ในบทความตอนที่แล้ว
ผมได้กล่าวถึงหลุมพราง 2 ประการแรกที่เกี่ยวกับของประทาน นั่นก็คือ การคิดว่าของประทานมีแค่
9 อย่างเท่านั้น กับความคิดที่ว่าของประทานที่เหนือธรรมชาติ
บริสุทธิ์กว่าและสำคัญกว่า ของประทานที่เป็นธรรมชาติ
ก่อนที่ผมจะกล่าวถึงหลุมพรางอีก 2 ประการ ผมขออธิบายหลักการสำคัญอย่างหนึ่งเกี่ยวกับของประทานก่อน หลักการนั่นก็คือ “ของประทานที่เรามีจะเกี่ยวข้องกับธรรมชาติที่เราเป็น”
ของประทานกับธรรมชาติ
ปกติแล้ว เมื่อพระเจ้าให้ของประทานแก่เพื่อนๆ
พระเจ้าไม่เพียงแต่ให้เพื่อนๆมีความเก่งกาจเฉพาะทางเท่านั้น แต่พระองค์ยังประทานให้เพื่อนๆมีธรรมชาติในความเฉพาะทางนั้นๆด้วย
ตัวอย่างเช่น เมื่อพระเจ้าให้ผู้หนึ่งมีของประทานด้านการเผยพระวจนะ
พระเจ้าไม่เพียงแต่ให้ผู้นั้นเผยพระวจนะได้เก่งเท่านั้น
แต่พระองค์ยังประทานให้ผู้นั้นมีธรรมชาติที่เกี่ยวกับการเผยพระวจนะด้วย
ซึ่งโดยปกติแล้วคนที่มีของประทานด้านการเผยพระวจนะมักจะมีธรรมชาติอย่างหนึ่ง
และธรรมชาตินั้นก็คือ “ชอบอธิษฐานมากเป็นพิเศษ” สำหรับผู้เชื่อทั่วๆไป
การอธิษฐานอย่างต่อเนื่องถึง 2 ชั่วโมง ก็อาจทำให้เหนื่อยล้า
แต่สำหรับคนที่ของประทานด้านการเผยพระวจนะ
ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจะอธิษฐานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย การอธิษฐานอย่างต่อเนื่อง
2 ชั่วโมงนับว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นบ่อยๆสำหรับพวกเขา
บางครั้งในวันหยุดหรือวันว่าง พวกเขามักจะปิดประตูห้องและแขวนป้ายไว้นอกห้องว่า “อย่ารบกวน”
แล้วพวกเขาก็จะอธิษฐานอยู่อย่างนั้นทั้งวัน สำหรับเหล่าผู้เผยพระวจนะแล้ว
การอธิษฐานทั้งวันนับเป็นความสุขยิ่งสำหรับพวกเขา
ทั้งนี้เหตุที่ผู้เผยพระวจนะมักจะมีธรรมชาติที่ชอบอธิษฐานมากเป็นพิเศษ
ก็เพราะพระเจ้าไม่เพียงแต่ให้พวกเขาเผยพระวจนะได้เก่งเท่านั้น
แต่พระองค์ยังประทานธรรมชาติที่ชอบติดต่อสื่อสารกับพระองค์ด้วย
สำหรับคนที่มีของประทานด้านการสอนหรือความรู้
พระเจ้าไม่เพียงแต่ประทานให้พวกเขาเก่งกาจด้านการสอนหรือเรียนรู้ได้ดีเท่านั้น
แต่พระองค์มักจะให้พวกเขามีธรรมชาติที่ชอบเรียนรู้และชอบค้นคว้าด้วย
ผู้เชื่อบางคนเมื่ออ่านพระคัมภีร์ ก็ไม่ได้รู้สึกสนใจหรือใส่ใจว่า
ข้อพระคัมภีร์ที่อ่านนี้ในภาษาฮีบรูหรือภาษากรีกจะใช้คำว่าอะไร ทว่า
สำหรับคนที่มีของประทานด้านการสอนหรือความรู้
พวกเขาจะค้นคว้ารากศัพท์ภาษาฮีบรูและภาษากรีกอย่างละเอียด
นอกจากนี้พวกเขายังมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้บริบททางประวัติศาสตร์ของพระคัมภีร์ในแต่ละส่วน
พวกเขาสามารถอ่านหนังสืออธิบายพระคัมภีร์หรือหนังสือในแวดวงคริสเตียนในจำนวนที่มากๆได้
ทั้งนี้ เนื่องจากว่าของประทานที่พระเจ้าทรงมอบให้ ไม่เพียงทำให้พวกเขาสอนเก่งหรือเรียนรู้ได้ดีเท่านั้น
แต่ยังทำให้พวกเขามีธรรมชาติของอาจารย์ที่เป็นนักค้นคว้าด้วย
สำหรับคนที่มีของประทานด้านการสังเกตวิญญาณ
พระเจ้าไม่เพียงแต่ประทานให้พวกเขาสังเกตวิญญาณได้เฉียบคมเท่านั้น
แต่พระองค์ประทานให้พวกเขามีธรรมชาติอย่างหนึ่งอันเป็นธรรมชาติเฉพาะสำหรับคนที่มีของประทานด้านนี้
ซึ่งปกติแล้ว คนที่มีของประทานสังเกตวิญญาณ มักจะมีธรรมชาติที่เป็นคนโผงผาง
พูดอะไรออกมาตรงๆ และไม่ค่อยมองอะไรเป็นสีเทาๆ แต่มักจะแยกขาวแยกดำอย่างชัดเจน
ถ้าเพื่อนๆกำลังค้นหาว่าตัวเองมีของประทานอะไร
ผมก็อยากจะแนะนำหลักการอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าพระเจ้าให้เพื่อนๆมีของประทานอันใดแล้ว
พระองค์ก็มักจะให้เพื่อนๆมีธรรมชาติในของประทานอันนั้นด้วย
การค้นหาของประทานของตัวเองจะเกิดได้ง่ายขึ้น
เมื่อเพื่อนๆได้สืบค้นเกี่ยวกับธรรมชาติของตนเอง เพราะธรรมชาติที่เราเป็นจะสอดคล้องกับของประทานที่เรามีเสมอ
ผู้เชื่อแต่ละคนเปรียบเปรยดั่งอวัยวะที่แตกต่างกัน
ใน (1 โครินธ์ 12)
ได้เปรียบเปรยผู้เชื่อแต่ละคนว่าเป็นดั่งอวัยวะในร่างกาย บางคนเป็นตา บางคนเป็นหู
บางคนเป็นมือ เหตุที่เปาโลได้เปรียบเปรยเช่นนี้ ด้านหนึ่งก็เป็นเพราะแต่ละคนมีของประทานที่แตกต่างกัน
จึงทำให้แต่ละคนมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน
บางคนพระเจ้าก็ประทานให้เขามีของประทานการสอนและมีการทรงเรียกให้เป็นอาจารย์
บางคนพระเจ้าก็ประทานให้เขามีของประทานด้านการเผยพระวจนะและมีการทรงเรียกสู่การเป็นผู้เผยพระวจนะ
บางคนพระเจ้าก็ประทานให้เขามีของประทานด้านศิษยาภิบาลที่มีธรรมชาติในการเป็นห่วงเป็นใยผู้คน
แต่ละคนจึงมีหน้าที่และการทรงเรียกที่แตกต่างกันไป
(หลุมพรางประการที่ 3) การยัดเยียดของประทาน
การยัดเยียดของประทานก็คือการคาดหวังให้คนอื่นมีลักษณะแบบเราหรือมีธรรมชาติแบบเรา
บางคนที่มีของประทานด้านการเผยพระวจนะที่ชอบอธิษฐานอย่างต่อเนื่องนานๆ
หากเขาไม่เข้าใจในเรื่องธรรมชาติและของประทาน
เขาก็อาจจะเรียกร้องให้ผู้เชื่อคนอื่นๆทำตามเขา
โดยเรียกร้องให้ผู้อื่นอธิษฐานมากๆแบบเขา
บางคนที่มีของประทานด้านการสอนที่ชอบค้นคว้าพระคัมภีร์อย่างลึกๆ
หากเขาไม่เข้าใจในเรื่องธรรมชาติและของประทาน
เขาก็อาจจะเรียกร้องให้คนอื่นๆศึกษาพระคัมภีร์ลึกๆแบบเขา
บางทีเขาก็อาจอารมณ์เสียที่เห็นผู้เชื่อคนอื่นๆไม่สนใจการศึกษาพระคัมภีร์แบบลึก
ทั้งนี้
การยัดเยียดของประทานอาจเป็นผลมาจาก การไม่เข้าใจในเรื่องของประทานและธรรมชาติ
แต่การยัดเยียดของประทานสามารถแก้ไขได้โดยการตระหนักรู้ว่า
แต่ละคนมีของประทานที่แตกต่างกัน
จึงทำให้แต่ละคนมีธรรมชาติกับลักษณะที่ไม่เหมือนกัน
และแต่ละคนมีการทรงเรียกที่แตกต่างกัน ดังนั้น การก่อสร้างผู้คน
จึงไม่ใช่การบีบบังคับให้ทุกคนเป็นเหมือนผู้นำ แต่เป็นการให้แต่ละคนได้ตระหนักรู้ถึงของประทานกับการทรงเรียกของตน
และนำพาแต่ละคนให้มุ่งสู่เส้นทางแห่งการทรงเรียกตามของประทานของเขา และเมื่อทุกคนต่างทำตามหน้าที่ที่สอดคล้องกับของประทานของตน
อาณาจักรพระเจ้าก็สามารถแผ่ขยายออกไปได้มากขึ้น โดยที่ไม่ต้องบีบบังคับให้ใครทำตามอย่างเรา
(หลุมพรางประการที่ 4) สถานการณ์นิยม
สถานการณ์นิยมเป็นคำสอนที่อธิบายว่า
เมื่อผู้เชื่อบังเกิดใหม่ พระคริสต์ก็สถิตอยู่ภายในผู้เชื่อ
ทำให้ผู้เชื่อสามารถสำแดงของประทานได้ทุกอย่างเมื่อสถานการณ์มาถึง เช่น
หากตอนนี้มีผู้ป่วยอยู่ต่อหน้าเรา และพระเจ้าปรารถนาที่จะรักษาโรค
เราก็สามารถสำแดงของประทานรักษาโรคได้ แต่พอสถานการณ์จบลง ของประทานการรักษาโรคก็หยุดทำงาน
หรือถ้าเกิดสถานการณ์จำเป็นที่ต้องมีการเผยพระวจนะ
พระเจ้าก็สามารถใช้ใครก็ได้ในการเผยพระวจนะ และเมื่อสถานการณ์จบลง
ของประทานการเผยพระวจนะก็หยุดทำงาน
คำสอนแบบสถานการณ์นิยมอธิบายว่า
ผู้เชื่อแต่ละคนสามารถสำแดงของประทานได้ทุกอย่างถ้าสถานการณ์มาถึง
เพราะพระเจ้าสามารถใช้ใครก็ได้ แต่ถ้าสถานการณ์จบลง ของประทานก็หยุดทำงาน ทั้งนี้
สถานการณ์นิยมอธิบายเพิ่มเติมว่า การสำแดงของประทานไม่ได้เกิดขึ้นโดยความตั้งใจของมนุษย์
แต่การสำแดงแห่งของประทานเกิดขึ้นตามพระทัยของพระวิญญาณ
มนุษย์จึงไม่ได้เป็นผู้กำหนดว่าจะใช้ของประทานเมื่อไร
แต่พระวิญญาณจะทรงเคลื่อนไหวในของประทานต่างๆเองเมื่อสถานการณ์มาถึง คำสอนเรื่องสถานการณ์นิยมอาจดูเหมือนให้การหนุนใจว่า
ผู้เชื่อสามารถสำแดงของประทานทุกอย่างได้
กระนั้นคำสอนนี้ก็มีจุดบอดทั้งในแง่ของหลักการพระคัมภีร์และในแง่ประสบการณ์
ในพระคัมภีร์ (1 โครินธ์ 12)
ได้เปรียบเปรยผู้เชื่อแต่ละคนว่าเป็นอวัยวะที่แตกต่างกัน
เพราะแต่ละคนต่างมีของประทานและการทรงเรียกที่แตกต่างกันไป บางคนพระเจ้าแต่งตั้งให้เขาเป็นหู
เขาก็มีของประทานและการทรงเรียกแบบหู บางคนพระเจ้าแต่งตั้งให้เขาเป็นเท้า
เขาก็มีของประทานและการทรงเรียกแบบเท้า บางคนพระเจ้าแต่งตั้งให้เขาเป็นแขน
เขาก็มีของประทานและการทรงเรียกในแบบที่แขนมี ไม่ใช่ว่า เมื่อวานเขาเป็นแขน
และวันพรุ่งนี้เขาจะเป็นหู
ทั้งนี้เพราะพระวิญญาณได้กำหนดของประทานให้กับแต่ละคนอย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะเจาะจงเป็นคนๆไป
มุมมองที่ได้จาก (1 โครินธ์ 12) นี้ จึงไม่ใช่มุมมองแบบ “สถานการณ์นิยม” แต่เป็น “การแต่งตั้งนิยม”
ซึ่งหมายความว่า พระวิญญาณได้ทรงแต่งตั้งแต่ละคนให้มีของประทานและพันธกิจที่แตกต่างกันไป
ในแง่ของประสบการณ์
คำสอนเรื่องสถานการณ์นิยมก็สร้างปัญหาบางประการ ปัญหาประการแรกก็คือ
คนที่ฝักใฝ่ในคำสอนแบบสถานการณ์นิยมมีแนวโน้มที่จะไม่สนใจว่าตนเองมีของประทานอะไร
และไม่สืบค้นถึงธรรมชาติกับการทรงเรียกที่พระวิญญาณทรงกำหนดให้เขาอย่างเจาะจง
ทั้งนี้เพราะ สถานการณ์นิยมมองว่า โดยพระวิญญาณ
ผู้เชื่อแต่ละคนมีของประทานทุกอย่างอยู่แล้วและสามารถสำแดงของประทานได้ทุกชนิด
ผู้เชื่อจึงไม่จำเป็นต้องไปสืบค้นว่าตนเองมีของประทานอะไร ขอแค่ผู้เชื่อมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าเป็นพอ
และถ้าสถานการณ์มาถึง ของประทานต่างๆก็สำแดงออกมาเอง
การไม่ตระหนักรู้ถึงของประทานของตนเอง
ด้านหนึ่งก็จะส่งผลให้ไม่รู้ถึงการทรงเรียกของตนเองด้วย ใน (โรม 11:29) ได้บอกเป็นนัยว่า ของประทานกับการทรงเรียก เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันและควบคู่กันไป
ดังนั้น ถ้าผู้หนึ่งไม่รู้ว่าตนเองมีของประทานอะไร
โอกาสที่ผู้นั้นจะรับรู้ถึงการทรงเรียกที่เฉพาะเจาะจงของตนก็เป็นไปได้ยาก
ปัญหาอีกประการหนึ่งของสถานการณ์นิยมก็คือ
การไม่ร่วมประสานกับส่วนอื่นของพระกาย ทั้งนี้ ด้วยมุมมองของสถานการณ์นิยมที่คิดว่า
ผู้เชื่อแต่ละคนสามารถสำแดงของประทานได้ทุกอย่างอยู่แล้ว
จึงทำให้ผู้เชื่อแต่ละคนไม่ค่อยเห็นคุณค่าของการพึ่งพาและการร่วมประสานกันในพระกาย
ทว่า ในมุมมองแบบการแต่งตั้งนิยม(อันเป็นมุมมองตามพระคัมภีร์) มองว่า
พระวิญญาณทรงมอบของประทานให้แต่ละคนอย่างแตกต่างกันไป
และพระองค์ก็ทรงแต่งตั้งให้แต่ละคนมีการทรงเรียกเฉพาะตามของประทานนั้นๆ
ทำให้แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้
การร่วมประสานกับอวัยวะอื่นๆในพระกายจึงมีความสำคัญยิ่ง เพราะปกติ คนที่เป็นหู
ก็เชี่ยวชาญในความเป็นหู แต่ถ้าเขาปรารถนาที่จะมองเห็นได้ชัดขึ้น
เขาก็ต้องพึ่งพาคนที่เป็นตา ในทำนองเดียวกัน คนที่เป็นตา ก็จะเชี่ยวชาญในการเป็นตา
แต่ถ้าเขาปรารถนาจะฟังได้ดีขึ้น เขาก็ต้องพึ่งพาและร่วมประสานกับคนที่เป็นหู
ความเข้าใจในเรื่องของประทานจะมีส่วนช่วยให้
ผู้เชื่อแต่ละคนเข้าใจและให้เกียรติในอัตลักษณ์และการทรงเรียกของกันและกัน
เพราะความเข้าใจในเรื่องของประทานทำให้เกิดความตระหนักรู้ว่า
แต่ละคนมีของประทานและธรรมชาติที่ไม่เหมือนกัน
แต่ละคนจึงมีพันธกิจและการทรงเรียกที่แตกต่างกันไป
ดังนั้นเราจะไม่ยัดเยียดให้ใครเป็นเหมือนเรา
แต่จะหนุนใจให้แต่ละคนได้ค้นพบถึงของประทานและผลักดันให้ทุกคนมุ่งหน้าสู่การทรงเรียกที่มีเฉพาะในแต่ละคน
และเมื่อทุกคนเติบโตในของประทานที่ตนเองมี ท้ายสุดนี้
ก็จะเกิดภาพของการร่วมประสานและเกื้อกูลกันในพระกาย เพราะพวกเราได้ตระหนักรู้ว่า
พวกเราไม่สามารถสำแดงของประทานทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว แต่พวกเราต้องพึ่งพาอวัยวะอื่นๆในการสำแดงของประทานที่เราไม่มีด้วย
ชาโลม
Philip Kavilar
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
หนังสือ
Discover
Your Spiritual Gifts เขียนโดย C. Peter
Wagner
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น