25 กันยายน 2554

Rosh Hashanah นี่เป็นเวลาแห่งเสียงแตรเขาสัตว์

สวัสดีครับเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับเราชาวคริสตชนเพราะจะมีเทศกาลต่างๆตามปฏิทินยิวที่เป็นตารางเวลานัดพบกับพระเจ้า เทศกาลต่างๆมีความสำคัญและมีความหมายในฝ่ายวิญญาณ บางท่านอาจจะคิดว่าเทศกาลต่างๆของพระเจ้านั้นไม่มีประโยชน์อะไรสําหรับผู้เชื่อเลย แต่ว่าใน โคโลสี บทที่่ 2 อัครทูตเปาโลได้สอนไว้ว่าเราไม่ควรที่จะ “ยอมอยู่ใต้บัญญัติต่างๆอันเป็นหลักธรรมและคําสอนของมนุษย์” (โคโลสี 2:20,22) ที่จะทําให้เราหยุดปฏิบัติตามเทศกาลต่างๆได้อย่างถูกต้อง อัครทูตเปาโลได้เขียนไว้ว่า “อย่าให้ผู้ใดพิพากษาปรักปรำท่านใน...เรื่องเทศกาล วันต้นเดือน หรือวันสะบาโตสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเงาของเหตุการณ์ที่จะมีมาในภายหลัง” โคโลสี 2:16- 17)
อัครทูตเปาโลได้กล่าวไว้ว่าเทศกาลต่างๆนั้นเป็นเงาของเหตุการณ์ที่จะมีมาภายหลัง ฉะนั้นเทศกาลต่างๆของพระเจ้าสอนเราเกี่ยวกับแผนของพระเจ้า
พระเจ้าได้ทรงบรรยายถึงทุกเทศกาลของท่านไว้ใน เลวินิติ บทที่ 23 ได้เริ่มต้นด้วยคําว่า “พระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า จงกล่าวแก่คนอิสราเอลว่า เทศกาลเลี้ยงตามกําหนดแด่พระเจ้า ซึ่งเจ้าจะต้องประกาศว่าเป็นการประชุมบริสุทธ์” (เลวินิติ 23:1-2)

เทศกาลเหล่านี้เป็นวันประชุมบริสุทธ์ที่ทุกคนจะมาประชุมกันและเรียนรู้ถึงแผนการของพระเจ้า

บางคนมีความเชื่อว่าพระเจ้าได้ให้ชาวอิสราเอลถือเทศกาลเหล่านี้แต่เพียงพวกเดียว แต่พระเยซูได้ทรงสอนทุกคนให้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ (มัทธิว 5:17-19) พระองค์ไม่ได้มาเลิกล้างธรรมบัญญัติ แต่พระองค์ทำให้สมบูรณ์
อัครทูตเปาโล ยอห์นและศิษย์คนอื่นทุกคนก็ได้สอนให้ทุกคนประพฤติตามธรรมบัญญัติและรวมทั้งเทศกาลต่างๆด้วยเช่นกัน (1 โครินธ์ 5:8,1 ยอห์น 5:3) พระเยซูก็ได้ปฏิบัติตามเทศกาลต่างๆเช่นกัน (ยอห์น 2:23,7:10,14,37)
และผู้เชื่อช่วงระยะเริ่มต้นก็ได้ปฏิบัติตามเทศกาลต่างๆเช่นกัน (กิจการของอัครทูต 2:1,18:21, 20:6, 16)
และในอนาคตนั้นทุกคนจะกระทําการฉลองเทศกาลต่างๆ ดังที่พระธรรม เศคาริยห์ 14:16 กล่าวเป็นเชิงพยากรณ์ไว้ว่า
เศคาริยห์ 14:16 และอยู่มาบรรดาคนที่เหลืออยู่ในประชาชาติทั้งปวงซึ่งยกขึ้นมาสู้รบกับเยรูซาเล็ม จะขึ้นไปนมัสการกษัตริย์ปีแล้วปีเล่า คือพระเจ้าจอมโยธา และจะถือเทศกาลอยู่เพิง

พระเจ้าได้ทรงสร้างเทศกาลต่างๆไว้สําหรับทุกคน

เราไม่ได้เลียนแบบวิธีการฉลองเทศกาลต่างๆ แต่เราเรียนรู้จากหลักการฉลองเทศกาลต่างๆ เพื่อเตรียมชีวิตของเราสู่วาระเวลาของพระเจ้า เพื่อเคลื่อนไปตามพระองค์

ในครั้งนี้ผมขอนำคำสอนของอ.นิมิต พานิชที่สอนในเรื่อง Rosh Hashana นี่เป็นเวลาเแห่งเสียงแตรเขาสัตว์ มาสรุปให้อ่านดังนี้ครับ

เลวีนิติ 23:23-25
23 พระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า
24 "จงกล่าวแก่คนอิสราเอลว่า ในวันที่หนึ่งของเดือนที่เจ็ด เจ้าทั้งหลายจงถือเป็นวันหยุดพักสงบวันหนึ่ง เป็นวันประชุมบริสุทธิ์ประกาศเป็นที่ระลึกด้วยเสียงแตร
25 เจ้าอย่าทำงานหนัก และเจ้าจงนำเครื่องบูชาด้วยไฟถวายแด่พระเจ้า"


เนื่องจากในช่วงเย็นวันที่ 28 กันยายน 2011 ตามปฏิทินยิว เป็นช่วงเวลาเริ่มต้นเทศกาลแห่งเสียงแตรเขาสัตว์ Rosh Hashanah หรือที่เราเรียกว่า ร้อช ฮ้าชชะนาห์ (28 ก.ย.-30 ก.ย.) ซึ่งเป็นเทศกาลเริ่มต้นปี (Head of the year) มีความสำคัญและมีความหมายฝ่ายวิญญาณมาก

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา อ โรเบิร์ต ไฮด์เลอร์(Robert Heidler) ได้มาสอนให้เราเข้าใจเรื่องความหมายของปฎิทินยิวในปี 5772 ตามปฏิทินฮีบรู เป็นปีของอักษร בע"Ayin-Bet"คือ
พระเจ้าเฝ้าดูเหนือบ้านของพระองค์ ที่สำคัญสุดคือพันธสัญญา (covenant) เป็นปีของการเข้าใจเรื่องพันธสัญญา พระเจ้าไม่เพียงแต่ต้องการให้เราเดินในพันธสัญญา แต่พระองค์ถักทอเชื่อมเราไว้ในพันธสัญญาของพระองค์

และอ.แอแลน ฟาบิยอน (Allen Faubion)ได้สอนเราให้เข้าใจในเรื่องการป่าวประกาศฤดูกาลใหม่ด้วยเสียงแตรเขาสัตว์(Shofar)
ดังนั้นให้เราพิจารณาถึงเทศกาลนี้ เพื่อจะมีความเข้าใจและก้าวไปสู่เวลาใหม่ของพระเจ้า

เทศกาลเสียงแตรมีขึ้นในวันแรกของเดือนที่เจ็ด (เดือนทีชรี) เป็นเดือนที่สำคัญมากเพราะในเดือนนี้มีเทศกาลอยู่ถึงสามเทศกาลได้แก่ เทศกาลเป่าแตรเขาสัตว์(Rosh Hashanah) เทศกาลวันลบมนทิลบาป (Day of Atonement)และเทศกาลอยู่เพิง (Feast of Tabernacles)



ในปี 2011 จะเป็นช่วงเวลาในเดือนกันยายน-ตุลาคม จะมีเทศกาลดังนี้



  1. เทศกาลแห่งเสียงแตรเขาสัตว์ Rosh Hashanah (ร้อช ฮ้าชชะนาห์) ช่วงวันที่ 28 ก.ย.-30 ก.ย.

  2. เทศกาลวันลบมนทิลบาป (Day of Atonement) (Yom Kippur - ยม คิปปูร์)ช่วงวันที่ 7-8 ต.ค.ในช่วง 10 วันตั้งแต่ Rosh Hashanah ถึง Yom Kippur เป็นช่วงวันแห่งความยำเกรงพระเจ้า (Days of Awe)(Awesome)

  3. เทศกาลอยู่เพิง (Feast of Tabernacles)(Sukkot-สุคต)ช่วงวันที่ 12-19ต.ค.
    ทั้ง3เทศกาลนี้เป็นแบบที่ทำให้เห็นแผนการแห่งการไถ่ที่สมบูรณ์ของพระเจ้า
ในแต่ละปีทางศาสนาของยิวนั้นจะมีการเป่าแตรเขาสัตว์ แต่การเป่าแตรในเทศกาลเป่าแตรเขาสัตว์ ซึ่งอยู่ในเดือนที่เจ็ดนั้น ถือเป็นการเป่าแตรเขาสัตว์ ในช่วงระยะเวลาท้ายสุดของปี เพื่อบอกถึงการสำเร็จเสร็จสิ้น ความสมบูรณ์ในแผนการของพระเจ้าสำหรับการไถ่บาป และเปิดฉากสู่การก้าวสู่เวลาใหม่ มิติใหม่ หรือ ก้าวสู่ New world

ในพระคัมภีร์เดิม เทศกาลเป่าแตรมีขึ้นในวันแรกของเดือนที่เจ็ด หรือเดือนทีชรี แต่เดิมเรียกว่าเดือนเอธานิม ซึ่งปรากฏใน
1 พงศ์กษัตริย์ 8:2 และผู้ชายทั้งสิ้นของอิสราเอลก็ประชุมต่อพระพักตร์พระราชาซาโลมอน ณการเลี้ยงในเดือนเอธานิม ซึ่งเป็นเดือนที่เจ็ด
แต่มาภายหลังเมื่ออิสราเอลกลับจากการเป็นทาสที่บาบิโลนจึงเรียกชื่อเดือนนี้ใหม่เป็นเดือนทิชรี ทิชรีจึงเป็นเดือนแรกในปฏิทินชาวบาบิโลน
ชาวยิวเรียกวันแรกในเดือนทิชรีนี้ว่า ร้อช ฮ้าชชะนาห์ ซึ่งแปลตามตัวอักษรหมายถึง ต้นปี (Head of the year)คนยิวจึงถือเอาวันนี้เป็นวันปีใหม่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้น คือ เริ่มต้นสิบวันแห่งการกลับใจใหม่ หรือ เริ่มต้นวันอันน่ายำเกรง (Days of Awe) นี่เป็นสิบวันแห่งการเตรียมตัวสู่วันลบมลทินบาปหรือวันยมคิปปูร ซึ่งอยู่ในวันที่สิบของเดือนที่เจ็ด

เทศกาลเสียงแตรและวันแห่งการลบมลทินบาปนี้ มีความแตกต่างจากเทศกาลอื่น ๆ นั่นก็คือ

ประการแรก เทศกาลทั้งสองนี้ไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของชาติ มีการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้อย่างเป็นส่วนตัว เพราะถือว่าเป็นเวลาส่วนตัวที่เล็งถึงแต่ละคนจะยืนขึ้นต่อหน้าพระเจ้าที่ทรงประทับบนบัลลังก์การพิพากษาและร้องขอการอภัยบาป และการชำระบาป


ประการที่สอง เทศกาลอื่น ๆ จะเฉลิมฉลอง เน้นความชื่นชมยินดีในจิตวิญญาณ แต่เทศกาลนี้เป็นเทศกาลที่เน้นการใคร่ครวญทางจิตวิญญาณ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเสด็จกลับมาพิพากษาและปกครองโลก


เทศกาลเสียงแตรถือเป็นหนึ่งในสองเทศกาลที่มีบรรยากาศจริงจัง ซึ่งมาจากข้อพระวจนะใน เลวีนิติ 23:24 บอกให้เป็นวันที่ระลึกด้วยเสียงแตรและในกันดารวิถี 29:1 บอกว่าเป็นวันที่ให้คนทั้งหลายเป่าแตรในพระคัมภีร์เดิมมีการอ้างถึงเทศกาลเสียงแตรครั้งแรกใน เลวีนิติ 23:24
24 "จงกล่าวแก่คนอิสราเอลว่า ในวันที่หนึ่งของเดือนที่เจ็ด เจ้าทั้งหลายจงถือเป็นวันหยุดพักสงบวันหนึ่ง เป็นวันประชุมบริสุทธิ์ประกาศเป็นที่ระลึกด้วยเสียงแตร
และมีการอ้างถึงครั้งที่สองใน กันดารวิถี 29:1"ในวันที่หนึ่งเดือนที่เจ็ดเจ้าจงมีการประชุมบริสุทธิ์ เจ้าอย่าทำงานหนัก เป็นวันให้เจ้าทั้งหลายเป่าแตร" โดยปกติแล้วก็มีการเป่าโชฟาร์ ทุกต้นเดือน (Rosh Khodesh) โรช คอเดช


กันดารวิถี 10:10 ในวันที่เจ้าทั้งหลายมีความยินดี และในงานเทศกาลและในวันต้นเดือนของเจ้า เจ้าจงเป่าแตรเหนือเครื่องเผาบูชาและเหนือสัตวบูชาอันเป็นเครื่องศานติบูชา เป็นที่ให้พระเจ้าของเจ้าระลึกถึงเจ้า เราเป็นพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้า"
แต่การเป่าแตรในเดือนเจ็ดนี้พิเศษกว่าเดือนอื่น ๆ ตรงที่เป็นการปลุกให้คนยืนขึ้นเพื่อเตรียมตัวให้พรอ้มก่อนการพิพากษาของพระเจ้าจะมาถึง
การเป่าแตรเป็นการเรียกให้กลับใจใหม่ก่อนวันแห่งการลบมลทินบาปซึ่งเล็งถึงวันแห่งการพิพากษาของพระเจ้า
โดยทั่วไป การเป่าแตรในแต่ละเดือนนั้นใช้แตรสั้น แต่การเป่าแตรในเดือนเจ็ดนั้นเป็นการเป่าแตรโดยใช้แตรที่มีขนาดยาว แตรแบบนี้จะให้เสียงดังกว่าเสียงดังจะปลุกจิตวิญญาณที่หลับใหลให้ตื่นขึ้น

คำว่า ร้อช ฮ้าชชะนาห์ แปลว่า จุดเริ่มต้นของปี (Head of the year) คนยิวจะมีปฏิทินแตกต่างกัน คือ ปฏิทินทางศาสนา และปฏิทินทั่ว ไป ปฏิทินทางศาสนานั้นจะเริ่มต้นนับในฤดูใบไม้ผลิ ดังที่บันทึกในอพยพ12:2 เฉลยธรรมบัญญัติ 16:1


เดือนแรกในปีทางศาสนา คือ เดือนที่คนอิสราเอลออกจากอียิปต์ และได้ฉลองเทศกาลปัสกา ซึ่งถือเป็นเทศกาลแห่งการไถ่ เรียกกันว่าเดือนอาบิบ คือ เดือนแห่งการได้ยินเสียง แต่ภายหลังเมื่อคนอิสราเอลกลับจากการเป็นทาสที่บาบิโลน ได้ตั้งชื่อเดือนอาบิบใหม่เป็นเดือนนิสาน ซึ่งเริ่มต้นในวันเพ็ญของเดือนมีนาคม หรือเมษายน
ส่วนปีที่ประชาชนทั่วไปยึดถือกัน เป็นปีทางการเกษตร ไม่ใช่ปฏิทินทางศาสนานั้นเชื่อว่า การเริ่มต้นปีอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ล่วงซึ่งอยู่ในเดือนที่เจ็ด ภายหลังจากที่อิสราเอลกลับจากการเป็นเชลย ได้เรียกเดือนนี้ว่าเดือนทิชรี

ตามประวัติศาสตร์พบว่าเครื่องมือที่ใช้ในการเป่าในวัน ร้อช ฮ้าชชะนาห์ ในอดีตเคยใช้โชฟาร์ ซึ่งเป็นเขาแกะที่มีลักษณะโค้ง
แต่ต่อมาในสมัยหลังๆ คนยิวส่วนใหญ่กลับใช้แตรเงิน ซึ่งเชื่อกันว่า การเป่าด้วยแตรเงินมีความหมายยิ่งใหญ่กว่าการเป่าด้วยโชฟา เพราะว่า แตรเงินมักนำมาใช้อย่างกว้างขวางในพิธีทางศาสนามากกว่า
การเป่าเสียงแตรนั้นจะกระตุ้นความรู้สึก ออกจากความเฉื่อยชา และทำให้เกิดการตระหนักรู้ ใคร่ครวญในจิตวิญญาณ เสียงการเป่าโชฟาร์นั้นมีครั้งแรกที่พระเจ้าสำแดงบนภูเขาซีนาย


อพยพ 19:16 อยู่มาพอถึงรุ่งเช้าวันที่สาม ก็บังเกิดฟ้าร้องฟ้าแลบ มีเมฆอันหนาทึบปกคลุมภูเขานั้นไว้กับมีเสียงแตรดังสนั่น จนคนทั้งปวงที่อยู่ในค่ายต่างก็พากันกลัวจนตัวสั่น

การเป่าโชฟาร์ ในเทศกาลเสียงแตรเขาสัตว์ หรือ ร้อช ฮ้าชชะนาห์ มีความหมายอย่างไรบ้างและเป่าอย่างไร ลองพิจาณากันโดยสังเขปดังนี้
(ข้อมูลจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Rosh_Hashanah)





  1. เป่าแบบเทคีอาห์ (Tekiah) เป่าเสียงเดียวยาวใช้เพื่อเรียกประชุม ความหมายฝ่ายวิญญาณหมายถึงข้อตกลง (Agreement)
    กันดารวิถี 10:3 เมื่อเป่าแตรทั้งสองนั้นก็ให้ชุมนุมชนทั้งหมดมาประชุมพร้อมกันกับเจ้าที่ประตูพลับพลาแห่งชุมนุม


  2. เป่าแบบเชวาริม (Shevarim) เป่าเสียงแตก 3 ครั้ง เพื่อเคลื่อนขบวนทัพความหมายฝ่ายวิญญาณหมายถึงการกลับใจ (repentance) กันดารวิถี 10:5 เมื่อเป่าแตรปลุกให้บรรดาค่ายที่ตั้งอยู่ด้านตะวันออกยกออกเดิน


  3. เป่าแบบเทรูอาห์ หรือ เทรัวห์ (Teruah)เป่าเสียงสั้น 9 ครั้ง เพื่อทำการรบในสงคราม ความหมายฝ่ายวิญญาณหมายถึงการรับใช้ (ministry) กันดารวิถี 10:9 และเมื่อเจ้าทั้งหลายจะไปทำศึกในแผ่นดินของเจ้าสู้ศัตรูผู้มาบีบบังคับเจ้า ก็ให้เป่าแตรทำเสียงปลุก และเจ้าจะเป็นที่ระลึกต่อพระพักตร์พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้า และเจ้าจะได้พ้นจากศัตรูของเจ้า

นอกจากนี้เป็นการเป่าแบบผสมผสาน เช่น แบบเทคีอาห์ กีโดอาห์ Tekiah Gedolah เป่าเสียงดังยาวนานใช้เมื่อจบการอธิษฐานที่เรียกว่า Ashkenazi rite prayer services
อพยพ19:16 อยู่มาพอถึงรุ่งเช้าวันที่สาม ก็บังเกิดฟ้าร้องฟ้าแลบ มีเมฆอันหนาทึบปกคลุมภูเขานั้นไว้กับมีเสียงแตรดังสนั่น จนคนทั้งปวงที่อยู่ค่ายต่างก็พากันกลัวจนตัวสั่น
อพยพ19:19 เมื่อเสียงแตรยิ่งดังขึ้น โมเสสก็กราบทูล พระเจ้าก็ตรัสตอบเป็นเสียงร้อง


ในครั้งนี้เราจะมาพิจารณาในเรื่องเวลาแห่งเสียงแตรเขาสัตว์ 4 ประการคือ

1 เสียงปลุกให้ตื่นตัวฝ่ายวิญญาณ (Revive)
(Revive! wake up !:จงฟื้นขึ้น จงตื่นตัว!)

ผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์เดิมใช้เป็นคำว่า “โชฟาร์” เป็นอุปมาเปรียบเทียบถึงการเรียกผู้คนให้กลับใจและหันกลับมาหาพระเจ้า จากการหลับไหลในฝ่ายวิญญาณ
ตัวอย่างเช่น ผู้เผยพระวจนะโยเอล เป่าแตรหรือโชฟาร์ ในศิโยนเพื่อเรียกให้คนกลับใจใหม่
โยเอล 2:15 จงเป่าเขาสัตว์ที่ในศิโยน จงเตรียมทำพิธีอดอาหาร จงเรียกประชุมตามพิธี
ในระหว่างการปฏิรูปศาสนาของกษัตริย์อาสา คนอิสราเอลแสวงหาพระเจ้า
2 พงศาวดาร 15:12 และเขาก็เข้าทำพันธสัญญาที่จะแสวงหาพระเยโฮวาห์พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของเขา ด้วยสุดจิตสุดใจของเขา
และเขาได้ประทับคำสัญญาของพวกเขาด้วยเสียงแตร

2 พงศาวดาร 15:14 เขาทั้งหลายได้กระทำสัตย์สาบานต่อพระเจ้าด้วยเสียงอันดัง และด้วยเสียงโห่ร้อง และด้วยเสียงแตรและเขาสัตว์
เสียงโชฟาร์เป็นเสียงแห่งการต่อต้านความบาป



อิสยาห์ 58:1 จงร้องดังๆอย่าออมไว้ จงเปล่งเสียงของเจ้าเหมือนเป่าเขาสัตว์ จงแจ้งแก่ชนชาติของเราให้ทราบถึงเรื่องการทรยศของเขา แก่เชื้อสายของยาโคบเรื่องบาปของเขา

เสียงของโชฟาร์เป็นเสียงเรียกให้ตอบสนอง เพื่อใคร่ครวญดูการกระทำของตน และดำเนินชีวิตใหม่ให้ถูกต้อง ก่อนวันแห่งการพิพากษา เป็นการหวนระลึกถึงการกระทำของตน เป็นการเผชิญหน้ากับจิตวิญญาณภายในของตน
พระเจ้ามักสื่อสารและเตือนประชากรของพระองค์ล่วงหน้าเสมอ ก่อนที่พระองค์จะทำการพิพากษา พระเจ้าเตือนประชากรของพระองค์ก่อนน้ำจะท่วมโลก และเตือนนินะเวห์ก่อนจะเกิดหายนะ

เทศกาลแห่งเสียงแตรสะท้อนถึง พระประสงค์ของพระเจ้าที่จะรวบรวมประชากรของพระองค์ให้กลับใจใหม่ เพื่อว่าพระองค์จะสามารถกู้พวกเขาในวันแห่งการพิพากษาได้

ชาวยิวมีช่วงเวลาสิบวันเรียกว่า “สิบวันแห่งการสำนึกบาป” ซึ่งเริ่มขึ้นในเทศกาลเสียงแตร และสิ้นสุดในวันทำการลบมลทินบาปซึ่งนับว่าเป็นวันสำคัญที่สุดในปฏิทินอิสราเอล
ในระหว่างเวลาเหล่านี้ พวกประชาชนต่างพยายามแสวงหาโอกาสคืนดีกับศัตรู ระลึกถึงคนอนาถา และจะกลับใจจากบาป เพื่อเตรียมใจสำหรับวันลบมลทินที่จะมาถึง
เทศกาลเป่าแตรสำคัญมาก เป็นการเปิดฉากการพิพากษาของสวรรค์ ซึ่งนำไปสู่วันลบมนทิลบาป ซึ่งจะเผยให้เห็นบาปของคนอิสราเอลแต่ละคน นี่เป็นภาพที่เล็งไปถึงการเสด็จกลับมาของพระคริสต์ เพื่อพิพากษาโลกนี้ ในวันสุดท้ายนั้น บาปของทุกคนจะถูกเปิดออกให้เห็น

คนยิวเชื่อว่า การพิพากษาครั้งสุดท้ายได้เปิดฉากในเทศกาลร้อช ฮ้าชชะนาห์ ด้วยเสียงแตร และจะปิดฉากเมื่อครบกำหนดสิบวันหลังจากนั้น ซึ่งเป็นวันลบมลทินบาป
วันทำการลบมนทิลจะตรงกับวันที่สิบของเดือนที่เจ็ด ในวันนี้มหาปุโรหิตจะแยกตัวออกจากคนอื่น ๆ ปุโรหิตจะถอดเครื่องยศบริสุทธิ์และงดงามออก สวมเพียงเสื้อกางเกงและหมวกผ้าป่านสีขาว (ซึ่งเล็งถึงความเป็นมนุษย์ของพระคริสต์” เขาจะชำระกายห้าครั้งกับล้างมือและเท้าสิบครั้ง
แพะสองตัวเป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญอย่างหนึ่งของวันทำการลบมลทิน ตัวหนึ่งจะเป็นแพะรับบาป และแพะตัวนี้จะถูกปล่อยเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร พร้อมทั้งบรรทุกเอาความบาปทั้งสิ้นของประชาชนไปด้วย (เลวีนิติ 16:20-22)
มีการถวายบูชาหลายอย่างที่กำหนดให้ทำในวันทำการลบมนทินนี้ มหาปุโรหิตจะถวายวัวหนุ่มตัวหนึ่งเป็นเครื่องไถ่บาปของตน แพะตัวที่สองจะถูกแยกไว้เพื่อถวายแด่พระเจ้าเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปของประชาชน
เขาจะนำเลือดวัวและเลือดแพะประพรมอภิสุทธิสถาน ม่าน แท่นเผาเครื่องหอม และแท่นเครื่องเผาบูชา เพื่อชำระทุกสิ่งเหล่านี้ให้ปราศจากมลทิน
มหาปุโรหิตจะเข้าไปในอภิสุทธิสถานเพียงปีละครั้ง คือ ในวันทำการลบมลทินบาป และต้องนำเลือดเข้าไปถวาย
มหาปุโรหิตไม่เพียงแต่นำเลือดของสัตว์ที่ถวายบูชาเข้าไปในอภิสุทธิสถานเท่านั้น เขายังต้องนำกระถางเผาเครื่องหอมมีถ่านลุกอยู่มาจากแท่นเผาเครื่องหอม ใส่เครื่องหอมทุบละเอียดสองกำมือไว้ และควันเครื่องหอมจะคลุมพระที่นั่งกรุณาซ่อนพระสิริเสียจากสายตาของเขา และมหาปุโรหิตจะได้รอดตาย เพราะขณะนั้นเขาอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าและวิงวอนพระองค์เพื่อประชาชน โดยออกพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ คือ ยาเวห์

พระคริสต์ได้เสด็จมาเป็นมหาปุโรหิตแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จเข้าไปสู่เต็นท์อันใหญ่ยิ่งกว่าแต่ก่อน พระองค์ได้เสด็จเข้าไปสู่วิสุทธิสถานเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และพระองค์ไม่ได้ทรงนำเลือดแพะและเลือดลูกวัวเข้าไป แต่ทรงนำพระโลหิตของพระองค์เข้าไป และทรงสำเร็จการไถ่บาปชั่วนิรันดร์ (ฮีบรู 9:11-12)
อย่างไรก็ตามสำหรับคนยิวแล้ว วันทั้งสิบวันก่อนวันลบมนทินนั้น ถูกเรียกกันว่า วันแห่งความยำเกรงพระเจ้า
เทศกาลเสียงแตรหรือร้อช ฮ้าชชะนาห์ ถือเป็นวันที่เข้าสู่การพิพากษา แต่วันที่ประทับตราคำพิพากษาคือวันลบมนทิลบาป หรือยมคิพปูร์ ว่าผลจะออกมาอย่างไรถ้ากลับใจบาปก็ถูกลบ หรือชำระให้หมดสิ้นได้

นี่เป็นภาพที่เล็งถึงการเสด็จกลับมาของพระคริสต์ ที่บอกเราให้มีชีวิตยำเกรงพระเจ้า
วิวรณ์ 14:7 ท่านประกาศด้วยเสียงอันดังว่า "จงยำเกรงพระเจ้า และถวายพระเกียรติแด่พระองค์ เพราะถึงเวลาที่พระองค์จะทรงพิพากษาแล้ว และจงนมัสการพระองค์ ผู้ได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์ แผ่นดินโลก ทะเล และบ่อน้ำพุทั้งหลาย"

2.เสียงเรียกเพื่อกลับมาแสวงหาพระเจ้า (Return)
(Turn and Return :Draw near & be made whole ! :จงเปลี่ยน และหันกลับอย่างสิ้นเชิง จงเข้ามาชิดใกล้ และยอมเปลี่ยนทั้งหมด)
นอกจากนี้การเป่าเสียงแตรด้วยโชฟาร์ ยังเป็นการเรียกเพื่อกลับมาแสวงหาพระเจ้า
เลวีนิติ 25:9 เจ้าจงให้เป่าเขาสัตว์ดังสนั่นในวันที่สิบเดือนที่เจ็ด เจ้าจงให้เป่าเขาสัตว์ทั่วแผ่นดินในวันทำการลบมลทิน
เสียงแห่งการประกาศถึงการเริ่มต้นสู่การพิสูจน์ และสำรวจใจ
การเป่าโชฟาร์ในวันร้อช ฮ้าชชะนาห์ ยังเป็นการประกาศก้องถึงการเริ่มต้นของการเข้าสู่การสำรวจใจ ก่อนวันแห่งการพิพากษา การสำรวจนี้กินเวลา สิบวัน จนกระทั่งวันลบมลทินบาป (หรือ วันยมคิปปูร์) มาถึง
ในระหว่างสิบวันนี้ ชาวยิวจะตระหนักถึงชีวิตของตน เหมือนเอาชีวิตไปชั่งบนตาชั่ง พวกเขาจะได้ตระหนักถึงความเปราะบางของชีวิต และจะถามคำถามตนเองว่าถ้าชีวิตของเขาจบลงในวันนี้ เขาได้ใช้ชีวิตคุ้มค่า หรือสมควรแล้วหรือไม่
ช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญนี้ จะทำให้ได้ตระหนักว่าชีวิตของคนแต่ละคนนั้น เป็นชีวิตที่อยู่ภายใต้พระหัตถ์ของพระเจ้า เราไม่สามารถกำหนดทุกสิ่งได้ด้วยตนเอง


เสียงโชฟาร์จะประกาศให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่หลบซ่อนในใจได้ เหมือนการยืนอยู่ต่อหน้าหมู่ทหารที่ทำการยิงเป้า ซึ่งต้องพิสูจน์ในระดับลึกของจิตใจ ในสมัยพระคัมภีร์ใหม่ เทศกาลเสียงแตรนี้ เล็งถึงการกลับมาของพระคริสต์ เพื่อประกาศเวลา ฤดูกาลใหม่ ที่พระองค์ทรงปฏิเสธการดำเนินชีวิตอย่างศาสนา แต่สถาปนาการนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง
ดังนั้นการเป่าแตรจึงเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศการหลุดพ้นจากวิถีเดิมแห่งพันธการ การตกอยู่ภายใต้วิญญาณแห่งกฏเกณฑ์ และการดำเนินชีวิตอย่างเป็นรูปแบบ


3 เสียงแห่งการรื้อฟืน (Restore)
(Be Restored! To God and His covenant plan! : จงรับการรื้อฟื้น สู่พระเจ้าและแผนการในพันธสัญญาของพระองค์)
ในพระคัมภีร์เดิม พระเจ้าทรงสัญญาจะส่งพระเมสิยาห์มาปลดปล่อยชนชาติของพระองค์
เสียงโชฟาร์จึงเป็นเครื่องหมายแห่งการระลึกถึงพระสัญญาของพระเจ้าที่จะส่งพระเมสิยาห์ ผู้ที่จะเสด็จมามารวบรวมลูก ๆ ที่กระจัดกระจายให้กลับมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว
อิสยาห์ 27:13
13 และในวันนั้นเขาจะเป่าเขาสัตว์ใหญ่ และบรรดาผู้ที่กำลังพินาศอยู่ในแผ่นดินอัสซีเรีย และบรรดาผู้ถูกขับไล่ออกไปยังแผ่นดินอียิปต์จะมานมัสการพระเจ้า บนภูเขาบริสุทธิ์ที่เยรูซาเล็ม


เสียงโชฟาร์ไม่เพียงเป็นการประกาศถึงการเสด็จมาเพื่อรวบรวมผู้คนของพระเมสสิยาห์ที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์เดิม (อิสยาห์ 27:13)
ในพระคัมภีร์ใหม่ เป็นการประกาศถึงการครอบครอง การปกครองของพระคริสต์บนแผ่นดินโลก


1เธสะโลนิกา 4:16 ด้วยว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมาจากสวรรค์ ด้วยพระดำรัสสั่ง ด้วยสำเนียงเรียกของเทพบดีและด้วยเสียงแตรของพระเจ้า และคนทั้งปวงในพระคริสต์ที่ตายแล้วจะเป็นขึ้นมาก่อน

1โครินธ์ 15:52 ในชั่วขณะเดียว ในพริบตาเดียว เมื่อเป่าแตรครั้งสุดท้าย เพราะว่าจะมีเสียงแตร และคนที่ตายแล้วจะเป็นขึ้นมาปราศจากเน่าเปื่อย แล้วเราทั้งหลายจะถูกเปลี่ยนแปลงใหม่

วิวรณ์ 11:15-18
15 และทูตสวรรค์องค์ที่เจ็ดก็เป่าแตรขึ้น และมีเสียงหลายๆเสียงกล่าวขึ้นดังๆในสวรรค์ว่า "ราชอาณาจักรแห่งพิภพนี้ ได้กลับเป็นราชอาณาจักรขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา และเป็นของพระคริสต์ของพระองค์ และพระองค์จะทรงครอบครองตลอดไปเป็นนิตย์ "
16 และผู้อาวุโสยี่สิบสี่คนซึ่งนั่งในที่นั่งของตน เบื้องหน้าพระเจ้าก็ทรุดตัวลงกราบนมัสการพระเจ้า


พระคริสต์จะเสด็จมาเพื่อรวบรวมคนทั้งปวงที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้แล้ว
มัทธิว 24:30-31
30 เมื่อนั้นนิมิตแห่งบุตรมนุษย์ จะปรากฏขึ้นในท้องฟ้า มนุษย์ทุกชาติทั่วโลกจะตีอกร้องไห้ บุตรมนุษย์เสด็จมาบนเมฆในท้องฟ้า ทรงฤทธานุภาพและพระสิริเป็นอันมาก
31 พระองค์ทรงใช้เหล่าทูตสวรรค์ของพระองค์ มาด้วยเสียงแตรอันดังยิ่งนัก ให้รวบรวมคนทั้งปวงที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้แล้ว ทั้งสี่ทิศนั้น ตั้งแต่ที่สุดฟ้าข้างนี้จนถึงที่สุดฟ้าข้างโน้น



เมื่อเราได้รู้แล้วว่าเทศกาลเสียงแตรนี้ เป็นการสัญลักษณ์ของยุคพระเมสสิยาห์ หรือของพระคริสต์ที่จะเสด็จกลับมารวมรวมผู้คน เมื่อเสียงแตรดังขึ้นให้เราอธิษฐานขอการเชื่อมต่อพระกาย และรวมตัวเป็นหนึ่งเดียว ขอความเป็นเอกภาพ การรวมเป็นหนึ่งเดียวระหว่างพี่น้องในคริสตจักร ระหว่างคริสตจักรต่าง ๆ และความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวของคนในประเทศชาติ อธิษฐานขอการที่คริสตจักรเข้าไปเชื่อมต่อกับอิสราเอล
อธิษฐานขอให้พี่น้องที่หลงหายไปในที่ต่าง ๆ กลับมาหาพระเจ้า

4 เสียงร้องชื่นชมในการทรงสถิต(Rejoice)
(Rejoice! In His presence is fullness of joy! : จงชื่นชมยินดี ในการทรงสถิตของพระเจ้าเป็นความชื่นชมอย่างเต็มล้น)
เสียงของโชฟาร์ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเป่าเพื่อให้พระเจ้าเสด็จเข้ามาครอบครอง การทรงสถิตของพระเจ้าเป็นความชื่นชมอย่างเต็มล้น
การพิพากษาของพระเจ้าและการครอบครองเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน เมื่อไรก็ตามที่พระเจ้าทรงสถิตและครอบครอง เมื่อนั้น สิ่งผิดสิ่งถูกจะถูกชี้ชัด คนจะเห็นความบาปผิดของตนเอง

เป็นภาพของกษัตริย์นั่งบนบัลลังก์แห่งการครอบครอง และพิพากษาเหนือประชากรของพระองค์
พระวจนะบันทึกเหตุการณ์ว่าเมื่อกษัตริย์ใหม่ขึ้นนั่งครอบครอง จะมีการเป่าแตรเพื่อป่าวประกาศบัลลังก์ของพระองค์
1 พงศ์กษัตริย์ 1:39 แล้วศาโดกปุโรหิตได้นำเขาสัตว์ที่บรรจุน้ำมันมาจากเต็นท์ของพระเจ้า และเจิมตั้งซาโลมอนไว้ และเขาทั้งหลายก็เป่าเขาสัตว์ และประชาชนทั้งปวงกล่าวว่า "ขอพระราชาซาโลมอน ทรงพระเจริญ"
เช่นเดียวกันที่ในเทศกาลเสียงแตรที่เป่าออกไปเพื่อประกาศก้องว่าพระคริสต์ทรงยิ่งใหญ่และทรงเสด็จมาครอบครอง ด้วยเสียงแห่งความชื่นชมยินดี พระธรรมสดุดีบางบทก็ได้บันทึกถึงเสียงแตรแห่งการเฉลิมฉลองการครอบครองของพระเจ้า
ตัวอย่างเช่น สดุดี 47 :1-9
สดุดี 98:6 ด้วยเสียงแตรและเสียงเป่าเขาสัตว์ จงกระทำเสียงชื่นบานถวายพระมหากษัตริย์ คือพระเจ้า

เสียงของโชฟาทำให้ระลึกถึงการครอบครองที่เปี่ยมด้วยความยุติธรรมและเมตตา
พระคริสต์ปรารถนาจะสถิตอยู่ในชีวิตของเรา ทรงปรารถนาการครอบครองเหนือตัวเรา เหนือคริสตจักร

การเป่าแตรเขาสัตว์เป็นการเตือนให้ระลึกถึงความเมตตาของพระเจ้า การให้อภัยบาปของพระองค์ อย่างที่เขาไม่สมควรได้รับ
เพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงความเมตตาของพระเจ้า ในวันนี้คนยิวจะอ่านพระวจนะในธรรมศาลาถึงเรื่องราวของอับราฮัมในการถวามอิสอัค (ปฐมกาล 22) และอับราฮัมได้ชื่นชมกับพระเมตตาของพระองค์ที่พระองค์ได้ส่งแกะมาเพื่อถวายบูชาแทนอิสอัค

นี่เป็นที่มาว่าเหตุใดคนยิวจึงใช้เขาแกะปลายงอนเป่า ทั้งนี้เพื่อจะได้หวนกลับไประลึกถึงพระเมตตาที่ทรงกระทำต่ออับราฮัม
เขาจากแกะที่ถูกจับได้จากพุ่มไม้ กลายมาเป็นสัญลักษณ์ เพื่อระลึกถึงคนบาป และการลบล้างบาป
การเป่าแตรในการออกศึกสงครามนั้นก็เป็นการเชื่อมโยงถึงเทศกาลเสียงแตร เพื่อเตือนใจว่าพระเจ้าระลึกถึงเรา และจะช่วยเราซึ่งเป็นประชากรของพระองค์ เช่นเดียวกัน ในขณะนี้เราอยู่ท่ามกลางสงครามฝ่ายวิญญาณ และเมื่อเราเดินหน้าในงานพระเจ้า เรารู้ว่าจะมีการปะทะในฝ่ายวิญญาณ
เสียงแตรที่เราจะเป่านี้ ก็เป็นการประกาศก้องว่า พระเจ้าทรงอยู่ฝ่ายเรา ทรงระลึกถึงเรา และจะช่วยเราให้มีชัยเหนือมารซาตานได้

ภาคประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน
การเป่าเสียงแตรเป็นช่วงเวลาของการทำลายสิ่งเก่าและรุกเข้าไปสู่สิ่งใหม่


จงออกมาจากรูปแบบเดิมที่รู้สึกมั่นคง
คำอธิษฐาน : ข้าแต่พระเจ้า โปรดให้ข้าพระองค์แสวงหาความมั่นคงปลอดภัยในพระองค์

จงทำลาย นิสัยเดิมๆ
คำอธิษฐาน : ข้าแต่พระเจ้า โปรดให้ใจของข้าพระองค์ปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลง


กลับใจจากวิธีคิดแบบเดิมๆ
คำอธิษฐาน : ข้าแต่พระเจ้า โปรดให้ข้าพระองค์ออกจากสิ่งเก่าเข้าสู่สิ่งใหม่

พระเจ้าตรัสว่า เสียงของแตรเขาสัตว์ ถูกสร้างมาเพื่อกระตุ้นเร้าสิ่งที่อยู่ในจิตวิญญาณของคุณ ขอพระองค์ที่เคลื่อนไปตามเสียงแตรเขาสัตว์
แผนการของพระเจ้าสำหรับการเริ่มต้นปี



  1. จงฟื้นขึ้น จงตื่นตัว!


  2. จงเปลี่ยน และหันกลับอย่างสิ้นเชิง จงเข้ามาชิดใกล้ และยอมเปลี่ยนทั้งหมด


  3. จงรับการรื้อฟื้น สู่พระเจ้าและแผนการในพันธสัญญาของพระองค์


  4. จงชื่นชมยินดี ในการทรงสถิตของพระเจ้าเป็นความชื่นชมอย่างเต็มล้น
เมื่อได้ยินเสียงแตร จงเคลื่อนไป!

ประสบการณ์สู่พระสิริของพระเจ้า
1. ฟังเสียงปลุกให้ตื่น ดังเช่นการเข้าสู่เทศกาลเสียงแตรโดยตื่นจากหลับใหลเข้าสู่เวลาของพระองค์
2. เสาะแสวงหาพระเจ้า ในช่วง 10วันแห่งความยำเกรง
3. รับการรื้อฟื้น อธิษฐานสารภาพบาปในวันลบมลทินบาป กลับใจจากสิ่งเลวร้าย เข้ามาพึ่งพาพระคุณพระเจ้า
4. ชื่นชมในการทรงสถิตของพระเจ้า ดังเช่นการเข้าสู่เทศกาลอยู่เพิง ด้วยความหวังใจ พระเยซูเป็นดังที่พำนักในชีวิตของเรา พระองค์ทางอยู่ทามกลางเรา


พระเจ้าทรงตั้งปฏิทินของพระองค์ ไว้เพื่อนำเราก้าวไปสู่ 4 ขั้นนี้ในแต่ละปี

ขั้นตอนทั้ง 4 ขั้นนี้เป็นรูปแบบเพื่อการฟื้นฟูในระดับปัจเจกบุคลและในระดับประเทศ!

2 ความคิดเห็น:

  1. มีข้อข้องใจครับ คือเกี่ยวกับการเป่าเชาสัตว์ เสียง Tekiah. Shevarim. Teruah
    ผมมีความเห็นว่าจากข้อพระคัมภีร์ที่ให้มานั้นไม่มีส่วนไหนบอกว่าต้องใช้เสียงอะไรและแต่ละเสียงเป่าอย่างไรมีเพียงว่าเป่าเพื่ออะไร เช่น การเรียกประชุม การออกรบ.
    *ผมกำลังศึกษาเรี่องนี้อย่างจริงจังอยู่ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. มีการศึกษารากศัพท์ และศึกษาตามประวัติศาสตร์ ในสารานุกรมต่างๆ สิ่งที่อ้างก็เป็นสารานุกรมที่น่าเชื่อถือคือ wikipedia

      ลบ