จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ขอบคุณพระเจ้าสำหรับ 10 ปี ที่เราได้อยู่ด้วยกันและจะอยู่ด้วยกันต่อไป
สิ่งที่เป็นปณิธาณสำหรับครอบครัวของเรา มาจากข้อความจากพระธรรม โยชูวา 24:15 ... แต่ส่วนข้าพเจ้าและครอบครัว
ขอบคุณพระเจ้าสำหรับพันธสัญญาแห่งรักนิรันดร์ที่มีให้กับครอบครัวผู้เชื่อแบบเรา
เยเรมีย์ 32:40 เราจะกระทำพันธสัญญานิรันดร์กับเขาทั้งหลาย อันว่าเราจะไม่หันจากการกระทำความดีแก่เขาทั้งหลาย และเราจะบรรจุความยำเกรงเราไว้ในใจของเขาทั้งหลาย เพื่อว่าเขาจะมิได้หันไปจากเรา
คำว่า Compact พจนานุกรมให้ความหมายว่า สัญญา ข้อตกลง
หรืออีกคำคือคำว่า "Testament " ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ คำว่า διαθήκη -ดีอาเธเก้ ให้นิยามหมายถึงคำว่า "พันธสัญญา"และคำว่า"พินัยกรรม"อีกด้วย
คำว่า "พินัยกรรม" เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะคำนี้หมายถึง หนังสือที่เจ้าของมรดกได้ทำขึ้นไว้ เพื่อแสดงเจตนาว่าเมื่อตนตายไปแล้วต้องการให้ทรัพย์สินต่างๆ ตกเป็นของใคร โดยพินัยกรรมจะมีผลก็ต่อเมื่อเจ้าของมรดกได้ตายไปแล้ว ทั้งนี้กฎหมายได้กำหนดให้พินัยกรรมต้องทำตามแบบ หากไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดพินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะหรือโมฆียะ
ความหมายของคำว่าโมฆะ และโมฆียะ
โมฆะ คือ นิติกรรมที่ตกเป็นอันเสียเปล่า ใช้บังคับไม่ได้ไม่เกิดผลในทางกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้น
โมฆียะคือ นิติกรรมที่เมื่อทำขึ้นแล้วมีผลผูกพันกันได้ตามกฎหมาย แต่ก็อาจถูกบอกล้างได้ในภายหลัง
ด้วยเหตุนี้เอง พระเยซูคริสต์ทรงมาตายเพื่อเราจะได้รับชีวิต เพื่อทำให้กฏบัญญัติแห่งความตายเป็นโมฆะ ความเชื่อในพระราชกิจแห่งการไถ่นี้เองเป็นเงือนไขที่ทำให้เราได้รับมรดกนี้พระคัมภีร์จึงเป็นดั่งพินัยกรรมบอกถึงคำสัญญาที่พระเจ้าทรงเขียนให้เราได้ทราบถึงมรดกที่เราจะได้รับ เราเป็นทายาทที่จะรับมรดกของพระเจ้า
พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม(Old Testament)เป็นเงาที่เล็งถึงพินัยกรรมใหม่ที่พระเยซูคริสต์ทรงทำพันธสัญญาใหม่(New Testament)
อิสยาห์ 28:18 แล้วพันธสัญญาของเจ้ากับความตายเป็นโมฆะ และข้อตกลงของเจ้ากับแดนคนตายจะไม่ดำรง เมื่อภัยพิบัติอันท่วมท้นผ่านไป เจ้าจะถูกเหยียบย่ำลงด้วยโทษนั้น
เอเฟซัส 2:15 คือการเป็นปฏิปักษ์กัน โดยในเนื้อหนังของพระองค์ ได้ทรงให้ธรรมบัญญัติอันประกอบด้วยบทบัญญัติและกฎหมายต่างๆนั้นเป็นโมฆะ เพื่อจะกระทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นคนใหม่คนเดียวในพระองค์ เช่นนั้นแหละ จึงทรงกระทำให้เกิดสันติสุข
เราจะต้องทำความเข้าใจว่า “พันธสัญญา” คืออะไรและอะไรไม่ใช่พันธสัญญา ชุมชนคริสเตียนในโลกมักจะสับสนกับคำว่า“พันธสัญญา” กับคำว่า “สัญญา”
การทำ “สัญญา” นั้นเป็นการกระทำระหว่างคนที่มีการตกลงร่วมกันและต้องใช้ความพยายาม
ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุข้อตกลงในที่สุด ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ทำตาม
ข้อตกลงนั้น สัญญานั้นก็จะขาดลงและอีกฝ่ายก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ท่าทีที่อยู่เบื้องหลังสัญญานี้คือ “ถ้าคุณทำอย่างนี้ให้ฉัน ฉันก็จะทำอย่างนั้นเป็นการตอบแทน”
ความสัมพันธ์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องของข้อแม้ และเป็นเพียงชั่วคราว จนกว่าสัญญานั้นจะสำเร็จหรือขาดลง สัญญามักจะทำในฐานะของผู้ทำสัญญามีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
สำหรับงานแต่งงานของคนยิว เมื่อหนุ่มสาวประสงค์จะแต่งงานแล้ว จะต้องทำสัญญาแต่งงาน หรือ
เคทุบาห์ (Ketubah) ก่อนวันสมรส ด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายเพื่อย้ำเตือนถึงภาระผูกพันที่หนุ่มสาวจะต้องปฏิบัติต่อกันภายหลังแต่งงาน การจัดการทรัพย์สินมรดก รวมไปถึงภาระหน้าที่เลี้ยงดูบุตร และภาระหน้าที่ต่อบุตรเมื่อมีการหย่าร้างเกิดขึ้น การเซ็นต์สัญญาแต่งงานนี้ต้องมีพยานเซ็นด้วย 2 คน
จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการแต่งงานซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ พิธีหมั้น หรือ ชิดดุคิน (Shiddukhin) และพิธีแต่งงาน หรือ นิสสุอิน (Nisuin) ซึ่งประเพณีแต่เดิมของชาวยิวระบุให้ต้องทิ้งช่วงห่างนาน 1 ปี ระหว่างพิธีหมั้นและพิธีแต่งงาน ทว่าปัจจุบันนี้มีชาวยิวจำนวนไม่น้อยที่รวบรัดเวลาโดยจัดพิธีหมั้นและงานแต่งงานติดต่อกันในวันเดียว
ในพิธีแต่งงานนอกจากจะมีการเซ็นสัญญาแต่งงาน หรือเคทุบาห์แล้ว สิ่งที่ต้องมีอีกคือการให้แหวน แต่เป็นการให้แหวนโดยเจ้าบ่าวสวมแหวนให้แก่เจ้าสาวฝ่ายเดียว แต่งานแต่งงานบางงานที่หรูหรามากก็ให้มีการให้เจ้าสาวสวมแหวนแก่เจ้าบ่าวด้วย
นอกจากนี้ก็ยังมีการอวยพรจากรับไบด้วยคำจากคัมภีร์ เป็นภาษาอาราเมค พิธีการคลุมผ้าชุปป้า (chuppa) เป็นการคลุมผ้าแก่บ่าวสาวด้วยผ้าขาวผืนเดียวกัน มีความหมายว่าบัดนี้ทั้งสองอยู่ในท้องฟ้าเดียวกันแล้ว แล้วก็ให้ดื่มไวน์
และท้ายสุดก็มีการให้เจ้าบ่าว "เหยียบแก้วให้แตก" พิธีการให้เจ้าบ่าวเหยียบแก้วให้แตกในพิธีแต่งงานของยิวนั้น มีการพูดกันมากว่ามีความหมายอะไรกันแน่ บ้างก็ว่าเป็นการสอนให้คิดถึงการที่กรุงเยรูซาเล็มแตกในประวัติศาสตร์ แต่ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นการสอนให้เห็นว่า ชีวิตนั้นช่างเปราะบางและแสนสั้น ฉะนั้นจงทำให้ชีวิตแต่งงานมีความสุข
เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์กรุงเยรูซาเล็มแตก พระวิหารถูกทำลายในประวัติศาสตร์
ความหมายในชีวิตแต่งงานหมายถึง ชีวิตครอบครัวนั้นเปราะบาง ต้องทะนุถนอม ดังนั้นจงทำให้ชีวิตแต่งงานมีความสุข
หลังจากนั้นแขกที่มาร่วมงานแต่งงานจะร้องตะโกนร่วมแสดงความยินดีว่า " มาเซิล โทว์” ( מזל טוב -Mazel tov) หมายถึง "โชคดีนะ ขอให้พบเจอสิ่งที่ดีงามในชีวิตครอบครัว" จากนั้นก็เป็นงานรื่นเริง
ในขณะที่พิธีการงานแต่งงาน คือ พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของคนยิว การหย่าร้างเป็นเรื่องที่น่าโศกเศร้าที่สุดของคนยิว ทั้งนี้เพราะ "พระยาห์เวห์ พระเจ้าของอิสราเอลทรงเกลียดชังการหย่าร้าง..." ตามถ้อยคำจากพระธรรมมาลาคี 2:16
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนยิวจะมองการหย่าร้างเป็นเสมือนสิ่งต้องห้าม แต่ทว่าปัจจุบันการหย่าร้างสามารถทำได้ตามกฎหมาย เมื่อปรากฏชัดว่าคู่สามี – ภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายไม่ปฏิบัติตาม คำสัญญาการแต่งงาน หรือ เคทุบาห์ ที่ได้ให้แก่กันไว้ในพิธีแต่งงาน
การหย่าร้างของคนยิว ต้องเข้ารับการพิจารณาโดยศาลเบ็ธดิน ( בית דין Beth Din) (house of judgement) ซึ่งประกอบด้วยรับบี ที่มีความรู้ด้านการแต่งงานและหย่าร้างจำนวน 3 คนเพื่อพิจารณาการหย่าร้างดังกล่าวตามพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติบทที่ 24
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น