19 ธันวาคม 2554

ความเข้าใจและหลักปฏิบัติในเทศกาลคริสต์มาส

(สรุปเรื่อง ความเข้าใจและหลักปฏิบัติในเทศกาลคริสต์มาส ของอ.นิมิต พานิช ศบ.คริสตจักรแห่งพระบัญชา)

ในช่วงวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี คนทั่วโลกมีความชื่นชมยินดีเพราะเป็นช่วงเทศกาลคริสต์มาส เป็นช่วงวันหยุดยาว ที่ครอบครัวจะใช้เวลาร่วมกันไปซื้อของ รับประทานอาหารร่วมกัน ตามถนนหนทางจะมีการประดับประดาด้วยแสงไฟ และตามห้างสรรพสินค้าจะมีการตกแต่งต้นคริสต์มาส ด้วยของกล่องขวัญต่างๆนานา ดูแล้วเพลินตา เพลินใจ แต่จะมีใครสักกี่คนที่จะทราบความหมายที่แท้จริงของเทศกาลคริสต์มาส
หากจะถามคนทั่วๆไปว่า เมื่อถึงช่วงคริสต์มาสจะนึกถึงสิ่งใดก่อน คำตอบแรกน่าจะเป็น นึกถึงซานตาคลอส นึกถึงเทศกาลการมอบของขวัญ หรือบทเพลงคริสต์มาส แต่หากถามผู้ที่เป็นคริสเตียนผู้เชื่อในพระเจ้าจะบอกว่าเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซูคริสต์


แล้วเราทราบได้อย่างไรว่าพระเยซูคริสต์ประสูติเมื่อใด เพราะในพระคริสตธรรมคัมภีร์ไม่ได้บันทึกไว้อย่างชัดเจนว่าพระเยซูคริสต์ประสูติเมื่อวันที่เท่าไหร่ แต่ในความมั่นใจของคริสเตียนคือ พระเยซูคริสต์เป็นพระเจ้าที่ลงมาประสูติเป็นมนุษย์และพระองค์เพื่อตายไถ่บาปให้กับเราบนไม้กางเขน พระเยซูคริสต์จึงเป็นของขวัญอันล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานให้กับเรา
ยอห์น 3:16 เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จนได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์
การเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ของผู้ให้คือพระเยซูคริสต์ ส่งผลที่ใหญ่ยิ่งถึงผู้รับคือเราทั้งหลายที่เชื่อ
ในครั้งนี้ ผมขอแบ่งปันข้อคิดเพื่อทำความเข้าใจและให้เรามีหลักปฏิบัติในเทศกาลคริสต์มาส ดังต่อไปนี้
(ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org)


คำว่า Christmas ในภาษาอังกฤษ เป็นคำประสมซึ่งหมายถึง "มิสซาของพระคริสต์" มาจากคำในภาษาอังกฤษยุคกลางว่า Christemasse และภาษาอังกฤษโบราณ ว่า Cristes mæsse ซึ่งถูกพบครั้งแรกในเอกสารโบราณภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1038 คำว่า "Cristes" มาจากภาษากรีก คำว่า "Christos" และ "mæsse" มาจากภษาละติน
Missa หมายถึง มิสซาอันศักดิ์สิทธิ์ ในภาษากรีกโบราณ ตัวอักษร X เป็นตัวอักษรแรกในคำว่า "คริสต์" จากการที่มันมีลักษณะเหมือนกับอักษรโมัน X จึงได้ถูกใช้เพื่อย่อคำว่า "คริสต์" นับตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรษที่ 16 ด้วยเหตุนี้ ในบางครั้ง X'mas จึงใช้เพื่อย่อคำว่า "คริสต์มาส"
(หมายเหตุ บางกลุ่มที่ต่อต้านเรื่องพระเยซูคริสต์ ได้นำตัวอักษร X หมายถึง สัญลักษณ์ X ซึ่งเป็นส่งที่ไม่สามารถหาความหมายได้ มาแทนที่คำว่า Christ ซึ่งหมายถึงพระเยซูคริสต์)


ซานตาคลอส

นักบุญ(เซนต์)นิโคลัสแห่งเมืองไมรา นักบุญองค์นี้เป็นสังฆราช ของไมรา มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่4 ได้รับการยกย่องให้เป็นซานตาคลอสคนแรก เพราะมาวันหนึ่ง เป็นวันคริตส์มาสเซนต์จึงเดินทางแจกของขวัญให้กับเด็กๆอย่างมีความสุข
แม้ว่าซานตาคอสจะทำให้เทศกาลวันคริสต์มาสมีสีสันและความสุขมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่คริสตชนให้ความสำคัญคือ พระเจ้าประทานพระบุตรของพระองค์คือพระเยซูคริสต์เป็นของขวัญให้กับเรา เพื่อเราจะได้รับชีวิตนิรันดร์จากพระองค์(ยน.3:16) ในบางครั้งซานตาคลอสกลายเป็นสิ่งที่คนที่ต่อต้านเรื่องพระเยซูคริสต์ได้นำมาแทนที่พระเยซูคริสต์


ประวัติความเป็นมาของวันคริต์มาส โดยสังเขป

ประวัติความเป็นมาของวันคริต์มาส ซึ่งเป็นวันประสูติของพระเยซูนั้น ตามหลักฐานในพระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติในรัชกาลของจักรพรรดิออกุสตุสแห่งโรม ซึ่งทรงสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยคีรีนิอัส เจ้าเมืองก็รับนโยบายไปปฏิบัติให้มีการจดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งอาณาเขต แต่ในพระคัมภีร์ ไม่ได้ระบุว่า พระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร ด้านนักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า เดิมทีวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันที่จักรพรรดิเอาเรเลียนแห่งโรมัน กำหนดให้เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยเทพ
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 274 ชาวโรมันซึ่งส่วนใหญ่นับถือเทพเจ้าฉลองวันนี้เสมือนว่า เป็นวันฉลองของพระจักรพรรดิไปในตัวด้วย เพราะจักรพรรดิก็เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่ให้ความสว่างแก่ชีวิตมนุษย์ แต่ชาวคริสต์ที่อยู่ในจักรวรรดิโรมัน รวมถึงชาวโรมันที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์อึดอัดใจที่จะฉลองวันเกิดของสุริย เทพ จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้าแทน หลังจากที่ชาวคริสต์ถูกควบคุมเสรีภาพทางศาสนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 64 - ค.ศ. 313 จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม ปี ค.ศ. 330 ชาวคริสต์จึงเริ่มฉลองคริสต์มาสอย่างเป็นทางการและเปิดเผย
จะเห็นได้ว่า วันที่ 25 ธ.ค. ไม่ได้เป็นวันประสูติที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ เพียงแต่เป็นวันที่ทำให้ระลึกถึงพระเยซูคริสต์ประสูติแทนการไปฉลองวันเกิดของสุริยเทพ ในความเชื่อเดิมของโรมัน
ดังนั้นแล้วพระเยซูคริสต์ประสูติตรงกับวันที่เท่าไหร่ !
ผมข้อนำข้อมูลในเชิงวิชาการตามหลักฐานที่บันทึกไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ซึ่งเราได้เรียนรู้ไปบ้างแล้วจากคำสอนของเรื่องเทศกาลอยู่เพิง และใน Issachar School ครั้งที่ 1 Interpreting the time

“พระเยซูประสูติเมื่อไหร่” ไม่ใช่วันที่ 25 ธ.ค. เหล่าคนเลี้ยงแกะไม่เฝ้าฝูงแกะที่ทุ่งหญ้าปลายเดือนธันวาคม เพราะเป็นช่วงเวลาที่หนาวมาก
ลก.1:5 เศคาร์ริยาห์ซึ่งเป็นบิดาของยอห์นผู้ให้บัพติสมา เป็นปุโรหิตในเวรอาบียาห์
ใน 1 พศด.24 ..ปุโรหิตในเวรอาบียาห์ปรนนิบัติในพระวิหารระหว่างวันที่ 12-18 ของเดือนสิวาน (มิถุนายน)
ในช่วงเวลาเหล่านั้นเองที่ทูตสวรรค์ปรากฏกับเขา
ทูตสวรรค์ปรากฏ เดือนสิวาน ประมาณวันที่ 12-18
อลิซาเบธตั้งครรภ์ สิวาน 25? อลิซาเบธตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน เมื่อพระเยซูปฏิสนธิ (ลก.1:36)
เดือนคิสเลฟ วันที่ 25 อลิซาเบธตั้งครรภ์ เดือนที่ 6 พระเยซูปฏิสนธิ (เทศกาลแสงสว่าง ฮานุคคาห์)
เดือนนิสาน วันที่ 15 ยอห์นผู้ให้บัพติสมาเกิด (นับจากวันปฏิสนธิ 285 วัน ประมาณ 9 เดือน ) จะตรงกับช่วงเทศกาลปัสกา
ถ้าพระเยซูปฏิสนธิ เดือนคิสเลฟ วันที่ 25 นับไป 285 วัน พระเยซูประสูติจะตรงกับเดือนทิชรี วันที่ 15 ตรงกับเทศกาลอยู่เพิง
ยอห์นอธิบายการประสูติของพระเยซูอย่างนี้..
ยน.1:14 “พระวาทะได้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์และทรงอยู่ท่ามกลางเราและเราทั้งหลายได้เห็นพระสิริของพระองค์”
ให้ความเข้าใจใหม่ในเรื่องราวของคริสต์มาส
ลก.2 – มารีย์มีบุตรชายและวางบุตรชายนั้นในรางหญ้า คำภาษากรีกคือ phatne แปลว่า รางหญ้า, โรงเก็บสัตว์ คอกสัตว์แบบชั่วคราว คำฮีบรูที่เหมือนกับ phatne : SUKKAH (พลับพลา/ เพิง)
ปฐก. 33:17 ยาโคบสร้าง sukkah ให้สัตว์ของเขา
ช่วงเวลาระหว่างเทศกาล : ไม่มีห้องว่างในโรงแรม แต่ sukkah มีอยู่ทั่วไปหมด
ในเทศกาลอยู่เพิงนั้นเอง ที่พระสิริของพระเจ้ามาปรากฏในเพิง และพระเยซูพระเมสสิยาห์ทรงบังเกิด
พระเยซูประทานพระสัญญาตอนเทศกาลอยู่เพิง


ยน.7:37-38 ในวันสุดท้ายของงานเทศกาลพระเยซูทรงยืนและประกาศว่า

“ถ้าผู้ใดกระหายผู้นั้นจงมาหาเราและดื่ม ผู้ที่วางใจในเรา น้ำแม่น้ำที่มีธำรงชีวิตจะไหลออกมาจากภายในผู้นั้น

นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ คือ เราต้องทำความเข้าใจในเรื่องเทศกาลคริสต์มาส ที่คนทั่วไปจัดขึ้นมา แม้ว่าจะไม่ได้เป็นวันประสูติที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ แต่นี่คือเวลาแห่งโอกาส และประตูใจของคนทั่วไปเปิดออกเพื่อจะเล่าเรื่องข่าวสารในเทศกาลคริสต์มาส
เทศกาลคริสต์มาสจึงไม่ใช่เทศกาลที่มีแต่การกินและการดื่ม เฉลิมฉลอง แต่เป็นความชอบธรรมของพระเจ้าและสัติสุขของพระองค์ที่มายังโลก เป็นการทำให้ระลึกถึงพระเจ้าทรงลงมาประสูติเป็นมนุษย์ นามว่า “เยซู” (พระนามแห่งความรอด)


โรม 14:17 เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้านั้นไม่ใช่การกินและการดื่ม แต่เป็นความชอบธรรมและสันติสุข และความชื่นชมยินดีในพระวิญญาณบริสุทธิ์


มัทธิว 1:21 เธอจะประสูติบุตรชาย แล้วเจ้าจงเรียกนามท่านว่า เยซู เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่จะโปรดช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากความผิดบาปของเขา"


ลูกา 2:14 "พระสิริจงมีแด่พระเจ้าในที่สูงสุด ส่วนบนแผ่นดินโลก สันติสุขจงมีท่ามกลางมนุษย์ทั้งปวงซึ่งพระองค์ทรงโปรดปรานนั้น"


หลักปฏิบัติในเทศกาลคริสต์มาส


1.ไม่ควรเสียเวลามาถกเถียงเรื่องของวันประสูติของพระเยซูคริสต์ 


สิ่งนี้ไม่ใช่หลักข้อเชื่อแต่เป็นความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน สิ่งสำคัญ “พระเยซูคริสต์มาประสูติเพื่อเราทุกคน”
เราควร “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ในความเป็นพี่น้องคริสเตียน จุดร่วมของเรากับคริสตจักรต่างๆ คือ การฉลองคริสต์มาสเพื่อระลึกถึงพระเยซูด้วยกัน
สิ่งที่สำคัญของคริสเตียนคือการรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อออกไปประกาศข่าวประเสริฐของพระเจ้า เพื่อพระเจ้าจะอวยพรท่ามกลางความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

สดุดี 133:1-3
1 ดูเถิด ซึ่งพี่น้องอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ก็เป็นการดี และน่าชื่นใจมากสักเท่าใด
2 เหมือนน้ำมันประเสริฐอยู่บนศีรษะไหลอาบลงมาบนหนวดเครา บนหนวดเคราของอาโรน ไหลอาบลงมาบนคอเสื้อของท่าน
3 เหมือนน้ำค้างของภูเขาเฮอร์โมน ซึ่งตกลงบนเทือกเขาศิโยน เพราะว่าพระเจ้าทรงบังคับบัญชาพระพรที่นั่น คือชีวิตจำเริญเป็นนิตย์


2.เราร่วมฉลองเทศกาลทุกสิ่งด้วยเข้าใจถึงหลักการเบื้องหลัง 

อัครทูตเปาโลได้เตือนใจผู้เชื่อให้เข้าใจถึงเทศกาลต่างๆ สาระสำคัญไม่ใช่การกินการดื่ม แต่การเข้าใจถึงเทศกาลต่างๆเป็นสิ่งที่เตือนใจเป็นเงาเล็งถึงพระเยซูคริสต์ที่กำลังจะเสด็จมา
โคโลสี 2:16-17
16 เหตุฉะนั้นอย่าให้ผู้ใดพิพากษาปรักปรำท่านในเรื่องการกิน การดื่ม ในเรื่องเทศกาล วันต้นเดือน หรือวันสะบาโต
17 สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเงาของเหตุการณ์ที่จะมีมาในภายหลัง แต่กายนั้นเป็นของพระคริสต์


ในเทศกาลต่างๆ นั้นเป็นถือเป็นช่วงเวลานัดพบกับพระเจ้า (Divine appointment) ในพระคัมภีร์พระเจ้ากำหนดเทศกาลต่างๆให้กับชนชาติของพระองค์คืออิสราเอล ไม่ว่าจะเป็นเทศกาล 3 เทศกาลหลัก คือ ปัสกา เทศกาลสัปดาห์ (Pentecost) และเทศกาลอยู่เพิง ล้วนแต่มีความหมายเล็งถึงชีวิตฝ่ายวิญญาณที่พระเจ้าเป็นความหวังใจของพวกเขา ในทุกสถานการณ์
แม้คนอิสราเอลจะมีเทศกาลย่อยต่างๆ อีก เช่น ในเดือนนี้(เดือนคิสเลฟ Krislev) เทศกาลแสงสว่าง หรือฉลองพระวิหาร เรียกว่า "ฮานุกกะห์" (Feast of Hanukkah)คนยิวมากจะมีเทศกาลที่เป็นความหมายแง่ลบ แต่เพื่อเตือนใจให้รู้ว่าพระเจ้าของเขาเป็นความสว่าง ที่ไม่สามารถมีสิ่งใดมาทำให้เป็นมลทินได้ (บางกลุ่มเชื่อว่า พระเยซูคริสต์รับการปฎิสนธิในเดือนคิสเลฟ โดยฤทธิ์เดชของพระวิญญาณซึ่งปราศจากมลทินบาป)
(เทศกาลฉลองพระวิหาร หรือที่เรียกว่า "ฮานุกกะห์" เป็นสัปดาห์ที่ชาวยิวฉลองในเดือนธันวาคม มีการจุดไฟที่บ้านและที่ประชุมชาวยิวทุกคืน เพื่อระลึกถึงการชำระและถวายพระวิหารหลังจากที่อันทิโอกัสเอพิฟาเสนแห่งซีเรีย ทำให้วิหารเป็นมลทินด้วยการนำหมูไปเผาถวายเทพเจ้าซุสของกรีก)

ดังนั้นเทศกาลคริสต์มาสนี้ พระเยซูคริสต์จึงเป็นความหวังใจในชีวิต ที่พระองค์เป็นความสว่างของโลกท่ามกลางความมืดแห่งความทุกข์ยากของโลกนี้


ยอห์น 1:4-5
4 พระองค์ทรงเป็นแหล่งชีวิต และชีวิตนั้นเป็นความสว่างของมนุษย์
5 ความสว่างส่องเข้ามาในความมืด และความมืดหาได้ชนะความสว่างไม่


3.ใช้ทุกเทศกาลในการประกาศข่าวประเสริฐ
ในเทศกาสคริสต์มาสถือว่าเป็นโอกาสของการประกาศข่าวประเสริฐ เพราะเป็นเวลาที่คนเปิดใจใน
เรื่องของพระเยซูคริสต์ แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้เชื่อว่าพระเยซูคริสต์ประสูติในเทศกาลนี้ แต่เราควรจะใช้โอกาสของเทศกาลนี้เพื่อประกาศข่าวประเสริฐ ดังที่อัครทูตเปาโล ยอมเป็นคนทุกประเภทเพื่อนำคนทุกประเภทมาเชื่อพระเจ้า (การเป็นคนทุกประเภท คือการแสดงตัวร่วม ปรับตัวให้เข้ากับบริบท (Contextualization) “ปรับตัว”ไม่ได้ “เปลี่ยนตัวเอง” “ยึดหลักการ”แต่ “ยืดหยุ่นในวิธีการ”)

1โครินธ์ 9:19-23
19 เพราะถึงแม้ว่าข้าพเจ้ามิได้อยู่ในบังคับของผู้ใด ข้าพเจ้าก็ยังยอมตัวเป็นทาสรับใช้คนทั้งปวง เพื่อจะได้ชนะใจคนมากยิ่งขึ้น
20 ต่อพวกยิวข้าพเจ้าก็เป็นยิว เพื่อจะได้พวกยิว ต่อพวกที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ ข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนคนอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ (แต่ตัวข้าพเจ้ามิได้อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ) เพื่อจะได้คนที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัตินั้น
21 ต่อคนที่อยู่นอกธรรมบัญญัติข้าพเจ้าก็เป็นคนนอกธรรมบัญญัติ เพื่อจะได้คนที่อยู่นอกธรรมบัญญัตินั้น แต่ข้าพเจ้ามิได้อยู่นอกพระบัญญัติของพระเจ้า แต่อยู่ใต้พระบัญญัติแห่งพระคริสต์
22 ต่อคนอ่อนแอข้าพเจ้าก็เป็นคนอ่อนแอเพื่อจะได้คนอ่อนแอ ข้าพเจ้ายอมเป็นคนทุกชนิดต่อคนทั้งปวง เพื่อจะช่วยเขาให้รอดได้บ้างโดยทุกวิถีทาง
23 ข้าพเจ้าทำอย่างนี้ เพราะเห็นแก่ข่าวประเสริฐเพื่อข้าพเจ้าจะได้มีส่วนในข่าวประเสริฐนั้น


ดังนั้นเราควรจะฉลองคริสต์มาสอย่างเข้าใจ และมีหลักปฏิบัติอย่างเหมาะสม เช่น เราไม่ควรแต่ง ชุดซานตาคลอสเพราะสิ่งมี้ไม่ใช่ความหมายแท้จริงของคริสต์มาส เราตกแต่งต้นคริสต์มาส เราก็ตกแต่งอย่างมีความหมาย ตกแต่งชีวิตของเราให้เป็นคำพยานสำแดงพระคริสต์
มอบส.ค.ส. แก่กันและกัน อย่าลืม ส.ค.ส. ส่งความสุขด้วยข่าวประเสริฐของพระคริสต์
มอบของขวัญให้แก่กัน แต่ของขวัญที่สำคัญในวันคริสต์มาสคือ พระเยซูคริสต์
คอร์รี่ เทน บูม (Corrie Ten Boom) นักศาสนศาสตร์และนักเขียน ชาวเนเธอร์แลนด์ กล่าวไว้อย่างน่าฟัง และทำให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริงในเทศกาลคริสต์มาส ดังนี้


 “ใครจะสามารถเพิ่มสิ่งใดเข้าไปในเทศกาลคริสต์มาสได้อีกเล่า
แรงจูงใจที่ดีเลิศ คือ พระเจ้าทรงรักโลกยิ่งนัก
ของขวัญที่ดีเลิศ คือ พระเจ้าทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์
เงื่อนไขเดียวที่จำเป็น คือ การเชื่อวางใจในพระองค์
รางวัลแห่งการเชื่อวางใจนั้น คือ เราจะได้รับชีวิตนิรันดร์ ”


เทศกาลคริสต์จึงเป็นเทศกาลแห่งการให้ ที่เป็นความสุขของผู้ให้ ทำให้เกิดรอยยิ้มของผู้รับ
เพราะพระเยซูคริสต์สอนเราทั้งหลายไว้ว่า "การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ"
กิจการของอัครทูต 20:35 … ระลึกถึงพระวาทะของพระเยซูเจ้า ซึ่งพระองค์ตรัสว่า
"การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ"

4.สิ่งที่สำคัญมากกว่าวันเกิด คือ วันที่พระเยซูคริสต์กลับมา เตรียมตัวเองให้พร้อม

ในเทศกาลคริสต์มาส แม้ว่าเราไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าพระเยซูคริสต์ประสูติในวันใด แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าวันเกิดของพระเยซูคริสต์ คือ การเตรียมชีวิตของเราให้พร้อมในวันที่พระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมา คนในโลกนี้ที่ไม่รู้จักพระเจ้า เขาอยู่ในโลกโดยปราศจากความหวังใจ เขาจึงชื่นชมยินดีในการฉลองวันเกิด แต่เขาไม่ทราบว่า วันที่สำคัญมากกว่าวันเกิด คือ วันที่ตายจากโลกนี้ไป แต่คริสเตียนที่เชื่อในพระคริสต์มีชีวิตอย่างมีความหวังใจและเฝ้ารอคอยการเสดร็จกลับมาของพระเคริสต์ด้วยความหวังใจ
เอเฟซัส 2:12-13
12 จงระลึกว่า ครั้งนั้นท่านทั้งหลายเป็นคนอยู่นอกพระคริสต์ ขาดจากการเป็นพลเมืองอิสราเอล และไม่มีส่วนในบรรดาพันธสัญญาซึ่งทรงสัญญาไว้นั้น ไม่มีที่หวัง และอยู่ในโลกปราศจากพระเจ้า
13 แต่บัดนี้ในพระเยซูคริสต์ท่านทั้งหลายซึ่งเมื่อก่อนอยู่ไกล ได้เข้ามาใกล้โดยพระโลหิตของพระคริสต์


ในเทศกาลคริสต์จึงเป็นเทศกาลเตือนใจ คริสต์มาสแห่งความหวังใจ ความหวังใจของเราอยู่ที่การเสด็จกลับมาของพระองค์ที่เรารอคอยอย่างใจจดจ่อและพร้อมเสมอ


1เปโตร 3:15 แต่ในใจของท่าน จงเคารพนับถือ พระคริสต์ว่าเป็น องค์พระผู้เป็นเจ้า จงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมเสมอ เพื่อท่านจะสามารถตอบทุกคนที่ถามท่านว่า ท่านมีความหวังใจเช่นนี้ด้วยเหตุผลประการใด แต่จงตอบด้วยใจสุภาพและด้วยความนับถือ

“ไม่มีใครเลือกเกิดได้ แต่เลือกทำดีเพื่อแผ่นดินเกิดได้ ไม่มีใครรู้ อนาคตได้ แต่สามารถกำหนดอนาคตได้ ในการการทำวันนี้ให้ดีที่สุด”
Yesterday is history, tomorrow is mystery and today is a gift.
วันวานผ่านไปดังอดีต วันพรุ่งนี้ยังลึกลับนับไม่ได้ แต่ในวันนี้เป็นของขวัญที่พระเจ้าประทานให้ ใช้วันนี้ให้ดีที่สุด


ลูกา 2:14 "พระสิริจงมีแด่พระเจ้าในที่สูงสุด ส่วนบนแผ่นดินโลก สันติสุขจงมีท่ามกลางมนุษย์ทั้งปวงซึ่งพระองค์ทรงโปรดปรานนั้น"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น