06 เมษายน 2555

ไขปริศนา วันที่แท้จริงที่พระเยซูคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชนม์

ในค่ำคืนวันศุกร์ก่อนวันอีสเตอร์ (Easter) ซึ่งจะตรงกับวันอาทิตย์ หลายๆคริสตจักรได้จัดงานวันศุกร์ประเสริฐ(Good Friday) (ปี 2012 ตรงกับวันศุกร์ที่ 6 เม.ย. ) เพื่อเป็นการระลึกถึงการที่พระเยซูคริสต์ได้ถูกตรึงที่บนกางเขน ผมรู้สึกชื่นชมเพราะจัดวันศุกร์ประเสริฐให้คนมาอธิษฐานพระเจ้าที่คริสตจักรหรือตามบ้านยังไงดีกว่าจัดงานวันศุกร์ 13 ตามความเชื่อเรื่องอาถรรพ์ศุกร์ 13 เป็นไหนๆ
มีคำถามได้ถูกถามขึ้นมาว่า หากพระเยซูคริสต์ถูกตรึงที่กางเขนในวันศุกร์แล้วทำไมศพพระองค์ถูกฝังในอุโมงค์จึงไม่ครบ 3 วันตามคำพยากรณ์ของพระเยซูคริสต์ก่อนที่พระองค์จะถูกตรึง
มธ.12:40 ว่า “ด้วยว่า โยนาห์ได้อยู่ในท้องปลามหึมาสามวันสามคืนฉันใด บุตรมนุษย์จะอยู่ในท้องแผ่นดิน สามวันสามคืนฉันนั้น”
และที่มาของวันศุกร์ประเสริฐมาได้อย่างไร คำตอบคือ วันศุกร์ประเสริฐมีประวัติที่มาดังนี้
วันศุกร์ประเสริฐ (Good Friday) เริ่มในสมัยศตวรรษที่ 4 ความหมายของคำว่า Good Friday ซึ่งมาจากคำว่า God’s day เป็น วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า (Preceding Easter Sunday) คือ วันก่อนที่พระเยซูเป็นขึ้นจากความตาย คืออาทิตย์เป็นวันแห่งชัยชนะเป็นวันที่พระเยซู เป็นขึ้นมาจากความตาย คือ วันอีสเตอร์ ในวันอาทิตย์นี้จึงถูกเรียกว่า Morning Victory แปลว่า รุ่งอรุณแห่งชัยชนะ (1คร.15:3-8) (ข้อมูลจากคริสตจักรคาธอลิกในประเทศไทย)
คำถาม : พระเยซูคริสต์ทรงถูกตรึงกางเขนในวันศุกร์หรือไม่?
คำตอบ :พระคัมภีร์ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าพระเยซูถูกตรึงบนกางเขนในวันใดของสัปดาห์นั้น มีอยู่สองวันที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเป็นวันที่พระเยซูถูกตรึงคือ วันศุกร์และวันพุธ บางคนไม่อยากถกเถียงว่าเป็นวันใดวันหนึ่งระหว่างวันศุกร์หรือวันพุธ ก็รับเอาวันพฤหัสบดีเป็นวันที่พระเยซูถูกตรึง

สำหรับคนที่แย้งว่าพระองค์ทรงฟื้นคืนพระชนม์ในวันศุกร์นั้น เขากล่าวกันว่าจะต้องมีหนทางหนึ่งที่บ่งชี้ได้ว่าพระองค์ทรงอยู่ในหลุมพระศพเป็นเวลาสามวัน ในความคิดของชาวยิวในสมัยคริสตศักราชแรกนั้น แค่เพียงบางส่วนของวันพวกเขาก็นับเป็นหนึ่งวันเต็มได้ เนื่องจากพระเยซูทรงอยู่ในอุโมงค์พระศพของวันศุกร์ไม่เต็มวัน วันเสาร์ทั้งวัน และวันอาทิตย์ไม่เต็มวัน เมื่อคิดดังนี้ ก็ถือได้ว่าพระเยซูทรงอยู่ในอุโมงค์พระศพสามวัน หนึ่งในบรรดาข้อโต้แย้งหลัก ๆ
สำหรับผู้ที่เชื่อในวันศุกร์คือ ข้อเขียนที่พบในพระคัมภีร์
มก.15:42 ว่า พระเยซูทรงถูกตรึง “ในวันก่อนวันสะบาโต”ถ้าในเวลานั้นเป็นสัปดาห์แห่งวันสะบาโต คือวันเสาร์ ดังนั้นข้อเท็จจริงก็คือวันศุกร์คือวันที่พระองค์ทรงถูกตรึง อีกข้อโต้แย้งหนึ่งก็คือ มีพระคัมภีร์บางตอน เช่น มธ.16:21 และลก.9:22 เขียนไว้ว่า พระเยซูจะทรงฟื้นคืนพระชนม์ในวันที่สาม ดังนั้น พระองค์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในอุโมงค์ศพเป็นเวลาสามวันสามคืนเต็ม แต่เนื่องจากมีการแปลโดยใช้คำว่า “ในวันที่สาม” สำหรับข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับว่านั่นคือการแปลที่ดีที่สุดสำหรับข้อพระคัมภีร์นี้ อีกประการหนึ่ง ในพระคัมภีร์ มก.8:31 เขียนไว้ว่า พระเยซูจะทรงฟื้นคืนพระชนม์ “หลังจาก” สามวันส่วนผู้ที่คิดว่าเป็นวันพฤหัสบดีนั้น จะไม่เห็นด้วยกับความคิดเรื่องวันศุกร์ และเรื่องหลัก ๆ ที่พวกเขาแย้งก็คือว่า ในช่วงเวลานั้น มีหลายเหตุการณ์ด้วยกัน (บ้างนับได้ว่ามีมากถึง 20เหตุการณ์) ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาตั้งแต่การฝังพระศพของพระคริสต์จนถึงเช้าวันอาทิตย์ ซึ่งคือเย็นวันศุกร์จนถึงเช้าวันอาทิตย์ กลุ่มนี้ชี้ว่า ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่ามีเพียงวันเดียว ที่เต็มวันระหว่างวันศุกร์และวันอาทิตย์ นั่นคือวันเสาร์ซึ่งเป็นวันสะบาโตของชาวยิว วันที่เกินมาหนึ่งหรือสองวันนั้นแหละ คือวันที่ไม่ใช่ ดังนั้นวันพฤหัสบดีจึงเป็นวันที่ดูสมเหตุสมผลที่สุด โดยสมมติว่า หากคุณไม่ได้พบเพื่อนมาตั้งแต่เย็นวันจันทร์ และครั้งต่อมาที่คุณได้พบเขาคือเช้าวันพฤหัส แล้วคุณพูดว่า “ฉันไม่ได้พบคุณมาสามวันแล้ว” ถึงแม้ว่าโดยความเป็นจริงแล้วระยะเวลานั้นคือ 60 ชั่วโมงเท่านั้น (สองวันครึ่ง) ดังนั้น หากพระเยซูทรงถูกตรึงในวันพฤหัสบดี ตัวอย่างนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นได้ว่าทำไมถึงนับได้สามวัน

พวกที่คิดว่าเป็นวันพุธระบุว่าในสัปดาห์นั้นมีวันสะบาโต 2วัน หลังจากวันสะบาโตวันแรก (ในเย็นวันที่พระเยซูถูกตรึง มก.15:42;ลก.23:52-54) พวกผู้หญิงพากันไปซื้อเครื่องหอมกับน้ำมันหอม – การซื้อเครื่องหอมจะมีการซื้อกันหลังวันสะบาโต (มก.16:1) ความเชื่อเรื่องวันพุธคิดว่า “วันสะบาโตนี้” คือเทศกาลปัสกา (ดูใน ลนต.16:29-31; 23:24-32,39) ที่บอกว่า วันศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นที่ไม่ใช่วันที่7ของสัปดาห์ คือวันสะบาโต ส่วนวันสะบาโตวันที่สองในสัปดาห์นั้น คือวันเสาร์ในสัปดาห์นั้น ซึ่งในพระคัมภีร์ ลก.23:56 ได้เขียนไว้ว่า เหล่าพวกผู้หญิงที่ไปซื้อเครื่องหอมน้ำมันหอมหลังจากวันสะบาโตวันแรกนั้น ได้กลับไปเตรียมเครื่องหอม และ “หยุดพักในวันสะบาโต” มีข้อโต้แย้งระบุว่า พวกเขาไม่สามารถซื้อเครื่องหอมได้หลังจากวันสะบาโต หรือเตรียมเครื่องหอมก่อนวันสะบาโต ยกเว้นแต่ว่ามีวันสะบาโต 2 วัน เมื่อพิจารณาในแง่มุมนี้ หากพระเยซูคริสต์ถูกตรึงบนกางเขนในวันพฤหัสบดี วันสะบาโตอันศักดิ์สิทธิ์ (ปัสกา) จะต้องเริ่มตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกในวันพฤหัสบดี และจบลงในเวลาพระอาทิตย์ตกในวันศุกร์ – ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของวันสะบาโตแห่งสัปดาห์ หรือวันเสาร์นั่นเอง การซื้อเครื่องหอมหลังจากวันสะบาโตแรก (ปัสกา) จะต้องหมายความว่า พวกเขาซื้อเครื่องหอมในวันเสาร์ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฏของวันสะบาโต

ดังนั้น ในมุมมองนี้ ระบุได้ว่า มีเพียงคำอธิบายเดียวที่จะไม่เป็นการละเมิดข้อพระคัมภีร์ในเรื่องพวกผู้หญิงและเครื่องหอม และการรักษาความเข้าใจเดิมของพระคัมภีร์ มธ.12:40 ก็คือ พระคริสต์ทรงถูกตรึงในวันพุธ และวันพฤหัสบดีคือวันสะบาโตอันศักดิ์สิทธิ์ (หลังจากนั้น) พวกผู้หญิงพากันไปซื้อเครื่องหอมในวันศุกร์ และกลับมาเตรียมเครื่องหอมในวันเดียวกันนั้น เสร็จแล้วหยุดพักในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันสะบาโตประจำสัปดาห์ จากนั้นจึงนำเครื่องหอมไปที่อุโมงค์พระศพในเช้าวันอาทิตย์ พระองค์ทรงถูกฝังในเวลาใกล้ตะวันตกในวันพุธ ซึ่งถือเป็นเวลาย่างเข้าสู่วันพฤหัสบดีในปฏิทินยิวเมื่อใช้ปฏิทินยิวคุณจะมีวันพฤหัสบดี (กลางคืน) วันพฤหัสบดี (กลางวัน) วันศุกร์ (คืนที่ 2) วันศุกร์ (วันที่ 2) วันเสาร์ (คืนที่ 3) และวันเสาร์ (วันที่ 3) เราไม่รู้แน่ชัดว่าพระองค์ทรงฟื้นขึ้นเมื่อใด แต่เรารู้ว่าจะต้องเป็นเวลาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นในวันอาทิตย์ (ยน.20:1 “วันอาทิตย์เวลาเช้ามืด” มารีย์ชาวมักดาลามาถึงอุโมงค์ฝังศพ นางเห็นหินถูกกลิ้งออกจากปากอุโมงค์อยู่แล้ว นางจึงวิ่งไปหาซีโมนเปโตร และสาวกอีกคนหนึ่งที่พระเยซูทรงรักนั้น และพูดกับเขาว่า “เขาเอาองค์พระผู้เป็นเจ้าออกไปจากอุโมงค์แล้ว และพวกเราไม่รู้ว่าเขาเอาพระองค์ไปไว้ที่ไหน”) ดังนั้น พระองค์คงจะทรงฟื้นคืนพระชนม์ในเวลาตั้งแต่เช้ามืดทันทีที่พระอาทิตย์ตกดินในเย็นวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นสัปดาห์ใหม่ของชาวยิว

มีปัญหาอยู่ประการหนึ่งที่อาจเป็นไปได้สำหรับพวกที่เชื่อเรื่องวันพุธ นั่นก็คือ เหล่าอัครสาวกที่เดินไปกับพระเยซูบนถนนที่จะไปสู่เอ็มมาอูส ซึ่งเป็น “วันเดียวกัน”กับวันที่พระองค์ทรงฟื้นคืนพระชนม์ขึ้นมา (ลก.24:13) ซึ่งเหล่าอัครสาวกนั้นจำพระเยซูไม่ได้ และได้บอกท่านถึงเรื่องการตรึงพระเยซูบนไม้กางเขน (ข้อ 24:20) และพูดว่า “วันนี้เป็นวันที่สามตั้งแต่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น” (ข้อ 24:21)
ถ้านับจากวันพุธถึงวันอาทิตย์ ก็เป็นเวลา 4 วัน คำอธิบายที่เป็นไปได้คือพวกเขาอาจจะเริ่มนับตั้งแต่เย็นวันพุธตอนที่ฝังพระศพพระองค์ ซึ่งถือเป็นเวลาเริ่มต้นของวันพฤหัสบดีของชาวยิว และจากวันพฤหัสบดีจนถึงวันอาทิตย์ก็นับได้เป็นสามวัน (ข้อมูลจาก www.gotquestions.org/Thai)


สำหรับความคิดของผมส่วนตัวแล้ว เราต้องกลับมาสู่หลักคิดที่ถูกต้อง เพราะคริสตจักรในปัจจุบันได้รับอิทธิพลความคิดมาจากศาสนศาสตร์ในตะวันตก แต่เราควรกลับไปสู่รากความเชื่อที่แท้จริงคือแบบชาวยิว เพราะชาวยิวมีความเข้าใจเรื่องเทศกาลของพระเจ้าเป็นอย่างดี การกลับสู่รากความเชื่อแบบยิวไม่ได้หมายถึงเราต้องกลับไปดำเนินตามธรรมบัญญัติแบบยิว หรือแต่งกายแบบยิว หรือทำพิธีเข้าสุหนัตแบบยิว สำหรับผมการเข้าสนิทสำคัญมากกว่าเข้าสุหนัต เพราะเราเป็นยิวทางความเชื่อไม่ใช่ทางฝ่ายกายภาพ (กท.5-6,ฟป.3:3)
แท้จริงแล้วการถือเทศกาลอีสเตอร์(Easter)ซึ่งเป็นการนำเอาความเชื่อแบบศาสนาต่างชาติ (Pagan)ที่ผสมผสานความเรื่องพระเยซูคริสต์มาแทนเทศกาลปัสกา เพียงเพราะต่อต้านคนอิสราเอลนั่นเอง ซึ่งสามารถอ่านบทความที่ผมเคยเขียนได้ได้ดังนี้ครับ
(ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทศกาลปัสกาและอีสเตอร์ : http://pattamarot.blogspot.com/2011/04/blog-post.html)
(เทศกาลปัสกา : ก้าวสู่เสรีภาพใหม่ด้วยใจขอบพระคุณ
http://pattamarot.blogspot.com/2011/04/blog-post_15.html)

เรามาลองศึกษาเทศกาลปัสกาซึ่งเป็นเทศกาลระลึกการรับการปลดปล่อยจากการทาสในประเทศอียิปต์ และเราลองลำดับเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ประกอบเราจะทราบว่า วันที่แท้จริงที่พระเยซูคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชนม์
ในช่วงเทศกาลปัสกามีวันสะบาโต 2 วัน โดยเริ่มจากวันที่ 14 จนถึงวันที่ 23ของเดือนนิสาน


ลำดับเหตุการณ์


วันก่อนวันเทศกาลปัสกา เป็นวันอังคาร ที่13 เดือนนิสาน
พระเยซูคริสต์และสาวก12 คนเข้ามาในเมืองเยรูซาเล็มจากเบธานีสำหรับรับประทานปัสกา
สาวกสองคนนั้นจึงออกเดินเข้าไปในกรุง และพบเหมือนพระดำรัสที่พระองค์ได้ตรัสแก่เขา แล้วได้จัดเตรียมปัสกาไว้พร้อม
มก.14:17 ครั้นถึงเวลาค่ำแล้ว พระองค์จึงเสด็จมากับสาวกสิบสองคนพระเยซูคริสต์กับสาวกรับประทานปัสกาตอนเวลาพระอาทิตย์ตกเมื่อคืนที่ผ่านมา (พระเจ้าให้พวกอิสราเอลนับวันจากพระอาทิตย์ตกไปถึงพระอาทิตย์ตกเป็นวันหนึ่ง-ไม่ใช่เที่ยงวันคืนไปถึงเที่ยงคืน พระเยซูคริสต์ รับประทานปัสกาตอนพระอาทิตย์ตกกับสาวกหลังจากนั้นเขาก็พากันออกไปยังภูเขามะกอกเทศ ยูดาสทรยศพระเยซูคริสต์ที่สวนเกทเสมนีโดนจับและเอามาให้คายาฟาส มหาปุโรหิตประจำการที่หน้าสภา (มธ 26:34-49)


วันแรกของเทศกาลปัสกา เป็นวันพุธที่ 14 เดือนนิสาน
ลนต. 23:5 ในเวลาเย็นวันที่สิบสี่เดือนที่หนึ่งเป็นวันเทศกาลปัสกาของพระเจ้า,อพย .12:11 วันเตรียมสำหรับสะบาโตประจำปีไม่ใช่สะบาโต ประจำสัปดาห์
ตอนเช้าพวกทหารโรมันนำพระเยซูคริสต์มาหน้าปอนทิอัส ปีลาตเพื่อตัดสินคดี ผลคือพระเยซูคริสต์ถูกจับไปตึงที่กางเขนตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงบ่ายสามโมงเย็น
พระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์เวลาบ่ายสามโมง พวกเขาได้นำพระศพของพระเยซูคริสต์ไปไว้ในอุโมงค์ก่อนตะวันตกเพราะว่าในโทราบัญญัติของพระเจ้าจะต้องฝังคนตายให้เสร็จก่อนพระอาทิตย์จะตกดินเพราะพวกเขาจะไม่บริสุทธิ์พอสำหรับสะบาโตที่จะมาถึง
(มธ 27:46-66, ลก.23:44)
ยน.19:31 วันนั้นเป็นวันเตรียม พวกยิวจึงขอให้ปีลาตทุบขาของผู้ที่ถูกตรึงให้หัก และให้เอาศพไปเสีย เพื่อไม่ให้ศพค้างอยู่ที่กางเขนในวันสะบาโต (เพราะวันสะบาโตนั้นเป็นวันใหญ่) ดังนั้นโดยสรุปคือพระเยซูคริสต์ ถูกตรึงและสิ้นพระชนม์ในวันพุธซึ่งเป็นวันก่อนวันสะบาโตวันแรกของสัปดาห์ (คืนวันพุธเป็นคืนแรกที่พระศพของพระคริสต์อยู่ในอุโมงค์)

วันพฤหัสบดี ที่ 15 เดือนนิสาน
วันนี้เป็นสะบาโตสูงประจำปีเป็นวันแรกของเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ พวกทหารโรมัน เขาทำอุโมค์ให้มั่นคงประทับตราไว้ที่หินและวางยามประจำอยู่ วันนี้จะไม่มีชาวยิวจะไม่ไปทำอะไรเนื่องจากพักสงบในวันสะบาโตแรกในเทศกาลปัสกา(คืนวันพฤหัสเป็นคืนที่ 2 ที่พระศพของพระคริสต์อยู่ในอุโมงค์)

วันศุกร์ที่ 16 เดือนเดือนนิสาน

มก. 16:1 ครั้นวันสะบาโตล่วงไปแล้ว มารีย์ชาวมักดาลา มารีย์มารดาของยากอบและนางสะโลเม ซื้อเครื่องหอมมาเพื่อจะไปชโลมพระศพของพระองค์ใน ลก.23:56 พวกเธอก็กลับไปจัดแจงเครื่องหอมกับน้ำมันหอม ในวันสะบาโตนั้นพวกเธอก็หยุดการไว้ตามพระบัญญัติ(สะบาโตประจำสัปดาห์) ตรงนี้ให้เห็นว่ามีวันสะบาโต 2วันและวันเตรียมวันสะบาโตที่ 2 ตรงกับวันเสาร์ โดยเริ่มในเย็นวันศุกร์(วันศุกรนี้เป็นคืนที 3 ที่พระเยซูคริสต์อยู่ในอุโมงค์ฝังศพ)

วันเสาร์ที่ 17 เดือนนิสาน พระเยซูคริสต์ฟื้นขึ้นมาวันเสาร์วันสะบาโตของประจำสัปดาห์(Shabbat)เพราะว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าของวันสะบาโต-
มธ.12:8 "เพราะว่าบุตรมนุษย์เป็นเจ้าเป็นใหญ่เหนือวันสะบาโต"
สิ่งนี้ได้สำเร็จตามคำพยากรณ์ของพระคริสต์เรื่องหมายสำคัญของโยนาห์ในท้องปลา 3 วัน3คืน มธ.12:39 พระองค์จึงตรัสตอบเขาว่า "คนชาติชั่วและเล่นชู้แสวงหาหมายสำคัญ และจะไม่ทรงโปรดให้หมายสำคัญแก่เขา เว้นไว้แต่หมายสำคัญของโยนาห์ศาสดาพยากรณ์
12:40 ด้วยว่า `โยนาห์ได้อยู่ในท้องปลาวาฬสามวันสามคืน' ฉันใด บุตรมนุษย์จะอยู่ในท้องแผ่นดินสามวันสามคืนฉันนั้น 17:23 และเขาทั้งหลายจะประหารชีวิตท่านเสีย ในวันที่สามท่านจะกลับฟื้นขึ้นมาใหม่

วันอาทิตย์ที่ 18 เดือนนิสาน หลังจากวันสะบาโตไปแล้ว เป็นวันที่สาวกพบอุโมงค์ที่ว่างเปล่า
มารีย์ชาวมักดาลามาตอนเช้ามืดวันอาทิตย์แต่พระเยซูคริสต์ฟื้นขึ้นมาก่อนแล้วใน(ยน.20:1-2) วันสะบาโตสูงจบแล้วพวกหญิงนั้นออกไปซื้อเครื่องหอมมาเพื่อจะไปชโลมพระศพของพระองค์ ในวันอาทิตย์เป็นวันที่พระเยซูคริสต์ไปปรากฏกับสาวกที่เอมมาอูส
เหล่าอัครสาวกที่เดินไปกับพระเยซูบนถนนที่จะไปสู่เอ็มมาอูส ซึ่งเป็น “วันเดียวกัน”กับวันที่พระองค์ทรงฟื้นคืนพระชนม์ขึ้นมา (ลก.24:13) ซึ่งเหล่าอัครสาวกนั้นจำพระเยซูไม่ได้ และได้บอกท่านถึงเรื่องการตรึงพระเยซูบนไม้กางเขน (ข้อ 24:20) และพูดว่า “วันนี้เป็นวันที่สามตั้งแต่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น” (ข้อ 24:21)
ถ้านับจากวันพุธถึงวันอาทิตย์เป็นเวลา 4 วันพอดีจากเหตุการณ์ที่เขาพบพระคริสต์ก่อนถูกตรึงกางเขน


โดยสรุปคือ การที่จะทราบว่าพระคริสต์ทรงถูกตรึงบนกางเขนในวันใดของสัปดาห์นั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถ้าหากเรื่องนี้สำคัญมาก พระคัมภีร์ของพระเจ้าจะต้องมีการระบุไว้อย่างชัดเจนถึงวันนั้น ๆ แต่สิ่งที่สำคัญคือการที่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ และในทางกายภาพ พระองค์ทรงฟื้นคืนพระชนม์จากความตายนั่นต่างหาก สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเหตุผลที่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ นั่นคือเพื่อรับเอาความผิดทั้งหมดที่คนบาปทั้งหลายสมควรได้รับ ในพระคัมภีร์ยอห์น 3:16 และ ข้อ 3:36 ผู้ที่วางไว้ในพระองค์จะได้รับชีวิตนิรันดร์! 

ยน. 3:16 เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จนได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์

ยน. 3:36 ผู้ที่วางใจในพระบุตรก็มีชีวิตนิรันดร์ ผู้ที่ไม่เชื่อฟังพระบุตรก็จะไม่ได้เห็นชีวิต แต่พระพิโรธของพระเจ้าตกอยู่กับเขา


และการที่พระเยซูคริสต์ฟื้นในวันเสาร์หรือวันไหนๆ ไม่สำคัญเท่า วันนี้พระเยซูคริสต์ยังคงทรงพระชนม์อยู่ในชีวิตของเราหรือไม่ พระองค์กล่าวไว้ว่า


ลูกา 24:5-9
5 ฝ่ายผู้หญิงเหล่านั้นกลัวและซบหน้าลงถึงดิน ชายสองคนนั้นจึงพูดกับเขาว่า "พวกท่านแสวงหาคนเป็นในพวกคนตายทำไมเล่า
6 พระองค์ไม่อยู่ที่นี่ แต่ทรงเป็นขึ้นมาแล้วจงระลึกถึงคำที่พระองค์ได้ตรัสกับท่านทั้งหลาย เมื่อพระองค์ยังอยู่ในแคว้นกาลิลี
7 ว่า "บุตรมนุษย์จะต้องถูกอายัดไว้ในมือของคนบาป และต้องถูกตรึงที่กางเขน และวันที่สามจะเป็นขึ้นมาใหม่""
8 เขาจึงระลึกถึงพระดำรัสของพระองค์ได้
9 และกลับไปจากอุโมงค์ แล้วบอกเหตุการณ์ทั้งปวงนั้นแก่สาวกสิบเอ็ดคนและคนอื่นๆทั้งหลายด้วย


การฟื้นคืนพระชนม์เป็นสิ่งที่เราต้องระลึกไว้เสมอ และเราต้องออกไปประกาศข่าวประเสริฐให้กับคนทั้งหลายได้รับรู้

ปัจจุบันที่อุโมงค์ฝังพระศพของพระคริสต์(Garden Tomb) ที่ประเทศอิสราเอลมีข้อเขียนว่า "พระองค์ไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่พระองค์ทรงฟื้นคืนพระชนม์"
สรรเสริญพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น