29 มีนาคม 2561

หลุมพราง 4 ประการ เกี่ยวกับของประทาน (ตอนที่ 2)


ในบทความตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงหลุมพราง 2 ประการแรกที่เกี่ยวกับของประทาน นั่นก็คือ การคิดว่าของประทานมีแค่ 9 อย่างเท่านั้น กับความคิดที่ว่าของประทานที่เหนือธรรมชาติ บริสุทธิ์กว่าและสำคัญกว่า ของประทานที่เป็นธรรมชาติ 


ก่อนที่ผมจะกล่าวถึงหลุมพรางอีก 2 ประการ ผมขออธิบายหลักการสำคัญอย่างหนึ่งเกี่ยวกับของประทานก่อน หลักการนั่นก็คือ “ของประทานที่เรามีจะเกี่ยวข้องกับธรรมชาติที่เราเป็น”

ของประทานกับธรรมชาติ
            ปกติแล้ว เมื่อพระเจ้าให้ของประทานแก่เพื่อนๆ พระเจ้าไม่เพียงแต่ให้เพื่อนๆมีความเก่งกาจเฉพาะทางเท่านั้น แต่พระองค์ยังประทานให้เพื่อนๆมีธรรมชาติในความเฉพาะทางนั้นๆด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อพระเจ้าให้ผู้หนึ่งมีของประทานด้านการเผยพระวจนะ พระเจ้าไม่เพียงแต่ให้ผู้นั้นเผยพระวจนะได้เก่งเท่านั้น แต่พระองค์ยังประทานให้ผู้นั้นมีธรรมชาติที่เกี่ยวกับการเผยพระวจนะด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วคนที่มีของประทานด้านการเผยพระวจนะมักจะมีธรรมชาติอย่างหนึ่ง และธรรมชาตินั้นก็คือ “ชอบอธิษฐานมากเป็นพิเศษ” สำหรับผู้เชื่อทั่วๆไป การอธิษฐานอย่างต่อเนื่องถึง 2 ชั่วโมง ก็อาจทำให้เหนื่อยล้า แต่สำหรับคนที่ของประทานด้านการเผยพระวจนะ ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจะอธิษฐานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย การอธิษฐานอย่างต่อเนื่อง 2 ชั่วโมงนับว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นบ่อยๆสำหรับพวกเขา บางครั้งในวันหยุดหรือวันว่าง พวกเขามักจะปิดประตูห้องและแขวนป้ายไว้นอกห้องว่า “อย่ารบกวน” แล้วพวกเขาก็จะอธิษฐานอยู่อย่างนั้นทั้งวัน สำหรับเหล่าผู้เผยพระวจนะแล้ว การอธิษฐานทั้งวันนับเป็นความสุขยิ่งสำหรับพวกเขา ทั้งนี้เหตุที่ผู้เผยพระวจนะมักจะมีธรรมชาติที่ชอบอธิษฐานมากเป็นพิเศษ ก็เพราะพระเจ้าไม่เพียงแต่ให้พวกเขาเผยพระวจนะได้เก่งเท่านั้น แต่พระองค์ยังประทานธรรมชาติที่ชอบติดต่อสื่อสารกับพระองค์ด้วย

สำหรับคนที่มีของประทานด้านการสอนหรือความรู้ พระเจ้าไม่เพียงแต่ประทานให้พวกเขาเก่งกาจด้านการสอนหรือเรียนรู้ได้ดีเท่านั้น แต่พระองค์มักจะให้พวกเขามีธรรมชาติที่ชอบเรียนรู้และชอบค้นคว้าด้วย ผู้เชื่อบางคนเมื่ออ่านพระคัมภีร์ ก็ไม่ได้รู้สึกสนใจหรือใส่ใจว่า ข้อพระคัมภีร์ที่อ่านนี้ในภาษาฮีบรูหรือภาษากรีกจะใช้คำว่าอะไร ทว่า สำหรับคนที่มีของประทานด้านการสอนหรือความรู้ พวกเขาจะค้นคว้ารากศัพท์ภาษาฮีบรูและภาษากรีกอย่างละเอียด นอกจากนี้พวกเขายังมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้บริบททางประวัติศาสตร์ของพระคัมภีร์ในแต่ละส่วน พวกเขาสามารถอ่านหนังสืออธิบายพระคัมภีร์หรือหนังสือในแวดวงคริสเตียนในจำนวนที่มากๆได้ ทั้งนี้ เนื่องจากว่าของประทานที่พระเจ้าทรงมอบให้ ไม่เพียงทำให้พวกเขาสอนเก่งหรือเรียนรู้ได้ดีเท่านั้น แต่ยังทำให้พวกเขามีธรรมชาติของอาจารย์ที่เป็นนักค้นคว้าด้วย 
            สำหรับคนที่มีของประทานด้านการสังเกตวิญญาณ พระเจ้าไม่เพียงแต่ประทานให้พวกเขาสังเกตวิญญาณได้เฉียบคมเท่านั้น แต่พระองค์ประทานให้พวกเขามีธรรมชาติอย่างหนึ่งอันเป็นธรรมชาติเฉพาะสำหรับคนที่มีของประทานด้านนี้ ซึ่งปกติแล้ว คนที่มีของประทานสังเกตวิญญาณ มักจะมีธรรมชาติที่เป็นคนโผงผาง พูดอะไรออกมาตรงๆ และไม่ค่อยมองอะไรเป็นสีเทาๆ แต่มักจะแยกขาวแยกดำอย่างชัดเจน 
            ถ้าเพื่อนๆกำลังค้นหาว่าตัวเองมีของประทานอะไร ผมก็อยากจะแนะนำหลักการอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าพระเจ้าให้เพื่อนๆมีของประทานอันใดแล้ว พระองค์ก็มักจะให้เพื่อนๆมีธรรมชาติในของประทานอันนั้นด้วย การค้นหาของประทานของตัวเองจะเกิดได้ง่ายขึ้น เมื่อเพื่อนๆได้สืบค้นเกี่ยวกับธรรมชาติของตนเอง เพราะธรรมชาติที่เราเป็นจะสอดคล้องกับของประทานที่เรามีเสมอ

ผู้เชื่อแต่ละคนเปรียบเปรยดั่งอวัยวะที่แตกต่างกัน

            ใน (1 โครินธ์ 12) ได้เปรียบเปรยผู้เชื่อแต่ละคนว่าเป็นดั่งอวัยวะในร่างกาย บางคนเป็นตา บางคนเป็นหู บางคนเป็นมือ เหตุที่เปาโลได้เปรียบเปรยเช่นนี้ ด้านหนึ่งก็เป็นเพราะแต่ละคนมีของประทานที่แตกต่างกัน จึงทำให้แต่ละคนมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน บางคนพระเจ้าก็ประทานให้เขามีของประทานการสอนและมีการทรงเรียกให้เป็นอาจารย์ บางคนพระเจ้าก็ประทานให้เขามีของประทานด้านการเผยพระวจนะและมีการทรงเรียกสู่การเป็นผู้เผยพระวจนะ บางคนพระเจ้าก็ประทานให้เขามีของประทานด้านศิษยาภิบาลที่มีธรรมชาติในการเป็นห่วงเป็นใยผู้คน แต่ละคนจึงมีหน้าที่และการทรงเรียกที่แตกต่างกันไป

(หลุมพรางประการที่ 3) การยัดเยียดของประทาน
          การยัดเยียดของประทานก็คือการคาดหวังให้คนอื่นมีลักษณะแบบเราหรือมีธรรมชาติแบบเรา บางคนที่มีของประทานด้านการเผยพระวจนะที่ชอบอธิษฐานอย่างต่อเนื่องนานๆ หากเขาไม่เข้าใจในเรื่องธรรมชาติและของประทาน เขาก็อาจจะเรียกร้องให้ผู้เชื่อคนอื่นๆทำตามเขา โดยเรียกร้องให้ผู้อื่นอธิษฐานมากๆแบบเขา บางคนที่มีของประทานด้านการสอนที่ชอบค้นคว้าพระคัมภีร์อย่างลึกๆ หากเขาไม่เข้าใจในเรื่องธรรมชาติและของประทาน เขาก็อาจจะเรียกร้องให้คนอื่นๆศึกษาพระคัมภีร์ลึกๆแบบเขา บางทีเขาก็อาจอารมณ์เสียที่เห็นผู้เชื่อคนอื่นๆไม่สนใจการศึกษาพระคัมภีร์แบบลึก

            ทั้งนี้ การยัดเยียดของประทานอาจเป็นผลมาจาก การไม่เข้าใจในเรื่องของประทานและธรรมชาติ แต่การยัดเยียดของประทานสามารถแก้ไขได้โดยการตระหนักรู้ว่า แต่ละคนมีของประทานที่แตกต่างกัน จึงทำให้แต่ละคนมีธรรมชาติกับลักษณะที่ไม่เหมือนกัน และแต่ละคนมีการทรงเรียกที่แตกต่างกัน ดังนั้น การก่อสร้างผู้คน จึงไม่ใช่การบีบบังคับให้ทุกคนเป็นเหมือนผู้นำ แต่เป็นการให้แต่ละคนได้ตระหนักรู้ถึงของประทานกับการทรงเรียกของตน และนำพาแต่ละคนให้มุ่งสู่เส้นทางแห่งการทรงเรียกตามของประทานของเขา และเมื่อทุกคนต่างทำตามหน้าที่ที่สอดคล้องกับของประทานของตน อาณาจักรพระเจ้าก็สามารถแผ่ขยายออกไปได้มากขึ้น โดยที่ไม่ต้องบีบบังคับให้ใครทำตามอย่างเรา

(หลุมพรางประการที่ 4) สถานการณ์นิยม
          สถานการณ์นิยมเป็นคำสอนที่อธิบายว่า เมื่อผู้เชื่อบังเกิดใหม่ พระคริสต์ก็สถิตอยู่ภายในผู้เชื่อ ทำให้ผู้เชื่อสามารถสำแดงของประทานได้ทุกอย่างเมื่อสถานการณ์มาถึง เช่น หากตอนนี้มีผู้ป่วยอยู่ต่อหน้าเรา และพระเจ้าปรารถนาที่จะรักษาโรค เราก็สามารถสำแดงของประทานรักษาโรคได้ แต่พอสถานการณ์จบลง ของประทานการรักษาโรคก็หยุดทำงาน หรือถ้าเกิดสถานการณ์จำเป็นที่ต้องมีการเผยพระวจนะ พระเจ้าก็สามารถใช้ใครก็ได้ในการเผยพระวจนะ และเมื่อสถานการณ์จบลง ของประทานการเผยพระวจนะก็หยุดทำงาน

            คำสอนแบบสถานการณ์นิยมอธิบายว่า ผู้เชื่อแต่ละคนสามารถสำแดงของประทานได้ทุกอย่างถ้าสถานการณ์มาถึง เพราะพระเจ้าสามารถใช้ใครก็ได้ แต่ถ้าสถานการณ์จบลง ของประทานก็หยุดทำงาน ทั้งนี้ สถานการณ์นิยมอธิบายเพิ่มเติมว่า การสำแดงของประทานไม่ได้เกิดขึ้นโดยความตั้งใจของมนุษย์ แต่การสำแดงแห่งของประทานเกิดขึ้นตามพระทัยของพระวิญญาณ มนุษย์จึงไม่ได้เป็นผู้กำหนดว่าจะใช้ของประทานเมื่อไร แต่พระวิญญาณจะทรงเคลื่อนไหวในของประทานต่างๆเองเมื่อสถานการณ์มาถึง คำสอนเรื่องสถานการณ์นิยมอาจดูเหมือนให้การหนุนใจว่า ผู้เชื่อสามารถสำแดงของประทานทุกอย่างได้ กระนั้นคำสอนนี้ก็มีจุดบอดทั้งในแง่ของหลักการพระคัมภีร์และในแง่ประสบการณ์

            ในพระคัมภีร์ (1 โครินธ์ 12) ได้เปรียบเปรยผู้เชื่อแต่ละคนว่าเป็นอวัยวะที่แตกต่างกัน เพราะแต่ละคนต่างมีของประทานและการทรงเรียกที่แตกต่างกันไป บางคนพระเจ้าแต่งตั้งให้เขาเป็นหู เขาก็มีของประทานและการทรงเรียกแบบหู บางคนพระเจ้าแต่งตั้งให้เขาเป็นเท้า เขาก็มีของประทานและการทรงเรียกแบบเท้า บางคนพระเจ้าแต่งตั้งให้เขาเป็นแขน เขาก็มีของประทานและการทรงเรียกในแบบที่แขนมี ไม่ใช่ว่า เมื่อวานเขาเป็นแขน และวันพรุ่งนี้เขาจะเป็นหู ทั้งนี้เพราะพระวิญญาณได้กำหนดของประทานให้กับแต่ละคนอย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะเจาะจงเป็นคนๆไป มุมมองที่ได้จาก (1 โครินธ์ 12) นี้ จึงไม่ใช่มุมมองแบบ “สถานการณ์นิยม” แต่เป็น “การแต่งตั้งนิยม” ซึ่งหมายความว่า พระวิญญาณได้ทรงแต่งตั้งแต่ละคนให้มีของประทานและพันธกิจที่แตกต่างกันไป

            ในแง่ของประสบการณ์ คำสอนเรื่องสถานการณ์นิยมก็สร้างปัญหาบางประการ ปัญหาประการแรกก็คือ คนที่ฝักใฝ่ในคำสอนแบบสถานการณ์นิยมมีแนวโน้มที่จะไม่สนใจว่าตนเองมีของประทานอะไร และไม่สืบค้นถึงธรรมชาติกับการทรงเรียกที่พระวิญญาณทรงกำหนดให้เขาอย่างเจาะจง ทั้งนี้เพราะ สถานการณ์นิยมมองว่า โดยพระวิญญาณ ผู้เชื่อแต่ละคนมีของประทานทุกอย่างอยู่แล้วและสามารถสำแดงของประทานได้ทุกชนิด ผู้เชื่อจึงไม่จำเป็นต้องไปสืบค้นว่าตนเองมีของประทานอะไร ขอแค่ผู้เชื่อมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าเป็นพอ และถ้าสถานการณ์มาถึง ของประทานต่างๆก็สำแดงออกมาเอง

            การไม่ตระหนักรู้ถึงของประทานของตนเอง ด้านหนึ่งก็จะส่งผลให้ไม่รู้ถึงการทรงเรียกของตนเองด้วย ใน (โรม 11:29) ได้บอกเป็นนัยว่า ของประทานกับการทรงเรียก เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันและควบคู่กันไป ดังนั้น ถ้าผู้หนึ่งไม่รู้ว่าตนเองมีของประทานอะไร โอกาสที่ผู้นั้นจะรับรู้ถึงการทรงเรียกที่เฉพาะเจาะจงของตนก็เป็นไปได้ยาก

ปัญหาอีกประการหนึ่งของสถานการณ์นิยมก็คือ การไม่ร่วมประสานกับส่วนอื่นของพระกาย ทั้งนี้ ด้วยมุมมองของสถานการณ์นิยมที่คิดว่า ผู้เชื่อแต่ละคนสามารถสำแดงของประทานได้ทุกอย่างอยู่แล้ว จึงทำให้ผู้เชื่อแต่ละคนไม่ค่อยเห็นคุณค่าของการพึ่งพาและการร่วมประสานกันในพระกาย ทว่า ในมุมมองแบบการแต่งตั้งนิยม(อันเป็นมุมมองตามพระคัมภีร์) มองว่า พระวิญญาณทรงมอบของประทานให้แต่ละคนอย่างแตกต่างกันไป และพระองค์ก็ทรงแต่งตั้งให้แต่ละคนมีการทรงเรียกเฉพาะตามของประทานนั้นๆ ทำให้แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ การร่วมประสานกับอวัยวะอื่นๆในพระกายจึงมีความสำคัญยิ่ง เพราะปกติ คนที่เป็นหู ก็เชี่ยวชาญในความเป็นหู แต่ถ้าเขาปรารถนาที่จะมองเห็นได้ชัดขึ้น เขาก็ต้องพึ่งพาคนที่เป็นตา ในทำนองเดียวกัน คนที่เป็นตา ก็จะเชี่ยวชาญในการเป็นตา แต่ถ้าเขาปรารถนาจะฟังได้ดีขึ้น เขาก็ต้องพึ่งพาและร่วมประสานกับคนที่เป็นหู

            ความเข้าใจในเรื่องของประทานจะมีส่วนช่วยให้ ผู้เชื่อแต่ละคนเข้าใจและให้เกียรติในอัตลักษณ์และการทรงเรียกของกันและกัน เพราะความเข้าใจในเรื่องของประทานทำให้เกิดความตระหนักรู้ว่า แต่ละคนมีของประทานและธรรมชาติที่ไม่เหมือนกัน แต่ละคนจึงมีพันธกิจและการทรงเรียกที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเราจะไม่ยัดเยียดให้ใครเป็นเหมือนเรา แต่จะหนุนใจให้แต่ละคนได้ค้นพบถึงของประทานและผลักดันให้ทุกคนมุ่งหน้าสู่การทรงเรียกที่มีเฉพาะในแต่ละคน และเมื่อทุกคนเติบโตในของประทานที่ตนเองมี ท้ายสุดนี้ ก็จะเกิดภาพของการร่วมประสานและเกื้อกูลกันในพระกาย เพราะพวกเราได้ตระหนักรู้ว่า พวกเราไม่สามารถสำแดงของประทานทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว แต่พวกเราต้องพึ่งพาอวัยวะอื่นๆในการสำแดงของประทานที่เราไม่มีด้วย ชาโลม

Philip Kavilar

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
หนังสือ Discover Your Spiritual Gifts เขียนโดย C. Peter Wagner

27 มีนาคม 2561

ความรัก คือ การเรียนรู้

"ความรัก คือ การเรียนรู้ที่จะมองให้ออกและให้คุณค่าผู้คนสำหรับศักยภาพเต็มที่ที่จะเป็น...ของพวกเขา แม้กระทั่งก่อนที่พวกเขาจะก้าวเข้าไปในสิ่งนั้นเสียด้วยซ้ำ
ในขณะเดียวกันความรักก็ไม่ยอมให้ตัวเขาที่ยังไม่เปลี่ยนนั้น กันคุณไว้จากการกลายเป็นคุณอย่างแท้จริง เพราะคุณไม่จำเป็นต้องหยุดโตหรือหยุดอยู่กับที่เพียงเพราะคนเหล่านั้นที่ไม่โต
จงอย่ายอมให้ความไม่โตของคนอื่นมาหยุดยั้งคุณจากการก้าวสู่ความเติบโตอย่างเต็มที่ของคุณ"

Love is learning to see and value people for their fullest potential even before they emerge into it.
Love is also not allowing who they have not become keep you from becoming the fullest you. You don't have to be stuck by those who have stopped growing.
Don't let other people's immaturity keep you from progressing.
- Bob Hazlett

21 มีนาคม 2561

หลุมพราง 4 ประการ เกี่ยวกับของประทาน(ตอนที่1)


นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 คำสอนเรื่องของประทานก็เป็นคำสอนที่แพร่หลายมากขึ้นท่ามกลางคริสตจักรทั้งหลาย ถ้าเพื่อนๆตรวจสอบรายชื่อหนังสือที่สอนถึงเรื่องของประทาน เพื่อนๆจะพบว่า หนังสือมากมายที่สอนถึงของประทาน ส่วนใหญ่แล้วจะผลิตหลังจากปี 1970 ขึ้นไป นับได้ว่าทศวรรษ 1970 เป็นทศวรรษสำคัญที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงยกระดับความเข้าใจในเรื่องของประทานให้กับคริสตจักร

            นักวิชาการคริสเตียนบางท่าน แม้ว่าจะมีความเชี่ยวชาญด้านศาสนศาสตร์ในแขนงต่างๆ แต่ถ้าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขียนหลังปี 1970 โอกาสที่เขาจะมีความรู้หรือความเข้าใจในเรื่องของประทานก็เป็นไปได้ยาก แม้แต่ มาร์ติน ลูเธอร์ (ผู้นำการปฏิรูปโปรเตสแตนต์ในศตวรรษที่ 16) หรือ จอห์น เวสลีย์ (ผู้นำการฟื้นฟูเรื่องความบริสุทธิ์ในศตวรรษที่ 18) ก็ยังไม่ได้มีโอกาสที่จะศึกษาหรือมีความเข้าใจในเรื่องของประทานได้เท่ากับคริสเตียนในยุคปัจจุบัน กระทั่ง วอท์ชแมน นี (ผู้นำการฟื้นฟูที่ประเทศจีนช่วงต้นศตวรรษที่ 20) ก็ไม่อาจที่จะสอนหรืออธิบายเรื่องของประทานได้อย่างละเอียด ทั้งนี้ เพราะหนังสือและแหล่งความรู้เรื่องของประทาน ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นส่วนใหญ่

            จากการค้นคว้าของผม ผมเห็นว่ามีหลุมพรางสำคัญ 4 ประการเกี่ยวกับของประทาน ที่พวกเราควรหลีกเลี่ยง เป็นหลุมพรางที่นำไปสู่ความเข้าใจผิดและทำให้เกิดความติดขัดหลายอย่าง หลุมพรางทั้ง 4 นี้คือ

1. คิดว่าของประทานมีแค่ 9 อย่างเท่านั้น
2. คิดว่าของประทานที่เหนือธรรมชาติ บริสุทธิ์กว่าและสำคัญกว่า ของประทานที่เป็นธรรมชาติ
3. สถานการณ์นิยม
4. การยัดเยียดของประทาน 
ในบทความตอนนี้ ผมจะมาอธิบายหลุมพราง 2 ประการแรกก่อน 
(หลุมพรางที่ 1)  คิดว่าของประทานมีแค่ 9 อย่างเท่านั้น
            ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ได้กล่าวถึงของประทานไว้หลายอย่าง โดยข้อพระคัมภีร์หลักที่แจกแจงถึงของประทานต่างๆก็คือ (โรม 12) (เอเฟซัส 4) และ (1 โครินธ์ 12) และเมื่อพิจารณาถึงข้อพระคัมภีร์ทั้ง 3 บทนี้แล้ว รายการของประทานทั้งหมดจะมีดังนี้ 
(โรม 12)
1. การเผยพระวจนะ 2. การปรนนิบัติ 3. การสอน 4. การหนุนใจ/การตักเตือน 5. การให้/การถวาย
6. การครอบครอง/ความเป็นผู้นำ 7. ความเมตตา

(1 โครินธ์ 12) *ไม่นับอันที่ซ้ำกับ (โรม12)
8. ถ้อยคำของปัญญา 9. ถ้อยคำของความรู้ 10. ความเชื่อ 11. การรักษา 12. ฤทธิ์เดช/การอัศจรรย์
13. สังเกตวิญญาณ 14. ภาษาแปลกๆ 15. การแปลภาษาแปลกๆ 16. อัครทูต 17. การช่วยเหลือ
18. การบริหาร

(เอเฟซัส 4) *ไม่นับอันที่ซ้ำกับรายการข้างบน
19. ผู้ประกาศ 20. ศิษยาภิบาล
         รายการของประทานทั้ง 20 อย่างนี้เป็นรายการของประทานที่พระคัมภีร์เขียนไว้อย่างชัดเจน ทว่า ในพระคัมภีร์บทอื่นๆก็ยังได้พูดถึงของประทานอันอื่นๆอีกแต่ไม่ได้ชัดเจนเท่านี้ เช่น ของประทานการต้อนรับแขก (1 เปโตร 4:9) ของประทานการเป็นมิชชันนารี (เอเฟซัส 3:6-8) เป็นต้น 
หลุมพรางประการแรกเกี่ยวกับของประทานก็คือ ความคิดที่เข้าใจว่า ของประทานมีเพียง 9 อย่างเท่านั้น ทั้งๆที่ตามพระคัมภีร์แล้ว ของประทานทั้งหมดมีอย่างน้อย 20 อย่าง อนึ่ง ความคิดที่เข้าใจว่าของประทานมีเพียงแค่ 9 อย่างนั้นมักจะยกข้อพระคัมภีร์เฉพาะ (1 โครินธ์ 12) ในช่วงต้นเท่านั้น
 (1 โครินธ์ 12) ช่วงต้นได้กล่าวถึงของประทาน 9 อย่าง นั่นก็คือ 1. ถ้อยคำของปัญญา 2. ถ้อยคำของความรู้ 3. ความเชื่อ 4. การรักษา 5. ฤทธิ์เดช/การอัศจรรย์  6. การเผยพระวจนะ 7. สังเกตวิญญาณ 8. ภาษาแปลกๆ 9. การแปลภาษาแปลกๆ
 ดูเผินๆแล้ว ของประทานทั้ง 9 อย่างที่ปรากฏใน (1 โครินธ์ 12) ช่วงต้น ดูเหมือนจะมีความเหนือธรรมชาติมากเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้ บางสัมมนาที่สอนเรื่องการดำเนินชีวิตที่เหนือธรรมชาติ ก็อาจจะเน้นเพียงแต่ของประทานทั้ง 9 อย่างนี้ บางคนจึงเกิดความเข้าใจที่ผิดและคิดไปว่าของประทานมีแค่ 9 อย่างเท่านั้น ถ้าเพื่อนๆยังไม่รู้ว่าตัวเองมีของประทานอะไร ก็อาจเป็นเพราะว่าเพื่อนๆเน้นแต่ของประทานเฉพาะ 9 อย่างนี้เท่านั้น ทั้งๆที่ความจริงแล้ว พระเจ้าอาจให้ของประทานอื่นๆแก่เพื่อนๆ ซึ่งไม่ใช่ของประทาน 9 อย่างนี้ 
(หลุมพรางที่ 2) คิดว่าของประทานที่เหนือธรรมชาติ บริสุทธิ์กว่าและสำคัญกว่า ของประทานที่เป็นธรรมชาติ
             ในกรอบความคิดแบบกรีก ผู้คนมักจะมองว่า โลกในฝ่ายวิญญาณที่เหนือธรรมชาติ (การอธิษฐาน/การนมัสการ/การไปโบสถ์) เป็นสิ่งบริสุทธิ์และดีงาม ส่วนโลกในฝ่ายกายภาพที่เป็นเรื่องธรรมชาติ (การมีเพศสัมพันธ์/การรับสิ่งบันเทิง/การกินเลี้ยง) เป็นสิ่งที่ไม่สะอาดและมลทิน ทว่า ในกรอบความคิดแบบฮีบรู(ซึ่งเป็นกรอบความคิดตามพระคัมภีร์)กลับมีมุมมองความคิดที่ไม่เหมือนกับกรอบความคิดแบบกรีก ในกรอบความคิดแบบฮีบรูมองว่า พระเจ้าทรงสร้างโลกฝ่ายวิญญาณที่เหนือธรรมชาติ และพระองค์ก็ทรงสร้างโลกฝ่ายกายภาพที่เป็นธรรมชาติด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติหรือเรื่องธรรมชาติ ต่างก็เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างมาทั้งคู่ ด้วยเหตุนี้กรอบความคิดแบบฮีบรูจึงมองว่า เรื่องฝ่ายวิญญาณที่เหนือธรรมชาติ กับเรื่องฝ่ายกายภาพที่เป็นธรรมชาติ ต่างก็มีความบริสุทธิ์และมีความสำคัญด้วยกันทั้งคู่ เพราะพระเจ้าทรงเป็นผู้เนรมิตสร้างทั้งเรื่องฝ่ายวิญญาณและเรื่องฝ่ายกายภาพ

           
ในเรื่องเกี่ยวกับของประทาน บางคนก็อาจคิดไปว่า ของประทานที่เหนือธรรมชาติ (เช่น การเผยพระวจนะ ภาษาแปลกๆ) มีความบริสุทธิ์และสำคัญกว่า ของประทานที่ดูเป็นเรื่องธรรมชาติ (เช่น การปรนนิบัติ ความเป็นเมตตา) ทว่า ในกรอบความคิดแบบฮีบรู พระเจ้าทรงสร้างจักรวาลที่มีทั้ง ของประทานที่เหนือธรรมชาติ และของประทานที่เป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นของประทานแบบเหนือธรรมชาติที่หวือหวา หรือของประทานที่ดูเป็นเรื่องธรรมชาติที่ปกติ ต่างก็เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างมาทั้งคู่ ทั้งสองสิ่งนี้ต่างก็เป็นสิ่งที่มาจากพระองค์ ด้วยเหตุนี้ ในกรอบความคิดแบบฮีบรู ของประทานที่เหนือธรรมชาติกับของประทานที่ดูเป็นเรื่องธรรมชาติ ต่างก็เป็นของประทานที่มีความบริสุทธิ์และสำคัญพอๆกัน นอกจากนี้ ในบางวาระ ของประทานที่ดูเป็นเรื่องธรรมชาติ ก็อาจมีความสำคัญกว่าของประทานที่เหนือธรรมชาติด้วยซ้ำ 
            ถ้าจะพูดให้ชัดก็คือ ตามหลักความคิดแบบฮีบรู ของประทานที่ดูปกติทั่วๆไป (เช่น ความเมตตา การปรนนิบัติ) ก็มีความบริสุทธิ์และสำคัญพอๆกับของประทานที่เหนือธรรมชาติ (เช่น ภาษาแปลกๆ การเผยพระวจนะ) ดังนั้น พวกเราจึงควรให้เกียรติพี่น้องทุกคน พวกเราควรให้เกียรติทั้งพี่น้องที่มีของประทานที่เหนือธรรมชาติ และให้เกียรติกับพี่น้องที่มีของประทานที่ดูไม่เหนือธรรมชาติด้วย หลายครั้ง คนเราก็สามารถสัมผัสถึงความรักของพระคริสต์ผ่านของประทานที่ดูเป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งบางที คนที่ไม่ได้มีของประทานที่เหนือธรรมชาติอาจจะสำแดงความรักของพระคริสต์ได้ยิ่งกว่าคนที่มีของประทานที่เหนือธรรมชาติเสียอีก 
            ในบทความนี้ ผมขอไว้เท่านี้ก่อน ถ้าไม่ติดอะไร สัปดาห์หน้าผมอาจจะเขียนบทความนี้ต่อในตอนที่สองนะครับ ขอพระวิญญาณบริสุทธิ์เพิ่มกำลังเพื่อนๆครับ 
พระคุณจงมีแด่ทุกท่าน
Philip Kavilar

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
หนังสือ Discover Your Spiritual Gifts เขียนโดย C. Peter Wagner

17 มีนาคม 2561

เทคโนโลยีกับการเผยพระวจนะ


หากย้อนไปสัก 30 ปีก่อน ในยุคที่คนเรายังไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้กัน มีเพียงแต่โทรศัพท์บ้านหรือตู้โทรศัพท์ทั่วๆไป ตอนนั้นหากคุณได้นัดเพื่อนคนหนึ่งว่า พรุ่งนี้เจอกันที่สวนสาธารณะตอน 12:00 น. แล้ววันต่อมา คุณก็มาที่สวนสาธารณะตอน 11:50 น. ปรากฏว่าพอคุณรอถึง 12:00 น. เพื่อนของคุณก็ยังมาไม่ถึง ตอนนั้นคุณก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะตอนนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้อย่างแพร่หลาย คุณไม่สามารถโทรตามหรือพิมพ์ LINE ไปสอบถามได้ พอเวลาผ่านไปถึง 12:15 น. คุณก็ได้แต่รออย่างเดียว โดยอาจมีความขัดเคืองบ้าง และแล้วเมื่อถึง 12:30 น. เพื่อนของคุณก็มาถึง คุณก็อาจต่อว่าเพื่อนบ้างที่มาสาย แต่สุดท้ายพอเวลาผ่านไป ความขัดเคืองก็เจือจางลง

คราวนี้ให้พวกเรามาคิดถึงยุคปัจจุบันที่มีการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างแพร่หลาย สมมติว่าคุณนัดเพื่อนคนหนึ่งไว้ว่า พรุ่งเจอกันที่สวนสาธารณะตอน 12:00 น. แล้ววันต่อมา คุณก็มาถึงสวนสาธารณะตอน 11:50 น. แล้วพอถึง 12:00 น. คุณก็ยังไม่เจอเพื่อนของคุณ ต่อมาคุณก็รอถึง 12:15 น. เพื่อนของคุณก็ยังไม่มาสักที แต่ในยุคนี้พวกเรามีโทรศัพท์มือถือและแอพ LINE คุณจึงโทรมือถือไปถามเพื่อนว่า “อยู่ถึงไหนแล้ว?ปรากฏว่าเมื่อคุณโทรไป เพื่อนคุณกลับไม่รับสาย คุณจึงโทรตามอีก 2 รอบ แต่เพื่อนของคุณก็ไม่รับสายสักที มาถึงตอนนี้ความขัดเคืองของคุณก็คงพุ่งขึ้น ซึ่งคงจะพุ่งขึ้นมากยิ่งกว่าเมื่อ 30 ปีก่อน เพราะสมัยก่อน คุณได้แต่เฝ้ารอเฉยๆ ความขัดเคืองก็มี แต่คงไม่รุนแรงเหมือนตอนนี้ และเนื่องจากเพื่อนของคุณไม่รับโทรศัพท์ คุณจึงพิมพ์ LINE ไปถามเพื่อนว่า “อยู่ถึงไหนแล้ว? ปรากฏว่าในแอพ LINE ก็ขึ้นมาว่า เพื่อนของคุณ “อ่านแล้ว” แต่เพื่อนของคุณก็ไม่พิมพ์อะไรตอบมาสักที มาถึงตอนนี้คุณก็คงขัดเคืองขึ้นไปอีก และแล้ว พอถึง 12:30 น. เพื่อนของคุณก็มาถึง คราวนี้คุณก็คงต่อว่าเพื่อนบ้าง แต่วันเวลาผ่านไป ความขัดเคืองก็เจือจางลงไป
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากถามก็คือ หากเป็นเมื่อ 30 ปีก่อน ที่ยังไม่มีเทคโนโลยี คุณก็ได้แต่รอเพื่อน โดยอาจมีความขัดเคืองบ้าง แต่หากเป็นปัจจุบันนี้ที่เทคโนโลยีก้าวไกล ถ้าเพื่อนของคุณไม่รับสายหรือไม่ตอบ LINE ความเครียดและความขัดเคืองของคุณก็อาจพุ่งแรงมากกว่าเดิม อาการดังกล่าวนี้ ผมเรียกว่า “เครียดเพราะเทคโนโลยี”
อาการ “เครียดเพราะเทคโนโลยี” เป็นอาการหนึ่งที่มีกันในยุคปัจจุบัน ซึ่งที่ไปที่มาของอาการนี้ ที่จริงก็ไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยี แต่เกิดจากท่าทีที่คุณมีมากกว่า ตามหลักการแล้ว เทคโนโลยีควรจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนเรารู้สึกสะดวกสบายและมีความสุขขึ้น หากเทคโนโลยีทำให้คุณเครียดหรือมีความทุกข์มากขึ้น แสดงว่า คุณอาจมีท่าทีที่ผิดไป เมื่อพวกเราพิจารณาเทคโนโลยี พวกเราควรจะขอบคุณพระเจ้าสำหรับความก้าวหน้านี้ และใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการแผ่ขยายอาณาจักรพระเจ้าและสร้างสันติสุขแก่ผู้คน ดังนั้นหากคุณรู้สึกเกิดอาการ “เครียดเพราะเทคโนโลยี” ก็อยากให้คุณลองพิจารณาโลกสัก 30 ปีก่อน แล้วนั่งถามตัวเองว่า “หากเป็นเมื่อ 30 ปีก่อน เราจะเครียดกับเรื่องนี้ไหม? และปัจจุบันนี้ เรามีเทคโนโลยีที่ควรสร้างความสุขให้กับเรา แล้วเราควรเครียดกับเรื่องนี้ไหม?
การเผยพระวจนะก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ในช่วงทศวรรษ 1980 ก็เป็นทศวรรษสำคัญของการรื้อฟื้นตำแหน่ง “ผู้เผยพระวจนะ” ปัจจุบันนี้ คริสตจักรเริ่มเปิดรับและมีการสอนเรื่องการเผยพระวจนะที่ลึกกว่าสมัยก่อนมาก หากย้อนไปสัก 100 ปีที่แล้ว การเผยพระวจนะก็ยังคงไม่เป็นที่แพร่หลายเหมือนในยุคปัจจุบัน หากจะเปรียบเปรยแล้ว การเผยพระวจนะก็เป็นเหมือนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในคริสตจักรเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

เทคโนโลยี ไม่ควรจะทำให้คนเราเครียด แต่ควรจะทำให้คนเรามีความสุขขึ้น การเผยพระวจนะก็เช่นกัน คำเผยพระวจนะควรเป็นสิ่งที่เสริมสร้างและทำให้คนเรามีความสุขขึ้น ใน (1 โครินธ์ 14:13) ก็ได้กล่าวว่า การเผยพระวจนะมีไว้เพื่อให้เจริญขึ้น เพื่อให้ชูใจ และเพื่อให้ปลอบใจ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเผยพระวจนะควรจะทำให้พวกเรามีความสุขขึ้นและมีความก้าวหน้าขึ้น ไม่ใช่ทำให้พวกเราเครียดหรือทุกข์ลง
หากคุณรู้สึกเกิดอาการ “เครียดเพราะคำเผยพระวจนะ” แสดงว่าอาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งผิดปกตินี้ อาจจะเป็นที่ “ถ้อยคำเผยพระวจนะ” หรืออาจจะเป็นที่ “ตัวคนที่เผยพระวจนะ” หรืออาจจะเป็นที่ “ท่าทีของคุณเอง”
อาการ “เครียดเพราะคำเผยพระวจนะ” มีลักษณะหลายรูปแบบ บางครั้งหากคุณได้รับคำเผยพระวจนะที่เป็นการกล่าวโทษหรือป่าวประกาศการลงโทษเหมือนแบบคำเผยพระวจนะในพันธสัญญาเดิม แล้วคุณก็เกิดความหวาดผวาขึ้นมา ผมอยากจะหนุนใจคุณว่า มีบางสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว เพราะในพันธสัญญาใหม่ การเผยพระวจนะควรทำให้เจริญขึ้นหรือชูใจหรือปลอบใจ (1 โครินธ์ 14:3) หากคุณได้รับคำเผยพระวจนะที่ทำให้คุณหวาดหวาหรือเครียดขึ้น แสดงว่าคำเผยพระวจนะนั้น อาจมีสิ่งผิดปกติอยู่ ถ้าคำเผยพระวจนะนั้น ไม่ได้ทำให้คุณเจริญขึ้นหรือชูใจหรือปลอบใจ คุณสามารถทิ้งคำเผยพระวจนะนั้นไปจากชีวิตคุณได้เลยครับ บางทีคนที่เผยพระวจนะให้คุณ เขาอาจมีความผิดพลาดบางอย่าง ก็เลยเผยพระวจนะในลักษณะที่ผิดออกมา
อาการ “เครียดเพราะคำเผยพระวจนะ” ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ “เครียดกับการตีความ” บางครั้งถ้าคุณได้รับคำเผยพระวจนะที่เป็นนิมิตหรือภาพ แล้วคุณไม่สามารถตีความหรือรู้ความหมายของนิมิตนั้น คุณก็ควรเก็บคำเผยพระวจนะนั้นไว้ในหัวใจ แล้วทำหัวใจให้สบาย ไม่ต้องไปเครียดว่า สิ่งโน้นสิ่งนั้นเล็งถึงอะไร ถ้าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้ว พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็คงทำให้คุณรู้เองอย่างมั่นใจว่า นิมิตนั้นเล็งถึงอะไร แต่ถ้าวันเวลาผ่านไปนานมากแล้ว แล้วคุณก็ยังไม่รู้ว่า นิมิตนั้นเล็งถึงอะไร คุณก็ไม่จำเป็นต้องทุกข์ใจหรือเครียดไปกับมัน ทำหัวใจให้สบายๆ ถ้าถึงเวลาแล้ว เดี๋ยวพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็นำพาให้คุณรู้อย่างมั่นใจในความหมายของนิมิตนั้นๆเอง แต่สมมติถ้าเวลาผ่านไปนานมากๆ แล้วก็ยังตีความไม่ออก บางทีคุณก็ทิ้งคำเผยพระวจนะนั้นไปได้เลยครับ บางครั้งนิมิตที่คุณได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นของคุณเองหรือมีคนมาเผยพระวจนะให้ ก็อาจไม่ได้มาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็ได้ หลักสำคัญคือ คำเผยพระวจนะหรือนิมิตที่เห็น ไม่ควรทำให้คุณเครียด แต่ควรทำให้คุณก้าวหน้าและมีความสุขขึ้น
อาการ “เครียดเพราะคำเผยพระวจนะ” อีกรูปแบบหนึ่งก็คือ “ความสับสน” บางครั้งเมื่อคุณอยากจะรู้ทิศทางในชีวิตว่าคุณควรจะทำอะไรต่อไปดี แล้วพอคุณได้รับคำเผยพระวจนะมาหลายอัน แต่ปรากฏว่าคำเผยพระวจนะบางอันมีความขัดแย้งกัน ทำให้คุณเกิดความสับสน หากคำเผยพระวจนะทำให้คุณสับสนหรือทำอะไรไม่ถูก แสดงว่ามีบางสิ่งผิดปกติแล้ว การเผยพระวจนะควรจะทำให้คุณสะดวกสบายขึ้นและทำให้คุณเห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ไม่ใช่ทำให้คุณสับสน
หากคุณกำลังสับสนเพราะคำเผยพระวจนะ หรือถ้าคุณไม่แน่ใจว่าคุณควรจะทำอะไรต่อไปดี ผมอยากหนุนใจว่า ให้คุณทำในสิ่งที่หัวใจของคุณปรารถนาและเรียกร้องเลยครับ ในพันธสัญญาใหม่มีหลักสำคัญอย่างหนึ่งคือ “พระเจ้าได้จารึกธรรมบัญญัติของพระองค์ไว้ในหัวใจของผู้เชื่อ” (ฮีบรู 8:10) หลายครั้งสิ่งที่คุณมีภาระใจมากที่สุด หลายครั้งสิ่งที่หัวใจของคุณปรารถนาที่จะทำมากที่สุด ก็คือสิ่งที่พระเจ้าทรงจารึกไว้ในหัวใจของคุณ บางครั้งคุณอาจจะต้องลืมคำเผยพระวจนะไปก่อน แล้วนั่งถามหัวใจของตัวเองว่า “คุณอยากทำอะไรมากที่สุด? จากนั้นคุณก็ทำตามภาระใจนั้นได้เลยครับ ถ้าคำเผยพระวจนะนั้นถูกต้อง หลายครั้งคำเผยพระวจนะนั้นจะสอดคล้องกับภาระใจที่อยู่ในหัวใจของคุณอย่างอัตโนมัติ ถ้าคำเผยพระวจนะนั้นทำให้คุณสับสนหรือทำอะไรไม่ถูก ก็ให้ลืมคำเผยพระวจนะนั้นไปได้เลยครับ แล้วทำตามสิ่งที่หัวใจของคุณเรียกร้อง บางทีคำเผยพระวจนะนั้นอาจจะมีข้อผิดพลาดและไม่ได้มาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็เป็นได้ การดำเนินชีวิตของคนเรา ไม่ควรดำเนินตามคำเผยพระวจนะเพียงอย่างเดียว อย่าให้คำเผยพระวจนะเป็นโรดแมปเพียงหนึ่งเดียวในชีวิต เพราะพระเจ้าไม่ได้ทรงนำชีวิตคุณผ่านคำเผยพระวจนะเพียงอย่างเดียว พระองค์ทรงนำชีวิตคุณผ่านภาระใจในหัวใจของคุณด้วย โรดแมปของคุณควรจะประกอบด้วยภาระใจในหัวใจของคุณโดยมีคำเผยพระวจนะเป็นตัวช่วยให้ทิศทางชัดเจนขึ้น ไม่ใช่ทำให้สับสน

รายละเอียดเกี่ยวกับการทรงนำผ่านความปรารถนาในหัวใจ เพื่อนๆสามารถอ่านได้ในบทความ
พระเจ้าทรงนำผ่านสิ่งที่อยู่ในหัวใจของคุณ!
รู้น้ำพระทัยพระเจ้าผ่านหัวใจ
บางครั้ง ผมก็มีโอกาสได้พูดคุยกับนักธุรกิจคริสเตียนหรืออาจารย์ในโบสถ์อื่นๆที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องการเผยพระวจนะ ผมเห็นว่า พวกเขาบางคนดูมีความสุขกับชีวิตและมีทิศทางในชีวิตที่ชัดเจนกว่าคริสเตียนที่รับคำเผยพระวจนะเสียอีก ทั้งๆที่ตามหลักการแล้ว คนแห่งการเผยพระวจนะควรจะได้เปรียบกว่าคนที่ไม่มีการเผยพระวจนะ คนแห่งการเผยพระวจนะควรจะมีความสุขกับชีวิตและมีทิศทางที่ชัดเจนมากกว่าคนที่ไม่มีการเผยพระวจนะ ถ้าหากคุณมีความเครียดหรือความกังวลในแบบที่คนอื่น(คนที่ไม่มีการเผยพระวจนะ)ไม่มี ก็แสดงว่ามีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว
 กล่าวโดยสรุป คำเผยพระวจนะก็เหมือนเทคโนโลยีที่ควรจะทำให้คนเราเจริญขึ้น มีความสะดวกสบายขึ้น มีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ไม่ใช่ทำให้เราเครียดหรือทุกข์ใจหรือสับสน

พระคุณจงมีแด่ทุกท่าน
Philip Kavilar
คำขอบคุณ
ขอบคุณพระเจ้าสำหรับ พีน้อง O.คำแนะนำของคุณเป็นส่วนหนึ่งของบทความนี้ และเป็นประโยชน์สำหรับผมมาก

หนังสือแนะนำเพิ่มเติม
หนังสือ วิถีชีวิตเหนือธรรมชาติ เขียนโดย คริส แวลโลตัน
หนังสือ Prophets and Personal Prophecy เขียนโดย Bill Hamon
หนังสือ Jesus Came Out of the Tomb So Can You เขียนโดย Harold Eberle

15 มีนาคม 2561

สุขสันต์การเริ่มต้นใหม่ในเดือนนิสาน(Nisan) ปี 5778

Chodesh Tov! สุขสันต์การเริ่มต้นใหม่ในเดือนนิสาน(Nisan) ปี 5778 (ช่วงวันที่ 17 มี.ค.-15 เม.ย.2018)
เดือนนิสาน เป็นเดือนแรกของปีปฏิทินฮีบรู แบบศาสนา(Ecclesiastical Calendar) ซึ่งปีใหม่ของชาวฮีบรูอยู่ในช่วงเดือนที่ 7 ตามปฏิทินแบบราชการ(Civil Calendar)
นิสานจึงเป็นเดือนแรกและเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรใหม่ของการไถ่ของพระยาห์เวห์
เทศกาลปัสกา (Passover)อยู่ในเดือนนี้ซึ่งตรงกับวันที่ 14 ของเดือนนิสาน เป็นช่วงเวลาของการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากสิ่งเก่าก่อน และก้าวเข้าสู่สิ่งใหม่ (เทศกาลปัสกาในปี 2018 เริ่มจากเย็นวันศุกร์ที่ 30 มี.ค. - เย็นวันเสาร์ที่ 7 เม.ย.)
ในเดือนนี้ ให้เราตระหนักถึง “วงจรแห่งการไถ่ของพระยาห์เวห์” และเข้าใจว่าเราสามารถมีประสบการณ์ที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในการปลดปล่อย และการเยียวยารักษาของพระองค์ และนั่นจะทำให้เราสามารถก้าวสูงยิ่งขึ้น ๆ ในองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ เป็นการลงน้ำลึกเพื่อพบอัตลักษณ์ของเรา เพื่อเป็นก้าวกระโดดสู่การอัศจรรย์ในชีวิต
“เดือนนิสาน” หรือที่รู้จักกันว่า “เดือนอาบีบ” (อพย.13:4)
เดือนนี้เกี่ยวข้องกับเผ่ายูดาห์ เผ่ายูดาห์ขึ้นไปสู้รบ ทำสงครามก่อนเผ่าอื่น (วนฉ.1:2,20:18) และยูดาห์ยังเป็นเผ่าแรกของอิสราเอลที่เคลื่อนขบวนทัพเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร (กดว.10:14)
คำว่า “ยูดาห์” หมายถึง “การสรรเสริญ” และเป็นวิถีทางที่จะทำให้มือของเราจับคอของศัตรูไว้ได้ต่อไป(ปฐก.49:8) ให้ทุกสิ่งที่เราทำได้เริ่มต้นขึ้นด้วยท่าทีแห่งการขอบพระคุณและการสรรเสริญพระเจ้า (วนฉ.1:2, 20:18,กดว.10:14,ปฐก. 49:8)
เดือนนี้เป็นเดือนที่ฤดูใบไม้ผลิได้เริ่มต้นขึ้น เป็นการเริ่มต้นของเดือนที่แสงสว่างได้ฉายส่องออกมา (โดยทั่วไปประเทศอิสราเอลในช่วงฤดูหนาวเป็นช่วงเวลาที่มืดมน และไม่น่าชื่นชมยินดี แต่เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิได้เห็นแสงสว่างจากดวงอาทิตย์จะเป็นช่วงเวลาที่สดใสน่ายินดี)
จงป่าวประกาศว่า “ความสว่างของเราจะเริ่มส่องสว่างมากยิ่งขึ้นๆ” (อสย. 60)
ความสว่างยังหมายถึง “การเปิดเผยสำแดง”
จงคาดหวังที่พระเจ้าจะเปิดเผยให้เราทราบถึงวิถีทางและยุทธศาสตร์ในเรื่องต่าง ๆ ที่เราต้องการ(ลก. 2:32)
เดือนแห่งเทศกาลปัสกา เทศกาลปัสกาตั้งไว้เพื่อช่วยเราให้เข้าร่วมในประสบการณ์แห่งความรอดอันยิ่งใหญ่ในองค์พระเยซูคริสต์เจ้า
ในทุกๆ เทศกาลปัสกา ให้เราคาดหวัง การปลดปล่อยในระดับใหม่ อัครทูตเปโตรได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระออกจากคุก (กจ.12 ) จงพิจารณาว่ามีสิ่งใดหรือไม่ที่ดึงรั้งเราไว้? เช่นนิสัยที่ไม่ดีต่างๆ จงเชื่อว่าเราจะได้รับการปลดปล่อย
การสรรเสริญ นมัสการพระเจ้าจะนำมาซึ่งการปลดปล่อยในชีวิต เทศกาลปัสกาเป็นช่วงเวลาของการก้าวข้าม(Passover) อิสราเอลได้ก้าวข้ามทะเลแดง (อพย.15)ก้าวข้ามแม่น้ำจอร์แดน (ยชว.4-5)
จงตระหนักว่าเรากำลังก้าวข้ามไปสู่บางสิ่งที่เป็นสิ่งใหม่ !

12 มีนาคม 2561

รวมบทความเทศกาลปัสกา

ร่วมฉลองเทศกาลปัสกา(Passover) เริ่มเย็นวันศุกร์ที่ 30 มี.ค. - วันเสาร์ที่ 7  เม.ย. 2018
นี้  ผมจึงขอรวบรวมบทความเทศกาลปัสกาที่เคยเขียนไว้ สามารถอ่านได้ตาม Link นี้นะครับ 

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทศกาลปัสกาและอีสเตอร์



   
  

11 มีนาคม 2561

พันธสัญญารักในพิธีแต่งงาน

ในวันที่ 7 เดือน 7 ปี 2017 เป็นการครบรอบ 10 ปีของการแต่งงานของผมและภรรยา

จากวันนั้นจนถึงวันนี้  ขอบคุณพระเจ้าสำหรับ 10 ปี ที่เราได้อยู่ด้วยกันและจะอยู่ด้วยกันต่อไป 


สิ่งที่เป็นปณิธาณสำหรับครอบครัวของเรา มาจากข้อความจากพระธรรม โยชูวา 24:15 ... แต่ส่วนข้าพเจ้าและครอบครัวของข้าพเจ้า เราจะปรนนิบัติพระเจ้า"


ขอบคุณพระเจ้าสำหรับพันธสัญญาแห่งรักนิรันดร์ที่มีให้กับครอบครัวผู้เชื่อแบบเรา


เยเรมีย์ 32:40 เรา​จะ​กระทำ​พันธสัญญา​นิรันดร์​กับ​เขา​ทั้ง​หลาย อัน​ว่า​เรา​จะ​ไม่​หัน​จาก​การ​กระทำ​ความ​ดี​แก่​เขา​ทั้ง​หลาย และ​เรา​จะ​บรรจุ​ความ​ยำเกรง​เรา​ไว้​ใน​ใจ​ของ​เขา​ทั้ง​หลาย เพื่อ​ว่า​เขา​จะ​มิได้​หัน​ไป​จาก​เรา​

"พันธสัญญา"หรือในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า "Covenant" : a compact (because made by passing between pieces of flesh) 

คำว่า Compact  พจนานุกรมให้ความหมายว่า สัญญา ข้อตกลง
หรืออีกคำคือคำว่า "Testament " ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ คำว่า διαθήκη -ดีอาเธเก้  ให้นิยามหมายถึงคำว่า "พันธสัญญา"และคำว่า"พินัยกรรม"อีกด้วย  


คำว่า "พินัยกรรม" เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะคำนี้หมายถึง หนังสือที่เจ้าของมรดกได้ทำขึ้นไว้ เพื่อแสดงเจตนาว่าเมื่อตนตายไปแล้วต้องการให้ทรัพย์สินต่างๆ ตกเป็นของใคร โดยพินัยกรรมจะมีผลก็ต่อเมื่อเจ้าของมรดกได้ตายไปแล้ว ทั้งนี้กฎหมายได้กำหนดให้พินัยกรรมต้องทำตามแบบ หากไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดพินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะหรือโมฆียะ

ความหมายของคำว่าโมฆะ และโมฆียะ

โมฆะ คือ นิติกรรมที่ตกเป็นอันเสียเปล่า ใช้บังคับไม่ได้ไม่เกิดผลในทางกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้น
 
โมฆียะคือ นิติกรรมที่เมื่อทำขึ้นแล้วมีผลผูกพันกันได้ตามกฎหมาย แต่ก็อาจถูกบอกล้างได้ในภายหลัง

ด้วยเหตุนี้เอง พระเยซูคริสต์ทรงมาตายเพื่อเราจะได้รับชีวิต เพื่อทำให้กฏบัญญัติแห่งความตายเป็นโมฆะ ความเชื่อในพระราชกิจแห่งการไถ่นี้เองเป็นเงือนไขที่ทำให้เราได้รับมรดกนี้พระคัมภีร์จึงเป็นดั่งพินัยกรรมบอกถึงคำสัญญาที่พระเจ้าทรงเขียนให้เราได้ทราบถึงมรดกที่เราจะได้รับ เราเป็นทายาทที่จะรับมรดกของพระเจ้า

พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม(Old Testament)เป็นเงาที่เล็งถึงพินัยกรรมใหม่ที่พระเยซูคริสต์ทรงทำพันธสัญญาใหม่(New Testament)


อิสยาห์ 28:18 แล้วพันธสัญญาของเจ้ากับความตายเป็นโมฆะ และข้อตกลงของเจ้ากับแดนคนตายจะไม่ดำรง เมื่อภัยพิบัติอันท่วมท้นผ่านไป เจ้าจะถูกเหยียบย่ำลงด้วยโทษนั้น

เอเฟซัส 2:15 คือการเป็นปฏิปักษ์กัน โดยในเนื้อหนังของพระองค์ ได้ทรงให้ธรรมบัญญัติอันประกอบด้วยบทบัญญัติและกฎหมายต่างๆนั้นเป็นโมฆะ เพื่อจะกระทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นคนใหม่คนเดียวในพระองค์ เช่นนั้นแหละ จึงทรงกระทำให้เกิดสันติสุข



เราจะต้องทำความเข้าใจว่า “พันธสัญญา” คืออะไรและอะไรไม่ใช่พันธสัญญา ชุมชนคริสเตียนในโลกมักจะสับสนกับคำว่า“พันธสัญญา” กับคำว่า “สัญญา”

การทำ “สัญญา” นั้นเป็นการกระทำระหว่างคนที่มีการตกลงร่วมกันและต้องใช้ความพยายาม
ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุข้อตกลงในที่สุด ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ทำตาม
ข้อตกลงนั้น สัญญานั้นก็จะขาดลงและอีกฝ่ายก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ท่าทีที่อยู่เบื้องหลังสัญญานี้คือ “ถ้าคุณทำอย่างนี้ให้ฉัน ฉันก็จะทำอย่างนั้นเป็นการตอบแทน”

ความสัมพันธ์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องของข้อแม้ และเป็นเพียงชั่วคราว จนกว่าสัญญานั้นจะสำเร็จหรือขาดลง  สัญญามักจะทำในฐานะของผู้ทำสัญญามีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

สำหรับงานแต่งงานของคนยิว  เมื่อหนุ่มสาวประสงค์จะแต่งงานแล้ว จะต้องทำสัญญาแต่งงาน หรือ 

เคทุบาห์ (Ketubah) ก่อนวันสมรส ด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายเพื่อย้ำเตือนถึงภาระผูกพันที่หนุ่มสาวจะต้องปฏิบัติต่อกันภายหลังแต่งงาน การจัดการทรัพย์สินมรดก รวมไปถึงภาระหน้าที่เลี้ยงดูบุตร และภาระหน้าที่ต่อบุตรเมื่อมีการหย่าร้างเกิดขึ้น การเซ็นต์สัญญาแต่งงานนี้ต้องมีพยานเซ็นด้วย 2 คน

จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการแต่งงานซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ พิธีหมั้น หรือ ชิดดุคิน (Shiddukhin) และพิธีแต่งงาน หรือ นิสสุอิน (Nisuin) ซึ่งประเพณีแต่เดิมของชาวยิวระบุให้ต้องทิ้งช่วงห่างนาน 1 ปี ระหว่างพิธีหมั้นและพิธีแต่งงาน ทว่าปัจจุบันนี้มีชาวยิวจำนวนไม่น้อยที่รวบรัดเวลาโดยจัดพิธีหมั้นและงานแต่งงานติดต่อกันในวันเดียว

ในพิธีแต่งงานนอกจากจะมีการเซ็นสัญญาแต่งงาน หรือเคทุบาห์แล้ว สิ่งที่ต้องมีอีกคือการให้แหวน แต่เป็นการให้แหวนโดยเจ้าบ่าวสวมแหวนให้แก่เจ้าสาวฝ่ายเดียว แต่งานแต่งงานบางงานที่หรูหรามากก็ให้มีการให้เจ้าสาวสวมแหวนแก่เจ้าบ่าวด้วย
นอกจากนี้ก็ยังมีการอวยพรจากรับไบด้วยคำจากคัมภีร์ เป็นภาษาอาราเมค พิธีการคลุมผ้าชุปป้า (chuppa) เป็นการคลุมผ้าแก่บ่าวสาวด้วยผ้าขาวผืนเดียวกัน มีความหมายว่าบัดนี้ทั้งสองอยู่ในท้องฟ้าเดียวกันแล้ว แล้วก็ให้ดื่มไวน์

และท้ายสุดก็มีการให้เจ้าบ่าว "เหยียบแก้วให้แตก" พิธีการให้เจ้าบ่าวเหยียบแก้วให้แตกในพิธีแต่งงานของยิวนั้น มีการพูดกันมากว่ามีความหมายอะไรกันแน่ บ้างก็ว่าเป็นการสอนให้คิดถึงการที่กรุงเยรูซาเล็มแตกในประวัติศาสตร์ แต่ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นการสอนให้เห็นว่า ชีวิตนั้นช่างเปราะบางและแสนสั้น ฉะนั้นจงทำให้ชีวิตแต่งงานมีความสุข


เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์กรุงเยรูซาเล็มแตก พระวิหารถูกทำลายในประวัติศาสตร์
ความหมายในชีวิตแต่งงานหมายถึง ชีวิตครอบครัวนั้นเปราะบาง ต้องทะนุถนอม ดังนั้นจงทำให้ชีวิตแต่งงานมีความสุข

หลังจากนั้นแขกที่มาร่วมงานแต่งงานจะร้องตะโกนร่วมแสดงความยินดีว่า " มาเซิล โทว์” ( מזל טוב -Mazel tov) หมายถึง "โชคดีนะ ขอให้พบเจอสิ่งที่ดีงามในชีวิตครอบครัว" จากนั้นก็เป็นงานรื่นเริง
ในขณะที่พิธีการงานแต่งงาน คือ พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของคนยิว การหย่าร้างเป็นเรื่องที่น่าโศกเศร้าที่สุดของคนยิว ทั้งนี้เพราะ "พระยาห์เวห์ พระเจ้าของอิสราเอลทรงเกลียดชังการหย่าร้าง..." ตามถ้อยคำจากพระธรรมมาลาคี 2:16

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนยิวจะมองการหย่าร้างเป็นเสมือนสิ่งต้องห้าม แต่ทว่าปัจจุบันการหย่าร้างสามารถทำได้ตามกฎหมาย เมื่อปรากฏชัดว่าคู่สามี – ภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายไม่ปฏิบัติตาม คำสัญญาการแต่งงาน หรือ เคทุบาห์ ที่ได้ให้แก่กันไว้ในพิธีแต่งงาน

การหย่าร้างของคนยิว ต้องเข้ารับการพิจารณาโดยศาลเบ็ธดิน ( בית דין Beth Din) (house of judgement) ซึ่งประกอบด้วยรับบี ที่มีความรู้ด้านการแต่งงานและหย่าร้างจำนวน 3 คนเพื่อพิจารณาการหย่าร้างดังกล่าวตามพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติบทที่ 24

07 มีนาคม 2561

การวางมือ และ การเดินผ่านรูปเคารพ


ในพันธสัญญาเดิม เมื่อสิ่งบริสุทธิ์ปะทะกับสิ่งมลทิน สิ่งบริสุทธิ์ก็จะเสียความบริสุทธิ์และพลอยมลทินไปด้วย ในพันธสัญญาเดิมได้พูดถึงการห้ามแตะสิ่งไม่สะอาดและห้ามสัมผัสคนที่เป็นโรคเรื้อน เพราะถ้ามนุษย์แตะต้องสิ่งไม่สะอาดเมื่อไร มนุษย์ก็จะพลอยได้รับมลทินตามไปด้วย

ในพันธสัญญาใหม่ แนวคิดเรื่องความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่กลับกันกับพันธสัญญาเดิม ถ้าสิ่งบริสุทธิ์ปะทะกับสิ่งมลทิน สิ่งมลทินก็จะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ เมื่อพระเยซูได้สัมผัสคนโรคเรื้อน ความบริสุทธิ์และฤทธิ์เดชจากพระเยซูได้แผ่ขยายไปจนทำให้คนที่เป็นโรคเรื้อนได้รับการรักษาและได้รับความบริสุทธิ์

(ลก.5:13) พระ​องค์​จึง​ยื่น​พระ​หัตถ์​แตะ​ต้อง​เขา​แล้ว​ตรัส​ว่า “เรา​เต็ม​ใจ จง​หาย​สะอาด​เถิด” ทัน​ใด​นั้น​โรค​เรื้อน​ของ​เขา​ก็​หาย

กรอบความคิดแบบพันธสัญญาเดิม
ความมลทินแผ่ขยายสู่สิ่งบริสุทธิ์
 
                   
กรอบความคิดแบบพันธสัญญาใหม่
ความบริสุทธิ์แผ่ขยายสู่สิ่งมลทิน

















ในการดำเนินชีวิต บางครั้งพวกเราก็พบกับบางสิ่งหรือบางระบบที่ดูจะไม่สะอาด บางคนก็กลัวว่าความไม่สะอาดหรือมลทินเหล่านี้จะแผ่ขยายมาสู่เขา ความกล้าหาญในการดำเนินชีวิตและการปฏิรูปสังคมจึงขาดไป ความกลัวที่เกิดขึ้นนี้เป็นโลกทัศน์แบบพันธสัญญาเดิม ทว่าบัดนี้พวกเราอยู่ในพันธสัญญาใหม่แล้ว ดังนั้นให้พวกเรามีความเข้าใจว่าความบริสุทธิ์และฤทธิ์เดชของพระเจ้าที่อยู่บนพวกเราจะแผ่ขยายไปยังสรรพสิ่งทั้งวัตถุต่างๆและสังคมโดยรอบ ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่อยู่ในพวกเราจะนำพาให้สรรพสิ่งรอบกายพวกเราได้รับชีวิตและความบริสุทธิ์


(ยน.7:37-38) ใน​วัน​สุด​ท้าย​ของ​งาน​เทศ​กาล ซึ่ง​เป็น​วัน​ยิ่ง​ใหญ่​นั้น พระ​เยซู​ทรง​ยืน​ขึ้น​และ​ทรง​ประ​กาศ​ว่า “ถ้า​ใคร​กระ​หาย ให้​คน​นั้น​มา​หา​เรา ​และ​ให้​คน​ที่​วาง​ใจ​ใน​เรา​ดื่ม ตาม​ที่​มี​คำ​เขียน​ไว้​แล้ว​ว่า ‘แม่​น้ำ​ที่​มี​น้ำ​ดำ​รง​ชีวิต​จะ​ไหล​ออก​มา​จาก​ภาย​ใน​คน​นั้น’ ”

แม่น้ำแห่งชีวิตจะไหลผ่านจากภายในของพวกเรา และหล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง!

มีคำสอนหนึ่งที่สอนว่าพวกเราไม่ควรรับการวางมือจากพี่น้องอย่างซี้ซั้ว เพราะถ้าพวกเรารับการวางมือจากพี่น้องที่มีชีวิตไม่บริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์ของเขาจะถ่ายโอนมายังพวกเรา ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับคำสอนนี้นัก ส่วนตัวผมเข้าใจว่าถ้าพี่น้องคนอื่นมีสิ่งไม่สะอาดอยู่บนตัวเขา แล้วถ้าเขามาสัมผัสกับผม ความไม่สะอาดที่อยู่บนเขาจะไม่ถ่ายโอนมายังผม แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ที่อยู่ในผมจะถ่ายเทชีวิตและความบริสุทธิ์ไปยังเขาต่างหาก กรอบความคิดของพันธสัญญาใหม่คือการส่งผ่านความบริสุทธิ์ออกไปเรื่อยๆ ในพันธสัญญาใหม่ ความมลทินจะพ่ายแพ้ต่อความบริสุทธิ์

(1 ทธ. 5:22) อย่ารีบวางมือแต่งตั้งใคร และอย่ามีส่วนร่วมในบาปของคนอื่นเลย จงรักษาตัวให้บริสุทธิ์

เปาโลแนะนำทิโมธีว่าอย่ารีบวางมือแต่งตั้งใคร ดังนั้นการวางมือในข้อพระคัมภีร์นี้หมายถึงการวางมือเพื่อแต่งตั้งไม่ใช่การวางมือเพื่ออธิษฐานเผื่อ เวลาอธิษฐานเผื่อกัน พวกเราสามารถวางมือให้กันและกันได้ สายธารแห่งชีวิตและความบริสุทธิ์ของพระวิญญาณที่อยู่ภายในแต่ละคนก็จะแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆผ่านการสัมผัสและการวางมือ

ความบาปและสิ่งไม่สะอาดไม่ได้ถ่ายทอดผ่านการสัมผัส ความบาปและสิ่งไม่สะอาดถ่ายทอดผ่านการมีส่วนร่วมในบาปของคนอื่น (1 ทธ. 5:22) ถ้าคนไม่เชื่อที่ข้องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ได้สัมผัสพวกเรา พวกเราไม่จำเป็นต้องกลัวว่าสิ่งชั่วร้ายจะถ่ายเทเข้ามาสู่พวกเรา แต่ให้พวกเรามีความเชื่อว่าพระวิญญาณที่อยู่ในพวกเราจะส่งผ่านความบริสุทธิ์ไปยังคนเหล่านั้น พระวิญญาณที่อยู่ในพวกเราเป็นใหญ่กว่าพระเทียมเท็จของผู้อื่น ยิ่งถ้าพวกเรามีความเชื่อมากขึ้น ความบริสุทธิ์ก็จะยิ่งแผ่ขยายไปได้มากขึ้น

(1ยน. 4:4) ลูกทั้งหลายเอ๋ย ท่านอยู่ฝ่ายพระเจ้า และชนะพวกเขาแล้ว เพราะว่าพระองค์ผู้ทรงอยู่ในพวกท่านยิ่งใหญ่กว่าผู้ที่อยู่ในโลก

บางคนที่รู้เรื่องสงครามฝ่ายวิญญาณมีความกลัวในการเดินผ่านวิหารของพระเทียมเท็จหรือบางทีก็กลัวรูปเคารพ หรือบางทีก็กลัวว่าวิญญาณชั่วจากสิ่งเหล่านี้จะกระโจนเข้าใส่เขา ความกลัวลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้เรื่องสงครามฝ่ายวิญญาณ แท้จริงแล้วพระวิญญาณของพระเจ้าที่อยู่ภายในพวกเราเป็นใหญ่กว่าวิญญาณชั่วในทุกระดับ ที่จริงพวกเราไม่ควรกลัววิญญาณชั่ว แต่วิญญาณชั่วต่างหากที่ควรกลัวพวกเรา เมื่อพวกเราเดินผ่านวิหารของพระเทียมเท็จหรือเดินผ่านรูปเคารพ พวกเราไม่จำเป็นต้องกลัวว่าสิ่งไม่สะอาดจะถ่ายโอนเข้าสู่ตัวพวกเรา แต่พวกเราควรจะมีความเชื่อว่าความบริสุทธิ์ของพระวิญญาณที่อยู่ในพวกเราต่างหากที่จะแผ่ขยายออกไป

อย่างไรก็ตามแม้ว่าพระวิญญาณที่อยู่ในพวกเราจะใหญ่กว่าวิญญาณชั่วในทุกระดับ ทว่าพวกเราก็ไม่ควรรีบด่วนทำสงครามฝ่ายวิญญาณในระดับสูง สงครามฝ่ายวิญญาณในระดับสูงหมายถึงการปะทะกับเทพผู้ครองหรือศักดิเทพ การผูกมัดหรือการทำลายป้อมปราการของเทพผู้ครองควรจะทำเมื่อแน่ใจถึงของการทรงนำของพระวิญญาณก่อน เพราะนี่เป็นสงครามที่มีความรุนแรง ทว่าเวลาที่พวกเราต้องเดินผ่านวิหารของพระเทียมเท็จหรือต้องเดินผ่านรูปเคารพ พวกเราไม่จำเป็นต้องกลัวว่าสิ่งไม่สะอาดจะถ่ายเทเข้าสู่ตัวพวกเรา แต่ความบริสุทธิ์ของพระวิญญาณที่อยู่ในตัวพวกเราต่างหากที่จะถูกถ่ายเทออกไป


พระคุณจงมีแด่ทุกท่าน

Philip Kavilar