28 กรกฎาคม 2560

การเห็นต่างในวิถีแบบอาณาจักร

การเห็นต่างในวิถีแบบอาณาจักร โดย Haiyong Kavilar


            ในบทความที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงว่า ในการขับเคลื่อนแบบอัครทูตหรือแบบอาณาจักร ทุกคนไม่จำเป็นต้องมีความเห็นด้านคำสอนที่เหมือนกัน พวกเราสามารถมีความเห็นด้านคำสอนที่แตกต่างกันและยังคงแผ่ขยายอาณาจักรพระเจ้าให้รุดหน้าต่อไปได้

            อย่างไรก็ตาม ในบทความที่แล้วผมไม่ได้ให้แนวทางที่ชัดเจนว่าจะเห็นต่างโดยคงความเป็นหนึ่งได้อย่างไร ในบทความนี้ ผมจึงนำเนื้อความใน blog ของ โจนาธาน เวลตัน มาแปล ซึ่งบทความนี้มีหัวข้อว่า How to Disagree in the Kingdom (การเห็นต่างในวิถีแบบอาณาจักร) หวังว่าเมื่อเพื่อนๆอ่านบทความนี้ เพื่อนๆจะสามารถเห็นต่างกัน แต่ยังคงให้เกียรติกัน และคงความเป็นหนึ่งในพระกายได้ –Haiyong Kavilar 

ก่อนที่พวกเราจะศึกษาระบบความเชื่อและคำสอนของพระคัมภีร์ พวกเราจำต้องตระหนักถึงความแตกต่างระว่างสองวัฒนธรรมในแวดวงคริสเตียนคือ วัฒนธรรมของนักวิชาการคริสเตียน กับวัฒนธรรมของคริสเตียนสามัญ

จากมุมมองของนักมนุษยวิทยา วัฒนธรรมทั่วโลกประกอบไปด้วยสองส่วนหลักๆคือ วัฒนธรรมของคนชนชั้นสูง กับ วัฒนธรรมของสามัญชน

วัฒนธรรมของคนชนชั้นสูง มักจะมาจากคนที่มั่งคั่งและมีการศึกษาที่สูง ผู้คนในวัฒนธรรมชนชั้นสูงมักจะให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆที่มีความละเอียดอ่อน เช่น ไวน์ราคาแพง มื้ออาหารที่ปราณีต เพลงแบบคลาสสิค เสื้อผ้าที่เป็นทางการ ฯลฯ เป็นต้น วัฒนธรรมของคนชนชั้นสูงเป็นวัฒนธรรมของคนส่วนน้อย  ทว่ากลับเป็นวัฒนธรรมที่มีพลังและทรงอิทธิพล

แต่ก็ยังมีวัฒนธรรมอีกวัฒนธรรมหนึ่งซึ่งเป็นของคนส่วนใหญ่ อันเป็นวัฒนธรรมของสามัญชน(จะเรียกว่าวัฒนธรรมของตลาดก็ได้) ผู้คนในวัฒธรรมนี้จะฟังเพลงตลาดในวิทยุและชมภาพยนตร์ที่ฉายกันทั่วๆไป พวกเขากินข้าวในร้านอาหารธรรมดาๆและซื้อของตามร้านค้าที่ไม่ได้เลิศหรูนัก

นอกจากวัฒนธรรมของชนชั้นสูงและวัฒนธรรมของสามัญชนแล้ว ยังมีอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมอินดี้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ต่อต้านสามัญชน ผู้คนในวัฒนธรรมนี้จะดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากคนทั่วไป ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจไม่กินเนื้อสัตว์ คลอดลูกเองที่บ้าน ไม่ยอมให้ลูกรับวัคซีนป้องกันโรค เพลงและภาพยนตร์ที่พวกเขารับชมก็เป็นสิ่งบันเทิงที่ไม่ค่อยมีให้เห็นในสื่อบันเทิงกระแสหลัก โดยปกติผู้คนในวัฒนธรรมอินดี้จะรู้สึกภาคภูมิใจในการทำสิ่งที่แตกต่างจากสามัญชน

วัฒนธรรมทั้ง 3 แบบ (1.ชนชั้นสูง 2.สามัญชน 3.อินดี้) มีความแตกต่างกันมาก แต่ทั้งหมดนี้ก็นับรวมกันเป็นวัฒนธรรมทั้งหมดของคนในสังคม

วัฒนธรรมของพระกายก็ประกอบไปด้วยสามส่วนหลักๆก็คือ

1. วัฒนธรรมของคริสเตียนทั่วไปหรือคริสเตียนสามัญ นี่เป็นวัฒนธรรมของคริสเตียนส่วนใหญ่ อันเป็นการดำรงชีวิตเหมือนคริสเตียนปกติ และฟังเพลงนมัสการแบบทั่วๆไป

2. วัฒนธรรมของคริสเตียนแบบอินดี้ อันเป็นวัฒนธรรมของโบสถ์บางกลุ่ม ที่มีรูปแบบการนมัสการและการประชุมที่แตกต่างไปจากคริสเตียนส่วนใหญ่อย่างเห็นได้ชัด (แต่ไม่ใช่ลัทธิเทียมเท็จ)

เพื่อให้การอธิบายราบรื่น ผมขอรวบวัฒนธรรมแบบสามัญกับแบบอินดี้เป็นอันเดียวกัน ซึ่งโดยปกติแล้ว ทั้งคริสเตียนสามัญและคริสเตียนอินดี้ มักจะไม่ยืดหยุ่นในเรื่องคำสอน

3. วัฒนธรรมของนักวิชาการคริสเตียน นี่เป็นวัฒนธรรมของพวกนักศาสนศาสตร์และนักวิชาการพระคัมภีร์ พวกเขามักจะชอบพูดคุยและอภิปรายประเด็นทางศาสนศาสตร์ต่างๆ ผู้คนในวัฒนธรรมของนักวิชาการคริสเตียนมักจะพูดภาษาที่ยุ่งยากซับซ้อนซึ่งเป็นภาษาที่คริสเตียนทั่วไปเข้าไม่ถึง

ปัจจุบันก็มีนักศาสนศาสตร์บางคน (เช่น เอนทีไรท์ และ กอร์ดอน ฟี) พยายามที่จะสื่อสารหลักศาสนศาสตร์ในภาษาแบบง่ายๆ แต่หนังสือศาสนศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นหนังสือที่อ่านยากเพราะมีแต่คำศัพท์ทางวิชาการ

            วัฒนธรรมของคริสเตียนแบบสามัญกับแบบวิชาการมีความแตกต่างกันอยู่มาก ซึ่งทั้งสองวัฒนธรรมนี้ก็มีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไป จุดด้อยอย่างหนึ่งในวัฒนธรรมแบบนักวิชาการก็คือการเน้นแต่ความรู้จนบางทีก็ละเลยความรัก อัครทูตเปาโลได้เขียนไว้ใน (1 โครินธ์ 8:1) ว่า “ความ​รู้​นั้น​ทำ​ให้​ลำ​พอง แต่​ความ​รัก​เสริม​สร้าง​ขึ้น

ถ้าพวกเราเข้าใจในศาสนศาสตร์ทุกอย่างและมีความรู้ศัพท์ภาษากรีกอย่างดี
แต่ถ้าพวกเรามีความประพฤติที่แย่ต่อครอบครัวและเพื่อน
โดยไม่ได้สำแดงชีวิตคริสเตียนที่ดี นั่นแสดงว่าพวกเรามีปัญหาใหญ่แล้ว

            อย่างไรก็ตาม นักวิชาการคริสเตียนก็มักมีจุดดีอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือพวกเขาสามารถเห็นต่างกันโดยที่ยังคงให้เกียรติกันได้ แต่ในวัฒนธรรมของคริสเตียนสามัญ เมื่อผู้คนมีความเห็นที่ต่างกัน พวกเขาก็มักจะไม่ให้เกียรติกัน บางครั้งผู้นำในวัฒนธรรมของคริสเตียนสามัญก็ใช้ถ้อยคำที่หลู่เกียรติต่อผู้เห็นต่างและไม่ค่อยเปิดใจในการพูดคุยกับผู้ที่เห็นต่างจากตน โดยปกติผู้นำก็ไม่อยากให้คนภายใต้ไปหลงคล้อยกับคำสอนที่ผู้นำเห็นต่าง เมื่อผู้นำไม่ให้เกียรติผู้ที่ผู้เห็นต่าง คนภายใต้ของผู้นำก็มักจะไม่ให้เกียรติผู้ที่ผู้นำเห็นต่างตามไปด้วย หลายครั้งการไม่ให้เกียรติผู้เห็นต่างได้ถ่ายทอดจากผู้นำสู่คนภายใต้เพราะ “ความหวังดี” จากผู้นำที่ไม่อยากให้คนภายใต้หลงไปกับคำสอนเทียมเท็จ

            ในวัฒนธรรมของนักวิชาการคริสเตียน การโต้วาทีกับการอภิปรายเป็นเรื่องปกติ การพูดคุยกับผู้เห็นต่างจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย วัฒนธรรมของนักวิชาการคริสเตียน เป็นวัฒนธรรมที่ง่ายในการให้เกียรติต่อผู้เห็นต่าง เพราะในการอภิปรายหรือโต้วาที สองฝ่ายที่เห็นต่างกันจะมีโอกาสในการวิเคราะห์ระบบความคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งทำให้แต่ละฝ่ายเรียนรู้ที่จะเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายหนึ่ง การเปิดใจกับมุมมองที่แตกต่างจึงเกิดขึ้นได้บ่อยๆในแวดวงวิชาการ

            โดยปกตินักวิชาการจะให้ความสำคัญกับความเห็นส่วนบุคคลอันเป็นผลมาจากการศึกษาด้วยตัวเอง นักวิชาการมักพูดว่า “เราเชื่อเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะเหตุผลนั้นเหตุผลนี้” นักวิชาการจึงสามารถพูดคุยกับผู้เห็นต่างได้โดยยังคงให้เกียรติต่อผู้เห็นต่าง
ในวัฒนธรรมแบบนักวิชาการคริสเตียน ผู้คนอภิปรายกันโดยไม่คิดที่จะให้ร้ายกัน นักวิชาการไม่ได้ยึดถือว่าความเห็นของตนจะต้องถูกต้องที่สุด การให้เกียรติผู้เห็นต่างจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ทว่าในวัฒนธรรมแบบคริสเตียนสามัญ ผู้คนมักจะหลงคิดไปว่า ความเห็นของตนนั้นถูกต้องที่สุด การให้เกียรติผู้เห็นต่างจึงทำได้ยากหน่อย

ทางที่ดีที่สุดในการเข้าถึงศาสนศาสตร์ก็คือการยอมรับความเห็นต่าง
และการเปิดใจในการเรียนรู้จากผู้อื่น

นักวิชาการคริสเตียนเป็นแบบอย่างในการรับฟังความเห็นที่แตกต่างกันได้อย่างดี พวกเราควรจะเอาพวกเขาเป็นตัวอย่างด้วยซ้ำ นักวิชาการมักมีกระบวนทัศน์ที่ว่า ผู้คนสามารถฟังมุมมองที่แตกต่างกันได้เพื่อว่าท้ายสุดแต่ละคนจะได้ตัดสินใจอย่างมีเหตุผลในการเลือกจุดยืนของตน ในวัฒนธรรมของนักวิชาการคริสเตียน แต่ละคนมีอิสระในการรับฟังมุมมองที่แตกต่างกันและสามารถมีข้อสรุปที่เป็นของตนเอง  แม้ว่าข้อสรุปของเราจะไม่เหมือนคนอื่น แต่การให้เกียรติกันและกันก็ยังเกิดขึ้นได้

ในแวดวงนักวิชาการคริสเตียนมีหนังสือมากมายที่แสดงถึงความเห็นที่แตกต่างกันในคำสอนเรื่องเดียวกัน หนังสือเหล่านี้ไม่ได้เขียนโดยผู้เขียนเพียงคนเดียว แต่เป็นหนังสือที่ประกอบไปด้วยข้อเขียนของนักศาสนศาสตร์หลายคน เช่น หนังสือ[1] และยังมีหนังสืออีกแบบหนี่งที่เห็นได้ทั่วไปในแวดวงนักวิชาการคริสเตียน นั่นก็คือหนังสือโต้แย้ง อันเป็นหนังสือที่นักศาสนศาสตร์คนหนึ่งเขียนขึ้นมาเพื่อโต้แย้งกับงานเขียนของนักศาสนศาสตร์อีกคนหนึ่ง เช่น หนังสือ[2]

เชิงอรรถ

หนังสือ [1]: The Nature of the Atonement: Four Views (ธรรมชาติของการลบมลทินบาป 4 มุมมอง)หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนักศาสนศาสตร์ชั้นนำถึง 4 คน โดยแต่ละคนจะมีความเห็นที่แตกต่างไปในเรื่องการลบมลทินบาป นอกจากนี้ยังมีหนังสือ Four Views on the Book of Revelation (4 มุมมองสำหรับหนังสือวิวรณ์) และหนังสือ God and Time: Four Different Views (พระเจ้ากับเวลา มุมมองที่แตกต่างกัน 4 แบบ) หนังสือเหล่านี้แสดงถึงมุมมองที่แตกต่างกันในหัวเรี่องเดียวกัน

หนังสือ[2]: หนังสือของ Kenneth Gentry (เคนเนธ เจนทรี) ที่ชื่อว่า The Charismatic Gift of Prophecy: A Reformed Response to Wayne Grudem (ของประทานแบบคาริสมาติกเรื่องการเผยพระวจนะ: การโต้แย้งต่อ เวย์น กรูเดม ด้วยมุมมองแบบรีฟอร์ม) ในหนังสือเล่มนี้ เจนทรี แสดงความเห็นต่างไปจากความเชื่อของกรูเดมในเรื่องเกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ โดยเจนทรีแสดงความเห็นต่างอย่างชัดเจนในมิติแบบนักวิชาการ แต่ยังคงให้เกียรติต่อกรูเดม

การให้เกียรติต่อผู้เห็นต่างก็คือการนำถ้อยคำของผู้เห็นต่างมาอ้างอย่างถูกต้องตามบริบทที่เขาสื่อสาร ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่จะระมัดระวังเรื่องนี้มากๆ น่าเสียดายที่ผู้นำมากมายในวัฒนธรรมแบบคริสเตียนสามัญมักจะนำถ้อยคำของผู้เห็นต่างมาอ้างอิงอย่างนอกบริบท ซึ่งทำให้ผู้ฟังเข้าใจผู้เห็นต่างผิดไป นี่เป็นการสื่อสารที่ผิด เป็นความความใจผิด และเป็นการทำร้ายผู้อื่นที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน นี่เป็นการไม่ให้เกียรติและยังไม่ช่วยให้เราสะสางการเห็นต่างอย่างถูกต้อง พวกเราควรจะเรียนรู้การเห็นต่างโดยที่ไม่หลู่เกียรติและไม่นำถ้อยคำของผู้เห็นต่างมากล่าวเกินนอกบริบทที่เขาสื่อสาร เป้าหมายของพวกเราควรจะเป็นการเข้าใจความเชื่อของผู้อื่นอย่างถูกต้องและยุติธรรม เพื่อว่าเราจะได้มีข้อสรุปของเราเอง

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

Blog ของ โจนาธาน เวลตัน
หนังสือ Understanding the Whole Bible เขียนโดย Jonathan Welton

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น