ทำลายกำแพงความคิดอคติ ประกาศเอกภาพโดยพระวิญญาณ เป็นสะพานเชื่อมพระกายพระคริสต์
กำแพงเบอร์ลินถูกขนานนามว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งสงครามเย็น เริ่มสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 1961 โดยฝ่ายสหภาพโซเวียต ซึ่งทำหน้าที่ปกครองประเทศเยอรมนีตะวันออกในช่วงนั้น เพื่อป้องกันการอพยพของชาวเยอรมันจากเบอร์ลินฝั่งตะวันออกไปยังตะวันตก
เนื่องจากในระหว่างปี 1949-1961 มีชาวเยอรมันกว่า 2,500,000 คนหลั่งไหลออกจากอาณาบริเวณการยึดครองของสหภาพโซเวียตไปสู่อ้อมอกของสหรัฐฯ ในเบอร์ลินตะวันตก
ตลอดระยะเวลาที่กำแพงนี้ถูกสร้างขึ้น มันได้นำความสูญเสียมายังชาวเยอรมนีจำนวนมากที่พยายามจะหลบหนีระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ถึงแม้ว่าจะมีผู้สามารถหลบหนีออกจากฝั่งตะวันออกได้ประมาณ 5,000 คน แต่ก็มีผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องจบชีวิตลงบริเวณกำแพงสัญลักษณ์แห่งนี้ถึง 192 คน เนื่องจากฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ไปไม่รอด
แต่แล้วในช่วงกลางปี 1989 ความหวังของการทลายกำแพงเบอร์ลินก็มาถึง เมื่อชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนมหาศาลได้รวมตัวกันเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งต่อมาในวันที่ 18 ตุลาคม 1989 อีริช โฮเนกเกอร์ ผู้นำรัฐบาลก็ได้ประกาศลาออก ทำให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาแทน
จากนั้น ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกได้สั่งเปิดด่านให้ประชาชนเดินทางข้ามไปยังฝั่งตะวันตกได้อย่างเสรีเป็นครั้งแรก โดย กุนเตอร์ ชวาโบวสกี สมาชิกพรรค Socialist Unity Party of Germany (SDP) เป็นผู้ประกาศกับสื่อมวลชนว่า ข้อจำกัดทุกอย่างในการเดินทางข้ามกำแพงแห่งนี้ถูกยกเลิกหมดแล้ว ทำให้ประชาชนที่อยู่ฝั่งตะวันออกนับหมื่นคนแห่กันไปยังกำแพงเบอร์ลินเพื่อผ่านด่านเจ้าหน้าที่เข้าไปยังฝั่งตะวันตก
ด้วยเหตุนี้ ชาวเยอรมันจึงถือกันว่าวันที่ 9 พฤศจิกายน เป็นวันล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน แต่สำหรับการทลายกำแพงเบอร์ลินนั้นมีขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 1990 โดยคงเหลือซากปรักหักพังบางส่วนไว้เป็นอนุสรณ์ และต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคม 1990 ก็มีการรวมประเทศเยอรมนีเข้าไว้ด้วยกันอย่างเป็นทางการ
(จาก Manager Online หัวข้อ กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)
การล่มสลายของกำแพงที่กีดกั้นเสรีภาพในฝ่ายกายภาพนำความยินดีมาได้มากเท่าใด การล่มสลายของกำแพงที่กีดกั้นเสรีภาพในฝ่ายวิญญาณ ย่อมนำความยินดีมาสู่จิตวิญญาณได้มากยิ่งกว่านั้นหลายเท่านัก
ในพระธรรมตอนนี้ เปาโลเตือนใจชาวเอเฟซัสให้ระลึกถึงอดีตของตนที่เคยเป็นคนต่างชาติ ถูกคนยิวกีดกัน รังเกียจ มองว่าเป็นคนอยู่นอกพระคริสต์ ขาดจากการเป็นพลเมืองอิสราเอล และไม่มีส่วนในบรรดาพันธสัญญาซึ่งทรงสัญญาไว้ ไม่มีที่หวัง และอยู่ในโลกโดยปราศจากพระเจ้า มาบัดนี้โดยพระคุณของพระคริสต์ที่ไม้กางเขน พวกเขาได้เป็นพลเมืองเดียวกัน เป็นครอบครัวเดียวกันกับคนยิวแล้ว เอกภาพจึงเกิดขึ้น เอกภาพแห่งชุมชนของพระคริสต์เป็นอย่างไร
1. เอกภาพในความแตกต่าง (ข้อ 11-12) Unity in diversity
11 เหตุฉะนั้นท่าน จงระลึกว่า เมื่อก่อนท่านเคยเป็นคนต่างชาติตามเนื้อหนัง และพวกที่รับพิธีเข้าสุหนัตซึ่งกระทำแก่เนื้อหนังด้วยมือ เคยเรียกท่านว่า เป็นพวกที่มิได้เข้าสุหนัต
12 จงระลึกว่า ครั้งนั้น ท่านทั้งหลายเป็นคนอยู่นอกพระคริสต์ ขาดจากการเป็นพลเมืองอิสราเอล และไม่มีส่วนในบรรดาพันธสัญญาซึ่งทรงสัญญาไว้นั้น ไม่มีที่หวัง และอยู่ในโลกปราศจากพระเจ้า
แม้คนยิวและคนต่างชาติมีความแตกต่างกันมากในฝ่ายกายภาพ แต่ความแตกต่างเหล่านั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกันเมื่อเป็นครอบครัวเดียวกันในพระคริสต์ เอกภาพสามารถเกิดขึ้นได้ท่ามกลางความแตกต่างทางเชื้อชาติ การศึกษา หรือฐานะ เพราะต่างมีใจเดียวกันในพระคริสต์ ความแตกต่างเหล่านั้นสามารถนำมาเสริมสร้างกันได้ เพื่อให้คริสตจักรจำเริญขึ้น คริสเตียนจึงไม่ควรเอาความแตกต่างมาเปรียบเทียบเพื่อวัดคุณค่ากัน แต่ควรใช้ความแตกต่างเพื่อเสริมสร้างกัน และส่งเสริมให้อาณาจักรพระเจ้าขยายไปให้มากที่สุด อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของผู้เชื่อทุกคน
2. เอกภาพทางพระคริสต์ (ข้อ 13-17) Unity through Christ
13 แต่บัดนี้ในพระเยซูคริสต์ ท่านทั้งหลายซึ่งเมื่อก่อนอยู่ไกล ได้เข้ามาใกล้โดยพระโลหิตของพระคริสต์
14 เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นสันติสุขของเรา เป็นผู้ทรงกระทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทรงรื้อกำแพงที่กั้นระหว่างสองฝ่ายลง ...
16 และเพื่อจะทรงกระทำให้ทั้งสองพวกคืนดีกับพระเจ้า เป็นกายเดียวโดยกางเขน ...
17 และพระองค์ได้เสด็จมาประกาศสันติสุขแก่ท่านที่อยู่ไกล และประกาศสันติสุขแก่คนที่อยู่ใกล้
โดยพระคริสต์ผู้ทรงยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อมวลมนุษย์ กำแพงแห่งอคติระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ระหว่างยิว(Jews) กับคนต่างชาติ(Gentiles)และพระเยซูทรงเป็นผู้กำแพงแห่งความบาประหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ได้พังทลายลงกลายเป็นการคืนดีกัน พระองค์ทรงเป็นผู้กลางสร้างสะพานแห่งความสัมพันธ์เชื่อมเรากับพระเจ้า (Bridge Builder)
เราจึงสามารถเข้าใกล้พระเจ้าและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น ยิ่งเราใกล้พระคริสต์มากเท่าไร เอกภาพในความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าและผู้อื่นยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น
3. เอกภาพโดยพระวิญญาณ (ข้อ 18-19) Unity by the Holy Spirit
18 เพราะว่าพระองค์ทรงทำให้เราทั้งสองพวกมีโอกาสเข้าเฝ้าพระบิดาโดยพระวิญญาณองค์เดียวกัน
19 เหตุฉะนั้นท่านจึงไม่ใช่คนต่างด้าวต่างแดนอีกต่อไป แต่ว่าเป็นพลเมืองเดียวกันกับธรรมิกชน และเป็นครอบครัวของพระเจ้า
โดยพระวิญญาณ ทั้งคนต่างชาติ และคนยิวจึงมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าพระบิดาได้ เป็นเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน พระวิญญาณทำให้ได้รับสิทธิพิเศษในการเป็นบุตรของพระองค์เหมือนกัน (ยน.1:12) ได้เป็นพี่น้องกันในฝ่ายวิญญาณ ได้รับของประทานจากพระเจ้า และได้รับเป้าหมายเดียวกัน ดังนั้น เมื่ออยู่ในครอบครัวเดียวกัน มีพระบิดาองค์เดียวกัน ทุกคนจึงควรร่วมแรงร่วมใจกันในการรับใช้พระเจ้า รักผูกพันกันในคริสตจักร (รม.12:10) และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องคริสตจักรที่เป็นพระกายของพระคริสต์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น