28 มกราคม 2555

Acts_2:22-36_คริสตจักรที่สื่อสารข่าวประเสริฐ

ศึกษาพระธรรมกิจการของอัครทูต

คริสตจักร “ต้นแบบ” ตามพระบัญชา

กิจการของอัครทูต 2:22-36
22 "ท่านทั้งหลายผู้เป็นชนชาติอิสราเอล ขอฟังคำของข้าพเจ้า คือพระเยซูชาวนาซาเร็ธ เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงโปรดชี้แจงให้ท่านทั้งหลายทราบ โดยการอิทธิฤทธิ์ การอัศจรรย์และหมายสำคัญต่างๆซึ่งพระเจ้าได้ทรงกระทำโดยพระองค์นั้น ท่ามกลางท่านทั้งหลาย ดังที่ท่านทราบอยู่แล้ว
23 พระเยซูนี้ทรงถูกมอบไว้ตามที่พระเจ้าได้ทรงดำริแน่นอนล่วงหน้าไว้ก่อน ท่านทั้งหลายได้ให้คนอธรรมจับพระองค์ไปตรึงที่กางเขนและประหารชีวิตเสีย
24 พระเจ้าได้ทรงบันดาลให้พระองค์คืนพระชนม์ ด้วยทรงกำจัดความเจ็บปวดแห่งความตายเสีย เพราะว่าความตายจะครอบงำพระองค์ไว้ไม่ได้
25 เพราะกษัตริย์ดาวิดได้ทรงกล่าวถึงพระองค์ว่า "ข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าตรงหน้าข้าพเจ้าเสมอ เพราะว่าพระองค์ประทับที่มือขวาของข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะมิได้หวั่นไหว
26 เพราะฉะนั้น จิตใจของข้าพเจ้าจึงยินดี และลิ้นของข้าพเจ้าจึงเปรมปรีดิ์ อนึ่งร่างกายของข้าพเจ้าจะอยู่ด้วยความไว้ใจ
27 เพราะพระองค์จะไม่ทรงละข้าพระองค์ไว้ในแดนคนตาย ทั้งจะไม่ทรงให้องค์บริสุทธิ์ของพระองค์เปื่อยเน่าไป
28 พระองค์ได้ทรงโปรดให้ข้าพระองค์ทราบทางแห่งชีวิตแล้ว พระองค์ทรงโปรดให้ข้าพระองค์มีความยินดีเต็มเปี่ยมหน้าพระพักตร์ของพระองค์
29 "พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีใจกล้าที่จะกล่าวแก่ท่านทั้งหลายถึงดาวิดบรรพบุรุษของเราว่า ท่านสิ้นชีวิตแล้วฝังไว้ และอุโมงค์ฝังศพของท่านยังอยู่กับเราจนถึงทุกวันนี้
30 ท่านเป็นผู้เผยพระวจนะ และทราบว่าพระเจ้าตรัสสัญญาไว้แก่ท่านด้วยพระปฏิญาณว่า พระองค์จะทรงประทานผู้หนึ่งในวงศ์ตระกูลของท่านให้ประทับบนพระที่นั่งของท่าน
31 กษัตริย์ดาวิดก็ทรงล่วงรู้เหตุการณ์นี้ก่อน จึงทรงกล่าวถึงการคืนพระชนม์ของพระคริสต์ว่า พระเจ้ามิได้ทรงละพระองค์ไว้ในแดนคนตาย ทั้งพระมังสะของพระองค์ก็ไม่เปื่อยเน่าไป
32 พระเยซูนี้พระเจ้าได้ทรงบันดาลให้คืนพระชนม์แล้ว ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นพยานในข้อนี้
33 เหตุฉะนั้นเมื่อทรงเชิดชูพระองค์ขึ้นอยู่ที่พระหัตถ์เบื้องขวาของพระเจ้า และครั้นพระองค์ได้ทรงรับพระวิญญาณบริสุทธิ์จากพระบิดาตามพระสัญญา พระองค์ได้ทรงเทฤทธิ์เดชนี้ลงมา ดังที่ท่านทั้งหลายได้ยิน และเห็นแล้ว
34 เหตุว่าท่านดาวิดไม่ได้ขึ้นไปยังสวรรค์แต่ท่านได้กล่าวว่า "พระเจ้าตรัสกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าว่า จงนั่งขวามือของเรา
35 จนกว่าเราจะกระทำให้ศัตรูของเจ้าอยู่ใต้เท้าเจ้า
36 เหตุฉะนั้น ให้พงศ์พันธุ์อิสราเอลทั้งปวงทราบแน่นอนว่า พระเจ้าได้ทรงยกพระเยซูนี้ ซึ่งท่านทั้งหลายได้ตรึงไว้ที่กางเขนนั้น ทรงตั้งขึ้นให้เป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นพระคริสต์"

อารัมภบท

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน เรากำลังศึกษาพระธรรรมกิจการฯมาถึงตอนที่ 4 แล้วในตอนนี้ ผมขอตั้งชื่อว่า "คริสตจักรที่สื่อสารข่าวประเสริฐ" เพราะเนื้อหาหลักคือการสื่อสารเรื่องของพระกิตติคุณของพระคริสต์ ซึ่งถือเป็นข่าวประเสริฐที่สำคัญที่คริสตชนทุกคนต้องไปประกาศข่าวดีนี้ไปจนสุดปลายแผ่นดิน(กจ.1:8)คำว่า "ข่าวประเสริฐ" หมายถึงข่าวดี นั่นคือความรอดของเราทั้งหลายที่ผ่านทางพระเยซูคริสต์ มาจากภาษาอังฤษคือคำว่า "Gospel" มีผู้นำคริสตจักรท่านหนึ่งให้นิยามกับผมว่า "Gospel"มาจาก คำว่า GOSPEL-God Offers Sinful Person to Eternal Life.แปลว่า พระเจ้าประทานชีวิตนิรันดร์ให้กับคนบาป สำหรับผมแล้วมันเป็นสิ่งที่จริงเลย ข่าวประเสริฐเป็นสิ่งที่เราควรจะนำข่าวดีไปบอกกล่าวเล่ากับทุกคน

ในสัปดาห์นี้เราได้ศึกษาต่อจากสัปดาห์ก่อน ครั้งนี้จะเป็นข้อ 22-36 หลังเหตุการณ์ที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้เทลงมาเหนือผู้เชื่อที่รวมตัวรอคอยที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับตามพระสัญญา
คนเหล่านั้นเต็มล้นด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และ พูดภาษาต่าง ๆ ตามที่พระวิญญาณทรงโปรดให้พูด ซึ่งทำให้คนที่เห็นเหตุการณ์นั้นแปลกประหลาดใจ และ สำคัญผิดว่า พวกเขากำลังเมาเหล้าองุ่น อัครทูตเปโตรจึงได้ลุกขึ้นอธิบายให้รู้และเข้าใจความจริงว่า คนเหล่านั้นหาได้เมาเหล้าองุ่นไม่ แต่เป็นหมายสำคัญที่พระวิญญาณเทลงมาตามพระสัญญาซึ่งมีคำพยากรณ์ล่วงหน้าไว้ในหนังสือโยเอล 2:28-32 เมื่อท่านได้อธิบายให้เข้าใจความจริงดังกล่าวแล้ว เพื่อขึ้นต้นกล่าวประเด็นใหม่ จึงได้กล่าวใน ข้อ 22 ว่า "ท่านทั้งหลายผู้เป็นชนชาติอิสราเอล ขอฟังคำของข้าพเจ้า …”
การที่อัครทูตเปโตรกล่าวขึ้นต้นอ้างถึงการเป็นชนชาติอิสราเอลนี้ ทำให้คนฟังสัมผัสได้ถึงความเอาใจใส่ในการให้เกียรติ เพราะการบอกว่าเป็นชนชาติอิสราเอลนั้น หมายถึงการเป็นชนชาติพิเศษที่รับการเลือกสรรให้เป็นชนชาติเฉพาะของพระเจ้า นี่จึงเป็นถ้อยคำที่กล่าวนำ เพื่อจูงใจให้สนใจฟังในสิ่งสำคัญที่จะการกล่าวต่อไป นั่นคือ “ข่าวประเสริฐเรื่องราวของพระคริสต์”
ข้อ 22 เปโตรกล่าวถึงพระคริสต์ว่า …คือพระเยซูชาวนาซาเร็ธ เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงโปรดชี้แจงให้ ท่านทั้งหลายทราบโดยการอิทธิฤทธิ์การอัศจรรย์ และหมายสำคัญต่างๆซึ่งพระเจ้าได้ทรงกระทำโดยพระองค์นั้น ท่ามกลางท่านทั้งหลาย ดังที่ท่านทราบอยู่แล้ว
การที่ระบุว่า พระเยซูทรงเป็น“ชาวนาซาเร็ธ” กำลังบอกว่า พระเยซูผู้ทรงเป็นพระเจ้าที่รับสภาพเป็นมนุษย์ (Incarnation) คำว่า “พระเยซูชาวนาซาเร็ธ” ก็เป็นชื่อที่ คนทั่วไปรู้จักกันว่า เป็นมนุษย์ที่สำแดงพระเจ้าท่ามกลางพวกเขา
ท่านบอกว่า “ดังที่ท่านทราบอยู่แล้ว” เป็นการตอกย้ำความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะได้เห็นต่อหน้าต่อตา เป็นเหตุผลที่ชัดเจน เป็นเหตุการณ์ที่เป็นพยานหลักฐานที่แน่นหนา ที่พระเยซูคริสต์ได้ทำการอัศจรรย์ ท่ามกลางพวกเขาเป็นสิ่งรับรอง และ สำแดงว่าพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลก
ดังนั้นเรื่องราวของพระเยซูคริสต์เป็นข่าวดีที่พระเจ้าต้องการให้เราทั้งหลายสื่อสารออกไปให้โลกได้รู้ เพื่อนำไปสู่ความรอดของคนทั้งหลายที่กลับใจเชื่อ ดังนั้นเราจึงต้องเป็น "คริสตจักรที่สื่อสารข่าวประเสริฐ"ในเรื่องพระกิตติคุณของพระคริสต์


1.ข้อสังเกตเพื่อใคร่ครวญ
ในข้อ 23 บอกว่า …พระเยซูนี้ทรงถูกมอบไว้ตามที่พระเจ้าได้ทรงดำริแน่นอน ล่วงหน้าไว้ก่อน ท่านทั้งหลายได้ให้คนอธรรมจับพระองค์ ไปตรึงที่กางเขนและประหารชีวิตเสีย
คำว่า “ทรงถูกมอบไว้” ความหมายในภาษาเดิมนั้น ถูกใช้โดยทั่วไปกับคนที่ถูกทำให้ยอมจำนน หรือ ถูกมอบไว้ในมือของศัตรู ความหมายที่อัครทูตเปโตรต้องการสื่อให้เห็นว่า พระเยซูถูกทำให้ต้องยอมจำนน หรือ ยอมสละให้แก่ศัตรู
คำถามคือ ใคร คือ ผู้มอบพระเยซูและ มอบให้แก่ใคร?
คำตอบคือ “ปอนทิอัส ปีลาต” ผู้ว่าราชการเมือง ผู้ที่มีอำนาจที่จะปกป้องพระองค์ได้ แต่กลับ ไม่ได้ใช้อำนาจนั้นในทางที่ถูกต้อง
ในพระธรรมลูกา 23:22 ได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ปีลาตถามฝูงชนย้ำแล้วย้ำอีกถึง 3 ครั้งว่า ตรึงทำไม เขาได้ทำผิดประการใด เราไม่เห็นเขาทำผิดอะไรที่สมควรจะมีโทษถึง
ตาย เหตุฉะนั้นเมื่อเราเฆี่ยนเขาแล้วก็จะปล่อยเสีย”
เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทั้งที่ปีลาตก็รู้อยู่แก่ใจว่า พระองค์ปราศจากความผิด และตัวเขาก็วินิจฉัยแล้วว่า พระองค์ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่เขาก็กลับใช้วิธีการ "นิติราษฏร์" เขาเลือกวิธีการที่ "ถูกใจ"คนส่วนมากแทนที่จะใช้วิธีการที่ "ถูกต้อง"ในการตัดสินตามกระบวนการยุติธรรม ในบางครั้งจะเห็นได้ว่า "เสียงส่วนใหญ่" ใช่ว่าจะเป็นการเลือกที่ถูกต้อง เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ประชาธิปไตย หลักการตัดสินต้องให้ความเป็นธรรม


ปีลาตแทนที่จะปล่อยพระเยซูไป กลับให้โอกาสปล่อยนักโทษที่มีความผิดอย่างชัดเจนไป
ซึ่งในเทศกาลปัสกาธรรมเนียมของคนยิวจะปล่อยนักโทษได้ 1 คน
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสิ้นนี้ไม่ได้เป็นความผิดพลาดที่พระเยซูคริสต์ต้องตายบนกางเขน มันไม่ใช่อุบัติเหตุแต่เป็นแผนการของพระเจ้าที่ทรงดำริไว้
กจ.2:23 บอกว่า
…พระเยซูนี้ทรงถูกมอบไว้ตามที่พระเจ้าได้ทรงดำริแน่นอน ล่วงหน้าไว้ก่อน พระเยซูทราบล่วงหน้าแล้วว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับพระองค์เป็นพระประสงค์ของพระองค์เองที่เสด็จเข้ามาในโลกนี้ ก็เพื่อสิ้นพระชนม์เพื่อมวลมนุษยชาติ พระองค์เต็มใจไปที่กางเขน ดังที่พระเยซูได้เปิดเผยให้แก่เหล่าสาวกก่อนเหตุการณ์ที่จะทรงถูกอายัด (มก.10:32-33)และ สิ่งนี้ก็ได้เกิดขึ้นตามคำพยากรณ์ที่เล็งถึงพระเยซูคริสต์
พระเยซูตรัสกับสาวกไว้อย่างนั้นใน (ลก.22:37) ซึ่งทรงอ้างจาก(อสย.53:12)
ว่าด้วยเราบอกท่านทั้งหลายว่า พระวจนะซึ่งเขียนไว้แล้วนั้นต้อง สำเร็จในเรา คือที่ว่าท่านถูกนับเข้ากับคนอธรรม เพราะว่าคำพยากรณ์ที่เล็งถึงเรานั้นจะสำเร็จ"


มีคำพยากรณ์มากกว่า 300 ข้อที่พยากรณ์ถึงพระคริสต์และสำเร็จตามนั้นทุกประการ แต่สาระสำคัญที่บอกให้รู้ว่า พระเจ้ารักเราอย่างมากมาย (ยน 3:16) บอกว่า เป็นความรักที่มีมากถึงกับยอมสละพระบุตรองค์เดียวได้เพื่อคนที่วางใจในพระบุตรจะไม่ต้องพินาศ
(1ยน.4:9-10) บอกว่า ความรักของพระเจ้านั้นก็เป็นที่ประจักษ์นั่นคือ เป็นความรักที่จับต้องได้ โดยสำแดงผ่านการเสด็จเข้ามาในโลกนี้ มารับสภาพเป็นมนุษย์อย่างเรา
ทรงเป็นผู้ลบล้างพระอาชญาที่ตกกับเราทั้งหลายเพราะบาปของเรา

ความรัก คือ การอภัยโทษบาปของเรา
ความยุติธรรม คือ การรับโทษทัณฑ์ของบาปนั้นแทนเรา
ความรักของพระเจ้าได้มาบรรจบกับความยุติธรรมของพระองค์ที่กางเขน

ไม่เพียงแต่ “การสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์” เพื่อรับโทษแห่งบาปแทนมวลมนุษย์จะเป็นเนื้อหาสาระของข่าวสารที่ควรสื่อสารออกไป สาระของข่าวประเสริฐของพระคริสต์ปรากฏใน ข้อ 24-32 ที่เป็นข้อคิดสะกิดใจของเราดังนี้


2.ข้อคิดสะกิดใจ
เนื้อหาสาระข่าวประเสริฐของพระคริสต์ซึ่งควรสื่อสารออกไปคือ“การฟื้นคืนพระชนม์”
พระเจ้าของเราเป็นพระเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ไม่ได้เป็นพระเจ้าที่ตายแล้ว แต่ยังทรงพระชนม์อยู่ การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูที่ไม้กางเขนนั้น ดูเหมือนว่า เป็นจุดจบที่พ่ายแพ้ แม้แต่มารมันนึกว่า มันชนะ แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะภายหลังจากที่ทรงสิ้นพระชนม์ไปเพียง 3 วัน พระองค์ทรงฟื้นคืนพระชนม์ ทรงชัยชนะเหนือความตาย และมารร้าย

มารร้ายต้องเจ็บปดใจในความพ่ายแพ้ เหมือนโดนใครยิงธนูปักเข่า
ฮบ.2:14…เพื่อโดยทางความตายนั้นเอง พระองค์จะได้ทรงทำลายผู้ที่มีอำนาจแห่งความตายคือมารเสียได้
ในกจ.2:24 พระเจ้าได้ทรงบันดาลให้พระองค์คืนพระชนม์ ด้วยทรงกำจัดความเจ็บปวดแห่งความตายเสีย เพราะว่า ความตายจะครอบงำพระองค์ไว้ไม่ได้
คำว่า “ความเจ็บปวด” ที่อัครทูตเปโตรใช้ในที่นี้ ให้ความหมายในลักษณะของความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส บางครั้งคำนี้ก็ใช้กับการคลอดบุตรที่มีความเจ็บปวดอย่างมาก
อสย.66:7 ก่อนที่นางจะปวดครรภ์ นางก็คลอดบุตร ก่อนที่ความเจ็บปวดจะมาถึงนางนางก็ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง
ความเจ็บปวดของผู้ทึ่่เป็นแม่จะหายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อแม่ได้เห็นหน้าลูกที่คลอดออกมา เช่นเดียวกัน การที่พระเยซูคริสต์ฟื้นจากความตาย เป็นการประกาศชัยชนะเหนือความบาปความตายของเราทั้งหลาย จากเสียงร่ำไห้ กลับกลายเป็นเสียงร้องเพลงด้วยใจชื่นชม



คำถามที่เราจะใคร่ครวญด้วยกันคือ วันนี้มีความบาปอะไรบ้างในชีวิตของเรา ที่เป็นเหมือนบ่วงที่ฉุดรั้งเราไว้ วันนี้ขอป่าวประกาศชัยชนะกับพระคริสต์ร่วมกัน

ให้เราป่าวประกาศด้วยพระคำในกจ.2:24-28
24 พระเจ้าได้ทรงบันดาลให้พระองค์คืนพระชนม์ ด้วยทรงกำจัดความเจ็บปวดแห่งความตายเสีย เพราะว่าความตายจะครอบงำพระองค์ไว้ไม่ได้
25 เพราะกษัตริย์ดาวิดได้ทรงกล่าวถึงพระองค์ว่า "ข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าตรงหน้าข้าพเจ้าเสมอ เพราะว่าพระองค์ประทับที่มือขวาของข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะมิได้หวั่นไหว
26 เพราะฉะนั้น จิตใจของข้าพเจ้าจึงยินดี และลิ้นของข้าพเจ้าจึงเปรมปรีดิ์ อนึ่งร่างกายของข้าพเจ้าจะอยู่ด้วยความไว้ใจ
27 เพราะพระองค์จะไม่ทรงละข้าพระองค์ไว้ในแดนคนตาย ทั้งจะไม่ทรงให้องค์บริสุทธิ์ของพระองค์เปื่อยเน่าไป

28 พระองค์ได้ทรงโปรดให้ข้าพระองค์ทราบทางแห่งชีวิตแล้ว พระองค์ทรงโปรดให้ข้าพระองค์มีความยินดีเต็มเปี่ยมหน้าพระพักตร์ของพระองค์
ในข้อ 24 คำว่า “ทรงกำจัด” ในภาษาเดิมให้ความหมายว่า "ทรงปลดปล่อยเราแล้ว"ในภาษาเดิมให้ความหมายว่า "ปลดปล่อย" คำที่มีใช้ในที่อื่น ๆ เช่น ในมธ.21:1 ใช้คำว่า “แก้” จากการถูกมัดไว้…
ท่านจะพบแม่ลาตัวหนึ่งผูกอยู่กับลูกของมัน จงแก้จูงมาให้เรา
นั่นคือ ความเจ็บปวดแห่งความตายได้ถูกปลดปล่อย เช่นเดียวกับความตายของลาซารัส พระเยซูทรงเรียกลาซารัสให้ออกจากอุโมงค์ความตาย แต่พระองค์ทรงปลดปล่อยแก้ผ้าพันศพของลาซารัส (ยน.11)
กจ.2:25-28 อัครทูตเปโตรได้อ้างคำกล่าวของกษัตริย์ดาวิดใน สดด.16:8-11ซึ่งเป็นคำพยากรณ์ล่วงหน้าเล็งถึงพระเยซูคริสต์ที่จะมาเป็นพระมาซีฮา
คำว่า “ได้เห็น” ความหมายในภาษาเดิม แสดงถึงการมีความมั่นใจในการรอคอยว่าจะได้รับการช่วยเหลืออย่างแน่นอน
ดังนั้น ที่บอกว่า ได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าตรงหน้าเสมอ จึงหมายถึงความมั่นใจว่า พระเจ้าทรงสถิตอยู่ด้วย และ เอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเป็นความมั่นใจที่ดาวิดมีในพระเจ้า
ดาวิดยังบอกอีกว่า เพราะพระองค์ประทับที่มือขวาของข้าพเจ้า ประโยคนี้แสดงให้เห็นถึงการพร้อมเสมอที่จะช่วยเหลือเป็นการแสดงออกของการกระทำที่เมตตา ดังที่ สดด 109:31 บอกว่า …
เพราะพระองค์ประทับขวามือของคนขัดสน เพื่อทรงช่วยเขาให้พ้นจากคนที่ปรับโทษเขานั้น
ในกจ.2:27 ดาวิดกล่าวเล็งไปถึงพระมาซีฮาว่า… ทั้งจะไม่ทรงให้องค์บริสุทธิ์ของพระองค์เปื่อยเน่าไป คำว่า “องค์บริสุทธิ์” ในภาษาฮีบรูให้ความหมายว่า ผู้หนึ่งที่อุทิศตัวอย่างตั้งใจมาตายไถ่บาปเพื่อผู้อื่น ในข้อ 27 บอกว่า ทั้งจะไม่ทรงให้องค์บริสุทธิ์ของพระองค์เปื่อยเน่าไป จึงหมายถึง“พระคริสต์” นั่นเอง สิ่งที่ดาวิดกล่าวนี้ เล็งถึง พระมาซีฮา เป็นภาพเล็งถึงการฟื้นคืนพระชนม์และ ถูกยกชูไว้สูงสุดเหนือบรรดาสรรพสิ่ง(อฟ.1:20-22)
ในกจ.2:28 พระองค์ได้ทรงโปรดให้ข้าพระองค์ทราบทางแห่งชีวิตแล้ว พระองค์ทรงโปรดให้ข้าพระองค์มีความยินดีเต็มเปี่ยมหน้าพระพักตร์ของพระองค์
นั่นคือ ความมั่นใจของดาวิดว่า พระมาซีฮา พระผู้ช่วยให้รอดเป็นผู้ทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์ ความตายไม่อาจมีชัยเหนือพระองค์ได้ นี่ก็เป็นความหวังใจของดาวิด และ ของธรรมิกชนทุกคน เป็นความหวังที่เต็มเปี่ยมด้วยความปิติยินดีที่จะได้อยู่กับพระองค์นิตย์นิรันดร์ในสวรรค์สถาน ซึ่งก็หมายถึง "การได้อยู่ในการที่แห่งการทรงสถิตของพระเจ้า"

กจ.2:29-30 บันทึกคำพูดของอัครทูตเปโตรซึ่งลุกขึ้นกล่าวเป็นตัวแทนของผู้เชื่อในขณะนั้นว่า
29 "พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีใจกล้าที่จะกล่าวแก่ท่านทั้งหลายถึงดาวิดบรรพบุรุษขของเราว่าท่านสิ้นชีวิตแล้วฝังไว้ และอุโมงค์ฝังศพของท่านยังอยู่กับเราจนถึงทุกวันนี้
30 ท่านเป็นผู้เผยพระวจนะ และทราบว่าพระเจ้าตรัสสัญญาไว้แก่ท่านด้วยพระปฏิญาณว่า พระองค์จะทรงประทานผู้หนึ่งในวงศ์ตระกูลของท่านให้ประทับบนพระที่นั่งของท่าน

อัครทูตเปโตรสรุปคำกล่าวของดาวิดที่บันทึกในสดุดี 16 ไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้ที่ดาวิดกล่าวถึงนั้น หมายถึง "พระคริสต์" กษัตริย์ดาวิดสิ้นพระชนม์ไปแล้วและทรงเปื่อยเน่าไปแล้ว ถูกฝังไว้แล้ว อุโมงค์ฝังศพก็ยังอยู่ทุกวันนี้ อัครทูตเปโตรยืนยันชัดเจน เป็นสิ่งที่คนยิวที่ฟังย่อมรู้ดีแก่ใจ
และ ใน ข้อ 31-32 เปโตรบอกต่อไปอีกว่า
31 กษัตริย์ดาวิดก็ทรงล่วงรู้เหตุการณ์นี้ก่อน จึงทรงกล่าวถึงการคืนพระชนม์ของพระคริสต์ว่า พระเจ้ามิได้ทรงละพระองค์ไว้ในแดนคนตายทั้งพระมังสะของพระองค์ก็ไม่เปื่อยเน่าไป
32 พระเยซูนี้พระเจ้าได้ทรงบันดาลให้คืนพระชนม์แล้ว ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นพยานในข้อนี้
นั่นคือ เปโตรบอกว่า ดาวิดรู้เหตุการณ์ล่วงหน้านี้ จึงกล่าวเป็น คำพยากรณ์ถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ พระองค์ไม่ได้สิ้นพระชนม์แล้วเปื่อยเน่าอยู่ในหลุมฝังศพ
แต่ พระองค์เป็นขึ้นมาจากความตายแล้ว
อัครทูตเปโตรบอกว่า ข้าพเจ้ามีใจกล้าที่จะบอกเช่นนั้นและ เป็นตัวแทนผู้เชื่อในขณะนั้นกล่าวว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นพยานในเรื่องนี้ นั่นคือ ความมั่นใจที่ เปโตรกล่าวอย่างหนักแน่น
นั่นคือ การสื่อข่าวสารของพระคริสต์อย่างมั่นใจ อย่างหนักแน่นในเรื่องการฟื้นคืนพระขนม์ของพระเยซูคริสต์
เพราะเปโตรมีประสบการณ์พบพระคริสต์ด้วยตนเอง



คำถามที่เราต้องถามตนเองคือ วันนี้ประสบการณ์ใดที่เรามั่นใจจากชีวิตของเราว่าพระเยซูคริสต์ยังทรงพระชนม์อยู่ในชีวิตของเรา?


3.ข้อสรุปเพื่อประยุกต์ใช้
ในข้อ 33-35 อัครทูตเปโตรได้กล่าวต่อไปเป็นเนื้อหาข่าวประเสริฐคือ “การประทับบนสวรรค์ของพระคริสต์” ข้อ 33 ได้กล่าวอ้างถึงเหตุการณ์ ที่พวกเขาเห็นฤทธิ์เดชพระวิญญาณเทลงมาเหนือบรรดาผู้เชื่อที่ห้องชั้นบนทั้ง 120 คนนั้นว่า ได้เกิดขึ้นหลังจากที่พระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์นั่นเอง ซึ่งเป็นไปตามที่พระเยซูได้ตรัสกับสาวกไว้เมื่อยังทรงดำเนินอยู่ท่ามกลางพวกเขาในโลกนี้ ใน ยน.16:7 นั่นคือ พระผู้ช่วย คือ พระวิญญาณจะเสด็จลงมา เมื่อพระเยซู เสด็จขึ้นประทับบนสวรรค์แล้ว เมื่อกล่าวมาถึงการเสด็จขึ้นไปยังสวรรค์
อัครทูตเปโตรกล่าวย้ำอีกครั้งในข้อ 34-35 ว่า สิ่งที่กษัตริย์ดาวิดพูดนั้น ไม่ได้หมายถึงตัวกษัติย์ดาวิดแต่ หมายถึง "พระคริสต์" เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูคริสต์ ที่กางเขนนั้น ดูเหมือนเป็นที่ที่อับอายและพ่ายแพ้ ที่อุโมงค์ฝังศพของพระองค์นั้น ดูเหมือนเป็นจุดจบที่น่าสลดแต่ทว่า อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด สาวกเองก็ลืมไปทั้ง ๆ ที่พระเยซูได้บอกไว้แล้ว พระองค์จะเป็นขึ้นมาจากความตาย
พระเยซูได้ทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ได้ทรงถูกยกชูขึ้นสูงเหนือนามทั้งปวงทั่วใต้ฟ้า
ข้อ 35 บอกว่า จนกว่าเราจะกระทำให้ศัตรูของเจ้าอยู่ใต้เท้าเจ้า นั่นคือ ชัยชนะอย่างท่วมท้นของพระเยซูคริสต์
ข้อ 36 อัครทูตเปโตรได้กล่าวสรุปประการสุดท้าย ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระข่าวสารของพระคริสต์ในที่นี้ว่า “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นทั้ง องค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นพระผู้ช่วยให้รอด”….
การสรุปลงท้ายอย่างเด็ดขาดชัดเจนว่า เหตุฉะนั้นให้พงศ์พันธุ์อิสราเอลทั้งปวงทราบแน่นอนว่า พระเจ้าได้ทรงยกพระเยซูนี้ ซึ่งท่านทั้งหลายได้ตรึงไว้ที่กางเขนนั้น ทรงตั้งขึ้นให้เป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นพระคริสต์"
คำว่า “ทราบแน่นอน” หมายความว่า ขอให้รู้ว่า สิ่งที่เปโตรกล่าวมาทั้งหมดนั้น ควรรับไว้อย่างไม่ต้องลังเลหรือไม่แน่ใจว่า พระเยซูที่พวกเขาจับตรึงที่กางเขนนั้น เป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้า และ เป็นพระคริสต์ หรือ พระผู้ช่วยให้รอด ที่พวกเขาตั้งตารอคอย
ผู้อ่านทุกท่านครับ ขอให้แน่ใจเถิดว่า สิ่งที่อัครทูตเปโตรพูดและถูกบันทึกไว้ในหนังสือกิจการฯ ไม่มีสิ่งใดผิดพลาด ผมขอสรุปสิ่งที่เราต้องไปสื่อสารข่าวประเสริฐที่มีสาระดังต่อไปนี้

1. การสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ (23)
2. การฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ (24-32)
3. การประทับบนสวรรค์ของพระคริสต์ (33-36)

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือพระคริสต์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเราทุกคนที่เชื่อ แม้ว่าจะมีคนมากมายที่พยายามโต้แย้งความจริงนี้

(ตัวอย่าง เรื่อง ข้อโต้แย้งเรื่องกางเขน จากหนังสือมานาประจำวัน วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2011)


มีคดีในศาลฎีกาสหรัฐฯ คดีหนึ่งที่พิจารณาว่าสัญลักษณ์ทางศาสนา โดยเฉพาะไม้กางเขน ควรจะได้รับอนุญาตให้ใช้ในสถานที่สาธารณะหรือไม่


มาร์ค เชอร์แมนนักเขียนของสำนักข่าว AP กล่าวว่า ถึงแม้ไม้กางเขนที่เป็นปัญหานี้จะตั้งขึ้นในปี 1934 เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ทหารผ่านศึกกลุ่มที่ต่อต้านเรียกไม้กางเขนนี้ว่า “สัญลักษณ์อันทรงพลังของคริสเตียน” และ “ไม่ใช่สัญลักษณ์ของศาสนาอื่นใด”
เรื่องกางเขนเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันเสมอมา ในศตวรรษแรก เปาโลกล่าวว่าพระคริสต์ทรงส่งท่านมาเพื่อ “ประกาศข่าวประเสริฐ และมิใช่ด้วยชั้นเชิงอันฉลาดในการพูด เกรงว่าเรื่องกางเขนของพระคริสต์จะหมดฤทธิ์เดช คนทั้งหลายที่กำลังจะพินาศก็เห็นว่าเรื่องกางเขนเป็นเรื่องโง่ แต่พวกเราที่กำลังจะรอดเห็นว่าเป็นฤทธานุภาพของพระเจ้า” (
1 คร.1:17-18)


เราที่เป็นผู้ติดตามพระคริสต์เห็นว่าไม้กางเขนไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์อันทรงพลังของคริสเตียน แต่เป็นหลักฐานถึงฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าที่ปลดปล่อยเราจากการเป็นทาสของความบาป


ในสังคมที่หลากหลายและมีความเชื่อแตกต่างกัน ข้อโต้แย้งระหว่างสัญลักษณ์ทางศาสนาต่างๆ จะยังคงมีอยู่ต่อไป ไม้กางเขนจะประดิษฐานในที่สาธารณะได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ศาลจะตัดสิน แต่การสำแดงฤทธานุภาพของกางเขนผ่านชีวิตของเรา เป็นสิ่งที่ใจเราต้องตัดสิน


ไม่มีสิ่งใดพูดถึงความรักของพระเจ้าได้ชัดเจนกว่าไม้กางเขน
คนที่เป็นพยานดีที่สุดคือคนที่เป็นพยานด้วยชีวิต ให้เราออกไปสื่อสารข่าวประเสริฐของพระคริสต์จากชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระองค์ด้วยกัน


พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น