03 มีนาคม 2561

แนวทางการรักษาโรค 2 แบบ


จากประสบการณ์ของคริสเตียน การรักษาโรคแบบเหนือธรรมชาติที่เกิดในคริสตจักร มักจะมีให้เห็นอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ 1. ผ่านกางเขนและความเชื่อ กับ 2. ผ่านฤทธิ์เดชและของประทาน ให้พวกเรามาพิจารณาการรักษาโรคในแต่ละรูปแบบกัน

รูปแบบแรก – ผ่านกางเขนและความเชื่อ

การรักษาโรคที่เกิดขึ้นในรูปแบบนี้ หลายครั้งหลายคราไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางมือหรือการส่งผ่านฤทธิ์เดช แต่เกิดจากการที่ผู้หนึ่งเกิดมีความเชื่อ และโดยความเชื่อ การรักษาก็เกิดขึ้น

ในพระคัมภีร์ได้กล่าวถึงว่า กางเขนของพระคริสต์ ไม่เพียงแต่มีเรื่องของการอภัยบาปเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการรักษาร่างกายด้วย

(1 เปโตร 2:24) พระ​องค์​เอง​ได้​ทรง​รับ​แบก​บาป​ทั้ง​หลาย​ของ​เรา​ไว้​ใน​พระ​กาย​ของ​พระ​องค์ ที่​ต้น​ไม้​นั้น เพื่อ​ว่า​เรา​จะ​ตาย​ต่อ​บาป​ได้ และ​ดำ​เนิน​ชีวิต​เพื่อ​ความ​ชอบ​ธรรม ด้วย​บาด​แผล​ของ​พระ​องค์ พวก​ท่าน​จึง​ได้​รับ​การ​รักษา​ให้​หาย

การรักษาโรคผ่านทางความเชื่อ เกิดขึ้นโดยผู้หนึ่งได้มองเห็นว่าพระคริสต์ไม่เพียงแบกรับความบาปที่กางเขนเท่านั้น แต่พระองค์ได้แบกรับโรคภัยทางบาดแผลของพระองค์ด้วย

มรดกของพระเจ้าที่พระองค์ประทานให้กับผู้เชื่อนั้น พระองค์ไม่เพียงประทานมรดกแห่งการอภัยบาปเท่านั้น แต่พระองค์ประทานมรดกแห่งการรักษาโรคด้วย หากผู้หนึ่งมองเห็นเพียงมรดกแห่งการอภัยบาปอย่างเดียว ผู้นั้นก็จะมีประสบการณ์กับมรดกในเรื่องของการอภัยบาปอย่างเดียว ทว่า หากผู้นั้นมองเห็นมรดกของการรักษาโรคและต้อนรับมรดกแห่งการรักษาโรคด้วยความเชื่อ สิ่งอัศจรรย์ก็เกิดมากยิ่งขึ้น

ปกติแล้ว เมื่อผู้หนึ่งรับมรดกต่างๆในพันธสัญญาใหม่ ขั้นตอนของการรับมรดกนี้สามารถแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ 1. รู้จักมรดกนั้นๆ 2. ต้อนรับมรดกนั้นด้วยความเชื่อ 3. ประสบการณ์มรดกนั้นๆ

เหตุหนึ่งที่ผู้เชื่อไม่มีประสบการณ์การรักษาโรค ด้านหนึ่งก็เพราะการไม่รับรู้มรดกแห่งการรักษาโรค กระนั้นแม้ผู้หนึ่งจะรับรู้ถึงมรดกของการรักษาโรค แต่การที่จะประสบการณ์มรดกแห่งการรักษาโรคได้นั้น ผู้นั้นจะต้องต้อนรับมรดกนี้ด้วยความเชื่อด้วย ซึ่งแนวทางแห่งการต้อนรับมรดกแห่งการรักษาโรคด้วยความเชื่อนั้น สามารถมีภาคปฏิบัติได้ดังต่อไปนี้

ก. สรรเสริญพระเจ้า ที่พระคริสต์ได้รับโรคภัยผ่านรอยแผลของพระองค์

ปกติแล้ว พวกเรามักจะอธิษฐานแบบทูลขอต่อพระเจ้า เพื่อให้พระองค์ประทานบางสิ่งให้กับพวกเรา แต่การต้อนรับมรดกแห่งการรักษาโรค ไม่ได้เริ่มต้นโดยวิญญาณแห่งการทูลขอ แต่เริ่มต้นโดยวิญญาณแห่งการสรรเสริญ เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่า การรักษาโรคเป็นสิ่งที่พระเจ้าได้ตระเตรียมไว้ให้พวกเราแล้ว การรักษาโรคโดยกางเขนเป็นการงานของพระเจ้าที่ทำสำเร็จไปแล้ว พระเจ้าไม่จำเป็นต้องทำการงานใดๆสำหรับมรดกนี้อีก สิ่งที่มนุษย์จะต้องทำ ไม่ใช่ทูลขอให้พระองค์ทรงทำการงานเพิ่มขึ้น แต่เป็นการสรรเสริญพระองค์ที่พระองค์ได้ทำการงานเสร็จแล้ว และสรรเสริญพระองค์ที่พระคริสต์ได้รับโรคภัยแทนพวกเราแล้ว

ข. ป่าวประกาศว่า พระคริสต์ได้รับโรคภัยแทนพวกเราแล้ว

นอกจากการสรรเสริญแล้ว การป่าวประกาศก็เป็นภาคปฏิบัติอย่างหนึ่งของความเชื่อ การป่าวประกาศไม่ใช่การทูลขอพระเจ้า การป่าวประกาศไม่ได้เป็นการขอให้พระเจ้าเพิ่มเติมสิ่งใด แต่การป่าวประกาศเป็นการพูดโดยความเชื่อว่า พระเจ้าได้ทำสิ่งหนึ่งเรียบร้อยแล้ว พวกเราเพียงแต่ป่าวประกาศและต้อนรับการงานที่สำเร็จแล้วของพระองค์เข้ามา

คำอธิษฐานแบบทูลขอ มักจะมีลักษณะที่ว่า พระบิดา พระองค์เป็นแพทย์ผู้แสนดี ขอพระองค์รักษา... แต่การป่าวประกาศ จะมีน้ำเสียงที่ว่า พระบิดา สรรเสริญพระองค์ที่พระคริสต์ได้รับโรคภัยแทนพวกเราแล้ว พวกเราป่าวประกาศว่าพระคริสต์ได้รับโรคภัยทั้งสิ้นแทน ... แล้ว

อย่างไรก็ดี การป่าวประกาศไม่ใช่การกระทำที่ผู้เชื่อควรทำเพียงครั้งเดียว แต่ผู้เชื่อควรป่าวประกาศในทุกโอกาส การป่าวประกาศเป็นดั่งการอ้างสิทธิในมรดก หลายครั้งหลายครา พระเจ้าได้ประทานมรดกให้กับผู้เชื่อแล้ว แต่ผู้เชื่อกลับไม่ได้ป่าวประกาศหรืออ้างสิทธิในมรดกนั้น หากจะเปรียบเปรยก็เหมือนกับว่า พระเจ้าได้โอนเงินในบัญชีให้ผู้เชื่อเป็นล้านๆบาท แต่หากผู้เชื่อไม่ไปถอนเงิน ผู้เชื่อก็ไม่สามารถประสบการณ์กับเงินล้านได้ ในทำนองเดียวกัน โดยกางเขน พระเจ้าได้ทรงตระเตรียมมรดกแห่งการรักษาโรคให้พวกเราแล้ว หากผู้เชื่อรับรู้ถึงมรดกนี้ และต้อนรับมรดกแห่งการรักษาโรคด้วยการป่าวประกาศและอ้างสิทธิ ผู้เชื่อก็สามารถรับมรดกและมีประสบการณ์กับมรดกนี้ได้

บางคนอาจสงสัยว่า มีความเชื่ออยู่ในหัวใจ แต่ไม่ป่าวประกาศจะได้ไหม? อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์ก็ได้เขียนไว้ว่า ความเชื่อที่สมบูรณ์จะต้องมีการกระทำติดตามมาด้วย (ยากอบ 2:22) ความเชื่อที่สมบูรณ์จึงไม่ใช่ความเชื่อที่ดำรงอยู่ในหัวใจเท่านั้น ความเชื่อที่สมบูรณ์จะต้องมีภาคปฏิบัติในการป่าวประกาศออกมาด้วย

ที่ผ่านมาก็คือการรักษาโรคที่เกิดขึ้นโดยการรับรู้ถึงมรดก และต้อนรับมรดกนั้นด้วยความเชื่อผ่านการป่าวประกาศ กระนั้นการรักษาโรคก็ยังมีอีกรูปแบบหนึ่ง

รูปแบบที่สอง – ผ่านฤทธิ์เดชและของประทาน

เมื่อผู้เชื่อคนหนึ่งได้วางมือบนผู้ป่วย แม้ว่าผู้ป่วยจะขาดความเชื่อ แต่หลายครั้งหลายครา ก็รักษาโรคก็เกิดขึ้น จากสถิติที่ผ่านมา มีคำพยานมากมายว่า หลายครั้งผู้ป่วยไม่ได้มีความเชื่อในการรักษาโรคเลย แต่เมื่อมีผู้หนึ่งวางมือผู้ป่วย ผู้ที่เจ็บป่วยกลับได้รับการรักษาโรคอย่างเหนือธรรมชาติ การรักษาโรคในรูปแบบนี้ไม่ใช่การรักษาโรคในรูปแบบของการรับมรดกด้วยความเชื่อ แต่เป็นการรักษาโรคในมิติของฤทธิ์เดช

การรักษาโรคในรูปแบบแรก(รับมรดกโดยความเชื่อ) มีปัจจัยสำคัญอยู่ที่กางเขน เพราะที่กางเขน พระคริสต์ได้ทรงรับโรคภัยของมนุษย์ผ่านรอยแผลเฆี่ยนของพระองค์ ทว่า การรักษาโรคในรูปแบบที่สอง(แบบฤทธิ์เดช) ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกางเขน ในพระคัมภีร์ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ที่ว่า พระเยซูได้ประทานฤทธิ์เดชให้กับสาวกในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ (ลูกา 9:1) และสาวกก็สามารถรักษาโรคให้กับผู้คนได้ด้วย สังเกตได้ว่า การรักษาโรคของเหล่าสาวกนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับกางเขนเลย เพราะว่าตอนนั้นพระคริสต์ยังไม่ได้ถูกตรึงกางเขน ตอนนั้นพระองค์ยังไม่ได้รับโรคภัยผ่านรอยแผลเฆี่ยนของพระองค์ ดังนั้นเหตุที่สาวกรักษาโรคได้นั้น จึงเป็นเรื่องของฤทธิ์เดชที่สามารถรักษาโรคได้โดยไม่เกี่ยวกับกางเขน

                ผู้เชื่อสามารถรักษาโรคให้กับผู้คนในมิติของฤทธิ์เดชได้ โดยการวางมือไปยังผู้ป่วย และใช้สิทธิอำนาจสั่งให้โรคภัยถูกขจัดออกไปจากผู้ป่วย การรักษาโรคด้วยฤทธิ์เดชนี้ จะไม่ใช่การอธิษฐานทูลขอให้พระเจ้ารักษา แต่เป็นการใช้สิทธิอำนาจสั่งให้โรคภัยถูกขจัด (ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ไม่มีการรักษาโรคโดยการทูลขอต่อพระเจ้า มีแต่การรักษาโรคที่เกิดจากผู้เชื่อใช้สิทธิอำนาจสั่งให้การรักษาเกิดขึ้น)

แนวทางการรักษาโรคด้วยฤทธิ์เดช จะไม่ใช่การอธิษฐานทูลขอที่ว่า พระบิดา พระองค์เป็นแพทย์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงรักษา... การอธิษฐานรักษาโรคด้วยฤทธิ์เดช จะเป็นการใช้สิทธิอำนาจ โดยลักษณะคำอธิษฐานจะประมาณว่า ในนามพระเยซูคริสต์ โรคเบาหวานของ ... จงถูกขจัด

                กระนั้นด้านหนึ่งการรักษาโรคก็เป็นของประทาน (1 โครินธ์ 12:9) ซึ่งแต่ละคนจะมีของประทานการรักษาโรคในมิติที่แตกต่างกันไป แต่ละคนจะมีการเจิมในการรักษาโรคที่ไม่เหมือนกัน บางคนมีการเจิมในการรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูก บางคนมีการเจิมในการรักษาโรคเกี่ยวกับอาการปวด บางคนมีการเจิมในการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบเลือด หากเพื่อนๆรักษาโรคหนึ่งได้หายเป็นประจำแล้ว นั่นอาจแสดงว่าเพื่อนๆอาจมีการเจิมในการรักษาโรคนั้นๆ

                บางคนอาจสงสัยว่าแต่ละคนมีการเจิมในการรักษาโรคที่แตกต่างกันหรือ? เพื่อนๆครับ ในของประทานการเผยพระวจนะ ก็เป็นของประทานที่แต่ละคนมีการเจิมที่แตกต่างกัน บางคนจะมีการเจิมในการเผยพระวจนะเชิงหนุนใจ บางคนจะมีการเจิมในการเผยพระวจนะแบบพยากรณ์อนาคต บางคนจะมีการเจิมในการเผยพระวจนะในลักษณะที่ว่ามักจะล่วงรู้ความลับของผู้อื่น เห็นได้ว่าของประทานการเผยพระวจนะ ก็มีลักษณะของการเจิมที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ของประทานการรักษาโรคก็เช่นกัน แต่ละคนก็มีการเจิมในการรักษาโรคที่แตกต่างกันไป (รายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นนี้ เพื่อนๆสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ Your Spiritual Gifts Can Help Your Church Grow ของ C. Peter Wagner)

                สุดท้ายนี้ ผมอวยพรให้เพื่อนๆ ได้ประสบการณ์มรดกแห่งการรักษาโรคอย่างเต็มที่ และให้เพื่อนๆได้ค้นพบว่าตนเองมีการเจิมในการรักษาโรคใด ขอพระเจ้าเสริมกำลังเพื่อนๆครับ

พระคุณจงมีแด่เพื่อนๆ
Philip Kavilar

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

หนังสือ Systematic Theology for the New Apostolic Reformation เขียนโดย Harold R. Eberle
หนังสือ Your Spiritual Gifts Can Help Your Church Grow เขียนโดย C. Peter Wagner
หนังสือ Fact, Faith, and Experience เขียนโดย Watchman Nee

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น