป็นพยานเท็จ ฯลฯ

  2. โกหกเพื่อหวังผลประโยชน์ เป็นการโกหกเพื่อทำให้ตนเองได้รับการยอมรับ ความไว้วางใจ ได้โอกาสในการทำงาน มักเป็นในรูปของการปลอมแปลงข้อมูลทางคุณวุฒิ คุณสมบัติ ฐานะการเงิน ฯลฯ

  3. โกหกตนเอง มักเกิดกับคนที่สูญเสียความมั่นใจ สับสน และหวาดกลัวความจริง คนประเภทนี้มักสร้างเรื่อง หลอกตนเองให้คลายจากความทุกข์ชั่วขณะ เช่นหลอกว่าคนรักที่ทอดทิ้งไปยังมีใจให้อยู่เสมอ และสุดท้ายคนเหล่านี้มักโทษตนเอง อาจเลยไปถึงขั้นทำร้ายร่างกายตนเองหรือตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า เพราะไม่สามารถรับความเป็นจริงได้

ดังนั้นในความคิดของผม คิดว่าการโกหกเป็นเพียงการหลีกเลี่ยงความจริง เมื่อคนที่ฟังทราบความจริงแล้วจะเสียความรู้สึกมากกว่าพูดตั้งแต่ครั้งแรก เราต้องใช้สติปัญญาในการพูดความจริงให้เหมาะสม หรือมีวิธีการสื่อสารที่ดีมากกว่าตัดสินใจเลือกวิธีการโกหกแบบบริสุทธิ์ใจหรือโกหกสีขาว



สิ่งที่ผมคิดในใจก็คือ การโกหกไม่ว่าจะสีอะไร ก็ผิดหลักการพระคัมภัร์อยู่แล้ว
เพราะพระคัมภีร์บอกว่า
มัทธิว 5:37
จริงก็จงว่าจริง ไม่ก็ว่าไม่ พูดแต่เพียงนี้ก็พอ คำพูดเกินนี้ไป มาจากความชั่ว {หรือ มารร้าย}

ในพระบัญญัติของพระจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสไว้อย่างชัดเจน เช่น ในเลวีนิติ
19:11 กล่าวว่า เจ้าอย่าลักทรัพย์
หรือโกง หรือมุสาต่อกัน

ดังนั้นชัดเจนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องถอดรหัส ตีความเกินเลยไปกว่านั้น การโกหกไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ถือเป็นความผิดบาปทั้งสิ้น เพราะบาปทุกบาปเป็นสิ่งที่ร้ายแรงในสายพระเนตรพระเจ้าหากเรามีเจตนาดีในการพูด แต่ใช้วิธีโกหก
นั่นก็ถือเป็นความผิดบาป เพราะพระเจ้าสนใจวิธีการ เนื้อหาและท่าที ทั้ง 3 สิ่งนี้จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่เราต้องพิจารณาให้พระเจ้าทรงชันสูตร
เพราะการโกหกนำมาซึ่งการปรับโทษ


เรายังเห็นตัวอย่างที่พระเจ้าไม่พอพระทัยเมื่ออานาเนียและสัปฟีรามุสาและพระองค์ลงโทษพวกเขาอย่างรุนแรง (กจ.5:3-5)
หรือแม้ว่าตัวอย่างการโกหกของบุคคลที่ถูกบันทึกในพระคัมภีร์


ตัวอย่างการโกหก Classic ของอับราฮัมโกหกต่ออาบีเมเลคพระราชาแห่งเกราร์ก็ ว่าซาราห์ ภรรยาเป็นน้องสาว (ปฐก.2:2-10) ซึ่งส่งผลเสียมากกว่าผลดีในการปกป้องภรรยาและตนเอง



กรณีนี้ สามีหลายท่านก็มักจะใช้ไม้เด็ดในการบอกกับคนอื่นที่มาถามไถ่ถึงภรรยาก็บอกว่าเป็นน้องสาว เรียกว่า “เป็นโสดเฉพาะคืนนี้”



ในทางตรงกันข้าม บางครั้ง การพูดแบบซื่อ ๆ ก็อาจจะไม่ดีเสมอไป โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ประสงค์ดีต่อเรา


มีคำกล่าวว่า "ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนที่พูดความจริงอาจจะตายได้" เช่น โยเซฟ แทบเอาตัวไม่รอดเมื่อเล่าเรื่องความฝันของตนให้พี่ชายฟัง(ปฐก.37)


ข้อคิดคือ เราจึงควรใช้สติปัญญาในการพูดด้วย ทั้งนี้ โดยไม่บิดเบือนความจริง ดังที่พระเยซูกล่าวไว้


มัทธิว 10:16 "ดูเถิด เราใช้พวกท่านไปดุจแกะอยู่ท่ามกลางหมาป่า เหตุฉะนั้นจงฉลาดเหมือนงู และไม่มีภัยเหมือนนกพิราบ



การพูดต้องพูดให้ถูกที่ ถูกเวลาและถูกคนว่าพูดกับใครด้วย



องค์ประกอบในการพิจารณา
กล่าวโดยสรุป การพิจารณาว่า คำพูดใดเป็นการโกหกหรือไม่ ควรคำนึงถึงองค์ประกอบ
3 สิ่ง ดังนี้



  1. แรงจูงใจ พระเจ้าสนพระทัยแรงจูงใจของเราแรงจูงใจที่ถูกต้อง คือ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของตนเองเป็นหลักแต่เห็นแก่ผู้อื่น ด้วยเห็นแก่สิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม เราเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนจากกรณีของนางผดุงครรภ์ช่วยโมเสสให้รอดจากการถูกฆ่า (อพย .1:1-21) ไม่ได้พูดอย่างตรงไปตรงมาไม่โกหกแต่ใช้สติปัญญาทั้งนี้ เพราะยำเกรงพระเจ้า

  2. วิธีการ วิธีการที่เราเลือกควรจะไม่ขัดแย้งกับหลักการพระคัมภีร์ เช่น ในการทำธุรกิจ เช่น พูดไม่ครบหรือถึงขนาดพูดโกหก แต่คริสเตียนทำเช่นนั้นไม่ได้ แท้ที่จริง การแข่งขันในการทำงานเพื่อให้ได้ผลกำไรไม่ผิด แต่ต้องไม่ใช้วิธีการที่ผิดเช่นโกหก

  3. จิตสำนึก เรารักษาจิตสำนึกชอบเสมอในการทำทุกสิ่ง รวมทั้งในการพูดด้วย เพราะหากเราเลือกวิธีการเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่คับขันด้วยการโกหก จิตสำนึกของเราจะเริ่มเสื่อมไป เพราะคิดว่าจะไม่เป็นไร โกหกครั้งแรกได้ก็มีครั้งต่อๆไป จิตสำนึกเราจะถูกครอบงำโดยมารได้ง่าย 1 ทิโมธี 4:2 ซึ่งมาจากการหน้าซื่อใจคดของคนที่โกหก คือคนที่จิตสำนึกเป็นทาสของมาร


ข้อแนะนำในภาคปฎิบัติ


1.
เลือกใช้วิธีการที่ถูกต้องที่สุดอย่างสุดความสามารถโดยไม่ประนีประนอม

2.
พิจารณาแรงจูงใจเบื้องหลังของผู้ถาม และตอบอย่างเหมาะสม หรือบางครั้งไม่ตอบเสียดีกว่าตอบไปอย่างบิดเบือน


3.
ในการสื่อสารควรคิดพิจารณาอย่างรอบคอบของผลที่จะตามมาก่อนจะสื่อสาร หากไม่แน่ใจ ควรขอคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์และมีความเข้าใจพระคัมภีร์

4.
คิดก่อนที่จะพูดทุกครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องที่สำคัญ

5.
พูดความจริงด้วยใจรัก โดยเห็นแก่ความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง


ดังนั้นการโกหกสีขาว เป็นการกระทำสีเทาๆ ที่เราต้องพิจารณาในหลักการของพระเจ้า เราควรจะยึดมันในหลักการ จริงก็ว่าจริง ไม่ก็ว่าไม่ พูดความจริงจากใจจริง สิ่งที่ตามมาคือ ความจริงที่แจ้งไป เราเอาใจใครทุกคนไม่ได้ บางครั้งสิ่งที่ถูกใจอาจจะไม่ถูกต้อง เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำอะไรสีเทาๆ ครึ่งๆกลางๆ จะทำไม่ได้


ขอพระเจ้าอวยพระพรในการยึดมั่นในหลักความจริงของพระองค์


13 มกราคม 2554

สอนอย่างพระเยซู เป็นครูจากชีวิต

มาระโก 6:34 ครั้นพระเยซูเสด็จขึ้นจากเรือแล้ว ก็ทรงเห็นประชาชนหมู่ใหญ่ และพระองค์ทรงสงสารเขา เพราะว่าเขาเป็นเหมือนฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง พระองค์จึงทรงสั่งสอนเขาเป็นหลายข้อหลายประการ

เนื่องในวันที่ 16 มกราคมของทุกปี เป็นวันครูแห่งชาติ ขอเทิดทูนพระคุณคุณครูทุกท่านและขอเป็นกำลังใจในการทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติ ที่ถ่ายทอดคำสอนจากชีวิต
รวมถึงคุณครูผู้สอนพระวจนะในคริสตจักรและครูรวีวารศึกษาในคริสตจักรเด็ก (ที่เรามักจะชอบเรียกว่า "ครูราวี-วานรศึกษา" ผู้ทำหน้าที่ตามราวี จับวานรคือเด็กๆที่ซนเป็นลิง วิ่งเล่นในโบสถ์ มาอบรมจนเป็นเด็กที่ดีในทางพระเจ้า)

ในครั้งนี้ ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชทานพระราชดำรัสในโอกาสที่ประธานกรรมการประสานงานส่วนภูมิภาค ภาค 2 สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ นำคณะผู้แทนครูจีน เข้าเฝ้าฯ ในวันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2524 ดังนี้

˜ “คำว่า "ครู" นั้นเป็นคำที่สูงยิ่ง เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับการเคารพบูชาได้ ฉะนั้น ได้ชื่อ หรือเรียกตัวว่าเป็นครู ก็จะต้องบำเพ็ญตนให้ดี บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ บำเพ็ญตนให้เป็นที่นับถือได้ เพราะว่าผู้ใดเป็นครูแล้วไม่บำเพ็ญตนให้เป็นที่นับถือได้ก็เท่ากับบกพร่อง”

˜ “ครูเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการและเป็นผู้ถ่ายทอดความประพฤติ วิธีประพฤติตน วิธีคิด และความดีงามทุกอย่าง ซึ่งจะสร้างให้บุคคลเป็นคนที่ดี เป็นคนที่ไม่เป็นภัยต่อผู้อื่น ตรงกันข้ามเป็นผู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อส่วนรวม และตัวเองก็จะได้รับประโยชน์ว่าเป็นคนที่เจริญ”

เราทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องมี ครูเป็นผู้อบรมสั่งสอน และพัฒนาชีวิตของเรา ตั้งแต่วัยเยาว์ บิดามารดาเปรียบเสมือนครูคนแรกที่วางรากฐานลักษณะชีวิตและลักษณะนิสัยให้แก่เรา ต่อมา ครูอาจารย์ก็เป็น ผู้สั่งสอน อบรม แนะนำเราให้มีความรู้ในวิทยาการสาขาต่างๆ

สำหรับในชีวิตก็ได้รับการถ่ายทอดตามแบบครูของตน

ในพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงทรงตรัสว่า ครูไม่เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ถ่ายทอดความประพฤติ วิธีประพฤติ วิธีคิดและความดีงามทุกอย่าง

ครูอาจารย์จึงเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างชีวิตของเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติต่อไป

ดังนั้น ครูอาจารย์จึงเป็นกลไกหลักและเป็นบุคคลสำคัญยิ่งที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า เพราะครูอาจารย์คือบุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย วิธีการต่างๆ

การสอนจึงไม่ใช่เพียงแค่ให้ความรู้แต่ต้องพัฒนาลักษณะชีวิต รวมทั้งสามารถคิด วิเคราะห์ และประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

ในพระวจนะของพระเจ้า ก็ได้กล่าวถึง ลักษณะการสอนของพระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ พระองค์ทรงใช้เวลาในการสั่งสอนสาวกประมาณ 3 ปี ก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ และใน 3 ปีแห่งการสั่งสอนนั้น

พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของครูที่ดี ใช้วิธีการสอนที่เกิดผล ทำให้ผู้รับการสอนจากพระองค์สามารถเติบโตขึ้นเป็นผู้ที่สามารถสั่งสอนผู้อื่นต่อไปได้ด้วย

2ทิโมธี 2:2 จงมอบคำสอนเหล่านั้น ซึ่งท่านได้ยินจากข้าพเจ้าต่อหน้าพยานหลายคน ไว้กับคนที่ซื่อสัตย์ที่สามารถสอนคนอื่นได้ด้วย

เราในฐานะของผู้เชื่อจึงต้องนำคำสอนของพระองค์มาใช้ในชีวิตประจำวันและสอนต่อไปให้ผู้เชื่อต่อไปเพราะเป็นพระมหาบัญชาของพระเจ้าที่ให้เราออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ

มัทธิว 28:19-20 19 เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ ให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติศมาในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ 20 สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้ นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค"

หากเราจะเป็นผู้สอน เราต้องเลียนแบบการสอนของพระเยซูคริสต์ พระองค์เป็นครูต้นแบบที่เราควรจะเรียนรู้จากพระองค์

ในครั้งนี้ ขอนำหลักการการสอนของพระองค์มาแบ่งปัน เป็นข้อคิดในชีวิต อันที่จริงมีหลายประการ แต่ขอสรุปเป็น 3 ข้อหลักๆดังนี้

1.สอนให้คิด วิเคราะห์ และประยุกต์ใช้เป็น

พระเยซูคริสต์ได้ใช้คำอุปมาเป็นวิธีการสอนสาวกอย่างหนึ่งในสมัยของพระองค์ เมื่อเหล่าศิษย์หรือประชาชนมาฟังคำสอนจากพระองค์นั้น ไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เหมือนดังสมัยนี้ ดังนั้น คำอุปมาจึงช่วยให้ผู้ฟังจดจำคำสอนได้ง่ายขึ้น และยังทำให้ผู้ฟังเห็นภาพและเข้าใจสิ่งที่พระองค์สื่อสารชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อพระองค์ทรงสอนสาวกด้วยคำอุปมา สิ่งนี้ก็จะกระตุ้นให้เขาฝึกคิดใคร่ครวญถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำอุปมานั้นอีกด้วย

นอกจากพระองค์ทรงฝึกให้พวกเขาคิดวิเคราะห์แล้วนั้น พระองค์ยังทรงสอนให้เขาประยุกต์ใช้ พระองค์ทรงสอนพระวจนะให้แก่สาวกของพระองค์ และทรงเป็นแบบอย่างในการทำพระราชกิจ เหล่าสาวกอยู่กับพระองค์และมีประสบการณ์ร่วมกับพระเยซูคริสต์ในการรับใช้คนทั้งปวง เช่น การวางมือรักษาโรค การถูกข่มเหงจากคนที่เกลียดชัง การเผชิญกับคนผีสิง เป็นต้น

พระเยซูคริสต์จึงเปิดโอกาสให้เขาได้ฝึกฝนในสิ่งที่เรียนรู้จากพระองค์ด้วยตัวของเขาเอง พระองค์เปิดโอกาสให้เขาได้ประยุกต์ใช้ความรู้ที่เรียนรู้จากการรับใช้ร่วมกับพระองค์ พระองค์ทรงพวกเขาไปรับใช้และให้กลับมารายงานพระองค์

2.สอนจากชีวิตที่เป็นแบบอย่าง

ในพระวจนะพระเจ้าก็ได้กล่าวไว้หลายข้อหลายตอน ย้ำให้ผู้สอนเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะคนมักจะทำตาม

ในสิ่งที่เรากระทำมากกว่าสิ่งที่เราพูด เหมือนข้อคิดที่กล่าวไว้ว่า "ชีวิตดังกว่าคำพูด"

สุภาษิต 29:19 สักแต่ใช้คำพูดเท่านั้นจะฝึกสอนคนใช้ไม่ได้เพราะถึงแม้เขาจะเข้าใจ แต่เขาก็ไม่ฟัง





พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สาวกของพระองค์ โดยผมขอยกตัวอย่างบางประการดังนี้

เมื่อพระองค์ทรงสอนศิษย์ของพระองค์เรื่องการถ่อมใจรับใช้คนทั้งปวง พระองค์ทรงล้างเท้าสาวก(ยน.13:4-5)

สาวกได้เห็นคำสอนของพระองค์ที่สำแดงออกเป็นวิถีชีวิตของพระองค์

3.สอนอย่างครบถ้วนสมดุล

ในการสอนนั้น เราจึงจำเป็นต้องสอนเขาอย่างครบถ้วนทั้ง 3 ด้านคือ ความรู้ คุณลักษณะชีวิต และทักษะ เพื่อจะส่งเสริมให้เขาประสบความสำเร็จได้สูงสุดตามศักยภาพของเขา

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างในสอนศิษย์ของพระองค์อย่างครบถ้วนทั้ง 3 ด้าน ยกตัวอย่างเช่น

เมื่อพระองค์ทรงสอนสาวกอธิษฐาน ใน มธ
.6:5-15 นั้น สามารถสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้
  • พระองค์ทรงสอนด้านลักษณะชีวิต โดยการสอนถึงท่าทีที่ถูกต้องในการอธิษฐาน เช่นใน มธ.6: 5 คือ ไม่อธิษฐานด้วยท่าทีโอ้อวดเพื่อให้ผู้อื่นชื่นชมในการกระทำดีของตน

  • พระองค์ทรงสอนโดยให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการอธิษฐาน ใน มธ.6:6-8 พระองค์ทรงสอนให้รู้ว่า เราควร อธิษฐานเป็นการส่วนตัวกับพระเจ้า และไม่ควรอธิษฐานแบบท่องจำซ้ำซาก เพราะพระเจ้าทรงฟังคำร้อง ทูลของเราและทรงทราบสิ่งที่เราปรารถนา
  • นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสอนเราด้านทักษะ โดยยกตัวอย่างคำอธิษฐานใน มธ.6:9-12 เพื่อช่วยให้เราเข้าใจการอธิษฐานและเรียนรู้ในการอธิษฐานภาคปฏิบัติได้ โดยเริ่มต้นคำอธิษฐานด้วยการ
ยกย่องพระเจ้า อธิษฐานเผื่อแผนการของพระเจ้า อธิษฐานเผื่อเรื่องส่วนตัวของตนเอง อธิษฐาน สารภาพบาป เป็นต้น
  • เราจึงควรเลียนแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ ในการสอนเพื่อเราจะสามารถ ถ่ายทอดคำสอนได้อย่าง
  • ครบถ้วนทั้ง 3 ด้านดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น พระเยซูคริสต์ทรงเป็นต้นแบบการสอน เราควรจะเป็นศิษย์ที่ ดีของพระองค์ เพื่อจะเป็นครูแบบพระองค์

ลูกา 6:40

ศิษย์ไม่ใหญ่กว่าครู แต่ศิษย์ทุกคนที่ได้รับการฝึกสอนครบแล้ว ก็จะเป็นเหมือนครูของตน

ลงข่าวคริสตชน วันที่่ 14/1/11
ลงใน web. ของคริสตจักรวังธรรรม จ.เชียงราย ลงในบทความของ web.cbnsiam

11 มกราคม 2554

ความคิดแบบผู้ใหญ่ หัวใจแบบเด็กๆ

ในช่วงวันเด็กที่ผ่านมา เราคงมีความชื่นชมยินดีสำหรับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็กๆ ที่มีความสนุกสนาน อันเนื่องมาจากเป็นวันของพวกเขาที่ได้รับของเล่น ได้ไปเที่ยวเล่นในที่อยากไป

หลายคนรวมถึงผมด้วย เมื่อมองไปที่เด็ก เราก็อยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง เพราะเป็นวัยที่สนุกสนานไม่ต้องมีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบอะไรมากมาย ในขณะที่เมื่อตอนที่เราเป็นเด็ก เราก็เคยคิดว่าอยากจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะไม่ต้องมีใครมาคอยบังคับให้ทำอย่างโน้น อย่างนี้เพราะเห็นว่าเราเป็นเด็ก
นี่คือมุมมองที่แตกต่างของวุฒิภาวะที่เติบโตต่างกัน

ผมนึกถึงคำสอนของพระเยซูคริสต์ใมาระโกบทที่10:13-16

13 ขณะนั้นเขาพาเด็กเล็กๆมาหาพระองค์ เพื่อจะให้พระองค์ทรงถูกต้องตัวเด็กนั้น แต่เหล่าสาวกก็ห้ามปรามไว้
14 เมื่อพระเยซูทรงเห็นดังนั้นก็ไม่พอพระทัย จึงตรัสแก่เหล่าสาวกว่า "จงยอมให้เด็กเล็กๆเข้ามาหาเรา อย่าห้ามเขาเลย เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้าเป็นของคนเช่นเด็กอย่างนั้น
15 เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้หนึ่งผู้ใดมิได้รับแผ่นดินของพระเจ้าเหมือนเด็กเล็กๆผู้นั้นจะเข้าในแผ่นดินนั้นไม่ได้"
16 แล้วพระองค์ทรงอุ้มเด็กเล็กๆเหล่านั้นวางพระหัตถ์บนเขา แล้วทรงอวยพรให้

พระคัมภีร์ตอนนี้ได้บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ ที่ผู้ปกครองนำเด็กมาหาพระเยซูเพื่อให้พระองค์วางมืออวยพรเด็ก แต่สาวกกีดกันไม่ให้มาหาพระเยซูเพราะเกรงว่าจะมารบกวนพระองค์ พระเยซูทรงไม่พอพระทัยที่สาวกมีทัศนคติในเรื่องของเด็กไม่ถูกต้อง พระองค์จึงทรงสอนให้ผู้ใหญ่ให้เรียนรู้จากเด็ก โดยปรับมุมมองใหม่ให้โดยมีความคิดแบบผู้ใหญ่ หัวใจแบบเด็กๆ

เราควรจะมองเด็กแบบพระเยซูคริสต์ พระเยซูคริสต์ได้ให้สิ่งที่ดีแก่เด็ก(ข้อ 16) นั่นคือ พระองค์ทรงอุ้มให้ความใกล้ชิดที่สุด และทรงวางมือให้พรอันศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

ผมคิดว่าเด็กควรได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากผู้ใหญ่ ถ้าเด็กได้รับสิ่งที่ดีที่สุด เขาก็จะมีรากฐานชีวิตที่ดีที่สุดและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีที่สุด สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากพระคัมภีร์ตอนนี้

1.เห็นคุณค่าเด็ก (ข้อ 13-14)

พระเยซูทรงเปิดโอกาสให้เด็กๆ เข้ามาหาพระองค์เพราะทรงเห็นคุณค่าเด็ก และต้องการให้สาวกของพระองค์เปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ เพราะพวกสาวกมองว่าเด็กๆ รบกวนเวลาของพระองค์ แต่พระองค์กลับเห็นความสำคัญของการให้เวลาแก่เด็ก แม้พระองค์จะมีภารกิจที่ต้องทำมากมายก็ตาม การให้เวลาแก่เด็กเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่าสิ่งอื่นๆ

เราทุกคนจึงควรเห็นคุณค่าของเด็กอย่างจริงจัง อย่ามองเด็กเป็นเด็ก มีคำสุภาษิตที่ว่า "อย่าคบเด็กสร้างบ้าน" ทำให้ผู้ใหญ่จึงมองเด็กทำตัวไร้สาระ แต่ถ้าบ้านขาดเด็กก็ไม่มีสีสัน เพราะเด็กจะทำให้เรามีรอยยิ้มเสมอ เมื่อเราเห็นความสามารถที่พวกเขาแสดงออกมา

เราควรจะต้องมีเวลาการแสดงความสามารถให้กับพวกเขาแสดง ไม่อย่างนั้นความสามารถของเขาจะถูกละเลย และนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกที่ควร เมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่น เช่น เด็กที่ไปเขียนฝาผนังที่สาธารณะ หรือ ไปแข่งรถ เป็นเด็กแว้นซ์บอย และสก๊อยเกิร์ล สร้างปัญหาในสังคม

ในครอบครัวของเราควรต้องให้เวลาและสร้างชีวิตฝ่ายวิญญาณของเด็กด้วย ในชุมชน ในคริสตจักรและในทุกส่วนต้องจัดสรรคนที่ดีมีคุณภาพเพื่อสร้างเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของอาณาจักรพระเจ้า

2. เรียนรู้จากเด็ก (ข้อ 14-15)

พระเยซูคริสต์ใช้เด็กเป็นตัวอย่างในการสอนพวกสาวกให้มีความเชื่อและถ่อมใจเรียนรู้จากเด็ก เพราะผู้ที่ถ่อมใจมีหัวใจเชื่อฟังแบบเด็ก แผ่นดินสวรรค์ก็จะเป็นของคนเหล่านั้น

แท้จริงเด็กมีสิ่งดีมากมายที่เราสามารถเลียนแบบได้ เราไม่ควรเป็นผู้ใหญ่ที่หยิ่ง ไม่รับฟังหรือยอมรับสิ่งที่ดีจากผู้ที่อายุน้อยกว่า

ผู้นำสามารถเรียนรู้สิ่งดีจากผู้ที่อยู่ในการอภิบาลของตนได้เช่นกัน อย่าคิดว่าเราอาบน้ำร้อนมาก่อน รับบัพติศมาในน้ำมาก่อนพวกเขา

ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีความคิดความอ่านที่ดี เราควรจะเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและนำสิ่งที่ดีของเขามาปรับใช้ได้

ในปีใหม่นี้ขอพระเจ้าทรงช่วยเราให้มีความคิดแบบผู้ใหญ่ ที่มีความรับผิดชอบ และมีหัวใจแบบเด็กๆที่เชื่อฟังพระองค์ ขอพระเจ้าอวยพระพรครับ

........................

ลงข่าวคริสตชนวันที่ 12/1/11

07 มกราคม 2554

ที่มาของวันเด็กแห่งชาติ


ประวัติความเป็นมา (ข้อมูลจาก สวช.สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ)

วันเด็กแห่งชาติ มีต้นกำเนิดมาจากการที่องค์การสหประชาชาติทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ โดยในปี พ.ศ. 2498 นายวี เอ็ม กุล ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ ได้เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญ และความต้องการของเด็ก รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ

ทั้งนี้ การขานรับกับการจัดงานวันเด็กแห่งชาติได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในปีเดียวกันนั้นเองทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ประเทศ จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติของตนขึ้น โดยได้มีการกำหนดว่าจะถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ

สำหรับประเทศไทย ได้ตอบรับข้อเสนอของนายวี เอ็ม กุลกานี ซึ่งบอกผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่า ไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ รัฐบาลจึงได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

อย่างไรก็ตาม งานวันเด็กแห่งชาติครั้งแรกของประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 จากนั้นเป็นต้นมา ราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ โดยจัดต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่ ด้วยเหตุผลว่า เดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทย เป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมงาน นอกจากนี้วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้

ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 ว่า ควรจะเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ที่มีความเหมาะสมและสะดวกมากกว่า ตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติเสนอมา ส่งผลให้ในปี 2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว งานวันเด็กแห่งชาติจึงเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2508 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน


วัตถุประสงค์การจัดงานวันเด็กแห่งชาติ


สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ที่รัฐบาลไทยกำหนดไว้ คือ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี และเพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ทุก ๆ ปี ในวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานพระบรมราโชวาท สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงโปรดประทานพระคติธรรม และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจะมอบคำขวัญวันเด็ก แสดงให้เห็นว่าเด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดของชาติ เราจึงได้ยินคำพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า "เด็กคืออนาคตของชาติ เด็กฉลาด ชาติเจริญ"

(ครอบครัวแห่งรักเป็นวัคซีนป้องกันเด็กจากสิ่งชั่วร้าย)
กิจกรรมวันเด็ก

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ปฏิบัติในวันเด็กแห่งชาติ ล้วนมีจุดประสงค์ไปในทางเดียวกัน คือ เพื่อให้เด็กได้ตระหนักถึงคุณค่าบทบาท และความสำคัญของตนเอง โดยการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ในโรงเรียน หมู่บ้าน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกถิ่นจะมีขนมมากมาย มีคำเชื้อเชิญเพราะ ๆ มีคำอวยพรให้เด็กๆ เป็นวันที่เด็ก ๆ มีสิทธิพิเศษ ถนนทุกสาย เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ หรือร่วมกันทำกิจกรรม ในแต่ละชุมชนเพื่อเด็กๆ จัดบรรยากาศเพื่อเด็ก ๆ เพลงเด็ก ๆ ของขวัญเพื่อเด็ก ๆ ฯลฯ