23 มกราคม 2561

เชื่ออย่างเดียวก็รอดจริงหรือ ?

มาร์ติน ลูเธอร์ 
ตั้งแต่ที่ มาร์ติน ลูเธอร์ ได้ปฏิรูปคริสตจักร (การปฏิรูปเริ่มขึ้นในปี 1517) นิกายโปรเตสแตนต์ก็เกิดขึ้น พร้อมกับหลักคำสอนสำคัญอันหนึ่งของลูเธอร์ที่ว่า คนเราจะได้รับการชำระให้ชอบธรรมก็โดยความเชื่อเท่านั้น วันเวลาผ่านไปคำสอนนี้ก็กลายมาเป็นหลักข้อเชื่อพื้นฐานของคริสเตียน
คำสอนที่ว่า คนเราจะรับการชำระให้ชอบธรรมได้โดยความเชื่อเท่านั้น สามารถพูดให้เข้าใจง่ายๆได้ว่า เชื่ออย่างเดียวก็รอดแล้วหรือ เชื่ออย่างเดียว ก็ได้ขึ้นสวรรค์แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดูในพระคัมภีร์แล้ว ดูเหมือนว่ามีข้อพระคัมภีร์บางข้อที่ดูขัดกับประโยคที่ว่า เชื่ออย่างเดียวก็รอดแล้ว เช่น

(ยากอบ 2:21, 24) อับ​ราฮัม​บรรพ​บุรุษ​ของ​เรา ถวาย​อิส​อัค​บุตร​ของ​ท่าน​บน​แท่น​บู​ชา จึง​ถูก​ชำระ​ให้​ชอบ​ธรรม​เพราะ​การ​ประ​พฤติ​ไม่​ใช่​หรือ?, พวก​ท่าน​ก็​เห็น​แล้ว​ว่า คน​หนึ่ง​คน​ใด​จะ​ถูก​ชำระ​ให้​ชอบ​ธรรม​ได้​ก็​เพราะ​การ​ประ​พฤติ และ​ไม่​ใช่​เพราะ​ความ​เชื่อ​เพียง​อย่าง​เดียว

          มีบางคนที่อ่านข้อพระคัมภีร์นี้แล้วตีความว่า หากผู้ใดมีความเชื่อในพระคริสต์แต่ไม่มีการประพฤติที่ดีหรือไม่มีอุปนิสัยที่ดี แสดงว่าผู้นั้นก็ไม่ได้เชื่อในพระคริสต์จริง บางคนอ่านข้อพระคัมภีร์นี้แล้วตั้งคำถามกับพี่น้องที่มีอุปนิสัยไม่ดีบางคนว่า พี่น้องที่มีอุปนิสัยที่ไม่ดีคนนั้นคนนี้มีความเชื่อในพระคริสต์จริงหรือไม่? เพราะถ้าเขาเชื่อในพระคริสต์จริง เขาก็ควรจะมีอุปนิสัยที่ดีกว่านี้

บางคนอ่านข้อพระคัมภีร์นี้ แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่า โอ้ ฉันมีนิสัยที่ไม่ดีหลายๆอย่าง หลายครั้งฉันแอบทำบาปอย่างลับๆ โอ้ ฉันเชื่อในพระคริสต์จริงหรือเปล่านี้? ถ้าฉันเชื่อในพระคริสต์จริง ฉันต้องไม่ทำสิ่งโน้นสิ่งนั้นสิ บางคนตั้งคำถามกับตัวเองแบบนี้อยู่บ่อยๆ จนทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่ในหัวใจ ทั้งนี้การตั้งคำถามเหล่านี้ มีพื้นเพมาจากการตีความว่า ความประพฤติ ที่อยู่ในหนังสือของยากอบนั้นมีความหมายที่สื่อถึง การมีอุปนิสัยที่ดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาคำว่า การประพฤติ ที่อยู่ในหนังสือยากอบ คำศัพท์คำนี้ในภาษากรีก คือคำว่า ergon ที่หมายถึง การงานหรือการกระทำตามภาษากรีกแล้ว ศัพท์คำนี้ไม่ได้หมายถึงการมีอุปนิสัยที่ดีเสมอไป ปกติวลีอุปนิสัยที่ดี จะใช้คำศัพท์กรีกที่ซับซ้อนกว่านี้

หากยากอบต้องการสื่อสารว่า เชื่ออย่างเดียวไม่พอ ต้องมีอุปนิสัยที่ดีด้วยยากอบก็ควรใช้ภาษากรีกที่ซับซ้อนกว่านี้ ทว่ายากอบกลับใช้ศัพท์กรีกแบบง่ายๆที่หมายถึง การประพฤติหรือการกระทำ เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้เติมคำว่าที่ดี เข้าไป ส่วนตัวแล้ว ผมเข้าใจว่า การประพฤติในบริบทของหนังสือยากอบ ไม่ได้หมายถึงการมีอุปนิสัยที่ดี แต่หมายถึง การกระทำหรือการแสดงออกที่สะท้อนถึงความเชื่อเช่น หากผู้ใดเชื่อในพระคริสต์จริง ผู้นั้นก็ต้องรับบัพติศมาในน้ำ เพราะบัพติศมาในน้ำเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงความเชื่อ มหาสนิทก็นับเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงความเชื่อโดยเป็นการป่าวประกาศถึงการตายขององค์พระผู้เป็นเจ้า จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา

การทำกิจพยากรณ์ต่างๆก็นับว่าเป็นการกระทำที่สะท้อนถึงความเชื่อ กิจพยากรณ์อย่างหนึ่งที่เห็นได้ในพันธสัญญาใหม่ก็คือ การเจิมด้วยน้ำมัน ทั้งนี้การเจิมด้วยน้ำมันเป็นการกระทำที่สะท้อนถึงความเชื่อเกี่ยวกับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์

สรุปแล้ว ตามความเห็นของผม ข้อพระคัมภีร์ในหนังสือยากอบที่ว่า ความเชื่อจะสมบูรณ์ได้ด้วยการประพฤติ คำว่าการประพฤติในบริบทนี้ ไม่ได้หมายถึงการมีอุปนิสัยที่ดี แต่หมายถึงการแสดงออกหรือการกระทำที่สะท้อนถึงความเชื่อ เช่น การรับบัพติศมาในน้ำ การรับมหาสนิท การเจิมด้วยน้ำมัน เป็นต้น

นอกจากในหนังสือยากอบแล้ว ก็ยังมีข้อพระคัมภีร์หนึ่งที่ทำให้เพื่อนๆบางคนหวาดผวา เช่น

(มัทธิว 7:21-23) “ไม่​ใช่​ทุก​คน​ที่​เรียก​เรา​ว่า ‘องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า’ จะ​ได้​เข้า​ใน​แผ่น​ดิน​สวรรค์ แต่​ผู้​ที่​ปฏิ​บัติ​ตาม​พระ​ทัย​พระ​บิดา​ของ​เรา ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​จึง​จะ​เข้า​ได้ เมื่อ​ถึง​วัน​นั้น​จะ​มี​คน​จำ​นวน​มาก​ร้อง​แก่​เรา​ว่า ‘องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ข้า​พระ​องค์​ได้​เผย​พระ​วจนะ​ใน​พระ​นาม​ของ​พระ​องค์ และ​ได้​ขับ​ผี​ออก​ใน​พระ​นาม​ของ​พระ​องค์ และ​ได้​ทำ​การ​แห่ง​ฤทธา​นุภาพ​มาก​มาย​ใน​พระ​นาม​ของ​พระ​องค์​ไม่​ใช่​หรือ?’ เมื่อ​นั้น​เรา​จะ​กล่าว​แก่​พวก​เขา​ว่า ‘เรา​ไม่​เคย​รู้​จัก​พวก​เจ้า​เลย เจ้า​ผู้​ทำ​ความ​ชั่ว จง​ไป​เสีย​ให้​พ้น​หน้า​เรา’

เกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์นี้ อัครทูตโจนาธาน เวลตัน ได้กล่าวไว้ว่า มีผู้คนมากมาย[ผู้คนในศาสนาอื่นๆ] ที่อ้างอิงถึงพระเยซูเมื่อกำลังเล่นไสยศาสตร์ แต่พวกเขาไม่ได้ยอมจำนนต่อความเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของพระองค์ ผมเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้คือคนที่พระองค์กล่าวถึงใน (มัทธิว 7:21-23) น่าเศร้า มีคริสเตียนมากมายที่หวาดผวาและสงสัยว่า ตนเองอาจจะเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้นที่พระเยซูตรัสว่าเราไม่รู้จักเจ้า ความจริงคือคนเหล่านี้ที่พระเยซูไม่รู้จักหมายถึงผู้คน[ในศาสนาอื่นๆ]ที่ใช้พระนามพระเยซูในการเล่นไสยศาสตร์ พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้มีประสบการณ์หรือมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระองค์ ข้อพระคัมภีร์นี้หมายถึงผู้คนในลัทธินิวเอจรวมทั้งลัทธิความเชื่ออื่นๆที่ใช้ภาษาแบบคริสเตียน แต่ไม่ได้ยอมจำนนต่อพระเยซูในฐานะองค์พระผู้เป็นเจ้า

            นอกจากนี้หากดูในข้อพระคัมภีร์นี้ลึกขึ้น พระเยซูไม่ได้ตรัสว่า เราไม่รู้จักเจ้า แต่พระองค์ตรัสว่า เราไม่เคยรู้จักพวกเจ้าเลย(I never knew you) เมื่อพิจารณาถ้อยคำนี้ ดูเหมือนพระเยซูกำลังพูดกับคนที่พระองค์ไม่เคยรู้จักเลยตั้งแต่แรก ซึ่งนั่นก็คือพระองค์กำลังพูดกับคนที่ไม่ใช่คริสเตียน พระองค์กำลังพูดกับคนที่ยังไม่เคยได้รับความรอดตั้งแต่แรก

อนึ่ง คำว่า รู้จัก นี้ในภาษาเดิมหมายถึงการรู้จักอย่างสนิทสนมใกล้ชิด โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระเยซูทรงรู้รายละเอียดของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้วถ้าพระองค์ปรารถนา ทว่าพระองค์ทรงรู้จักอย่างใกล้ชิดสนิทสนมก็เฉพาะผู้คนที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับพระองค์เท่านั้น ซึ่งในพันธสัญญาใหม่ กลุ่มคนที่พระองค์ทรงใกล้ชิดสนิทสนมก็คือคริสเตียนหรือผู้ที่เชื่อในพระองค์ ดังนั้นแล้ว หากเพื่อนๆเป็นคริสเตียน เพื่อนๆก็มั่นใจได้ว่า เพื่อนๆคือคนที่พระเยซูทรงรู้จัก อาเมน

สรุปแล้ว หลักคำสอนของลูเธอร์ที่กล่าวว่า เชื่ออย่างเดียวก็รอดแล้วก็เป็นหลักคำสอนที่ถูกต้องแล้ว เพื่อนๆไม่จำเป็นต้องมีอุปนิสัยที่ดีแล้วถึงจะรอด อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่า แม้ผู้เชื่อจะได้เข้าสวรรค์โดยความเชื่อ แต่บำเหน็จของผู้เชื่อแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน บำเหน็จของแต่ละคนจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับการกระทำและการเชื่อฟังของแต่ละคน สุดท้ายนี้ผมขออวยพรเพื่อนๆนะครับ

ขอพระบิดาประทานพระคุณให้กับเพื่อนๆ เพื่อว่าการสงสัยในความรอดที่อยู่ในหัวใจของเพื่อนๆจะหมดไป ขอพระบิดาทรงเสริมกำลังเพื่อนๆ ให้เพื่อนๆเชื่อฟังพระคริสต์ได้ในทุกๆเรื่อง เพื่อว่าบำเหน็จของเพื่อนๆจะมีอย่างมากมาย ในนามพระเยซูคริสต์ อาเมน


Philip Kavilar

แหล่งอ้างอิง
หนังสือ Normal Christianity เขียนโดย Jonathan Welton
หนังสือ Systematic Theology เขียนโดย Wayne Grudem

17 มกราคม 2561

คำอวยพรเดือนเชบัท (Shevat) ปี 5778

Chodesh Tov! สุขสันต์สำหรับการเริ่มต้นเดือนใหม่ ของเดือนเชบัท (Shevat) ปี 5778 (17 ม.ค.-15 ก.พ.2018)
เดือนของเผ่าอาเชอร์(Asher) เผ่าที่ชื่อหมายถึง "ความสุข"
ปฐมกาล 49:20 อาหารของอาเชอร์จะบริบูรณ์ และเขาจะผลิตเครื่องเสวยสำหรับกษัตริย์
พรของยาโคบที่ระบุไว้ว่าอาเชอร์จะมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ทั้งจากอาหารและเครื่องเสวยสำหรับพระมหากษัตริย์
พระพรของโมเสสสำหรับเผ่าอาเชอร์ คือ
“ขอให้อาเชอร์ได้รับพระพรเหนือบรรดาบุตรอื่นๆ ของยาโคบ ขอให้เป็นที่โปรดปรานในบรรดาพี่น้อง ให้เขาจุ่มเท้าลงในน้ำมันมะกอก ขอให้ดาลประตูของเขาเป็นเหล็กและทองสัมฤทธิ์ กำลังของเขาคงอยู่ตลอดชีวิตของเขา” (ฉธบ. 33 :24-25)
มีกำลังและการเจิมด้วยความรุ่งเรือง นี่คือสิ่งที่พระเจ้าต้องการอวยพรสำหรับเราในเดือนนี้
อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวัง อย่าปล่อยตัวปล่อยใจไปตามเนื้อหนัง(Overindulgence)
สุภาษิต 23:03 อย่าปรารถนาของโอชะของท่าน เพราะมันเป็นอาหารที่หลอกลวง
เดือนนี้เป็นเดือนที่จะสร้างชีวิตและเตรียมส่งผ่านพระพรไปสู่รุ่นต่อรุ่น ซึ่งหมายถึงคนที่เราเป็นผู้อภิบาลดูแลเขาอยู่ ดังเช่นต้นมะกอก(Olive tree)ที่จะออกดอกออกผล
ถ้อยคำของพระเจ้ามาถึงผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์ บอกว่า "จงดูสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำ"
เยเรมีย์ 1:4-12
4 พระวจนะของพระเจ้ามาถึงข้าพเจ้าว่า
5 "เราได้รู้จักเจ้า ก่อนที่เราได้ก่อร่างตัวเจ้าที่ในครรภ์ และก่อนที่เจ้าคลอดจากครรภ์เราก็ได้กำหนดตัวเจ้าไว้ เราได้แต่งตั้งเจ้าเป็นผู้เผยพระวจนะให้แก่บรรดาประชาชาติ"
6 แล้วข้าพเจ้าก็กราบทูลว่า "ข้าแต่พระเจ้า ดูเถิด ข้าพระองค์พูดไม่เป็นเพราะว่าข้าพระองค์เป็นเด็ก"
7 แต่พระเจ้าตรัสกับข้าพเจ้าว่า "อย่าว่าเจ้าเป็นแต่เด็ก เพราะเจ้าต้องไปหาทุกคนที่เราใช้ให้เจ้าไป และเราบัญชาเจ้าอย่างไรบ้างเจ้าต้องพูด...
11 และพระวจนะของพระเจ้ามายังข้าพเจ้าว่า "เยเรมีย์เอ๋ย เจ้าเห็นอะไร" ข้าพเจ้ากราบทูลว่า "ข้าพระองค์เห็นไม้ตะพดอัลมันด์ {สองคำนี้ คำในภาษาฮีบรูมีเสียงคล้ายกัน} อันหนึ่ง"
12 แล้วพระเจ้าตรัสกับข้าพเจ้าว่า "เจ้าเห็นถูกต้องดีแล้ว เพราะเราเฝ้าดู {สองคำนี้ คำในภาษาฮีบรูมีเสียงคล้ายกัน} (เป็นตัวอักษร ชาเดะ Tzadik หมายถึงเฝ้าดู) ถ้อยคำของเรา เพื่อให้กระทำสำเร็จ"

12 มกราคม 2561

คำสอนแบบพื้นบ้านเรื่อง วิญญาณ จิต และร่างกาย

วอท์ชแมน นี
ชาโลม ในช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 ดูเหมือนว่าคำสอนเรื่อง วิญญาณ จิต และร่างกาย(Spirit Soul Body) จะเป็นที่นิยมมากขึ้น ทั้งนี้ บุคคลสำคัญผู้หนึ่งที่ได้อธิบายคำสอนเรื่องนี้อย่างละเอียดก็คือ วอท์ชแมน นี (ผู้นำคริสตจักรคนสำคัญในประเทศจีน ช่วงยุคก่อนคอมมิวนิสต์)

ในความเข้าใจแบบพื้นบ้าน ได้อธิบายว่ามนุษย์เรามีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วน นั่นก็คือ วิญญาณ จิต และร่างกาย ซึ่งแต่ละส่วนมีหน้าที่และการใช้งานที่แตกต่างกัน โดย

1. วิญญาณ(Spirit) เป็นส่วนที่ใช้สื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับพระเจ้า

2. จิต(Soul) เปรียบดั่งตัวตนที่มองไม่เห็นซึ่งอยู่ภายในเรา อันประกอบไปด้วย ความคิด(Mind), อารมณ์(Emotion) และความตั้งใจ(Will) นอกจากนี้อาจยังมี ความทรงจำ(Memory) และจินตนาการ(Imagination) ประกอบด้วย

3. ร่างกาย(Body) เป็นวัตถุที่มองเห็นได้จากภายนอก

ตามคำสอนแบบพื้นบ้าน มักอธิบายว่า มนุษย์ทุกคนที่ไม่ได้เชื่อในพระคริสต์ จิตและร่างกายของพวกเขายังคงทำงานอยู่ แต่วิญญาณของพวกเขายังไม่มีชีวิต ทว่าวินาทีที่ผู้หนึ่งได้บังเกิดใหม่และเชื่อในพระคริสต์ วิญญาณของผู้นั้นก็ได้เป็นขึ้นมา โดยสามารถสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับพระเจ้าได้ คำสอนแบบพื้นบ้านยังอธิบายอีกว่า เมื่อผู้หนึ่งบังเกิดใหม่ วิญญาณของผู้นั้นก็สมบูรณ์แบบทันที แต่จิตกับร่างกายยังคงมีข้อบกพร่องอยู่  และการที่ผู้เชื่อจะมีความก้าวหน้าในชีวิต ก็เมื่อผู้เชื่อยอมจำนนให้จิตของตนอยู่ภายใต้การครอบครองของวิญญาณ

อนึ่ง พระคัมภีร์ภาษาไทยส่วนใหญ่ได้แปลคำว่า Spirit และ Soul อย่างกระจัดกระจาย บางครั้งต้นฉบับเป็นคำว่า Spirit แต่ภาษาไทยบางทีก็แปลเป็นจิตใจ บางทีก็แปลเป็นวิญญาณ ส่วนคำว่า Soul ในภาษาไทยบางทีก็แปลเป็นจิตใจ บางทีก็แปลเป็นจิตวิญญาณ ดังนั้นการศึกษาในเรื่องนี้อย่างกระจ่างแจ้งจึงจำเป็นต้องดูพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษด้วย ส่วนตัวผม เวลาที่ผมสื่อสารคำสอนในเรื่องนี้ ผมมักจะใช้ระบบการแปลเป็น


Spirit = วิญญาณ, Soul = จิต, Body = ร่างกาย, Heart = หัวใจ

ทั้งนี้พระคัมภีร์ภาษาไทยที่มีระบบการแปลแบบนี้คือ พระคัมภีร์ไทยฉบับฟื้นฟู ซึ่งหาซื้อได้ที่ ห้องสมุดกิตติคุณแห่งประเทศไทย (ตั้งอยู่ที่ ซอยอุดมสุข 58) ส่วนพระคัมภีร์ไทยฉบับอื่นๆจะไม่ได้มีระบบการแปลที่แยกคำศัพท์ชัดเจนแบบนี้

สำหรับเพื่อนๆที่ต้องการศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด ผมขอแนะนำหนังสือ The Spiritual, Mystical, and Supernatural ที่เขียนโดย Harold Eberle ในหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายถึงเรื่อง วิญญาณ จิต และร่างกาย อย่างละเอียด พร้อมทั้งอธิบายถึงจุดบอดในความเข้าใจแบบพื้นบ้านด้วย

สันติสุขมีแด่ทุกท่าน
Philip Kavilar

 ปล. คำสอนแบบพื้นบ้าน หมายถึง คำสอนที่โบสถ์หลายๆโบสถ์และหนังสือหลายๆเล่มได้อธิบาย ซึ่งคำสอนแบบพื้นบ้านในเรื่อง วิญญาณ จิต และร่างกาย ดูประหนึ่งว่าจะมีรากมาจากหนังสือ Spiritual Man ที่เขียนโดย วอท์ชแมน นี

07 มกราคม 2561

รวมบทความเกี่ยวกับเด็ก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2561
"รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี"
พระวจนะของพระเจ้าบอกให้เราสอนเด็กเพื่อเด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในทางที่ถุกต้อง
สุภาษิต 22:6 จงฝึกเด็กในทางที่เขาควรจะเดินไป และเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่แล้วเขาจะไม่พรากจากทางนั้น
ผมจึงรวบรวมบทความเกี่ยวกับเด็กๆ มาให้อ่านกันตามนี้นะครับ (Click เข้าไปอ่านตาม Link ได้เลยครับ)
ที่มาของวันเด็กแห่งชาติ
ความคิดแบบผู้ใหญ่ หัวใจแบบเด็กๆ
สอนลูกปลูกฝังเด็กให้ถูกทาง
คนรุ่นใหม่ หัวใจแบบโยสิยาห์

04 มกราคม 2561

ขั้นตอนของการทำงานของพระเจ้าผ่านคำอธิษฐาน

การอธิษฐานสำคัญมาก เพราะพระเจ้าเคลื่อนไหวไม่ได้ ถ้าไม่มีคนอธิษฐาน  พระเจ้าทำได้ทุกสิ่ง ฤทธิ์อำนาจของพระองค์มีไม่จำกัด เพราะนี่คือวิธีที่พระเจ้ากำหนดไว้ ในการที่พระองค์จะทำงานบนโลกนี้

วอชท์แมน นี(Watchman Nee) สรุปขั้นตอนของการทำงานของพระเจ้าไว้ 4 ขั้นตอน ดังนี้ 


1. พระเจ้าต้องการทำบางสิ่งตามพระประสงค์ของพระองค์ 

(God intends to do something according to His will.)

2. พระองค์เปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์แก่เรา

(He reveals His will to us through the Spirit for us to know His will.)

3. เราตอบสนองด้วยการอธิษฐานต่อพระองค์ 

(We return and echo His will back to Him through prayer.)

4. พระเจ้าทำให้สิ่งนั้นสำเร็จ ตามพระประสงค์ของพระองค์

(God accomplishes His work according to His will.)

ข้อมูลจาก  http://www.agodman.com/blog/having-our-desires-blended-with-gods-desires-to-pray-the-prayers-initiated-by-god/

03 มกราคม 2561

ข้อคิดชีวิตครอบครัว Forgive&Forget

ข้อคิดชีวิตครอบครัว Forgive&Forget
“ชีวิตครอบครัวอาจจะมีเรื่องผิดใจกัน แต่สิ่งสำคัญคือ อภัยให้แก่กันและกัน”
การยกโทษเป็นเหมือนการเขียนหนังสือบนกระดานและลบด้วยแปรงลบ แต่จะปรากฏร่องรอยเหลืออยู่
ส่วนการให้อภัย(Forgive)ที่แท้จริงเป็นเหมือนเวลาที่เราพิมพ์ในไฟล์คอมพิวเตอร์และรู้ว่าพิมพ์ผิดแล้วกดแป้น delete แล้วสิ่งที่เราพิมพ์นั้นจะหายวับไปกับตา แต่ย้ายไปอยู่ในถังขยะ มันก็จะยังคงอยู่ตรงนั้น และคุณสามารถที่จะกู้ไฟล์นั้นคืนมาอีก
แต่ถ้าคุณตามที่ถังขยะและกดลบมันอีกครั้ง มันจะไม่กลับมาปรากฏอีกเลย (Forget)
จงจำไว้ว่า “ความรักไม่ช่างจดจำความผิด เชื่อในส่วนดีเสมอ และ ความรักลบล้างความผิดมากมายได้"