14 ตุลาคม 2553

วัฒนธรรมทางความคิดในสังคมไทย

เขียนโดย เบญจมาส มากสุริวงศ์

หยุดคิดสักนิด วัฒนธรรมทางความคิดคนไทย เป็นเช่นไร สิ่งที่คิด สิ่งที่เชื่อ สมควรคิด ควรเชื่อเช่นนั้นอีกหรือไม่ ได้เวลาทบทวนตัวตนของคนไทย


“วัฒนธรรมทางความคิดในสังคมไทย”


ข้อความตอนหนึ่งในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล กล่าวไว้ว่า “อย่าให้เราเมื่อยล้าในการทำดี เพราะว่าถ้าเราไม่ท้อใจแล้ว เราก็จะเกี่ยวเก็บในเวลาอันสมควร”

สิ่งที่น่าสนใจที่ข้าพเจ้าถามขึ้นในใจ คือ เราจะเกี่ยวเก็บอะไร และคำตอบที่ข้าพเจ้าได้คือ การเกี่ยวเก็บผลจากสิ่งที่เราคิด เราเชื่อ และเรากระทำนั่นเอง ใครคิดแบบใด เขาก็จะกระทำตามความคิดนั้น และเขาย่อมได้รับผลจากสิ่งที่เขาคิด เขาเชื่อ และเขาได้กระทำนั่นเอง
เช่นเดียวกัน ไม่เพียงแค่ในระดับปัจเจกบุคคล แต่ชีวิตของเรากำลังอยู่ท่ามกลางสังคมใหญ่ ที่มีชื่อว่าสังคมไทย หรือประเทศไทย

ความคิด ความเชื่อ และค่านิยม ที่บรรพบุรุษได้ปลูกฝัง หล่อหลอมให้อยู่ในหัวใจของคนไทยนั้น ได้สร้างอัตลักษณ์แห่งความเป็นไทยให้เกิดขึ้น และส่งผลเป็นพฤติกรรมที่คนไทยได้แสดงออกมาผ่านขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตในด้านต่าง ๆ ทั้งวิถีความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
วัฒนธรรมทางความคิด มุมมองและการกระทำนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก สิ่งเหล่านี้จะโยงไปถึงการทำงาน การมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบต่อสังคมและอีกหลายๆอย่างและส่งผลไปจนถึงการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของชาติ

ถ้ามองเปรียบเทียบกันระหว่างชนชาติ เราจะเห็นว่าทำไมบางประเทศพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่บางประเทศล้าหลัง หรือค่อยๆเป็นค่อยๆไป เราจะสังเกตเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ สามารถสร้างคนที่มีความรับผิดชอบ เอาจริงเอาจังกับงาน ช่างคิด ช่างค้นคว้า ขยันขันแข็ง แม้จะไม่ใช่ทุกคนที่เป็นเช่นนี้แต่ก็นับได้ว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ว่าได้

ถ้าเราถามว่าทำไมหลายสิ่งหลายอย่างของบ้านเมืองเราไม่เหมือนที่อื่น ก็ต้องตอบว่า แต่ละที่ แต่ละประเทศ ก็มีวัฒนธรรมทางความคิดที่แตกต่างกันไป และย่อมส่งผลเป็นพฤติกรรม และต้องเก็บเกี่ยว หรือรับผลจากสิ่งที่คิดและทำนั่นเอง

วัฒนธรรมทางความคิดของคนไทยนั้นมีสิ่งที่ดีมากมาย แต่ในขณะเดียวกันบางเรื่องก็อาจมีจุดบอด หรือจุดอ่อนเช่นกัน

เราอาจคงเคยได้ยินคนบ่นเข้าหูว่า “ทำไม่ประเทศเราไปไม่ถึงไหนสักที ทำไมการเมืองเป็นอย่างนี้
ทำไมนักการเมืองต้องทะเลาะกัน ทำไมบ้านเมืองของเราไม่เหมือนบ้านเมืองที่เขาเจริญแล้ว”

หลายคนมัวแต่ไปโทษนักการเมือง หรือโทษโน่นโทษนี่ จริงๆแล้วนักการเมืองเขาก็มาจากประชาชน อย่าไปโทษใครเลย ต้องโทษเรา คนไทยทุกคน ก็เราคิดอะไรแบบเดิม ทำอะไรแบบเดิม โดยไม่เคยคิดว่าสิ่งที่เราคิดและเชื่อนั้น มันมีคุณค่าควรที่จะคิดจะเชื่อ จริง ๆ หรือไม่ มันก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ มันต้องยอมรับ ต้องยอมรับว่าบางเรื่องเราก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่

ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง หากเราจะได้ ใคร่ครวญ และศึกษาว่า วัฒนธรรมความคิดในสังคมไทย สิ่งที่เราคิดและ เราเชื่อนั้นเป็นอย่างไร เพื่อเราจะเข้าใจตัวตนของเรา เพื่อจะเห็นทั้งจุดดี และจุดอ่อนของความคิด และความเชื่อนั้น และ เพื่อจะแก้ไข พัฒนาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น
สังคมไทยมีวัฒนธรรมทางความคิดอย่างไร ?

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า วัฒนธรรมทางความคิดก็คือ วิถีความคิด ความเชื่อค่านิยม ศีลธรรมของคนในสังคม ที่ยึดถือกันจนสมาชิกในสังคมเดียวกันสามารถเข้าใจ ซาบซึ้ง และยอมรับและยึดถือร่วมกัน


วัฒนธรรมทางความคิดของสังคมไทยนั้นสะท้อนให้เราเห็นได้ได้ผ่านสำนวนสุภาษิต มีคนกล่าวว่า หากอยากจะรู้ว่าคนไทยคิดอย่างไรนั้น ให้เข้าไปศึกษาสำนวนสุภาษิตของไทย แล้วจะรู้ว่าคนไทยมีวัฒนธรรมทางความคิดอย่างไร


สำนวนไทยช่วยสะท้อนให้เห็นความคิด ความเชื่อในสังคมไทย เช่น เรามีสำนวนว่า เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด นี่สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีใจยกย่องให้เกียรติผู้หลักผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่ย่อมมีประสบการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาว อาบน้ำร้อนมาก่อน



ดังนั้นเราจึงเห็นว่า เมื่อถึงวันสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ในประเพณีไทย เช่น วันปีใหม่ วันสงกรานต์ เราก็มักจะมีช่วงเวลาที่กลับไปเยี่ยม ไปไหว้ ขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่



ความคิด ความเชื่อ เรื่องการให้เกียรติผู้อาวุโสกว่านี้ ยังสะท้อนให้เห็นได้ในเรื่องอื่น ๆ เช่น ในสถาบันการศึกษาก็จะมีระบบรุ่นพี่ รุ่นน้อง เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ก็จะมีการรับน้องเป็นต้น หรือในอาชีพข้าราชการ หรือบริษัทต่าง ๆ บางครั้งการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ก็ใช้เกณฑ์เรื่องความอาวุโส เป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาตัดสินด้วยเช่นกัน



แม้จะมีจุดดีหลายอย่าง ที่เราเห็นได้ในวัฒนธรรมความคิดเช่นนี้ เช่น ความรู้สึกอบอุ่น มีผู้ที่อาวุโส หรือเป็นผู้ใหญ่กว่าให้คำปรึกษา คอยชี้แนะตักเตือนเรา แต่เราก็เห็นว่าในวัฒนธรรมความคิดเช่นนี้มีจุดอ่อน หรือจุดบอดอยู่เช่นกัน นั่นคือ บางครั้งหากเราเดินตามหลังผู้ใหญ่อยู่ทุกครั้ง ความเป็นตัวตนของตนเองในความคิด ความอ่านก็อาจจะไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ บางคนอาจรู้สึกเกรงใจผู้หลักผู้ใหญ่ทำให้ไม่กล้าเสนอความคิดเห็นของตนได้อย่างเต็มที่ หลายครั้งเด็ก ๆ ได้รับการสอนให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ จนเด็กคิดเองไม่เป็นก็มี หรือ บางคนเก่งกว่าแต่ก็อาจเสียโอกาสในเวลานั้นที่จะก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานเพียงเพราะมีวัยวุฒิที่ต่ำกว่านั่นเอง


วัฒนธรรมทางความคิดในเรื่องนี้ คนไทยอาจต้องปรับเปลี่ยนความคิด ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความสมดุล ที่เรายังคงรักษาความรัก เคารพให้เกียรติผู้ที่อาวุโสกว่า แต่ขณะเดียวกัน ความรู้ความสามารถก็ได้รับการปลดปล่อยออกมาได้อย่างเต็มที่โดยไม่ถูกกีดกัน
บางคนบอกไว้อย่างน่าคิดว่า ให้เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่รัฐบาลก่อน เลือกสรรคนเข้าสู่ตำแหน่งต่าง ๆ ตามความรู้ความสามารถ ไม่ใช่เพราะความอาวุโส หรือ ปัจจัยอื่น ๆ

อีกสำนวนหนึ่ง คือ เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม แปลตามประโยคสำนวนก็ว่า เข้าเมืองตาบอดข้างเดียว ถึงแม้ตาเราไม่บอด ก็ต้องทำตาบอดข้างเดียวตามเขาไปด้วย ( ตาหลิ่ว ในที่นี้หมายถึงตาบอดข้างเดียวหรือคนตาเดียว ไม่ใช่หมายถึงทำตาหลิ่ว หรือหลิ่วตา ) หมายความว่า ที่นั่นเขาประพฤติกันเช่นไร เราก็ทำตามเขาไปด้วย อย่าไปประพฤติขัดแย้งกับเขา


ความคิดเช่นนี้ มาจากลักษณะนิสัยของคนไทยที่ เป็นคนชอบสันติ และ ไม่ชอบความรู้สึกที่แปลกแยกแตกต่างจากคนอื่น เพราะคิดว่าความแตกต่างอาจสร้างปัญหาได้ วัฒนธรรมทางความคิดเช่นนี้ก็มีข้อดี คือ ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ได้อย่างดีทั้งนี้เพราะเป็นการสอนให้คนรู้จักปรับตัวเข้าหากัน แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องระมัดระวัง ไม่ให้เราสูญเสียความเป็นตัวตนหรือเอกลักษณ์ของตนเองไป เพราะต้องคอยแต่หลิ่วตาตามคนอื่น หรือหากในกรณีที่มีการทำผิดทางศีลธรรม เราก็ต้องมีสติ มีจุดยืนที่ถูกต้อง ไม่กระทำตามหากสิ่งนั้นเป็นสิ่งผิด หากเรามีวัฒนธรรมทางความคิด ความเชื่อเรื่องนี้ที่ปรับเปลี่ยนให้สมดุล ถูกต้อง เราก็จะไม่เห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการทุจริต คอรัปชั่นที่มากมาย เช่นนี้อีกต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีสำนวนว่า บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น หมายความว่า จะทำอะไรก็ค่อย ๆ พูดจากัน อย่าให้มีเรื่องมีราวเดือดร้อนเกิดขึ้นกีบอีกฝ่ายหนึ่ง คนไทยไม่ชอบความรุนแรง ไม่ชอบการทะเลาะวิวาท ความคิดความเชื่อที่อยู่ในใจคนไทย คือ หันหน้าคุยกันดีกว่า เราเห็นภาพนี้ได้ชัดเจน เมื่อไม่นานมานี้ เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความรุนแรง และกระแสความคิดความรู้สึกของผู้คนที่เรียกร้องให้หันหน้าพูดคุกัน

เราจะสังเกตได้ว่า วิธีการพูดของคนไทย และพวกฝรั่งมังค่า แตกต่างกัน คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดตรง ๆ เวลาจะเตือนสติ ก็พูดอ้อมไปอ้อมมากว่าจะเข้าเรื่อง เพราะกลัวอีกฝ่ายหนึ่งจะโกรธหรือเสียใจ ในขณะที่ฝรั่งจะแสดงความรู้สึกอย่างเปิดเผย ชอบหรือไม่ชอบก็บอกกันมาตรงๆ

หากจะถามว่าอันไหนดีกว่ากันก็คงตอบยาก ความคิด ความเชื่อของคนไทยที่คิดว่าเวลาพูดคุยกันนั้น บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่นนั้น ก็ดี ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการทะเลาะวิวาท หรือความไม่พอใจกันและกัน หรือช่วยกระชับสัมพันธภาพ แต่ก็มีจุดอ่อน หรือจุดบอด เช่นกัน เช่น หากจะเตือนสติใครสักคน มัวแต่พูดอ้อมไปอ้อมมา คน ๆ นั้นอาจไม่เข้าใจ เพราะจับประเด็นไม่ได้ สุดท้ายนิสัยก็ไม่เปลี่ยน พฤติกรรมแย่ ๆ ก็ยังปรากฏออกมาเหมือนเดิม เป็นต้น


บางทีเราอาจต้องปรับเปลี่ยนความคิดของเราใหม่ สอนลูกหลานของเราใหม่ คุณครูอาจสอนลูกศิษย์ใหม่ ให้รับเอาค่านิยมที่เปิดใจต่อคำวิพากวิจารณ์ หรือ ให้มีใจขอบคุณต่อผู้ที่มาตักเตือนว่ากล่าวเรา เพราะเขาช่างมีใจกล้า ให้ถือเสียว่า ถ้าไม่รักกันจริง ก็คงไม่กล้ามาบอก หากเราแก้วิถีคิดเช่นนี้ใหม่ บางที พฤติกรรมสอพลอ พูดอย่างใจอย่างในสังคมไทยอาจเปลี่ยนไปก็เป็นได้

นอกจากนี้ ยังมีสำนวนที่สะท้อนความคิด ความเชื่อ เกี่ยวกับเกียรติยศชื่อเสียง เช่น สำนวนว่า “ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ” สำนวนนี้ มักใช้เป็นสำนวนเปรียบกับผู้ชาย ซึ่งตามหลักที่ว่าผู้ชายจะทำอะไรก็ต้องให้เก่งกล้าหรือองอาจ ไม่อ่อนแอเหมือนผู้หญิง โดยเฉพาะหมายความว่า ขึ้นชื่อว่าผู้ชายแล้วจะต้องเก่งกล้าสามารถ ทุกคน เปรียบได้กับเสือ เพราะเสือเป็นสัตว์ดุร้ายแต่เก่ง ถือเอาลายของมันเป็นสัญลักษณ์ของความเก่งกาจซึ่งเรามักพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า " ชาติเสือไม่ทิ้งลาย " อันมีความหมายอย่างเดียวกัน


สังคมไทยเชื่อว่าเกิดมาเป็นผู้ชายต้องมีใจรักศักดิ์ศรี และอย่าทำตัวอ่อนแอให้ใครเห็น อย่าเสียน้ำตาผู้ชายแม้แต่หยดเดียว นี่เป็นสิ่งที่ครอบครัวไทยมักบ่มเพาะในตัวลูกชาย เช่น แม่พูดกับลูกว่า “ลูกเป็นลูกผู้ชายนะ ผู้ชาย เขาไม่ร้องไห้กัน” เป็นต้น


ค่านิยมเหล่านี้ฝังอยู่ในใจของผู้ชายทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมก็คาดหวังจะเห็นความแข็งแกร่งและเข้มแข็งจากเขา ความคิด ความเชื่อเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้คนเรามีใจอดทน เข้มแข็ง รักเกียรติ รักศักดิ์ศรี แต่อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเหมือนดาบสองคม เมื่อใครคนหนึ่งรักศักดิ์ศรีของตนมากเกินไป อาจกลายเป็นความหยิ่งทะนงในตัวเองได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นการชกต่อยเกิดขึ้นในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิงเพราะความรักเกียรติรักศักดิ์ศรีของพวกเขา พวกนักเรียนเทคนิคมีเรื่องชกต่อย รุมทำร้ายคู่อริต่างสถาบัน ก็มีให้ได้ยินกันอย่างต่อเนื่อง แก้ไม่ได้เสียที เพราะความคิด ความเชื่อนี้ฝังอยู่ในใจของพวกเขาว่า ฆ่าได้ หยามไม่ได้ นั่นเอง


หากรากฐานทางความคิดของสังคมไทยเป็นเช่นนี้ต่อไป โดยไม่แก้ไขจุดอ่อนนี้ ก็คงพัฒนาประเทศให้ก้าวไปอย่างยากลำบาก หากในสภาผู้แทนราษฎรยังมีให้เห็นถึงการใช้กำลังชกต่อยกัน เมื่อมีการพาดพิง หรือพูดแตะต่อมแห่งศักดิ์ศรี ก็คงเป็นเรื่องยากจริง ๆ ที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวไป เพราะแม้กระทั่งผู้ใหญ่ที่อยู่ในตำแหน่งสูง ๆ ก็ยังไม่เป็นแบบอย่างให้เห็น หรือ แม้กระทั่งบอลไทย ที่แข่งทีไรก็มีมวยเกิดขึ้นตามมาให้คนดูได้ชมกันบ่อยครั้ง


ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องทบทวนว่า วัฒนธรรมความคิดที่เราเชื่อ เราคิด และเราปฏิบัติกันนั้นว่าถูกต้องแล้วจริง ๆ หรือไม่


วัฒนธรรมทางความคิดสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และถึงเวลาที่เราจะเปลี่ยนความคิดเรื่องนี้แล้วหรือยัง เราควรมาช่วยกันแก้ไข ปรับเปลี่ยนค่านิยมทางความคิด ความเชื่อนั้นให้ถูกต้อง และเกิดผลดีต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง โดยผู้ใหญ่ออกมาสอนและเป็นแบบอย่างให้เด็กเห็นอย่างแท้จริง

การจะเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมที่คาดหวังให้ผู้ชาย ยึดมั่น รักเกียรติยศ รักศักด์ศรีจนกลายเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า อีโก้ หรือความหยิ่งนั้น เราอาจต้องเข้าใจสัจธรรมความจริงอย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าใครก็ตามจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงต่างก็มีความอ่อนแอด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีใครเข้มแข็งอยู่ได้ตลอดเวลา สังคมจึงไม่ควรสร้างค่านิยมเช่นนั้นกับเพศชาย ซึ่งความคาดหวังเช่นนั้นย่อมผลักดันนิสัยหรือพฤติกรรมก้าวร้าวให้เกิดขึ้นได้

ยังมีสำนวนอื่น ๆ อีกมากมายที่บ่งบอกวัฒนธรรมทางความคิดของคนไทย ทำให้เรารู้จักตัวตนของเราคนไทยมากขึ้น ทั้งด้านบวกและด้านลบ


วัฒนธรรมความคิดยังสะท้อนผ่านสิ่งอื่น ๆ รอบตัวเรา ทั้งหนัง เพลง หรือละครที่เราฟังหลังข่าว หากเราได้มีโอกาสนิ่งคิดสักนิดหลังจากที่ได้เสพความบันเทิงในสื่อต่าง ๆ แล้ว เราน่าจะได้ทบทวนถึงสิ่งที่เราคิดเราเชื่อ บางทีประเทศของเราอาจพัฒนาได้ก้าวไกลกว่านี้ ก็เป็นได้เพียงแค่เริ่มต้นที่จะเปิดใจ กล้าคิด และกล้าเปลี่ยนแปลง อย่ายึดติดกับสิ่งที่บรรพบุรุษส่งทอดมาถึงเรา


หากเป็นสิ่งที่ดีรับและรักษาไว้ส่งทอดถึงคนรุ่นต่อไป แต่หากมีจุดอ่อน เราก็ไม่ควรเฉยเมย ลุกขึ้นมา กล้าหาญที่จะเปลี่ยน อนาคตของประเทศสามารถเปลี่ยนได้ เริ่มต้นที่ความคิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น