06 กุมภาพันธ์ 2555

Acts_2:37-41_คริสตจักรที่ตอบสนองข่าวประเสริฐ

ศึกษาพระธรรมกิจการของอัครทูต
คริสตจักร “ต้นแบบ” ตามพระบัญชา
กิจการของอัครทูต 2:37-41

37 เมื่อคนทั้งหลายได้ยินแล้วก็รู้สึกแปลบปลาบใจ จึงกล่าวแก่เปโตรและอัครทูตอื่นๆว่า "พี่น้องเอ๋ย เราจะทำอย่างไรดี"
38ฝ่ายเปโตรจึงกล่าวแก่เขาว่า "จงกลับใจใหม่และรับบัพติศมา {พิธีใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ เล็งถึงการที่พระเจ้าทรงให้อภัยคนบาป} ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคนเพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปของท่านเสีย แล้วท่านจะได้รับพระราชทานพระวิญญาณบริสุทธิ์
39 ด้วยว่าพระสัญญานั้นตกแก่ท่านทั้งหลายกับลูกหลานของท่านด้วย และแก่คนทั้งหลายที่อยู่ไกล คือทุกคนที่องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเราทรงเรียกมาเฝ้าพระองค์"
40 เปโตรจึงกล่าวอีกหลายคำเป็นพยาน และได้เตือนสติเขาว่า "จงเอาตัวรอดจากชาตพันธุ์ที่คดโกงนี้เถิด"
41 คนทั้งหลายที่รับคำของเปโตรก็รับบัพติศมา ในวันนั้นมีคนเข้าเป็นสาวกประมาณสามพันคน
อารัมภบท
สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งในการศึกษาพระธรรมกิจการฯ ซึ่งเป็นคริสตจักรต้นแบบตามพระบัญชาของพระเจ้า เราได้ศึกษากันมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้เป็นตอนที่ 5 แล้วซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากครั้งที่แล้ว คือใน
กจ.2:22-36 คริสตจักรที่สื่อสารข่าวประเสริฐ

ในครั้งนี้จะเป็นผลของคริสตจักรที่ตอบสนองข่าวประเสริฐ ซึ่งเราจะเห็นการเกิดผลอย่างมากมาย ดังต่อไปนี้


1.ข้อสังเกตเพื่อใคร่ครวญ
เมื่ออัครทูตเปโตรสรุปลงท้ายในคราวก่อน ใน ข้อ 36 ว่า "… เหตุฉะนั้น ให้พงศ์พันธุ์อิสราเอลทั้งปวงทราบแน่นอนว่า พระเจ้าได้ทรงยกพระเยซูนี้ ซึ่งท่านทั้งหลายได้ตรึงไว้ที่กางเขนนั้น ทรงตั้งขึ้นให้เป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นพระคริสต์"
คำกล่าวนั้น มีผลต่อใจคนฟังอย่างมาก ในข้อ 37 บอกว่า เมื่อคนทั้งหลายได้ยินแล้วก็รู้สึกแปลบปลาบใจ นั่นคือ ลักษณะการตอบสนอง เมื่อได้ฟังข่าวประเสริฐเรื่องพระคริสต์ คือ การรู้สึก
“สำนึกบาป”
คำว่า “แปลบปลาบใจ” ความหมายในภาษาเดิมให้ความรู้สึกว่าเป็น
ความเจ็บปวดแบบเฉียบพลัน เหมือนถูกเข็ม หรือ ถูกสิ่งที่แหลมคมแทงทะลุเข้าไปถึงในใจ
เป็นลักษณะความเจ็บปวด แบบแสนสาหัส แบบเฉียบพลัน ในที่นี้จึงให้ความหมายว่า ผู้ที่กำลังฟังคำกล่าวของอัครทูตเปโตรขณะนั้นมีผล ทำให้ปวดร้าวอย่างเฉียบพลัน และ ตื่นตระหนกในสิ่งที่อัครทูตเปโตรได้กล่าวไป
เหตุที่ทำให้รู้สึกแปลบปลาบใจนั้น คือ การเป็นผู้ทำให้พระเยซู ต้องถูกมอบให้ถึงแก่ความตาย
เป็นความรู้สึกฟ้องผิดในการกระทำที่น่าละอายของตนที่มอบพระเยซูผู้ทรงเป็นพระคริสต์ พระมาซีฮา หรือ พระผู้ช่วยให้รอดที่พระเจ้าส่งมาให้เพื่อช่วยเหลือพวกเขาแท้ ๆ
เป็นความรู้สึกฟ้องผิดระคนกับความกลัวที่จะต้องถูกพิพากษาลงโทษ โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่า พระเยซูคริสต์ที่พวกเขามีส่วนมอบพระองค์ให้ศัตรู ปลงพระชนม์นั้น ทรงเป็นขึ้นมาจากความตายแล้ว โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่า พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ และ ปัจจุบันทรงประทับอยู่บนสวรรค์
โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่า พระเยซูทรงถูกยกขึ้นให้เป็นทั้งองค์พระเป็นพระเจ้า และ เป็นพระคริสต์ ตามคำกล่าวของอัครทูตเปโตรที่ได้กล่าวใน ข้อ 22-36 ซึ่งได้พิจารณาในครั้งก่อนแล้ว
ผู้อ่านลองคิดดูเมื่อพวกเขาได้รู้ความจริงนี้ และ ความจริงนี้ก็ปรากฏต่อหน้าต่อเขา คือ การที่พวกเขาเห็นบรรดาผู้เชื่อรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ โดยมีหมายสำคัญที่สามารถพูดภาษาท้องถิ่นของพวกเขา ทั้ง ๆ ที่พูด ไม่เป็นมาก่อนเลย
การได้รู้ความจริง และ ประจักษ์ต่อหน้าต่อตาเช่นนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกแปลบปลาบใจ
คนยิวทั้งหลายได้รู้สึกสำนึกในบาปที่พวกเขาได้อายัดผู้ที่ไร้ความผิด มือทั้งสองของเขานั้นเปื้อนโลหิต เพราะได้ทำให้โลหิตของผู้ไร้ความผิด คือ พระเยซูคริสต์ ต้องตก ความรู้สึกฟ้องผิดนี้เองได้กดดันให้จิตใจรู้สึกอึดอัด
สิ่งนี้เป็นไปตามคำพยากรณ์ที่ถูกบันทึกไว้ใน เศคาริยาห์ 12:10 ว่า
"… ดังนั้นเมื่อเขาทั้งหลายมองดูเรา ผู้ซึ่งเขาเองได้แทงเขาจะไว้ทุกข์ เพื่อท่าน เหมือนคนไว้ทุกข์เพื่อบุตรคนเดียวของตน และร้องไห้ อย่างขมขื่นเพื่อท่าน เหมือนอย่างคนร้องไห้เพื่อบุตรหัวปีของตน"
นี่คือ ความรู้สึกปกติของคนที่บาปที่มีเมื่อรู้สึกสำนึก ถ้าคนใดทำผิดแล้วกลับไม่รู้สึกอะไรเลย นั่นไม่ได้แสดงอาการกลับใจจากบาป “การรู้สึกสำนึก” คือ สิ่งที่ควรมี คือ สิ่งที่ควรตอบสนองเมื่อได้ยินข่าวประเสริฐเรื่องของพระคริสต์
คำถามที่ใคร่ครวญ คือ ทำไมต้องรู้สึกสำนึกเมื่อได้ยินข่าวประเสริฐเรื่องพระคริสต์
คำตอบ คือ เพราะข่าวสารของพระคริสต์บ่งบอกให้รู้ว่า มนุษย์เราได้ทำผิดต่อพระเจ้า โดยกบฎ ดื้อดึง ไม่ยอมนบนอบต่อพระเจ้า
ก็เพราะข่าวสารของพระคริสต์ทำให้รู้ว่า เราเป็นคนบาปที่สมควรแก่ พระอาชญา
ก็เพราะข่าวสารของพระคริสต์ทำให้รู้ว่า เราจำเป็นต้องพึ่งพาพระคุณของพระเจ้า
ก็เพราะข่าวสารของพระคริสต์ทำให้เราสำนึกว่า ตนเป็นคนบาปที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากพระคริสต์
แท้จริงแล้ว แม้มนุษย์ทุกคนจะไม่ใช่เป็นผู้ปลงพระชนม์พระเยซู แต่ การปฏิเสธไม่ยอมรับพระองค์นั้น ก็มีค่าเท่ากัน
แม้มนุษย์ทุกคนจะไม่ได้สวมมงกุฎหนามที่ศีรษะของพระองค์ หรือ ดูหมิ่นพระองค์ขณะที่ถูกตรึงที่กางเขนก็ตาม แต่ก็ดูหมิ่นพระองค์มากมายโดยการปฏิเสธไม่ยอมรับพระองค์
แม้มนุษย์ทุกคนไม่ได้แทงที่สีข้างของพระองค์ แต่ก็ทำให้พระองค์ปวดร้าวพระทัยเมื่อปฏิเสธพระองค์
ดังนั้น เมื่อได้ยินข่าวสารของพระคริสต์ว่า พระองค์ต้องสิ้นพระชนม์เพราะบาปผิดของเรา และ เราไม่สามารถหลบหลีกจากโทษทัณฑ์แห่งบาปได้ สิ่งที่ควรตอบสนอง คือ การรู้สึกสำนึกบาป นี่คือ กระบวนการตอบสนองต่อการได้ยินได้ฟังเรื่องราวข่าวสารของพระคริสต์ที่พึงมี ที่จะนำไปสู่การได้รับชีวิตใหม่ ที่จะนำไปสู่การได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า
เพราะด้วยการรู้สึกสำนึกในความผิด ทำให้ขวนขวายที่การช่วยเหลือ
ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ด้วยความรู้สึกแปลบปลาบใจ ซึ่งเป็นอาการของ การรู้สึกสำนึก ปลายข้อ 37 บอกต่อไปว่า..."พี่น้องเอ๋ย เราจะทำอย่างไรดี"
คนที่สำนึกต้องมีอาการของการอยากเปลี่ยนแปลง อยากแก้ไข อยากปรับปรุง
การรู้สึกสำนึกไม่ใช่การตกอยู่ในการปรักปรำ การรู้สึกสำนึกไม่ใช่ยังคงพอใจที่จะอยู่ในสภาพเดิม ๆ พวกเขารู้สึกแปลบปลาบใจเมื่อได้ยินสิ่งที่อัครทูตเปโตรพูด และ ไม่อาจอยู่เฉยได้ จนต้องกล่าวออกมาว่า เราจะทำอย่างไรดี
นั่นคือ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน การสำนึกเป็นกระบวนการในความคิดที่มีเหตุมีผล
เป็นการตัดสินใจอย่างเต็มใจ อย่างยอมรับในความผิด
การสำนึกในความผิดเป็นกระบวนการสู่การกลับใจใหม่เพื่อรับการยกโทษบาป การรู้สึกสำนึกผิดนั้น แตกต่างไปจากการรู้สึกปรักปรำ
การสำนึกผิดนำไปสู่การได้รับอภัยโทษและรับการช่วยเหลือ ในขณะที่ การปรักปรำนั้น หยุดอยู่แต่เพียงความรู้สึกกดดัน และ รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง
ขอบพระคุณพระเจ้าที่พระวจนะพระเจ้าบอกชัดเจนว่า พระเจ้าทรงยอมรับคนที่รู้สึกสำนึกผิด และ พร้อมจะช่วยเหลือเสมอ
สดุดี 34:18...พระเจ้าทรงอยู่ใกล้ผู้ที่จิตใจฟกช้ำ และ ทรงช่วยผู้ที่จิตใจสำนึกผิด สดุดี 51:17...เครื่องบูชาที่พระเจ้าทรงรับได้คือจิตใจที่ ชอกช้ำ จิตใจที่สำนึกผิดและ ชอกช้ำนั้น ข้าแต่พระเจ้า พระองค์มิได้ทรงดูถูก

ข้อคิด คือ การรู้สึกสำนึกผิดอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอที่จะรับความรอด แต่ต้องกลับใจใหม่ด้วย

คำแนะนำในภาคปฎิบัติของอัครทูตเปโตรในข้อ 38 ฝ่ายเปโตรจึงกล่าวแก่เขาว่า "จงกลับใจใหม่และรับบัพติศมา {พิธีใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ เล็งถึงการที่พระเจ้าทรงให้อภัยคนบาป} ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคนเพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปของท่านเสีย แล้วท่านจะได้รับพระราชทานพระวิญญาณบริสุทธิ์
คำว่า “กลับใจใหม่” ความหมายในภาษาเดิมหมายถึง การเปลี่ยนแปลงทิศทางไปสู่ทางใหม่
เป็นคำเดียวกันที่ใช้ใน กิจการฯ 3:19 ซึ่งใช้คำว่า “หันกลับ”
เหตุฉะนั้นท่านทั้งหลายจงหันกลับและตั้งใจใหม่ เพื่อพระเจ้าจะทรงลบล้างความผิดบาปของท่านเสีย เพื่อวาระพักผ่อนหย่อนใจจะได้มาจากพระพักตร์พระเจ้า
นั่นคือ สาระสำคัญของการกลับใจใหม่ เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น สำหรับมนุษย์ทุกคน ไม่มียกเว้น
เพราะพระคัมภีร์บอกชัดเจนว่า ไม่มีใครสักคนได้รับการยกเว้นไม่ต้อง รายงานชีวิตของตนกับพระเจ้า ดังนั้น มนุษย์จึงต้องจัดการกับชีวิตของตนให้เรียบร้อยก่อนถึงวันนั้น
นั่นคือ การหันทิศทางชีวิตให้ถูกต้อง หรือ กลับใจใหม่ นั่นเอง ซึ่งสิ่งนี้มนุษย์ไม่อาจทำได้ด้วยตัวเองหากปราศจากพระคุณพระเจ้า
ตัวอย่างยูดาส แม้ว่าเขาได้รู้สึกสำนึกบาป แต่ไม่เป็นเหตุให้มาถึงซึ่งความรอด เขารู้สึกผิดที่ได้อายัดพระเยซูคริสต์จึงนำเงินที่ได้มาจากการอายัดไปโยนทิ้งในพระวิหารและไปผูกคอตายตกลงมาไส้แตก (มธ.27:5,กจ.1:16-19)แม้จะสำนึกผิดแต่ไม่กลับใจจึงไม่ได้รับการยกโทษบาปจากพระเจ้า
การกลับใจใหม่ที่แท้จริงต้องแสดงออกมาเป็นการกระทำ ตามที่อัครทูตเปโตรเรียกร้องให้ผู้เชื่อกระทพคือการบัพติศมาในน้ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังจากเหตุการณ์นี้มีคนจำนวนมากกลับใจใหม่และรับบัพติศมาในน้ำจำนวนมากประมาณ 3,000 คน ในข้อ 41

2.ข้อคิดสะกิดใจ
จากพระธรรมตอนนี้มีข้อคิดใน2สิ่งคือ

สิ่งแรกคือเราต้องรับช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์(38-39)
สิ่งที่2คือ ไม่รับอิทธิพลของโลก(40-41)

นี่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อได้ยินข่าวสารของพระคริสต์ ซึ่งเราสังเกตได้อย่างชัดเจนตลอดหนังสือกิจการฯ ว่า เมื่อกลับใจใหม่ ไม่เพียงแต่จะรับบัพติศมาด้วยน้ำ ยังรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ เริ่มต้นที่ห้องชั้นบน ผู้เชื่อ 120 คนได้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ
นี่คือ ตัวอย่างของคริสตจักรสมัยแรกที่ผู้เชื่อรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ นอกเหนือจากการรับบัพติศมาด้วยน้ำ
และ หมายสำคัญที่บ่งบอกว่า ได้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ ก็คือ การพูดภาษาต่าง ๆ ดังที่เราได้พิจารณาผ่านมาแล้วในกิจการฯ 2
เมื่อพระวิญญาณเทลงมามีผลทำให้คนเหล่านั้นเริ่มต้นพูดภาษาต่าง ๆ ตามที่พระวิญญาณทรงโปรดให้พูด
อัครทูตเปโตรกล่าวใน ข้อ 39...
ด้วยว่าพระสัญญานั้นตกแก่ท่านทั้งหลายกับลูกหลานของท่านด้วยและแก่คนทั้งหลายที่อยู่ไกล คือทุกคนที่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของเราทรงเรียกมาเฝ้าพระองค์"
การรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ จึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่ตามมาเมื่อ ตอบสนองข่าวสารของพระคริสต์ ดังนั้น หากเราจะเป็นคนหนึ่งที่ตอบสนองต่อข่าวสารของพระคริสต์ อย่างสมบูรณ์ จึงต้องตอบสนองเชื่อฟังด้วยการรับพระวิญญาณบริสุทธิ์
การรับพระวิญญาณบริสุทธิ์นี้ เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิตคริสเตียน แต่หลังจากนั้น ต้องมีการเต็มล้นด้วยพระวิญญาณเสมอ ๆ จนเป็นลักษณะชีวิตของเรา
ดังคำสั่งใน เอเฟซัส 6:18 ที่บอกว่า จงเต็มด้วยพระวิญญาณ ซึ่ง หมายถึงประสบการณ์ที่ควรเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยไป
ฉะนั้นแต่ก่อนจะเต็มล้นนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่จำเป็นมากในชีวิตคริสเตียน มีผลทำให้เรารู้จักพระเยซูคริสต์มากยิ่งขึ้น ดังที่พระเยซูได้ตรัสไว้ใน ยอห์น 15:26 ว่า …
แต่เมื่อองค์พระผู้ช่วยที่เราจะใช้มาจากพระบิดาหาท่านทั้งหลาย คือ พระวิญญาณแห่งความจริงผู้ทรงมาจากพระบิดานั้น ได้เสด็จมาแล้ว พระองค์ก็จะทรงเป็นพยานให้แก่เรา
มีผลทำให้เรานมัสการพระเจ้าด้วยจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
ยอห์น 4: 24 บอกว่า พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ และผู้ที่นมัสการพระองค์ ต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง
มีผลในการใช้ของประทานเพื่อการรับใช้ (1คร.12:8-11)
มีผลทำให้สื่อข่าวสารพระคริสต์ออกไปอย่างมีฤทธิ์เดช (กจ.1:8)
มีผลทำให้เราเข้าใจพระคัมภีร์ได้ดียิ่งขึ้น (ยน.14:26,16:13)



มีผลต่อการดำเนินชีวิตโดยสำแดงผลของพระวิญญาณทั้ง 9 ประการ(กท.5:22-23)


มีผลทำให้รับการทรงนำจากพระเจ้าได้ดียิ่งขึ้น ดังประสบการณ์ของ คริสตจักรในยุคแรกที่รับการทรงนำ(กจ.13:2)
การรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ และ มีชีวิตที่เต็มล้นด้วยพระวิญญาณ นี่เอง จึงเป็นเคล็ดลับให้เราดำเนินชีวิตอย่างมีชัยชนะ
ดังนั้น จึงไม่ควรมีใครสักคนที่ได้รับข่าวสารของพระคริสต์แล้วปฏิเสธ ไม่ตอบสนองอย่างครบถ้วน ตอบสนองอย่างครบถ้วน จึงต้องไม่เพียงแต่รู้สึกสำนึกในความผิด กลับใจใหม่ ยอมรับการยกโทษแสดงออกด้วยการรับบัพติศมาด้วยน้ำ ยังต้องรับ บัพติศมาด้วยพระวิญญาณด้วย
นอกจากนี้สิ่งที่เป็นข้อคิดอีกประการคือ การไม่รับอิทธิพลของโลก
แท้จริงแล้วคริสตชนควรจะส่งอิทธิพลที่ดีไปสู่โลก เป็นเกลือและแสงสว่างแห่งโลก(มธ.5) แต่เราไม่ควรให้โลกมีอิทธิพลเหนือเรา เปรียบเทียบภาพคือ คริสตชนต้องเป็นเรือที่อยู่บนน้ำแต่ไม่ใช่ให้น้ำมาอยู่บนเรือ ไม่เช่นนั้นเรือก็จะอับปางได้
1ทิโมธี 1:19 จงยึดความเชื่อไว้ และมีจิตสำนึกว่าตนชอบ ซึ่งข้อนี้บางคนได้ละทิ้งเสีย ความเชื่อของเขาจึงอับปางลง
ข้อ 40 บอกว่า เปโตรก็กล่าวอีกหลายคำเป็นคำพยาน จากนั้นก็ได้ เตือนสติว่า "จงเอาตัวรอดจากชาตพันธุ์ที่คดโกงนี้เถิด"
คำว่า "คดโกง’"ให้ความหมายว่า วิปริต วิปลาส คดเคี้ยว มาจากคำที่ให้ความหมายว่า บกพร่อง ไม่ครบ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ลูกา 3:5 ใช้คำว่า “ทางคด” เมื่อกล่าวถึงงานของยอห์นซึ่งเป็นผู้ เตรียมทางให้พระคริสต์ว่า หุบเขาทุกแห่งจะถมให้เต็ม ภูเขาและเนินทุกแห่งจะให้ต่ำลง ทางคดจะกลายเป็นทางตรง และทางที่สูง ต่ำๆ จะเป็นทางราบ
ส่วนความหมายของคำว่า “เอาตัวรอด” ในภาษาเดิมหมายถึง การรักษาตัวให้ปลอดภัย
นี่คือ สิ่งสำคัญของคริสตจักรที่ตอบสนองข่าวประเสริฐ คือ การไม่รับอิทธิพลของโลก แต่ไม่ได้หมายความว่า แยกตัวออกจากกันไม่เกี่ยวข้องกัน
เพราะเราพบความจริงว่า ผู้เชื่อในยุคนั้น ได้มีบทบาทสำคัญนำคนมากมายมารับพระคุณความรักของพระเจ้า
ถ้าไม่ได้นำตัวออกไปส่งอิทธิพลที่ดีจะนำคนมากมายมาพบพระคุณพระเจ้าได้อย่างไร
ดังนั้น การที่อัครทูตเปโตรบอกเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ให้เราแยกตัวออก ไม่เกี่ยวข้องข้องแวะกับคนในโลกนี้ แต่หมายถึง ไม่ให้รับอิทธิพลที่ไม่ดีตรงกันข้ามให้ส่งอิทธิพลที่ดีออกไป
1 ยอห์น 2:15-17 บอกว่า “อย่ารักโลกหรือสิ่งของในโลก” หมายความว่า อย่ามีใจพันผูกเสน่หาทั้งคนในโลกและสิ่งของในโลก เพราะถ้ารักโลก ความรักต่อพระบิดาก็ไม่อยู่ในผู้นั้น
อีกทั้งโลกกับสิ่งยั่วยวนในโลกก็กำลังล่วงไป ไม่จีรังยั่งยืน
ในวันนี้เราต้องพึ่งพาพระวิญญาณบริสุทธฺ์ิ เพราะเป็นสิ่งที่พระเยซูคริสต์มอบไว้สำหรับผู้เชื่อทุกคนเป็นดังผู้ช่วยในการดำเนินชีวิต
คำถามที่เราควรจะใคร่ครวญในวันนี้คือ
1.ในวันนี้เราได้พึ่งพาพระวิญญาณบริสุทธฺ์ในการดำเนินชีวิตในทุกเรื่องหรือไม่ เราต้องเปิดโอกาสให้พระวิญญาณทำงานผ่านชีวิตของเรา


2.อิทธิพลของโลกในปัจจุบัน มีสิ่งใดบ้างที่มีผลกระทบต่อชีวิตของเรา ทำให้เราห่างไกลจากความเชื่อในพระเจ้า เมื่อเราทราบแล้วให้เราออกห่างจากสิ่งเหล่านั้น


3.ข้อสรุปเพื่อประยุกต์ใช้
ผมขอสรุปหลักการจากพระธรรมตอนนี้เป็นข้อๆ ดังนี้
1.กลับใจใหม่ยอมรับการยกโทษบาป(37-38)
2.รับช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์(38-39)
3.ไม่รับอิทธิพลของโลก(40-41)

ในวันนี้ขอให้เราเป็นคริสตจักรที่ตอบสนองต่อข่าวประเสริฐที่กลับใจใหม่ยอมรับการยกโทษจากพระเจ้า รับการช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธุิ์ และไม่รับอิทธิพลของโลกนี้มาทำให้เราห่างไกลจากความเชื่อ เราต้องรักษาชีวิตของเราให้รอดปลอดภัยจากสิ่งชั่วร้าย การที่เราถูกเลือกออกมาเป็นชุมชนคริสตจักรก็เป็นสิ่งที่ปกป้องเราให้พ้นจากสิ่งชั่วร้าย และคริสตจักรยังเป็นชุมชนแห่งพระพรที่เมื่อเราได้ผูกพันชีวิตของเรา เราจะเป็นผู้ที่ได้รับพระพร


ในสัปดาห์หน้า เราจะมาติดตามต่อในเรื่อง คริสตจักรที่เป็น"ชุมชนแห่งพระพร"ร่วมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น