21 ธันวาคม 2555

เลวี – คนดีของพระเจ้า

เลวี – คนดีของพระเจ้า
(Levi - be a good man for good God)
สวัสดีครับเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ผมอยากขอบคุณพระเจ้าสำหรับสิทธิพิเศษในการได้มาเป็นผู้รับใช้พระเจ้าเต็มเวลา ปีนี้เป็นปีที่ 15 แล้ว สรรเสริญพระเจ้าสำหรับการทรงเรียกที่มาถึงในชีวิตของผม ผมไม่เคยสมัครงานที่ไหนเลย เพราะก่อนที่จะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ผมได้มาเป็นอาสาสมัครช่วยงานในคริสตจักรด้วยความเต็มใจไม่รับเงินเดือนหลายเดือน เรียกว่าเป็นพวก “Full heart –Part time” ทำงานเต็มใจแม้ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา

ในสมัยก่อน ผมยังเคยสงสัยว่าพวกผู้รับใช้เต็มเวลา เขาทำงานอะไรบ้างในคริสตจักร จะเป็นเหมือนดังพวกมัคทายกที่ทำงานในศาสนสถานตามความเชื่อเดิมหรือไม่ แต่เมื่อได้มามีส่วนร่วมในการทำงานแล้วรู้สึกประทับใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่เต็มเวลาในคริสตจักรที่ขยันขันแข็ง และรู้สึกประทับใจในคำพยานของเจ้าหน้าที่เต็มเวลาหลายท่านที่ยอมเสียสละแม้ว่าต้องเสียโอกาสที่จะไปทำงานในองค์กรภายนอก ได้เงินเดือนมากมายและมีหน้ามีตาในสังคม แต่สิ่งที่ได้รับมากกว่าสิทธิประโยชน์ต่างๆในโลก คือ การได้รับสิทธิพิเศษคือได้เป็น “เลวี ผู้รับใช้พระเจ้า” ได้ใกล้ชิดและปรนนิบัติพระเจ้าในพระวิหารของพระองค์ นี่คือค่านิยมที่ปลูกฝังในชีวิตของผม
จนเมื่อผมได้อธิษฐานและได้รับการทรงเรียกให้มาเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา ผ่านคำเชิญของผู้นำคริสตจักร ผมตัดสินใจอย่าง"แน่วแน่"ในเวลานั้น แม้ว่าอนาคตของตนอาจจะ “เน่าแน่” เพราะไม่ได้ทำงานตามสิ่งที่ผู้ปกครองคาดหวัง

ในวันที่ 17 มีนาคม ปีค.ศ.1997 ได้เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่เต็มเวลาในคริสตจักรสมความตั้งใจตามที่ได้ปวารณาตัวเอาไว้ เป็นการอุทิศตัวเพื่อรับใช้พระเจ้าอย่างเต็มเวลา ความรู้สึกในเวลานั้นเหมือนการออกบวช (Ordain) เป็นบรรพชิตอย่างไงอย่างนั้น เป็นไงเป็นกัน ตั้งใจติดตามพระคริสต์แล้ว จับคันไถ คันหลังแล้วไม่หันหลังเกา เอ้ย! ไม่ใช่ จับคันไถแล้วไม่คิดหันหลังกลับ
ลูกา9:62 …"ผู้ใดเอามือจับคันไถแล้ว หันหน้ากลับเสีย ผู้นั้นก็ไม่สมควรกับแผ่นดินของพระเจ้า"

การเข้ามาเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา มักจะมีคำพูดย้ำเตือนให้ตระหนักว่า “เป็นคนเลวี ทำตัวให้ดี อย่าให้สระ(อี)หายไป ไม่งั้นจะเป็นคนเลว”

คำนี้เป็นคำจริงเพราะการเป็นผู้รับใช้เต็มเวลาเป็นกิจการงานที่ประเสริฐ
1ทิโมธี 3:1 คำนี้เป็นคำจริง คือว่าถ้าผู้ใดปรารถนาหน้าที่ผู้ปกครองดูแลคริสตจักร ผู้นั้นก็ปรารถนากิจการงานที่ประเสริฐ
คำว่า "ผู้ปกครอง" หมายถึง คณะผู้รับใช้(Deacon)เป็นคำเดียวกับกลุ่มมัคนายกในกจ.6 ที่ได้รับมอบหมายแจกจ่ายทานทำหน้าที่แทนบรรดาอัครทูต
(ภาษาไทยใช้คำว่า มัคนายก ไม่ได้เป็นแบบ"มัคทายก" มัคทายก เป็นคำสมาส มาจากภาษาบาลี 2 คำ คือ "มัคค" (แปลว่า ทาง) + "ทายก" (แปลว่า ผู้ถวายจตุปัจจัยแด่ภิกษุสงฆ์ ผู้นับถือศาสนา ) รวมความแล้ว จึงหมายถึง ทางของผู้นับถือศาสนา)


เมื่อผมทำงานมาได้สักระยะหนึ่ง ผมสัมผัสได้ถึงการดูแลจากการจัดสรรของพระเจ้าที่ผ่านทางครอบครัว แม้ว่าจะได้รับเงินเดือนตอบแทนไม่ได้มากนักเท่าเทียมกับการทำงานองค์กรภายนอก แต่ก็มีความภาคภูมิใจ เพราะเราเป็น “คนเลวีผู้รับใช้พระเจ้า ไม่ใช่ผู้รับจ้าง” ไม่ได้เป็น “มนุษย์เงินเดือน แต่เป็น “มนุษย์เงินถวาย” นี่คือนิยามในความคิดของผม เพราะเราต้องเป็นผู้อารักขา ทำงานตามเงินสิบลดที่พี่น้องถวายมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดูแลผู้รับใช้เต็มเวลาในคริสตจักร ทำงานให้คุ้มค่าเกิดผลสูงสุดต่ออาณาจักรของพระเจ้า
แต่ในบางครั้งมีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจบ้าง เมื่อได้รับการปฏิบัติโดยมุมมองของคริสตสมาชิก มักจะมองว่า “ผู้รับใช้พระเจ้าต้องสมถะ” มักจะได้รับสิ่งของมือสอง บริจาคมาโดยพี่น้องสมาชิกคริสตจักร แล้วคุณค่าที่ควรได้รับของเลวีตามหลักการพระคัมภีร์เป็นเช่นไร? พระเจ้ามองคนเลวีผู้รับใช้ของพระองค์เป็นเช่นไร? เมื่อศึกษาพระคัมภีร์ เราจะพบว่า…

ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม ชนเผ่าเลวี เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษจากพระเจ้า ได้รับเลือกให้เป็นผู้ปรนนิบัติในที่ประทับของพระองค์ แม้ว่าพวกเลวีที่ปรนนิบัติพระเจ้าตามที่พบในพันธสัญญาเดิมล้วนเป็นเพศชาย แต่ในคริสตจักร ปัจจุบันคำว่า “เลวี” ย่อมหมายถึงบุคคลทั้งชายหญิงที่รับใช้พระเจ้าในคริสตจักรท้องถิ่น

คำว่า “เลวี” มีความเป็นมาอย่างไร?
คำว่า “เลวี” หมายถึง ความสนิทสนม การเชื่อมต่อผูกสนิท(Joined unto) (ปฐก.29:34 นางตั้งครรภ์และมีบุตรชายอีกคนหนึ่ง นางกล่าวว่า "ครั้งนี้สามีจะสนิทสนม {ฮีบรู ว่า ลาวาห์} กับข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้ามีบุตรชายกับเขาสามคนแล้ว" เหตุนี้จึงตั้งชื่อเขาว่า เลวี)

ผมชอบคำนี้ “ความสนิทสนม” เพราะนางเลอาห์นั้น เธอรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในสามีคือยาโคบ ที่รักน้องสาวของตนคือราเชลมากกว่าตน
หากสมมุติบทบาทเป็นดังละครแรงเงา แรงหึงก็คงประหนึ่งนางนพนภา เมียหลวงที่อิจฉาริษยานางสาวมุตตาเมียน้อย ที่ได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับผอ.(ผัวอั้วะ)มากกว่าตน 
เมื่อนางมีบุตรกับยาโคบ นางคิดว่า เด็กชายเลวี จะทำให้เธอกับนายยาโคบสามีได้มีเวลาอยู่ด้วยกันอย่างสนิทสนม นี่เป็นความเหงาปนความเศร้าของเธอ
ขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้เลวีคือผู้ที่สนิทสนมกับพระองค์ ทุกเช้าก่อนเข้าทำงาน ต้องเข้าไปอุทิศตัว(Devotion) เพื่ออธิษฐานนมัสการพระองค์ก่อนเริ่มงาน พระเจ้าเป็นผู้ที่ปรารถนาจะสนิทสนมกับผู้ที่เป็นผู้รับใช้พระองค์เสมอ

เมื่อศึกษาในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม กล่าวถึงบทบาทของพวกเลวี พิจารณาถึงการวิวัฒนาการของพวกเลวีตามสมัยต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ ปฐมกาลจนถึงมาลาคี เป็นดังนี้

เลวีคือเชื้อสายยาโคบพงศ์พันธุ์อิสราเอล
เมื่อยาโคบไปอยู่กับลาบัน ลุงของตน ลาบันให้ยาโคบทำงาน 7 ปี เพื่อแลกกับนางราเชล บุตรสาวคนเล็กของตน แต่เมื่อครบ 7 ปีตามกำหนด ลาบันกลับให้ยาโคบแต่งงานกับนางเลอาห์ บุตรีคนโต ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นธรรมเนียมที่คนพี่จะต้องแต่งงานก่อนคนน้อง ยาโคบจึงต้องทำงานอีก 7 ปีเพื่อให้ได้นางราเชล เมื่ออยู่กินกันนั้น ยาโคบรักนางราเชล และชังนางเลอาห์ พระเจ้าจึงทรงเบิกครรภ์ของนางให้มีบุตรชายแก่ยาโคบ ถึง 4 คนติดต่อกัน และเลวี เป็นบุตรคนที่สามของยาโคบ กับนางเลอาห์

ลำดับบุตรของยาโคบทั้ง 13 คน (ตัวเลขในวงเล็บคือลำดับของการเกิด (ญ = บุตรสาว))
นางเลอาห์ มีบุตร 7 คน :รูเบน(1),สิเมโอน(2),เลวี (3),ดีนาห์(ญ),ยูดาห์ (4),อิสสาคาร์ (9),เศบูลุน (10)
นางบิลลาห์(สาวใช้นางราเชล)มีบุตร 2 คน :ดาน(5),นัฟทาลี (6)
นางศิลปาห์(สาวใช้นางเลอาห์) มีบุตร 2 คน: กาด (7),อาเชอร์(8)
นางราเชล มีบุตร 2 คน :โยเซฟ (11),เบนยามิน(12)
(หมายเหตุ :โยเซฟมีบุตรที่เป็นพงศ์พันธุ์เผ่าอิสราเอลคือ :เอฟราอิมและมนัสเสห์ )

ดังนั้นหากไล่ตามลำดับพงศ์พันธุ์ เลวีเป็นชนเผ่าพิเศษที่แยกออกมาปรนนิบัติพระเจ้า จาก 12 เผ่า
โมเสสผู้รับใช้พระเจ้าจากเผ่าเลวี และต้นตระกูลของปุโรหิต
โมเสส เป็นบุตรชายของอัมราม(อับราฮัม)ชาวเผ่าเลวี ผู้รับใช้ที่ได้รับการทรงเรียกให้นำคนอิสราเอลออกมาจากอียิปต์ (อพย.2-3)

ในพระธรรมอพยพ 28:1 พระเจ้าทรงตรัสสั่งให้ โมเสสนำอาโรนพี่ชายของท่าน และบุตรของเขา ซึ่งเป็นชนเผ่าเลวีนั้น แยกออกจากหมู่ชนชาติในอิสราเอล และแต่งตั้งให้ท่าน และบุตรหลานของท่าน เป็น ปุโรหิต ปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าและในพระธรรมเลวีนิติ บทที่ 21 ได้กล่าวถึงแบบอย่างความประพฤติที่ปุโรหิตจะต้องปฏิบัติชีวิตในความบริสุทธิ์ เช่น ห้ามแตะต้องศพ ห้ามแต่งงานกับคนต่างชาติ ห้ามแต่งงานกับหญิงที่เป็นมลทิน หรือหญิงม่าย ไม่ให้โกนศีรษะหรือหนวดเครา อย่าปล่อยผม ห้ามบุตรสาวของปุโรหิตเป็นโสเภณี เป็นต้น ข้อสังเกตคือการเป็นปุโรหิตต้องมาจากการแต่งตั้งโดยพระเจ้า ไม่ใช่แต่งตั้งตนเองตามใจ จะโดนการแช่งสาปจากพระเจ้า ในพระธรรมกันดารวิถี บทที่ 16 ได้กล่าวถึง โคราห์ ชายเผ่าเลวีที่คิดกบฏต่อ โมเสส และอาโรน และตั้งตนเป็นปุโรหิตเอง แต่สุดท้าย โคราห์และพวก ก็ถูกพระเจ้าลงโทษโดยการให้แผ่นดินสูบพวกเขาไป เป็นการยืนยันการทรงเลือกของพระเจ้าที่จะมอบตำแหน่งปุโรหิต ให้แก่ตระกูลของอาโรน

ความแตกต่างระหว่าง“เลวี” และ “ปุโรหิต”
ภาคพันธสัญญาเดิมบางตอนคำว่า “เลวี” และ “ปุโรหิต” มี ความหมายเดียวกันคือทั้ง 2 คำ เป็นปุโรหิต ส่วนในตอนอื่น ๆ นั้นพวกเลวีปุโรหิตพวกหนึ่งที่รองลงมา จากปุโรหิตเชื้อสายอาโรนแต่ในบทความที่ผมเขียนนี้จะไม่แยกแยะระหว่างพวกเลวีและปุโรหิตอื่น ๆ จะเน้นที่เลวีและบทบาทของเลวี

ในพระธรรมอพยพ 19:6 คำตรัสของพระเจ้าที่ตรัสแก่โมเสสว่า ถ้า ประชากรยอมฟังเสียงพระองค์และรักษาพันธสัญญาของพระองค์ไว้ เขาจะเป็น “อาณาจักรปุโรหิต... ชนชาติบริสุทธิ์”

เราจะสังเกตความสำคัญของคำเหล่านี้ได้จากภาคพันธสัญญาใหม่ที่กล่าวว่าคริสตชน เป็น “พวกปุโรหิตหลวง เป็นชนชาติบริสุทธิ์” (1ปต.2:9) ความหมายที่บ่งชัดไว้ที่นี้ก็คือว่าประชากร ของพระเจ้ามีพันธกิจแบบปุโรหิต (เลวี) ท่ามกลางบรรดาประชาชาติ “เพราะแผ่นดินโลกทั้งสิ้นเป็นของ เรา” (อพย 19:5) พันธกิจนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อจะนำพระพร ของพระเจ้ามาสู่ “บรรดาเผ่าพันธุ์ทั่ว โลก” (ปฐก.12:3)

ตรงนี้แหละที่เราจะพบความสำคัญของพันธกิจคืองานที่ทำคือการนำคนเข้ามาหาพระเจ้า ปุโรหิตคือผู้ที่เป็นผู้กลางที่เชื่อมนำคนมาหาพระเจ้า เป็นผู้ที่คนจะนำของถวายมาถวายให้เพื่อรับการอวยพร

ในยุคแห่งพระคุณ พระเยซูคริสต์เป็นมหาปุโรหิต(ฮบ.9)ที่เข้าไปถวายเครื่องบูชาครั้งเดียวเสร็จสิ้นแล้วที่ไม้กางเขนแล้ว เราไม่ต้องมีผู้กลางอีกที่ทำหน้าที่นี้ แต่ไม่ได้หมายถึงบทบาทนี้จะหมดไปแล้ว เพราะปุโรหิตในปัจจุบันคือหัวหน้าของคนเลวีผู้รับใช้พระเจ้าเต็มเวลา นั่นคือผู้ที่เป็นศิษยาภิบาลคริสตจักร

ในความเข้าใจของผม คริสตจักรแบบถุงหนังองุ่นใหม่ คริสตจักรแบบเคลื่อนด้วยของประทานอัครทูต ผู้ที่เป็นอัครทูตของเรา คือ ปุโรหิตที่เราจะนำของถวายไปถวาย เหมือนกับในสมัยพระธรรมกิจการฯ พวกสาวกนำเงินไปถวายไว้ที่แทบเท้าอัครทูต(กจ.4:35 และนำเงินค่าของที่ขายได้นั้นมาวางไว้ที่เท้าของอัครทูต อัครทูตจึงแจกจ่ายให้ทุกคนตามที่ต้องการ)

แม้ปัจจุบันเราอยู่ในยุคแห่งพระคุณไม่ได้ดำเนินชีวิตแบบระบอบเก่า คือมีผู้กลางเชื่อมระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า แต่เราต้องมีผู้ที่จะทำหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้เต็มเวลาเพื่อเป็นพระพรต่อสมาชิกคริสตจักร ไม่ใช่นั้นจะเป็นเหมือนสถานการณ์ในพระธรรมฮักกัยที่พระนิเวศถูกละทิ้งทำให้ชุมชนไม่ได้รับการอวยพระพรจากพระเจ้า

การที่ผมกล่าวแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ไม่ได้มาเต็มเวลาจะไม่ได้เป็นผู้รับใช้พระเจ้า เพราะเราทุกคนเป็นผู้รับใช้พระเจ้าในสถานภาพ แต่บทบาทอาจจะแตกต่างกัน เราอาจจะเป็นผู้รับใช้พระเจ้าในที่ทำงานที่เราทำงานอยู่ แต่พระนิเวศของพระเจ้าหรือคริสตจักรต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้เต็มเวลา คนเหล่านี้จึงเป็นผู้ที่ถูกแยกออกมาเฉพาะดังเช่นคนเผ่าเลวี ที่พระเจ้าแยกพวกเขาออกจากเผ่าต่างๆของอิสราเอลเพื่อทำหน้าที่ในพระนิเวศ

เลวี ผู้ที่พระเจ้าทรงแยกออกจากประชากรทั่วไปเพื่อ “บริสุทธิ์” แด่พระเจ้า

การเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้หมายถึง การเป็นคนดีที่ดีพร้อมเพียงพอ แต่พระคุณของพระเจ้าพอเพียงที่เรียกให้ออกมาปรนนิบัติรับใช้
สิ่งที่พระเจ้าจะใช้พระองค์จะทำให้บริสุทธิ์โดยการชำระและแยกไว้สำหรับพระองค์เสมอ ยกตัวอย่างเช่นเครื่องใช้ไม้สอยในพลับพลา (อพย.40)อิสราเอลเป็นชนชาติบริสุทธิ์ พระเจ้าทรงแยกอิสราเอลออกจากประเทศอื่น ๆ ให้เป็น “กรรมสิทธิ์ของพระองค์และกระทำ พันธสัญญากับเขาที่ภูเขาซีนาย (อพย.19:5,24:8,ฉธบ.5:2-3) เพื่อให้เขาทำพันธกิจของพระองค์ ในทำนองเดียวกัน พระองค์ก็ทรงแยกคนเลวีออกมาจาก อิสราเอลทั้งปวงให้เป็นของพระองค์ (กดว.8:14)และทรงทำพันธสัญญาพิเศษกับพวกเลวี(กดว.25:12, มลค.2:4-5) เพื่อให้เขาประกอบพันธกิจในท่ามกลางประชากรผู้เป็นอาณาจักรปุโรหิตและพันธกิจของพวกเลวีก็คือ เพื่อช่วยให้ประชากรผู้เป็น “กรรมสิทธิ์ของพระเจ้าได้ทำพันธกิจที่ได้รับมอบหมายจากพระองค์”

ฐานะพิเศษของคนเลวีปรากฏชัดอยู่ในพิธีแต่งตั้งเขาให้เป็นปุโรหิต
อันดับแรกมีพิธีชำระและลบมลทินบาป (กดว.8:6,12) แล้วผู้ที่ถูกชำระให้บริสุทธิ์นั้นจะสั่งสอนให้ประชากร “ชำระตัว” และกระทำตัวให้สะอาด เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นศิษยาภิบาลและคณะผู้รับใช้เต็มเวลา จะต้องรับการชำระจากพระเจ้าและการอภัยโทษจากพระองค์กว่าจะสามารถนำประชากร ให้เข้าหาองค์ บริสุทธิ์ที่จะชำระเขาจากสิ่งชั่วร้ายทั้งสิ้น (ยรม.33:8, อสค.36:25,1 ยน.1:7,9)

การได้รับมอบสิทธิ์ทำแทนประชาชนทั่วไป
ประชาชนจะวางมือบนเลวีแสดงว่าประชาชนได้มอบสิทธิ์ให้พวกเลวีทำพิธีศาสนาแทน และ เพื่อพวกเขา (กดว.8:10) เช่นเดียวกันสมาชิกคริสตจักรมอบสิทธิ์ให้ศิษยาภิบาลและคณะผู้รับใช้ทำพิธีศาสนาแทน และเพื่อเขา มหาปุโรหิต (อาโรน)จะถวายคนเลวีแด่พระเจ้าเสมือนเป็นเครื่องที่ยื่นถวายจาก ประชาชนอิสราเอล
(กดว.8:11,13)
คำว่า “เครื่องยื่นถวาย” นั้นมาจากพิธีถวายผลแรก(firstfruit) ผู้ถวายจะยื่นของถวายเข้าถึงแท่นบูชา แสดงว่า เป็นการสมัครใจของผู้ถวาย และ เป็นสัญลักษณ์หมายถึงผลผลิตทั้งหมดที่ถวายไว้เพื่อใช้ตามน้ำพระทัยของพระเจ้า (อพย.29:24) แสดงถึงประชาชนยินดีมอบถวายคนเลวีไว้รับใช้พระเจ้าให้ทำหน้าที่แทนพวกเขา
สำนักงานและหน้าที่ของคนเลวี(office&JD)
ในพระธรรมกันดารวิถี ได้กล่าวถึงหน้าที่(Job description)ของเผ่าเลวี ที่แตกต่างจากเผ่าอื่น ๆ โดยให้มีหน้าที่ปรนนิบัติงานของสถานนมัสการ โดยแบ่งออกงานออกเป็น 3 กลุ่มตามวงศ์วานของเผ่าเลวี ดังนี้




1.วงศ์วานเกอร์โชน มีจำนวนผู้ชายอายุ 1 เดือนขึ้นไปจำนวน 7,500 คน ต้องตั้งค่ายอยู่ข้างหลังพลับพลาด้านทิศตะวันตก โดยมีหน้าที่รับผิดชอบงานในพลับพลา ได้แก่ งานพลับพลา งานเต็นท์ พร้อมเครื่องเต็นท์ แท่นบูชา และสิ่งของทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้

2.วงศ์วานโคอาท มีจำนวนผู้ชายอายุ 1 เดือนขึ้นไปจำนวน 8,600 คน ต้องตั้งค่ายอยู่ทางใต้ของพลับพลา มีหน้าที่ดูแลหีบพระโอวาท โต๊ะขนมปัง คันประทีป แท่นบูชาทั้งสอง และเครื่องใช้สถานนมัสการซึ่งปุโรหิตใช้งาน และม่าน

3.วงศ์วานเมรารี มีจำนวนผู้ชายอายุ 1 เดือนขึ้นไปจำนวน 6,200 คน ต้องตั้งค่ายอยู่ด้านเหนือของพลับพลา มีหน้าที่ดูแลงานไม้กรอบพลับพลา ไม้กลอน ไม้เสา ฐานรองและเครื่องประกอบทั้งหมด เสารอบลานพลับพลา พร้อมกับฐานรองหลักหมุดและเชือกโยง

พระเจ้าทรงกำหนดให้คนเลวีทำงาน เมื่อมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป จนกระทั่งถึงอายุ 50 ปีจึงให้หยุดปฏิบัติงาน ซึ่งแตกต่างจากเผ่าอื่น ๆ ที่มีกำหนดอายุทำงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และในขณะเดียวกัน พระเจ้าทรงนำคนเลวี ตั้งแต่เมื่ออายุ 1 เดือนขึ้นไป ในขณะที่ทรงนับคนเผ่าอื่น เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป

บทบาทและหน้าที่โดยสังเขปของเลวี

ดูแลที่ประทับของพระเจ้า
ในพระธรรมกันดารวิถีบทที่ 8 ก่อนที่จะกล่าวถึงพิธีแต่งตั้งคนเลวีเป็นปุโรหิตนั้นโมเสสสั่งให้อาโรน “จุดคันประทีป” (กดว.8:2-33, อพย.25:32,37) ปุโรหิตมีหน้าที่ “ดูแล” (อพย.37:21) "จัด" (ลนต.24:4) และ “แต่ง” (อพย.30:7) ประทีปเจ็ดดวง “เพื่อจะให้ประทีปนั้นส่องสว่างเสมอ” (อพย. 27:20)

ดังนั้นความสว่างของคันประทีป ตามธรรมเนียมประเพณีของชาวตั้งแต่สมัยโบราณจนทุกวันนี้ ตะเกียงเจ็ดดวงบนคันประทีป เป็นสัญลักษณ์ถึงประชากรอิสราเอลผู้เป็นความสว่างแก่บรรดาประชาชาติในพันธสัญญาใหม่คัน ประทีปเจ็ดดวงเป็นสัญลักษณ์ถึงแต่ละคริสตจักร (วว. 2:1) คริสตจักรเป็น “ความสว่างของโลก” (มธ.5:14) ดังนั้น เราจะเห็นความสำคัญของพวกเลวีในชีวิตประชากรของพระเจ้า คือดูแลตะเกียงให้ความ สว่างของความรักและความรอดของพระเจ้าส่องแสงอยู่เสมอ ถ้าปราศจากเลวีตะเกียงจะติดไฟไม่ได้ หรือว่าถ้าติดจะไม่ค่อยสว่างและอาจจะดับ (1ซมอ.3:3)

พวกเลวีต่างดูแลภาชนะบริสุทธิ์ในพระวิหาร เช่น ขนมปังตั้งถวาย (1พศด. 23:28-29, 2 พศด.13:11) และหีบพันธสัญญา (ฉธบ.31:9) นอกนั้นพวกเลวีทำหน้าที่เป็นเหรัญญิกด้วย (1 พศด.26:20,2 พศด.24:11) แสดงว่าการ เก็บบันทึกและรายงานเรื่องการเงิน

เลวีทำหน้าที่ถวายการนมัสการแด่พระเจ้า

การนมัสการ คนเลวีมีส่วน รับผิดชอบ 3 ประการคือ

1.คนเลวีเป็นผู้นำในการสรรเสริญพระเจ้า (2พศด.8:14,อสร.3:10)

2.คนเลวีเป็นนักดนตรีทั้งการขับร้องและการเล่นเครื่องดนตรี
(1พศด.9:33,15:16,22,23:5, 2 พศด.5:12, 6:7)

3.คนเลวีเป็นผู้ประกอบพิธีถวายสัตวบูชา (2พศด.29:34,30:17)

เลวีตัดสินคดีความ
พวกเลวีเป็นผู้ตัดสินคดี (ฉธบ.21:5,33:8) และ บางครั้งจะทำหน้าที่ตัดสินร่วมกับผู้พิพากษาประจำการ (ฉธบ.21:5)

เลวีเป็นผู้ตีความธรรมบัญญัติแห่งพันธสัญญาให้ประชากรฟังและเข้าใจ
คนเลวี ได้รับการมอบหน้าที่การสอนธรรมบัญญัติ(ฉธบ.31:11-13,33:10,นหม. 8:1-3,นหม. 8:7-8,ยรม. 36:6) โมเสสสั่งให้คนเลวีรวบรวมประชากรอิสราเอลทุกเจ็ดปีให้อ่าน และตีความหมายของธรรมบัญญัติให้เขาได้ยินและเรียนรู้ที่จะยำเกรงพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเขา และให้ระวังที่จะกระทำตามถ้อยคำทั้งสิ้นของธรรมบัญญัติ

เลวีผู้หามหีบพันธสัญญา
คนเลวีในฐานะผู้หามหีบ (ฉธบ.10:8) เพื่อเตือนให้ประชากรทราบอยู่เสมอว่า พระคุณและธรรมบัญญัติแห่งพันธสัญญาอยู่ท่ามกลางเขาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่หรือสถานการณ์ใด ๆ หีบพันธสัญญา (ยชว.4:5)เป็นสัญลักษณ์หมายถึงพระเจ้าทรงสถิตอยู่กับประชากร เมื่อขาเดินทางมุ่งไปสู่แผ่นดินแห่งการสัญญา” (ยชว.3:3)
เมื่อชาวอิสราเอลต้องเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ในแผ่นดินคานาอัน พวกเลวีที่หามหีบเดิน “ข้างหน้าประชาชน” เมื่ออิสราเอลจะข้ามแม่น้ำจอร์แดนขณะนั้นน้ำกำลังเต็มฝั่ง และพระเจ้าทรงให้น้ำที่ไหลมาจาก ทางเหนือนั้นหยุดและนูนขึ้นเป็นกอง (ยชว.3:16) พวกเลวีหามหีบพันธสัญญายืนมั่นอยู่บนดินแห้ง กลางแม่น้ำจนประชาชาติข้ามแม่น้ำจอร์แดนไปหมด (ยชว.3:17)เขาต้องกล้าหาญเลี่ยงชีวิตเพราะเห็นแก่ ความปลอดภัยของประชากรผู้เดินเข้าสู้แผ่นดินใหม่ (ผู้ที่ไม่ใช่คนเลวีแตะหีบพันธสัญญาแล้วต้องตายเช่นนายอุสซาห์ อุตส่าห์ช่วยประคองหีบไม่ให้ตก ยังต้องตาย(2ซมอ.6:7)

สิ่งที่จัดสรรไว้ให้เลวี และปุโรหิต
ในพระธรรมกันดารวิถี  พระเจ้าทรงจัดสรรให้บรรดาปุโรหิต และคนเลวีนั้น ได้รับจัดสรรสิ่งต่าง ๆ จากบรรดาของถวายของอิสราเอลที่ไม่ได้นำไปเผาไฟ ให้เป็นสิ่งที่จัดไว้ให้แก่ปุโรหิตและคนเลวี นอกจากนี้ ยังทรงกำหนดให้อิสราเอล มีการไถ่บรรดาบุตรหัวปีของตนจากพระเจ้า เป็นเงิน 5 เชเขล ซึ่งส่วนนี้จะตกเป็นของปุโรหิต และคนเลวีตามสัดส่วนเช่นกัน(กดว.3)

นอกจากนี้ ในการแบ่งดินแดนคานาอัน แม้พระเจ้าจะทรงยกเว้น คนเลวี ที่จะไม่ได้รับมรดกจากแผ่นดินคานาอันก็ตาม แต่ทรงกำหนดให้แต่ละเผ่าของอิสราเอล ได้จัดสรรหัวเมืองให้แก่คนเลวีตามขนาดของแต่ละเผ่า ซึ่งประกอบด้วยเมืองลี้ภัยจำนวน 6 เมือง และหัวเมืองอื่น ๆ อีก 22 เมือง โดยแบ่งตามวงศ์วานของเลวีดังนี้

ตระกูลอาโรน (ตระกูลปุโรหิต)ได้รับ 13 หัวเมืองจากดินแดนของเผ่ายูดาห์ เผ่าสิเมโอน และเผ่าเบนยามิน

วงศ์วานโคอาท ได้รับ 10 หัวเมือง จากดินแดนของ เผ่าเอฟราอิม เผ่าดาน และเผ่ามนัสเสห์ครึ่งเผ่าในดินแดนคานาอัน

วงศ์วานเกอร์โชน ได้รับ 13 หัวเมือง จากดินแดนของเผ่าอิสสาคาร์ เผ่าอาเชอร์ เผ่านัฟทาลี และเผ่ามนัสเสห์ครึ่งเผ่าในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน

วงศ์วานเมโรรี ได้รับ 12 หัวเมือง จากดินแดนของเผ่ารูเบน เผ่ากาด และเผ่าเศบูลุน

เพราะพระคุณของพระเจ้า คนเลวีไม่มีส่วนแบ่งในแผ่นดินอย่างที่เผ่าอื่น ๆ มีกัน (ยชว.14:1) เพราะ “พระเยโฮวาห์พระ เจ้าของอิสราเอลเป็นมรดกของเขา” (ยชว.13:33) หมายความว่าพวกเลวีไม่สังกัดเผ่าใด ๆ แต่มี ความสัมพันธ์พิเศษกับพระเจ้าเพื่อประกอบพันธกิจใช้พระองค์ในทุกเผ่า

ดังนั้นคนเลวีหรือผู้รับใช้พระเจ้าเต็มเวลาไม่ควรจะกระวนกระวายถึงธุรกิจหาเงินดังคนอื่น แต่ควรจะสามารถทำการอภิบาลเต็มเวลา เพราะพระเจ้าเป็นผู้กำหนดหลักการการดูแลคนเลวีไว้นั่นคือ “ทศางค์ของประชากร”
ประชากรเห็นความสำคัญของพวกเลวีได้ถวายทศางค์ “เป็นคำตอบแทนงานที่เขาปฏิบัติ”(กดว.18:21)และเป็น “มรดก” ของเขา (กดว.18:24) นอกนั้นเผ่าต่าง ๆ ก็ให้พวกเลวีมีอยู่ อาศัยพร้อมกับรายได้จากไร่นาเพื่อบำรุงชีวิตของเขา (ยชว. 21:2-3)

แต่หากคนเลวีไม่ได้รับการดูแลอย่างดีจะเกิดผลเสียต่อพระนิเวศ นั่นคือ คนเลวีต้องออกไปหากินเองและพระ นิเวศของพระเจ้าก็ถูกทอดทิ้ง (นหม.13:10-11)

สิ่งที่ผมได้รวบรวมจากการศึกษามานี้ จะเห็นว่าพระเจ้าทรงให้ความสำคัญและพระองค์ทรงคัดเลือกสรรคนเลวี ผู้ที่จะมาปรนนิบัติพระองค์ในพระนิเวศ และพระเจ้าทรงให้หลักการในการดูแลคนเลวีไว้อย่างชัดเจน เพื่อเป็นหลักการแห่งพระพรในชุมชนของพระเจ้า

คำถามคือ ทำไมผู้รับใช้พระเจ้าเต็มเวลา ที่เป็นคนเลวีของพระเจ้า จึงไม่ได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น?

ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะสมาชิกคริสตจักรมีความบาดเจ็บในเรื่องการนำเงินไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในเรื่องการบริหารการเงินในคริสตจักร
หรือมุมมองที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเป็นผู้รับใช้ต้องสมถะหรือต้องยากจนจึงจะดูน่าเชื่อถือหรือดูขลังเป็นคนฝ่ายวิญญาณไม่ติดยึดกับสิ่งที่เป็นเนื้อหนัง

คนเลวีถูกมองเป็นลูกจ้างขององค์กร ทำงานเป็น Staff เต็มเวลาทำงานประจำวัน(Routine) เพื่อตอบสนองความต้องการเป็นการบริการสมาชิก

ผลกระทบคือ มุมมองการให้เกียรติจึงไม่ได้รับอย่างที่คนเลวีควรจะได้รับ

คำว่า “Staff” ผมไม่ค่อยชอบคำนี้เลย เพราะมันพ้องกับคำว่า “Stuff” เป็นเหมือนสิ่งที่ถูกดองไว้ ไม่มีชีวิตชีวา วมถึงคำว่า “ลูกจ้าง” ขององค์กร นั้นเป็นคำที่แสลงใจ เพราะผู้รับใช้ไม่ใช่ผู้รับจ้าง ทำงานเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงชีพ แต่ผู้รับใช้เป็นสถานะพิเศษที่พระเจ้าทรงเรียกมาให้มีส่วนในการรับใช้

ขอบคุณพระเจ้าสำหรับการได้มาอยู่ในคริสตจักรแห่งพระบัญชา ที่นำการรื้อฟื้นคืนชีวิต คืนจิตวิญญาณ และไถ่เวลาที่สูญเสียไปกลับมา

ผมรู้สึกขอบคุณพระเจ้าที่ทรงให้มุมมองใหม่ เพราะเป็น Full Timeทำงานเต็มเวลา ที่ถวายตัวพระเจ้าแบบเต็มใจ Full heart

ผมประทับใจในมุมมองของผู้นำคือท่านอาจารย์นิมิตและอาจารย์อ้อย ระเบียบ 
ท่านได้ให้แนวคิดที่ว่า “พวกเลวีอยู่ใกล้ที่สุด และต้องได้รับก่อน ได้รับการเรียนรู้ผ่านการได้ยิน  พวกเราจะต้องผ่านการฝึกฝน (Training)ในทั้งวิชาบังคับ (การศึกษาพระคัมภีร์) และวิชาเลือก พัฒนาจนไปถึงจุดที่พระวิญญาณเป็น Trainer ส่วนตัว จนกลายเป็นต้นแบบในการที่คนเห็นว่าพระเจ้ากำลังทำอะไร พวกเลวีต้องตอบได้ว่าอะไรที่เปลี่ยนไปจากอดีต พวกเลวีต้องจำให้ได้ว่าเราได้รับการ Train ในเรื่องอะไรบ้าง เพื่อไปเป็นพระพรต่อคริสตจักรอื่นๆ ด้วย”

นี่คือการเปลี่ยนมุมมองความคิดใหม่และสถานภาพใหม่ด้วย

จากทหารเกณฑ์ดำเนินตามกฎเกณฑ์ กลายเป็นทหารของพระคริสต์ดำเนินชีวิตอยู่ในเสรีภาพ

ชีวิตไม่ถูกกดแต่ได้รับการยกชูเพราะรู้พระทัยพระเจ้า ว่าพระองค์ทรงมีแผนการที่ดีกับเราเสมอ

เยเรมีย์ 29:11 พระเจ้าตรัสว่า เพราะเรารู้แผนงานที่เรามีไว้สำหรับเจ้า เป็นแผนงานเพื่อสวัสดิภาพ ไม่ใช่เพื่อทุกขภาพ เพื่อจะให้อนาคตและความหวังใจแก่เจ้า

จากสถานภาพลูกจ้างชั่วคราว พระองค์ยกชูให้เราเป็นลูกพระเจ้าชั่วนิรันดร์

ยอห์น 1:12 แต่ส่วนบรรดาผู้ที่ต้อนรับพระองค์ผู้ที่เชื่อในพระนามของพระองค์ พระองค์ก็ทรงประทานสิทธิให้เป็นบุตรของพระเจ้า

ขอบพระคุณพระเจ้าที่พระองค์ทรงรักเราเสมอ แม้เราเป็นเช่นไร พระองค์รักเราในความเป็นเราไม่ใช่ในสิ่งที่เราทำ แม้เราไม่ได้ทำสิ่งใดให้พระองค์ แต่พระองค์ทรงรักเพราะเราเป็นลูกไม่ใช่ลูกจ้าง

เป็นผู้รับใช้ไม่ใช่ผู้รับจ้าง หลักประกันการทำงานคือแผนการอนาคตแห่งสวัสดิภาพที่พระองค์เตรียมไว้ตามน้ำพระทัยของพระองค์

พระเจ้าเปิดเผยอนาคตให้รู้น้ำพระทัยของพระองค์ รวมถึงอนาคตของเราที่พระเจ้าเปิดเผยให้เห็น

ในวันนี้พระเจ้าปรารถนาให้คนของพระเจ้าเคลื่อนไปตามการทรงนำของพระองค์ ดังที่ในสมัยก่อนพระเจ้าให้คนเลวีหามหีบเพื่อนำหน้ากองทัพของอิสราเอลในการเคลื่อนไปแผนการของพระองค์

สรรเสริญพระเจ้าที่พระองค์เลือกคนเลวี เพื่อให้เป็นผู้ที่พระองค์จะใช้ในการนำหน้าคนของพระองค์ วันนี้คนเลวีต้องดำเนินชีวิตให้ดี เพื่อเป็นคนดีของพระเจ้า

ผมขออธิษฐานป่าวประกาศ ขอพระเจ้าอวยพระพรไปสู่เพื่อนๆผู้รับใช้เต็มเวลา และผู้นำคริสตจักรต่างๆ ทั่วประเทศไทย ให้ได้พระพรและเกียรติที่พวกเขาสมควรจะได้รับ
เพราะพวกเขาเป็นเลวี คนดีของพระเจ้า

18 ธันวาคม 2555

ประจักษ์รักอัศจรรย์วันคริสต์มาส

ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข มีการประดับประดาด้วยแสงสีไฟและกล่องของขวัญต่างๆ ตามสถานที่ต่างๆ เป็นเทศกาลที่ครอบครัวได้ใช้เวลารับประทานอาหารร่วมกันและซื้อของขวัญมอบให้แก่กันและกัน
สำหรับผมแล้ว เทศกาลคริสต์มาสเป็นเทศกาลที่มีความหมายสำหรับชีวิต แม้ว่าในวันที่ 25 ธ.ค.จะไม่ได้เป็นวันประสูติที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ เป็นเพียงการจัดเทศกาลเพื่อรำลึกถึงการประสูติ ซึ่งพวกคนโรมันที่กลับใจมาเชื่อในพระคริสต์ได้จัดขึ้นเพื่อทดแทนการไปบูชาสุริยเทพ (สามารถอ่านประวัติความเป็นมาของคริสต์มาสได้ในบทความเรื่อง ความเข้าใจและหลักปฏิบัติในเทศกาลคริสต์มาส)

เทศกาลคริสต์เป็นเทศกาลที่ผู้คนจำนวนมากเปิดใจเรื่องพระเยซูคริสต์ ทำให้มีโอกาสได้ยินข่าวประเสริฐเรื่องพระคริสต์มาตายไถ่บาปบนไม้กางเขน
เทศกาลคริสต์มาสเป็นเทศกาลแห่งการให้ของขวัญเพราะพระเยซูคริสต์เป็นของขวัญอันล้ำค่าที่พระเจ้าประทานให้กับโลกนี้เพื่อให้ผู้คนได้รับชีวิตนิรันดร์(ยน.3:16)
ผู้ที่ได้รับของขวัญนี้ชีวิตของเขาจะไม่เหมือนเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างอัศจรรย์ ขอยกตัวอย่างเช่น
จอห์น นิวตัน(John Newton) ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งดำเนินชีวิตเป็นกัปตันเรือค้าทาส แต่เมื่อเขาได้มารู้จักพระคุณของพระเจ้า ชีวิตของเขาได้เปลี่ยนไป
ในปี ค.ศ.1764 เขาได้รับใช้พระเจ้าในฐานะศิษยาภิบาลของคริสตจักรประจำชาติอังกฤษที่ได้รับการแต่งตั้ง เขามีชื่อเสียงในฐานะผู้ประพันธ์บทเพลงนมัสการพระเจ้าที่เป็นอมตะหลายเพลง เพลงหนึ่งที่เราคุ้นเคยคือ “พระคุณพระเจ้า” (Amazing Grace)
หากปราศจากพระเจ้า จอห์น นิวตัน ก็คงจบชีวิตลงแบบสิ้นหวังและอาจทิ้งชื่อของเขาไว้บนโลกนี้ในฐานะกัปตันเรือค้าทาสผู้ไร้เมตตาธรรม แต่เพราะมีพระเจ้า แม้เขาอาจมิได้มีเงินทองร่ำรวยมั่งคั่งเหมือนขณะที่เขาค้าทาส แต่ชื่อเสียงของเขาที่ทิ้งไว้บนโลกนี้หลังจากที่เขาจากไปเมื่อปี 1807 นั้น ได้บันทึกถึงเรื่องราวแห่งเกียรติและศักดิ์ศรีที่ได้รับเสียงสรรเสริญจากคริสเตียนและคนต่างๆ ทั่วโลก 
พระคุณของพระเจ้าเป็นสิ่งที่อัศจรรย์สำหรับชีวิตของท่าน ที่ท่านได้รับความรักของพระเยซูคริสต์ ชีวิตจึงเปลี่ยนไป และท่านได้มอบความรักของพระองค์ออกไปสู่คนทั่วโลกผ่านบทเพลงและคำเทศนา
เมื่อพูดถึงความรัก หลายคนอาจจะนึกถึงเทศกาลวันวาเลนไทน์ แต่ในความจริงแล้ว ในเทศกาลคริสต์มาสก็เป็นเทศกาลแห่งความรัก ที่เป็นความรักที่พระเจ้าไม่ได้เม้มเก็บเอาไว้แต่พระองค์สำแดงความรักกับเรา ทำให้เราได้ประจักษ์ในรักของพระองค์
ในครั้งนี้ ผมขออัญเชิญพระวจนะของพระเจ้าจากพระธรรมจดหมายของอัครสาวกยอห์น

1ยอห์น 4:9 -10
9 โดยข้อนี้ความรักของพระเจ้าก็เป็นที่ประจักษ์แก่เราทั้งหลาย คือพระเจ้าทรงใช้พระบุตรองค์เดียวของพระองค์เข้ามาในโลก เพื่อเราทั้งหลายจะได้ดำรงชีวิตโดยพระบุตร
10 ความรักที่ข้าพเจ้าพูดถึงนี้มิใช่ที่เรารักพระเจ้า แต่ที่พระองค์ทรงรักเรา และทรงใช้พระบุตรของพระองค์มา ทรงเป็นผู้ลบล้างพระอาชญาที่ตกกับเราทั้งหลายเพราะบาปของเรา  
พระวจนะตอนนี้กล่าวถึงความรักของพระเจ้าที่พระองค์ทรงสำแดงให้เราประจักษ์ชัดได้ผ่านการมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูคริสต์ เป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข และนำมาซึ่งการลบล้างความบาปผิดในชีวิตของเรา  ทำให้เราซาบซึ้งในพระคุณความรักของพระเจ้า จากพระธรรมตอนนี้ เราสามารถประจักษ์ในความรักของพระคริสต์  

คำว่า“ประจักษ์ นั้นให้ความหมายถึง การประกาศ การแสดงให้รู้  การปรากฏชัด
แจ้ง

ความรักของพระเจ้าสำแดงออกโดยการที่พระเจ้ามาบังเกิดเป็นมนุษย์และมาตายเพื่อ
ไถ่บาปให้กับเรา  หลายคนที่เป็นมนุษย์อยากจะเป็นพระเจ้า แต่พระเยซูคริสต์เป็นพระเจ้า
ที่ลงมาเป็นมนุษย์ เรื่องของพระเยซูคริสต์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นเรื่องของความรักที่
เราสามารถสัมผัสได้ด้วยความเข้าใจไม่ใช่เพียงแค่ความรู้ในด้านศาสนา

ศาสนาเป็นวีธีการที่จะพาคนไปหาพระเจ้า แต่พระเยซูคริสต์เป็นพระเจ้าที่มาหามนุษย์
ศาสนาเป็นความรู้ แต่พระคริสต์เป็นความเข้าใจที่สัมผัสได้เมื่อเราเปิดใจ
ความรู้คือประสบการณ์ของคนอื่นที่เราสามารถเรียนรู้ได้ แต่ความเข้าใจมากกว่าความรู้เพราะความเข้าใจเป็นเรื่องของประสบการณ์ของเราที่เข้าใจเอง ไม่ใช่ความรู้จากหัวสมอง (Head)แต่เป็นการสัมผัสด้วยหัวใจ(Heart)

อัครสาวกยอห์นได้เขียนอธิบายไว้ดังนี้ ใน ข้อที่ 9 ตอนปลายกล่าวว่า “...เพื่อเราทั้งหลายจะได้ดำเนินชีวิตโดยพระบุตร” คือดำเนินชีวิตโดยเรียนรู้จากพระองค์ พึ่งพากำลังที่มาจากพระเจ้าในการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างถูกต้อง และเป็นคนใหม่ที่ชอบธรรมแล้วผ่านความเชื่อในการหลั่งโลหิตของพระเยซูเพื่อไถ่บาปเรา เราสามารถเรียนรู้จักและทำความเข้าใจความรักของพระคริสต์ได้ดังนี้

1.รักที่เสียสละ (ข้อ 9) 

พระวจนะกล่าวว่า “โดยข้อนี้ความรักของพระเจ้าก็เป็นที่ประจักษ์แก่เราทั้งหลาย คือพระเจ้าทรงใช้พระบุตรองค์เดียวของพระองค์เข้ามาในโลก เพื่อเราทั้งหลายจะได้ดำรงชีวิตโดยพระบุตร” พระวจนะกล่าวถึงพระเยซูคริสต์ว่าทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” แท้จริงพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเจ้า ทรงเป็นแหล่งแห่งชีวิตและมีฤทธิ์อำนาจอยู่เหนือสรรพสิ่ง แต่กลับมิได้ทรงถือว่าสภาพพระเจ้านั้นเป็นสิ่งที่ต้องยึดถือ (ฟป.2:6-7) พระองค์ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ในสภาพของเนื้อหนัง เพื่อเป็นแบบอย่างแก่เราในการดำเนินชีวิตติดตามพระเจ้า รวมทั้งมอบชีวิตของพระองค์เองเป็นค่าไถ่บาปแก่เรา (มก.10:45) เพื่อคนที่วางใจในพระองค์จะได้รับชีวิตใหม่ เปลี่ยนแปลงไปเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากยิ่งขึ้น และฟื้นขึ้นจากความตายไปอยู่ร่วมกับพระองค์บนแผ่นดินสวรรค์ ดังที่พระวจนะในข้อ 9 ตอนปลายกล่าวว่า “...เพื่อเราทั้งหลายจะได้ดำรงชีวิตโดยพระบุตร” ความรักของพระเยซูคริสต์จึงเป็นความรักที่เสียสละ หากเราซาบซึ้งในความรักที่เสียสละของพระองค์ เราเองก็จะดำเนินชีวิตที่ยินดีเสียสละเพื่อเห็นแก่ผู้อื่น นำคนกลับมาพบพระคุณความรักของพระเจ้า เหมือนที่พระคริสต์ได้นำคนมากหลายกลับมาหาพระบิดา

2.รักที่ลบล้างความผิด (ข้อ 10) 

พระวจนะกล่าวว่า “ความรักที่ข้าพเจ้าพูดถึงนี้ มิใช่ที่เรารักพระเจ้า แต่ที่พระองค์ทรงรักเรา และทรงใช้พระบุตรของพระองค์มาทรงเป็นผู้ลบล้างพระอาชญาที่ตกกับเราทั้งหลายเพราะบาปของเรา” แท้จริงมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป และเพราะบาปของเราทั้งหลายเป็นเหตุให้เราสมควรรับการลงโทษ แต่เพราะความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเรา พระองค์จึงทรงประทานพระคริสต์ในสภาพของเนื้อหนังมาเพื่อรับการปรับโทษบาปแทนเราบนไม้กางเขน (รม.8:3) ความรักของพระเยซูคริสต์จึงเป็นการให้อภัยที่ปราศจากเงื่อนไข โดยไม่ขึ้นอยู่กับความดีที่เราทำ แต่โดยพระคุณที่เราได้รับแม้เราไม่สมควรจะได้

คอร์รี่ เทน บูม (Corrie Ten Boom) นักศาสนศาสตร์และนักเขียนชาวเนเธอร์แลนด์เชื้อสายยิวเป็นผู้เขียนหนังสือ The Hiding Place กล่าวว่า "การให้อภัยเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูแห่งความแค้นและกุญแจมือของความเกลียดชัง เป็นอำนาจที่จะหักโซ่ตรวนของความขมขื่นและห่วงโซ่ของความเห็นแก่ตัว "ในวันนี้มีใครบ้างที่คุณต้องการให้อภัย?
ทำไมเธอถึงกล่าวอย่างนั้นได้ เพราะเธอเคยมีประสบการณ์แห่งการให้อภัยที่ยิ่งใหญ่ดังเช่นพระคริสต์ได้ให้อภัยความบาปของเธอ
เมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัวของเธอเป็นส่วนหนึ่งที่รอดตายจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว(Holocaust)พี่สาวของเธอต้องตายโดยการทำทารุณกรรมโดยทหารนาซีผู้หนึ่ง และเธอจำคนนั้นได้อย่างไม่มีวันลืมเพราะความเครียดแค้น  จนวันหนึ่งเธอได้ต้อนรับพระเยซูคริสต์ เธอได้ซาบซึ้งถึงความรักของพระองค์ที่มาตายไถ่บาปและให้อภัยความบาปของเธอ เธอได้ถวายชีวิตเพื่อการรับใช้พระองค์โดยการเดินทางไปเทศนาประกาศข่าวประเสริฐทั่วโลก
จนวันหนึ่งเธอได้นำผู้คนรับเชื่อในพระเยซูคริสต์ และมีชายคนหนึ่งออกมารับเชื่อพระเยซูคริสต์ ผู้ชายคนนั้นคือทหารนาซีคนนั้นที่ทำให้พี่สาวของเธอต้องตาย แต่เธอได้ตัดสินใจให้อภัยชายผู้นั้นเพราะเธอได้ประจักษ์ถึงความรักของพระคริสต์ เพราะความรักลบล้างความผิดมากมายได้ (1ปต.4:8)
การให้อภัยเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูแห่งความแค้นและกุญแจมือของความเกลียดชังในชีวิตของเธอ...
เธอได้กล่าวไว้อย่างน่าฟัง และทำให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริงในเทศกาลคริสต์มาส ดังนี้
ยน.3:16 เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จนได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์

แรงจูงใจที่ดีเลิศ คือ พระเจ้าทรงรักโลก
ของขวัญที่ดีเลิศ คือ พระเจ้าทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์
เงื่อนไขเดียวที่จำเป็น คือ การเชื่อวางใจในพระองค์
รางวัลแห่งการเชื่อวางใจนั้น คือ เราจะได้รับชีวิตนิรันดร์

เทศกาลคริสต์มาสจึงเป็นเทศกาลแห่งการให้ ที่เป็นความสุขของผู้ให้ ทำให้เกิดรอยยิ้มของผู้รับ
เพราะพระเยซูคริสต์สอนเราทั้งหลายไว้ว่า "การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ"
กจ. 20:35 …ระลึกถึงพระวาทะของพระเยซูเจ้า ซึ่งพระองค์ตรัสว่า "การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ"
ความรักที่ลบล้างความผิดบาปได้ เมื่อเรากลับมาเชื่อวางใจและรับการอภัยจากพระเจ้าผ่านความเชื่อในพระเยซูคริสต์ พระองค์ก็จะทรงชำระเราให้พ้นจากการอธรรมทั้งสิ้น (1 ยน.1:9) และกลับมามีความสัมพันธ์สนิทแนบแน่นกับพระองค์ทุกวันเรื่อยไป คริสต์มาสจึงเป็นวันของเราทุกคน เพราะความรักของพระเจ้า และความบาปของเราทุกคนเป็นเหตุให้พระเยซูเสด็จมาในโลกนี้
ขอบคุณสำหรับความรักของพระเจ้าที่ทำให้เราประจักษ์ในความรักอัศจรรย์ของพระองค์

14 ธันวาคม 2555

คำอธิษฐานอวยพรประจำเดือนเทเบท(Tevet)

"คำอธิษฐานอวยพรประจำเดือนเทเบท (Tevet)" เดือนนี้เป็นเดือนที่ 10 หากนับตามปฏิทินฮีบรูแบบศาสนา (Ecclesiastical year) เป็นเดือนที่ 4 ตามปฏิทินฮีบรูแบบราชการ(Civil year) เดือนนี้จะมี 29 วันตั้งแต่ วันที่ 14 ธ.ค.-12 ม.ค.13 หรือปี 5773 ตามปฏิทินฮีบรู

วาระเวลาและสิ่งต่างๆที่พระเจ้าทรงสร้าง มีการสำแดงการเผยพระวจนะเพื่อถวายพระเกียรติพระสิริแด่พระเจ้า
สดุดี 19:1-2
1 ฟ้าสวรรค์ประกาศพระสิริของพระเจ้า และภาคพื้นฟ้าสำแดงพระหัตถกิจของพระองค์
2 วันส่งถ้อยคำให้แก่วัน และคืนแจ้งความรู้ให้แก่คืน
"คำอธิษฐานอวยพรประจำเดือน" เพื่อให้เรานำสิ่งเหล่านี้มาอธิษฐานป่าวประกาศในแต่ละเดือน เป็นการเริ่มต้นเดือนใหม่ ด้วยพระพรจากพระเจ้าดังนี้ครับ

1.เดือนแห่งเผ่าดาน ในปฐก.49:16-18 บอกไว้ว่า "ส่วนดานจะเป็นทนายของประชาชนของตน เป็นเผ่าหนึ่งในอิสราเอล ดานจะเป็นงูอยู่กลางถนน เป็นงูพิษที่อยู่ในหนทางที่กัดส้นเท้าม้า ให้คนขี่ตกหงายลง ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์รอคอยความรอดจากพระองค์" ซึ่งบอกเรา 3 สิ่ง
1.พระเจ้าประสงค์ให้เราเติบโตขึ้นและเป็นผู้ใหญ่ เพื่อเราจะสามารถนำคนได้ (จากคำว่า judge ผู้วินิจฉัยหรือทนาย)
2.เราสามารถเข้าร่วมในสงครามและทำให้ศัตรูล้มหงายหลัง
3.เราจะสามารถเห็นพระสัญญาพระเจ้าสำเร็จเป็นจริงเมือเรารอคอยในองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยใจเชื่อมั่น

2.แซมสันมาจากเผ่าดาน (วนฉ.13-16) แซมสันไม่มีความเป็นผู้ใหญ่ ช่องโหว่สองเรื่องหลักของเขาคือ เขาไม่มีความตั้งใจที่จะปฏิเสธเนื้อหนังของเขา และ เขาไม่ได้ยึดการทรงเรียกไว้อย่างจริงจัง เขาไม่สามารถแตะถึงศักยภาพอันสูงสุดของเขา และล้มเหลวอย่างสุดขีด แต่ชีวิตของเขาก็จบลงด้วยการกลับใจ ซึ่งก็นำชัยชนะมาให้เขา

3.การฉลองเทศกาลฮานุกกะห์ (Hanukkah) จบลงที่เดือนนี้ อยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 9 ธ.ค.-16 ธ.ค.เป็นเวลา 8 วัน ดังนั้น พระคุณจึงมีอยู่ท่ามกลางการทำลาย ไม่ว่าปัญหาจะเป็นอะไรก็ตาม พระเจ้าทางมีทางที่จะมอบพระคุณสำหรับสร้างสรรค์อนาคตที่ดีให้ (ซึ่งเกิดขึ้นกับกรณีแซมสันด้วย)

4.เป็นเวลาทำสงครามกับศัตรูและสะบั้นอำนาจของมันในการเฝ้าดู (ตาแห่งความชั่ว - evil eye) และจัดการเรา เราจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าร่วมกับเหล่าทูตสวรรค์ จงดูที่เอลิชาอธิษฐานให้ตาของคนใช้ของเขาเปิด แล้วก็อธิษฐานให้ตาของศัตรูบอดไป ปัญหาจะเปลี่ยนมาเป็นชัยชนะ (2พกษ.6:17-18) จงตระหนักว่าพระเจ้าและทูตสวรรค์ของพระองค์กำลังเฝ้ามองอยู่

2พงศ์กษัตริย์ 6:17-18
17 แล้วเอลีชาก็อธิษฐานว่า "ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงเบิกตาของเขาเพื่อเขาจะได้เห็น" และพระเจ้าทรงเบิกตาของชายหนุ่มคนนั้น และเขาก็ได้เห็นและดูเถิด ที่ภูเขาก็เต็มไปด้วยม้า และรถรบเพลิงอยู่รอบเอลีชา
18 และเมื่อคนซีเรียลงมารบกับท่าน เอลีชาก็อธิษฐานพระเจ้าว่า "ขอทรงโปรดให้คนเหล่านี้ตาบอดไปเสีย" พระองค์จึงทรงให้เขาทั้งหลายตาบอดไปตามคำอธิษฐานของเอลีชา

5.จงอธิษฐานให้พระวิญญาณแห่งปัญญาและการเปิดเผยสำแดงอยู่บนผู้นำของเรา (และตัวเราด้วย)ใน อฟ1.17 นี่เป็นเวลาที่จะได้รับยุทธศาสตร์ต่างๆ
เอเฟซัส 1:17 ข้าพเจ้าอธิษฐานว่า ขอพระเจ้าแห่งพระเยซูคริสตเจ้าของเรา คือพระบิดาผู้ทรงพระสิริทรงโปรดประทานให้ท่านทั้งหลาย มีจิตใจอันประกอบด้วยสติปัญญา และความประจักษ์แจ้งในเรื่องความรู้ถึงพระองค์

6.ทบทวนการศึกษาที่ได้ร่ำเรียนมา หรืออะไรที่คุณจำเป็นต้องมีสำหรับระยะถัดไป ฝึกฝนสิ่งที่จำเป็นสำหรับขั้นต่อไปของคุณ

7.ต้องเติบโตทางด้านอารมณ์ และเติบโตในความเข้าใจเรื่องความโกรธ เอเฟซัส 4.26 หนุนใจให้เราไม่ทำบาปด้วยความโกรธ ความโกรธนั้นกระทันหัน และปล่อยให้ผีได้ทำงาน จงขอพระเจ้าให้ช่วยคุณในเรื่องความโกรธ เพื่อคุณจะกำกับมันได้อย่างถูกต้อง และผ่านการทดสอบได้เมื่อมันมาถึง จงใช้เวลาที่คุณมีอยู่ เทพระคำของพระเจ้าลงมาในชีวิตคุณเพื่อรับการสร้าง
เอเฟซัส 4:26 จะโกรธก็โกรธได้ แต่อย่าทำบาป อย่าให้ถึงตะวันตกท่านยังโกรธอยู่

8.เป็นเวลาที่จะกระโดดเหมือนอย่างแพะ (เดือน Tevet เชื่อมโยงกับ กลุ่มดาว Capricorn = แพะ) ความเป็นผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องเป็นกระบวนการที่ไปอย่างช้า ๆ ใช้เวลานาน เราสามารถตัดสินใจได้ทันทีและกระโดดไปสู่ระดับใหม่ของความเติบโต อสย.35.6 บอกไว้ว่า "คนง่อยจะกระโดดได้อย่างกวาง" สดด. 18.33 บอกว่า "พระองค์ทรงกระทำให้เท้าของข้าพเจ้าเหมือนอย่างตีนกวางตัวเมีย และทรงวางข้าพเจ้าไว้บนที่สูง" การแบ่งปันคำพยาน (ที่พระเจ้าได้ทำเพื่อคุณ) จะเป็นเหตุให้คุณก้าวกระโดดขึ้นสู่ระดับที่สูงขึ้น

9.เดือนแห่งตัวอักษร AYIN (ซึ่งคล้ายกับตัวอักษร Y เล็งถึง สายตา และ มีความหมายว่า ให้ตาแห่งความดีของคุณมองเห็น) นี่จะตรงข้ามกับข้อ 4 ด้านบน ซึ่งเกี่ยวกับตาแห่งความชั่วของศัตรู จงขอพระเจ้าสำหรับ "พระวิญญาณแห่งปัญญาและการเปิดเผยสำแดง ในความรู้ถึงพระองค์"
เอเฟซัส 1:17 ข้าพเจ้าอธิษฐานว่า ขอพระเจ้าแห่งพระเยซูคริสตเจ้าของเรา คือพระบิดาผู้ทรงพระสิริทรงโปรดประทานให้ท่านทั้งหลาย มีจิตใจอันประกอบด้วยสติปัญญา และความประจักษ์แจ้งในเรื่องความรู้ถึงพระองค์

10.เดือนแห่งตับ จงขอการรักษาทุกปัญหาเกี่ยวกับตับ ตับนั้นสำคัญเพราะมันทำหน้าที่ชำระ มันเชื่อมโยงกับสิ่งลามกต่างๆด้วย เมื่อตับถูกทำให้สะอาด สมองและหัวใจก็จะทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมเช่นกัน เช่นเรื่องราวของชายหนุ่มกับโสเภณี ซึ่ง สภษ.7.23 สรุปไว้ว่า การอันไม่สมควรของเขา เป็นเหมือนกับธนูที่ปักเข้าไปถึงตับ (ไม่ได้เป็นธนูปักเข่า)บาปเรื่องเพศจะมีผลต่อตับของคุณ
สุภาษิต 7:23 จนลูกธนูปักเข้าไปถึงตับ อย่างนกรนเข้าไปหาบ่วง เขาหาทราบไม่ว่า นี่มีค่าถึงชีวิต
ข้อมูลจาก http://arise5.com/updates/2012/12/14/tevet-the-10th-hebrew-month-dec-14-jan-11/

12 ธันวาคม 2555

ฝันไปกับพระเจ้า(Dream with God)

สวัสดีครับเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ในเดือนธันวาคมเป็นเดือนสุดท้ายปี เวลามันช่างผ่านไปเร็วจริงๆราวกับเราฝันไป
เมื่อต้นปี 2012 ประเทศไทยของเราได้ผ่านวิกฤตการณ์น้ำท่วมไป และมีการรื้อฟื้นสิ่งต่างๆ ในปลายปีนี้ดูเหมือนว่าสิ่งต่างๆ เริ่มกลับสู่สภาพดี และปีนี้ก็ไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมอีกดังปีที่แล้ว เรียกว่าปีนี้ รัฐบาล "เอาอยู่"จริงๆ สิ่งที่เราคนไทยทุกคนอยากเห็นคือการสมัครสมานสามัคคีกันเพื่อพัฒนาประเทศกันต่อไป เพราะประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น สิงคโปร์ มาเลเซียและเวียดนาม พวกเขาพัฒนาหนีเราไปเริ่มไกลแล้ว หากประเทศไทยเรายังมัวมาแต่แบ่งฝั่งแบ่งฝ่าย ใส่เสื้อต่างสี หรือโจมตีว่าร้ายกัน ว่าคนนั้นเป็นขี้ข้าคนโน้น เป็นพวกไพร่ หรือ คนนี้ฝักใฝ่พรรคใดเป็นพิเศษ
ผมในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ขอหนุนใจว่า "เราไม่ได้มีพวกไพร่เพราะเราเป็นพวกไพร่ฟ้าของในหลวง เราไม่เป็นขี้ข้าใครหรือฝักใฝ่พรรคใด มีพรรคเดียวในใจคือ จงรัก"ภักดี"ต่อพระมหากษัตริย์  ไม่แบ่งสี มีสีเดียวคือ ศีรษะนี้ขอนบนอบต่อพระเจ้าอยู่หัว"
หวังว่าสิ่งที่เราอยากเห็นประเทศของเราเจริญก้าวหน้ามีความสามัคคีคงจะไม่ใช่เพียงฝันกลางวันแต่เป็นฝันที่เป็นจริง 

เมื่อกล่าวถึงการรื้อฟื้น ผมเชื่อว่าเมื่อมีการรื้อฟื้อสิ่งที่จะตามมาคือการฟื้นฟูและเสียงโห่ร้องด้วยความยินดี ดังพระวจนะที่กล่าวไว้ใน สดุดี 126:1-6

1 เมื่อพระเจ้าทรงให้ศิโยนกลับสู่สภาพดี เราก็เป็นเหมือนคนที่ฝันไป
2 ปากของเราได้หัวเราะเต็มที่ และลิ้นของเราได้เปล่งเสียงโห่ร้องอย่างชื่นบาน แล้วเขาได้พูดกันท่ามกลางประชาชาติว่า "พระเจ้าทรงกระทำการมโหฬารให้เขา"
3 พระเจ้าทรงกระทำการมโหฬารให้เรา เรามีความยินดี
4 ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงให้ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับสู่สภาพดี อย่างทางน้ำไหลที่ในเนเกบ
5 ขอให้บรรดาผู้ที่หว่านด้วยน้ำตา ได้เกี่ยวด้วยเสียงโห่ร้องอย่างชื่นบาน
6 ผู้ที่ร้องไห้ออกไป หอบหิ้วเมล็ดพืชเพื่อจะหว่าน จะกลับบ้าน ด้วยเสียงโห่ร้องอย่างชื่นบาน นำฟ่อนข้าวของตนมาด้วย  
ดังนั้นผมเชื่อว่าเมื่อมีการรื้อฟื้นสิ่งต่างๆ พระเจ้าจะทำให้เกิดการฟื้นฟู โดยในปี 2013 จะเป็นการเปิดประตูสู่การฟื้นฟูในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสที่ดีในช่วงปลายปี เป็นเวลาที่เราแต่ละคนจะได้อธิษฐานเผื่อรับการสำแดงจากพระเจ้า เพื่อเป็นทิศทางในการดำเนินชีวิตในปีข้างหน้านี้

สำหรับการสำแดงของพระเจ้ามีหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางความฝัน นิมิต และการเผยพระวจนะ
กิจการของอัครทูต 2:17-19
17 "พระเจ้าตรัสว่าในวาระสุดท้าย เราจะเทฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณของเราโปรดประทานแก่มนุษย์ทั้งปวง บุตราบุตรีของท่านทั้งหลายจะกล่าวคำพยากรณ์ คนหนุ่มของท่านจะเห็นนิมิต และคนแก่จะฝันเห็น
18 ในคราวนั้น เราจะเทฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณของเราบนทาสทาสีของเรา และคนเหล่านั้นจะกล่าวคำพยากรณ์
19 เราจะสำแดงการอัศจรรย์ในอากาศเบื้องบน และนิมิตที่แผ่นดินเบื้องล่าง เป็นเลือด ไฟ และไอควัน  

ถ้อยคำจากพระวจนะตอนนี้เป็นการอ้างอิงจากคำเผยพระวจนะของโยเอล(ยอล.2:28-29) ในวาระสุดท้ายการเทลงมาของพระวิญญาณบริสุทธิ์ทำให้เหล่าสาวกทั้งหลายจะได้รับการสำแดงจากพระเจ้าเพื่อออกไปกล่าวถ้อยคำเชิงการเผยพระวจนะออกไป หลายคนที่เป็นหนุ่มสาวเริ่มเห็นนิมิต คนบางคนไม่จำเป็นต้องเป็นคนชราก็สามารถฝันได้
เราต้องเข้าใจการรับการสำแดงจากพระเจ้ามีวิธีการดังต่อไปนี้  
ความฝัน คือ การสำแดงของพระเจ้าเมื่อเราหลับสนิท
การเห็นนิมิต คือ การสำแดงของพระเจ้าเมื่อเราตื่นอยู่
การเข้าสู่ภวังค์ คือ การสำแดงของพระเจ้าเมื่อเราอยู่ระหว่างครึ่งหลับ ครึ่งตื่น
ภวังค์ (อ่านว่าพะ-วัง ไม่ใช่พะวง เพราะพะวงคือการนอนไม่หลับ) สำหรับคริสตชนอย่างเรา คงไม่มีอะไรต้องพะวงเพราะเราวางใจในพระเจ้าจะหลับสบาย(สดด.127:2)  

ในวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจและร่วมฝันไปกับพระเจ้าด้วยกัน

ความฝันเป็นภาษาแห่งอารมณ์และเต็มไปด้วยสัญลักษณ์  เราต้องเรียนรู้ที่จะแปลความจากพระคัมภีร์ก่อนแล้วจึงแปลความจากชีวิตของเรา คำอธิบายง่าย ๆ ของความฝันในพระคัมภีร์ที่จะทำให้เข้าใจก็คือว่า พระคัมภีร์นั้นเต็มไปด้วยภาพและองค์ประกอบที่เป็นสัญลักษณ์ จุดสำคัญอันหนึ่งที่ควรจำไว้ในการพยายามเข้าใจภาษาความฝันก็คือ พระเจ้าใช้ภาษาสัญลักษณ์อย่างสอดคล้องกันตลอด และความสอดคล้องในสัญลักษณ์ก็จะยังคงเป็นจริงในชีวิตของเรา  โดยทั่วไป สัญลักษณ์ทางพระคัมภีร์สามารถแบ่งได้เป็น 7 ประเภทด้วยกัน

1.การกระทำเชิงสัญลักษณ์ ในเอเฟซัส 2:4-6 อัครทูตเปาโลได้กล่าวว่า “พระเจ้า...กระทำให้เรามีชีวิตอยู่กับพระคริสต์...และให้เราเป็นขึ้นมา (Raise us up) กับพระองค์ และให้เรานั่งในสวรรคสถานกับพระเยซูคริสต์” 
ทั้ง2การกระทำเชิงสัญลักษณ์ – ยกขึ้น (Raising) และ นั่งลง (Seating)
นี้ได้บรรยายสิ่งที่พระเจ้าทำให้กับเราในฝ่ายวิญญาณโดยผ่านพระเยซูคริสต์
“ยกขึ้น” เล็งถึงการฟื้นขึ้นจากความตาย และ “นั่งลง” เล็งถึงที่แห่งการปกครอง
ในฐานะที่เป็นคริสเตียน เราถูก “ยกขึ้น” สู่ชีวิตใหม่ในพระคริสต์ และ นั่งข้าง ๆ พระองค์เพื่อปกครองร่วมกับพระองค์

2.สีเชิงสัญลักษณ์ ในความฝันเชิงเผยพระวจนะ สีที่เจาะจงมักจะบ่งชี้ถึงสิ่งที่เจาะจง สิ่งนี้เป็นจริงโดยเฉพาะกับผู้ทำนาย เราจะพิจารณาอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นในเรื่องสัญลักษณ์ของสีหลังจากนี้อีกสักหน่อย

3.สัตว์เชิงสัญลักษณ์  2 ตัวอย่างที่เพียงพอที่จะอธิบายสิ่งนี้คือ “พญานาคใหญ่ซึ่งเป็นงูดึกดำบรรพ์ ที่เขาเรียกกันว่ามารและซาตาน ผู้ล่อลวงมนุษย์ทั้งโลกก็ถูกผลักทิ้งลงไป พญานาคและบริวารของมันถูกผลักทิ้งลงไปในแผ่นดินโลก” (วว 12.9) สัตว์เชิงสัญลักษณ์ 2 ตัวที่นี่คือ พญานาค และ งูดึกดำบรรพ์ ถูกใช้เพื่อแทนซาตาน “และข้าพเจ้าเห็นผีโสโครกสามตนรูปร่างคล้ายกบ ออกมาจากปากพญานาค ออกจากปากสัตว์ร้ายนั้น และออกจากปากคนที่ปลอมตัวเป็นผู้เผยพระวจนะ ด้วยว่าผีเหล่านั้นเป็นผีร้าย...” (วว 16:13-14ก) ในตัวอย่างนี้ ยอหน์ใช้ กบ เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของผีโสโครก

4.ทิศทางเชิงสัญลักษณ์ ตัวอย่างเช่นทิศทาง “ขึ้น(up)” โดยปกติก็จะหมายถึง ไปยังพระเจ้า หรือ ไปยังความชอบธรรม ในขณะที่ “ลง(down)” มีความหมายตรงกันข้าม “ฝ่ายเจ้าเมืองคาเปอรนาอุม เจ้าจะถูกยกขึ้นเทียมฟ้าหรือ มิได้ เจ้าจะต้องลงไปถึงแดนคนตายต่างหาก” (ลก 10:15) ในปฐมกาล 12:10 อับราม ลงไปยังอียิปต์ (ห่างจากแผ่นดินที่พระเจ้าเรียกให้เขาไป) เพื่อหนีจากการกันดารอาหาร ในปฐมกาล 13:1 บอกว่า เขาขึ้นจากอียิปต์ กลับไปยังบ้านของเขา

5.ชื่อเชิงสัญลักษณ์ ลักษณะสามัญอย่างหนึ่งของชื่อในพระคัมภีร์ก็คือ  มักจะสะท้อนลักษณะของคนๆนั้น “ขอเจ้านายของดิฉันอย่าได้เอาความกับนาบาลชายสามหาวคนนี้เลย คือนาบาล เพราะเขาเป็นอย่างที่ชื่อของเขาบอก นาบาลเป็นชื่อของเขา และความโง่เขลาก็อยู่กับเขา แต่ดิฉันผู้รับใช้ของท่านหาได้เห็นพวกคนหนุ่มของเจ้านายซึ่งท่านได้ใช้ไปนั้นไม่” (1ซมอ 25:25) นี่คือภรรยาของนาบาล เธอชื่อ อาบีกายิล ซึ่งพูดกับดาวิดเกี่ยวกับสามีของเธอ และเธอก็คงจะรู้ว่าชื่อ “นาบาล” ตามตัวอักษรหมายถึง คนโง่ โดยการกระทำที่โง่และไม่เกรงใจของเขาต่อดาวิดและคนของดาวิด นาบาลก็ได้ดำเนินชีวิตตามที่ชื่อเขาเป็น

6.ตัวเลขเชิงสัญลักษณ์ ตัวเลขมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ตลอดเล่มพระคัมภีร์ มนุษย์ถูกสร้างขึ้นในวันที่ 6 และพระเจ้าเสร็จงานของพระองค์และพักผ่อนในวันที่ 7 ตัวเลขเหล่านี้รวมถึงการแปลความหมายจะสอดคล้องกันตลอดเล่มพระคัมภีร์ เราจะสำรวจตัวเลขเชิงสัญลักษณ์แบบใกล้ชิดยิ่งขึ้นหลังจากนี้

7.วัตถุเชิงสัญลักษณ์ “ฝ่ายเราบอกท่านว่าท่านคือเปโตร และบนศิลานี้ เราจะสร้างคริสตจักรของเราไว้ และพลังแห่งความตาย (gates of Hades) จะมีชัยต่อคริสตจักรนั้นหามิได้” (มธ.16:18) ในข้อนี้พระเยซูใช้วัตถุเชิงสัญลักษณ์ 2 อย่างคือ ศิลาซึ่งเล็งเห็นเปโตร (หรือบางทีอาจหมายถึงพระองค์เอง ซึ่งเป็นการเล่นคำ) และประตู (gate) ซึ่งเล็งถึงทางเข้าสู่อาณาจักรแห่งความมืด ศิลาซึ่งหมายถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นความเข้าใจปกติในพระคัมภีร์ (สดด.18:2 และ 1คร.10:4) สิ่งของอื่น ๆ ที่ถูกใช้ปกติในทางคล้ายๆกัน โล่ห์ ชาม พิณ เทียน ฯลฯ

(ข้อมูลอ้างอิง จาก หนังสือ The Seer - The Prophetic Power of Visions, Dreams, and Open Heavens by James W. Goll)

เมื่อเราทำความเข้าใจในเรื่องความฝันแล้ว ต้องทำความเข้าใจเรื่องสีเชิงสัญลักษณ์ในความฝันเชิงเผยพระวจนะจะต้องมีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด สีค่อนข้างเป็นสัญลักษณ์ระดับสูงในพระคัมภีร์ สีที่เจาะจงจะหมายถึงสิ่งที่เจาะจงหรือคุณภาพหรือลักษณะ ต่อไปนี้จะพูดถึงหลายๆสีที่มีความหมายทั่วๆไป 

1.อำพัน หมายถึง พระสิริหรือการทรงสถิตของพระเจ้า “ดูเถิด เมื่อข้าพเจ้ามองดู ลมพายุก็พัดมาจากทางเหนือ มีเมฆก้อนใหญ่ที่มีความสว่างอยู่รอบ และมีไฟลุกวาบออกมาอยู่เสมอ ท่ามกลางไฟนั้นดูประหนึ่งทองสัมฤทธิ์ที่แวบวาบ” (อสค.1:4) อำพันไม่ใช่ทองแต่สุกสว่างกว่า สีเหมือนไฟ ที่กำลังลุก ซึ่งเป็นสีที่เหมาะสมสำหรับแทนพระสิริของพระเจ้า

2.ดำ หมายถึงความบาป ความตาย หรือการกันดารอาหาร “เมื่อพระองค์ทรงแกะตราดวงที่สามนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ยินสัตว์ตัวที่สามร้องว่า “มาเถอะ” แล้วข้าพเจ้าก็แลเห็น และดูเถิด ม้าดำตัวหนึ่งเข้ามา และท่านที่ขี่ม้านั้นถือตราชู แล้วข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียง เหมือนกับว่าดังออกมาจากท่ามกลางสัตว์ทั้งสี่นั้นว่า “ข้าวสาลีราคาทะนานละหนึ่งเดนาริอันข้าวบารลีสามทะนานต่อหนึ่งเดนาริอัน แต่เจ้าอย่าทำอันตรายแก่น้ำมันและน้ำองุ่น” (วว.6:5-6)

3.น้ำเงิน หมายถึง สวรรค์หรือพระวิญญาณบริสุทธิ์  “จงพูดกับคนอิสราเอลและสั่งเขาให้ทำพู่ที่มุมชายเสื้อ ตลอดชั่วชาติพันธุ์ของเขา ให้เอาด้ายสีฟ้าติดพู่ที่มุมทุกมุม” (กดว.15:38) สีน้ำเงินยังถูกแปลว่าพระสัญญาของพระเจ้าหรือกิจพยากรณ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์

4.แดงเข้มหรือเลือดหมู หมายถึงการไถ่ การเสียสละ “พระเจ้าตรัสว่า “มาเถิด ให้เราสู้ความกัน ถึงบาปของเจ้าเหมือนสีแดงเข้ม ก็จะขาวอย่างหิมะ ถึงมันจะแดงอย่างผ้าแดง ก็จะกลายเป็นอย่างขนแกะ” (อสย.1:18)

5.ม่วง หมายถึง สถานะกษัตริย์ ราชวงศ์ “และพวกทหารก็เอาหนามสานเป็นมงกุฎสวมพระเศียรของพระองค์ และให้พระองค์สวมเสื้อสีม่วง” (ยน.19.2)

6.แดง หมายถึง การหลั่งโลหิต สงคราม “และมีม้าอีกตัวหนึ่งเข้ามาเป็นม้าสีแดงสด ผู้ที่ขี่ม้าตัวนี้ได้รับพระราชานุญาตให้นำสันติสุขไปจากแผ่นดินโลก เพื่อให้คนทั้งปวงรบราฆ่าฟันกัน และท่านผู้นี้ได้รับพระราชทานดาบใหญ่เล่มหนึ่ง” (วว.6:4)

7.ขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ แสงสว่าง ความขอบธรรม “ข้าพเจ้าก็แลเห็น และดูเถิด มีม้าขาวตัวหนึ่งออกมา และท่านที่ขี่ม้านั้นถือธนู และได้รับพระราชทานมงกุฎ แล้วท่านก็ขี่ม้าออกไปอย่างมีชัย และเพื่อได้ชัยชนะ” (วว.6:2)

8.เขียว หมายถึง ชีวิต คนเลวี การอธิฐานวิงวอน “คนที่วางใจในพระเจ้าย่อมได้รับพระพร คือผู้ที่ความวางใจของเขาอยู่ในพระเจ้า เขาเป็นเหมือนต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมน้ำซึ่งหยั่งรากของมันออกไปข้างลำน้ำ เมื่อแดดส่องมาถึงก็ไม่กลัวเพราะใบของมันคงเขียวอยู่เสมอและไม่กระวนกระวายในปีที่แห้งแล้งเพราะมันไม่หยุดที่จะออกผล” (ยรม.17:7-8)

จุดตระหนักที่ควรจดจำ การรับความเข้าใจและการเปิดเผยสำแดง ตราบเท่าที่มันมาจากแหล่งที่ถูกต้อง จงจำไว้ว่าความฝันและนิมิตสามารถเกิดขึ้นได้จาก 3 แหล่งคือ มาร , มนุษย์ (คือความคิดและวิญญาณของมนุษย์)และพระวิญญาณบริสุทธิ์   เราต้องสามารถแยกแยะว่ามาจากแห่งไหน ด้วยเหตุนี้ของประทานการสังเกตวิญญาณรวมถึงการฝึกฝนในการใช้ของประทานนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การให้ความสนใจอย่างระมัดระวังต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว ฉธบ 13:1-5 ได้เตือนผู้ที่จะรับหรือแบ่งปันการเปิดเผยสำแดงทางนิมิต ประเด็นหลัก – ความฝันและนิมิตนั้นยอดเยี่ยม แต่ชีวิตของเราเป็นมากกว่าแค่ความฝันและนิมิต ชีวิตของเราอยู่ในองค์เจ้านายของเรา คือพระเยซูคริสต์ คนบางคนอาจจะเปิดเผยข้อมูลที่จริงและแม่นยำ แต่ก็ยังคงเป็นเครื่องมืออันหลอกลวงของศัตรูที่จะล่อลวงเราและพาเราออกห่างจากพระคริสต์   หากมีการฝันเป็นตัวเลขในความฝันเชิงเผยพระวจนะจะต้องมีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพราะคนไทยจะฝันเป็นตัวเลขบ่อยๆแต่คงไม่ได้ตีความตัวเลขไปซื้อหวย

ตัวเลขเป็นสัญลักษณ์ระดับสูงในพระคัมภีร์ และรวมถึงในความฝันเชิงเผยพระวจนะ ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการตีความ สำหรับการตีความตัวเลขเชิงสัญลักษณ์ซึ่งจะช่วยป้องกันการผิดพลาดหรือเกินความเป็นจริง
ตัวเลข 1-13 ส่วนมากมีความหมายฝ่ายวิญญาณ จำนวนเท่าของตัวเลขเหล่านี้โดยปกติให้ความหมายเดียวกันแต่ให้ความเข้มข้นขึ้น เช่น เลข 100 จะมีความหมายเดียวกันกับเลข 10 (กฎหมายหรือการปกครอง ดูด้านล่าง) แต่มีความหนักแน่นขึ้นเป็นทวีคูณ การใช้ตัวเลขครั้งแรกในพระคัมภีร์นำมาซึ่งความหมายฝ่ายวิญญาณ ตัวเลขควรถูกแปลความอย่างสอดคล้องกันตลอดเล่มพระคัมภีร์ พระเจ้านั้นทรงเสมอต้นเสมอปลาย ตัวเลขในปฐมการมีความหมายอย่างไร ก็มีความหมายอย่างนั้นตลอดจนถึงวิวรณ์ ความหมายฝ่ายวิญญาณไม่ได้ถูกแสดงให้เห็นเสมอไป อาจถูกปิดหรือซ่อนไว้หรือสามารถเห็นได้โดยการเปรียบเทียบกับพระธรรมตอนอื่นๆ โดยทั่วๆไปตัวเลขมีความหมายได้ทั้งดีและชั่ว จริงและเท็จ ของพระเจ้าและของซาตาน



พิจารณาความหมายเชิงสัญลักษณ์ของแต่ละตัวเลขด้วยกัน

เลข 1 หมายถึงพระเจ้า การเริ่มต้น (ปฐก.1:1)

เลข 2 หมายถึงพยาน คำพยาน (ฉธบ.17:6) “ในธรรมบัญญัติของท่านก็มีคำเขียนไว้ว่า คำพยานของสองคนก็เป็นที่เชื่อถือได้” (ยน.8:17)

เลข 3 หมายถึงพระเจ้า ความครบถ้วนสมบูรณ์ของพระเจ้า ตรีเอกานุภาพ (มธ 28:19-20)

เลข 4 หมายถึงโลก สิ่งทรงสร้าง ลม ฤดู (1คร 15:39),(อสค 37:9)

เลข 5 หมายถึงกางเขน พระคุณ การไถ่ เลขนี้สามารถหมายถึงของประทานพันธกรทั้ง 5 ได้ด้วย (อฟ 4:11-13)

เลข 6 หมายถึงมนุษย์ สัตว์ร้าย ซาตาน ตัวเลขของสัตว์ร้ายในวิวรณ์คือ 666 (วว.13:18) ดังที่มีกล่าวไว้แต่ก่อนว่ามนุษย์ถูกสร้างในวันที่ 6 แห่งการทรงสร้าง (ปฐก.1:26-31)

เลข 7 หมายถึงความสมบูรณ์ ความครบถ้วน พระเจ้าทรงเสร็จสิ้นงานทรงสร้างครบสมบูรณ์ในวันที่ 7 และทรงหยุดพัก (ปฐก.2:1-2)

เลข 8 หมายถึงการเริ่มต้นใหม่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพันธสัญญาของพระเจ้าต่ออิสราเอล ชายทุกคนจะต้องเข้าสุหนัตเมื่อมีอายุ 8 วัน (ปฐก.17:10-12,1ปต.3.20)

เลข 9 หมายถึงการเสร็จสิ้น ความไพบูลย์ ใน กท.5:22-23 แสดงผลพระวิญญาณ 9 ประการ

เลข 10 หมายถึงกฎหมาย การปกครอง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของเลขนี้คือพระบัญญัติ 10 ประการในบทที่ 20 ของหนังสืออพยพ

เลข 11 หมายถึงการไร้ระเบียบ การไร้กฎหมาย ปฏิปักษ์พระคริสต์ (ดนล 7:24-26)

เลข 12 หมายถึงการปกครองของพระเจ้า ความครบสมบูรณ์ในเชิงอัครทูต (Apostolic fullness) อิสราเอลมี 12 เผ่า (อพย.28.21) และพระเยซูเลือกสาวก 12 คน (มธ 10.2-4)

เลข 13 หมายถึงการกบฏ หลงหาย ละทิ้งความเชื่อ (ปฐก 14:4) ข้อนี้ปรากฏเป็นครั้งแรกในพระคัมภีร์เกี่ยวกับเลข 13 ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานสำหรับการตีความเลขนี้

นี่คือสิ่งที่เป็นความฝันที่เป็นการสำแดงของพระเจ้า ที่เราจะร่วมฝันไปกับพระองค์ด้วยกัน เพราะชีวิตเราต้องมีความฝันเพื่อเราจะไปตามการทรงนำของพระองค์
ดังคำกล่าวที่ว่า "ฝัน "ดีกว่า "ฝืน" เพราะ "ฝัน" เป็นแรงผลักดันด้วยความเต็มใจ แต่"ฝืน"เป็นแรงกดดันด้วยความฝืนใจ ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง ดีกว่าดึงดันฝืนใจ คงจะไปได้ไม่ไกล
ขอพระเจ้าอวยพระพรนะครับ