30 สิงหาคม 2560

กลับมาหาความหมายของคริสตจักรที่แท้จริง (Ekklesia)

บทความเรื่อง "กลับมาหาความหมายของคริสตจักรที่แท้จริง" (Rediscovering the Original Ekklesia)  โดย โคดี้ อาเชอร์(Cody Archer)
ผมเชื่อว่าเรากำลังอยู่ในเวลาที่พระวิญญาณกำลังให้ความสำคัญกับคำว่า Ekklesia (แปลว่าคริสตจักรตามภาษากรีก ส่วนภาษาฮีบรูใช้คำว่า Kehila) เพื่อที่จะช่วยให้เรากลับมารับรู้และเดินในความหมายที่แท้จริง
ตลอดทั้งพระคัมภีร์เราพบว่ามีการใช้ภาษาตามโลกในยุคปัจจุบันเพื่อสื่อสารถึงความจริงฝ่ายวัญญาณในอาณาจักรพระเจ้า วิธีที่เราให้ความหมายและใช้คำว่าคริสตจักร (Ekklesia)ในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงไป
อย่างมากและไม่ได้ตั้งอยู่บนบริบทและความหมายดั้งเดิมของคำเรียกออกไปให้ครอบครอง
หลายศตวรรษก่อนที่พระคัมภีร์ใหม่จะเขียนขึ้น ชาวกรีกใช้คำว่า Ekklesia เพื่ออธิบายถึงกลุ่มประชากร  
  ที่ถูกเรียกออกมาเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการปกครอง คนกลุ่มนี้จะมีประมาณ 6000 คนเป็นชายอายุมากกว่า 18 ปี พวกเขาจะพบกันเป็นประจำเพื่ออภิปรายและลงคะแนนเสียงรับรองข้อเสนอกฎหมายใหม่ รวมถึง     กลยุทธทางการทหารและเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
แม้ว่าชาวกรีกคิดคำนี้ขึ้นมา แต่กลายเป็นชาวโรมันที่นำไปใช้ พัฒนา และทำให้คำว่า ‘Ekklesia’ และหน้าที่ของมันเกิดขึ้นจริงในท่ามกลางอาณาจักร กลุ่มEkklesiaได้มาชุมนุมกันต่อหน้าจักรพรรดิ์โรมันเพื่อฟังและบันทึกถ้อยคำของพระองค์ จากนั้นพวกเขาจะต้องเฝ้าดูเพื่อว่าพระประสงค์และความต้องการของพระองค์นั้นจะเกิดขึ้นจริงทั่วอาณาจักร
นี่คือหน้าที่ที่เรา ‘Ekklesia’ ถูกเรียกมาให้ทำ ในฐานะผู้ปกครองภายใต้ผู้ปกครองสูงสุดคือพระเยซูองค์กษัตริย์       เราถูกเรียกออกมาจากอาณาจักรแห่งความมืดเพื่อไปชุมนุมต่อหน้ากษัตริย์ของเราด้วยความใกล้ชิดและความสนิทสนม(โคโลสี1:13) เราจะต้องฟังเสียงของพระองค์และจดบันทึกน้ำพระทัย แผนงาน และ กลยุทธของพระองค์เหมือนพวกอาลักษณ์(ผู้จดบันทึกหรือคัดลอกจากนั้นภายใต้สิทธิอำนาจและการเป็นหุ้นส่วนกับพระองค์ เราได้รับมอบหมายให้เชื่อฟังและทำตามสิ่งที่เราได้ยินในการทรงสถิตของพระองค์    (มัทธิว28:18-20)
ทำให้พระประสงค์ของกษัตริย์รุดหน้าไป
นี่คือสิ่งที่พระเยซูได้รับใน มัทธิว16:13-19 เมื่อพระองค์ถามบรรดาสาวกว่า
แล้วพระองค์ตรัสถามเขาทั้งหลายว่า “แล้วพวกท่านว่าเราเป็นใคร?” ซีโมนเปโตรทูลตอบว่า “พระองค์เป็นพระคริสต์หมายถึง ผู้ที่ได้รับการทรงเจิมพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่” มัทธิว16:13-19
จากนั้นพระเยซูได้ประกาศว่าพระองค์จะสร้างคริสตจักร(Ekklesia) ไว้บนการเปิดเผยสำแดงนี้ (แน่นอนว่าในบทสนทนาต้นฉบับพระเยซูใช้คำภาษาฮีบรู/อาราเมขว่า Kehila แต่ภายหลังผู้อ่านพระกิตติคุณ          ชาวกรีกคงได้ยิน/อ่านว่า Ekklesia) อีกด้านหนึ่งหมายถึงว่า “เจ้าได้เห็นหน้าที่ของกลุ่ม Ekklesiaของโรมแล้วในเรื่องสิทธิอำนาจด้านการปกครองภายใต้จักรพรรดิ์ของเขา แต่บัดนี้เป็นเวลาที่จะสถาปนากลุ่ม Ekklesiaของเราเอง ซึ่งเราเป็นศีรษะและกษัตริย์ พลังแห่งความตายไม่สามารถยับยั้งการครอบครองของเราให้หยุดแผ่ขยายได้
ความหมายด้านการปกครองตามแบบฉบับเดิมของ Ekklesia ในพันธสัญญญาใหม่นั้นเชื่อมโยงโดยตรวกับพระประสงค์ของพระเจ้าที่ให้ไว้กับมนุษย์ในปฐมกาล 1:26
ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาของเรา… ให้ครอบครอง….บนแผ่นดินทั้งหมด” ปฐมกาล 1:26
นี่หมายถึงการปกครอง การครอบครอง การจัดระเบียบ การจัดการ การปกป้อง การดูแลรักษาและอื่นๆ    เราถูกเรียกให้ปกครองโลกทั้งสิ่งมีชีวิตและทรัพยากร
เรากำลังเคลื่อนเข้าไปใกล้การกลับคืนสู่สภาพดีของทุกสิ่ง ส่วนหนึ่งในกระบวนการนี้รวมถึงการที่คริสตจักรทั่วทั้งโลกของพระเยซูกลับมาหาตัวตนและการทรงเรียกที่แท้จริงของเธอในฐานะคณะปกครองของผู้ที่ถูกเรียกให้ครอบครองโลกและทุกมิติของสังคมนี้ภายใต้การนำของพระเยซูองค์กษัตริย์ (กิจการ1:8)

ขอบคุณข้อมูลจาก https://tribe.reviveisrael.org/rediscovering-the-original-ekklesia/

25 สิงหาคม 2560

กรอบความคิดแบบฮีบรู #1

บทความเรื่อง "กรอบความคิดแบบฮีบรู" #1 โดย Philip Kavilar (Haiyong)

ชาโลมครับเพื่อนๆ

ช่วงที่ผ่านมามีเรื่องหนึ่งที่ได้เปลี่ยนความคิดผมไปมากและเป็นเรื่องหนึ่งที่ผมอยากแบ่งปันให้เพื่อนๆฟัง ก็คือเรื่องกรอบความคิดแบบฮีบรู (Hebrew Mindset) เราทุกคนที่เป็นชาวต่างชาติมักจะได้รับอิทธิพลจากกรอบความคิดแบบกรีก (Greek Mindset) มาอย่างไม่รู้ตัว มีเพียงชนชาติอิสราเอลที่ถูกปลูกฝังกรอบความคิดแบบฮีบรู ด้วยกรอบความคิดแบบฮีบรูนี่เองที่ทำให้ชาวยิวมีอิทธิพลต่อโลกในหลายด้าน

กรอบความคิดแบบกรีกได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาของเพลโต ที่แยกโลกฝ่ายวิญญาณกับโลกฝ่ายกายภาพออกจากกัน กรอบความคิดแบบกรีกมองว่าโลกฝ่ายวิญญาณเป็นสิ่งบริสุทธิ์ แต่โลกฝ่ายกายภาพเป็นสิ่งมลทิน ด้วยกรอบความคิดนี้ทำให้เกิดความเชื่อที่ว่าฝ่ายวิญญาณ เช่น การอธิษฐาน การนมัสการ และการมาคริสตจักร เป็นสิ่งบริสุทธิ์ ส่วนฝ่ายกายภาพ เช่น การทำงานอาชีพ การกินอาหาร และการใช้เงิน เป็นสิ่งมลทิน กรอบความคิดแบบกรีกนี้สะท้อนอยู่ในหลายๆศาสนาที่มักจะพาให้ผู้คนออกจากโลก(ฝ่ายกายภาพ) เพื่อให้ใส่ใจแต่ทางธรรม(ฝ่ายวิญญาณ)อย่างเดียว กรอบความคิดแบบกรีกนี้ยังมีผลต่อศาสนาคริสต์ด้วย ทำให้ชาวคริสต์บางท่านใส่ใจแต่ชีวิตการอธิษฐานและการมาคริสตจักร ส่วนชีวิตการทำงานกลับละเลยและไม่กล้าที่จะมีความสุขกับสิ่งของทางกายภาพที่พระเจ้าทรงสร้างมา

กรอบความคิดแบบฮีบรูมองว่าโลกฝ่ายกายภาพกับโลกฝ่ายวิญญาณนั้นเชื่อมติดกันและแยกกันไม่ออก กรอบความคิดแบบฮีบรูมองว่าโลกฝ่ายวิญญาณและโลกฝ่ายกายภาพเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ทั้งคู่ กรอบความคิดแบบฮีบรูมองว่าโลกฝ่ายกายภาพเป็นการทรงสร้างจากองค์พระผู้เป็นเจ้า โลกฝ่ายกายภาพจึงเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ในสายตาของพระเจ้า ดังนั้นในกรอบความคิดแบบฮีบรู การทำงานอาชีพ การกินอาหาร และการใช้เงิน ไม่ได้เป็นสิ่งมลทินแต่ประการใด สิ่งเหล่านี้ก็บริสุทธิ์พอๆกับการอธิษฐาน การนมัสการ และการมาคริสตจักร แท้จริงแล้วรากศัพท์คำหนึ่งของคำว่า นมัสการ ในภาษาฮีบรูยังหมายถึง การทำงาน ด้วย ดังนั้นกรอบความคิดแบบฮีบรูจึงมองว่าการทำงานอาชีพเป็นสิ่งบริสุทธิ์และเป็นการนมัสการพระเจ้า

ด้วยกรอบความคิดแบบฮีบรูที่มองว่าโลกฝ่ายกายภาพกับโลกฝ่ายวิญญาณเชื่อมติดกัน โลกฝ่ายกายภาพจึงสะท้อนถึงสิ่งต่างๆในโลกฝ่ายวิญญาณ  เช่น สถาบันครอบครัวถูกสร้างมาเพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระบิดากับพระบุตร น้ำถูกสร้างมาเพื่อสะท้อนว่าพระคริสต์ทรงเป็นการชำระและการดับกระหาย แผ่นดินถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสะท้อนว่าพระคริสต์ทรงเป็นฐานที่มั่นของสิ่งต่างๆ แท้จริงแล้วสรรพสิ่งในโลกกายภาพล้วนสะท้อนถึงพระคริสต์ทั้งนั้น เช่น อาหารสะท้อนถึงพระคริสต์ทรงเป็นอาหารแท้ แสงสว่างสะท้อนถึงพระคริสต์ทรงเป็นความสว่างแท้ บ้านที่เราอาศัยก็สะท้อนถึงพระคริสต์ทรงเป็นที่พักอาศัยแท้ของเรา สีต่างๆในโลกฝ่ายกายภาพก็สะท้อนถึงพระคริสต์ เช่น สีแดงเล็งถึงพระโลหิตของพระคริสต์ สีทองเล็งถึงพระสิริของพระคริสต์ สีฟ้าเล็งถึงพระคริสต์ทรงเป็นสิ่งของฝ่ายสวรรค์ สรุปได้ว่าสรรพสิ่งถูกสร้างโดยพระองค์และเพื่อพระองค์ นี้แหละคือพระปัญญาขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่เนรมิตสร้างสรรพสิ่งโดยมีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง

(โคโลสี 1:16) เพราะ​ว่า​โดย​พระ​องค์[พระคริสต์]​ทุก​สิ่ง​ได้​รับ​การ​ทรง​สร้าง​ขึ้น ทั้ง​สิ่ง​ที่​อยู่​บน​ท้อง​ฟ้า​และ​บน​แผ่น​ดิน​โลก ทั้ง​สิ่ง​ที่​มอง​เห็น​และ​สิ่ง​ที่​มอง​ไม่​เห็น…  ทุก​สิ่ง​ถูก​สร้าง​ขึ้น​โดย​พระ​องค์[พระคริสต์]​​และ​เพื่อ​พระ​องค์[พระคริสต์]


พ่อผู้ที่เป็นบิดาฝ่ายกายภาพเป็นแบบเล็งของพระเจ้าที่เป็นพระบิดาฝ่ายวิญญาณ



อาหารฝ่ายกายภาพที่เรากินก็เป็นแบบเล็งของพระคริสต์ที่เป็นอาหารฝ่ายวิญญาณ

 
แม้แต่บ้านฝ่ายกายภาพก็เป็นแบบเล็งของพระคริสต์ที่เป็นบ้านและที่พักฝ่ายวิญญาณ


สรุป
โลกฝ่ายกายภาพกับโลกฝ่ายวิญญาณไม่ได้แยกจากกันตามกรอบความคิดแบบกรีก แต่โลกฝ่ายกายภาพกับโลกฝ่ายวิญญาณพัวพันกันและเป็นหนึ่งเดียวกัน สรรพสิ่งในโลกฝ่ายกายภาพไม่ได้เป็นสิ่งมลทิน แต่สะท้อนถึงหลักความจริงหลายๆอย่างในฝ่ายวิญญาณด้วย

ขอขอบคุณ

คุณ Munin สำหรับการวาดรูปประกอบ

22 สิงหาคม 2560

หนังสือ E-book สำหรับครอบครัวที่ควรจะมีไว้ครอบครอง พบกันเร็วๆนี้

หนังสือ E-book สำหรับครอบครัวที่ควรจะมีไว้ครอบครอง พบกันเร็วๆนี้






















สุภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า กินผักในที่มีความรัก ดีกว่ากินวัวอ้วนพีในที่มีความเกลียดชัง   หากบรรยากาศบ้านไม่น่าอยู่ คนในบ้านคงไม่อยากอยู่ บ้านนั้นคงจะเงียบเป็น “บ้านร้าง”แทนที่จะเป็น “บ้านรัก”

            หนังสือ  บ้านในฝัน สวรรค์เดินได้ ชุดนี้ พวกเราอยากบอกคุณว่า เราจะช่วยให้คุณมีแบบบ้านในฝัน เพื่อจะสร้างบ้านของคุณ เป็นแบบที่คุณสามารถออกแบบได้ในแต่ละห้อง นำสวรรค์เข้ามาในบ้าน ที่สำคัญสวรรค์นั้นเดินได้นะ เพราะคุณสามารถพกหนังสือเล่มนี้ ติดตามคุณไปทุกที่   เราหวังว่าคุณจะชอบและอ่านหนังสือเล่มนี้ร่วมกับคนในบ้านของคุณ   ในที่ๆ เป็นมุมโปรดของคุณ ทุกๆ วันนะ”   


จากใจครอบครัวนัฟทาลี

18 สิงหาคม 2560

แนวทางการตีความพันธสัญญาเดิม

แนวทางการตีความพันธสัญญาเดิม โดย  Philip Kavilar (Haiyong)


   เวลาเพื่อนๆอ่านพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ เพื่อนๆก็มีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่เป็นหนังสือที่อ่านได้ไม่ยากนัก แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อเพื่อนๆอ่านพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม เพื่อนๆก็มีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่า พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมดูเหมือนจะอ่านยาก บางครั้งบางคราว พฤติกรรมของพระเจ้าในภาคพันธสัญญาเดิมก็ดูแปลกๆ 

     อย่างไรก็ตาม สำหรับคริสตจักรยุคแรก พระคัมภีร์ที่พวกเขามีอยู่ ก็มีเพียงภาคพันธสัญญาเดิม ผมเคยคุยกับนักวิชาการพระคัมภีร์ท่านหนึ่ง นักวิชาการท่านนั้นถามผมว่า พระคัมภีร์กับคริสตจักร อันไหนเกิดก่อนกัน?” เนื่องจากผมต้องการคำถามที่ชัดเจนขึ้น ผมจึงถามนักวิชาการท่านนั้นว่า พระคัมภีร์ในที่นี้หมายถึง ภาคพันธสัญญาเดิมอย่างเดียวหรือภาคพันธสัญญาใหม่ด้วย?” นักวิชาการท่านนั้นตอบว่า พระคัมภีร์ทั้งเล่ม เมื่อทราบคำถามอย่างชัดเจนแล้ว ผมจึงตอบว่า คริสตจักร เกิดก่อน พระคัมภีร์ เหตุที่ผมตอบเช่นนี้ เนื่องจากผมมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ว่า ในคริสตจักรยุคแรก พระคัมภีร์ที่พวกเขาใช้ ก็มีแต่ภาคพันธสัญญาเดิม อาจจะมีบ้างที่พวกเขาใช้จดหมายฝากของอัครทูตในภาคพันธสัญญาใหม่ แต่ในช่วง 300 ปีแรกของคริสตจักร ก็ยังไม่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่า จดหมายฝากอันไหนที่ควรนับว่าเป็นพระคัมภีร์ จนกระทั่งปลายศตวรรษที่4 หลังจากที่กษัตริย์คอนสแตนตินได้ปฏิรูปศาสนา จึงได้มีการกำหนดชัดเจนว่า งานเขียนอันไหนของอัครทูตที่ควรอยู่ในสารบบพระคัมภีร์ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ภายหลังจากที่คริสตจักรถือกำเนิดขึ้นมา 400 ปี ภาคพันธสัญญาใหม่จึงค่อยถูกผนวกเข้ากับพระคัมภีร์

            แม้พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมจะยากในการตีความ แต่คริสตจักรในช่วงยุคแรก ก็ใช้พระคัมภีร์แต่ภาคพันธสัญญาเดิม จากการค้นคว้าของผม ผมได้พบว่า แนวทางการตีความภาคพันธสัญญาเดิมสามารถแบ่งได้ 3 รูปแบบ หวังว่าเมื่อเพื่อนๆได้อ่านบทความนี้ เพื่อนๆจะเข้าใจแนวทางการตีความภาคพันธสัญญาเดิมได้มากขึ้น

รูปแบบที่1: การตีความเพื่อดึงเอาข้อคิด

          พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมมีเรื่องราวของประวัติศาสตร์มากมาย แนวทางแรกในการตีความภาคพันธสัญญาเดิมก็คือ การอ่านประวัติศาสตร์ในนั้นเพื่อดึงเอาข้อคิด การตีความเพื่อหาข้อคิด เป็นการตีความแบบพื้นฐาน เป็นวิธีการตีความที่ไม่ยากนัก ซึ่งในจดหมาย (1 โครินธ์) อัครทูตเปาโลก็ใช้การตีความแบบนี้ เพื่อให้ข้อคิดและข้อเตือนใจแก่ผู้อ่าน

(1 โครินธ์ 10:5-7) แต่​ถึง​กระ​นั้น​ก็​ดี​มี​คน​ส่วน​มาก​ใน​พวก​นั้น​ที่​พระ​เจ้า​ไม่​พอ​พระ​ทัย เรา​ทราบ​ได้​จาก​ที่​เขา​ล้ม​ตาย​กัน​เกลื่อน​กลาด​ใน​ถิ่น​ทุร​กัน​ดาร เหตุ​การณ์​เหล่า​นี้​เป็น​เครื่อง​เตือน​ใจ​เรา​ไม่​ให้​ปรารถ​นา​สิ่ง​ชั่ว​เหมือน​เขา​ทั้ง​หลาย พวก​ท่าน​อย่า​นับ​ถือ​รูป​เคารพ​เหมือน​บาง​คน​ใน​พวก​เขา​ได้​ทำ ดัง​ที่​มี​เขียน​ไว้​ว่า “ประ​ชา​ชน​ก็​นั่ง​ลง​กิน​และ​ดื่ม แล้ว​ก็​ลุก​ขึ้น​เล่น​สนุก​สนาน”

            จากจดหมาย (1 โครินธ์) เปาโลได้ยกเอาประวัติศาสตร์ของอิสราเอลช่วงถิ่นทุรกันดาร แล้วดึงเอาข้อคิดจากประวัติศาสตร์นั้นมาเตือนสติผู้เชื่อในโครินธ์ การตีความเพื่อดึงเอาข้อคิด เป็นการตีความแบบพื้นฐาน ซึ่งอัครทูตบางคนที่เขียนพันธสัญญาใหม่ ก็ใช้วิธีแบบนี้ตีความพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม

รูปแบบที่2: การตีความเชิงแบบเล็ง (Typology)

            เนื่องจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม นอกจากจะมีเรื่องราวของประวัติศาสตร์แล้ว ภาคพันธสัญญาเดิมยังประกอบไปด้วยเหตุการณ์ที่มีแบบเล็งถึงพระคริสต์หลายประการ การตีความเชิงแบบเล็ง ก็คือการตีความว่า บุคคล หรือ สิ่งของ ต่างๆที่ปรากฏในภาคพันธสัญญาเดิมนั้น เป็นเงาที่เล็งถึงพระคริสต์อย่างไร ในจดหมายฝากฮีบรู ก็มีบางส่วนที่ตีความภาคพันธสัญญาเดิมโดยใช้การตีความเชิงแบบเล็ง

(ฮีบรู 7:1-3) เมล​คี​เซ​เดค ผู้​นี้​คือกษัตริย์​เมือง​ซาเลม  เป็นปุโร​หิต​ของ​พระ​เจ้า​ผู้​สูง​สุด มา​พบ​อับ​รา​ฮัม​ขณะ​ที่​อับ​รา​ฮัม​กำ​ลัง​กลับ​มา​จาก​การ​รบ​ชนะ​กษัตริย์​ทั้ง​หลาย ท่าน​ได้​อวย​พร​อับ​รา​ฮัม อับ​รา​ฮัม ก็​ถวายท​ศางค์ ​จาก​สิ่ง​สาร​พัด แก่​เมล​คี​เซ​เดค ประ​การ​แรก นาม​ของ​ท่าน​แปล​ว่า กษัตริย์​แห่ง​ความ​ชอบ​ธรรม และ​ประ​การ​ต่อ​มา ท่าน​เป็นกษัตริย์​เมือง​ซา​เลม ด้วย​ซึ่ง​หมาย​ถึง​กษัตริย์​แห่ง​สันติ​สุข บิดา​มาร​ดา​และ​ตระ​กูล​ของ​ท่าน​ไม่​มี​กล่าว​ไว้ วัน​เกิด​วัน​ตาย​ก็​เช่น​กัน แต่​เป็น​เหมือน​พระ​บุตร​ของ​พระ​เจ้า เมล​คี​เซ​เดค​นั้น​ดำ​รง​อยู่​เป็น​ปุโร​หิต​ตลอด​ไป

            ผู้เขียนฮีบรูได้อธิบายว่า ปุโรหิตเมล​คี​เซ​เดคที่ปรากฏในภาคพันธสัญญาเดิมนั้น เป็นแบบเล็งของพระคริสต์ นอกจากจดหมายฮีบรูแล้ว ในจดหมาย (1 โครินธ์) เปาโลก็ใช้การตีความเชิงแบบเล็งด้วย

(1 โครินธ์ 10:1-4) พี่​น้อง​ทั้ง​หลาย เพราะ​ว่า​ข้าพ​เจ้า​ต้อง​การ​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เข้า​ใจ​ว่า บรรพ​บุรุษ​ของ​เรา​ทั้ง​หมด​ได้​อยู่​ใต้​เมฆ และ​ได้​ผ่าน​ทะเลไป​ทุก​คน ได้​รับ​บัพ​ติศ​มา​ใน​เมฆ​และ​ใน​ทะเล​เข้า​สนิท​กับ​โม​เสส​ทุก​คน ได้​รับ​ประ​ทาน​อา​หาร​ฝ่าย​จิต​วิญ​ญาณ​เดียว​กัน​ทุก​คน และ​ได้​ดื่ม​น้ำ​ฝ่าย​จิต​วิญ​ญาณ​เดียว​กัน​ทุก​คน เพราะ​ว่า​พวก​เขา​ได้​ดื่ม​จาก​พระ​ศิลา​ฝ่าย​จิต​วิญ​ญาณ​ที่​ติด​ตาม​เขา​ไป พระ​ศิลา​นั้น​คือ​พระ​คริสต์

            ในจดหมาย (1 โครินธ์) เปาโลได้อธิบายว่า ศิลาที่โมเสสตี เพื่อให้น้ำไหลออกมานั้น เป็นศิลาที่เล็งถึงพระคริสต์ การตีความเชิงแบบเล็งเป็นการตีความสิ่งต่างๆในภาคพันธสัญญาเดิมว่า สิ่งต่างๆเหล่านั้นเป็นแบบเล็งถึงพระคริสต์อย่างไร ในแง่วิชาการ การตีความแบบนี้ อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับนัก แต่ด้านหนึ่งอัครทูตในพันธสัญญาใหม่ ก็ได้ใช้การตีความแบบนี้



แบบจำลองของอาคาร เล็งถึงอาคารจริงฉันใด
หลายสิ่งในภาคพันธสัญญาเดิม ก็เล็งถึงพระคริสต์ฉันนั้น


รูปแบบที่3: การตีความเชิงอุปมา (Allegorical)

            การตีความเชิงอุปมาคือการตีความว่า สิ่งต่างๆในภาคพันธสัญญาเดิมเป็นภาพสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงสิ่งใด ตัวอย่างหนึ่งของการตีความแบบนี้ เห็นได้จากจดหมายกาลาเทีย

(กาลาเทีย 4:22-24) เพราะ​มี​เขียน​ไว้​ใน​พระ​คัม​ภีร์​ว่า​อับ​รา​ฮัม​มี​บุตร​สอง​คน คน​หนึ่ง​เกิด​จาก​หญิง​ทาส อีก​คน​หนึ่ง​เกิด​จาก​หญิง​ที่​เป็น​ไท บุตร​ที่​เกิด​จาก​หญิง​ทาส​นั้น​ก็​เกิด​ตาม​ปกติ แต่​บุตร​ที่​เกิด​จาก​หญิง​ที่​เป็น​ไท​นั้น​เกิด​ตาม​พระ​สัญ​ญา ข้อ​ความ​นี้​เป็น​อุป​ไมย ผู้​หญิง​สอง​คน​นั้น​ได้​แก่​พันธ​สัญ​ญา​สอง​อย่าง คน​หนึ่ง​มา​จาก​ภูเขา​ซี​นาย คลอด​ลูก​เป็น​ทาส คือ​นาง​ฮา​การ์

            อัครทูตเปาโลใช้การตีความเชิงอุปมาเพื่ออธิบายว่า นางฮาการ์สะท้อนถึงพันธสัญญาเดิมที่สื่อถึงการเป็นทาส แต่นางซาราห์สะท้อนถึงพันธสัญญาใหม่ที่สื่อถึงการเป็นไท การตีความเชิงอุปมามีลักษณะที่ใกล้เคียงกับการตีความเชิงแบบเล็ง การตีความเชิงแบบเล็งคือการตีความว่า สิ่งไหนในภาคพันธสัญญาเดิมที่เล็งถึงพระคริสต์ แต่การตีความเชิงอุปมาจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเล็งถึงพระคริสต์ แต่จะเป็นการตีความที่สามารถสะท้อนถึงสิ่งอื่นได้ด้วย ในจดหมาย (1 โครินธ์) อัครทูตเปาโลได้ยกข้อความในธรรมบัญญัติของพันธสัญญาเดิมว่า

(1 โครินธ์ 9:9-11) เพราะ​ว่า​ใน​ธรรม​บัญ​ญัติ​ของ​โมเสส​มี​เขียน​ไว้​ว่า “อย่า​เอา​ตะกร้อ​ครอบ​ปาก​วัว​เมื่อ​มัน​กำ​ลัง​นวด​ข้าว​อยู่”  พระ​เจ้า​ทรง​เป็น​ห่วง​วัว​หรือ? พระ​องค์​ตรัส​เพื่อ​เรา​โดย​เฉพาะ​ไม่​ใช่​หรือ? ข้อ​ความ​นั้น​เขียน​ไว้​เพื่อ​เรา แสดง​ว่า​คน​ที่​ไถ​นา​สม​ควร​จะ​ไถ​ด้วย​ความ​หวัง และ​คน​ที่​นวด​ข้าว​ก็​สม​ควร​จะ​นวด​ด้วย​ความ​หวัง​ว่า​จะ​ได้​รับ​ประ​โยชน์ ถ้า​เรา​หว่าน​ปัจ​จัย​ฝ่าย​จิต​วิญ​ญาณ​ให้​แก่​พวก​ท่าน แล้ว​จะ​มาก​ไป​หรือ​ที่​เรา​จะ​เกี่ยว​ปัจ​จัย​ฝ่าย​กาย​จาก​ท่าน

            จากธรรมบัญญัติที่ว่า “อย่า​เอา​ตะกร้อ​ครอบ​ปาก​วัว​เมื่อ​มัน​กำ​ลัง​นวด​ข้าว​อยู่” เปาโลได้ใช้การตีความเชิงอุปมาเพื่ออธิบายว่า วัวในธรรมบัญญัติ สะท้อนถึงผู้รับใช้ของพระเจ้า ที่สามารถหวังการเก็บเกี่ยวปัจจัยฝ่ายกายของผู้รับการปรนนิบัติได้

สรุป
         ในแวดวงวิชาการ การตีความเชิงแบบเล็งกับการตีความเชิงอุปมา ยังไม่เป็นที่ยอมรับนัก เนื่องจากการตีความลักษณะนี้ อาจเป็นการบิดเบือนจุดประสงค์ของผู้เขียนพระคัมภีร์ คนที่เขียนพระคัมภีร์อาจมีจุดประสงค์อย่างหนึ่ง แต่คนอ่านที่ตีความแบบนี้อาจจะเข้าใจพระคัมภีร์ผิดไปจากที่ผู้เขียนต้องการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม อัครทูตในพันธสัญญาใหม่ ก็ได้ใช้การตีความเชิงแบบเล็งกับการตีความเชิงอุปมา ในการอธิบายพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม

          ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในคริสตจักร ก่อนหน้านี้ ในคริสตจักรแทบจะหาคริสเตียนที่เป็นชาวยิวไม่ได้เลย แต่ช่วง 60 ปีที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ที่ว่า ชาวยิวหลายคนได้กลับใจมาเป็นคริสเตียนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อชาวยิวได้มาเป็นคริสเตียน พวกเขาได้นำกรอบความคิดและวัฒนธรรมแบบฮีบรูเข้ามาในคริสตจักร ในกรอบความคิดแบบฮีบรู การอุปมานับเป็นภาษาหนึ่งของวัฒนธรรมฮีบรู ในพิธีทางศาสนาของชาวยิวหรือแม้แต่ในพิธีแต่งงาน ชาวยิวมักจะมีสิ่งต่างๆที่เป็นภาพสัญลักษณ์หรือภาพอุปมา ประกอบพิธีอยู่เสมอ กล่าวได้ว่า การอุปมา เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวยิว

            ผมคาดการณ์ว่า ในปัจจุบัน พระวิญญาณบริสุทธิ์กำลังเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของคริสตจักร จากกรอบความคิดแบบกรีก มาสู่กรอบความคิดแบบฮีบรู เนื่องด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์แบบนี้ คริสตจักรในอนาคตจะเปิดรับต่อวัฒนธรรมแห่งการอุปมามากขึ้น วัฒนธรรมแห่งการอุปมานี้จะส่งผลต่อคริสตจักรในหลายๆทาง ทั้งในแง่ของการตีความพระคัมภีร์ด้วย เป็นไปได้ว่า ในอนาคตพวกเราจะก้าวเข้าสู่มิติใหม่ของการตีความพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมด้วยการตีความแบบอุปมา

ด้านหนึ่งที่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะสื่อสารให้เพื่อนๆ อย่าเพิ่งปิดใจต่อการตีความเชิงแบบเล็งหรือการตีความเชิงอุปมา แม้ว่าการตีความเชิงอุปมา อาจจะดูเป็นการตีความที่เพื่อนๆไม่คุ้นเคย แต่อัครทูตบางคนที่เขียนภาคพันธสัญญาใหม่ก็ใช้วิธีการตีความแบบนี้ ขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ประทานปัญญาในการแยกแยะแก่พวกเราเถิด

หนังสือแนะนำเพิ่มเติม

พระคริสต์ผู้ครอบคลุมสรรพสิ่ง เขียนโดย วิทเนส ลี

17 สิงหาคม 2560

10 คำแม่สอน สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานและการใช้ชีวิต

10 คำแม่สอน สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานและการใช้ชีวิต

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 

Women Society จึงขออัญเชิญคำสอนที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน จากพระราโชวาทและพระราชดำรัสในโอกาสต่าง เพื่อให้ทุกคนได้นำมาเป็นข้อคิดในการทำงานและการดำเนินชีวิตกัน 

1. คนที่มองว่าตัวเองฉลาดอยู่เสมอ ไม่รู้จักถ่อมตน มักเอาตัวไม่รอด

“…ผู้สำคัญตนว่ามีความฉลาดสามารถเป็นเลิศอยู่เสมอนั้น มักพาตัวไม่รอด เพราะความสำคัญตนเช่นนั้น จะปิดบังโอกาสที่จะขวนขวาย หรือได้มาซึ่งปัญญาที่สูงขึ้นไป ตัวอย่างก็มีปรากฏในประวัติการณ์ของโลกมาแล้วมากมาย ที่ผู้มีปัญญาความสามารถและอำนาจต้องพ่ายแพ้ล่มจมไป…”

พระราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๔ มีนาคม ๒๕๑๘

2. ผลประโยชน์ส่วนรวม สำคัญกว่าประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง

“…คำว่า มนุษย์ นั้นต่างกับ คน อยู่มาก คือ คน หมาย ความว่าเป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่ง แต่ มนุษย์ หมายถึงคนที่มีจิตใจสูง คือมีอุดมคติ เป็นสุภาพชน ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคม มีความรักที่กว้างขวาง คือรักผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่รักแต่ผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง…”

พระราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่แก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เมษายน ๒๕๑๘

3. การทำงานใดๆ ก็ตาม ต้องประกอบด้วยความสุจริต รอบคอบ และมีสติ

“…ต้องตั้งใจพยายามนำเอาความวิทยาการไปใช้ในการปฏิบัติบริหารงานให้เกิดประโยชน์เต็มที่ พร้อมทั้งระมัดระวังที่จะตั้งตัวตั้งใจให้แน่วแน่อยู่ในความสุจริตเที่ยงธรรม ในความฉลาดรอบคอบ ประกอบด้วยสติที่มั่นคงอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันมิให้ปฏิบัติการของแต่ละคน คลาดเคลื่อนจากเป้าหมายอันสุงส่งที่ตั้งไว้…”

พระราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทัพบก วิทยาลัยการทัพเรือ วิทยาลัยการทัพอากาศ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๕

4. การทำตามหน้าที่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่บางครั้งการทำนอกเหนือหน้าที่ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ

“…การดำเนินปฏิบัติงานตามหน้าที่ให้ดีที่สุดนั้นเป็นการถูกต้อง แต่ถ้ามีงานอื่นนอกหน้าที่ที่สมควรจะทำด้วย ก็ต้องทำ จะนึกว่าไม่ใช่ธุระ ไม่ใช่หน้าที่นั้น ไม่สมควรอย่างยิ่ง ทุกคนทุกฝ่ายชอบที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ทั้งโดยหน้าที่ และโดยความรู้จักรับผิดชอบต่อส่วนรวมและประเทศชาติ ตามโอกาสและความเหมาะสม ไม่ควรเกี่ยงงอนกันเป็นอันขาด…”

พระราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๓๑ มีนาคม ๒๕๑๘

5. ปัญหาใดๆ ย่อมแก้ไขได้ด้วยความสามัคคี

“….ในการรวมตัวกันเพื่อทำงานต่างๆ นั้นย่อมจะมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง แต่ปัญหาใดๆ ก็ย่อมขจัดเสียได้โดยอาศัยความสามัคคีเป็นคุณธรรมที่จะร้อยรัดให้ทุกคนเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกัน ขอเพียงให้แต่ละคนไม่ยึดถือ อัตตา คือ ตัวตนของผู้หนึ่งผู้ใดเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น…”

พระราชดำรัสในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีสภาสตรีแห่งชาติฯ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๓๐

6. ไม่ว่าจะงานอะไรย่อมมีความสำคัญ จงภูมิใจในงานของตน

“….คนเรานี่การเกิดแก่เจ็บตาย เป็นธรรมดาของสัตว์โลกถ้วนหน้า แต่ว่าชีวิตนี่เกิดมาทั้งทีให้ใช้ชีวิตให้ดีที่สุด หมายความถึงเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นที่สุด และก็มีความกล้าหาญที่จะทำงานทุกอย่างอย่างภาคภูมิใจไม่สนใจกับคำติฉินนินทาใด …”

พระราโชวาท ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๒ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗

7. เราควรรับฟังความคิดของผู้อื่น แม้ว่านั่นจะขัดกับความคิดของเราก็ตาม

“…ศาสนาพุทธสอนเราไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น แต่ให้มีความเมตตากรุณา ฉะนั้น เราควรเห็นอกเห็นใจ อดทนต่อความนึกคิดของผู้อื่น แม้ว่าจะขัดต่อความนึกคิดของเราก็ตาม ไม่ยึดแต่ความคิดของตนเองเป็นที่ตั้ง กระทำตนให้เป็นผู้ที่มีความคิดแตกฉาน ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า ให้อยู่อย่างฉลาด ด้วยปัญญา…”

พระราชดำรัส ในพิธีเปิดการประชุมใหญ่ของสถาบันแม่ชีไทย ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย เมษายน ๒๕๑๕


8. การสร้างความสุขให้ตนเอง แต่กลับสร้างความเดือนร้อนให้ผู้อื่น เป็นสิ่งไม่ควรทำ

“…ในโลกปัจจุบัน เราจะมีความสุขแต่ลำพังโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนอีกหลายคนที่แวดล้อมเราอยู่นั้นไม่ได้ ผู้มีความเมตตาจิตหวังประโยชน์ส่วนรวม ย่อมรู้จักแบ่งปันความสุขเพื่อผู้อื่นและพร้อมที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่น ตามกำลงและโอกาสเสมอ…”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการอาสาสมัคร สภาสังคมสงเคราะห์ฯ พระที่นั่งอัมพรสถาน มีนาคม ๒๕๑๐

9. ความสุขที่ยั่งยืน คือการให้

“…มนุษย์เรานี้ควรจะมีการให้ต่อกันบ้าง อย่างน้อยก็ให้เวลาสดับตรับฟังความทุกข์ของผู้อื่น ไม่ใช่จะงกๆ เงิ่นๆ ละโมภหาแต่ความสุข กอบโกยหาโชคลาภสู่ตนเองโดยไม่นึกถึงผู้อื่น เมื่อเราไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้ว เราจะมีความสุขยั่งยืนได้อย่างไร…”

พระราชดำรัส ในพิธีพระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้บริจาคโลหิตให้สภากาชาดไทย
อาคารใหม่ สวนอัมพร ๒๐ กันยายน ๒๕๑๖

10. ความดี เป็นสิ่งที่น่าสะสมมากกว่าทรัพย์สินเงินทอง เพราะความดีไม่เคยสร้างอันตรายให้ใคร

“…ปัจจุบันเรามีสิ่งล่อใจมากทางด้านวัตถุ มีสิ่งที่บำรุงบำเรอความสุขที่จะสรรหามาได้ทุกเมื่อ จนกระทั่งขาดความสำนึกที่ว่า คนเรายิ่งได้ดีมั่งมีสุขสมบูรณ์ ก็ยิ่งสมควรจะต้องสะสมความดียิ่งขึ้น ไม่ใช่สะสมแต่ทรัพย์สมบัติ จนคิดแต่จะแก่งแย่งกัน กลายเป็นยุคที่ร้อนระอุเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของบ้านเมือง…”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ศาลาดุสิดาลัย ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๗


ข้อมูลจาก http://women.trueid.net/detail/59841

11 สิงหาคม 2560

ความรักแท้ แม่ก็คือแม่

วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็นอีกหนึ่งวันที่ชาวไทยให้ความสำคัญของวันนี้ เพราะเป็นวันแม่แห่งชาติ  เพราะวันนี้เป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  เป็นวันที่ลูกๆจะได้แสดงความเคารพต่อแม่ของแผ่นดิน และแม่ผู้ให้กำเนิด
ในปี พ.ศ.2560 ปีนี้เป็นปีพิเศษ เนื่องด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมายุ 85 พรรษา  เราทั้งหลายที่เป็นพสกนิกรชาวไทยขอร่วมใจน้อมเกล้าฯ ถวายสดุดีแด่พระมิ่งแม่ของแผ่นดิน ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน 

สำหรับคำขวัญวันแม่ ปี 2560 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี 2560 เพื่ออัญเชิญลงหนังสือวันแม่แห่งชาติ ปี 2560 ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ความว่า 

สอนให้ลูก เรียนรู้ สู้ปัญหา
พัฒนา ด้วยตน จนเติบใหญ่
เพราะคนแกร่ง จะก้าว ได้ยาวไกล
เพื่อมาเป็น กำลังไทย ให้แข็งแรง”

เมื่อเราได้อ่านคำขวัญวันแม่ปีนี้ ใจความสำคัญคือ แม่ได้บอกกับเราให้เป็น "คนแกร่ง"ไม่ใช่เพียงแค่เป็น "คนเก่ง" คนที่เก่งจะเก่งในการเรียนแต่คนที่แกร่งสามารถเรียนรู้เพื่อสู้ปัญหาและเป็นกำลังที่ทำให้ประเทศไทยแข็งแรง 
เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าในสังคมปัจจุบันยุคนี้ เราต้องเผชิญปัญหาต่างๆมากมาย ทั้งปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ  คนที่แข็งแกร่งจะฟันผ่าอุปสรรคไปได้ ไม่ใช่เพียงช่วยเหลือตัวเองเท่านั้น ยังต้องเป็นกำลังใจเพื่อทำให้คนอื่นแข็งแรงได้ด้วย  

สำหรับความคิดของผมแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่แม่จะบอกกับเราว่า "ให้เราเป็นคนแกร่ง" เพราะปีนี้ต่างจากปีก่อนๆ เพราะปีนี้ "พ่อไม่อยู่แล้ว"  แม่ต้องสร้างกำลังใจให้กับตนเอง  แม้อายุของแม่จะ “แก่ลง” แต่หัวใจของแม่ “แกร่ง”เพิ่มขึ้น  เพื่อเป็น “กำลังใจ” ให้ลูกๆทุกคนเป็น “กำลังไทย” ที่จะก้าวได้ยาวไกลในอนาคต   


แม้ว่าพ่อจะไม่อยู่แล้ว  แต่คำที่พ่อสอนยังอยู่ใจของเราเสมอ  ขอเพียงให้จิตใจเราแข็งแกร่ง เชื่อว่าเราดำเนินชีวิตต่อไป  เพื่อสานต่อสิ่งดีที่พ่อทำ ในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 

 "แม่" ในยุคปัจจุบันนี้แตกต่างไปจากยุคสมัยก่อนๆมาก เพราะในสมัยก่อนผู้หญิงที่เป็นคุณแม่ จะทำหน้าที่เป็น "แม่บ้าน" จะอยู่กับเหย้าเฝ้าเรือน เป็นแม่ศรีเรือน   แต่สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมันแตกต่างไปอย่างมาก 

แม่บ้านจำเป็นต้องออกจากบ้านเพื่อทำงานหาเลี้ยงครอบครัว  แม่บ้านอยู่บ้านเฉยๆคงทำไม่ได้  แม่บ้านหลายท่านแปรฝันหันมาเป็น "แม้ค้าออนไลน์" ขายของอยู่หน้าสื่อออนไลน์

          ยุคนี้เป็นยุคดิจิตัล 4.0  "มนุษย์แม่ต้องสตรอง(Strong)"อย่างสเตเปิล(Stable) แข็งแกร่งอย่างมีสเถียรภาพ   นั่นคือ  สามารถปรับตัวเข้ากับยุคและอดทนทำงานหนัก จากอยู่บ้านทำงานบ้านต้องออกไปทำงาน หรือ เป็นแม่ค้าออนไลน์ เพื่อหาเงินมาดูแลคนในครอบครัว


“มนุษย์แม่ต้องสตรอง" แม่ต้องแกร่ง ไม่แกว่งตามสภาวะการณ์


คำว่า "สตรอง"(Strong) คือ  การครองสติ เพราะสติทำให้ปัญหาเรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็ก แต่อคติเรื่องเล็กกลายเป็นปัญหาใหญ่  

ผมขอชื่นชมในหัวใจที่แกร่งของพวกเธอ  ผู้ที่เป็น "มนุษย์แม่" ในปัจจุบัน  พวกเธออดทนและทนอดในทุกสถานการณ์ ทนยิ่งกว่าสีทนได้   ทำงานหนักวนไป ไม่เคยเกี่ยง การดูแลตนเองก็ดูแลให้ตัวเองดูดีเสมอ จะได้เฉิดฉายออร่า เป็นซุป'ตาร์ตัวแม่ กับคนอื่นเค้าบ้าง เพราะรูปร่าง หน้าตาเป็นจุดขายสินค้า จะปล่อยให้ขายหน้าได้อย่างไร

นี่แหละครับ คุณแม่จึงเป็น "Supermom" ทำได้ทุกสิ่งเพื่อลูกและครอบครัว

        ปัญหาสังคมในปัจจุบัน คือ "การหย่าร้าง" มีมากขึ้น และเราจะเห็นว่ามีคุณแม่ที่ต้องรับภาระในการเลี้ยงลูกคนเดียว ที่เรียกว่า "Single mom"มีมากขึ้นด้วย   คุณแม่เหล่านี้มีความมั่นใจและเด็ดเดี่ยว เป็นสาวมั่น สายมั่นคง  ไม่ง้อผู้ชาย  เธอสตรองอย่างแข็งแกร่งไม่แกว่งในสภาวการณ์ต่างๆ 


(ผมได้เขียนบทความวันแม่ไปหลายบทความ เพื่อนผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านได้ตาม Link นี้นะครับ  รวมรวมบทความ "วันแม่" )  

 สำหรับบทความในครั้งนี้ ผมขอนำเสนอเรื่องราวความรักของแม่จากบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์  
ทความครั้งนี้ ขอนำเสนอมุมมองข้อคิดของบุคคลที่เป็น "Single mom" คุณแม่ที่ต้องรับภาระในการเลี้ยงลูกเพียงลำพัง เนื่องจากสามีตายไปและถูกทอดทิ้งให้เดียวดาย  ด้วยความรักแท้ แม้สถานการณ์เป็นอย่างไร แม่ก็คือแม่ดูแลลูกอย่างดีเสมอ  ตัวอย่างจากคุณแม่เหล่านี้

นางฮาการ์ ความรักแท้ แม้ยามยากลำบาก


นางฮาการ์(Hagar) ผู้เป็นภรรยาของอับราฮัม หรือ อับราม ซึ่งเป็นสาวใช้ของนางซาราห์ หรือ ซาราย ภรรยาหลวงของอับราฮัม  เรื่องราวของเธอถูกบันทึกไว้ในพระธรรมปฐมกาล บทที่ 16:1-16,บทที่ 21:1-21
 นางซาราห์  เธอไม่มีบุตรให้อับราฮัม เนื่องจากเธอเป็นหมัน  นางจึงได้ยกสาวใช้ของเธอคือนางฮาการ์ให้เป็นภรรยาอีกคนของอับราฮัม จนนางฮาการ์ตั้งครรภ์ คลอดบุตร  เมื่อเด็กคลอดออกมากลับกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งในครอบครัวระหว่างนางซาราห์กับฮาการ์ ทำให้นางฮาการ์ถูก​เคี่ยวเข็ญอย่างหนักจนต้องหนีไป (ปฐมกาล 16:1-6)
ปฐมกาล 16:6นาง​ซาราย​เคี่ยวเข็ญ​หญิง​นั้น จน​นาง​หนี​ไป​ให้​พ้น​หน้า
  
เมื่อนางฮาการ์พาลูกน้อยหนีไปอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เธอต้องเผชิญการการถูกปฏิเสธ ความยากลำบากและขัดสน  แต่พระยาห์เวห์ทรงให้ทูตสวรรค์มาสำแดงตนและหนุนใจให้นางฮาการ์กลับมาอยู่กับนางซาราห์ตามเดิม(ปฐมกาล 16:7-16)

…9 ​ทูต​ของ​พระ​ยาห์เวห์​จึง​กล่าว​ว่า “กลับไป​หา​นาย​ผู้หญิง​ของ​เจ้า และ​ยอม​อยู่​ใต้​บังคับ​นาง​เถิด”
11 ​ทูต​ของ​พระ​ยาห์เวห์​กล่าว​แก่​นาง​อีก​ว่า “นี่​แน่ะ เจ้า​มี​ครรภ์​แล้ว จะ​คลอด​บุตร​ชาย และ​จะ​ตั้ง​ชื่อ​บุตร​นั้น​ว่า​อิชมาเอล​​ เพราะ​พระ​ยาห์เวห์ท​รง​รับ​ฟัง​ความ​ทุกข์​ร้อน​ของ​เจ้า
13 ​นาง​ฮาการ์​จึง​เรียก​พระ​นาม​พระ​ยาห์เวห์​ผู้​ตรัส​แก่​นาง​ว่า “​พระ​องค์​ทรง​เป็น​พระ​เจ้า ผู้​ทรง​เห็น​ข้าพเจ้า”  

นางฮาการ์ตั้งชื่อบุตรชายของเธอว่า “อิชมาเอล​​” แปลว่า “พระเจ้าทรงฟัง”  เพราะ​พระ​ยาห์เวห์ท​รง​รับ​ฟัง​ความ​ทุกข์​ร้อนของ​เธอ

เมื่อนางฮาการ์กลับมาเธอได้รับการต้อนรับ ดูเหมือนเรื่องราวจะจบลงด้วยดี แต่ไม่เป็นอย่างนั้น ความขัดแย้งระหว่างเมียหลวง VS เมียน้อย มีภาคที่
เมื่อนางซาราห์คลอดบุตรตามพระสัญญาของพระยาห์เวห์ เธอตั้งชื่อว่า “อิสอัค”  นางซาราห์ไม่ยอมรับอิชมาเอล ลูกของนางฮาการ์ เพราะกลัวจะมาแย่งมรดก  นางจึงขับไล่ทั้งแม่และลูกออกจากบ้าน ไปอยู่ในถิ่นทุรกันดาร

ปฐมกาล 21:9-14
9 แต่ซาราห์เห็นบุตรชายของฮาการ์คนอียิปต์ซึ่งนางคลอดให้อับราฮัม กำลังเล่นอยู่กับอิสอัคบุตรชาย​ 
10 นางจึงพูดกับอับราฮัมว่า “ไล่ทาสหญิงคนนี้กับบุตรชายของนางไปเสียเถิด เพราะว่าบุตรชายของทาสหญิงคนนี้จะเป็นผู้รับมรดกร่วมกับอิสอัคบุตรชายของฉันไม่ได้”
14 อับราฮัมจึงลุกขึ้นแต่เช้ามืด ให้ขนมปังและน้ำหนึ่งถุงหนังแก่ฮาการ์ ใส่บ่าให้นางพร้อมกับเด็กนั้นแล้วให้ออกจากบ้านไป นางก็จากไปและพเนจรไปในถิ่นทุรกันดารแห่งเบเออร์เชบา
สิ่งที่เกิดขึ้นกับนางฮาการ์ เราได้เห็นความรักแท้แม้ในยามยากลำบากของผู้เป็นแม่ เธอต้องเลี้ยงลูกตามลำพังในถิ่นทุรกันดาร  องค์พระเจ้าทรงช่วยเหลือเธออีกครั้ง ให้เธอและลูกของเธอรอดพ้นจากความตาย   
เราได้เห็นความรักแท้ที่นางฮาการ์ไม่ยอมแพ้ ความยากลำบาก   เธอดูแลลูกด้วยใจมั่นคง  และมองไปยังอนาคตของลูกตามที่พระเจ้าทรงนำ   ต่อมาเธอได้จัดหาภรรยาให้อิชมาเอล  และเชื้อสายของอิชมาเอลกลายเป็นชนชาติใหญ่อีกชนชาติหนึ่งควบคู่กับอิสราเอล
ปฐมกาล 21:15-21

15 เมื่อน้ำในถุงหนังนั้นหมดแล้วนางก็วางเด็กนั้นไว้ใต้พุ่มไม้แห่งหนึ่ง
16 แล้วนางก็ไปนั่งอยู่ห่างออกไป ประมาณเท่ากับระยะลูกธนูตก เพราะนางพูดว่า “อย่าให้ข้าเห็นความตายของลูกเลย” ขณะที่นางนั่งอยู่แต่ไกล เด็กนั้นก็ตะเบ็งเสียงร้องไห้​…
17 ​พระเจ้าทรงสดับเสียงร้องของเด็กนั้น และทูตของพระเจ้าจึงเรียกฮาการ์จากฟ้า กล่าวกับนางว่า “ฮาการ์ เจ้าเป็นอะไรไป อย่ากลัวเลยเพราะว่าพระเจ้าทรงสดับเสียงของเด็ก ณ ที่ที่เขาอยู่นั้นแล้ว
18 ลุกขึ้นอุ้มเด็กนั้น เอามือจับเขาไว้ให้แน่น เพราะเราจะทำให้เขาเป็นชาติใหญ่ชาติหนึ่ง”
19 แล้วพระเจ้าทรงเบิกตาของนาง นางก็เห็นบ่อน้ำแห่งหนึ่ง จึงไปเติมน้ำเต็มถุงหนัง และให้เด็กนั้นดื่ม
20 ​พระเจ้าทรงสถิตกับเด็กนั้น เขาเติบโตขึ้น อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดาร และเป็นนักธนู
21 เขาอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารแห่งปาราน มารดาก็หาภรรยาคนหนึ่งจากประเทศอียิปต์ให้เขา

นางโย​เคเบ​ด  ความรักแท้  แม้ต้องยอมเสี่ยงตายช่วยชีวิตลูก

อพย. 6:20 ​ส่วน​อัม​ราม​ได้​โย​เคเบ​ด น้อง​บิดา​ของ​ตน​เป็น​ภรรยา แล้ว​นาง​ให้​กำเนิด​บุตร​แก่​เขา​ชื่อ อาโรน​และ​โมเสส อัม​ราม​มี​อายุ​ได้ 137 ปี

โย​เคเบ​ด(Jochebed)  ชื่อนี้อาจจะไม่คุ้นกัน แต่นางเป็นแม่ของ"โมเสส" ซึ่งนางไม่สามารถเปิดเผยตัวตนว่านางเป็นแม่ของโมเสสได้ เพราะการเปิดเผยตัวตนในเวลานั้นอาจจะถึงแก่ความตาย แต่นางทำหน้าที่ของความเป็นความเป็นแม่อย่างดี  จากพระธรรมอพยพ บทที่ 2:1-10

เมื่อนางโยเคเบดให้กำเนิดโมเสส   ฟาโรห์แห่งอียิปต์ได้กำหนดกฎในการฆ่าเด็กทารกเพศชายชาวฮีบรู  เด็กทารกชาวฮีบรูถูกนำไปทิ้งลงแม่น้ำไนล์    เมื่อโมเสสเกิดมา นางโยเคเบดไม่เชื่อฟังคำสั่งของกษัตริย์ซึ่งเป็นการเสี่ยงว่าจะต้องโทษถึงตายโดยซ่อนบุตรชายของเธอไว้ 3 เดือน   แต่โมเสสเติบโตอย่างรวดเร็วเธอจึงไม่สามารถซ่อนเขาไว้ได้อีก  

โยเคเบดจึงวางตะกร้าที่ใส่โมเสสไว้แล้วปล่อยลงสู่แม่น้ำไนล์  เธอให้มิเรียมพี่สาวของโมเสสเป็นผู้เฝ้าดูอยู่ห่างๆพอที่จะซ่อนตัวได้  แต่ก็ให้ใกล้พอที่จะเห็นว่าอะไรได้เกิดขึ้น  


เมื่อพระราชธิดาของฟาโรห์เห็นโมเสสที่อยู่ในตระกล้าลอยน้ำ พระองค์ทรงสงสารและประสงค์ให้เก็บเด็กคนนี้มาเลี้ยงในพระราชวัง   โยเคเบดจึงยอมเสี่ยงตายเปิดเผยตนและอาสาตัวเป็นแม่เลี้ยง


อพยพ 2:3-7
3 ​เมื่อ​ซ่อน​ต่อไป​ไม่ได้​แล้ว นาง​ก็​เอา​ตะกร้า​สาน​จาก​ต้น​กก ยา​ด้วย​ยาง​มะ​ตอย​และ​ชัน วาง​ทารก​นั้น​ลง​ใน​ตะกร้า แล้ว​นำไป​ไว้​ที่​กอ​ปรือ​ริม​แม่น้ำ​ไนล์ 
4 ​ส่วน​พี่สาว​ของ​ทารก​นั้น​ยืน​อยู่​ห่างๆ คอย​ดู​ว่า​จะ​มี​เหตุการณ์​อะไร​เกิด​ขึ้นกับ​น้อง 
 5 ​เมื่อ​พระ​ราช​ธิดา​ของ​ฟาโรห์​เสด็จ​ลง​สรง​ที่​แม่น้ำ และ​พวก​สาว​ใช้​เดิน​เที่ยว​ตาม​ริม​ฝั่ง ​พระ​นาง​ทรง​เห็น​ตะกร้า​อยู่​กลาง​กอ​ปรือ จึง​มี​รับสั่ง​ให้​สาว​ใช้​ไป​นำมา 
6 ​เมื่อ​เปิด​ตะกร้า​ออก​ก็​เห็น​ทารก และ​ดู​สิ เด็ก​นั้น​กำลัง​ร้องไห้ ​พระ​นาง​ทรง​สงสาร ตรัส​ว่า “นี่​เป็น​ลูก​คนฮีบรู” 
7 ​พี่สาว​เด็ก​นั้น​จึง​ทูล​ถาม​พระ​ราช​ธิดา​ของ​ฟาโรห์​ว่า “จะ​ให้​หม่อม​ฉัน​ไป​หา​แม่​นม​ชาว​ฮีบรู​มา​เลี้ยง​ทารก​นี้​ให้​พระ​นาง​ไหม?” 
8 ​พระ​ราช​ธิดา​ของ​ฟาโรห์​จึง​มี​รับสั่ง​ว่า “ไป​หา​เถิด” หญิง​สาว​คน​นั้น​จึง​ไป​เรียก​มารดา​ของ​ทารก​มา 
9 ​พระ​ราช​ธิดา​ของ​ฟาโรห์​ตรัส​สั่ง​นาง​ว่า “รับ​เด็ก​นี้​ไป​เลี้ยง​ไว้​ให้​เรา แล้ว​เรา​จะ​ให้​ค่าจ้าง” นาง​จึง​รับ​ทารก​ไป​เลี้ยง 
10 ​เมื่อ​ทารก​เติบโต​ขึ้น นาง​ก็​พา​มา​ถวาย​พระ​ราช​ธิดา​ของ​ฟาโรห์ ​พระ​นาง​ก็​ทรง​รับ​ไว้​เป็น​พระ​ราช​บุตร​ของ​พระ​นาง​ และ​ประทาน​นาม​ให้​ว่า โมเสส​ ตรัส​ว่า “เพราะ​เรา​ได้​ฉุด​ขึ้น​มา​จาก​น้ำ”

ในที่สุดโยเคเบด แม่ของโมเสสก็ได้ดูแลและมีอิทธิพลชีวิตต่อบุตรชายแท้ๆของเธอและได้รับการปกป้องเขาอย่างดีเลิศเหนือชีวิตของเขาและสั่งสอนโมเสสตามวิถีทางของคนฮีบรู ทำให้โมเสสไม่หลงระเริงในความเป็นเจ้าชายอียิปต์ แต่ท่านได้รับพระประสงค์จากพระยาห์เวห์ในการปลดปล่อยคนอิสราเอลออกจากคงวามเป็นทาสในประเทศอียิปต์ (อพยพ บทที่ 3)

โมเสสได้เป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่ยิ่งใหญ่  ท่านมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยเพราะแม่ของท่านยอมเสี่ยงตายเพื่อปกป้องท่าน  และเป็นผู้ที่สั่งสอนในเรื่องชีวิตฝ่ายวิญญาณ  

พระคัมภีร์บันทึกว่า  "ไม่มีใครทำการอัศจรรย์มากเท่ากับเขา ไม่มีใครพบพระเจ้าแบบหน้าต่อหน้ามากเท่าโมเสส"  

เฉลยธรรมบัญญัติ 34:10-11
10 ​ตั้งแต่​นั้น​มา​ก็​ไม่​มี​ผู้เผย​พระ​วจนะ​คน​ใด​เกิดขึ้น​ใน​อิสราเอล​เสมอ​โมเสส     ผู้​ซึ่ง​พระ​ยาห์เวห์ท​รง​รู้จัก​หน้า​ต่อ​หน้า​

11 ​ใน​เรื่อง​หมาย​สำคัญ​และ​การ​อัศจรรย์ ซึ่ง​พระ​ยาห์เวห์ท​รง​ใช้​ให้​ท่าน​ทำ​ใน​แผ่นดิน​อียิปต์ ต่อ​ฟาโรห์​และ​ต่อ​บรรดา​ข้า​ราช​บริพาร​ของ​ฟาโรห์​และ​ต่อ​แผ่นดิน​ของ​ท่าน​ทั้งสิ้น

เราได้รับแบบอย่างชีวิตของโยเคเบด  แม่ผู้เสริมสร้างชีวิตของโมเสส  แม้เธอต้องหลบซ่อนไม่สามารถเปิดเผยตัวตนในการเป็นแม่ของเธอ แต่เธอทำหน้าที่แม่ได้อย่างดียอดเยี่ยม

นางมารีย์ ความรักแท้ อยู่เคียงข้างลูกจนนาทีสุดท้ายของชีวิต

นางมารีย์(Mary) แม่ของพระเยซูคริสต์ เป็นผู้หญิงที่พระเจ้าทรงเลือกให้เป็นแม่ขององค์พระผู้เป็นเจ้า  
เมือทูตสวรรค์มาปรากฎกับเธอและการตอบสนองของเธอเปลี่ยนชะตาชีวิตของเธอและส่งผลต่อชะตากรรมความเป็นความตายของมวลมนุษยชาติ (ลูกา 1: 30-32)

เธอเป็นแม่ที่มีด้วยความเชื่อในพระเจ้า   การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิต  ถ้าเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เมื่อได้ยินว่าเธอกำลังจะตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี แต่หาเป็นหญิงพรหมจารีย์ แต่ต้องตั้งครรภ์โดยยังไม่ได้มีการสมรส ถือว่าเป็นบุคคลน่ารังเกียจ จึงเป็นเหตุที่ทำให้เธอต้องปฏิเสธไม่เป็นที่ยอมรับในบ้านเมืองของโยเซฟ ผู้เป็นชายคนรักของเธอ  ไม่มีใครให้ที่พักรับรองที่เมืองเบธเลเฮ็ม เธอต้องไปคลอดลูกที่รางหญ้าในคอกวัวที่ต่ำต้อย 
ลูกา 2:7 ​นาง​จึง​คลอด​บุตร​ชาย​หัวปี เอา​ผ้าอ้อม​พัน​และ​วาง​ไว้​ใน​ราง​หญ้า เพราะ​ว่า​ไม่​มี​ที่​ว่าง​ใน​โรงแรม​สำหรับ​พวก​เขา
        
         เมื่อพระเยซูคริสต์ อายุ 8 วัน เธอพาไปทำพิธีเข้าสุหนัตและถวายบุตรตามธรรมเนียมยิว

ลูกา 2:21-22  ​
21 หลังจาก​ครบ​แปด​วัน ซึ่ง​เป็น​วันที่​จะ​ให้​พระ​กุมาร​นั้น​เข้า​สุหนัต​ เขา​จึง​ให้​นาม​ว่า​เยซู ดังที่​ทูตสวรรค์​กล่าว​ไว้​ก่อน​จะ​ปฏิสนธิ​ใน​ครรภ์
22 เมื่อ​ถึง​เวลา​ทำ​พิธี​ชำระ​ตัว​ตาม​ธรรม​บัญญัติ​ของ​โมเสส บิดา​มารดา​จึง​นำ​พระ​กุมาร​ไป​ยัง​กรุง​เยรูซาเล็ม​เพื่อ​ถวาย​แด่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า

คำเผยพระวจนะโดยสิเมโอน ว่า นางมารีย์จะต้องเจ็บปวดใจ เหมือนดาบแทงกลางใจ เพราะเธอจะเห็นลูกของเธอตายต่อหน้าต่อตา  เพราะพระเยซูคริสต์จะรับความเจ็บปวดที่กางเขนเพื่อใจของคนจะประจักษ์แจ้งถึงความรักของพระเจ้า  ที่พระเยซูคริสต์มาตายไถ่บาป 
ลูกา 2:34-35 
34 ​แล้ว​สิ​เม​โอน​ก็​อวย​พร​เขา แล้ว​กล่าว​แก่​นาง​มารีย์​มารดา​พระ​กุมาร​นั้น​ว่า “นี่​แน่ะ ​พระ​กุมาร​นี้​ได้รับ​การ​เลือกสรร​เพื่อ​เป็น​เหตุ​ให้​หลาย​คน​ใน​พวก​อิสราเอล​ล้ม​ลง​หรือ​ลุก​ขึ้น และ​จะ​เป็น​หมาย​สำคัญ​ที่​คน​จะ​ปฏิเสธ
35 ​เพื่อ​ที่ว่า​ความ​คิด​ใน​ใจ​ของ​คน​จำนวน​มาก​จะ​ปรากฏ​แจ้ง ถึง​หัวใจ​ของ​ท่าน​เอง​ก็​จะ​ถูก​ดาบ​แทง​ทะลุ​ด้วย”

แม้ว่านางมารีย์จะทราบถึงแผนการของพระเจ้าในอนาคตของพระเยซูคริสต์ แต่เธอก็ทำหน้าที่แม่อย่างดีในการอบรมเลี้ยงดู และถวายพระเยซูคริสต์ในพระวิหาร เมื่ออายุ 12 ปีตามธรรมเนียวยิวคือ พิธีบาร์ มิตซวาห์ (Bar mitsvah)  (ลูกา 2:41-42)
จากการคาดการณ์ของนักวิชาการ เนื่องจากพระคัมภีร์ไม่ค่อยได้เอ่ยถึงโยเซฟ หลังจากพระเยซูอายุ 12 ปีแล้ว เป็นไปได้ที่ว่าโยเซฟคงเสียชีวิตไปหลังจากนั้นไม่นาน หรืออย่างมากก็มีชีวิตจนถึงอยู่ก่อนพระเยซูเสด็จออกมารับใช้ ในการเทศนาสั่งสอน
นางมารีย์ทำหน้าที่เลี้ยงดูพระเยซูจนเติบโตถึงอายุ 30 ปี และพระเยซูเริ่มทำพระราชกิจของพระบิดา 
นางมารีย์เป็นผู้ที่ติดตามพระเยซูไปเพื่อคอยดูแล จนแม้กระทั้งวาระสุดท้ายพระเยซูถูกตรึงกางเขน ในขณะที่สาวกที่เป็นผู้ชายที่ใกล้ชิดหายไปกันหมด แต่มางมารีย์อยู่ที่นั่นด้วยหัวใจที่บาดเจ็บเหมือนดังถ้อยคำเผยพระวจนะว่า "ถึง​หัวใจ​ของ​ท่าน​เอง​ก็​จะ​ถูก​ดาบ​แทง​ทะลุ​ด้วย” 
เมื่อลูกเจ็บ-แม่เจ็บด้วย เมื่อลูกจวนจะตาย หัวใจแม่แทบใจสลายแตกเป็นเสี่ยงๆ
นางมาเรียผู้เป็นแม่ของพระเยซูคริสต์ แม้ว่านางได้เคยเห็นการอัศจรรย์ที่พระองค์ทรงทำมากมายไม่ว่าจะเป็นการรักษาคนป่วยให้หาย คนตายให้ฟื้น ห้ามพายุ ขับผีร้าย ผู้ช่วยให้รอด แต่มีวันนี้นางต้องยืนดูลูกของนางตายต่อหน้าต่อตา ซึ่งไม่มีแม่คนไหนรับได้
ยอห์น 19:25-27 
25 คน​ที่​ยืน​อยู่​ข้าง​กางเขน​ของ​พระ​เยซู​นั้น​มี​มารดา​กับ​น้า​สาว​ของ​พระ​องค์ มารีย์​ภรรยา​ของ​เคล​โอปัส​และ​มารีย์​ชาว​มักดาลา 
26 ​เมื่อ​พระ​เยซู​ทอด​พระ​เนตร​เห็น​มารดา​ของ​พระ​องค์ และ​สาวก​คน​ที่​พระ​องค์​ทรง​รัก​ยืน​อยู่​ใกล้​พระ​องค์ จึง​ตรัส​กับ​มารดา​ของ​พระ​องค์​ว่า “หญิง​เอ๋ย นี่​คือ​บุตร​ของ​ท่าน” 
27 ​แล้ว​พระ​องค์​ตรัส​กับ​สาวก​คน​นั้น​ว่า “นี่​คือ​มารดา​ของ​ท่าน” แล้ว​สาวก​คน​นั้น​ก็​รับ​มารดา​ของ​พระ​องค์​มา​อยู่​ใน​บ้าน​ของ​ตน​ตั้งแต่​เวลา​นั้น
เมื่อพระเยซูทอดพระเนตรเห็นมารดาของพระองค์ ทรงมอบหมายให้ยอห์นทำหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูต่อไป 
ความรักของแม่เป็นความรักที่เที่ยงแท้ แม้จะเป็นอย่างไรแม่ก็คือแม่คอยดูแลลูกไม่ห่างกาย

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรักของคุณแม่เหล่านี้ ที่ได้ถูกบันทึกในหนังสือพระคัมภีร์ จะเป็นแรงบันดาลใจของหลายๆคน ที่ท้อแท้ใจ ไม่มีใครเข้าใจ คนที่เป็นแม่นั้นพร้อมเสมอที่จะยืนเคียงข้างและให้กำลังใจลูกเสมอ  ดังคำกล่าวที่ว่า 
ความรักของแม่คือเชื้อเพลิงที่ช่วยให้คนธรรมดาๆ สามารถทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”
"Mother love is the fuel that enables a normal human being to do the impossible." -  
(แมเรียน ซี. การ์เร็ตตี้ Marion C. Garretty  : นักเขียน/นักประพันธ์)

ผมขอขอบพระคุณคุณแม่ของผม ท่านเป็นทั้งคุณย่าที่น่ารักของหลานๆและคุณแม่ที่รักยิ่งของลูกๆ แม้เวลาจะผ่านไปเช่นไร แม้ผมและน้องจะแต่งงานมีครอบครัวกันไปหมดแล้ว แต่ความรักของแม่ก็ยังเหมือนเดิม แม่ก็คือแม่ที่พร้อมจะรับฟังและช่วยเหลือให้กำลังใจมาโดยตลอด เพื่อเห็นถึงความสำเร็จของลูกทุกคน  


ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่ทุกท่าน ให้มีความแข็งแกร่งทั้งจิตใจและร่างกาย ที่พร้อมฟันฝ่าอุปสรรคไปได้นะครับ เพราะสิ่งดีที่คุณแม่ทำจะไม่สูญเปล่าแต่เป็นเมล็ดพันธ์ที่หว่านเข้าไปในหัวใจของลูกที่จะเติบโตและเลียนแบบสิ่งดีที่ท่านได้ทำไป

ในโอกาสวันพิเศษคือวันแม่แห่งชาติปีนี้ เราสามารถใช้เวลาในการสำแดงความรักให้กับท่าน แม้จะเป็นแค่ 1 วันในรอบปี เราก็ควรที่จะทำดีกว่าปล่อยให้ผ่านไปอย่างไม่มีความหมาย สำหรับคนที่สำแดงความรักกับคุณแม่ตลอดทุกวันอยู่แล้ว ก็ทำต่อไป เพราะวันนี้เป็นวันพิเศษที่แตกต่างไปจากวันอื่นๆนะครับ

ขอพระเจ้าทรงอวยพรคุณแม่ทุกท่านนะครับ ขอพระเจ้าประทานพรให้กับทุกท่านให้มีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาวนานครับ  พบกันใหม่ในบทความครั้งต่อไปครับ

สุภาษิต 31:28-30
28 ​ลูกๆ ของ​เธอ​ตื่น​ขึ้น​มา​ก็​ชมเชย​เธอ ​สามี​ของ​เธอ​ก็​สรรเสริญ​เธอ​ว่า
29 “สตรี​มาก​มาย​ทำ​ได้​ดี​เลิศ ​แต่​เธอ​เลิศ​ยิ่ง​กว่า​เขา​ทั้งหมด”
30 ​เสน่ห์​เป็น​ของ​หลอก​ลวง และ​ความ​งาม​ก็​ไม่​จี​รัง ​แต่​สตรี​ที่​ยำเกรง​พระ​ยาห์เวห์ สมควร​ได้​รับ​คำ​สรรเสริญ