13 กุมภาพันธ์ 2563

คำอธิษฐานสองคำเพื่อการฟื้นฟู

คำอธิษฐานสองคำเพื่อการฟื้นฟู  โดย อาเชอร์ อินเทรเตอร์

ผมได้ค้นพบคำอธิษฐานสองคำที่น่าทึ่งและมีศักยภาพในการนำการฟื้นฟูระดับชาติเมื่อประเทศกำลังจะเกิดการฟื้นฟูครั้งใหญ่ คริสตจักรและพันธกิจต่างๆจะทยอยเกิดความสำเร็จมาเป็นลำดับ  จำนวนคนที่เข้ามาเติบโตขึ้น มีการถวายทรัพย์เข้ามามากขึ้น ผู้นำฝ่ายวิญญาณเริ่มเป็นที่รู้จัก มีอิทธิพล บางคนก็มั่งคั่งและมีชื่อเสียงด้วยซ้ำ
พระพรในระดับนี้ช่วยคริสตจักร (Ecclesia) ให้มีเครื่องมือที่สามารถส่งผลกระทบไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ นี่เป็นขั้นตอนที่จำเป็น เช่นเดียวกับสตรีที่ครบกำหนดคลอด แต่ภายในความสำเร็จเหล่านี้ก็แฝงด้วยอุปสรรคที่สามารถขัดขวาง และถึงขั้นหยุดยั้งการเติบโตของอาณาจักรของพระเจ้าได้
 สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มาพร้อมกับพระพรอันมากมาย ก็คือการล่อลวงให้หันหลังต่อพระเจ้าหรือไปจดจ่อแต่กับพระพร ผู้คนสามารถที่จะเริ่มขี้เกียจ  ฝักใฝ่แต่กับเนื้อหนังและความบันเทิง โลภ เย่อหยิ่ง และกบฏ โมเสสอ้างถึงกลุ่มอาการของโรคนี้ว่า “เยชูรูนอ้วนพีขึ้นแล้วก็มีพยศ” – וישמן ישורון ויבעט – เฉลยธรรมบัญญัติ 32:15
การล่อลวงทางโลกนั้นอันตรายสำหรับมนุษย์ทุกคน แต่มีอันตรายสองประการที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้นำฝ่ายวิญญาณคือ:  ความอิจฉาริษยาและการแข่งขัน
ฟิลิปปี 1:15 จริงอยู่ที่มีบางคนประกาศพระคริสต์ด้วยความอิจฉาและการวิวาท แต่ก็มีบางคนที่ประกาศด้วยเจตนาดี
ผู้นำฝ่ายวิญญาณสามารถพยายามทำดีเหนือผู้นำคนอื่นๆ แทนที่จะทำงานร่วมกันเพื่อนำการฟื้นฟูมาสู่คนทั้งประเทศ พวกเขาเริ่มที่จะต่อสู้กันเอง แทนที่จะแสวงหาเขตแดนใหม่และนำคนใหม่ๆให้ได้สัมผัสกับอาณาจักรของพระเจ้า พวกเขากลายเป็นปกป้องทรัพยากรและความสำเร็จของตนเอง
 ความอิจฉาริษยาและการแข่งขันจึงนำไปสู่ผู้นำที่พูดในทางลบเกี่ยวกับกันและกัน หรือการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นเพื่อเปรียบเทียบให้ตัวเองดูดี ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พวกเขาก็คือสาปแช่งซึ่งกันและกันโดยไม่รู้ตัว ภายใต้หน้ากากของ “การแยกแยะฝ่ายวิญญาณ” และ “การตักเตือนฝูงแกะ” สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความแตกแยกและทำลายซึ่งกันและกันท่ามกลางประชากรของพระเจ้า
เมื่อเปาโลเขียนเรื่องนี้ เขาอยู่ในคุก งานทั้งหมดที่เขาทำถูกคนอื่นเข้ามาครอบครอง (บางคนมีเจตนาดีและบางคนไม่) บางคนเริ่มมีชื่อเสียงและพูดไม่ดีเกี่ยวกับเขา เขาโดดเดี่ยวและทนทุกข์ อย่างไรก็ตามแทนที่จะมองที่ปัญหา เขาเลือกที่จะมองเห็นพระพรในนั้
 ฟิลิปปี 1:18 แล้วไง ไม่ว่าจะประกาศด้วยการเสแสร้งหรือด้วยความจริงใจ พระคริสต์ก็ถูกประกาศไปในทุกที่ เรื่องนี้แหละที่ทำให้ข้าพเจ้ายินดี และข้าพเจ้ายังจะมีความยินดีต่อไปด้วย
นั่นไงล่ะ คำอธิษฐานสองคำที่สามารถนำการฟื้นฟูระดับชาติ: “แล้วไง!” หากผู้นำทั้งหมดจะไม่สนใจความรู้สึกอิจฉาและการแข่งขันต่อกัน และเพียงแค่ชื่นชมยินดีว่างานของคนอื่นกำลังเติบโตและส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก อาณาจักรของพระเจ้าก็จะสามารถรุดไปข้างหน้า
การชำระหัวใจให้บริสุทธิ์เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้นำฝ่ายวิญญาณทุกคน เปาโลจัดการกับเรื่องนี้เกี่ยวกับอปอลโล (1 โครินธ์ 3) เปโตรต้องรับมือกับเรื่องนี้สำหรับตัวเค้าเองเกี่ยวกับยอห์น (พระเยซูท้าทายเปโตรไม่ให้เปรียบเทียบตัวเองกับยอห์น ถึงแม้พระองค์จะขอให้เปโตรถูกตรึงที่กางเขนและให้ยอห์นมีชีวิตอยู่ตลอดไป – ยอห์น 21)
ผมได้เห็นการท้าทายนี้ในเกือบทุกประเทศที่งานของพระเจ้ากำลังเติบโตและได้รับการอวยพร - สหรัฐอเมริกา, ตะวันออกไกล, แอฟริกา, บราซิล, ยุโรปและที่นี่ในอิสราเอล สิ่งนี้ที่ดูเหมือนว่าจะผ่านไปไม่ได้ แต่ด้วยพระคุณของพระเจ้าก็สามารถเอาชนะได้  ให้เราละทิ้งความอิจฉาริษยาและการแข่งขันทั้งหมด ให้เราอธิษฐานเผื่องานของกลุ่มอื่นๆให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ให้เราเห็นกันและกันว่าเป็นครอบครัวแห่งความเชื่อ แม้ว่าเราจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
 เมื่อดูเหมือนว่าคนอื่นจะเติบโตมากกว่าคุณ? แล้วไง! ตราบที่มีผู้คนมากขึ้นได้มาสัมผัสถึงความรักของพระเจ้า นั่นก็คือยอดเยี่ยมมาก!  เมื่อคนอื่นมารับความชอบจากงานที่คุณทำ? เมื่อมีคนรับใช้ด้วยความทะเยอทะยานที่เห็นแก่ตัว? แล้วไง! ให้เราวางการเปรียบเทียบทั้งหมดลง เมื่อคนหนึ่งได้รับพระพร เราทุกคนก็ได้รับพรเช่นกัน เราเป็นครอบครัวเดียวกัน
ให้เราใช้คำอธิษฐานสองคำที่น่าทึ่งนี้ เพื่อชัยชนะเหนือการแข่งขันและความอิจฉาริษยา “แล้วไง!”
และให้การฟื้นฟูเริ่มได้เลย
ข้อมูลโดย https://www.reviveisrael.org/

05 กุมภาพันธ์ 2563

ความเข้าใจผิดเรื่องรักแบบ "อากาเป้"

ความเข้าใจผิดเรื่องรักแบบ "อากาเป้" 

เมื่อหลายปีก่อน มีนักวิชาการท่านหนึ่งได้เขียนอธิบายถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรักในภาษากรีก ซึ่งผมคิดเห็นว่า บทความของนักวิชาการท่านนี้ให้ข้อเท็จจริงทางวิชาการที่ยอดเยี่ยมทีเดียว ผมจึงขอเชื้อเชิญเพื่อนๆอ่านบทความนี้ครับ - Brother Philip



ความเข้าใจผิดเรื่องรักแบบ "อากาเป้" 
(ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์)
คริสตชนถูกสอนต่อๆกันมายาวนานว่า คำว่ารักในภาษากรีกมี 4 คำ ซึ่งหมายถึงความรัก 4 แบบแตกต่างกัน อันได้แก่คำว่า 1.เอโรส 2.สเตอร์เก 3.ฟีเล่ย์ 4.อากาเป้ แล้วก็อธิบายว่า 


อีรอส (eros) เป็นความรักของชายหญิงที่มีความใคร่รวมอยู่ด้วย เป็นความรักที่เห็นแก่ตัว


สเตอร์เก (storge) เป็นความรักผูกพัน เหมือนกับรักทางสายเลือด เช่นความรักระหว่าง พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง หรือญาติ


ฟีเลีย หรือ ฟิเลโอ (philia หรือ phileo) เป็นความรักผูกพันที่อบอุ่นแบบสามีภรรยา ทะนุถนอมกัน


แล้วก็มาถึงคำว่ารักแบบสุดท้ายคือ คำว่า "อากาเป้" หรือ อากาเปา (agape, agapao) โดยบอกว่าเป็นรักบริสุทธิ์ รักที่ยิ่งใหญ่ รักที่ไม่มีข้อแม้ แล้วก็มักอธิบายต่อว่า พระคัมภีร์ใช้คำว่า อากาเป้ กับพระเจ้าเท่านั้น หมายความว่า รักแบบของพระเจ้าคือรักแบบอากาเป้ และคริสตชนต้องรักกันด้วยความรักแบบอากาเป้
ที่จริงแล้ว ความเข้าใจเหล่านี้ไม่ถูกต้องใน 4 ประเด็นด้วยกัน


ประการแรก คือ คำกรีกที่มีความหมายถึงการ "รัก" มีมากกว่า 4 คำแน่นอน เช่นยังมีคำว่า
ลูดัส (ludus) หมายถึง ความรักแบบเล่นๆ สนุกสนาน ความรักแบบเด็กๆ
แพร็กม่า (pragma) หมายถึง ความรักที่ยาวนาน เหมือนกับความรักของคู่สามีภรรยาที่อยู่กันจนแก่เฒ่า ฟิลัวเทีย (philuatia) หมายถึงความรักตัวเอง หมายถึงได้ทั้ง การหลงตัว และการสงสารตัวเอง และยังมีคำอื่นอีก


ประเด็นที่สองคือ คำว่าความรักที่พระเจ้าใช้ ตามที่ปรากฎในพระคัมภีร์นั้น ไม่ได้ใช้แต่คำว่า อากาเป้ เท่านั้น ยังมีการใช้คำว่า ฟีเลีย ด้วย มาดูตัวอย่างกัน


ตัวอย่างเช่น ในขณะที่พระธรรมยอห์น 3:16 ที่บอกว่า "เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก" คำว่ารักตรงนี้ใช้คำกรีก อากาเปา (agapao) หรือก็คือ อากาเป้ (agape) นั่นเอง แต่มีปรากฎอย่างน้อย 4 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีก ที่ใช้คำว่ารัก-ฟีเลีย กับพระเจ้า


ยอห์น 5:20 ที่บอกว่า "เพราะว่าพระบิดาทรงรักพระบุตรและทรงแสดงให้พระบุตรเห็นทุกสิ่งที่พระองค์ทรงทำ..."
คำว่า "รัก" ของ "พระบิดา" หรือพระเจ้า ตรงนี้ใช้ ฟิเลโอ (phileo) หรือ ฟิเลีย


ยอห์น 16:27 ก็บอกว่า "เพราะว่าพระบิดาเองก็ทรงรักพวกท่าน เพราะท่านรักเราและเชื่อว่าเรามาจากพระเจ้า"
คำว่า "รัก" ทั้งสองคำนี้ซึ่งเป็นรักของพระบิดา และของมนุษย์ เป็นคำว่า ฟีเลโอ หรือฟีเลีย


วิวรณ์ 3:19 "เรารักใครเราก็ตักเตือนและตีสอนเขา..."
คำว่า "เรา" ตรงนี้หมายถึงพระเยซูคริสต์ผู้ทรงสถานภาพพระเจ้า และ "รัก" ข้อนี้ใช้คำว่า ฟิเลโอ หรือ ฟีเลีย


ทิตัส 3:4 "แต่เมื่อความดีเลิศและความรักของพระเจ้า พระผู้ช่วยให้รอดของเรามาปรากฏ"
คำว่า "ความรัก" ตรงนี้ใช้คำว่า philantropia เป็นความรักในมนุษย์ รากศัพท์ก็มาจาก ฟิเลโอ หรือฟีเลีย


สรุปก็คือ คำว่าความรักในภาษากรีกที่ใช้หมายถึงความรักของพระเจ้า ไม่ได้มีแต่คำว่า อากาเป้ เท่านั้น แต่ใช้คำว่า ฟีเลีย ด้วย มาดูความเข้าใจผิดต่ออีกสองประการ

ความเข้าใจผิดประการที่สาม คำว่า อากาเป้ ก็ไม่ได้ใช้กับพระเจ้าเท่านั้น ยังมีการใช้กับมนุษย์ด้วย เช่น ยอห์น 3:19 ที่บอกว่า "...มนุษย์รักความมืดมากกว่าความสว่าง เพราะกิจการของพวกเขาเลวทราม"
คำว่า "รัก" ในข้อนี้ เป็นการรักของมนุษย์ แต่คำว่า "รัก" ตรงนี้ใช้คำกรีก อากาเปา (agapao) หรือ อากาเป้


และความเข้าใจผิดประการสุดท้าย ประการที่สี่ คำว่า อากาเป้ ไม่ได้ใช้กับความหมายในด้านดีเท่านั้น แต่ใช้ในความหมายที่ไม่ดีด้วย เช่นในยอห์น 3:19 ที่บอกว่า "...มนุษย์รักความมืดมากกว่าความสว่าง เพราะกิจการของพวกเขาเลวทราม" คำว่า "รัก" ในข้อนี้ เป็นการรักของมนุษย์ และเป็นการรัก "ความมืด" ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่คำว่า "รัก" ตรงนี้ใช้คำกรีก อากาเปา (agapao) หรือ อากาเป้ นั่นเอง


ยอห์น 12:43 "เพราะว่าพวกเขารักการชมของมนุษย์ มากกว่าการชมของพระเจ้า"
รักตรงนี้ใช้คำว่า อากาเปา หรือ อากาเป้


2 เปโตร 2:15 "บาลาอัมบุตรโบโซร์ ผู้ซึ่งโปรดปรานสินจ้างที่ได้มาจากการอธรรม"
คำว่า "โปรดปราน" ตรงนี้ในภาษากรีกก็คือคำว่า รัก อากาเปา หรือ อากาเป้


2 ทิโมธี 4:10 "เพราะว่าเดมาสหลงรักโลกนี้ และทิ้งข้าพเจ้าไปยังเมืองเธสะโลนิกาแล้ว"
รักตรงนี้คือ อากาเปา หรือ อากาเป้


ฉะนั้น โปรดอย่าเข้าใจคำว่า "อากาเป้" ผิด หรือให้ความหมายสูงส่งจนเกินข้อเท็จจริง

ความรักในภาษาฮีบรู

ความรักในภาษาฮีบรู
ภาษาฮีบรู ภาษาแรกของโลก
ภาษาฮีบรูถือเป็นภาษาที่สำคัญมากๆในการศึกษาพระคัมภีร์ ตามตำนานของชาวยิวแล้ว ภาษาฮีบรูถือเป็นภาษาแรกเริ่มของโลก และเป็นภาษาที่อาดัมกับภรรยาของเขาใช้สนทนากับพระเจ้าที่เอเดน ทว่าหลังจากเหตุการณ์ที่หอบาเบล มนุษยชาติจึงเกิดมีภาษาที่หลากหลาย
แม้ว่าพันธสัญญาใหม่อาจจะเขียนด้วยภาษากรีก แต่การศึกษาพระคัมภีร์เชิงลึกนั้น ก็ควรจะศึกษาจากภาษาฮีบรูและภาษาอาราเมกด้วย บางครั้งการแปลถ้อยคำจากภาษากรีกมาเป็นภาษาฮีบรู ก็มีส่วนช่วยให้การศึกษาพระคัมภีร์มีความละเอียดรอบคอบขึ้น
ในข่าวสารนี้ ผมจึงอยากอธิบายความหมายของ “ความรัก” ในศัพท์ของภาษาฮีบรู ซึ่ง ความรัก ในภาษาฮีบรูจะมีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากคำว่า อากาเป้ ในภาษากรีก
ความรักแบบฮีบรู
ในภาษาฮีบรู คำว่า “ความรัก” ก็มีศัพท์อยู่หลากหลาย แต่มีคำศัพท์อยู่สองคำที่ผมอยากจะเน้นในข่าวสารนี้ ศัพท์คำแรกคือคำว่า Ahav ส่วนศัพท์คำที่สองคือคำว่า Kesed
คำว่า Ahav ได้แปลเป็นภาษาไทยว่า ความรัก ซึ่งเป็นความรักในกรณีทั่วๆไป
ส่วน Kesed แปลเป็นภาษาไทยว่า ความรักมั่นคง ซึ่งเป็นความรักในกรณีพิเศษ
เข้าใจคำว่า Kesed
ความรักมั่นคง หรือ Kesed เป็นความรักในลักษณะที่ว่า ผู้ให้ ได้ตัดสินใจและทำพันธสัญญากับ ผู้รับ ซึ่งภายหลังจากการทำพันธสัญญา ผู้ให้จะรักผู้รับอย่างเสมอไป ผู้ให้จะรักผู้รับอย่างมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าอนาคตผู้รับอาจจะแปรเปลี่ยนไป แต่ผู้ให้ก็ยังคงเลือกที่จะรักผู้รับต่อไป นอกจากนี้ผู้ให้ก็จะผูกพันและอุทิศตัวต่อผู้รับ ทั้งยังมีความภักดีต่อผู้รับ แม้ว่าในอนาคตผู้ให้จะได้พบเจอบุคคลที่ประเสริฐกว่าผู้รับ แต่ผู้ให้ก็ยังคงรักผู้รับ และจะอุทิศตัวและใกล้ชิดกับผู้รับต่อไปโดยไม่หันเหหัวใจไปยังบุคคลอื่น
ในพระคัมภีร์ คำว่า ความรักมั่นคง เป็นศัพท์ที่ผูกกับคำว่า พันธสัญญา
ข้อสังเกตจากพระคัมภีร์  
จริงอยู่ที่พระคัมภีร์เขียนว่า พระเจ้าเป็นความรัก(Ahav) แต่ในพระคัมภีร์พระเจ้าไม่ได้มีความรักมั่นคง(Kesed)กับมนุษย์ทุกคน ในพระคัมภีร์พระเจ้าทรงมีความรักมั่นคงเฉพาะผู้ที่พระองค์ทรงทำพันธสัญญาด้วยเท่านั้น ตลอดพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม แม้จะมีประชาชาติอยู่หลากหลาย แต่อิสราเอลถือเป็นประชาชาติเดียวที่พระเจ้าทรงมีความรักมั่นคง เพราะอิสราเอลเป็นประชาชาติที่พระเจ้าทรงทำพันธสัญญาด้วย อิสราเอลทรงเป็นประชาชาติเดียวที่พระเจ้าทรงอุทิศตัวและทุ่มเทให้ และแม้จะมีประชาชาติอื่นที่ประเสริฐกว่าอิสราเอล พระเจ้าก็ยังคงเลือกที่จะใกล้ชิดและทุ่มเทอยู่กับอิสราเอล
การปรับใช้ข้อคิดจากพระคัมภีร์
การก้าวเดินบนเส้นทางของพระเจ้านั้น เราควรที่จะรักผู้คน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เราจะมีความรักมั่นคงด้วย เราควรจะมีความรักมั่นคงเฉพาะบุคคลที่เราทำพันธสัญญาด้วยเท่านั้น ในชีวิตประจำวัน ผู้ชายคนหนึ่งก็ควรจะมีความรักต่อผู้คน ทว่าเฉพาะภรรยาของเขาเท่านั้นที่เขาควรมีความรักมั่นคงด้วย การที่ผู้ชายมอบความรักมั่นคงต่อผู้อื่นไปทั่ว ก็จะทำให้เขาขาดการอุทิศตัวกับภรรยา จริงอยู่ว่า ผู้ชายควรจะมีความรักที่ให้กับทุกคน แต่ภรรยาควรจะเป็นคนเดียวที่เขามีความรักมั่นคงให้ด้วยการทุ่มเทกายใจและเวลาอย่างครบถ้วน และแม้ว่าผู้ชายจะได้พบเจอผู้หญิงที่ประเสริฐไปกว่าภรรยาของเขา แต่ผู้ชายก็ควรจะภักดีและใกล้ชิดกับภรรยาของเขาต่อไป และเขาควรจะรักภรรยาของเขาให้มากที่สุดในชีวิตแม้ว่าเขาจะเจอคนอื่นที่ประเสริฐกว่าก็ตาม
ข้อคิดอีกประการหนึ่งก็คือ ก่อนที่จะทำพันธสัญญากับผู้ใด ก็ขอให้คิดอย่างรอบคอบเสียก่อน เพราะถ้าเราได้ทำพันธสัญญากับอีกฝ่ายไปแล้ว เราก็ต้องอุทิศตัวและทุ่มเทกายใจให้อีกฝ่ายอย่างแท้จริง ชาโลม

Brother Philip


Brother Philip
ติวเตอร์ด้านการเผยพระวจนะและการแปลภาษาแปลกๆ

สนใจติดต่อได้ที่ dream.oxes@gmail.com