06 ตุลาคม 2559

4 สัญลักษณ์แห่งสัญญารักในเทศกาลของพระยาห์เวห์

ภาพเลข 4 และหัวใจ
Shanah Tovah U Metuka! สุขสวัสดีด้วยความหวานชื่นใจในปีใหม่ 5777 นี้สำหรับผู้อ่านทุกท่านนะครับ 

เมื่อเราเข้าสู่เดือนทิชรี (Tishri) ปี 5777 (ช่วงวันที่ 3 ต.ค.-1 พ.ย.2016) ถือเป็นการเข้าสู่ช่วงเทศกาลการนัดหมายของพระยาห์เวห์ เนื่องจากเดือนนี้มีเทศกาลสำคัญถึง 3 เทศกาลด้วยกัน (ลนต.23:24-40)  นั่นคือ

  1. เทศกาลเสียงแตรเขาสัตว์ (Rosh Hashanah -โรช ฮาชชะนาห์) ช่วงเย็นวันที่ 2-3 ตุลาคม 2016 (เย็นวันที่ 29 เดือนเอลูล จนถึงวันที่ 1 เดือนทิชรี)  
  2. เทศกาลลบมลทินบาป(Yom Kippur-ยม คิปปูร์) วันที่ 12 ตุลาคม 2016 (วันที่ 10 เดือนทิชรี) ในช่วงระหว่างวันที่ 3 -12 ตุลาคม 2016 เป็นช่วงเวลา 10 วันแห่งความยำเกรงพระเจ้า (Days of Awe) เป็นเวลาที่จะหันชีวิตออกจากวิถีแห่งความบาป และหันกลับเพื่อแสวงหาพระยาห์เวห์โดยการอดอาหารอธิษฐานเพื่อเตรียมชีวิตเข้าสู่ประสบการณ์ใหม่ในพระสิริช่วงเทศกาลของพระยาห์เวห์
  3. เทศกาลอยู่เพิง (Sukkot-สุคคท)  เย็นวันที่ 16-24 ตุลาคม 2016 (วันที่ 15-21 เดือนทิชรี)

เทศกาลงานเลี้ยงของพระยาห์เวห์เป็นความบริบูรณ์ของเวลากำหนดทั้งสิ้นของพระองค์ (ภาษาฮีบรู : Mo’ed) เป็นการเรียกชุมนุมอันบริสุทธิ์ 
เทศกาลคือสิ่งที่เป็นมาในอดีต  สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในสวรรค์เพื่อพระเยซูคริสต์กลับมา!  ฉะนั้นเทศกาลต่างๆเหล่านี้จึงเป็นภาพเงาหรือสัญลักษณ์เตือนใจที่เล็งถึงพระเยซูคริสต์ 
โคโลสี 2:16-17  
16 เหตุ​ฉะนั้น​อย่า​ให้​ผู้ใด​พิพากษา​ปรักปรำ​ท่าน​ใน​เรื่อง​การ​กิน การ​ดื่ม ใน​เรื่อง​เทศกาล วัน​ต้น​เดือน หรือ​วันสะบาโต
17สิ่ง​เหล่า​นี้​เป็น​เพียง​เงา​ของ​เหตุการณ์​ที่​จะ​มี​มา​ใน​ภายหลัง แต่​กาย​นั้น​เป็น​ของ​พระ​คริสต์​
 เทศกาลต่างๆจึงเป็น“สัญลักษณ์” เตือนใจเพื่อกระตุ้นเราให้มีความเชื่อเข้มแข็งขึ้นใ“สัญญารัก” ของพระเยซู(เยชูวาห์) ว่าทรงเป็นพระผู้ช่วยซึ่งทรงรักเรา พระเจ้าทรงกำหนดเวลานัดหมาย(Divine Appointment) ในเทศกาลต่างๆและแน่นอนว่าพระองค์จะมารับผู้ที่รักษาความเชื่อที่พร้อมไปกลับพระองค์ในวาระสุดท้าย 

การเริ่มต้นปีใหม่ (Rosh Hashanah) ปี 5777 ปีแห่งตัวอักษรฮีบรูคือ อายิน ซายิน (Ayin Zayin) “ปีแห่งดาบการปกครองของพระยาห์เวห์”  

แม้แต่ตัวอักษรภาษาฮีบรูยังเป็นภาษาสัญลักษณ์ซึ่งเล็งถึงคุณลักษณ์(Attributes) ทั้ง 22 ประการที่พระเมสสิยาห์ทรงสำแดงแก่ประชากรของพระองค์ตั้งแต่ตัวแรกคือ  א Aleph "อาเล็ฟ" จนถึงตัวสุดท้าย คือ ת Tav"ทาว"  พระองค์ทรงเป็นปฐมและอวสาน  (หากเป็นภาษาไทย พระองค์คงจะเป็นตั้งแต่ ก.เอ๋ยก.ไก่ไปจนถึง ฮ.นกฮูก ตาโต)

  א Aleph เป็นตัวอักษรตัวแรกและเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวและยิ่งใหญ่ เปรียบดั่งกษัตริย์ของตัวอักษรตัวอื่น คำว่า אֱלֹהִים เอโลฮิม(พระเจ้า ผู้ทรงเป็นพระผู้ทรงสร้าง) ก็ขึ้นต้นด้วยตัวนี้ 
ת Tav เป็นสัญลักษณ์หมายถึง ความจริง (Emet) และความสมบูรณ์แบบ  ת Tav หมายถึงต้นไม้หรือกางเขน ที่เป็นการเชื่อมไปสู่ทาง ความจริงและชีวิต ผ่านทางพระเยซูเพื่อไปถึงพระบิดา หรือ เอโลฮิม

ยอห์น 14:6   พระเยซูตรัสกับเขาว่า  "เราเป็นทางนั้น  เป็นความจริงและเป็นชีวิต  ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา" 



1 เปโตร 2:24 ​พระ​องค์​เอง​ได้​ทรง​รับ​แบก​บาป​ทั้ง​หลาย​ของ​เรา​ไว้​ใน​พระ​กาย​ของ​พระ​องค์ ที่​ต้นไม้​( ת Tav)นั้น เพื่อ​ว่า​เรา​จะ​ตาย​ต่อ​บาป​ได้ และ​ดำเนิน​ชีวิต​เพื่อ​ความ​ชอบธรรม ด้วย​บาดแผล​ของ​พระ​องค์ พวก​ท่าน​จึง​ได้รับ​การ​รักษา​ให้​หาย​

เมื่อคนอิสราเอลอยู่ในถิ่นทุรกันดาร พระยาห์เวห์ทรงทำพันธสัญญากับคนของพระองค์ คือ มอบพระบัญญัติให้ที่ภูเขาซีนาย รวมถึงกำหนดเทศกาลต่างๆ เพื่อให้คนของพระองค์ได้ฉลองตลอดจนนิรันดร์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัญญารักนิรันดร์ของพระยาห์เวห์กับคนของพระองค์ ตามหนังสือเลวีนิติบทที่ 23
ดังนั้นช่วงเวลาแห่งเทศกาลต่างๆจึงเป็น “สัญลักษณ์” ที่สำแดงถึง “สัญญารัก” ของพระยาห์เวห์” ที่พระองค์ทรงมีต่อคนของพระองค์  เพื่อนัดหมายและเล็งถึงอนาคตให้รอคอยพระองค์กลับมารับด้วยใจจดจ่อ 
4 สัญลักษณ์แห่งสัญญารักในเทศกาลของพระยาห์เวห์ มีดังต่อไปนี้


1. เขาสัตว์(Shofar-โชฟาร์)  เป็น“สัญลักษณ์ในเทศกาลเสียงแตรเขาสัตว์ (Rosh Hashanah)

การเป่าโชฟาร์เป็นสัญญาณที่ดังขึ้นเพื่อปลุก(revive) จิตวิญญาณให้หันกลับ(return)มาฟังเสียงเรียกให้กลับใจ

ผู้เผยพระวจนะโยเอล เป่าแตรหรือโชฟาร์ ในศิโยนเพื่อเรียกให้คนกลับใจใหม่ 
ยเอล 2:15 จง​เป่า​เขา​สัตว์​ที่​ใน​ศิ​โยน จง​เตรียม​ทำ​พิธี​อด​อาหาร จง​เรียก​ประชุม​ตาม​พิธี

ในระหว่างการปฏิรูปศาสนาของกษัตริย์อาสา ให้คนเป่าโชฟาร์เพื่อให้คนอิสราเอลแสวงหาพระเจ้า

2 พงศาวดาร 15:12 และเขาก็เข้าทำพันธสัญญาที่จะแสวงหาพระยาห์เวห์ พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของเขา ด้วยสุดจิตสุดใจของเขา และเขาได้ประทับคำสัญญาของพวกเขาด้วยเสียงแตร 

2 พงศาวดาร 15:14 เขาทั้งหลายได้กระทำสัตย์สาบานต่อพระเจ้าด้วยเสียงอันดัง และด้วยเสียงโห่ร้อง และด้วยเสียงแตรและเขาสัตว์ 

เสียงโชฟาร์เป็นเสียงแห่งการต่อต้านความบาป 


อิสยาห์ 58:1 จงร้องดังๆอย่าออมไว้ จงเปล่งเสียงของเจ้าเหมือนเป่าเขาสัตว์ จงแจ้งแก่ชนชาติของเราให้ทราบถึงเรื่องการทรยศของเขา แก่เชื้อสายของยาโคบเรื่องบาปของเขา 

เสียงของโชฟาร์เป็นเสียงเรียกให้ตอบสนอง เพื่อใคร่ครวญดูการกระทำของตน และดำเนินชีวิตใหม่ให้ถูกต้อง ก่อนวันแห่งการพิพากษา เป็นการหวนระลึกถึงการทำตน 
ดังนั้นก่อนจะถึงวันนั้นผู้เชื่อจึงควรสำรวจใจ และกลับใจ(ฮีบรู 9:27) พระเจ้ามักสื่อสารและเตือนประชากรของพระองค์ล่วงหน้าเสมอ ก่อนที่พระองค์จะทาการพิพากษา เทศกาลแห่งเสียงแตรสะท้อนถึง พระประสงค์ของพระเจ้าที่จะรวบรวมประชากรของพระองค์ให้กลับใจใหม่ เพื่อว่าพระองค์จะสามารถกู้พวกเขาในวันแห่งการพิพากษา

2.คันประทีป (Menorah-เมโนราห์)  เป็นสัญลักษณ์แห่งการรื้อฟื้น(restore)  



การจุดไฟที่คันประทีปเป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับระหว่างระหว่างพระยาห์เวห์กับคนของพระองค์
ในช่วงเวลา 10 วันแห่งความยำเกรงพระเจ้า (Days of Awe) 
หลังจากเทศกาลเสียงแตรเขาสัตว์จะมีช่วงเวลา 10 วันแห่งความยำเกรงพระเจ้า (Days of Awe) เป็นเวลาที่จะหันชีวิตออกจากวิถีแห่งความบาป และหันกลับมาหาพระเจ้าโดยการอดอาหารอธิษฐานเป็นการเตรียมชีวิตกลับใจ(repent)จากความบาป   

การจุดไฟที่คันประทีปเล็งถึงความสัมพันธ์ที่ต้องรักษาไว้เสมอ การตั้งคันประทีปในพระวิหารเป็นการกำหนดทิศทางได้เพื่อให้หันกลับมาในทิศทางที่ถูกต้อง  หากอยู่ต่างประเทศคนยิวจะตั้งคันประทีปหันไปทางทิศที่ตั้งของประเทศอิสราเอล หากอยู่ในประเทศอิสราเอลจะตั้งคันประทีปหันไปทางทิศที่ตั้งของกรุงเยรูซาเล็ม และหากอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มจะตั้งคันประทีปหันไปทางทิศที่ตั้งของภูเขาพระวิหาร 
ดังนั้นเราจึงต้องหันทิศทางชีวิตของเราให้ถูกต้องในช่วง10 วันแห่งความยำเกรงพระเจ้า (Days of Awe)และรับการการรื้อฟื้น(restore) ความสัมพันธ์กับพระเจ้าเสมอเหมือนดั่งการจุดรักษาไฟที่คันประทีปในเทศกาลที่จะไม่มอดดับตลอดไป 


3.พระที่นั่งกรุณา (คัปโปเร็ท- Kapporet (Mercy Seat)) เป็นสัญลักษณ์แห่งการกลับใจใหม่
(Repent)ในเทศกาลลบมลทินบาป(Yom Kippur-ยม คิปปูร์)  

วันลบมลทินบาป(Day of Atonement) เป็นวันเดียวในรอบ 1 ปีที่มหาปุโรหิตจะเข้าไปในห้องอภิสุทธิสถานเพื่อทำการลบมลทินบาปให้กับชุมชน  ซึ่งพิธีกรรมนี้เป็นภาพเงาที่เล็งถึงพระเยซูคริสต์ที่พระองค์มาสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเป็นการลบมลทินบาปให้กับเราชั่วนิรันดร์(ฮีบรู 9:12, 24-27)  เราจึงไม่ต้องทำพิธีนี้แล้ว แต่เราไม่ควรที่จะตกอยู่ใน “ความกลัว”ต่อการปรักปรำในบาปอีกต่อไปแต่เราควรจะมี “ความกล้า”เข้าไปพระที่นั่งกรุณาโดยพระคุณที่โปรดปรานผ่านทางพระคริสต์
ฮีบรู 4:15-16
15 ​เพราะ​ว่า เรา​ไม่ได้​มี​มหา​ปุโรหิต​ที่​ไม่​สามารถ​จะ​เห็น​ใจ​ใน​ความ​อ่อนแอ​ของ​เรา แต่​ทรง​เคย​ถูก​ทดลอง​ใจ​เหมือน​เรา​ทุก​อย่าง ถึง​กระนั้น​พระ​องค์​ก็​ยัง​ปราศจาก​บาป

16 ​ฉะนั้น​ขอ​ให้​เรา​เข้า​มาถึง​พระ​ที่​นั่ง​แห่ง​พระ​คุณ​ด้วย​ความ​กล้า เพื่อ​เรา​จะ​ได้รับ​พระ​เมตตา และ​จะ​พบ​พระ​คุณ​ที่​ช่วย​เรา​ใน​ยาม​ต้อง​การ

4.เพิงที่พำนัก หรือเต็นท์นัดพบ (Sukkot-สุคคท)  
ป็นสัญลักษณ์แห่งเทศกาลอยู่เพิง 

การพักสงบในเต็นท์นัดพบในเทศกาลอยู่เพิงเป็นช่วงเวลาที่เราจะ

ชื่นชมยินดี(Rejoice)จะได้สามัคคีธรรมอยู่ต่อการทรงสถิตภายใต้ร่มเงาในเพิงแห่งพระสิริของพระเจ้า

เทศกาลนี้ชาวยิวจะไปตั้งค่ายพักแรมสร้างเพิงที่พำนัก เป็นครอบครัว เป็นช่วงเวลาแห่งการนัดพบกับพระยาห์เวห์ด้วยความชื่นชมยินดีในการอ่านพระบัญญัติ(โทราห์)


เมื่อเราศึกษาจากพระธรรมเนหะมีย์ บทที่ 8  เราจะเห็นถึงความสำคัญของเทศกาลอยู่เพิง ทั้งนี้เพราะช่วงเวลานั้นคนอิสราเอลได้รับการปลดแอกจากการป็นเชลยที่บาบิโลน และได้เดินทางกลับมาที่กรุงเยรซาเล็ม  เพื่อสร้างกำแพงและรื้อฟื้นการเฉลิมฉลองเทศกาลของพระยาห์เวห์

เนหะมีย์หนุนใจประชาชนอิสราเอลให้ชื่นชมยินดีเพราะความยินดีในพระเจ้าเป็นกำลัง(8:10) พวกเขามีความยินดีเพราะเขาจะได้ร่วมฉลองเทศกาลอยู่เพิง!

เทศกาลอยู่เพิงนี้ คนยิวจะอยู่ในเพิง 7 วันและวันที่ 8 มีการประชุมกัน(Shemini Atzeret ) และพวกเขาจะออกมาเต้นรำและถือหนังสือม้วนโทราห์(Torah) อ่านข้อความตั้งแต่พระธรรมปฐมกาลข้อแรก จนถึงข้อสุดท้ายของพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ  เพื่อแสดงว่า “พระวจนะของพระเจ้าไม่มีวันสิ้นสุด”


เนหะมีย์ 8:18 และทุกวันท่านอ่านธรรมบัญญัติ(Torah)ของพระเจ้า ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย เขาถือเทศกาลเลี้ยง(Sukkot) อยู่​ 7 วัน และในวันที่​8  (Shemini Atzeret )มีการชุมนุมตามพิธีตามกฎหมาย


สำหรับในปี 5777 ปีนี้เป็นปีแห่งตัวอักษรฮีบรูคือ อายิน ซายิน(Ayin Zayin)  ตัวอักษรซายิน ให้ความหมายถึง ดาบ และมงกุฎ​ เชื่อว่าเป็นปีแห่งดาบแห่งการปกครองของพระยาห์เวห์  การประกาศชัยชนะ พระองค์ทรงปราบสิ่งสารพัดและประทานชัยให้ผู้เชื่อทุกคนและทรงมอบมงกุฏงามและดาบแห่งสิทธิอำนาจแห่งพระวจนะของพระองค์    


สดุดี 149:4-6  ​เพราะ​พระ​ยาห์เวห์ท​รง​ปรีดี​ใน​ประชากร​ของ​พระ​องค์ ​พระ​องค์​ประทาน​ชัย​ชนะ​เป็น​มงกุฎ​แก่​คน​ที่​ถ่อม​ใจ ​ให้​ผู้​จงรักภักดี​ยินดี​ใน​เกียรติ​นี้ ​ให้​พวก​เขา​ร้อง​เพลง​ด้วย​ความ​ยินดี​บน​ที่​นอน  ​ให้​การ​สดุดี​เทิดทูน​พระ​องค์​อยู่​ใน​ลำคอ​ของ​พวก​เขา ​และ​ให้​ดาบ​สอง​คม​อยู่​ใน​มือ​ของ​พวก​เขา


นี่คือ 4 “สัญลักษณ์” แห่ง “สัญญารัก” ในช่วงเวลาแห่งเทศกาลของพระยาห์เวห์ เราไม่ได้ถือเทศกาลต่างๆตามกฏบัญญัติว่า "เราจำเป็นต้องทำ"  แต่เราถือเทศกาลต่างๆ เพราะหัวใจของเรา บอกว่า "เราอยากทำ" เราไม่ได้เรียนรู้เรื่องเทศกาลเป็นเพียง “ความรู้” ที่เพิ่มรอยหยักที่หัวสมอง แต่เราเรียนรู้ด้วยความเข้าใจใน “ความรัก” ของพระยาห์เวห์ที่กำหนดไว้ที่เป็น “รอยสลัก” แห่งพันธสัญญา  

เพลงโซโลมอน 8:6   จงแนบดิฉันไว้ให้เป็นเนื้อเดียวดุจดวงตราแขวนอยู่ที่ใจของเธอ  ประดุจดวงตราบนแขนของเธอ  เพราะความรักนั้นเข้มแข็งอย่างความตาย  ความรักรุนแรงก็ดุเดือดเหมือนแดนคนตาย  และประกายแห่งความรักรุนแรงนั้นก็คือประกายเพลิงคือประกายเพลิงที่แสนรุนแรง

เทศกาลแห่งการเริ่มต้นปีใหม่ 5777 นี้จึงเป็นการปลุก(Revive)จิตวิญญาณของเราให้กลับใจ(Repent) หันกลับมา(Return)เพื่อรื้อฟื้น(Restore)คืนความสัมพันธ์กับพระยาห์เวห์ในช่วงเทศกาลแห่งการนัดพบพักสงบ และชื่นชม(Rejoice)

ในเทศกาลงานเลี้ยงของพระยาห์เวห์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นหมายสำคัญที่เราจะฉลองใหญ่อีกครั้งในแผ่นดินสวรรค์! วันนี้เป็นการฉลองงานเลี้ยงเทศกาลเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว แต่ที่นั่นบนสวรรค์เรามีงานเลี้ยงฉลองเทศกาลชั่วนิรันดร์ตลอดไป วันนี้เราอยู่ในเพิงพักชั่วคราว แต่ในวันนั้นบนสวรรค์เราจะอยู่ในบ้านถาวรชั่วนิรันดร์ อาเมน

เศคาริยาห์ 14:16 และ​อยู่​มา​บรรดา​คน​ที่​เหลืออยู่​ใน​ประชาชาติ​ทั้ง​ปวง​ซึ่ง​ยกขึ้น​มา​สู้​รบ​กับ​เยรูซาเล็ม จะ​ขึ้น​ไป​นมัสการ​กษัตริย์​ปี​แล้ว​ปี​เล่า คือ​พระ​เจ้า​จอม​โยธา และ​จะ​ถือ​เทศกาล​อยู่​เพิง
วิวรณ์ 21:3 ข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังมาจากพระที่นั่งว่าดูเถิด พลับพลาของพระเจ้าอยู่กับมนุษย์แล้วพระองค์จะทรงสถิตกับเขา เขาจะเป็นชนชาติของพระองค์ และพระเจ้าเองจะประทับอยู่กับเขาและจะทรงเป็นพระเจ้า” 

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณค่ะอาจารย์โรจน์ ขอพระเจ้าอวยพรมากขึ้นนะคะ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณค่ะอาจารย์โรจน์ ขอพระเจ้าอวยพรมากขึ้นนะคะ

    ตอบลบ