20 กันยายน 2553

เทศกาลอยู่เพิง :นี่เป็นเวลาแห่งความชื่นชมยินดี


เทศกาลอยู่เพิง :นี่เป็นเวลาแห่งความชื่นชมยินดี (The season of our Joy)
เลวีนิติ 23:33-44
เลวีนิติ 23:34 "จงกล่าวแก่คนอิสราเอลว่า ในวันที่สิบห้าเดือนที่เจ็ดนี้ เป็นวันเทศกาลอยู่เพิงถวายแด่พระเจ้าสิ้นเจ็ดวัน


เทศกาลอยู่เพิง เป็นเทศกาลสุดท้ายของเทศกาลทั้งสามที่ชาวยิวต้องเดินทางไปฉลองที่กรุงเยรูซาเล็ม มีขึ้นหลังจากวันทำการลบมนทินห้าวัน คือ เริ่มในวันที่สิบห้าของเดือนที่เจ็ดของปฏิทินยิว (เดือนทิชรี)

เทศกาลอยู่เพิง มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น บางคนเรียกว่า “เทศกาลสุคคต” (The Feast of Sukkot)หมายถึง "เพิง" หรือ "กระท่อม นอกจากนี้ ยังถูกเรียกว่า เป็นช่วงเวลาแห่งความชื่นชมยินดี (The season of joy) เนื่องในโอกาสเทศกาลอยู่เพิงในปีนี้ เราร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลนี้อย่างชื่นบาน เพราะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญดังนี้

1.เป็นเวลาแห่งการพักสงบ และชื่นชมยินดีในการทรงสถิต

ในช่วงแห่งการเฉลิมฉลอง 8 วันนี้ วันแรกและวันที่แปดนั้น พระเจ้าบอกว่าอย่าทำงานหนัก ซึ่งเป็นวันที่พระเจ้าเรียกให้เขาได้พักสงบในพระองค์ (เลวีนิติ 23:35-36) คือ มีสะบาโตอยู่ในเทศกาลนี้ เป็นเวลาที่พระเจ้าเรียกให้พักสงบ
พักสงบ คือ ไม่ต้องกระวนกระวายสิ่งใดอีก ให้เข้าเฝ้าพระเจ้า แสวงหาพระองค์ ชื่นชมในพระองค์
ในระหว่างการเดินทางในถิ่นทุรกันดารถึง 40 ปี และต้องนอนในเต็นท์ นั้น คนอิสราเอลต่างตระหนักดี ว่าพระเจ้าเองทรงเป็นพลับพลาของพวกเขา
พระเจ้าทรงสถิตอยู่ในค่ายของคนอิสราเอล
อพยพ 25:8 แล้วให้เขาสร้างสถานนมัสการถวายแก่เรา เพื่อเราจะได้อยู่ท่ามกลางพวกเขา

การฉลองเทศกาลนี้จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราได้พักสงบจิตใจของเราอยู่ในพระเจ้า พักอยู่ในการทรงสถิตของพระองค์ การได้พักสงบ เพื่ออยู่กับพระเจ้า เป็นเวลาแห่งความสุขและความชื่นชม

2.เป็นเวลาแห่งความชื่นบานในการจัดเตรียมของพระเจ้า

ในช่วงเวลาแห่งการพักสงบนี้ พวกเขาจะได้ระลึกถึงพระเมตตาของพระเจ้า ที่ทรงกระทำกับบรรพบุรุษของเขา และตัวเขาเอง เทศกาลนี้เตือนให้ชาวอิสราเอลต่างระลึกถึง การที่พวกเขาพึ่งพาพระเจ้าครั้งแรกในถิ่นทุรกันดาร (เลวีนิติ 23:42-43) และในเทศกาลอยู่เพิงนี้เช่นกัน ที่พระเจ้าสอนอิสราเอลให้เรียนรู้การมอบถวายแด่พระองค์ การถวายของชนชาติอิสราเอลในเวลานั้น อาจหมายถึง พืชผลจากสิ่งที่ครอบครัวของตนได้เพาะปลูกไว้ เพื่อเตรียมไว้สำหรับการมาถวายในเทศกาลอยู่เพิง (กดว.29:12-38)
ดังนั้นพระเจ้าทรงให้อิสราเอลถือเทศกาลอยู่เพิง เพื่อให้เขาระลึกถึงชีวิตในถิ่นทุรกันดาร ให้เขาระลึกและขอบพระคุณพระเจ้าว่า พระองค์ทรงช่วยเขาทรงนำเขา และทรงพิทักษ์รักษาเขาอย่างไร ในขณะที่เขารอนแรมในถิ่นทุรกันดารที่ลำบากและน่ากลัว
เช่นกันให้เรามีเวลาสงบนิ่ง ลองใคร่ครวญดูชีวิตของเราในอดีต ทุกคนเคยผ่านสถานการณ์เหมือนถิ่นทุรกันดาร แต่โดยพระคุณของพระเจ้า เรายังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าผู้ทรงช่วยเราในอดีตเมื่อมีความยากลำบาก ทรงช่วยนำเราในวันข้างหน้าด้วย แม้อยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม
นี่จึงควรเป็นเหตุให้เราได้สงบได้ เพราะรู้ว่าไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรพระเจ้าก็ทรงรักเราและในเทศกาลอยู่เพิงนี้เช่นกัน ที่พระเจ้าสอนอิสราเอลให้เรียนรู้การมอบถวายแด่พระองค์
ฉธบ.16:16-17
16 บรรดาผู้ชายทั้งสิ้นจะต้องเข้ามาเฝ้าพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านปีละสามครั้ง ณ สถานที่ซึ่งพระองค์ทรงเลือกไว้ คือ ณ เทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ เทศกาลสัปดาห์ และเทศกาลอยู่เพิง
17 อย่าให้เขาไปเฝ้าพระเจ้ามือเปล่าๆ ให้ทุกคนถวายตามความสามารถของเขา ตามส่วน พระพรที่พระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านทั้งหลายประทานแก่ท่าน


พระเจ้าบอกว่า ให้เขาเลี้ยงฉลองกัน ด้วยใจยินดี นั่นหมายถึง การมอบถวายก็กระทำด้วยความยินดี
ความสุข ความยินดีเกิดขึ้นจากการได้รู้ว่า พระเจ้าน่ารัก และประเสริฐจริงๆ การมอบถวายจึงกระทำด้วยความเต็มใจ และมีความสุข กระทำตามความสามารถที่จะกระทำได้ ทำด้วยหัวใจสำนึกพระคุณอย่างแท้จริง

การถวายของชนชาติอิสราเอลในเวลานั้น อาจหมายถึง พืชผลจากสิ่งที่ครอบครัวของตนได้เพาะปลูกไว้ เพื่อเตรียมไว้สำหรับการมาถวายในเทศกาลอยู่เพิง
การถวายในเทศกาลอยู่เพิงนี้นั้น แตกต่างไปจากการถวายของทุกเทศกาลที่มีอยู่ เพราะสิ่งของการถวายสำหรับในเทศกาลนี้นั้นจะมีจำนวนของถวายมากกว่าทุกเทศกาล (กดว.29:12-38)
แม้จะต้องถวายมากกว่าปกติ แต่คนอิสราเอลที่สำนึกในพระคุณพระเจ้าก็กระทำอย่างเต็มใจและสุขใจ
กษัตริย์ซาโลมอนเองก็ได้มอบถวายพระวิหารในช่วงเทศกาลอยู่เพิงเช่นกัน และเป็นบรรยากาศที่สัมผัสการทรงสถิตอยู่ของพระเจ้าอย่างมาก (2 พงศาวดาร 7:1-10)
ประชาชนอิสราเอลทุกคนที่ได้เข้าร่วมพิธีมอบถวายแด่พระเจ้าล้วนกลับไปด้วยความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง เพราะได้มอบถวายอย่างมีความหมาย และได้เห็นการทรงสถิตของพระเจ้าต่อหน้าต่อตา
การมอบถวายด้วยใจขอบพระคุณในเทศกาลนี้เอง เป็นที่มาของเทศกาล Thank giving (The celebration of thanksgiving for the fruit harvest )
ที่มาก็คือ ย้อนไปเมื่อปีคศ 1621 ที่ผู้แสวงบุญกลุ่มหนึ่งเดินทางไปแสวงบุญที่เยรูซาเล็มในช่วงเทศกาลอยู่เพิง พวกเขาได้เฉลิมฉลอง และได้มอบถวายพืชผลรุ่นแรกที่เก็บเกี่ยวได้ในช่วงฤดูใบไม้ล่วงต่อพระเจ้า และเดินทางไปเช่นนี้อย่างต่อเนื่องจนต่อมามีการกำหนดให้เป็นวันหยุดพักเพื่อการขอบพระคุณพระเจ้าในปี 1863 (Holiday in thanksgiving)
ภาคปฏิบัติ
เราสามารถร่วมเฉลิมฉลองในเทศกาลนี้ โดยระลึกถึงพระเมตตาของพระเจ้าที่ทรงกระทำต่อชีวิตของเรา ต่อครอบครัว วงศ์ตระกูลของเรา
แล้วอาจแสดงออกเป็นการถวายอนุสรณ์พระพร ขอบคุณพระเจ้าเป็นพิเศษสำหรับเหตุการณ์แห่งพระเมตตาที่กระทำต่อเรานั้น
หรือบางคนอาจสร้างอนุสรณ์แห่งความทรงจำอะไรสักอย่างมอบถวายแด่พระเจ้า เพื่อเมื่อเวลาผ่านไปอีกปี สองปี สามปี หรือสิบปีข้างหน้าก็ยังจดจำได้ถึงพระคุณพระเจ้าไม่ลืมเลือน



3.เป็นเวลาแห่งการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพระเจ้า

ช่วงเวลาในเทศกาลนี้นั้น ทำให้คนอิสราเอลได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่แสวงหาพระเจ้า ไม่เพียงแค่ได้หวนทบทวนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่พระเจ้าได้ทำเพื่อบรรพบุรุษ และเพื่อเขาและลูกหลานของเขา แต่ยังเป็นเวลาที่ดีที่จะได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพระเจ้าโดยกลับไปดูน้ำพระทัยของพระเจ้า
ช่วงเวลาเจ็ดวันในเทศกาลนี้นั้น ทำให้คนอิสราเอลได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่แสวงหาพระเจ้า นมัสการชื่นชมในพระองค์
นั่นคือ การได้ออกจากภาวะการงานที่วุ่นวาย กลับมาดูน้ำพระทัยของพระเจ้าในพระวจนะของพระองค์
เฉลยธรรมบัญญัติ 31:10-12
10 และโมเสสบัญชาเขาว่า "เมื่อครบทุกๆเจ็ดปี ตามเวลากำหนดปีปลดปล่อยณเทศกาลอยู่เพิง
11 เมื่อคนอิสราเอลประชุมพร้อมกันต่อพระพักตร์พระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่าน ณ สถานที่ซึ่งพระองค์ทรงเลือกไว้นั้น ท่านทั้งหลายจงอ่านกฎหมายนี้ให้คนอิสราเอลทั้งปวงฟัง
12 จงเรียกประชาชนให้มาประชุมกันทั้งชาย หญิง และเด็ก ทั้งคนต่างด้าวในเมืองของท่านเพื่อให้เขาได้ยินและเรียนรู้ที่จะยำเกรงพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่าน และให้ระวังที่จะกระทำตามถ้อยคำทั้งสิ้นของธรรมบัญญัตินี้
กลับมาหาพระวจนะ

การเข้าไปอยู่ในเพิงเป็นโอกาสที่ดีที่ชาวยิวได้อ่านพระวจนะของพระเจ้า ใคร่ครวญถึงพระคุณความรัก และการทรงนำของพระองค์ ระหว่างที่อ่านก็จะได้ทบทวนว่าชีวิตของตนดำเนินอยู่ในวิถีทางของพระองค์หรือไม่
นอกจากนี้ในเทศกาลนี้ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่คนอิสราเอลกระทำ คือ การติดตั้งดวงไฟในพระวิหาร ซึ่งเป็นพิธีที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาก่อนที่พระเยซูคริสต์จะเสด็จมาประสูติ และเป็นสัญลักษณ์ของการที่พระเจ้าเข้ามาจุดไฟแห่งความสว่างในชีวิต
การนมัสการที่พระวิหารในเทศกาลอยู่เพิงนี้มีลักษณะพิเศษ คือ มีการติดตั้งดวงไฟในพระวิหารให้ส่องสว่างเจิดจ้าเป็นพิเศษซึ่งมาจากข้อความในเศคาริยาห์ 14:7 ที่กล่าวว่า “แต่เวลาเย็นจะมีแสงสว่าง”
ในตอนค่ำระหว่างเทศกาลอยู่เพิงนั้น จะมีคันประทีปทองคำสี่คันตั้งอยู่ในบริเวณลานสำหรับพวกผู้หญิง ความสว่างของคันประทีปเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพให้พระวิหารเต็มไปด้วยความโชติช่วง และความสว่างนี้ยังสะท้อนออกไปยังฟากฟ้าเหนือเยรูซาเล็มจนสามารถมองเห็นได้แต่ไกลหลายกิโลเมตร
เมื่อเทศกาลอยู่เพิงกำลังใกล้จะสิ้นสุดนั้น พวกเลวีทั้งหลายซึ่งอยู่ท่ามกลางความสว่างโชติช่วงนั้น จะพากันร่วมบรรเลงดนตรีแห่ขึ้นบันไดสิบห้าขั้น จากลานสำหรับคนต่างชาติไปสู่ลานสำหรับผู้หญิง ขณะที่ขึ้นบันไดแต่ละขั้น เขาจะเป่าแตร และหยุดร้องเพลงสดุดีบทหนึ่งจากบทเพลงที่ใช้แห่ขึ้น ในสดุดี 120-134
การจุดไฟสว่างนี้ ทำให้เราได้ระลึกถึงความสว่างที่พระเยซูคริสต์จุดในใจของผู้เชื่อ พระองค์เข้ามาเป็นความสว่างของโลก
และพระองค์ได้กล่าวสิ่งนี้ในเทศกาลอยู่เพิง
ยอห์น 8:12 อีกครั้งหนึ่งพระเยซูตรัสกับเขาทั้งหลายว่า "เราเป็นความสว่างของโลก ผู้ที่ตามเรามาจะไม่เดินในความมืด แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต"

เมื่อเราเข้าร่วมเทศกาลนี้ในฝ่ายวิญญาณ ขอพระเจ้าเข้ามาส่องสว่างในใจในความคิดของเรา
ขอความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระเจ้าสดใสสว่างมากยิ่งขึ้น ยิ่งนานวันที่เดินกับพระเจ้าแสงสว่างของพระองค์ส่องเข้ามาในวิญญาณจิตของเรามาก ขึ้น และมากขึ้น ทำให้เรามีความสุข ความชื่นชมยินดี
หากหัวใจของเรายังคงมืดมัวอยู่ เพราะปัญหาใด ๆ ขอพระเจ้าให้ความสว่างในใจ ให้เราเข้าร่วมเทศกาลนี้และมีความหมายในวิญญาณจิตของเราอย่างแท้จริง

4.เป็นเวลาแห่งการเฉลิมฉลองการครอบครองของพระคริสต์

ภาพของการเก็บเกี่ยวพืชผลในเทศกาลอยู่เพิงนั้นมีความหมายในเชิงพยากรณ์ที่เล็งถึงพระเมสสิยาห์ หรือพระคริสต์จะเสด็จมาเก็บเกี่ยวชนชาติของพระองค์ เข้าสู่ยุ้งฉางของพระองค์(อิสยาห์ 27:12-13) เทศกาลอยู่เพิงเป็นสัญลักษณ์ของเวลาที่พระคริสต์จะเสด็จกลับมาครอบครองโลกนี้ (วิวรณ์ 21:3) นี่เป็นภาพของเทศกาลอยู่เพิง ที่เล็งไปถึงอนาตของผู้เชื่อที่จะได้พักสงบอยู่กับพระเจ้านิรันดร์ เราจึงได้เฉลิมฉลองเทศกาลนี้ เพื่อเชิญพระคริสต์ให้เสด็จเข้ามาครอบครอง ตัวเรา คริสตจักรของเรา
เกี่ยวชนชาติของพระองค์ เข้าสู่ยุ้งฉางของพระองค์
อิสยาห์ 27:12-13
12 ในวันนั้น ตั้งแต่แม่น้ำยูเฟรติส ไปจนถึงลำธารอียิปต์ พระเจ้าจะทรงนวดเอาข้าว โอ ประชาชนอิสราเอลเอ๋ย เจ้าจะถูกเก็บรวมเข้ามาทีละคนๆ
13 และในวันนั้นเขาจะเป่าเขาสัตว์ใหญ่ และบรรดาผู้ที่กำลังพินาศอยู่ในแผ่นดินอัสซีเรีย และบรรดาผู้ถูกขับไล่ออกไปยังแผ่นดินอียิปต์จะมานมัสการพระเจ้า บนภูเขาบริสุทธิ์ที่เยรูซาเล็ม


บรรดาประชาชาติที่รอดจากการข่มเหงครั้งใหญ่จะมารวมตัวกันเพื่อนมัสการพระเจ้าในเทศกาลอยู่เพิงที่เยรูซาเล็ม
เศคาริยาห์ 14:16
16 และอยู่มาบรรดาคนที่เหลืออยู่ในประชาชาติทั้งปวงซึ่งยกขึ้นมาสู้รบกับเยรูซาเล็ม จะขึ้นไปนมัสการกษัตริย์ปีแล้วปีเล่า คือพระเจ้าจอมโยธา และจะถือเทศกาลอยู่เพิง

เทศกาลอยู่เพิงเป็นสัญลักษณ์ของเวลาที่พระคริสต์จะเสด็จกลับมาครอบครองโลกนี้
วิวรณ์ 21:3 ข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังมาจากพระที่นั่งว่า "ดูเถิดพลับพลาของพระเจ้าอยู่กับมนุษย์แล้ว พระองค์จะทรงสถิตกับเขา เขาจะเป็นชนชาติของพระองค์ และพระเจ้าเองจะประทับอยู่กับเขา

เทศกาลนี้เล็งไปถึงอนาตของผู้เชื่อที่จะได้พักสงบอยู่กับพระเจ้านิรันดร์ นักวิชาการทางพระคัมภีร์หลายท่านเห็นว่า พลับพลาของพระเจ้าเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นยุคพันปี
เอเสเคียล 37:26-28
26 เราจะกระทำพันธสัญญาสันติภาพกับเขา จะเป็นพันธสัญญานิรันดร์แก่เขา และเราจะอวยพรเขาและให้เขาทวีขึ้น และเราจะวางสถานนมัสการของเราไว้ท่ามกลางเขาเป็นนิตย์
27 ที่อยู่ของเราจะอยู่กับเขา เราจะเป็นพระเจ้าของเขาและเขาจะเป็นประชากรของเรา
28 แล้วประชาชาติทั้งหลายจะทราบว่าเราคือพระเจ้ากระทำให้อิสราเอลเป็นสุทธิพิเศษชาติ ในเมื่อสถานนมัสการของเราอยู่ท่ามกลางเขาเป็นนิตย์"



5.เป็นเวลาแห่งการอิ่มเอมใจในพระวิญญาณบริสุทธิ์

ทุกเช้าของเทศกาลอยู่เพิง ปุโรหิตซึ่งได้รับการแต่งตั้งไว้โดยเฉพาะจะนำเหยือกทองคำมาที่สระสิโลอัม เพื่อตักน้ำกลับไปยังพระวิหาร โดยจะเดินเข้าทางประตูน้ำ และขณะที่ประชาชนกำลังร้องเพลงสรรเสริญจากพระธรรมสดุดี ปุโรหิตจะค่อย ๆ เทน้ำลงในกรวยรดฐานของแท่นบูชา แล้วไหลลงกลับสู่ดิน
เทศกาลอยู่เพิงยังเป็นสัญลักษณ์เล็งถึงฝนแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่เทลงมาในยุคสุดท้าย ในช่วงเทศกาลนี้ ได้มีการเพิ่มเติมพิธีเทน้ำ เข้ามาในพิธีกรรมที่คนอิสราเอลถือปฏิบัติ พิธีนี้เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งคือ ประชาชนจะอธิษฐานขอให้พระเจ้าส่งฝนมายังพื้นโลก และรวมไปถึงอนาคตข้างหน้าที่พระองค์จะเทพระวิญญาณบริสุทธิ์ลงมาเหนืออิสราเอล และผู้เชื่อทุกคนจากทุกชาติทุกภาษา ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบครองของพระเมสสิยาห์ (ยอห์น 7:37-38)
เทศกาลอยู่เพิง และฝน คือ น้ำที่รินไหลนี้เป็นภาพสัญลักษณ์ถึงภายภาคหน้าที่การเทลงมาของพระวิญญาณที่เต็มขนาด นั่นคือ ภาพที่เราจะได้เห็นการทำหมายสำคัญและการอัศจรรย์ให้บังเกิดขึ้น นำการฟื้นฟูจิตวิญญาณของผู้คน และการทำงานของพระวิญญาณจะมากยิ่งกว่าที่เคยเห็นในยุคใด ๆ

ขอพระเจ้าอวยพระพรให้เกิดการฟื้นฟูเริ่มต้นในครอบครัวของเรา คริสตจักรของเรา ประเทศของเรา และทั่วโลกนี้

2 ความคิดเห็น: