05 กันยายน 2553

ร้อช ฮ้าชชะนาห์ เทศกาลแห่งเสียงแตร จุดเริ่มต้นของปี ก้าวสู่ฤดูกาลใหม่ของพระเจ้า

Rosh Hashanah เทศกาลแห่งเสียงแตร ร้อช ฮ้าชชะนาห์ จุดเริ่มต้นของปี ก้าวสู่ฤดูกาลใหม่ของพระเจ้า




ในช่วงประมาณเดือนกันยายนของทุกปี คนอิสราเอลจะมีเทศกาลฉลองปีใหม่ของเขาคือ ร้อช ฮ้าชชะนาห์ เทศกาลแห่งเสียงแตร (ในปี 2010 ตรงกับวันที่ 8 กันยายน) เป็นการเริ่มต้นปีใหม่และสำรวจชีวิตทิ้งสิ่งเก่าและเริ่มต้นใหม่ในปีข้างหน้า
ในปัจจุบันผู้เชื่อส่วนใหญ่นั้นไม่รู้จักเทศกาลของพระเจ้า ฉะนั้นคนเหล่านั้นจึงไม่สามารถที่จะเข้าใจจุดประสงค์หรือแผนการของพระเจ้าได้
บางคนคิดว่าเทศกาลต่างๆของพระเจ้านั้นไม่มีประโยชน์อะไรสําหรับผู้เชื่อเลย แท้จริงแล้วเทศกาลต่างๆนั้นเป็นเงาของเหตุการณ์ที่จะมีมาภายหลัง ฉะนั้นเทศกาลต่างๆของพระเจ้าสอนเราเกี่ยวกับแผนของพระเจ้า


พระเจ้าได้ทรงบรรยายถึงทุกเทศกาลของท่านไว้ใน เลวินิติ บทที่ 23 ได้เริ่มต้นด้วยคําว่า “พระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า จงกล่าวแก่คนอิสราเอลว่า เทศกาลเลี้ยงตามกําหนดแด่พระเจ้า ซึ่งเจ้าจะต้องประกาศว่าเป็นการประชุมบริสุทธ์” (เลวินิติ 23:1-2) เทศกาลเหล่านี้เป็นวันประชุมบริสุทธ์ที่ทุกคนจะมาประชุมกันและเรียนรู้ถึงแผนการของพระเจ้า

พระเจ้าได้ทรงกำหนดเทศกาลต่างๆไว้สําหรับทุกคน

เนื่องจากในช่วงเวลานี้ ตามปฏิทินยิว เป็นช่วงเวลาแห่งเสียงแตรเขาสัตว์ (shofar (Hebrew: שופר‎) ซึ่งเป็นเทศกาลที่สำคัญและมีความหมายฝ่ายวิญญาณมาก

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ฟังคำสอนในเรื่องปี 5771 ของปฎิทินยิว เรียกว่าเป็นปีตัวอักษร Ayin Aleph ซึ่งเป็นปีแห่งการเตรียมให้บริสุทธิ์เพื่อรองรับการเทลงมาแห่งพระสิริของพระเจ้า โดย Dr.Robert Heidler ศิษยาภิบาลอาวุโสของ Glory of Zion และในวันอาทิตย์ที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา อ.นิมิตได้แบ่งปันในคำเทศนาเรื่องนี้ที่คริสตจักรแห่งพระบัญชา

ผมจึงได้ไปศึกษาและเรียบเรียงเขียนให้อ่านและพิจารณาถึงเทศกาลนี้ เพื่อจะมีความเข้าใจและก้าวไปสู่เวลาใหม่ของพระเจ้า เป็นเวลาที่น่าตื่นเต้นที่พระเจ้าทรงจะกระทำในปีข้างหน้านี้ สิ่งที่เราควรจะทำคือจัดตารางเวลาของเราเข้าสู่ตารางเวลาของพระเจ้า

เทศกาลเสียงแตรมีขึ้นในวันแรกของเดือนที่เจ็ด เป็นเดือนที่สำคัญมากเพราะในเดือนนี้มีเทศกาลอยู่ถึง 3 เทศกาลได้แก่ เทศกาลเป่าแตร เทศกาลลบมนทิลบาป และเทศกาลอยู่เพิง ทั้ง 3 เทศกาลนี้เป็นแบบที่ทำให้เห็นแผนการแห่งการไถ่ที่สมบูรณ์ของพระเจ้า
ในแต่ละปีทางศาสนาของยิวนั้นจะมีการเป่าแตร แต่การเป่าแตรในเทศกาลเป่าแตรซึ่งอยู่ในเดือนที่เจ็ดนั้น ถือเป็นการเป่าแตรในช่วงระยะเวลาท้ายสุดของปี เพื่อบอกถึงการสำเร็จเสร็จสิ้น ความสมบูรณ์ในแผนการของพระเจ้าสำหรับการไถ่บาป และเปิดฉากสู่การก้าวสู่เวลาใหม่ มิติใหม่ หรือ ก้าวสู่ New world

ในพระคัมภีร์เดิม เทศกาลเป่าแตรมีขึ้นในวันแรกของเดือนที่เจ็ด แต่เดิมเรียกว่าเดือนเอธานิม ซึ่งปรากฏใน

1 พงศ์กษัตริย์ 8:2
2 และผู้ชายทั้งสิ้นของอิสราเอลก็ประชุมต่อพระพักตร์พระราชาซาโลมอน ณการเลี้ยงในเดือนเอธานิม ซึ่งเป็นเดือนที่เจ็ด


แต่มาภายหลังเมื่ออิสราเอลกลับจากการเป็นทาสที่บาบิโลนจึงเรียกชื่อเดือนนี้ใหม่เป็นเดือนทิชรี ทิชรีจึงเป็นเดือนแรกในปฏิทินชาวบาบิโลน ชาวยิวเรียกวันแรกในเดือนทิชรีนี้ว่า รอชฮาชานา ซึ่งแปลตามตัวอักษรหมายถึง ต้นปี คนยิวจึงถือเอาวันนี้เป็นวันปีใหม่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้น คือ เริ่มต้นสิบวันแห่งการกลับใจใหม่ หรือ เริ่มต้นวันอันน่าสะพรึงกลัว นี่เป็นสิบวันแห่งการเตรียมตัวสู่วันลบมนทิลบาปหรือวันยมคิปปูร์ ซึ่งอยู่ในวันที่สิบของเดือนที่เจ็ด



เทศกาลเสียงแตรและวันแห่งการลบมลทินบาป(The day of atonement) Yom Kippur ยมคิปปูร์(Hebrew: יוֹם כִּפּוּר‎ )นี้ มีความแตกต่างจากเทศกาลอื่น ๆ นั่นก็คือ

ประการแรก เทศกาลทั้ง2 นี้ไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของชาติ มีการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้อย่างเป็นส่วนตัว เพราะถือว่าเป็นเวลาส่วนตัวที่เล็งถึงแต่ละคนจะยืนขึ้นต่อหน้าพระเจ้าที่ทรงประทับบนบัลลังก์การพิพากษาและร้องขอการอภัยบาป และการชำระบาป

ประการที่สอง เทศกาลอื่น ๆ จะเฉลิมฉลอง เน้นความชื่นชมยินดีในจิตวิญญาณ แต่เทศกาลนี้เป็นเทศกาลที่เน้นการใคร่ครวญทางจิตวิญญาณ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเสด็จกลับมาพิพากษาและปกครองโลก

เทศกาลเสียงแตรถือเป็นหนึ่งในสองเทศกาลที่มีบรรยากาศจริงจัง ซึ่งมาจากข้อพระวจนะใน เลวีนิติ 23:24 บอกให้เป็นวันที่ระลึกด้วยเสียงแตรและในกันดารวิถี 29:1 บอกว่าเป็นวันที่ให้คนทั้งหลายเป่าแตร

ในพระคัมภีร์เดิมมีการอ้างถึงเทศกาลเสียงแตรครั้งแรกใน


เลวีนิติ 23:24
24 "จงกล่าวแก่คนอิสราเอลว่า ในวันที่หนึ่งของเดือนที่เจ็ด เจ้าทั้งหลายจงถือเป็นวันหยุดพักสงบวันหนึ่ง เป็นวันประชุมบริสุทธิ์ประกาศเป็นที่ระลึกด้วยเสียงแตร


โดยปกติแล้วก็มีการเป่าโชฟาร์ (shofar (Hebrew: שופר‎)ทุกเดือน แต่การเป่าแตรในเดือนเจ็ดนี้พิเศษกว่าเดือนอื่น ๆ ตรงที่เป็นการปลุกให้คนยืนขึ้นเพื่อเตรียมตัวให้พรอ้มก่อนการพิพากษาของพระเจ้าจะมาถึง

การเป่าแตรเป็นการเรียกให้กลับใจใหม่ก่อนวันแห่งการลบมนทินบาปซึ่งเล็งถึงวันแห่งการพิพากษาของพระเจ้า
โดยทั่วไป การเป่าแตรในแต่ละเดือนนั้นใช้แตรสั้น แต่การเป่าแตรในเดือนเจ็ดนั้นเป็นการเป่าแตรโดยใช้แตรที่มีขนาดยาว แตรแบบนี้จะให้เสียงดังกว่า เสียงดังจะปลุกจิตวิญญาณที่หลับใหลให้ตื่นขึ้น

คำว่า "ร้อช ฮ้าชชะนาห์ " แปลว่า "จุดเริ่มต้นของปี"

คนยิวจะมีปฏิทินแตกต่างกัน คือ ปฏิทินทางศาสนา และปฏิทินทั่ว ไป ปฏิทินทางศาสนานั้นจะเริ่มต้นนับในฤดูใบไม้ผลิ ดังที่บันทึกในอพยพ12:2 เฉลยธรรมบัญญัติ 16:1

เดือนแรกในปีทางศาสนา คือ เดือนที่คนอิสราเอลออกจากอียิปต์ และได้ฉลองเทศกาลปัสกา ซึ่งถือเป็นเทศกาลแห่งการไถ่ เรียกกันว่าเดือนอาบิบ คือ เดือนแห่งการได้ยินเสียง แต่ภายหลังเมื่อคนอิสราเอลกลับจากการเป็นทาสที่บาบิโลน ได้ตั้งชื่อเดือนอาบิบใหม่เป็นเดือนนิสาน ซึ่งเริ่มต้นในวันเพ็ญของเดือนมีนาคม หรือเมษายน

ส่วนปีที่ประชาชนทั่วไปยึดถือกัน เป็นปีทางการเกษตร ไม่ใช่ปฏิทินทางศาสนานั้นเชื่อว่า การเริ่มต้นปีอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ล่วงซึ่งอยู่ในเดือนที่เจ็ด ภายหลังจากที่อิสราเอลกลับจากการเป็นเชลย ได้เรียกเดือนนี้ว่าเดือนทิชรี

การเป่าเสียงแตรนั้นจะกระตุ้นความรู้สึก ออกจากความเฉื่อยชา และทำให้เกิดการตระหนักรู้ ใคร่ครวญในจิตวิญญาณ
ผมนึกถึงแตรวูวูเซร่า (Vuvuzela) ที่ชาวแอฟริกันใช้เป่าเพื่อปลุกเร้าใจให้นักฟุตบอลและกองเชียร์ในช่วงฟุตบอล WorldCup 2010
แต่แตรวูวูเซร่านั้นแตกต่างจากโชฟา เพราะแตรวูวูเซร่า นั้นเสียงดังน่า "รำคาญใจ" แต่เสียงการเป่าโชฟา น่า "สำราญใจ" เพราะพระเจ้าได้ให้เราเคลื่อนไปตามเสียงของพระองค์


การเป่าโชฟา ในเทศกาลเสียงแตร หรือ รอชฮาชานามีความหมายอย่างไรบ้าง

1.เสียงเรียกให้กลับใจ

ผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์เดิมใช้เป็นคำว่าโชฟาร์ เป็นอุปมาเปรียเทียบถึงการเรียกผู้คนให้กลับใจและหันกลับมาหาพระเจ้า
ตัวอย่าง เช่น ผู้เผยพระวจนะโยเอล เป่าแตรหรือโชฟาร์ ในศิโยนเพื่อเรียกให้คนกลับใจใหม่

โยเอล 2:15
15 จงเป่าเขาสัตว์ที่ในศิโยน จงเตรียมทำพิธีอดอาหาร จงเรียกประชุมตามพิธี


เสียงของโชฟาร์เป็นเสียงเรียกให้ตอบสนอง เพื่อใคร่ครวญดูการกระทำของตน และดำเนินชีวิตใหม่ให้ถูกต้อง ก่อนวันแห่งการพิพากษา เป็นการหวนระลึกถึงการกระทำของตน เป็นการเผชิญหน้ากับจิตวิญญาณภายในของตน
เราต้องตระหนักว่ามีวันแห่งการพิพากษาแน่ ในพระคัมภีร์ใหม่ก็กล่าวถึงเรื่องนี้ ดังนั้นก่อนจะถึงวันนั้นผู้เชื่อจึงควรสำรวจใจ และกลับใจ

ฮีบรู 9:27
27 มีข้อกำหนดสำหรับมนุษย์ไว้แล้วว่าจะตายครั้งเดียว และหลังจากนั้นก็จะมีการพิพากษา…


พระเจ้ามักสื่อสารและเตือนประชากรของพระองค์ล่วงหน้าเสมอ ก่อนที่พระองค์จะทำการพิพากษา พระเจ้าเตือนประชากรของพระองค์ก่อนน้ำจะท่วมโลก และเตือนนินะเวห์ก่อนจะเกิดหายนะ

เทศกาลแห่งเสียงแตรสะท้อนถึง พระประสงค์ของพระเจ้าที่จะรวบรวมประชากรของพระองค์ให้กลับใจใหม่ เพื่อว่าพระองค์จะสามารถกู้พวกเขาในวันแห่งการพิพากษาได้

ชาวยิวมีช่วงเวลาสิบวันเรียกว่า “10 วันแห่งความยำเกรงพระเจ้า(Days of Awe) ซึ่งเริ่มขึ้นในเทศกาลเสียงแตร และสิ้นสุดในวันทำการลบมนทินบาปซึ่งนับว่าเป็นวันสำคัญที่สุดในปฏิทินอิสราเอล ในระหว่างเวลาเหล่านี้ พวกประชาชนต่างพยายามแสวงหาโอกาสคืนดีกับศัตรู ระลึกถึงคนอนาถา และจะกลับใจจากบาป เพื่อเตรียมใจสำหรับวันลบมนทินที่จะมาถึง

เทศกาลเป่าแตรสำคัญมาก เป็นการเปิดฉากการพิพากษาของสวรรค์ ซึ่งนำไปสู่วันลบมลทินบาป ซึ่งจะเผยให้เห็นบาปของคนอิสราเอลแต่ละคน นี่เป็นภาพที่เล็งไปถึงการเสด็จกลับมาของพระคริสต์ เพื่อพิพากษาโลกนี้ ในวันสุดท้ายนั้น บาปของทุกคนจะถูกเปิดออกให้เห็น
การเป่าโชฟาเป็นการเตือนให้ระลึกถึงความยุติธรรมของพระเจ้า และพระเมตตาของพระองค์ เป็นการเตือนให้ประชาชนกลับใจใหม่ และในขณะเดียวกัน ก็เป็นการเตือนให้ระลึกว่าประชากรของพระเจ้าต้องการพระเจ้า

การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน


เมื่อเราได้รู้แล้วว่าเทศกาลเสียงแตรนี้ เป็นเสียงเรียกให้คนกลับใจใหม่แล้ว เราจะเป่าแตร เมื่อเสียงแตรดังขึ้น ให้เราประกาศการกลับใจใหม่ ในเรื่องต่าง ๆ ลองคิดดูว่ามีบาปใดซ่อนเร้นอยู่บ้าง ขอการชำระจากพระเจ้า

2.เสียงแห่งการปลดปล่อยอิสรภาพ การประกาศถึงระบบระเบียบใหม่ทางสังคมและศาสนา

นอกจากนี้การเป่าเสียงแตรด้วยโชฟา ยังเป็นการประกาศถึงการจัดระบบระเบียบทางสังคม และศาสนา เป็นการประกาศถึงอิสรภาพ เสรีภาพ เป็นการปลดปล่อยจากความยากจน และพันธนาการ เป็นการประกาศการปลดปล่อยจากบาปและการละเมิด

เลวีนิติ 25:9 เจ้าจงให้เป่าเขาสัตว์ดังสนั่นในวันที่สิบเดือนที่เจ็ด เจ้าจงให้เป่าเขาสัตว์ทั่วแผ่นดินในวันทำการลบมลทิน

ในสมัยพระคัมภีร์ใหม่ เทศกาลเสียงแตรนี้ เล็งถึงการกลับมาของพระคริสต์ เพื่อประกาศเวลา ฤดูกาลใหม่ ที่พระองค์ทรงปฏิเสธการดำเนินชีวิตอย่างศาสนา แต่สถาปนาการนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง

ดังนั้นการเป่าแตรจึงเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศการหลุดพ้นจากวิถีเดิมแห่งพันธการ การตกอยู่ภายใต้วิญญาณแห่งกฏเกณฑ์ และการดำเนินชีวิตอย่างเป็นรูปแบบ
นอกจากนี้การเสด็จมาของพระคริสต์ยังให้ภาพของการจัดระเบียบสังคมใหม่ เป็นสังคมแห่งคุณธรรม
เป็นการสะท้อนว่า อำนาจแห่งการปกครองจะไม่ได้อยู่ในมือของคนตามืดบอด อีกต่อไป แต่จะอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า

การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน


เมื่อเราได้รู้แล้วว่าเทศกาลเสียงแตรนี้ เป็นสัญลักษณ์เล็งถึงการประกาศอิสระภาพ พันธนาการต่าง ๆ เมื่อเสียงแตรดังขึ้นให้เราประกาศการปลดปล่อยอิสรภาพให้กับชีวิตของเรา ที่อยู่ในพันธนาการแห่งบาป หรือ อยู่ในปัญหาบางอย่าง ขอพระเจ้าปลดปล่อยเราจากความยากจน ขัดสน หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค
ให้เราปลดปล่อยอิสรภาพมาสู่คริสตจักรที่จะไม่ตกอยู่ภายใต้วิญญาณศาสนา
ให้เราปลดปล่อยอิสรภาพให้กับสังคม และประเทศของเรา ที่จะมีการปฏิรูปการจัดระบบสังคมใหม่ให้เป็นสังคมแห่งคุณธรรม หลุดพ้นจากอำนาจซาตานที่ล่อลวงผู้คนให้เป็นเมืองแห่งความบาปในด้านต่าง ๆ

3.เสียงแห่งการประกาศถึงการเริ่มต้นสู่การพิสูจน์ และสำรวจใจ

การเป่าโชฟาร์ในวันร้อช ฮ้าชชะนาห์ ยังเป็นการประกาศก้องถึงการเริ่มต้นของการเข้าสู่การสำรวจใจ ก่อนวันแห่งการพิพากษา การสำรวจนี้กินเวลา สิบวัน จนกระทั่งวันลบมนทินบาป (หรือ วันยมคิปปูร์) มาถึง
ในระหว่างสิบวันนี้ ชาวยิวจะตระหนักถึงชีวิตของตน เหมือนเอาชีวิตไปชั่งบนตาชั่ง พวกเขาจะได้ตระหนักถึงความเปราะบางของชีวิต และจะถามคำถามตนเองว่าถ้าชีวิตของเขาจบลงในวันนี้ เขาได้ใช้ชีวิตคุ้มค่า หรือสมควรแล้วหรือไม่
ช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญนี้ จะทำให้ได้ตระหนักว่าชีวิตของคนแต่ละคนนั้น เป็นชีวิตที่อยู่ภายใต้พระหัตถ์ของพระเจ้า เราไม่สามารถกำหนดทุกสิ่งได้ด้วยตนเอง
เสียงโชฟาจะประกาศให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่หลบซ่อนในใจได้ เหมือนการยืนอยู่ต่อหน้าหมู่ทหารที่ทำการยิงเป้า ซึ่งต้องพิสูจน์ในระดับลึกของจิตใจ

การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

เมื่อเราได้รู้แล้วว่าเทศกาลเสียงแตรนี้ เป็นการประกาศสู่การเริ่มต้นในการชันสูตรใจ เมื่อเสียงแตรดังขึ้น ให้เราทูลขอชัยชนะเหนือการทดลองใจในเรื่องต่าง ๆ ที่มาถึงชีวิต ขอให้พระเจ้าเข้ามาชันสูตรใจ
ให้เราประกาศว่าเราจะขอใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ตั้งแต่นี้ไปจะดำรงตนเพื่อพระนามของพระเยซูคริสต์
ให้เราได้กลับไปใคร่ครวญชีวิตของตนเองกับพระเจ้าในด้านต่าง ๆ และมุ่งหน้าเดินติดตามพระเจ้า ปลุกจิตวิญญาณที่อ่อนแอ หรือหลับใหลให้ตื่นขึ้น เพื่อไปกับพระเจ้า

4.เสียงประกาศสู่การเปิดฉากการพิพากษาครั้งสุดท้าย

มีผู้เผยพระวจนะหลายท่านประกาศการพิพากษาของพระเจ้าด้วยเสียงแตร เช่น
โยเอล 2:1
1 จงเป่าเขาสัตว์ที่ในศิโยน จงเปล่งเสียงปลุกบนภูเขาบริสุทธิ์ของข้าพเจ้า ให้ชาวแผ่นดินทั้งสิ้นตัวสั่น เพราะวันแห่งพระเจ้ากำลังมาแล้ว ใกล้เข้ามาแล้ว


ในพระคัมภีร์ใหม่ พระธรรมวิวรณ์ก็บันทึกเช่นเดียวกัน ว่าเสียงแตรของทูตสวรรค์ดังขึ้น เพื่อคนต่าง ๆ จะรับการพิพากษาโทษ

วิวรณ์ 9:20-21
20 มนุษย์ทั้งหลายที่เหลืออยู่ ที่มิได้ถูกฆ่าด้วยภัยพิบัติเหล่านี้ ยังไม่ได้กลับใจเสียใหม่จากงานที่มือเขาได้กระทำ ไม่ได้เลิกบูชาผี บูชา รูปเคารพที่ทำด้วยทองคำ เงิน ทองสัมฤทธิ์ หินและไม้ รูปเคารพเหล่านั้น จะดู หรือฟัง หรือเดินก็ไม่ได้
21 และเขาก็มิได้สำนึกผิดในการฆ่าฟันกัน และการเชื่อเวทมนตร์ การล่วงประเวณี และการลักขโมย



พระธรรมดาเนียลให้ภาพของบรรยากาศและฉากแห่งการพิพากษาโทษในวันสุดท้ายได้อย่างชัดเจน
ในวันนั้น หนังสือแห่งชีวิตจะถูกเปิดออก ทุกคนจะได้รายงานการกระทำของตนต่อหน้าบัลลังก์ของพระเจ้า

ดาเนียล 7:9-10
9 ขณะที่ข้าพเจ้ายืนดูอยู่ มีหลายบัลลังก์มาตั้งไว้ และผู้หนึ่งผู้เจริญด้วยวัยวุฒิมาประทับ ฉลองพระองค์ขาวอย่างหิมะ พระเกศาที่พระเศียรของพระองค์เหมือนขนแกะบริสุทธิ์พระบัลลังก์ของพระองค์เป็นเปลวเพลิง กงจักรของบัลลังก์นั้นเป็นไฟลุก
10 ธารไฟพุ่งออก และไหลออกมาต่อเบื้องพระพักตร์พระองค์ คนนับแสนๆ ปรนนิบัติพระองค์ คนนับโกฏิๆ เข้าเฝ้าพระองค์ ผู้พิพากษาก็ขึ้นนั่งบัลลังก์ บรรดาหนังสือก็เปิดขึ้น


คนยิวเชื่อว่า การพิพากษาครั้งสุดท้ายได้เปิดฉากในเทศกาลรอชฮาชานา ด้วยเสียงแตร และจะปิดฉากเมื่อครบกำหนดสิบวันหลังจากนั้น ซึ่งเป็นวันลบมนทิลบาป
วันทำการลบมนทิลจะตรงกับวันที่สิบของเดือนที่เจ็ด ในวันนี้มหาปุโรหิตจะแยกตัวออกจากคนอื่น ๆ ปุโรหิตจะถอดเครื่องยศบริสุทธิ์และงดงามออก สวมเพียงเสื้อกางเกงและหมวกผ้าป่านสีขาว (ซึ่งเล็งถึงความเป็นมนุษย์ของพระคริสต์” เขาจะชำระกายห้าครั้งกับล้างมือและเท้าสิบครั้ง
แพะสองตัวเป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญอย่างหนึ่งของวันทำการลบมลทิน ตัวหนึ่งจะเป็นแพะรับบาป และแพะตัวนี้จะถูกปล่อยเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร พร้อมทั้งบรรทุกเอาความบาปทั้งสิ้นของประชาชนไปด้วย (เลวีนิติ 16:20-22)

เขาจะนำเลือดวัวและเลือดแพะประพรมอภิสุทธิสถาน ม่าน แท่นเผาเครื่องหอม และแท่นเครื่องเผาบูชา เพื่อชำระทุกสิ่งเหล่านี้ให้ปราศจากมลทิน
มหาปุโรหิตจะเข้าไปในอภิสุทธิสถานเพียงปีละครั้ง คือ ในวันทำการลบมนทิน บาป และต้องนำเลือดเข้าไปถวาย
มหาปุโรหิตไม่เพียงแต่นำเลือดของสัตว์ที่ถวายบูชาเข้าไปในอภิสุทธิสถานเท่านั้น เขายังต้องนำกระถางเผาเครื่องหอมมีถ่านลุกอยู่มาจากแท่นเผาเครื่องหอม ใส่เครื่องหอมทุบละเอียดสองกำมือไว้ และควันเครื่องหอมจะคลุมพระที่นั่งกรุณาซ่อนพระสิริเสียจากสายตาของเขา และมหาปุโรหิตจะได้รอดตาย เพราะขณะนั้นเขาอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าและวิงวอนพระองค์เพื่อประชาชน โดยออกพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ คือ ยาห์เวห์ (Yahweh)
พระคริสต์ได้เสด็จมาเป็นมหาปุโรหิตแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จเข้าไปสู่เต็นท์อันใหญ่ยิ่งกว่าแต่ก่อน พระองค์ได้เสด็จเข้าไปสู่วิสุทธิสถานเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และพระองค์ไม่ได้ทรงนำเลือดแพะและเลือดลูกวัวเข้าไป แต่ทรงนำพระโลหิตของพระองค์เข้าไป และทรงสำเร็จการไถ่บาปชั่วนิรันดร์ (ฮีบรู 9:11-12)

อย่างไรก็ตามสำหรับคนยิวแล้ว วันทั้งสิบวันก่อนวันลบมลทินนั้น ถูกเรียกกันว่า วันแห่งความน่าสะพรึงกลัว

เทศกาลเสียงแตรหรือรอชฮาชานาถือเป็นวันที่เข้าสู่การพิพากษา แต่วันที่ประทับตราคำพิพากษาคือวันลบมนทิลบาป หรือยมคิปปูร์ ว่าผลจะออกมาอย่างไรถ้ากลับใจบาปก็ถูกลบ หรือชำระให้หมดสิ้นได้

นี่เป็นภาพที่เล็งถึงการเสด็จกลับมาของพระคริสต์ ที่บอกเราให้มีชีวิตยำเกรงพระเจ้า

วิวรณ์ 14:7
7 ท่านประกาศด้วยเสียงอันดังว่า "จงยำเกรงพระเจ้า และถวายพระเกียรติแด่พระองค์ เพราะถึงเวลาที่พระองค์จะทรงพิพากษาแล้ว และจงนมัสการพระองค์ ผู้ได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์ แผ่นดินโลก ทะเล และบ่อน้ำพุทั้งหลาย"


การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

เมื่อเราได้รู้แล้วว่าเทศกาลเสียงแตรนี้ เป็นการประกาศสู่การเปิดฉากการพิพากษาครั้งสุดท้าย เมื่อเสียงแตรดังขึ้นให้เรา ขอการอภัย ขอพระเมตตาจากพระเจ้า
ให้เราประกาศถึงการเป็นบุตรของพระเจ้า ประกาศการมีชัยเหนือมารซาตานที่ล่อลวงในวาระสุดท้ายก่อนการพิพากษา ประกาศชีวิตแห่งการยำเกรงพระเจ้า ยอมสยบอยู่ต่อพระองค์

5.เสียงประกาศการทรงสถิตและการครอบครองของพระเจ้า

เสียงของโชฟาร์ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเป่าเพื่อให้พระเจ้าเสด็จเข้ามาครอบครอง
การพิพากษาของพระเจ้าและการครอบครองเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน เมื่อไรก็ตามที่พระเจ้าทรงสถิตและครอบครอง เมื่อนั้น สิ่งผิดสิ่งถูกจะถูกชี้ชัด คนจะเห็นความบาปผิดของตนเอง
เป็นภาพของกษัตริย์นั่งบนบัลลังก์แห่งการครอบครอง และพิพากษาเหนือประชากรของพระองค์
พระวจนะบันทึกเหตุการณ์ว่าเมื่อกษัตริย์ใหม่ขึ้นนั่งครอบครอง จะมีการเป่าแตรเพื่อป่าวประกาศบัลลังก์ของพระองค์

1 พงศ์กษัตริย์ 1:39
39 แล้วศาโดกปุโรหิตได้นำเขาสัตว์ที่บรรจุน้ำมันมาจากเต็นท์ของพระเจ้า และเจิมตั้งซาโลมอนไว้ และเขาทั้งหลายก็เป่าเขาสัตว์ และประชาชนทั้งปวงกล่าวว่า "ขอพระราชาซาโลมอน ทรงพระเจริญ"


เช่นเดียวกันที่ในวันร้อช ฮ้าชชะนาห์ หรือ เทศกาลเสียงแตรที่เป่าออกไปเพื่อประกาศก้องว่าพระคริสต์ทรงยิ่งใหญ่และทรงเสด็จมาครอบครอง
เสียงของโชฟาร์ทำให้ระลึกถึงการครอบครองที่เปี่ยมด้วยความยุติธรรม และเมตตา
พระคริสต์ปรารถนาจะสถิตอยู่ในชีวิตของเรา ทรงปรารถนาการครอบครองเหนือตัวเรา เหนือคริสตจักร


การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

เมื่อเราได้รู้แล้วว่าเทศกาลเสียงแตรนี้ เป็นการประกาศการทรงสถิต และการครอบครองของพระเจ้า เมื่อเสียงแตรดังขึ้น ให้เราร้องเรียกพระเจ้า ให้การทรงสถิตของพระองค์เทลงมา

6.เสียงแห่งการรวบรวมผู้คนเข้าสู่การครอบครองของพระคริสต์

ในพระคัมภีร์เดิม พระเจ้าทรงสัญญาจะส่งพระเมสิยาห์มาปลดปล่อยชนชาติของพระองค์
เสียงโชฟาจึงเป็นเครื่องหมายแห่งการระลึกถึงพระสัญญาของพระเจ้าที่จะส่งพระเมสิยาห์ ผู้ที่จะเสด็จมามารวบรวมลูก ๆ ที่กระจัดกระจายให้กลับมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว

อิสยาห์ 27:13
13 และในวันนั้นเขาจะเป่าเขาสัตว์ใหญ่ และบรรดาผู้ที่กำลังพินาศอยู่ในแผ่นดินอัสซีเรีย และบรรดาผู้ถูกขับไล่ออกไปยังแผ่นดินอียิปต์จะมานมัสการพระเจ้า บนภูเขาบริสุทธิ์ที่เยรูซาเล็ม


เสียงโชฟาร์ ไม่เพียงเป็นการประกาศถึงการเสด็จมาเพื่อรวบรวมผู้คนของพระเมสสิยาห์ที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์เดิม (อิสยาห์ 27:13)
ในพระคัมภีร์ใหม่ เป็นการประกาศถึงการครอบครอง การปกครองของพระคริสต์บนแผ่นดินโลก

1เธสะโลนิกา 4:16
16 ด้วยว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมาจากสวรรค์ ด้วยพระดำรัสสั่ง ด้วยสำเนียงเรียกของเทพบดีและด้วยเสียงแตรของพระเจ้า และคนทั้งปวงในพระคริสต์ที่ตายแล้วจะเป็นขึ้นมาก่อน

1โครินธ์ 15:52
52 ในชั่วขณะเดียว ในพริบตาเดียว เมื่อเป่าแตรครั้งสุดท้าย เพราะว่าจะมีเสียงแตร และคนที่ตายแล้วจะเป็นขึ้นมาปราศจากเน่าเปื่อย แล้วเราทั้งหลายจะถูกเปลี่ยนแปลงใหม่



พระคริสต์จะเสด็จมาเพื่อรวบรวมคนทั้งปวงที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้แล้ว

มัทธิว 24:30-31
30 เมื่อนั้นนิมิตแห่งบุตรมนุษย์ จะปรากฏขึ้นในท้องฟ้า มนุษย์ทุกชาติทั่วโลกจะตีอกร้องไห้ บุตรมนุษย์เสด็จมาบนเมฆในท้องฟ้า ทรงฤทธานุภาพและพระสิริเป็นอันมาก
31 พระองค์ทรงใช้เหล่าทูตสวรรค์ของพระองค์ มาด้วยเสียงแตรอันดังยิ่งนัก ให้รวบรวมคนทั้งปวงที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้แล้ว ทั้งสี่ทิศนั้น ตั้งแต่ที่สุดฟ้าข้างนี้จนถึงที่สุดฟ้าข้างโน้น


การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

เมื่อเราได้รู้แล้วว่าเทศกาลเสียงแตรนี้ เป็นการสัญลักษณ์ของยุคพระเมสสิยาห์ หรือของพระคริสต์ที่จะเสด็จกลับมารวมรวมผู้คน เมื่อเสียงแตรดังขึ้นให้เราอธิษฐานขอการเชื่อมต่อพระกาย และรวมตัวเป็นหนึ่งเดียว
ขอความเป็นเอกภาพ การรวมเป็นหนึ่งเดียวระหว่างพี่น้องในคริสตจักร ระหว่างคริสตจักรต่าง ๆ และความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวของคนในประเทศชาติ
อธิษฐานขอการที่คริสตจักรเข้าไปเชื่อมต่อกับอิสราเอลเป็นคนใหม่คนเดียวในพระคริสต์ (One Newman)(เอเฟซัส2:15)
อธิษฐานขอให้พี่น้องที่หลงหายไปในที่ต่าง ๆ กลับมาหาพระเจ้า

7.เสียงเตือนใจให้ระลึกถึงพระเมตตาของพระเจ้า

เสียงการเป่าโชฟาร์ ไม่ได้ให้ความรู้สึกถึงความน่ากลัวเสมอไป เราเห็นได้ว่าในพระวจนะบางตอนกล่าวถึงการเป่าเสียงแตรเพื่อเปิดปีแห่งการเฉลิมฉลอง

เลวีนิติ 25:9-10
9 เจ้าจงให้เป่าเขาสัตว์ดังสนั่นในวันที่สิบเดือนที่เจ็ด เจ้าจงให้เป่าเขาสัตว์ทั่วแผ่นดินในวันทำการลบมลทิน
10 เจ้าจงถือปีที่ห้าสิบไว้เป็นปีบริสุทธิ์ และประกาศอิสรภาพแก่บรรดาคนที่อาศัยอยู่ทั่วแผ่นดินของเจ้า ให้เป็นปีเสียงเขาสัตว์แก่เจ้า ให้ทุกคนกลับไปยังภูมิลำเนาอันเป็นทรัพย์สินของตน และกลับไปสู่ตระกูลของตน



บางครั้งเสียงเขาสัตว์ก็เป่าออกไปเพื่อประกาศถึงพระเมตตาของพระเจ้าในการปลดปล่อยผู้คนให้เป็นไท คืนกลับสู่เสรีภาพ
เป็นการประกาศถึงเมตตาของพระเจ้าในการให้สิ่งต่าง ๆ หยุดพัก (เลวีนิติ 25:11)

การเป่าแตรในวันรอชฮาชานานี้ เป็นการเตือนให้ระลึกถึงความเมตตาของพระเจ้า การให้อภัยบาปของพระองค์ อย่างที่เขาไม่สมควรได้รับเพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงความเมตตาของพระเจ้า ในวันนี้คนยิวจะอ่านพระวจนะในธรรมศาลาถึงเรื่องราวของอับราฮัมในการถวามอิสอัค (ปฐมกาล 22) และอับราฮัมได้ชื่นชมกับพระเมตตาของพระองค์ที่พระองค์ได้ส่งแกะมาเพื่อถวายบูชาแทนอิสอัค
นี่เป็นที่มาว่าเหตุใดคนยิวจึงใช้เขาแกะปลายงอน เป่า ทั้งนี้เพื่อจะได้หวนกลับไประลึกถึงพระเมตตาที่ทรงกระทำต่ออับราฮัม

เขาจากแกะที่ถูกจับได้จากพุ่มไม้ กลายมาเป็นสัญลักษณ์ เพื่อระลึกถึงคนบาป และการลบล้างบาป

การเป่าแตรในการออกศึกสงครามนั้นก็เป็นการเชื่อมโยงถึงเทศกาลเสียงแตร เพื่อเตือนใจว่าพระเจ้าระลึกถึงเรา และจะช่วยเราซึ่งเป็นประชากรของพระองค์
เช่นเดียวกัน ในขณะนี้เราอยู่ท่ามกลางสงครามฝ่ายวิญญาณ และเมื่อเราเดินหน้าในงานพระเจ้า เรารู้ว่าจะมีการปะทะในฝ่ายวิญญาณ
เสียงแตรที่เราจะเป่านี้ ก็เป็นการประกาศก้องว่า พระเจ้าทรงอยู่ฝ่ายเรา ทรงระลึกถึงเรา และจะช่วยเราให้มีชัยเหนือมารซาตานได้
ในวันแห่งการพิพากษานั้นพระเจ้าก็จะช่วยประชากรของพระองค์ที่กลับใจใหม่ด้วยความเมตตาให้พ้นโทษทัณฑ์แห่งบาปเช่นกัน
ดังนั้น การระลึกถึงเทศกาลเสียงแตรในปัจจุบัน พระเจ้าจึงให้พระคริสต์เป็นศูนย์กลาง โดยพระคริสต์ พระองค์จะดูแลความต้องการของเรา และพระองค์จะระลึกหรือจดจำเราได้ในวันแห่งการพิพากษาเมื่อพระคริสต์นั่งอยู่บนบัลลังก์
เมื่อเสียงแตรครั้งสุดท้ายดังขึ้น นั่นหมายถึง พระคริสต์ได้จดจำเราไว้ในฐานะบุตรของพระองค์ตลอดนิรันดร์

การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

เมื่อเราได้รู้แล้วว่าเทศกาลเสียงแตรนี้ เป็นเวลาแห่งการระลึกถึงพระเมตตาของพระเจ้า เมื่อเสียงแตรดังขึ้นให้เรากล่าวสรรเสริญพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงกระทำในชีวิตของเราในเรื่องต่าง ๆ ชื่นชมยินดีต่อพระเมตตาของพระองค์ ให้เราเป่าเสียงแตรเพื่อประกาศถึงการช่วยกู้ของพระเจ้าในการปะทะในสงครามฝ่ายวิญญาณ ซึ่งโดยเสียงแตรนี้ พระเจ้าจะเข้าช่วยกู้บุตรของพระองค์ให้มีชัย

วันนี้เราในฐานะคริสตชนชาวไทย เราไม่ได้นำรูปแบบพิธีกรรมมาปฏิบัติโดยขาดความเข้าใจแต่เราได้นำหลักการมาประยุกต์ใช้ และเราได้นำชีวิตของเราเข้าสู่ตารางเวลาเดียวกับพระเจ้า เราจึงไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างไร้เป้าหมาย

หากแต่เสียงแตรนั้นเป็นสัญญาณเตือนใจให้เราตื่นตัวอยู่เสมอและเคลื่อนไปตามวาระเวลาของพระองค์ สรรเสริญพระเจ้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น