12 มกราคม 2555

Acts1:12-26_คริสตจักรที่ยอมจำนนตามพระบัญชา (Total surrender)

ศึกษาพระธรรมกิจการของอัครทูต
คริสตจักร “ต้นแบบ” ตามพระบัญชา


กจ.1:12-26
12 แล้วอัครทูตจึงลงจากภูเขามะกอกเทศซึ่งอยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม ระยะทางเท่ากับระยะที่อนุญาตให้คนเดินในวันสะบาโต กลับไปกรุงเยรูซาเล็ม

13 เมื่อเข้ากรุงแล้วเขาเหล่านั้นจึงขึ้นไปยังห้องชั้นบนที่เคยพักอยู่นั้น มีเปโตร ยอห์น ยากอบกับอันดรูว์ ฟีลิปกับโธมัส บารโธโลมิวกับมัทธิว ยากอบบุตรอัลเฟอัส ซีโมน พรรคชาตินิยม กับยูดาสบุตรยากอบ
14 พวกเขาร่วมใจกันขะมักเขม้นอธิษฐานพร้อมกับพวกผู้หญิง และมารีย์มารดาของพระเยซูและพวกน้องชายของพระองค์ด้วย
15 คราวนั้นเปโตรจึงได้ยืนขึ้นท่ามกลางพี่น้องทั้งหลาย ซึ่งประชุมกันอยู่ มีรวมทั้งสิ้นประมาณร้อยยี่สิบคนและกล่าวว่า
16 "ดูก่อนพี่น้องทั้งหลายจำเป็นจะต้องสำเร็จตามพระคัมภีร์ ซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ตรัสไว้โดยโอษฐ์ของกษัตริย์ดาวิด ด้วยเรื่องยูดาส ซึ่งเป็นผู้นำทางคนที่ไปจับพระเยซู 17 เพราะเขานับยูดาสเข้าในพวกเรา และได้รับส่วนในภารกิจนี้
18 ฝ่ายผู้นี้ได้เอาบำเหน็จแห่งการผิดของตนไปซื้อที่ดิน แล้วก็ล้มคะมำลงแตกกลางตัวไส้พุงทะลักออกมาหมด
19 เหตุการณ์นี้คนทั้งปวงที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มก็รู้ เขาจึงเรียกที่ดินแปลงนั้นตามภาษาของเขาว่า อาเคลดามา คือนาเลือด
20 ด้วยมีคำเขียนไว้ในพระธรรมเพลงสดุดีว่า ขอให้ที่อยู่ของเขาร้างเปล่า และอย่าให้มีผู้ใดอยู่ที่นั่น และ ขอให้อีกผู้หนึ่งมายึดตำแหน่งของเขา
21 เหตุฉะนั้น ในบรรดาคนที่เป็นพวกเดียวกับเราเสมอตลอดเวลาที่พระเยซูเจ้าได้เสด็จเข้าออกกับเรา
22 คือตั้งแต่บัพติศมาของยอห์น จนถึงวันที่พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นไปจากเรา คนหนึ่งในพวกนี้จะต้องเป็นพยานกับเรา ว่าพระองค์ได้ทรงคืนพระชนม์แล้ว"
23 เขาทั้งหลายจึงเสนอชื่อคนสองคนคือ โยเซฟที่เรียกว่าบารซับบาส มีนามสกุลว่ายุสทัสและมัทธีอัส
24 แล้วพวกศิษย์จึงอธิษฐานว่า "พระองค์ผู้ทรงทราบใจของมนุษย์ทั้งปวงเจ้าข้า ขอทรงสำแดงว่าในสองคนนี้พระองค์ทรงเลือกคนไหน
25 ให้รับส่วนในการปรนนิบัตินี้ และรับตำแหน่งเป็นอัครทูตแทนยูดาส ซึ่งได้หลงจากหน้าที่ไปยังที่ของตน"
26 เขาทั้งหลายจึงจับสลากกัน และสลากนั้นได้แก่มัทธีอัสจึงนับเขาเข้ากับอัครทูตสิบเอ็ดคนนั้น

อารัมภบท

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2สำหรับการที่เราได้มาศึกษาพระธรรมกิจการของอัครทูตด้วยกัน ในครั้งที่แล้วเราศึกษาในข้อ 1-11 คริสตจักรที่น้อมรับพระบัญชา(Total commitment)ซึ่งเป็นการน้อมรับพระบัญชาจากพระเยซูคริสต์ให้ออกไปเป็นพยานเรื่องข่าวประเสริฐจนสุดปลายแผ่นดิน และได้มองดูพระเยซูขณะที่พระองค์กำลังเสด็จขึ้นสู่สวรรค์และทูตสวรรค์ของพระเจ้าได้มาบอกว่า พระองค์จะเสด็จกลับมาเหมือนอย่างที่พวกเขาเห็นพระองค์เสด็จขึ้นไปนั้น ครั้งนี้เราจะมาศึกษาต่อในข้อ 12-26ด้วยกัน สำหรับหัวข้อในครั้งนี้ ผมขอตั้งชื่อว่า "คริสตจักรที่ยอมจำนนตามพระบัญชา (Total surrender)" นั่นเป็นเพราะเหล่าอัครทูตได้สำแดงการเชื่อฟังแบบยอมจำนนอย่างสิ้นเชิงต่อพระบัญชาของพระคริสต์ที่ให้พวกเขารอคอยรับฤทธิ์เดชเสียก่อนที่จะไปทำการประกาศข่าวประเสริฐ พวกเขาไม่ได้ออกไปทำการด้วยยุทธวิธีของมนุษย์แต่ไปด้วยยุทธศาสตร์ของพระเจ้า นั้นคือการเคลื่อนไปตามการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์
การเชื่อฟังเช่นนี้เอง ทำให้พวกเขาตอบสนองแผนการของพระเจ้าได้ ทำให้พวกเขามีชัยเหนือการต่อต้านขัดขวาง

การเต็มล้นด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้นส่งผลถึงลักษณะชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตามผลพระวิญญาณ(กท.5:22-23)และการรับใช้ที่เปลี่ยนไปโดยการเคลื่อนตามการทรงนำและรับใช้ตามของประทานพระวิญญาณ(Charisma)ที่เป็นดั่งของขวัญที่พระเจ้าทรงมอบให้กับเราโดยพระคุณ ดังนั้น“ชีวิตเป็นของขวัญที่พระเจ้าประทานให้เรา แต่การดำเนินชีวิตเป็นของขวัญที่เรามอบถวายแด่พระเจ้า” สิ่งที่สำคัญคือการยอมจำนนอย่างสิ้นเชิงให้พระองค์ทรงใช้ตามแผนการของพระองค์ ผมเชื่อว่าทุกท่านคงคิดเช่นนั้นใช่ไหมครับ

1.ข้อสังเกตเพื่อใคร่ครวญ
12 แล้วอัครทูตจึงลงจากภูเขามะกอกเทศซึ่งอยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็มระยะทางเท่ากับระยะที่อนุญาตให้คนเดินในวันสะบาโตกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม
13 เมื่อเข้ากรุงแล้วเขาเหล่านั้นจึงขึ้นไปยังห้องชั้นบนที่เคยพักอยู่นั้น มีเปโตร ยอห์น ยากอบกับอันดรูว์ ฟีลิป กับโธมัสบารโธโลมิวกับมัทธิว ยากอบบุตรอัลเฟอัส ซีโมนพรรคชาตินิยม กับยูดาสบุตรยากอบ
14 พวกเขาร่วมใจกันขะมักเขม้นอธิษฐานพร้อมกับพวกผู้หญิงและมารีย์มารดาของพระเยซูและพวกน้องชายของพระองค์ด้วย

สิ่งที่น่าสังเกตคือระยะทางที่อนุญาตให้คนเดินในวันสะบาโตตามที่ข้อนี้บอกไว้ เป็นบัญญัติที่คนยิวถือปฏิบัติต่อ ๆ กันมา โดยระยะทางที่กำหนดให้สามารถเดินทางได้ในวันสะบาโตนั้น ประมาณ 2 พันก้าวหรือ 7 เฟอล็อง ซึ่ง 8 เฟอล็อง เท่ากับ 1 ไมล์ นั่นก็คือ ประมาณ 1 ไมล์ หรือประมาณ 1.6 กิโลเมตร
ระยะทางนี้ไม่ได้ถูกกำหนดด้วยธรรมบัญญัติของโมเสส แต่ถูกกำหนดขึ้นภายหลังโดยครูสอนศาสนาของชาวยิว มาตรฐานที่กำหนด และได้กลายเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อๆ กันมานี้
มีความเป็นมาว่า ขณะเมื่อคนอิสราเอลเดินทางออกมาจากประเทศ อียิปต์ ได้มีการตั้งเต็นท์รอบๆ พลับพลา โดยไม่มีส่วนใดของแค้มป์ที่มีระยะทางมากกว่า 2 พันก้าวจากพลับพลา หลักการเบื้องหลังคือ "อย่าก้าวออกให้ไกลห่างจากการทรงสถิตของพระเจ้า" ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้าด้วยระยะห่างนี้เอง ที่พวกเขาอนุญาตให้เดินทางเพื่อนมัสการได้ ในวันสะบาโตกฎเกณฑ์นี้จึงถูกยึดถือปฏิบัติกันต่อๆ มา แม้ปัจจุบันก็ยังมีคนยิวที่เคร่งครัดในกฎเกณฑ์นี้อยู่
จะเห็นได้ว่าหากไม่เข้าใจหลักการเบื้องหลัง ก็จะทำเป็นรูปแบบ พิธีกรรมแต่ขาดชีวิตสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไร
ซึ่งสิ่งเหล่านี้พระเยซูคริสต์ได้กล่าวโทษไว้ใน มธ.15:8-9
8 ประชาชนนี้ให้เกียรติเราแต่ปาก ใจของเขาห่างไกลจากเรา
9 เขานมัสการเราโดยหาประโยชน์มิได้ ด้วยเอาบทบัญญัติของมนุษย์มาตู่ว่า เป็นพระดำรัสสอนของพระเจ้า
ในข้อ 12 บอกว่า พวกเขาลงจากภูเขามะกอกเทศ ซึ่งอยู่ใกล้เยรูซาเล็ม นั่นคือ ลักษณะการตอบสนองแผนการพระเจ้าแสดงออกเป็น “การเชื่อฟังแบบยอมจำนนต่อพระบัญชา” เพราะพระเยซูได้กำชับพวกเขาก่อนที่จะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ว่า อย่าเพิ่งออกไปจากกรุงเยรูซาเล็มจนกว่าจะได้รับตามพระสัญญา คือ ก่อนที่จะได้รับพระราชทานฤทธิ์เดชพระวิญญาณบริสุทธิ์

หากเรากลับไปทบทวนในข้อที่ 4ของบทที่1จะเห็นว่าพระเยซูทรงกำชับไว้อย่างชัดเจน
กจ.1:4เมื่อพระองค์ได้ทรงพำนักอยู่กับอัครทูต จึงกำชับเขามิให้ออกไปจากกรุงเยรูซาเล็ม แต่ให้คอยรับตามพระสัญญาของพระบิดา คือ พระองค์ตรัสว่า "ตามที่ท่านทั้งหลายได้ยินจากเรานั่นแหละ
การที่พวกเขาไม่ได้ออกไปจากเยรูซาเล็ม จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีความตั้งใจที่จะตอบสนองแผนการของพระเจ้าด้วยความเชื่อฟัง เพราะถ้าพวกเขาไม่เชื่อฟัง ดื้อรั้น ดึงดัน รีบออกไปจากกรุงเยรูซาเล็มก่อนที่จะได้รับพระราชทานฤทธิ์เดชจะเกิดอะไรขึ้น
เราเห็นความจริงนี้ชัดเจนนับตั้งแต่พระเยซูถูกจับกุม พระคัมภีร์บอกว่า พวกสาวกก็กระจัดกระจายหลบหนีไปด้วยความกลัว แม้แต่อัครทูตเปโตรพี่ใหญ่ยังปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซู ถึง3ครั้ง ดังนั้น ถึงแม้ว่า พระเยซูจะเป็นขึ้นจากความตายแล้ว และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์แล้ว ซึ่งเป็นการประกาศชัยชนะอันยิ่งใหญ่แล้วก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ตามที่พระองค์ได้ตรัสสัญญาไว้ ฉะนั้นการยอมจำนนมาจากใจที่ชื่อฟังแบบสุดใจ
ตัวอย่างจากอับราฮัมเป็นแบบแห่งการเชื่อฟังแบบยอมจำนนโดยสิ้นเชิง
(ฮบ.11:8)เพราะอับราฮัมมีความเชื่อ ฉะนั้นเมื่อพระเจ้าทรงเรียกให้ท่านออกเดินทาง ไปยังที่ซึ่งท่านจะรับเป็นมรดก ท่านได้เชื่อฟังและได้เดินทางออกไปโดยหารู้ไม่ว่าจะไปทางไหน แม้ไม่เข้าใจในแผนการของพระเจ้าให้ถวายบุตรสุดที่รัก แต่อับราฮัมก็เลือกที่จะเชื่อฟังแบบยอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น
ในที่สุด เพราะการเชื่อฟัง ท่านได้มีส่วนทำให้คนมากมายหลายชาติ ได้รับพระพรเพราะท่าน ซึ่งเป็นดังพระสัญญาใน (ปฐก.12:2-3)
"วีรบุรุษแห่งความเชื่อ เชื่อฟังพระเจ้าทำให้แผนการพระเจ้าสำเร็จฉันใด ให้เราเป็นแบบอย่างการเชื่อฟังเพื่อทำให้แผนการพระเจ้าสำเร็จฉันนั้น"
การเชื่อฟังเช่นนี้คือการ จึงเป็นลักษณะของคนที่ตอบสนองแผนการของพระเจ้า พระวจนะพระเจ้าใน สภษ.3:5-7 กล่าวว่า…
5จงวางใจในพระเจ้าด้วยสุดใจของเจ้า และอย่าพึ่งพา ความรอบรู้ของตนเอง
6จงยอมรับรู้พระองค์ในทุกทางของเจ้า และพระองค์จะทรงกระทำให้วิถีของเจ้าราบรื่น
7อย่าคิดว่าตนฉลาด จงยำเกรงพระเจ้า และหันจากความชั่วร้าย
เพราะถ้าเราพิจารณาต่อไปหลังจากนี้ เมื่ออัครทูตทั้งหลายออกไปทำการของพระเจ้าจึงไปด้วยความกล้าหาญเพราะฤทธิ์เดชของพระวิญญาณที่อยู่ภายในเขา



2.ข้อคิดสะกิดใจ
ความลับจากคำอธิษฐานในห้องชั้นบน(Upper room)
ข้อ 13 กล่าวต่อไปว่า
เมื่อเข้ากรุงแล้วเขาเหล่านั้นจึงขึ้นไปยังห้องชั้นบนที่เคยพักอยู่นั้น...ที่ซึ่งพวกเขาเดินทางไป และ รวมตัวอยู่ด้วยกันคือ “ห้องชั้นบน” ข้อนี้บอกว่า เป็นที่ที่พวกเขาเคยพักอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ว่า เป็นชั้นบนบ้านของ ยอห์น มาระโก
ดังที่ กจ.12:12 บันทึกไว้ว่า …
เมื่อเปโตรคิดอย่างนั้นแล้วก็มาถึงตึกของมารีย์มารดาของยอห์นผู้มีชื่ออีกว่ามาระโก ที่นั่นมีหลายคนได้ประชุมอธิษฐานกันอยู่
และเป็นไปได้ที่อาจเป็นห้องที่พระเยซูได้ร่วมรับประทานอาหารกับเหล่าสาวกเป็นครั้งสุดท้าย
ลก 22:12 เจ้าของเรือนจะชี้ให้ท่านเห็นห้องใหญ่ชั้นบนที่ตกแต่งไว้แล้ว ที่นั่นแหละจงจัดเตรียมไว้เถิด"
ห้องชั้นบนนี้ อาจเป็นทั้งห้องสำหรับการนมัสการ และ เป็นบ้านของหนึ่งในเหล่าสาวก ซึ่งเป็นที่ที่พวกเขาเคยชินที่จะพบกัน ณ ห้องชั้นบนนั้น ข้อนี้บรรยายว่า มีอัครสาวกอยู่กันพร้อมหน้า 11 คน นอกจากนั้น ยังมีพวกผู้หญิง มีมารีย์มารดาของพระเยซู และ น้อง ๆ ของพระองค์อีกด้วย ข้อ 14 บอกว่า
พวกเขาร่วมใจกันขะมักเขม้นอธิษฐานพร้อมกับพวกผู้หญิง และ มารีย์มารดาของพระเยซู และพวกน้องชายของพระองค์ด้วย
คำว่า “ร่วมใจ” ความหมายในภาษาเดิม หมายถึงการมีความคิดอย่างเดียวกัน คำนี้พบใน รม. 15:6 ภาษาไทยแปลว่า “พร้อมใจกัน” เราจึงเห็นภาพอย่างชัดเจนถึงการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในอธิษฐาน ข้อนี้บอกว่า …ร่วมใจกันขะมักเขม้นอธิษฐาน
คำว่า “ขะมักเขม้น” แสดงให้เห็นถึง ความขยันพากเพียร อุตสาหะ ยึดมั่น แน่วแน่ และ สม่ำเสมอ นั่นแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่อธิษฐานชั่วครั้งชั่วคราว ชั่วครู่ชั่วยาม แต่อธิษฐานอย่างสม่ำเสมอ อธิษฐานอย่างพากเพียร อธิษฐานอย่างแน่วแน่ อย่างเอาจริงเอาจัง ระหว่างรอคอยรับ พระวิญญาณบริสุทธิ์ตามพระสัญญา
นี่เองที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึง “ความเชื่อฟังแบบยอมจำนน” อย่างสุดใจ
เป็นการแสดงออกของการเชื่อฟังพระดำรัสของพระเยซูที่บอกให้ รอคอยจนกว่าจะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ตามที่พระสัญญา
“เชื่อฟัง” ข้อ 15-20 ชี้ให้เห็นว่ายังตั้งใจ“ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า”
เริ่มต้นใน ข้อ 15 ได้บรรยายว่า … คราวนั้นเปโตรจึงได้ยืนขึ้นท่ามกลางพี่น้องทั้งหลาย ซึ่งประชุมกันอยู่ มีรวมทั้งสิ้นประมาณร้อยยี่สิบคนและกล่าวว่า..
แม้ข้อนี้จะบันทึกต่อจากข้อ 14 แต่ก็ไม่ได้เป็นเหตุการณ์เดียวกัน เพราะเปโตรไม่ยืนอยู่ต่อหน้าสาวก แต่ยืนต่อหน้าผู้เชื่อ 120 คน “เปโตรได้ยืนขึ้นท่ามกลางพี่น้องทั้งหลาย”
นี่คือ ภาพความเป็นผู้นำที่โดดเด่นของเปโตรในท่ามกลางสาวก
เป็นตามพระดำรัสที่พระเยซูได้บอกกับเปโตรใน มธ.16:18 ว่า …ฝ่ายเราบอกท่านว่าท่านคือเปโตร และบนศิลานี้ เราจะสร้างคริสตจักรของเราไว้ และพลังแห่งความตายจะมีชัยต่อคริสตจักรนั้นหามิได้
ข้อ 16 เปโตรกล่าวว่า…ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย จำเป็นจะต้องสำเร็จตามพระคัมภีร์ซึ่ง พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ตรัสไว้โดยโอษฐ์ของกษัตริย์ดาวิด ด้วยเรื่องยูดาส ซึ่งเป็นผู้นำทางคนที่ไปจับพระเยซู
ที่ว่า “จำเป็นต้องสำเร็จตามพระคัมภีร์” นั้น สำเร็จอย่างไร
เปโตรได้อ้างถึง สิ่งที่ตรัสโดยโอษฐ์ของดาวิด ซึ่งคนยิวมักเรียกหนังสือสดุดีทั้งเล่มว่า เป็นสดุดีของดาวิด
และ หนังสือสดุดีที่เปโตรอ้างถึง คือ สดุดี 69 และ สดุดี 109 ซึ่งได้ พูดถึงการทนทุกข์และ การถูกทรยศของชนอิสราเอลทั้งชาติ
หนังสือสดุดี 2 ตอนนี้ เป็นคำพยากรณ์ที่เล็งถึงพระคริสต์ที่ต้อง ถูกทรยศและต้องรับทุกข์ เพราะยูดาส
ข้อ 17 เปโตรบอกว่า …เพราะเขานับยูดาสเข้าพวกเรา และเขาได้รับส่วนในภารกิจนี้
ยูดาสเป็นคนหนึ่งที่ได้รับการทรงเลือกจากพระเยซูให้เป็นอัครสาวก ยน.6:70 พระเยซูกล่าวถึงยูดาสว่า เป็นมารร้าย พระเยซูตรัสตอบเขาว่า "เราเลือกพวกท่านสิบสองคนมิใช่หรือ และคนหนึ่งในพวกท่านเป็นมารร้าย"
พระเยซูรู้จักลักษณะชีวิตทั้งหมดของยูดาสเมื่อพระองค์เลือกเขา
ยน. 2:25 บอกเช่นนั้นว่า …เพราะพระองค์ทรงรู้จักมวลมนุษย์ และสำหรับพระองค์ไม่มีความจำเป็นที่จะมีพยานในเรื่องมนุษย์ ด้วยพระองค์เองทรงทราบว่าอะไรมีอยู่ในมนุษย์ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ยูดาสถูกกำหนดให้เป็นคนทรยศ ยูดาสมีเสรีภาพในการเลือกดำเนินชีวิต แต่เขาเลือกที่จะทรยศพระเยซู ยูดาสเลือกที่จะเป็นคนนำทางคนที่ไปจับพระเยซู
ฉันใดก็ฉันนั้น เราไม่อาจอ้างว่า หลายสิ่งที่เป็นอยู่ในชีวิตนั้น มาจากพระเจ้าลิขิต หรือ ที่คนทั่วไปบอกว่า ฟ้าลิขิต ดวงชะตากำหนด
เพราะแม้จริงอยู่หลายสิ่งมาโดยการอนุญาตและการทรงนำของพระเจ้า แต่ก็มีหลายสิ่งที่มาจากตัวของเราเป็นผู้เลือกตัดสินเอง
เพราะพระเจ้าสร้างมนุษย์มาในพระฉาย เราจึงมีเสรีภาพในอารมณ์ ในความรู้สึกนึกคิด และ ในการตัดสินใจ บ่อยครั้ง พระเจ้าไม่ได้เห็นด้วยในสิ่งที่เราเลือก ในสิ่งที่เราคิด ในสิ่งที่เราตัดสินใจ หลายครั้งพระองค์ก็ประทานพระคุณเพื่อช่วยปกป้องเรา
ปลายทางของพระเจ้าคือชีวิตนิรันดร์ แล้วปลายทางของเราซึ่งเป็นทางตรงข้ามกับพระเจ้า จะเจออะไรที่ปลายทางนั้น
เพราะยูดาสเลือกที่จะไปในทางของตนเอง แม้ว่า พระเยซูได้พยายามเตือนสติทุกช่องทาง แต่ยูดาสก็หาได้รู้สึกผิดและกลับใจทันทีไม่คงปล่อยให้ความผิดครอบงำใจ และ ให้โอกาสมารเข้าทำงานในชีวิต
ยูดาสไม่ได้เกิดมาเพื่อมาเป็นผู้อายัดพระเยซู แต่เขาไม่เชื่อฟังพระองค์อย่างสุดใจทำให้เขาทำผิดพลาด วึ่งเป็นหนทางไปสู่ตวามตาย
พระคัมภีร์ได้บันทึกเหตุการณ์ที่พระเยซูเตือนสติยูดาสครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น ยน.6:70-71 13:21-26 การเตือนสติครั้งนี้เป็นการเตือนอย่างเจาะจง แต่ยูดาสก็ไม่กลับใจอยู่ดี
นั่นคือ กระบวนการใจที่แข็งกระด้างของยูดาส ที่นำไปสู่การเป็นผู้ ทรยศพระเยซู
กจ. 1 ข้อ 18-19 บันทึกต่อไปว่า …
18 ฝ่ายผู้นี้ได้เอาบำเหน็จแห่งการผิดของตนไปซื้อที่ดิน แล้วก็ล้มคะมำลงแตกกลางตัวไส้พุงทะลักออกมาหมด
19 เหตุการณ์นี้คนทั้งปวงที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มก็รู้ เขาจึงเรียกที่ดินแปลงนั้นตามภาษาของเขาว่า อาเคลดามา คือ นาเลือด

ในพระธรรม 2ข้อนี้ ไม่ใช่เป็นคำพูดของเปโตร แต่เป็นการกล่าวขยายความ โดยลูกาเพื่อให้ผู้รับจดหมาย คือ เธโอฟีลัส ซึ่งเป็นคนกรีกได้เข้าใจ ทั้งนี้เราทราบได้จากข้อความที่ว่า อาเคลดามา คือ นาเลือด เนื่องจากคำว่า "อาเคลดามา" เป็นภาษาอารเมค ที่ผู้ฟังเปโตรเข้าใจ อยู่แล้วไม่จำเป็นต้องแปลความอีก
บั้นปลายชีวิตของคนที่ไม่ตอบสนองต่อ การเตือนสติของพระเยซูอย่างยูดาสเป็นเช่นไร
ยูดาสผู้ทรยศพระเยซูต้องจบชีวิตลงอย่างน่าสลดใจ
เพราะบั้นปลายของคนที่ใจแข็ง ไม่ยอมรับการเตือนสติ พระคัมภีร์ใน สภษ.29:1บุคคลที่ถูกตักเตือนบ่อยๆ แต่ยังแข็งคอ ประเดี๋ยวคอจะหักรักษาไม่ได้
ข้อ 20ของกจ.1เปโตรกล่าวอ้างถึงหนังสือสดุดีอีกว่า ด้วยมีคำเขียนไว้ในพระธรรมเพลงสดุดีว่า ขอให้ที่อยู่ของเขา ร้างเปล่า และอย่าให้มีผู้ใดอยู่ที่นั่น และ ขอให้อีกผู้หนึ่งมายึดตำแหน่งของเขา
นั่นคือ ข้อความที่อ้างอิงมาจากหนังสือ สดุดี 69:25 และ 109:8
นี่เป็นคำพยากรณ์ที่แสดงถึงพระประสงค์ของพระเจ้าที่จำเป็นต้องมี ผู้หนึ่งมาแทนยูดาส
ดังนั้น การที่เปโตรอ้างถึงหนังสือสดุดีเช่นนี้ จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า
พระประสงค์ของพระเจ้าในที่นี้ คือ การให้หาคนหนึ่งมาแทนผู้ทรยศ
เป็นข้อคิดแก่เราให้เรารู้ว่าพระประสงค์ของพระเจ้าได้อย่างชัดเจนในพระวจนะ แท้จริงแล้วการดำเนินชีวิตที่จะรู้น้ำพระทัยพระเจ้านั้น ไม่ใช่เรื่องเร้นลับซับซ้อนแต่อย่างใดเลย ตราบที่เราเดินอยู่ในน้ำพระทัยพระเจ้า คนที่เดินอยู่ในน้ำพระทัยพระเจ้า ไม่พยายามหลบหลีกแผนการพระเจ้า
แต่มีท่าทีภายในที่พร้อมเสมอที่จะทำตามพระประสงค์พระเจ้า การทรงนำก็จะชัดเจน เพราะใจเปิดอยู่แล้ว เปโตรรู้น้ำพระทัยหรือพระประสงค์ในกรณีที่ต้องหาคนมาแทนยูดาส ก็รู้มาจากสิ่งที่มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้วคำตอบมีอยู่ในพระวจนะพระเจ้าอยู่แล้ว
ถ้าเรายังไม่สามารถตอบสนองสิ่งที่พระเจ้าพูดไว้ในพระคัมภีร์ก็ยากยิ่งที่เราจะรู้แผนการและน้ำพระทัยพระเจ้าในชีวิตได้
ขอให้เราเป็นคนที่ใฝ่ใจในพระวจนะแล้วชีวิตของเราจะไม่เดินออกนอกเส้นทางแห่งแผนการของพระเจ้า
ลองถามตัวของท่านเองดังนี้นะครับ (ผู้อ่านสามารถตั้งคำถามเพิ่มเติมเองได้)
1.การเชื่อฟังแบบยอมจำนนอย่างสิ้นเชิง นำมาซึ่งผลปลายทางในชีวิตอย่างไร ?
2.มีสิ่งใดบ้าง ที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่ตอบสนองเชื่อฟังพระเจ้าแบบยอมจำนน ?

3.ท่านคิดว่า สิ่งใดที่จะช่วยชีวิตของท่านให้อยู่ในพระประสงค์ของพระองค์?

3.ข้อสรุปเพื่อประยุกต์ใช้

เราคงได้ทำความเข้าใจจากพระธรรมตอนี้กันไปบ้างแล้ว นั่นคือการยอมจำนนเชื่อฟังทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า เฝ้าระมัดระวังในการอธิษฐานเผื่อแสวงหาการทรงนำของพระวิญญาณของพระองค์ สำหรับ ข้อ 21-26จะเป็นกรณีศึกษาในการทำตามพระประสงค์์ของพระเจ้าที่บัญชาไว้ ในการเลือกผู้ที่จะมาเป็นอัครทูตแทนยูดาส
21 เหตุฉะนั้น ในบรรดาคนที่เป็นพวกเดียวกับเราเสมอตลอดเวลาที่พระเยซูเจ้าได้เสด็จเข้าออกกับเรา
22 คือตั้งแต่บัพติศมาของยอห์น จนถึงวันที่พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นไปจากเรา คนหนึ่งในพวกนี้จะต้องเป็นพยานกับเรา ว่าพระองค์ได้ทรงคืนพระชนม์แล้ว"
23 เขาทั้งหลายจึงเสนอชื่อคนสองคนคือ โยเซฟที่เรียกว่าบารซับบาส มีนามสกุลว่ายุสทัสและมัทธีอัส

เปโตรได้บอกถึงคุณสมบัติของคนที่สมควรได้รับพิจารณาในการกำหนดให้มาแทนยูดาสซึ่งเราเห็นอย่างน้อย 2 อย่าง นั่นคือ
1.เป็นพวกเดียวกันกับสาวก โดยเคยอยู่กับพระเยซูในช่วงที่ทำพระราชกิจ (ข้อ 21) 2.เป็นพยานได้ว่าพระเยซูทรงฟื้นคืนพระชนม์(ข้อ 22)
คุณสมบัติทั้งสองอย่างนี้ เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ได้ใช้มาตรฐานที่มีพระเยซูเป็นศูนย์กลาง นั่นคือ เป็นมาตรฐานของพระเจ้า นั่นเอง
เปโตรไม่ได้ตั้งมาตรฐานในการเลือกสรรตามใจชอบ ไม่ได้บอกว่า คนที่จะถูกเลือกเข้ามาแทนยูดาสนั้นต้องมีชื่อเสียงใหญ่โตได้รับการนับหน้าถือตา หรือ มียศถาบรรดาศักดิ์ในสังคมยิวขณะนั้น ท่านไม่ได้เลือกคนที่ "ชอบ" แต่เลือกคนที่ "ใช่" โดยใช้หลักการพระเจ้า
แต่เปโตรใช้ “มาตรฐานของพระเจ้า” เป็นเกณฑ์ในการเลือกสรร คือ ให้พระเยซูเป็นศูนย์กลาง
พระเยซูได้เลือกสาวก 12 คนตามจำนวนเผ่าสิบสองเผ่าของอิสราเอลด้วยความตั้งใจ ตามที่พระองค์ได้ตรัสไว้ใน (มธ.19:28)พระเยซูตรัสกับเขาว่า "เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ในโลกใหม่คราวเมื่อบุตรมนุษย์จะนั่งบนพระที่นั่งอันรุ่งเรืองนั้น พวกท่านที่ได้ติดตามเรามาจะได้นั่งบนบัลลังก์สิบสองที่พิพากษาชนอิสราเอลสิบสองเผ่า"
นี่คือ เหตุผลที่ต้องนำคนขึ้นมาแทนยูดาส เนื่องจากอิสราเอลแห่งพันธสัญญาเดิมจะสำเร็จได้ โดยคริสตจักร ในพันธสัญญาใหม่ จำนวนอัครทูตจึงจำเป็นต้องครบตามจำนวน
ในที่สุด ท่ามกลางคนที่อยู่ในขณะนั้น พวกเขาก็เลือกได้ 2 คนที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ระบุไว้ทุกประการ
ข้อ 23 บอกว่า เขาทั้งหลายจึงเสนอชื่อคนสองคนคือ โยเซฟที่เรียกว่า บารซับบาส มีนามสกุลว่ายุสทัสและมัทธีอัส
ข้อคิดในการประยุกต์ใช้คือ ไม่ว่าเราจะตัดสินใจเรื่องใด เราต้องให้พระคริสต์ เป็นศูนย์กลางในเรื่องนั้น แล้วเราจะไม่พลาดจากแผนการของพระเจ้า
เปโตรไม่ผิดพลาดในการทำตามแผนการของพระเจ้า เพราะได้ให้พระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจ

หลังจากที่เลือกออกมาได้ 2 คน คือ ยุสทัส และ มัทธีอัสแล้ว สิ่งที่พวกเขาทำกันต่อไปคือ “อธิษฐาน” ข้อ 24-25 บันทึกไว้ว่า
24 แล้วพวกศิษย์จึงอธิษฐานว่า "พระองค์ผู้ทรงทราบใจของมนุษย์ทั้งปวงเจ้าข้าขอทรงสำแดงว่าในสองคนนี้พระองค์ทรงเลือกคนไหน
ข้อ 25 ให้รับส่วนในการปรนนิบัตินี้ และรับตำแหน่งเป็นอัครทูตแทนยูดาส ซึ่งได้หลงจากหน้าที่ไปยังที่ของตน"

นั่นเองที่แสดงให้เห็นถึงการทำตามแผนการของพระเจ้าโดย “พึ่งพา การทรงนำ” ด้วย ภายหลังจากที่ใช้สติปัญญาในการตัดสินใจ
สิ่งที่พวกเขาอธิษฐานคือ ขอพระเจ้าสำแดงให้รู้ว่าระหว่างสองคนนี้จะเลือกใครดี
หลังจากอธิษฐานแล้วสิ่งต่อไปที่พวกเขาทำต่อไปนั้น ข้อ 26 บันทึกว่า เขาทั้งหลายจึงจับสลากกัน และสลากนั้นได้แก่มัทธีอัสจึงนับเขาเข้ากับอัครทูตสิบเอ็ดคนนั้น
“การจับฉลาก” นั้น เป็นสิ่งที่คนยิวคุ้นเคยและทำกันมาก่อนเมื่อต้องการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อโมเสสต้องการจัดสรรแผ่นดินให้แก่เผ่าต่าง ๆ ในกดว. 34:13
เมื่อโยชูวาต้องการจัดแบ่งที่ดินให้แก่คนอิสราเอลตามส่วนแบ่งของแต่ละเผ่า ยชว.18:10 เมื่อซามูเอลตามหาผู้ที่พระเจ้าต้องการเจิมตั้งให้เป็นกษัตริย์ก็ใช้การจับฉลาก ดังที่บันทึกใน 1ซมอ.10:20-21
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจับฉลากในสมัยนั้นก็อยู่ในการควบคุมของพระเจ้าดังที่ สภษ.16:33 ฉลากนั้นเขาทอดลงที่ตัก แต่การตัดสินมาจากพระเจ้าทั้งสิ้น
นั่นเป็นวิธีที่พวกเขาเลือกทำก่อนที่พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมา
หลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จมาแล้ว ก็ไม่ปรากฏการใช้วิธีจับฉลากอีกเลย แต่ต้องไม่ลืมว่า … ก่อนที่จะมาถึงขั้นตอนการจับฉลาก ได้ผ่านขั้นตอนที่มีการกลั่นกรองมาก่อนหน้านี้แล้ว
เริ่มต้นด้วยการกำหนดมาตรฐานตามมาตรฐานของพระเจ้า คือ เป็นมาตรฐานที่พระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางว่า …
คนที่จะเลือกมาแทนยูดาสนั้นต้องเคยอยู่กับพระเยซู และ เป็นพยานเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์
จากนั้น จึงมีการคัดเลือกจากท่ามกลางคนร้อยยี่สิบคนที่มีคุณสมบัติตรงตามนั้น แล้วก็มีการอธิษฐานขอการทรงนำ
จึงจะตามมาด้วยการจับฉลาก ทุกอย่างจึงมีการผ่านกระบวนการขั้นตอนที่กลั่นกรองมาอย่างดี
ในการจับฉลากนั้น เขาจะใช้วิธีการเขียนชื่อไว้บนหินคนละก้อน แล้วนำก้อนหินนั้นใส่ในภาชนะแล้วเขย่าจนก้อนใดก้อนหนึ่ง ตกลงมา
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ผลที่ออกมา คือ ก้อนที่เขียนชื่อของ “มัทธีอัส” ก็ได้ตกลงมา มัทธีอัสจึงได้รับเลือกให้เป็นอัครสาวกแทนยูดาส


ในปัจจุบันพระวิญญาณบริสุทธฺ์เป็นพระผู้ช่วยของเราในทุกเรื่อง เราสามารถอธิษฐานขอการทรงนำในการตัดสินใจ ไม่จำเป็นที่เราต้องมาใช้วิธีการเสี่ยงทายจับสลากแล้ว



ผมข้อสรุปในการประยุกต์ใช้ไว้ดังนี้ครับ
“เชื่อฟังอย่างสุดใจ ใช้หลักการพระเจ้า เฝ้าอธิษฐานขอทรงนำ ทำตามพระบัญชาอย่างครบถ้วน"
ขอพระเจ้าอวยพระพรนะครับ ในสัปดาห์หน้าเราจะมาศึกษากันต่อในตอนที่ 3 คริสตจักรที่ “ทำตาม”พระบัญชา(กจ.2:1-21)(Total obedience)

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณพระเจ้าสำหรับพันธกิจของอาจารย์นะครับ ในหัวข้อนี้ได้ความเข้าใจและความกระจ่างมากเลยครับ

    ตอบลบ