ประวัติอีสเตอร์ (Easter) (ข้อมูลจากเครือคริสตจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทย)
อีสเตอร์ คือ เทศกาลฉลองวันพระคริสต์คืนพระชนม์ (Easter Season) หรือ การสมโภชปัสกา (Passover)
วันคืนพระชนม์ขององค์พระเยซูคริสต์เป็นเทศกาลสำคัญที่สุดในปฏิทินของพระศาสนจักร และเป็นหัวใจแห่งความเชื่อศรัทธาของคริสตชนทั้งปวง หากปราศจากวันพระคริสต์คืนพระชนม์นี้ การเป็นผู้ติดตามพระเยซูคริสต์จะไม่มีความหมายใดๆ เลย
เทศกาลพระคริสต์คืนพระชนม์จะใช้เวลา 6 สัปดาห์โดยเริ่มตั้งแต่เช้าวันอาทิตย์ที่ทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย กระทั่งถึงวันที่พระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จมาเพื่อคริสตจักร
การนับวันอีสเตอร์ตามปฏิทินเทศกาลของคริสตจักรสากล (The Universal Christian Year)
ปฏิทินในรอบปีของเทศกาลต่างๆ ที่คริสตจักรสากลถือปฏิบัติร่วมกัน ทั้งพระศาสนจักรของโรมันคาทอลิกและคริสตจักรของโปรเตสแตนต์ ต่างยึดเอาวันคืนพระชนม์ (Easter)
เป็นหลักซึ่งในแต่ละปีวันคืนพระชนม์จะไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะตรงกับวันไหน
เพราะขึ้นอยู่กับการนับวันตามจันทรคติ คือถือเอาวันอาทิตย์แรกหลังวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 เป็นวันคืนพระชนม์ โดยปกติแล้วมักจะอยู่หลังวันที่ 21 ของเดือนมีนาคม
ส่วนคริสตจักรของพวกกรีกออธอร์ดอกซ์จะกำหนดวันคืนพระชนม์โดยขึ้นอยู่กับเทศกาลปัสกาของพวกยิว
สีที่ใช้ประจำเทศกาลนี้คือ “สีขาว”
ข้อพระคัมภีร์สำหรับเทศกาลนี้คือ หมวดจดหมายฝากของอัครทูตเปาโล ที่ได้กล่าวถึงการเป็นขึ้นมาจากความตาย เช่น พระธรรม 1 โครินธ์ บทที่ 1-2 และบทที่ 15 พระธรรมเธสะโลนิกาทั้งฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 รวมไปถึงการอ่านจากพระธรรมอพยพ พระธรรมฮีบรู และพระธรรมอิสยาห์ บทที่ 40-56
ประวัติและพัฒนาการของเทศกาลวันอีสเตอร์
วันอีสเตอร์ ซึ่งเป็นวันระลึกถึงวันเป็นขึ้นมาจากความตายขององค์พระเยซูคริสต์ ตรงกับวันอาทิตย์ คำว่า "อีสเตอร์" ที่นำมาใช้สำหรับการฉลองนั้นมาจากคำว่า "EOSTRE" ซึ่ง เป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งฤดูใบไม้ผลิตของพวกทูโทนิค เป็นเทพเจ้าแห่งการฟื้นคืนชีพ เพราะก่อนถึงฤดูนี้ ต้นไม้ ใบหญ้า ดอกร่วงหล่นเหลือแต่ซาก พอถึงฤดูใบไม้ผลิมันจะกลับผลิดอกออกใบมีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นฤดูใบไม้ผลิ จึงถูกนำมาเปรียบกับการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูด้วย จึงเรียกวันนี้ว่า "อีสเตอร์"
สมัยก่อน พระศาสนจักรจัดฉลองวันอีสเตอร์ในวันอาทิตย์ที่ไม่ตรงกัน จนถึงปี ค.ศ.325 สภา ไนเซียหรือสภาผู้นำชาวคริสต์ทั่วโลกได้ประชุม และมีมติให้กำหนดแน่นอน ให้คริสตชนทั่วโลกฉลองเทศกาลอีสเตอร์ให้ตรงกัน โดยกำหนดวันอีสเตอร์คำนวนตามระบบจันทรคติ ทั้งนี้เนื่องจากต้องการให้การฉลองวันที่พระเยซูเป็นขึ้นมาจากความตาย ตรงกับเหตุการณ์ในครั้งแรกจริงๆ
การฉลองวันอีสเตอร์ โดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดของวันอาทิตย์ คริสตชนจะไปรวมตัวกันที่โบสถ์ หรือที่สุสาน หรือในทุ่งกว้าง หรือตามป่าเขา ร้องเพลงนมัสการพระเจ้าตั้งแต่ยังมืดอยู่ พอดวงอาทิตย์ค่อยๆ โผล่ขึ้นจากขอบฟ้า เสียงเพลง "เป็นขึ้นแล้ว" ก็จะดังกระหึ่มขึ้น เขาจะร้องเพลงอธิษฐานโมทนาพระคุณพระเจ้า และสรรเสริญพระองค์ที่ทรงเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ได้มีชัยชนะเหนือความตาย และทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์
หลัง จากนั้นก็ บรรยายถึงการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์ หนุนใจให้คริสตชนดำเนินชีวิตอย่างมีชัย เหนือความบาป และความตาย ยืนหยัดอยู่ในความเชื่อศรัทธาที่มีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า จากนั้นส่วนใหญ่ก็จะรับประทานอาหารเช้าร่วมกัน เสร็จแล้วบางแห่งก็จะมีการเล่นเกมสนุกๆ หลายๆแห่งนิยมเอาไข่มาระบายสีต่างๆ ให้ดูสวยงาม และนำไปซ่อนให้เด็กๆ หรือหนุ่มสาวค้นหาอย่างสนุกสนาน
พัฒนาการของเทศกาลอีสเตอร์
แม้ว่าคำว่าอีสเตอร์ไม่ได้ปรากฏในพระคัมภีร์ แต่ถูกนำมาใช้เรียกเทศกาลเฉลิมฉลองการที่ “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นจากความตาย” นามอีสเตอร์นี้ได้มาจากชื่อของเทพธิดาหรือพระแม่เจ้าแห่งฤดูใบไม้ผลิ ของพวกแองโกลแซงซอนที่นามว่า “Eastre” ซึ่งคำนี้เข้าใจกันว่ามาจากภาษาเยอรมันโบราณ คือ Eostarun แปลว่า “รุ่งอรุณ” และเข้าใจว่าการฉลองการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์เกี่ยวกับฤดูใบไม้ผลินั่น เหมาะสมเพราะ...
1. วันอีสเตอร์อยู่ในฤดูใบไม้ผลิ (ระหว่างเดือนมีนาคม และเมษายน )
2. ฤดูใบไม้ผลิเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตใหม่ ต้นไม้ใบไม้ที่ดูเหมือนตายในฤดูหนาว
กลับผลิใบออกดอกดุจเกิดใหม่ ดังนั้นจึงเป็นภาพที่เหมาะสมที่จะพรรณาถึงการ
กลับเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์
อย่างไรก็ตามตัวเทศกาลนี้ได้พัฒนามาจากเทศกาล “ปัสกา” (Passover) ของยิว ซึ่งในภาษาฮีบรูนั้นคือ Pesah ส่วนกรีกคือ Pascha เมื่อ กลับไปที่พระคัมภีร์ใหม่เหตุการณ์ต่างๆช่วงสุดท้ายในพระชนม์ชีพของพระ เยซูคริสต์ อยู่ในช่วงเทศกาลปัสกาดั้งเดิม วันอีสเตอร์ได้ถือปฏิบัติกันในวันปัสกา เป็นวันที่ 14 เดือนนิสาน เดือนนิสาน (Nisan) คือเดือนแรกของปีของชาวยิว (ซึ่งคล้ายกับเดือนมกราคมของสากล) เดิมมีชื่อว่า อาบีบ (Abib) ตรงกับช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนในสมัยปัจจุบัน
และวันปัสกานั้นตรงกับวันที่ 14 เดือนนิสาน (ดูอพยพ 12:18; เลวีนิติ 23.5; อิสยาห์ 3.7; เนหะมีย์ 2.1) จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 2 คริสตชนบางกลุ่มเริ่มเฉลิมฉลองวันอีสเตอร์ในวันอาทิตย์ หลังจากวันที่ 14 เดือน นิสาน โดยถือเอาว่าวันศุกร์ก่อนวันอาทิตย์นั้นคือวันที่พระเยซูคริสตืเจ้าถูกตรึง ที่ไม้กางเขนจนสิ้นพระชนม์ ผลสุดท้ายก็เกิดการโต้เถียงในเรื่องวันที่ถูกต้องในการฉลองเทศกาลอีสเตอร์
จนกระทั่งในปี ค.ศ.197 วิคเตอร์แห่งโรม ได้บีบคริสตชนที่ยืนยันการเฉลิมฉลองอีสเตอร์ในวันที่ 14 เดือนนิสาน ไปจากหมู่คณะ แต่การถกเถียงยังคงดำเนินอยู่ต่อไป จนกระทั่งมาถึงต้นศตวรรษ ที่ 4 “จักรพรรดิคอนสแตนติน” ทรงบัญชาให้ฉลองวันอีสเตอร์เป็นวันอาทิตย์หลังวันที่ 14 เดือนนิสาน แทนการเฉลิมฉลองวันที่ 14 เดือนนิสาน เหมือนที่เคยปฏิบัติกันมา
โดยเหตุนี้ วันอีสเตอร์จึงได้รับการเฉลิมฉลองในวันอาทิตย์แรก หลังจากวันเพ็ญแรกที่ตามหลัง “วสันวิษุสวัต” (Vernal Equinox) ซึ่งเป็นวันที่เวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม พูดกันง่ายๆคือจากวันนั้น ถึงวันนี้ “วันอีสเตอร์” จะต้องหลังจากวันที่ 21 มีนาคม ของทุกๆปี
จึงสรุปได้ดังนี้เมื่อเริ่มแรกนั้น วันอีสเตอร์เป็นงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง ความสอดคล้องของเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงนำชาวอิสราเอลให้อพยพรอดออกมาจาก อียิปต์ในวัน “ปัสกา” และเหตุการณ์ที่พระเยซูคริสต์ทรงไถ่ ผู้ศรัทธาในพระองค์ให้รอดจากความบาป
จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 4 อีสเตอร์จึงแยกออกมาและประกาศอย่างชัดเจนว่า เป็นการเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึง “การเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์” หลัง จากที่พระองค์ถูกตรึงบนไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปของมนุษย์ และการฉลองนี้จะอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่เคยเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิ ของชาวยุโรป
สรุปหลักการจากบทความ (ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)
- การนับวันที่คาดเคลื่อนระหว่างเทศกาลอีสเตอร์และปัสกา แต่จักรพรรดิ์คอนสแตนติน พยายามทำให้มันเกี่ยวข้องกัน โดยมีแรงจูงใจไม่ให้คนยิวฉลองเทศกาลปัสกาและให้เป็นการฉลองวันอิสเตอร์แทน และพยายามทำให้ตรงกับวันอาทิตย์ เพื่อจะสนับความเชื่อของตนในเรื่องการนมัสการในวันอาทิตย์ ในสมัยเดิมคนยิวนมัสการในวันเสาร์ (ประเด็นนี้วันสะบาโต จะเป็นวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ก็ไม่สำคัญเท่าต้องมี 1 วันเพื่อพักสงบมาแสวงหาพระเจ้าเพื่อนมัสการ)
- การใช้วันอีสเตอร์มาแทนที่เทศกาลปัสกา เป็นการยอมรับเทพเจ้าแบบพวกโรมัน คือ เทพธิดาหรือพระแม่เจ้าแห่งฤดูใบไม้ผลิ (แนวความคิดนี้ จักรวรรดิโรมันก็นำวันที่ 25 ธันวาคม ที่ใช้นมัสการเทพเจ้ามาเพื่อให้เป็นวันประสูติของพระเยซูคริสต์ หรือวันคริสต์มาส แท้ทริงแล้วหาศึกษาและนับตามปฎิทินยิวจริงๆ พระเยซูน่าจะประสูติในช่วงเทศกาลอยู่เพิง) ทำให้ส่งผลคือจดจ่อกับประเพณีนิยม เช่นเล่นเกมตามหาไข่ที่เป็นสัญลักษณ์วันอีสเตอร์ หรือระบายสีเปลือกไข่ มากกว่าความหมายแท้จริงของเทศกาลปัสกา
- เทศกาลปัสกามีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็น 1 ใน 3 ของเทศกาลหลักที่พระเจ้าทรงบัญชาให้คนยิวถือเพื่อเฉลิมฉลองและเป็นการระลึกถึงการไถ่จากการเป็นทาสในอียิปต์
แนวทางภาคประยุกต์ในปัจจุบัน
- ในแต่ละคริสตจักร ควรจะมีการสอนบทเรียนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทศกาลปัสกาและอีสเตอร์ มีความแตกต่างกันอย่างไร ทำไมเราถึงเชื่อในเทศกาลปัสกาและทำไมเราถึงให้สมาชิกทำร่วมกัน
- ในแต่ละคริสตจักรน่าจะหนุนใจให้พี่น้องได้ระลึกถึงเทศกาลปัสกา เป็นเทศกาลปัสกาในฝ่ายวิญญาณ ระลึกถึงการอวยพระพรของพระเจ้าที่ทรงไถ่ในชีวิต อธิษฐานชำระชีวิต อธิษฐานชำระบ้าน รับพิธีมหาสนิทร่วมกัน ฟังคำสอนร่วมกัน โดยในปี 2011 หากนับตามปฎิทินยิว ในปี 2011 เทศกาลนี้ จะเริ่มในวันอังคารที่ 19 เม.ย. และสิ้นสุดที่วันจันทร์ที่ 25 เม.ย.2011
- ในวันอาทิตย์ที่ 24 เม.ย.เป็นวันประชุมนมัสการ ให้มีการระลึกถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์มีกิจกรรมที่สมาชิกมีส่วนร่วมแต่ไม่ได้เป็นแบบเทศกาลอิสเตอร์เช่นเล่นเกมหาไข่ เป็นต้น
เราไม่ควรจัดงานเทศกาลต่างๆ อย่างเป็นประเพณีนิยมที่ทำตามกันมา โดยปราศจากความเข้าใจถึงความสำคัญที่แท้จริง เน้นกิจกรรมมากกว่า วัตถุประสงค์ของพระเจ้าในเทศกาลต่างๆ
สรรเสริญพระเจ้า สำหรับเทศกาลปัสกาที่เราได้ผ่านพ้นจากการเป็นทาสในความบาปและเป็นไทโดยพระโลหิตของพระคริสต์ ฮาเลลูยา!
ขอบคุณพระเจ้าสำหรับความชัดเจนที่อ่านแล้วเข้าใจมากขึ้น มีประโยชน์มากไปค่ะ อ่านไปด้วยร้องให้ไปด้วยเลยค่ะ
ตอบลบ