23 เมษายน 2555

เทศกาลหว่านการถวาย เก็บเกี่ยวพระพรในยุ้งฉาง

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน ในช่วงปลายเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคม หลายคริสตจักรมีการจัดค่ายประจำปี เพื่อให้คริสตสมาชิกได้ไปร่วมแสวงหาพระเจ้าและไปสามัคคีธรรมกัน คริสตจักรแห่งพระบัญชาจะจัดค่ายประจำปีขึ้นในวันที่ 28 เม.ย.-1 พ.ค.12 ในหัวข้อคือ “สวรรค์บุกรุกโลก”(Heaven invades earth) ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งเทศกาลการพักสงบฟังเสียงพระเจ้า รวมถึงการแสดงออกถึงใจแห่งการเชื่อฟังเพื่อรับพระพรจากพระเจ้า ในครั้งนี้จึงขอนำหลักการเรื่อง "เทศกาลหว่านการถวาย เก็บเกี่ยวพระพรในยุ้งฉาง"มาแบ่งปันเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่ายประจำปี ซึ่งหลักการเบื้องหลังมาจากเทศกาลที่พระเจ้าทรงกำหนดให้ชนชาติอิสราเอล ได้เดินทางไปรวมตัวกันเพื่อนมัสการพระเจ้าและถวายเครื่องบูชาแด่พระองค์โดยกำหนดให้เป็นเวลาที่เฉพาะเจาะจงใน แต่ละปี เช่นเทศกาลปัสกา เทศกาล สัปดาห์ หรือ เทศกาลเพ็นเทอสต์ และเทศกาลอยู่เพิง ซึ่งเวลาแห่งพิธีเฉลิมฉลองนี้เป็นเวลาแห่งพระพรที่ชาวยิวได้รอคอย พระเจ้าทรงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชนชาติของพระองค์ ได้พักสงบจากการงานเพื่อจะฟังเสียงของพระเจ้า และเพื่อจะได้ถวายขอบคุณพระเจ้าเพื่อระลึกถึงการอวยพระพรจากพระเจ้า การถวายจึงเป็นการแสดงออกถึงการเชื่อฟังซึ่งนำมาซึ่งพระพรจากพระเจ้าสู่ชีวิตของเรา (ฉธบ 28:8)



เฉลยธรรมบัญญัติ 28:8 พระเจ้าจะทรงบัญชาพระพรให้แก่ฉางของท่าน และบรรดากิจการที่ท่านกระทำ และพระองค์จะทรงอำนวยพระพรแก่ท่านในแผ่นดินซึ่งพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านประทานแก่ท่าน
พระเจ้าทรงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชนชาติของพระองค์ ได้หว่านในการถวายและจะได้เก็บเกี่ยวพระพรในชีวิต การศึกษาเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุดกลับมาดังเช่น
ท่านรัฐบุรุษของสหรัฐอเมริกา เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Frankin) กล่าวไว้ว่า An Investment in education always pays the best returns.
ผมเชื่อว่ารากฐานของตึกคืออิฐ รากฐานชีวิต คือ การศึกษา และสิ่งที่สำคัญคือการศึกษาพระวจนะของพระเจ้า สิ่งเหล่านี้จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดกลับมา เมื่อเราหว่านตามความเชื่อในพระวจนะของพระเจ้า เราจะได้รับผลอย่างไรบ้าง ดังนี้



1.หว่านความเชื่อ เก็บเกี่ยวความรอด
ลนต.23:43 เพื่อชาตพันธุ์ของเจ้าจะได้ทราบว่า เมื่อเราพาคนอิสราเอลออกจากแผ่นดินอียิปต์นั้น เราได้ให้เขาอยู่ในเพิงเรา คือพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้า
พระเจ้าทรงกำหนดเทศกาลเฉลิมฉลองไว้ โดยให้มีความหมายในฝ่ายวิญญาณ เพื่อช่วยรักษาความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์
เทศกาลปัสกานั้น เกิดขึ้นเพื่อเตือนใจคนอิสราเอลว่า พระเจ้าคือ พระผู้ช่วยให้รอด ผู้ทรงไถ่เขาออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ ซึ่งความหมายในฝ่ายวิญญาณคือ พระเจ้าได้ทรงไถ่เราให้พ้นจากการเป็นทาสของบาปแล้ว ผ่านทางการเชื่อในพระเยซูคริสต์ การเฉลิมฉลองเกิดขึ้นเพื่อ เราจะไม่ลืม พระราชกิจอันมีพระคุณของพระเจ้า คนอิสราเอลจึงเข้าร่วมเทศกาลฉลองด้วยใจที่เปี่ยมด้วยการขอบพระคุณ

2.หว่านการถวายสิ่งที่ดีที่สุด เก็บเกี่ยวพระพรด้วยความยินดี
ลนต.1:10 ถ้าของถวายที่ผู้ใดจะใช้เป็นเครื่องเผาบูชามาจากฝูงแกะหรือฝูงแพะ ให้ผู้นั้นเลือกเอาสัตว์ตัวผู้ที่ไม่มีตำหนิ
ในทุกๆ เทศกาล คนอิสราเอลจะนำของต่างๆ มามอบถวายเพื่อนมัสการพระเจ้า และพระเจ้าได้บัญชาคนอิสราเอลว่าให้นำของที่ไม่มีตำหนิมาถวาย คือให้นำสิ่งที่ดีเลิศมาถวายด้วยท่าทีที่ถูกต้อง เพราะในการถวายแต่ละครั้งนั้น พระเจ้าทรงสนพระทัยท่าทีในการถวายมากยิ่งกว่าสิ่งของที่ถวาย พระคัมภีร์ได้บอกเราว่าคนที่ถวายนั้นมี 2 ประเภทคือ คนที่ถวายด้วยความฝืนใจและคนที่ถวายด้วยใจที่ยินดี(2 คร.9:7)ทุกคนจงให้ตามที่เขาได้คิดหมายไว้ในใจ มิใช่ให้ด้วยนึกเสียดาย มิใช่ให้ด้วยการฝืนใจ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนนั้นที่ให้ด้วยใจยินดี


พระเจ้าปรารถนาให้เราถวายให้พระองค์ด้วยใจชื่นชมยินดี สิ่งที่สำคัญยิ่งในการมอบถวายแด่พระเจ้านั้นคือ การถวายตัวของเราแด่พระเจ้า การถวายสิ่งของแด่พระเจ้ากำลังสะท้อนให้เห็นว่า เราถวายตัวแด่พระเจ้า เพื่อให้พระเจ้าทรงใช้ตามพระทัยพระองค์
การมอบถวายแด่พระเจ้ายังสะท้อนให้เราเข้าใจว่า ชีวิตเราเป็นของพระเจ้า เรามิได้เป็นเจ้าของตัวเราเอง เราจะใช้ชีวิตของเราตามน้ำพระทัยของพระองค์ เราควรนำสิ่งที่ดีที่สุดมามอบถวายแด่พระเจ้าด้วยความตั้งใจ อาจจะไม่ได้ถวายเพียงทรัพย์เท่านั้น แต่อาจจะถวายเวลา ถวายทักษะความสามารถเพื่อการรับใช้พระเจ้า แล้วเมื่อถวายด้วยท่าทีที่ถูกต้องพระเจ้าจะอวยพระพร เพราะพระองค์ทรงถวายชีวิตของพระองค์เพื่อเราแล้วบนไม้กางเขน จากข้อพระคัมภีร์ 2 ข้อนี้ ที่สลับข้อกันคือ

2คร.8:9 เพราะท่านทั้งหลายรู้จักพระคุณของพระเยซูคริสตเจ้าของเราแล้วว่า แม้พระองค์มั่งคั่ง พระองค์ก็ยังทรงยอมเป็นคนยากจน เพราะเห็นแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นคนมั่งมี เนื่องจากความยากจนของพระองค์


ผลที่เราจะได้รับคือพระคุณที่พระอง์ทรงประทานให้

2คร.9:8 และพระเจ้าทรงฤทธิ์อาจประทานของดีทุกสิ่งอย่างอุดมแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อให้ท่านมีทุกสิ่งทุกอย่างเพียงพอสำหรับตัวเสมอ ทั้งจะมีสิ่งของบริบูรณ์สำหรับงานที่ดีทุกอย่างด้วย

3.หว่านการทำงานหนัก เก็บเกี่ยวการพักสงบ
ลนต 23:39 ในวันที่สิบห้าของเดือนที่เจ็ด เมื่อเจ้าได้เก็บพืชผลที่ได้จากแผ่นดินนั้นเข้ามาแล้ว เจ้าจงมีเทศกาลเลี้ยงแห่งพระเจ้าเจ็ดวัน ในวันแรกให้หยุดพักสงบ และในวันที่แปดก็ให้หยุดพักสงบ
จุดประสงค์ประการหนึ่งของเทศกาลฉลอง คือ “การพักสงบ” พระเจ้าปรารถนาให้ประชากรของพระองค์ได้หยุดพักจากการงานเพื่อเข้ามาสู่การพักสงบในพระองค์ เพื่อมีโอกาสแสวงหาพระองค์ร่วมกับพี่น้องในชุมชน ความจริงแล้ว พระเจ้าปรารถนาให้เราพักสงบและเข้ามาพักพิงในพระเจ้าอยู่เสมอขณะที่เราดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เพื่อเราจะมีสันติสุขในพระเจ้าและได้รับกำลังจากพระองค์ นอกจากนี้แล้วการพักสงบในพระเจ้าเป็นการสะท้อนถึงการพักสงบในแผ่นดินของพระเจ้าในอนาคตที่กำลังจะมาถึง เราจึงควรเข้าร่วมค่ายฯ โดยมีใจตระหนักว่าแผ่นดินโลกนี้ เป็นที่อาศัยเพียงชั่วคราว แต่เรารอคอยและเตรียมชีวิตเพื่อไปอยู่ในสวรรคสถานซึ่งเป็นที่อาศัยที่ถาวรนิรันดร์
บทสรุปคือ:เทศกาลเฉลิมฉลองมีจุดประสงค์เบื้องหลังที่ช่วยให้ผู้เชื่อตระหนักถึงความยิ่งใหญ่และการช่วยกู้ของพระเจ้า นอกจากนี้ยังเป็นเทศกาลที่เราทุกคนจะได้มอบถวายสิ่งที่ดีที่สุดแด่พระเจ้า อีกทั้งเป็นการย้ำเตือนให้เราระลึกถึงการหยุดพักสงบในพระเจ้าในฝ่ายวิญญาณ และให้ระลึกถึงในอนาคตที่จะได้พักสงบในแผ่นดินของพระบิดาบนสวรรค์อีกด้วย

ขอพระเจ้าอวยพระพรสำหรับทุกค่ายในแต่ละคริสตจักรที่จัดขึ้นให้ได้รับพระพรจากพระองค์

21 เมษายน 2555

Acts 4:32-37_ชุมชนต้นแบบแห่งการแบ่งปัน

ศึกษาพระธรรมกิจการของอัครทูต
คริสตจักร “ต้นแบบ” ตามพระบัญชา

กิจการของอัครทูต 4:32-37
32 คนทั้งปวงที่เชื่อนั้นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และไม่มีใครอ้างว่าสิ่งของที่ตนมีอยู่เป็นของตน แต่ทั้งหมดเป็นของกลาง
33 อัครทูตจึงประกอบด้วยฤทธิ์เดชใหญ่ยิ่ง เป็นพยานว่าพระเยซูเจ้าได้ทรงคืนพระชนม์แล้ว และพระคุณอันใหญ่ยิ่งได้อยู่กับเขาทุกคน
34 เพราะว่าในพวกศิษย์ไม่มีผู้ใดขัดสน ผู้ใดมีไร่นาบ้านเรือนก็ขายเสีย
35 และนำเงินค่าของที่ขายได้นั้นมาวางไว้ที่เท้าของอัครทูต อัครทูตจึงแจกจ่ายให้ทุกคนตามที่ต้องการ
36 เป็นต้นว่าโยเซฟ ที่อัครทูตเรียกว่า บารนาบัส แปลว่าลูกแห่งการหนุนน้ำใจ เป็นพวกเลวีชาวเกาะไซปรัส
37 มีที่ดินก็ขายเสียและนำเงินค่าที่นั้นมาวางไว้ที่เท้าของอัครทูต

อารัมภบท
สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน เราได้ศึกษาพระธรรมกิจการฯต่อเนื่องกันมาหลายครั้งแล้ว เราได้เห็นความเป็นต้นแบบของคริสตจักรที่มีชีวิต ชีวา มีการอัศจรรย์โดยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า และในครั้งนี้เราได้เห็นถึงบรรยากาศความรัก การช่วยเหลือแบ่งปันกันและกัน ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่สำคัญของชุนชนของพระเจ้า มีคำกล่าวคำหนึ่งว่า "หากเรามีความทุกข์ เราแบ่งปันความทุกข์ของเราออกไป ทุกข์ที่มีอยู่ก็จะบรรเทาเหลือเพียงครึ่งเดียว แต่หากเรามีความสุข และเราแบ่งปันความสุขของเราออกไป ความสุขที่เรามีจะกลายเป็น สองเท่า"สิ่งนี้คงจะเป็นจริงในชุมชนคริสตจักรสมัยพระธรรมกิจการฯ เพราะพวกเขาร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน เมื่ออัครทูตเปโตรและยอห์น เผชิญการข่มเหงขัดขวางข่าวประเสริฐ พวกเขาก็ช่วยกกันอธิษฐานเผื่อและเพื่อใครมีภาระปัญหาหรือขัดสนก็มีการแบ่งปันข้าวของกัน ในวันนี้เราจะมาพิจารณาดูด้วยกัน
1.ข้อสังเกตเพื่อใคร่ครวญ
จากข้อ 32 ได้บรรยายให้เห็นบรรยากาศในชุมชนคริสเตียนที่กรุงเยรูซาเล็มที่มีความรักความผูกพันกันอย่างเด่นชัด โดยแสดงออกเป็นการกระทำ ภายนอกด้วยการแบ่งปันสิ่งที่ตนมีเพื่อพี่น้องที่มีความต้องการ เป็นต้นแบบสำคัญที่พระเจ้าปรารถนาให้เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้ที่พี่น้องในชุมชนมีความรักความผูกพัน และ ความห่วงใยกัน โดยความรักความผูกพัน ความห่วงใยกันนั้น แสดงออกมาอย่างเด่นชัด เป็นการกระทำ ที่ไม่ได้เป็นเพียงเฉพาะคำพูดที่บอกว่ารักผูกพันกันเท่านั้น พวกเขามีท่าทีที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ข้อ 32 บอกว่า คนทั้งปวงที่เชื่อนั้นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน...นี่เป็นภาพที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งที่คนอย่างน้อยถึงห้าพันคนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
คำว่า “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ในภาษากรีก มีอยู่ 2 คำที่ถูกนำมาใช้ ณ ที่นี้

คำแรก คือ การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทางความคิดความรู้สึก
คำที่สอง คืการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในจิตวิญญาณ
ทุกคนในชุมชนมีความเสียสละ โดยถือว่าของที่ตนมีเป็นของกลาง นำมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ในข้อ 32 กล่าว่า ...และไม่มีใครอ้างว่าสิ่งของที่ตนมีอยู่เป็นของตน แต่ทั้งหมดเป็นของกลาง เป็นภาพที่น่าประทับใจที่คนในชุมชนทำตามคำสอนของพระเยซูคริสต์ คือ ให้มีความรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง พวกเขาเชื่อฟังอย่างสุดใจโดยไม่คิดเห็นแก่ตนเอง มีจิตใจสาธารณะ ผิดกับคนในยุคปัจจุบัน มีจิตใจเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว นำคำสอนมาบิดเบือนจาก "รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง" กลับกลายเป็น "ลักของเพื่อนบ้าน มาเป็นของตนเอง" ผมรู้สึกประทับใจในชุมชนคริสตจักรสมัยพระธรรมกิจการฯ ทีมีใจแบ้่งปันกันและกัน นี่เป็นวิถีชีวิตอันเป็นปกติของคนในสมัยนั้นด้วย ไม่ได้แจกจ่ายแบ่งปันกันเฉพาะยามที่มีเหตุฉุกเฉินเท่านั้น ดังที่ กจ.2:44-46 บรรยายไว้ว่า
44 บรรดาผู้ที่เชื่อถือนั้นก็อยู่พร้อมกัน ณ ที่แห่งเดียว และทรัพย์สิ่งของของเขาเหล่านั้น เขาเอามารวมกันเป็นของกลาง
45 เขาจึงได้ขายที่ดินและทรัพย์สิ่งของมาแบ่งให้แก่คนทั้งปวงตามซึ่งทุกคนต้องการ
46 เขาได้ร่วมใจกันไปในพระวิหารและหักขนมปังตามบ้านของเขา ร่วมรับประทานอาหาร ด้วยความชื่นชมยินดีและใจกว้างขวาง ทุกวันเรื่อยไป
นี่แหละคือ ภาคปฏิบัติที่เห็นเด่นชัดของการมีสามัคคีธรรมระหว่างพี่น้อง ที่แสดงออกด้วยการแบ่งปัน ซึ่งการแบ่งปันนั้น ความหมายในภาษาเดิม คือ koinonia ให้ความหมายว่าการเป็นหุ้นส่วนกัน การแบ่งปันกัน การแบ่งปันเกิดขึ้นได้เพราะการไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีใครอ้างว่าสิ่งของที่ตนมีอยู่เป็นของตน แต่ทั้งหมดเป็นของกลาง
2.ข้อคิดสะกิดใจ

ข้อคิดในพระธรรมตอนนี้ เราจะเห็นผลที่เกิดขึ้นเมื่อมีการแบ่งปันกันและกัน คือ นั่นคือ “พระเจ้ารับรองการรับใช้ด้วยฤทธิ์เดช” ข้อ 33 บอกว่า อัครทูตจึงประกอบด้วยฤทธิ์เดชใหญ่ยิ่ง เป็นพยานว่า พระเยซูเจ้าได้ทรงคืนพระชนม์แล้ว ...
ผลที่เกิดขึ้นเมื่อคริสตจักรมีความเป็นน้ำใจเดียวกันในการร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่มีใครที่ยึดติดกับส่วนที่เป็นของตน ยินดีแจกจ่ายสิ่งที่มีเพื่อพี่น้องที่ยากลำบากกว่า เป็นเหตุให้ภารกิจที่พระเจ้ามอบหมายให้ทำ คือ การประกาศข่าวประเสริฐได้รับการรับรองจากพระเจ้า โดยทรงประทานฤทธิ์เดชให้ ตามที่พระเยซูคริสต์ทรงสัญญาไว้ใน มก.16:20 พวกสาวกเหล่านั้นจึงออกไปเทศนาสั่งสอนทุกแห่งทุกตำบล และพระเป็นเจ้าทรงร่วมงานกับเขาและทรงสนับสนุนคำสอนของเขาโดยหมายสำคัญที่ประกอบนั้น

เมื่อพระเจ้าร่วมงานกับพวกเขา จะเห็นถึงพระคุณและการจัดสรรที่ไม่มีผู้ใดขัดสนเลย ในข้อ 33-34 บอกไว้ว่า และพระคุณอันใหญ่ยิ่งได้อยู่กับเขาทุกคน เพราะว่าในพวกศิษย์ไม่มีผู้ใดขัดสน เป็นข้อคิดสำหรับเราว่า บางคนยิ่งให้ยิ่งได้รับ แต่บางคนยิ่งยึดฉวยไว้ยิ่งขัดสน
สภษ. 11:24 บางคนยิ่งจำหน่ายยิ่งมั่งคั่ง บางคนยิ่งยึดสิ่งที่ควรจำหน่ายไว้ยิ่งขัดสนก็มี นอกจากนี้ข้อคิดต่อไปมาจากข้อ 34 ตอนปลาย ข้อ 35 ตอนต้น และ ข้อ 36-37 บรรยายต่อไปว่า
34 ...ผู้ใดมีไร่นาบ้านเรือนก็ขายเสีย
35 และนำเงินค่าของที่ขายได้นั้นมาวางไว้ที่เท้าของอัครทูต
36 เป็นต้นว่าโยเซฟ ที่อัครทูตเรียกว่า บารนาบัส แปลว่าลูกแห่งการหนุนน้ำใจ เป็นพวกเลวีชาวเกาะไซปรัส
37 มีที่ดินก็ขายเสียและนำเงินค่าที่นั้นมาวางไว้ที่เท้าของอัครทูต

นั่นคือ “การแบ่งปันโดยอยู่ภายใต้การปกคลุมของผู้นำ” เป็นการนบนอบต่อผู้ที่มีสิทธิอำนาจอย่างสุดใจ โดยนำสิ่งของมามอบไว้ที่เท้าของอัครทูต

หลักการนี้สำคัญอย่างไร
สำคัญเพราะพระเจ้าได้ทรงกำหนดให้มีผู้นำเพื่อดูแลชุมชนของพระเจ้าให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และให้ดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้สิทธิอำนาจของพระเจ้าและสิทธิอำนาจของพระวจนะพระเจ้า โดยผู้นำที่พระเจ้าเจิมตั้งนั้นอยู่ภายใต้สิทธิอำนาจของพระเจ้า และสิทธิอำนาจของพระวจนะพระเจ้า
ดังนั้น ผู้นำคืออัครทูต จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการและดูแลให้ทุกคนในชุมชนได้รับการดูแลจัดสรรอย่างดีและเหมาะสม
การที่พี่น้องพากันนำเงินซึ่งได้จากขายบ้านเรือนไร่นามาไว้ที่เท้าของ อัครทูต เป็นภาพของการมอบให้อัครทูตเป็นผู้บริหารจัดการในการจัดสรรปันส่วน
อัครทูตเป็นบุคคลที่พระเจ้าทรงแต่งตั้ง เป็นคนของพระเจ้าที่ดำเนินชีวิตสัตย์ซื่อ ทั้งจำเพาะพระพักตร์พระเจ้าและในสายตาของคนทั้งปวงด้วย
ดังที่ อัครทูตเปาโล บอกใน 2คร.8:20-21 ว่า
20 เราเจตนาจะไม่ให้คนหนึ่งคนใดติเตียนเราได้ ในเรื่องของบริจาคเป็นอันมากซึ่งเรารับมาแจกนั้น
21 เพราะเรามุ่งที่จะเป็นคนสัตย์ซื่อ มิใช่เฉพาะแต่ในสาย พระเนตรองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แต่ในสายตาของคนทั้งปวงด้วย
เมื่อมีการมอบหมายจากพระเจ้าในการทำหน้าที่อัครทูต จะเห็นได้ว่าอัครทูตมีความรับผิดชอบในการจัดสรรอย่างเหมาะสม มีการแจกจ่ายอย่างทั่วถึงทุกคนในข้อ 35

อัครทูตจึงแจกจ่ายให้ทุกคนตามที่ต้องการ
ดังนั้นเมื่อเป็นผู้รับใช้ที่ยิ่งใหญ่ จะต้องมีความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง ผู้ที่เป็นอัครทูตก็ไม่ได้ใช้สิทธิอำนาจในทางที่เกิดประโยชน์แก่ตนเอง แต่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคน เพราะท่านเป็นผู้รับใช้พระเจ้า ไม่ใช่เป็นผู้รับจ้าง
เราจะเห็นได้จากตัวอย่างของอานาเนียและสัปฟีรา ที่ฉ้อโกงเรื่องเงินค่าที่ดินและถูกพระเจ้าพิพากษาให้ถึงตายในกจ.5
ในวันนี้คำถามจากพระธรรมตอนนี้ คือ เราได้ข้อคิดจากการแบ่งปันให้กับชุมชนของพระเจ้าอย่างไรบ้างและเราจะพัฒนาชีวิตของเราให้มีจิตใจแห่งการเป็นผู้ให้อย่างไรบ้าง

3.ข้อสรุปเพื่อการประยุกต์ใช้
ผมขอสรุปหลักการไว้ดังนี้ คือ การที่จะเป็นชุมชนแห่งการแบ่งปันกันและกัน จะต้องมีจิตใจที่สาธารณะไม่คิดเห็นแก่ตนเอง แต่คิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
สิ่งต่อมาคือ การแบ่งปันโดยอยู่ภายใต้การปกคลุมของผู้นำ เพื่อให้เกิดการจัดสรรอย่างเหมาะสม และเห็นถึงพระพรของพระเจ้าในชุมชน
ผมเชื่อว่าคริสตจักรในปัจจุบัน สามารถที่จะเป็นชุมชนแห่งการแบ่งปัน โดยเริ่มต้นจากสิ่งเล็กน้อยในวันนี้ ที่เรามีอยู่แบ่งปันกันและกัน เมื่อสิ่งที่เราแบ่งปันออกไป สิ่งนั้นพระเจ้าจะทำให้เกิดการเพิ่มพูนมากขึ้น

ขอพระเจ้าอวยพระพร พบกันในโอกาสหน้า

12 เมษายน 2555

Acts 4:24-31_อธิษฐานเมื่อเผชิญการขัดขวางข่าวประเสริฐ

ศึกษาพระธรรมกิจการของอัครทูต

คริสตจักร “ต้นแบบ” ตามพระบัญชา

กิจการของอัครทูต 4:24-31
24 เมื่อเขาทั้งหลายได้ฟังจึงพร้อมใจกันเปล่งเสียงทูลพระเจ้าว่า "ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์แผ่นดินโลก ทะเลและสรรพสิ่งที่มีอยู่ในที่เหล่านั้น
25 พระองค์ตรัสไว้โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ด้วยปากของดาวิดบรรพบุรุษของเรา ผู้รับใช้ของพระองค์ ว่า "เหตุใดชนต่างชาติจึงหยิ่งยโส และชนชาติทั้งหลายปองร้ายกันเปล่าๆ
26 บรรดากษัตริย์แห่งแผ่นดินโลกตั้งตัวขึ้น และนักปกครองชุมนุมกัน ต่อสู้พระเจ้าและผู้รับการเจิมของพระองค์
27 ความจริงในเมืองนี้ ทั้งเฮโรดและปอนทัสปีลาตกับพวกต่างชาติและชนชาติอิสราเอล ได้ชุมนุมกันต่อสู้พระเยซูผู้รับใช้บริสุทธิ์ของพระองค์ซึ่งทรงเจิมไว้แล้ว
28 ให้กระทำสิ่งสารพัดตามที่พระหัตถ์ และพระดำริของพระองค์ได้กำหนด ตั้งแต่ก่อนมาแล้วให้เกิดขึ้น
29 บัดนี้พระองค์เจ้าข้า ขอโปรดทอดพระเนตรการขู่ของเขา และโปรดประทานให้ผู้รับใช้ของพระองค์ กล่าวถ้อยคำของพระองค์ด้วยใจกล้า
30 ในเมื่อพระองค์ได้ทรงเหยียดพระหัตถ์ของพระองค์ออกรักษาโรคให้หาย และได้โปรดให้หมายสำคัญกับการอัศจรรย์บังเกิดขึ้น โดยพระนามแห่งพระเยซูผู้รับใช้บริสุทธิ์ของพระองค์"
31 เมื่อเขาอธิษฐานแล้ว ที่ซึ่งเขาประชุมอยู่นั้นได้หวั่นไหว และคนเหล่านั้นประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ได้กล่าวพระวจนะของพระเจ้าด้วยใจกล้าหาญ

อารัมภบท
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ผมไม่ได้แบ่งปันการศึกษาพระธรรมกิจการฯ มาหลายวัน เนื่องจากติดภารกิจ และเป็นช่วงเทสกาลปัสกา ซึ่งเป็นการระลึกถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ ที่มีผลในชีวิตของเรา สำหรับประเทศอิสราเอลเป็นเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อเพื่อระลึกถึงการพ้นจากทาสในอียิปต์ ทุกเทศกาลที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้มีความสำคัญที่เราได้นัดพบเพื่อจะแสวงหาพระเจ้า ในฐานะที่เราเป็นคริสตชน เราสามารถอธิษฐานแสวงหาพระเจ้าได้ในทุกเวลา ไม่ใช่เพียงยามทุกข์ยากลำบาก ในการศึกษาพระธรรมกิจการฯครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 12 แล้ว ครั้งนี้เป็นการอธิษฐานเมื่อเผชิญการขัดขวางข่าวประเสริฐ จากเหตุการณ์ในกจ.4 เราจะมาร่วมพิจารณาด้วยกัน ดังนี้
1.ข้อสังเกตเพื่อใคร่ครวญ
ทันทีได้รับการปล่อยตัว อัครทูตเปโตรและอัครทูตยอห์นได้ไปหาพี่น้องของท่านและเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้พี่น้องฟัง และเมื่อได้รับฟังเรื่องราวต่าง ๆ ที่ท่านต้องเผชิญตลอดคืนที่ผ่านมาถูกจับขัง และ ถูกขู่เข็ญไม่ให้กล่าวพระนามของพระคริสต์อีกต่อไป
ในข้อ 24 ...เมื่อเขาทั้งหลายได้ฟังจึงพร้อมกันเปล่งเสียงทูลพระเจ้า
นั่นคือ การยืนหยัดร่วมใจกันในชุมชนด้วยการร่วมใจกันอธิษฐาน จะเห็นได้ว่าเวลานั้นเป็นโอกาสดีที่คริสตจักรจะต้องร่วมใจกันอธิษฐานเมื่อเผชิญการขัดขวางข่าวประเสริฐ มีคำกล่าวว่า"ความนิยมชมชอบที่สมาชิกมีต่อคริสตจักรนั้นวัดได้จากจำนวนคนที่มาร่วมนมัสการของคริสตจักร ความนิยมชมชอบที่สมาชิกมีต่อพระเจ้านั้น น่าจะวัดได้จากชั่วโมงแห่งการอธิษฐานของคนนั้น ๆ"


สิ่งนี้น่าจะเป็นจริง ผมนึกถึงคำพูดของอ.เจริญ ยธิกุล ท่านกล่าวว่า "คำว่ารักพระเจ้า ไม่ได้สะกดด้วย Love แต่สะกด ด้วย Time" หมายถึง หากรักพระเจ้าต้องให้เวลาอธิษฐานกับพระองค์ เมื่อเรารัก(love)สิ่งไหน เราก็จะให้เวลา(time)กับสิ่งนั้น แม้ผมอยากจะ กด like ใช่เลย บางครั้งเราเสียเวลาเล่น facebook มากไปจนไม่ได้แสวงหาพระพักตร์พระเจ้า (faceGod) เหตุการณ์จากพระธรรมตอนนี้ทำให้เราเข้าใจบริบทพระธรรมตอนนี้ว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่วิกฤตเพราะมีการต่อต้านจากผู้ที่มีอิทธิพล ทำให้คริสตจักรต้องอธิษฐานแสวงหาพระเจ้าอย่างมาก สิ่งที่เราเห็นได้คือ "ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการอธิษฐาน" ในข้อ 24 ตอนต้น ...เมื่อเขาทั้งหลายได้ฟังจึงพร้อมใจกัน เปล่งเสียงทูลพระเจ้าว่า ... คำว่า “พร้อมใจ” ความหมายในภาษาเดิม หมายถึงการมีความคิด อย่างเดียวกัน หรือ การตกลงใจร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์
ตัวอย่างพระคัมภีร์ที่ใช้คำเดียวกันนี้ เช่น กจ. 15:25 พวกข้าพเจ้าจึงพร้อมใจกันเห็นชอบที่จะเลือกคนและใช้เขามายังท่านทั้งหลาย พร้อมกับบารนาบัส และเปาโลผู้เป็นที่รักของเรา
นี่คือท่าทีในการอธิษฐานที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมใจกัน พร้อมใจกัน ไม่มีความขัดแย้งกัน หรือ ไม่เห็นด้วยกัน แต่ร่วมใจกันอธิษฐานต่อพระเจ้าในหัวข้อเดียวกัน ภาระใจเดียวกันอย่างเป็นเอกฉันท์
เราเห็นตัวอย่างของคริสตจักรแรกในกรุงเยรูซาเล็มที่มีชีวิตแห่ง การอธิษฐานในชุมชนอย่างชัดเจน ดังเช่นใน กจ 1:14 ...พวกเขาร่วมใจกันขะมักเขม้นอธิษฐานพร้อมกับพวกผู้หญิง และมารีย์มารดาของพระเยซูและพวกน้องชายของพระองค์ด้วย
กจ.2:46 ... เขาได้ร่วมใจกันไปในพระวิหาร และหักขนมปังตามบ้านของเขา ร่วมรับประทานอาหารด้วยความชื่นชมยินดีและใจกว้างขวางทุกวันเรื่อยไป

นั่นคือ วิถีชีวิตที่เป็นปกติ ไม่ใช่เฉพาะยามที่มีปัญหา หรือ มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจเท่านั้นจึงจะมาอธิษฐานกับพระเจ้า
ในข้อ 24 ตอนปลาย เป็นการขึ้นต้นคำอธิษฐานที่สะท้อนถึงท่าทีที่
“เชื่อในความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า”..."ข้าแต่พระเจ้าพระองค์ ได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์แผ่นดินโลก ทะเลและสรรพสิ่งที่มีอยู่ในที่เหล่านั้น
คำว่า “ข้าแต่พระเจ้า” คำในภาษาเดิมให้ความหมายในลักษณะของเจ้านาย หรือ ผู้ที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจเด็ดขาด
เป็นคำอธิษฐานที่แสดงถึงการตระหนักว่าพระเจ้ามีอำนาจสูงสุดที่ไม่มีผู้ใดสามารถคัดค้านต่อสู้ได้
เป็นคำอธิษฐานที่แสดงให้เห็นว่า แม้ในสถานการณ์ที่ถูกต่อต้านขัดขวางจากผู้ใหญ่ในสภาแซนเฮดดริน ซึ่งเป็นสภาสูงของคนยิว แต่อำนาจของพระเจ้านั้นสูงยิ่งกว่า !
นั่นคือ คำอธิษฐานที่เริ่มต้นด้วยการอ้างถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่ ทรงสร้างฟ้าสวรรค์แผ่นดินโลก ทะเล และสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นการอธิษฐานที่สะท้อนถึงท่าทีที่เชื่อในความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า

หากเราพิจารณต่อไปในกจ.4:25-28 ได้บันทึกคำอธิษฐานของผู้เชื่อที่ร่วมใจกันอธิษฐาน โดยอ้างถึงการพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าของดาวิดว่า พระองค์ตรัสไว้โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ด้วยปากของดาวิดบรรพบุรุษของเราผู้รับใช้ของพระองค์ว่า ...
นั่นคือ การอธิษฐานโดย “เชื่อว่าอยู่ในแผนการของพระเจ้า”
เชื่อว่าการต่อต้านขัดขวาง การต่อสู้ อันมาจากบรรดาผู้ปกครอง คือ สภาแซนเฮดดรินนั้น อยู่ในแผนการของพระเจ้า เพราะมีการกล่าวไว้ ล่วงหน้าแล้ว
เป็นคำอธิษฐานที่เข้มแข็งและหนักแน่น โดยอ้างสิ่งที่กษัตริย์ดาวิดได้กล่าวไว้ใน สดุดี 2:1-2 ว่าสิ่งที่ดาวิดกล่าวล่วงหน้าเป็นการพูดโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์
เป็นการอธิษฐานที่อ้างถึงสิ่งที่ได้มีการบอกกล่าวไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงเห็นล่วงหน้าแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น ข้อ 25-29 บรรยายว่า ...

25 "เหตุใดชนต่างชาติจึงหยิ่งยโสและชนชาติทั้งหลายปองร้ายกันเปล่าๆ
26 บรรดากษัตริย์แห่งแผ่นดินโลกตั้งตัวขึ้น และนักปกครองชุมนุมกัน ต่อสู้พระเจ้าและผู้รับการเจิมของพระองค์
27 ความจริงในเมืองนี้ ทั้งเฮโรดและปอนทัสปีลาตกับพวกต่างชาติและชนชาติอิสราเอลได้ชุมนุมกันต่อสู้พระเยซูผู้รับใช้บริสุทธิ์ของพระองค์ซึ่งทรงเจิมไว้แล้ว
28 ให้กระทำสิ่งสารพัดตามที่พระหัตถ์ และพระดำริของพระองค์ได้กำหนด ตั้งแต่ก่อนมาแล้ว ให้เกิดขึ้น

29 บัดนี้พระองค์เจ้าข้า ขอโปรดทอดพระเนตรการขู่ของเขา และโปรดประทานให้ผู้รับใช้ของพระองค์ กล่าวถ้อยคำของพระองค์ด้วยใจกล้า

นั่นคือ คำอธิษฐานที่เชื่อว่า ทุกสิ่งนั้นอยู่ในแผนการของพระเจ้าทั้งสิ้น
เชื่อว่าการที่บรรดากษัตริย์แห่งแผ่นดินโลกและนักปกครองต่อสู้พระเจ้าและผู้รับใช้ที่พระเจ้าทรงเจิมนั้น เป็นการกล่าวล่วงหน้าก่อนที่เหตุการณ์ปัจจุบันที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่จะเกิดขึ้น
ข้อ 27 ระบุชัดเจนอย่างนั้นเลยว่า ทั้งเฮโรด ปีลาต คนต่างชาติ และ คนยิวได้ต่อสู้พระเยซูคริสต์ผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมไว้ เป็นไปตามที่พระเจ้าได้พูดผ่านดาวิด
และ ข้อ 28 เป็นคำอธิษฐานที่บ่งบอกว่า เชื่ออย่างแน่นอนว่า ทุกสิ่งอยู่ในแผนการของพระเจ้า ทั้งปีลาต เฮโรด คนต่างชาติ และ คนยิวจะไม่สามารถทำอะไร พระเยซูคริสต์ได้เลย หากพระเจ้าไม่อนุญาต
แต่เพราะนี่อยู่ในแผนการของพระเจ้า พวกเขาจึงกระทำต่อพระองค์อย่างไม่สมควร โดยจับพระองค์ไปประหารราวกับนักโทษคดีอุฉกรรจ์
นี่แหละคือ ท่าทีแห่งคำอธิษฐานเมื่อเผชิญปัญหาและความทุกข์ยาก ที่ตระหนักว่า ทุกสิ่งอยู่ในแผนการพระเจ้า
เราต้องตระหนักว่าไม่มีสักสิ่งเดียวเกิดขึ้นกับชีวิตของเราโดยบังเอิญที่พระเจ้าไม่ทรงอนุญาต
ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาใด ๆ ในชีวิตของท่านที่เกินกว่าท่านจะเข้าใจได้ ขออย่าให้สงสัยความรักของพระเจ้า เพราะถ้าพระเจ้าไม่ทรงอนุญาตจะ ไม่มีเหตุใดเกิดขึ้นกับท่านได้เลย
พระเจ้าทรงมีแผนการที่ดีในชีวิตของเรา อย่าได้สงสัยความรักของพระเจ้า อย่าได้สงสัยในสิ่งที่พระเจ้ากำลังทำในชีวิตของท่าน
แผนการของพระเจ้านั้นเพื่อสวัสดิภาพ เพื่ออนาคต และ เพื่อความหวังใจ (ยรม. 29:11) เพราะคริสเตียนในเวลานั้นมั่นใจว่า ทุกสิ่งอยู่ในแผนการของพระเจ้า พวกเขาจึงไม่กลัวและไม่หวาดหวั่น เพราะรู้ว่าเมื่อเป็นสิ่งที่อยู่ในแผนการของพระเจ้า ย่อมเกิดผลที่ดี ย่อมเห็นชัยชนะ ย่อมมีสิ่งดีรออยู่ข้างหน้า


2.ข้อคิดสะกิดใจ
สิ่งที่เป็นข้อคิดในตอนนี้อยู่ในข้อ 30-31เราพบว่า ณ ที่นี้ มีผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือ พวกเขาได้รับฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า และได้รับความกล้าหาญจากพระเจ้า
30 ในเมื่อพระองค์ได้ทรงเหยียดพระหัตถ์ของพระองค์ออกรักษาโรคให้หาย และได้โปรดให้หมายสำคัญกับการอัศจรรย์บังเกิดขึ้น โดยพระนามแห่งพระเยซูผู้รับใช้บริสุทธิ์ของพระองค์" 31 เมื่อเขาอธิษฐานแล้ว ที่ซึ่งเขาประชุมอยู่นั้นได้หวั่นไหว และคนเหล่านั้นประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ได้กล่าวพระวจนะของพระเจ้าด้วยใจกล้าหาญ
สิ่งเหล่นี้เป็น ปรากฏการณ์การทรงสถิตของพระเจ้า !
นั่นคือ ผลของการอธิษฐานด้วยท่าทีที่ถูกต้องในยามที่เผชิญการขัดขวางเพราะข่าวประเสริฐ “ได้รับฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า”
ข้อนี้ใช้คำว่า “ได้หวั่นไหว” เป็นภาพเหมือนการกระเพื่อมอย่างโหมกระหน่ำของน้ำทะเล หรือการสั่นไปทั่วของแผ่นดินไหว หรือ ต้นไม้ที่ ถูกเขย่าอย่างรุนแรงด้วยลมพายุ
เราพบการใช้คำนี้ในที่ต่าง ๆ เช่น
ฮบ.12:26 พระสุรเสียงของพระองค์คราวนั้นได้บันดาลให้แผ่นดินหวั่นไหวแต่บัดนี้พระองค์ได้ตรัสสัญญาไว้ว่า อีกครั้งหนึ่งเราจะกระทำให้
หวาดหวั่นไหว มิใช่แผ่นดินโลกแห่งเดียว แต่ทั้งท้องฟ้าด้วย
ลก.6:48 เขาเปรียบเหมือนคนหนึ่งที่สร้างตึก เขาขุดลึกลงไปแล้วตั้งรากบนศิลา
และเมื่อน้ำมาท่วม กระแสน้ำไหลเชี่ยวกระทบกระทั่ง แต่ทำให้หวั่นไหวไม่ได้ เพราะได้สร้างไว้มั่นคง

คำที่ใช้ในพระธรรมกิจการฯตอนนี้นั้น ให้ความคิดหรือภาพของแผ่นดินไหวนี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการทรงสถิตของพระเจ้า !
เนื่องจากเกิดขึ้นทันทีทันใด และ โดยไม่มีมูลเหตุ หรือ ไม่ได้เกิดตาม ธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นในระหว่างที่พวกเขากำลังแสวงหาพระเจ้า
เป็นปรากฏการณ์ของฤทธิ์เดชอันยิ่งใหญ่ที่แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าจะทรงปกป้องพวกเขาจากการขัดขวางเพราะข่าวประเสริฐ
ปรากฏการณ์ของการสั่นไหวที่ยิ่งใหญ่ ทันทีทันใด และ อำนาจนี้ถูกหนดให้เกิดขึ้นในขณะนั้น เพื่อทำให้เกิดความเกรงกลัวที่พิสูจน์ว่า พระเจ้าทรงสถิตกับคนของพระเจ้า
เราพบว่ามีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคล้าย ๆ กันนี้ เมื่อมีการอธิษฐาน เช่น เมื่อพระวิญญาณเสด็จลงมาครั้งแรกในเทศกาลเพ็นเทคอสต์ ใน
กจ.2:4 ในทันใดนั้นมีเสียงมาจากฟ้าเหมือนเสียงพายุกล้าสั่นก้องทั่วตึกที่เขานั่งอยู่นั้น
เมื่ออัครทูตเปาโลและสิลาสอธิษฐานและร้องเพลงนมัสการในคุก
กจ.16:25-26
25 ประมาณเที่ยงคืน เปาโลกับสิลาสก็อธิษฐานและร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า นักโทษทั้งหลายในคุกก็ฟังอยู่
26 ในทันใดนั้น เกิดแผ่นดินไหวใหญ่จนรากคุกสะเทือนสะท้าน และประตูคุกเปิดหมดทุกบาน เครื่องจำจองก็หลุดจากเขาสิ้นทุกคน

จะเห็นได้ว่าเมื่อพวกเขาเข้ามาพึ่งพาพระเจ้าด้วยการอธิษฐาน แล้วจะสัมผัสการทรงสถิตของพระเจ้า
ที่ใดมีการทรงสถิตของพระเจ้า สิ่งที่เผชิญอย่างยากลำบากก็จะกลายเป็นสิ่งง่ายดายทันที
อัครทูตเปาโลและสิลาสถูกจำจองในคุก ทันทีที่อธิษฐานนมัสการพระเจ้า
การทรงสถิตของพระเจ้าได้เกิดขึ้นในคุกนั้น โซ่ตรวนที่พันธนาการ ท่านทั้งสองนั้นได้หลุดออกไปทันที ประตูคุกทุกบานก็เปิดออก
เพราะการอธิษฐานนมัสการสรรเสริญพระเจ้าเป็นการนำการทรงสถิตของพระเจ้าลงมา
เป็นการอธิษฐานจนกระทั่งเต็มล้นด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นประสบการณ์แห่งชีวิตที่เต็มล้นด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดขึ้นในชีวิตเรื่อยไป ที่ควรเกิดขึ้นกับชีวิตของเราทุกคน
ไม่เพียงเฉพาะในยามที่เผชิญกับสถานการณ์ยากลำบากเท่านั้นแต่เรื่อยไป
เพราะการอธิษฐานนมัสการเป็นการนำฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าลงมาสถิตอยู่กับผู้ที่อธิษฐานนมัสการ
ขอให้เราเข้ามาพึ่งพาพระเจ้าในการอธิษฐาน เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ที่จนตรอก หาทางออกไม่ได้ และพระเจ้าจะให้เรามีใจกล้า อย่ากลัวในปัญหา แต่กล้าที่จะเชื่อในพระเจ้า!
ในข้อ 31 ตอนปลาย บันทึกต่อไปว่า ...ได้กล่าวพระวจนะของพระเจ้าด้วยใจกล้าหาญ
พระคัมภีร์ตอนนี้บันทึกว่า เมื่อพวกเขาได้รับฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า สิ่งที่ตามมาคือ เกิดความกล้าหาญในการกล่าวพระวจนะ
แท้จริงแล้วพระเจ้าไม่ได้ประทานจิตที่ขลาดกลัวให้เรา จิตที่ขลาดกลัวเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการประกาศข่าวประเสริฐ
2 ทธ 1:7-8 7 เพราะว่าพระเจ้ามิได้ทรงประทานจิตที่ขลาดกลัวให้เรา แต่ได้ทรงประทานจิตที่กอปรด้วยฤทธิ์ความรัก และการบังคับตนเองให้แก่เรา 8 อย่าละอายที่จะเป็นพยานฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราหรือฝ่ายตัวข้าพเจ้าที่ถูกจำจองอยู่เพราะเห็นแก่พระองค์ แต่จง
มีส่วนในการยากลำบาก เพื่อเห็นแก่ข่าวประเสริฐ โดยอาศัยฤทธิ์เดชแห่งพระเจ้า
ขอให้เรามีความกล้าหาญในการประกาศข่าวประเสริฐ อย่าได้ละอายที่จะประกาศ
การประกาศข่าวประเสริฐเป็นการประกาศข่าวดีเพื่อนำพรไปสู่ผู้ที่ได้รับฟัง
ถ้าวันนี้ท่านกลัว อธิษฐานขอความกล้าหาญจากพระเจ้าเหมือนที่พี่น้องในกรุงเยรูซาเล็มอธิษฐานขอ แล้วท่านจะได้รับ
คำถามที่เราจะใคร่ครวญด้วยกันคือ ในวันนี้มีสถานการณ์ใดบ้างที่ทำให้เรารู้สึกกลัว ขอพระเจ้าประทานจิตใจกล้าหาญและรับฤทธิ์เดชจากพระองค์?


3.ข้อสรุปเพื่อการประยุกต์ใช้
ผมขอสรุปหลักการไว้ดังนี้ คือการอธิษฐานเมื่อเผชิญการขัดขวางข่าวประเสริฐจากพระธรรมตอนนี้คือ
1.อธิษฐานอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (24ก.)
2.เชื่อในความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า (24ข.)
3. เชื่อว่าอยู่ในแผนการของพระเจ้า (25-29)

ผลที่จะได้รับคือ ได้รับฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า และได้รับความกล้าหาญจากพระเจ้า(30-31)
ผมเชื่อว่าเมื่อเราถ่อมใจใช้หัวเข่าที่คุกเข่าลงอธิษฐานต่อพระเจ้า พระเจ้าจะประทานสติปัญญาในหัวคิดของเรา และประทานหัวใจแห่งความกล้าหาญในการประกาศข่าวประเสริฐให้กับเรา แม้เราเผชิญการขัดขวาง
ขอพระเจ้าอวยพระพร พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้าครับ

06 เมษายน 2555

ไขปริศนา วันที่แท้จริงที่พระเยซูคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชนม์

ในค่ำคืนวันศุกร์ก่อนวันอีสเตอร์ (Easter) ซึ่งจะตรงกับวันอาทิตย์ หลายๆคริสตจักรได้จัดงานวันศุกร์ประเสริฐ(Good Friday) (ปี 2012 ตรงกับวันศุกร์ที่ 6 เม.ย. ) เพื่อเป็นการระลึกถึงการที่พระเยซูคริสต์ได้ถูกตรึงที่บนกางเขน ผมรู้สึกชื่นชมเพราะจัดวันศุกร์ประเสริฐให้คนมาอธิษฐานพระเจ้าที่คริสตจักรหรือตามบ้านยังไงดีกว่าจัดงานวันศุกร์ 13 ตามความเชื่อเรื่องอาถรรพ์ศุกร์ 13 เป็นไหนๆ
มีคำถามได้ถูกถามขึ้นมาว่า หากพระเยซูคริสต์ถูกตรึงที่กางเขนในวันศุกร์แล้วทำไมศพพระองค์ถูกฝังในอุโมงค์จึงไม่ครบ 3 วันตามคำพยากรณ์ของพระเยซูคริสต์ก่อนที่พระองค์จะถูกตรึง
มธ.12:40 ว่า “ด้วยว่า โยนาห์ได้อยู่ในท้องปลามหึมาสามวันสามคืนฉันใด บุตรมนุษย์จะอยู่ในท้องแผ่นดิน สามวันสามคืนฉันนั้น”
และที่มาของวันศุกร์ประเสริฐมาได้อย่างไร คำตอบคือ วันศุกร์ประเสริฐมีประวัติที่มาดังนี้
วันศุกร์ประเสริฐ (Good Friday) เริ่มในสมัยศตวรรษที่ 4 ความหมายของคำว่า Good Friday ซึ่งมาจากคำว่า God’s day เป็น วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า (Preceding Easter Sunday) คือ วันก่อนที่พระเยซูเป็นขึ้นจากความตาย คืออาทิตย์เป็นวันแห่งชัยชนะเป็นวันที่พระเยซู เป็นขึ้นมาจากความตาย คือ วันอีสเตอร์ ในวันอาทิตย์นี้จึงถูกเรียกว่า Morning Victory แปลว่า รุ่งอรุณแห่งชัยชนะ (1คร.15:3-8) (ข้อมูลจากคริสตจักรคาธอลิกในประเทศไทย)
คำถาม : พระเยซูคริสต์ทรงถูกตรึงกางเขนในวันศุกร์หรือไม่?
คำตอบ :พระคัมภีร์ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าพระเยซูถูกตรึงบนกางเขนในวันใดของสัปดาห์นั้น มีอยู่สองวันที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเป็นวันที่พระเยซูถูกตรึงคือ วันศุกร์และวันพุธ บางคนไม่อยากถกเถียงว่าเป็นวันใดวันหนึ่งระหว่างวันศุกร์หรือวันพุธ ก็รับเอาวันพฤหัสบดีเป็นวันที่พระเยซูถูกตรึง

สำหรับคนที่แย้งว่าพระองค์ทรงฟื้นคืนพระชนม์ในวันศุกร์นั้น เขากล่าวกันว่าจะต้องมีหนทางหนึ่งที่บ่งชี้ได้ว่าพระองค์ทรงอยู่ในหลุมพระศพเป็นเวลาสามวัน ในความคิดของชาวยิวในสมัยคริสตศักราชแรกนั้น แค่เพียงบางส่วนของวันพวกเขาก็นับเป็นหนึ่งวันเต็มได้ เนื่องจากพระเยซูทรงอยู่ในอุโมงค์พระศพของวันศุกร์ไม่เต็มวัน วันเสาร์ทั้งวัน และวันอาทิตย์ไม่เต็มวัน เมื่อคิดดังนี้ ก็ถือได้ว่าพระเยซูทรงอยู่ในอุโมงค์พระศพสามวัน หนึ่งในบรรดาข้อโต้แย้งหลัก ๆ
สำหรับผู้ที่เชื่อในวันศุกร์คือ ข้อเขียนที่พบในพระคัมภีร์
มก.15:42 ว่า พระเยซูทรงถูกตรึง “ในวันก่อนวันสะบาโต”ถ้าในเวลานั้นเป็นสัปดาห์แห่งวันสะบาโต คือวันเสาร์ ดังนั้นข้อเท็จจริงก็คือวันศุกร์คือวันที่พระองค์ทรงถูกตรึง อีกข้อโต้แย้งหนึ่งก็คือ มีพระคัมภีร์บางตอน เช่น มธ.16:21 และลก.9:22 เขียนไว้ว่า พระเยซูจะทรงฟื้นคืนพระชนม์ในวันที่สาม ดังนั้น พระองค์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในอุโมงค์ศพเป็นเวลาสามวันสามคืนเต็ม แต่เนื่องจากมีการแปลโดยใช้คำว่า “ในวันที่สาม” สำหรับข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับว่านั่นคือการแปลที่ดีที่สุดสำหรับข้อพระคัมภีร์นี้ อีกประการหนึ่ง ในพระคัมภีร์ มก.8:31 เขียนไว้ว่า พระเยซูจะทรงฟื้นคืนพระชนม์ “หลังจาก” สามวันส่วนผู้ที่คิดว่าเป็นวันพฤหัสบดีนั้น จะไม่เห็นด้วยกับความคิดเรื่องวันศุกร์ และเรื่องหลัก ๆ ที่พวกเขาแย้งก็คือว่า ในช่วงเวลานั้น มีหลายเหตุการณ์ด้วยกัน (บ้างนับได้ว่ามีมากถึง 20เหตุการณ์) ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาตั้งแต่การฝังพระศพของพระคริสต์จนถึงเช้าวันอาทิตย์ ซึ่งคือเย็นวันศุกร์จนถึงเช้าวันอาทิตย์ กลุ่มนี้ชี้ว่า ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่ามีเพียงวันเดียว ที่เต็มวันระหว่างวันศุกร์และวันอาทิตย์ นั่นคือวันเสาร์ซึ่งเป็นวันสะบาโตของชาวยิว วันที่เกินมาหนึ่งหรือสองวันนั้นแหละ คือวันที่ไม่ใช่ ดังนั้นวันพฤหัสบดีจึงเป็นวันที่ดูสมเหตุสมผลที่สุด โดยสมมติว่า หากคุณไม่ได้พบเพื่อนมาตั้งแต่เย็นวันจันทร์ และครั้งต่อมาที่คุณได้พบเขาคือเช้าวันพฤหัส แล้วคุณพูดว่า “ฉันไม่ได้พบคุณมาสามวันแล้ว” ถึงแม้ว่าโดยความเป็นจริงแล้วระยะเวลานั้นคือ 60 ชั่วโมงเท่านั้น (สองวันครึ่ง) ดังนั้น หากพระเยซูทรงถูกตรึงในวันพฤหัสบดี ตัวอย่างนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นได้ว่าทำไมถึงนับได้สามวัน

พวกที่คิดว่าเป็นวันพุธระบุว่าในสัปดาห์นั้นมีวันสะบาโต 2วัน หลังจากวันสะบาโตวันแรก (ในเย็นวันที่พระเยซูถูกตรึง มก.15:42;ลก.23:52-54) พวกผู้หญิงพากันไปซื้อเครื่องหอมกับน้ำมันหอม – การซื้อเครื่องหอมจะมีการซื้อกันหลังวันสะบาโต (มก.16:1) ความเชื่อเรื่องวันพุธคิดว่า “วันสะบาโตนี้” คือเทศกาลปัสกา (ดูใน ลนต.16:29-31; 23:24-32,39) ที่บอกว่า วันศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นที่ไม่ใช่วันที่7ของสัปดาห์ คือวันสะบาโต ส่วนวันสะบาโตวันที่สองในสัปดาห์นั้น คือวันเสาร์ในสัปดาห์นั้น ซึ่งในพระคัมภีร์ ลก.23:56 ได้เขียนไว้ว่า เหล่าพวกผู้หญิงที่ไปซื้อเครื่องหอมน้ำมันหอมหลังจากวันสะบาโตวันแรกนั้น ได้กลับไปเตรียมเครื่องหอม และ “หยุดพักในวันสะบาโต” มีข้อโต้แย้งระบุว่า พวกเขาไม่สามารถซื้อเครื่องหอมได้หลังจากวันสะบาโต หรือเตรียมเครื่องหอมก่อนวันสะบาโต ยกเว้นแต่ว่ามีวันสะบาโต 2 วัน เมื่อพิจารณาในแง่มุมนี้ หากพระเยซูคริสต์ถูกตรึงบนกางเขนในวันพฤหัสบดี วันสะบาโตอันศักดิ์สิทธิ์ (ปัสกา) จะต้องเริ่มตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกในวันพฤหัสบดี และจบลงในเวลาพระอาทิตย์ตกในวันศุกร์ – ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของวันสะบาโตแห่งสัปดาห์ หรือวันเสาร์นั่นเอง การซื้อเครื่องหอมหลังจากวันสะบาโตแรก (ปัสกา) จะต้องหมายความว่า พวกเขาซื้อเครื่องหอมในวันเสาร์ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฏของวันสะบาโต

ดังนั้น ในมุมมองนี้ ระบุได้ว่า มีเพียงคำอธิบายเดียวที่จะไม่เป็นการละเมิดข้อพระคัมภีร์ในเรื่องพวกผู้หญิงและเครื่องหอม และการรักษาความเข้าใจเดิมของพระคัมภีร์ มธ.12:40 ก็คือ พระคริสต์ทรงถูกตรึงในวันพุธ และวันพฤหัสบดีคือวันสะบาโตอันศักดิ์สิทธิ์ (หลังจากนั้น) พวกผู้หญิงพากันไปซื้อเครื่องหอมในวันศุกร์ และกลับมาเตรียมเครื่องหอมในวันเดียวกันนั้น เสร็จแล้วหยุดพักในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันสะบาโตประจำสัปดาห์ จากนั้นจึงนำเครื่องหอมไปที่อุโมงค์พระศพในเช้าวันอาทิตย์ พระองค์ทรงถูกฝังในเวลาใกล้ตะวันตกในวันพุธ ซึ่งถือเป็นเวลาย่างเข้าสู่วันพฤหัสบดีในปฏิทินยิวเมื่อใช้ปฏิทินยิวคุณจะมีวันพฤหัสบดี (กลางคืน) วันพฤหัสบดี (กลางวัน) วันศุกร์ (คืนที่ 2) วันศุกร์ (วันที่ 2) วันเสาร์ (คืนที่ 3) และวันเสาร์ (วันที่ 3) เราไม่รู้แน่ชัดว่าพระองค์ทรงฟื้นขึ้นเมื่อใด แต่เรารู้ว่าจะต้องเป็นเวลาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นในวันอาทิตย์ (ยน.20:1 “วันอาทิตย์เวลาเช้ามืด” มารีย์ชาวมักดาลามาถึงอุโมงค์ฝังศพ นางเห็นหินถูกกลิ้งออกจากปากอุโมงค์อยู่แล้ว นางจึงวิ่งไปหาซีโมนเปโตร และสาวกอีกคนหนึ่งที่พระเยซูทรงรักนั้น และพูดกับเขาว่า “เขาเอาองค์พระผู้เป็นเจ้าออกไปจากอุโมงค์แล้ว และพวกเราไม่รู้ว่าเขาเอาพระองค์ไปไว้ที่ไหน”) ดังนั้น พระองค์คงจะทรงฟื้นคืนพระชนม์ในเวลาตั้งแต่เช้ามืดทันทีที่พระอาทิตย์ตกดินในเย็นวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นสัปดาห์ใหม่ของชาวยิว

มีปัญหาอยู่ประการหนึ่งที่อาจเป็นไปได้สำหรับพวกที่เชื่อเรื่องวันพุธ นั่นก็คือ เหล่าอัครสาวกที่เดินไปกับพระเยซูบนถนนที่จะไปสู่เอ็มมาอูส ซึ่งเป็น “วันเดียวกัน”กับวันที่พระองค์ทรงฟื้นคืนพระชนม์ขึ้นมา (ลก.24:13) ซึ่งเหล่าอัครสาวกนั้นจำพระเยซูไม่ได้ และได้บอกท่านถึงเรื่องการตรึงพระเยซูบนไม้กางเขน (ข้อ 24:20) และพูดว่า “วันนี้เป็นวันที่สามตั้งแต่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น” (ข้อ 24:21)
ถ้านับจากวันพุธถึงวันอาทิตย์ ก็เป็นเวลา 4 วัน คำอธิบายที่เป็นไปได้คือพวกเขาอาจจะเริ่มนับตั้งแต่เย็นวันพุธตอนที่ฝังพระศพพระองค์ ซึ่งถือเป็นเวลาเริ่มต้นของวันพฤหัสบดีของชาวยิว และจากวันพฤหัสบดีจนถึงวันอาทิตย์ก็นับได้เป็นสามวัน (ข้อมูลจาก www.gotquestions.org/Thai)


สำหรับความคิดของผมส่วนตัวแล้ว เราต้องกลับมาสู่หลักคิดที่ถูกต้อง เพราะคริสตจักรในปัจจุบันได้รับอิทธิพลความคิดมาจากศาสนศาสตร์ในตะวันตก แต่เราควรกลับไปสู่รากความเชื่อที่แท้จริงคือแบบชาวยิว เพราะชาวยิวมีความเข้าใจเรื่องเทศกาลของพระเจ้าเป็นอย่างดี การกลับสู่รากความเชื่อแบบยิวไม่ได้หมายถึงเราต้องกลับไปดำเนินตามธรรมบัญญัติแบบยิว หรือแต่งกายแบบยิว หรือทำพิธีเข้าสุหนัตแบบยิว สำหรับผมการเข้าสนิทสำคัญมากกว่าเข้าสุหนัต เพราะเราเป็นยิวทางความเชื่อไม่ใช่ทางฝ่ายกายภาพ (กท.5-6,ฟป.3:3)
แท้จริงแล้วการถือเทศกาลอีสเตอร์(Easter)ซึ่งเป็นการนำเอาความเชื่อแบบศาสนาต่างชาติ (Pagan)ที่ผสมผสานความเรื่องพระเยซูคริสต์มาแทนเทศกาลปัสกา เพียงเพราะต่อต้านคนอิสราเอลนั่นเอง ซึ่งสามารถอ่านบทความที่ผมเคยเขียนได้ได้ดังนี้ครับ
(ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทศกาลปัสกาและอีสเตอร์ : http://pattamarot.blogspot.com/2011/04/blog-post.html)
(เทศกาลปัสกา : ก้าวสู่เสรีภาพใหม่ด้วยใจขอบพระคุณ
http://pattamarot.blogspot.com/2011/04/blog-post_15.html)

เรามาลองศึกษาเทศกาลปัสกาซึ่งเป็นเทศกาลระลึกการรับการปลดปล่อยจากการทาสในประเทศอียิปต์ และเราลองลำดับเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ประกอบเราจะทราบว่า วันที่แท้จริงที่พระเยซูคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชนม์
ในช่วงเทศกาลปัสกามีวันสะบาโต 2 วัน โดยเริ่มจากวันที่ 14 จนถึงวันที่ 23ของเดือนนิสาน


ลำดับเหตุการณ์


วันก่อนวันเทศกาลปัสกา เป็นวันอังคาร ที่13 เดือนนิสาน
พระเยซูคริสต์และสาวก12 คนเข้ามาในเมืองเยรูซาเล็มจากเบธานีสำหรับรับประทานปัสกา
สาวกสองคนนั้นจึงออกเดินเข้าไปในกรุง และพบเหมือนพระดำรัสที่พระองค์ได้ตรัสแก่เขา แล้วได้จัดเตรียมปัสกาไว้พร้อม
มก.14:17 ครั้นถึงเวลาค่ำแล้ว พระองค์จึงเสด็จมากับสาวกสิบสองคนพระเยซูคริสต์กับสาวกรับประทานปัสกาตอนเวลาพระอาทิตย์ตกเมื่อคืนที่ผ่านมา (พระเจ้าให้พวกอิสราเอลนับวันจากพระอาทิตย์ตกไปถึงพระอาทิตย์ตกเป็นวันหนึ่ง-ไม่ใช่เที่ยงวันคืนไปถึงเที่ยงคืน พระเยซูคริสต์ รับประทานปัสกาตอนพระอาทิตย์ตกกับสาวกหลังจากนั้นเขาก็พากันออกไปยังภูเขามะกอกเทศ ยูดาสทรยศพระเยซูคริสต์ที่สวนเกทเสมนีโดนจับและเอามาให้คายาฟาส มหาปุโรหิตประจำการที่หน้าสภา (มธ 26:34-49)


วันแรกของเทศกาลปัสกา เป็นวันพุธที่ 14 เดือนนิสาน
ลนต. 23:5 ในเวลาเย็นวันที่สิบสี่เดือนที่หนึ่งเป็นวันเทศกาลปัสกาของพระเจ้า,อพย .12:11 วันเตรียมสำหรับสะบาโตประจำปีไม่ใช่สะบาโต ประจำสัปดาห์
ตอนเช้าพวกทหารโรมันนำพระเยซูคริสต์มาหน้าปอนทิอัส ปีลาตเพื่อตัดสินคดี ผลคือพระเยซูคริสต์ถูกจับไปตึงที่กางเขนตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงบ่ายสามโมงเย็น
พระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์เวลาบ่ายสามโมง พวกเขาได้นำพระศพของพระเยซูคริสต์ไปไว้ในอุโมงค์ก่อนตะวันตกเพราะว่าในโทราบัญญัติของพระเจ้าจะต้องฝังคนตายให้เสร็จก่อนพระอาทิตย์จะตกดินเพราะพวกเขาจะไม่บริสุทธิ์พอสำหรับสะบาโตที่จะมาถึง
(มธ 27:46-66, ลก.23:44)
ยน.19:31 วันนั้นเป็นวันเตรียม พวกยิวจึงขอให้ปีลาตทุบขาของผู้ที่ถูกตรึงให้หัก และให้เอาศพไปเสีย เพื่อไม่ให้ศพค้างอยู่ที่กางเขนในวันสะบาโต (เพราะวันสะบาโตนั้นเป็นวันใหญ่) ดังนั้นโดยสรุปคือพระเยซูคริสต์ ถูกตรึงและสิ้นพระชนม์ในวันพุธซึ่งเป็นวันก่อนวันสะบาโตวันแรกของสัปดาห์ (คืนวันพุธเป็นคืนแรกที่พระศพของพระคริสต์อยู่ในอุโมงค์)

วันพฤหัสบดี ที่ 15 เดือนนิสาน
วันนี้เป็นสะบาโตสูงประจำปีเป็นวันแรกของเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ พวกทหารโรมัน เขาทำอุโมค์ให้มั่นคงประทับตราไว้ที่หินและวางยามประจำอยู่ วันนี้จะไม่มีชาวยิวจะไม่ไปทำอะไรเนื่องจากพักสงบในวันสะบาโตแรกในเทศกาลปัสกา(คืนวันพฤหัสเป็นคืนที่ 2 ที่พระศพของพระคริสต์อยู่ในอุโมงค์)

วันศุกร์ที่ 16 เดือนเดือนนิสาน

มก. 16:1 ครั้นวันสะบาโตล่วงไปแล้ว มารีย์ชาวมักดาลา มารีย์มารดาของยากอบและนางสะโลเม ซื้อเครื่องหอมมาเพื่อจะไปชโลมพระศพของพระองค์ใน ลก.23:56 พวกเธอก็กลับไปจัดแจงเครื่องหอมกับน้ำมันหอม ในวันสะบาโตนั้นพวกเธอก็หยุดการไว้ตามพระบัญญัติ(สะบาโตประจำสัปดาห์) ตรงนี้ให้เห็นว่ามีวันสะบาโต 2วันและวันเตรียมวันสะบาโตที่ 2 ตรงกับวันเสาร์ โดยเริ่มในเย็นวันศุกร์(วันศุกรนี้เป็นคืนที 3 ที่พระเยซูคริสต์อยู่ในอุโมงค์ฝังศพ)

วันเสาร์ที่ 17 เดือนนิสาน พระเยซูคริสต์ฟื้นขึ้นมาวันเสาร์วันสะบาโตของประจำสัปดาห์(Shabbat)เพราะว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าของวันสะบาโต-
มธ.12:8 "เพราะว่าบุตรมนุษย์เป็นเจ้าเป็นใหญ่เหนือวันสะบาโต"
สิ่งนี้ได้สำเร็จตามคำพยากรณ์ของพระคริสต์เรื่องหมายสำคัญของโยนาห์ในท้องปลา 3 วัน3คืน มธ.12:39 พระองค์จึงตรัสตอบเขาว่า "คนชาติชั่วและเล่นชู้แสวงหาหมายสำคัญ และจะไม่ทรงโปรดให้หมายสำคัญแก่เขา เว้นไว้แต่หมายสำคัญของโยนาห์ศาสดาพยากรณ์
12:40 ด้วยว่า `โยนาห์ได้อยู่ในท้องปลาวาฬสามวันสามคืน' ฉันใด บุตรมนุษย์จะอยู่ในท้องแผ่นดินสามวันสามคืนฉันนั้น 17:23 และเขาทั้งหลายจะประหารชีวิตท่านเสีย ในวันที่สามท่านจะกลับฟื้นขึ้นมาใหม่

วันอาทิตย์ที่ 18 เดือนนิสาน หลังจากวันสะบาโตไปแล้ว เป็นวันที่สาวกพบอุโมงค์ที่ว่างเปล่า
มารีย์ชาวมักดาลามาตอนเช้ามืดวันอาทิตย์แต่พระเยซูคริสต์ฟื้นขึ้นมาก่อนแล้วใน(ยน.20:1-2) วันสะบาโตสูงจบแล้วพวกหญิงนั้นออกไปซื้อเครื่องหอมมาเพื่อจะไปชโลมพระศพของพระองค์ ในวันอาทิตย์เป็นวันที่พระเยซูคริสต์ไปปรากฏกับสาวกที่เอมมาอูส
เหล่าอัครสาวกที่เดินไปกับพระเยซูบนถนนที่จะไปสู่เอ็มมาอูส ซึ่งเป็น “วันเดียวกัน”กับวันที่พระองค์ทรงฟื้นคืนพระชนม์ขึ้นมา (ลก.24:13) ซึ่งเหล่าอัครสาวกนั้นจำพระเยซูไม่ได้ และได้บอกท่านถึงเรื่องการตรึงพระเยซูบนไม้กางเขน (ข้อ 24:20) และพูดว่า “วันนี้เป็นวันที่สามตั้งแต่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น” (ข้อ 24:21)
ถ้านับจากวันพุธถึงวันอาทิตย์เป็นเวลา 4 วันพอดีจากเหตุการณ์ที่เขาพบพระคริสต์ก่อนถูกตรึงกางเขน


โดยสรุปคือ การที่จะทราบว่าพระคริสต์ทรงถูกตรึงบนกางเขนในวันใดของสัปดาห์นั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถ้าหากเรื่องนี้สำคัญมาก พระคัมภีร์ของพระเจ้าจะต้องมีการระบุไว้อย่างชัดเจนถึงวันนั้น ๆ แต่สิ่งที่สำคัญคือการที่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ และในทางกายภาพ พระองค์ทรงฟื้นคืนพระชนม์จากความตายนั่นต่างหาก สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเหตุผลที่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ นั่นคือเพื่อรับเอาความผิดทั้งหมดที่คนบาปทั้งหลายสมควรได้รับ ในพระคัมภีร์ยอห์น 3:16 และ ข้อ 3:36 ผู้ที่วางไว้ในพระองค์จะได้รับชีวิตนิรันดร์! 

ยน. 3:16 เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จนได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์

ยน. 3:36 ผู้ที่วางใจในพระบุตรก็มีชีวิตนิรันดร์ ผู้ที่ไม่เชื่อฟังพระบุตรก็จะไม่ได้เห็นชีวิต แต่พระพิโรธของพระเจ้าตกอยู่กับเขา


และการที่พระเยซูคริสต์ฟื้นในวันเสาร์หรือวันไหนๆ ไม่สำคัญเท่า วันนี้พระเยซูคริสต์ยังคงทรงพระชนม์อยู่ในชีวิตของเราหรือไม่ พระองค์กล่าวไว้ว่า


ลูกา 24:5-9
5 ฝ่ายผู้หญิงเหล่านั้นกลัวและซบหน้าลงถึงดิน ชายสองคนนั้นจึงพูดกับเขาว่า "พวกท่านแสวงหาคนเป็นในพวกคนตายทำไมเล่า
6 พระองค์ไม่อยู่ที่นี่ แต่ทรงเป็นขึ้นมาแล้วจงระลึกถึงคำที่พระองค์ได้ตรัสกับท่านทั้งหลาย เมื่อพระองค์ยังอยู่ในแคว้นกาลิลี
7 ว่า "บุตรมนุษย์จะต้องถูกอายัดไว้ในมือของคนบาป และต้องถูกตรึงที่กางเขน และวันที่สามจะเป็นขึ้นมาใหม่""
8 เขาจึงระลึกถึงพระดำรัสของพระองค์ได้
9 และกลับไปจากอุโมงค์ แล้วบอกเหตุการณ์ทั้งปวงนั้นแก่สาวกสิบเอ็ดคนและคนอื่นๆทั้งหลายด้วย


การฟื้นคืนพระชนม์เป็นสิ่งที่เราต้องระลึกไว้เสมอ และเราต้องออกไปประกาศข่าวประเสริฐให้กับคนทั้งหลายได้รับรู้

ปัจจุบันที่อุโมงค์ฝังพระศพของพระคริสต์(Garden Tomb) ที่ประเทศอิสราเอลมีข้อเขียนว่า "พระองค์ไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่พระองค์ทรงฟื้นคืนพระชนม์"
สรรเสริญพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์!

04 เมษายน 2555

ปัสกา เทศกาลแห่งชัยชนะ

สวัสดีครับเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ในเดือนนี้เป็นเดือนเมษายนแล้ว นั่นหมายถึงเราได้ผ่านพ้นช่วงไตรมาสแรกของปี 2012 มาแล้ว มีหลายสิ่งที่น่าจดจำและมีหลายสิ่งที่ต้องกลับไปทบทวนและเรียนรู้ในความผิดพลาด และนำมาปรับปรุงใหม่ ท่านเคยคิดไหมว่าในสถานการณ์ทุกอย่างในชีวิตของท่าน ต้องเผชิญปัญหาและจำเป็นต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ เมื่อท่านได้ก้าวข้ามไปได้ ในครั้งต่อไปเมื่อเผชิญปัญหาข้างข้างหน้า แต่เมื่อย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา ท่านได้ก้าวข้ามมาด้วยชัยชนะ ปัญหาที่กำลังเผชิญครั้งใหม่ ไม่ใช่เรื่องยากเลย ผมหวังว่าพระเจ้าแห่งอิสราเอลที่เราทั้งหลายเชื่อ พระองค์มีแผนการดีสำหรับประชากรของพระองค์เสมอในทุกสถานการณ์ พระองค์ปรารถนาให้เรามีชัยชนะและผ่านการทดสอบไปได้ 

ในช่วงประมาณวันที่ 6-14เดือนเมษายน 12 นี้ มีเทศกาลที่สำคัญของชาวอิสราเอลคือ เทศกาลปัสกา(Pesach)หรือ Passover เป็นเทศกาลที่ชาวอิสราเอลจะรับประทานขนมปังไร้เชื้อและผักขม เพื่อระลึกถึงการปลดปล่อยจากจากเป็นทาสในอียิปต์ 

คำว่า "ปัสกา"ในภาษาฮีบรูแปลว่า ผ่านไป หรือ ผ่านเว้น จากเหตุการณ์ในพระธรรมอพยพบทที่ 12 พระเจ้าผ่านไปและเขาไม่ถูกทูตแห่งความตายจัดการ เพราะเลือดทาที่ประตูนั้นจะเป็นหมายสำคัญ นอกจากแปลว่า ผ่านไป หรือผ่านเว้น ยังหมายความว่า "ยืนตระหง่านปกป้อง" พระเจ้าจะยืนตระหง่านปกป้อง เมื่อเห็นเลือดที่เป็นหมายสำคัญ ทูตแห่งความตายก็จะทำอะไรบ้านนั้นไม่ได้ เพราะพระเจ้ายืนตระหง่าน ปกป้องบ้านนั้นไว้ เมื่อเห็นเลือดที่ประตู พระเจ้าจะยืนตระหง่านปกป้องชีวิตของชนชาติอิสราเอล(อพย.12:1-14) ชนชาติอิราเอล ระลึกถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อเขา ในการนำเขาออกจากชนชาติอียิปต์ที่เขาไปเป็นทาส 430 ปี แม้เวลาจะผ่านมาหลายพันปี แต่อิสราเอลก็ยังยึดเทศกาลนี้อย่างมั่นคง เพราะเป็นการนัดหมายสำหรับคนของพระเจ้า นั่นคือสิ่งที่พระคัมภีร์ได้ย้ำเตือนกับเรา 

(ข้อ14) วันนี้จะเป็นวันที่ระลึกสำหรับเจ้า ให้เจ้าทั้งหลายถือไว้เป็นเทศกาลแด่พระเจ้าชั่วชาติพันธุ์ของเจ้า เจ้าจงฉลองเทศกาลนี้และถือเป็นกฎถาวร

ดังนั้นการฉลองเทศกาลปัสกาจึงมีความหมาย สำหรับคริสตชนเช่นเดียวกัน เพราะปัสกานั้นเกี่ยวข้องกับพระเยซูคริสต์ แต่หลายคริสตจักรได้รับอิทธิพลจากความคิดทางซีกโลกตะวันตก ได้จัดเทศกาลอีสเตอร์(Easter)ซึ่งเป็นการนำเอาความเชื่อแบบศาสนาต่างชาติ (Pagan)ที่ผสมผสานความเรื่องพระเยซูคริสต์มาแทนเทศกาลปัสกา เพียงเพราะต่อต้านคนอิสราเอลนั่นเอง ซึ่งสามารถอ่านบทความที่ผมเคยเขียนได้ได้ดังนี้ครับ

(ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทศกาลปัสกาและอีสเตอร์ :
http://pattamarot.blogspot.com/2011/04/blog-post.html)
(เทศกาลปัสกา : ก้าวสู่เสรีภาพใหม่ด้วยใจขอบพระคุณ
http://pattamarot.blogspot.com/2011/04/blog-post_15.html)

สำหรับปฏิทินของพระเจ้าจะบอกกับเราในแผนการของพระเจ้า เพื่อเราจะต้องรู้วาระเวลาและฤดูกาลของพระเจ้า เพราะพระเจ้าบอกว่า พระเจ้าจะทำให้ทุกอย่างสำเร็จตามฤดูกาลของมัน พระเจ้าเป็นผู้กำหนดฤดูกาล และไม่มีอะไรเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญสำหรับพระเจ้า พระองค์มีแผนการสำหรับทุกสิ่ง (ปญจ.3:1,2-9,11) ปฏิทินของพระเจ้าจึงสำคัญ เพื่อให้เราได้เข้าใจถึงจังหวะเวลาของพระเจ้า ว่าพระองค์กำลังทรงทำอะไรในโลกนี้

ในปีนี้ตามปฎิทินฮีบรูคือปี 5772 ปีแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า ผมชอบคำว่า "พันธสัญญา" เพราะนี่คือพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงเฝ้ามองดูบ้านของพระองค์ คือคริสตจักร และพระองค์ทรงยืนตระหง่าน ปกป้องบ้านนี้ไว้ และเรากำลังเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ของพระเจ้า (ยรม 29:11)ที่เป็นแผนงานเพื่อสวัสดิภาพ ไม่ใช่เพื่อทุกขภาพ เพื่อจะให้อนาคตและความหวังใจแก่เรา เป็นภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ถูกหว่านลงไปในดินในฤดูกาลก่อน และฤดูกาลใหม่ที่จะมาถึง เมล็ดพันธุ์ที่หว่านไปนั้นได้กลายเป็นต้นกล้าที่เติบโตขึ้น

เทศกาลปัสกาที่ชนชาติอิสราเอลถือรักษาไว้ตลอดหลายพันปี เกี่ยวข้องกับการตรึงที่กางเขนของพระเยซูคริสต์ ถ้าเราเข้าใจปัสกาอย่างแท้จริง เราจะยิ่งเห็นคุณค่าของพระเยซูมากขึ้น พระคัมภีร์ได้บอกถึงรายละเอียดว่าพระเจ้าให้เขาเตรียมลูกแกะ(อพย.12:1-5)หลักการนี้กำลังอิงให้เห็นว่า พระเยซูถูกเตรียมไว้แล้วสำหรับการไถ่โลกนี้ สำหรับการไถ่มวลมนุษยชาติ เหมือนที่พระเจ้าทรงไถ่ชนชาติอิราเอลออกจากอียิปต์ ในเทศกาลปัสกา พระเจ้าให้เตรียมลูกแกะที่ปราศจากตำหนิ การเลี้ยงนี้เป็นปัสกาของพระเจ้า พระเจ้าให้จัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง และการเลี้ยงนี้เป็นปัสกาของพระเจ้า คนยิวจะมีความสุขในสัปดาห์นี้มาก เพราะเขาระลึกถึงสิ่งที่พระเจ้าทำ เป็นเทศกาลที่เต็มไปด้วยความชื่นชมยินดี เพราะเป็นอิสระแล้ว(อพย.12:13)เลือดจะเป็นหมายสำคัญที่พระเจ้าจะผ่านเว้นในพระคัมภีร์ตอนนี้ และพระโลหิตของพระเยซูคริสต์ที่หลั่งออกที่กางเขน นำการช่วยเราทั้งหลายพ้นจากทาสของบาปและเป็นไทในพระคุณของพระคริสต์ พระเยซูคริสต์จึงเป็นเสมือนแกะปัสกาที่ถูกนำไปฆ่า เพื่อนำการผ่านเว้นจากการลงโทษ และนำชัยชนะมาสู่ชีวิตของเราทุกคน

ยน.13:1ก่อนถึงเทศกาลปัสกา พระเยซูทรงทราบว่า ถึงเวลาแล้วที่พระองค์จะทรงจากโลกนี้ไปหาพระบิดา พระองค์ทรงรักพวกของพระองค์ซึ่งอยู่ในโลกนี้ พระองค์ทรงรักเขาจนถึงที่สุด 


พระเจ้าสำแดงความรักของพระเจ้าจนถึงที่สุดและยอมตายที่ไม้กางเขนเพื่อมวลมนุษยชาติ นี่คือความรักของพระเยซูที่มีต่อเรา สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ใช่ด้วยความบังเอิญ ปัสกาเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชกิจของพระเยซูทั้งสิ้น (ยน.12:27)พระองค์มาเพื่อมาไถ่บาปให้กับมวลมนุษย์ เพราะพระองค์เป็นพระเมษโปดก พระองค์เป็นแกะที่ปราศจากตำหนิ ที่ถูกเตรียมไว้สำหรับเทศกาลปัสกา เราขอบคุณพระเจ้า

สำหรับพระโลหิตพระเยซู ที่พระองค์หลั่งออกเพื่อเรา เทศกาลปัสกาเป็นเรื่องของพระโลหิตของพระเยซูที่พระองค์มาไถ่เราให้พ้นจาก ความบาป และพระเยซูบอกให้เราทั้งหลายถือเทศกาลนี้เหมือนอย่างที่พระองค์ถือ ในช่วงที่พระองค์กำลังจะถูกตรึง พระองค์กำลังเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกากับสาวก (ยน.13) ดังนั้นพระเยซูคริสต์เห็นความสำคัญของเทศกาลปัสกา และปัสกาเล็งถึงชัยชนะจากความบาปความตาย เราจะเห็นได้ว่าเมื่อกษัตริย์ของอิสราเอลนำการรื้อฟื้นเทศกาลปัสกา จะเห็นการฟื้นฟู ตัวอย่างเช่น

2 พศด.29-30 ในสมัยของเฮเซคียาห์ เมื่อคนของพระเจ้าถดถอยและกลับไปหารูปเคารพ เขาให้ละเลยต่อเทศกาลปัสกาของพระเจ้า พระเจ้าได้ยกเฮเซคียาห์ขึ้นเพื่อฟื้นฟูอิสราเอลให้กลับมาหาพระเจ้า เราเห็นรูปแบบหลักการนี้ คนของพระเจ้าเมื่อห่างจากทางของพระเจ้าหันไปหารูปเคารพ และเมื่อคนของพระเจ้ากลับมาหาพระเจ้า กลับมาแสวงหาพระเจ้า สิ่งหนึ่งที่พระเจ้ามาย้ำเตือนกับคนของพระเจ้าก็คือ รื้อฟื้นเทศกาลปัสกาขึ้นมาใหม่ พวกเขารื้อฟื้นการนมัสการพระเจ้า การรื้อฟื้นการนมัสการ นำมาซึ่งการทรงสถิตของพระเจ้า ที่ใดก็ตามที่มีเสียงแห่งการสรรเสริญพระเจ้าจะอยู่ท่ามกลางที่นั่น อีกตัวอย่างหนึ่งที่เราเห็นชัดเจนที่พระคัมภีร์ได้พูดไว้คือ (2พศด.35) ในสมัยของโยสิยาห์ เป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่พระเจ้าใช้ เพื่อนำคนอิสราเอลกลับมาหาพระเจ้า

อิสราเอลจึงต้องตื่นตระหนักถึงความสำคัญในการเข้าเฝ้าพระเจ้า ไม่ใช่เป็นอิสราเอลที่หลับไหลและตายในฝ่ายวิญญาณ คือ อิสรา "เอน" ไปสู่ เลบา"นอน" ข้ามทะเลอา"หลับ" หากไม่ตื่นขึ้นก็ไปสู่ ดินแดนปาเลส "ตาย"การกลับมาฉลองเทศกาลต่างๆที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้เป็นการกลับมาเข้าสู่ตารางนัดหมายของพระเจ้า (Divine Appointment)พระเจ้าทรงตั้งเทศกาลไว้เพื่ออำนวยพระพร

เทศกาลของชนชาติแห่งพระพร การก้าวข้ามอุปสรรคไปสู่พระพร

ชนชาติแห่งพระพร คือ “ชาวฮีบรู” เพราะชนชาตินี้เป็นชนชาติที่พระเจ้าทรงตั้งไว้เพื่อที่จะอวยพระพรและนำพระพรไปสู่ประชาชาติดังที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับอับบราฮัม (ปฐก.12:2-3) 2 เราจะให้เจ้าเป็นชนชาติใหญ่ เราจะอวยพรแก่เจ้า จะให้เจ้ามีชื่อเสียงใหญ่โตเลื่องลือไป แล้วเจ้าจะช่วยให้ผู้อื่นได้รับพร 3 เราจะอำนวยพรแก่คนที่อวยพรเจ้า เราจะสาปคนที่แช่งเจ้า บรรดาเผ่าพันธุ์ทั่วโลกจะได้พรเพราะเจ้า"

อับราฮัมเป็นคนแรกที่พระเจ้าทรงเรียกมาเพื่อรับพระพร เขาถูกเรียกโดยพระเจ้าว่าเป็นชาวฮีบรูคำว่า "ฮีบรู" (Hebrew) หมายถึง การก้าวข้าม (crossover) ที่เป็นอย่างนั้นเพราะท่านได้รับการทรงเรียกให้ออกจากเมืองไปสู่สถานที่แห่งพระพร

ปฐก.14:13 มีคนหนึ่งหนีมาจากที่รบนั้นบอกให้อับรามคนฮีบรูรู้ เพราะอับรามอาศัยอยู่ที่หมู่ต้นก่อหลวงของมัมเร ...
คำนี้มีความหมายคือ คนแปลกถิ่น(Alien) ที่เที่ยวไปบนอยู่โลกผู้เขียนพระธรรมฮีบรูได้ให้ความหมายไว้
ฮบ.11:13 คนเหล่านั้นได้ตายไปขณะที่มีความเชื่อเต็มที่ และไม่ได้รับสิ่งที่ได้ทรงสัญญาไว้ แต่เขาก็ได้เห็นและได้เตรียมรับไว้ตั้งแต่ไกล และรู้ดีว่าเขาเป็นคนแปลกถิ่นที่ท่องเที่ยวไปในโลก


ข้อคิดคือ พระเจ้ามักจะเรียกร้องคนของพระองค์ให้ตัดสินใจก้าวข้ามอุปสรรค ด่านทดสอบความเชื่อ และเมื่อผ่านไปแล้ว นั่นหมายถึงพระพรที่เราจะได้รับ

สำหรับผมแล้วเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกใจเลย ที่คริสตชน คนอย่างพวกเราต้องเป็นเหมือนคนต่างถิ่น ที่อยู่บนโลก เพราะบ้านเมืองเราอยู่สวรรค์ต่างหาก(ฟป.3:20) ที่เราจะต้องเดินทางไปให้ถึง แม้ในโลกนี้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหา แต่เราต้องก้าวข้ามให้ได้

จากชาวฮีบรูไปสู่นามอิสราเอล


ชื่อว่าฮีบรูถูกใช้จนถึงพงศ์พันธ์ของยาโคบ จึงเปลี่ยนเป็น "อิสราเอล คือผู้ที่ปล้ำสู้"
คำว่า “อิสราเอล” (Israel)สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากรากศัพท์ภาษาอาโมไรท์ (Amorite) โบราณที่ใช้กันในช่วงเวลาประมาณปี 2,000 กคศ. ซึ่งท้ายคำหลัง “ el-เอล” มีความหมายถึง “God (พระเจ้า)” ในพระคัมภีร์บันทึกว่ายาโคบ ได้ปล้ำสู้เพื่อขอพระพรจากพระเจ้า (ปฐก.29:31-30;24)

ปฐก. 32:28 บุรุษนั้นจึงว่า "เขาจะไม่เรียกเจ้าว่ายาโคบต่อไป แต่จะเรียกว่า อิสราเอล {แปลว่า เขาผู้ปล้ำสู้กับพระเจ้า หรือพระเจ้าทรงปล้ำสู้} เพราะเจ้าสู้กับพระเจ้าและมนุษย์ และได้ชัยชนะ"

ชนชาติอิสราเอล 12 เผ่ามาจากเชื้อสายของยาโคบ พวกเขาต้องตกไปเป็นทาสในอียิปต์มากกว่า 430 ปี พวกเขาต้องออกเดินทางอีกครั้งนำโดยโมเสส และต้องก้าวข้ามผ่านทะเลแดง ถิ่นทุรกันดาร และแม่น้ำจอร์แดน จนกว่าจะได้เข้าดินแดนแห่งพระสัญญาคือคานาอันนี่คือ การเดินทาง"อพยพ" มาสู่"กันดารวิถี" สถานที่มีการทดสอบจากพระเจ้า แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่สามารถสอบผ่านได้ เพราะมีการเฉลยบททดสอบนั้นไว้แล้ว คือ "เฉลยธรรมบัญญัติ" 

ฉธบ.31:8 ผู้ที่ไปข้างหน้าคือพระเจ้า พระองค์ทรงสถิตอยู่ด้วย พระองค์จะไม่ทรงปล่อยท่านให้ล้มเหลวหรือทอดทิ้งท่านเสีย อย่ากลัวและอย่าขยาดเลย"

อิสราเอลที่หลงเจิ่นไป แต่ยิว สิงห์แห่งยูดาห์นำมาซึ่งพระพร ผ่านทางพระเยซูคริสต์คำว่า "ยิว"(Jew)มาจากชื่อของบุตรคนที่สี่ของยาโคบ,ยิวมาจากคำว่า ยูดาห์ - Yehudah ในภาษาฮีบรู ซึ่งดาวิดเป็นกษัตริย์ปกครองอิสราเอลซึ่งประกอบด้วยหนึ่งในสิบสองเผ่าของอิสราเอล สิ้นราชวงศ์ของดาวิด อาณาจักรอิสราเอลก็แตก แบ่งออกเป็น 2 ประเทศ คือ

ฝ่ายเหนือ "อิสราเอล" มีเมืองหลวงที่ สะมาเรีย(Samaria) อยู่ได้มาอีก 200 ปี (720 BC) แล้วโดนเผ่าอัสซีเรียตีแตกไป
ฝ่ายใต้ "ยูดาห์" (Judah) เมืองหลวงที่เยรูซาเล็ม สืบทอดวัฒนธรรมของอาณาจักรเดิม อยู่มาได้ประมาณ 300 ปี (586BC) แล้วโดนบาบีโลน (อิรักในปัจจุบัน) ตีแตก


ฝ่ายยูดาห์ที่ปกครองเยรูซาเล็ม สูญเสียเอกราชตั้งแต่แพ้บาบีโลน ชาวยิวก็ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจแถวๆ นั้นเรื่อยมา ถัดจากบาบีโลนก็เป็น เปอร์เซีย (อิหร่าน),
กรีก (เริ่มยุคของอเล็กซานเดอร์),โรมัน (พระเยซูคริสต์ประสูติในยุคนี้)...จนถึงการล่มสลายในปี ค.ศ. 70 พระวิหารถูกทำลาย และกระจัดกระจายไปทั่วโลก จนในที่สุดในปี ค.ศ.1948 ชาวยิวจึงได้กลับมารวมชาติกันอีกครั้ง
สิ่งที่สำคัญคือการกลับมาสู่รากของความเป็นยิว เพราะชาวยิวเข้าใจวาระเวลาและฤดูกาลของพระเจ้า มากกว่าคนต่างชาติ ดังที่พระเยซูคริสต์พูดกับหญิงชาวสะมาเรียใน 


ยน.4:22-25
22 ซึ่งเจ้านมัสการนั้นเจ้าไม่รู้จัก ซึ่งพวกเรานมัสการเรารู้จัก เพราะความรอดนั้นมาจากพวกยิว
23 แต่วาระนั้นใกล้เข้ามาแล้ว และบัดนี้ก็ถึงแล้ว คือเมื่อผู้ที่นมัสการอย่างถูกต้องจะนมัสการพระบิดา ด้วยจิตวิญญาณและความจริง เพราะว่าพระบิดาทรงแสวงหาคนเช่นนั้นนมัสการพระองค์
24 พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ และผู้ที่นมัสการพระองค์ ต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง"
25 นางทูลพระองค์ว่า "ดิฉันทราบว่าพระมาซีฮา (ที่เรียกว่าพระคริสต์) จะเสด็จมา เมื่อพระองค์เสด็จมาพระองค์จะทรงชี้แจงทุกสิ่งแก่เรา"


พระเยซูคริสต์ กษัตริย์แห่งยูดาห์ จึงเป็นพระมาซีฮาผู้นำการปลดปล่อย และเป็นพระเจ้าผู้ประทานความรอดให้กับคนทั้งหลาย !
เทศกาลปัสกาให้ภาพของพระโลหิตของพระเยซูคริสต์ที่หลั่งออก และความตายของพระองค์บนกางเขนเพื่อชำระบาปผิด ภาพของพระเยซูคริสต์ก้าวไปมากกว่าแค่การเสด็จมาสิ้นพระชนม์ แต่คือภาพแห่งชัยชนะ และภาพแห่งการเป็นผู้พิชิต นั่นคือภาพที่พระเยซูคริสต์ ออกจากหลุมฝังศพ ออกจากหลุมแห่งความตาย และประกาศก้องให้โลกได้รู้ว่า “ทรงชนะโลกแล้ว” เหล็กไนแห่งความตายพ่ายแพ้แล้ว (1 คร.15:16-22) เราควรจะดำเนินชีวิตด้วยสิ่งที่ได้รับจากพระเจ้านั่นคือ

1.รับชัยชนะ (1คร.15:54-57) 


ภาคปฏิบัติเพื่อรับชัยชนะเหนือความบาปและความตาย รับพระคริสต์ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าใหญ่ยิ่งสูงสุดในชีวิตเรา (รม.10:9) ทั้งยอมรับด้วยปาก ด้วยใจ และด้วยการกระทำให้พระองค์เข้ามาครอบครองทุกห้องหัวใจของเรา ดำเนินชีวิตในเสรีภาพของพระวิญญาณแห่งชีวิต (รม.8:2), (รม.8:5-6)คือ การดำเนินชีวิตโดยไม่ตามใจเนื้อหนัง โดยการพึ่งพาการช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่พระเยซูคริสต์ประทานให้แก่ผู้เชื่อ

2.รับฤทธิ์เดชในการรับใช้พระเจ้า (ฟป.3:10-11)


พระเจ้าทรงพระประสงค์ให้เรารู้จักฤทธานุภาพซึ่งชุบพระเยซูคริสต์ขึ้นมาจากความตาย โดยการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ เราจึงมีชีวิตใหม่ พระคริสต์ทรงพระชนม์อยู่ในเรา
3. ดำเนินชีวิตในชัยชนะ (รม.6:4)พระเยซูคริสต์ฟื้นขึ้นมาจากความตายอย่างมีสง่าราศี มีกายใหม่ ชีวิตในปัจจุบันของเราก็สามารถมีสง่าราศี มีชีวิตใหม่ที่ลอกคราบตัวเก่าออกได้ เมื่อชีวิตเก่าลอกคราบ ชีวิตใหม่ก็สวยสดงดงาม ดังภาพผีเสื้อ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทะลุทะลวงผ่านสิ่งที่เป็นเปลื้องดักแด้ที่ห่อหุ้ม และเพื่อทะลุทลวงผ่านไปได้จะเป็นผีเสื้อที่สวยงาม (2 คร.5:17) (ลก.24:46-50) นี่เป็นเหตุการณ์ภายหลังจากที่พระเยซูคริสต์ถูกตรึงบนกางเขน และในวันที่สามพระองค์ทรงฟื้นคืนพระชนม์ ทรงเสด็จมาหาสาวกของพระองค์ และกำชับเขาให้ออกไปเป็นพยานด้วยฤทธิ์เดชจากเบื้องบน นี่จึงเป็นการรับใช้ที่พระเจ้าสถิตอยู่ด้วย เป็นการรับใช้ที่ไม่ได้เคลื่อนตามใจมนุษย์ แต่เคลื่อนตามฤทธิ์เดชพระวิญญาณที่พระเยซูคริสต์มอบให้ และเมื่อเคลื่อนตามพระเจ้า มันจะสำเร็จตามพระทัยของพระองค์และรับใช้อย่างผู้ชนะ ไม่ใช่ผู้พ่ายแพ้


วันนี้พระเยซูคริสต์ไม่ได้ทรงอยู่ในหลุมฝั่งศพ แต่พระองค์เป็นขึ้นมาจากความตาย การที่พระเยซูคริสต์เป็นขึ้นมาจากความตายนั้นเป็นการประกาศชัยชนะเหนืออาณาจักรแห่งความมืดแล้ว เป็นเหมือนกับคำสั่งให้เราทั้งหลาย "ยกพลขึ้นบก"เป็นวัน D-day เพื่อลุกขึ้นครอบครอง

มธ.28:18-20
18 พระเยซูจึงเสด็จเข้ามาใกล้แล้วตรัสกับเขาว่า "ฤทธานุภาพทั้งสิ้นในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดีทรงมอบไว้แก่เราแล้ว
19 เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ ให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติศมาในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์
20 สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้ นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค"


วันดีเดย์ (D-day) หรือที่เรารู้จักกันในคำที่ใช้เรียกวันที่ 6 เดือนมิถุนายน 1944 ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลกว่า 100,000 นายขึ้นฝรั่งเศสใน Operation Overlord จนเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปจากนั้นมาคำว่าดีเดย์ก็ถูกใช้แทนความหมายของการเริ่มต้นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เช่น ดีเดย์ ชุมนุมใหญ่ วันที่เท่านี้เป็นต้น จนเราเข้าใจว่าการยกพลขึ้นบกในวันนั้นชื่อว่าวัน D- Day
แต่ในวันที่พระเยซูคริสต์จะกลับมาอีกครั้ง เพื่อครอบครองโลกนี้จะเป็นวัน VE day แห่งการประกาศชัยชนะของพระองค์
VE day หรือ Victory in Europe day วันนี่คือวันแห่งชัยชนะ เหนือเยอรมันนี วันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรประกาศชัยชนะร่วมกัน โดยในวันที่ 2-3 พฤษภา 1945 ฝ่ายเยอรมัน ได้ประกาศยอมแพ้สงคราม ทำให้สงครามฝั่งยุโรปสิ้นสุดลง

ในวันนี้ ให้เราทั้งหลายตั้งมั่นคงในพระสัญญาของพระเจ้า ทุกครั้งที่รับพิธีมหาสนิท เล็งถึงปัสกา ที่พระเยซูคริสต์ทรงรับร่วมกับสาวก

มธ 26:18-29
18 พระองค์จึงตรัสตอบว่า "จงเข้าไปหาผู้หนึ่งในกรุง บอกเขาว่า "พระอาจารย์ว่า "กาลกำหนดของเรามาใกล้แล้ว เราจะถือปัสกาที่บ้านของท่านพร้อมกับพวกสาวกของเรา"
19 ฝ่ายสาวกเหล่านั้นก็กระทำตามรับสั่ง แล้วได้จัดเตรียมปัสกาไว้พร้อม
20 ครั้นถึงเวลาพลบค่ำ พระองค์ประทับร่วมสำรับกับสาวกสิบสองคน
26 ระหว่างอาหารมื้อนั้น พระเยซูทรงหยิบขนมปังมา และเมื่อถวายสาธุการแล้ว ทรงหักส่งให้แก่เหล่าสาวกตรัสว่า "จงรับกินเถิด นี่เป็นกายของเรา"
27 แล้วพระองค์จึงทรงหยิบถ้วยโมทนาพระคุณและส่งให้เขา ตรัสว่า "จงรับไปดื่มทุกคนเถิด
28 ด้วยว่านี่เป็นโลหิตของเรา อันเป็นโลหิตแห่งพันธสัญญา ซึ่งต้องหลั่งออกเพื่อยกบาปโทษคนเป็นอันมาก
29 เราบอกท่านทั้งหลายว่า เราจะไม่ดื่มน้ำผลแห่งเถาองุ่นต่อไปอีกจนวันนั้นมาถึง คือวันที่เราจะดื่มกันใหม่กับพวกท่านในแผ่นดินแห่งพระบิดาของเรา"

ในเทศกาลปัสกาปีนี้ เป็นปัสกาแห่งชัยชนะที่เราทั้งหลายจะประกาศชัยชนะเหนืออุปสรรคปัญหา เหนือความบาป และเราทั้งหลายจะเตรียมชีวิตให้พร้อมเพื่อรอรับ จอมกษัตริย์ที่กำลังจะเสด็จกลับมา สรรเสริญพระเจ้า

1 คร.16:22...ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาเถิด Maranatha!