05 มกราคม 2555

Acts1:1-11_คริสตจักรที่น้อมรับพระบัญชา (Total commitment)

ศึกษาพระธรรมกิจการของอัครทูต
คริสตจักร “ต้นแบบ” ตามพระบัญชา


อารัมภบท
สวัสดีครับเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ผมได้ไปศึกษาพระธรรมกิจการฯ ตามที่อ.นิมิต พานิช หนุนใจให้ไปศึกษาเพื่อเป็นแนวคิดในการดำเนินชีวิต รวมถึงเป็นต้นแบบสำหรับการรับใช้พระเจ้า ซึ่งเราเห็นได้จากคริสตจักรสมัยแรกในพระธรรมกิจการฯ ซึ่งมีการเกิดผลอย่างมากและเห็นถึงหมายสำคัญการอัศจรรย์เกิดขึ้นอย่างมากมาย ในครั้งนี้ผมขอนำสิ่งที่ผมได้ศึกษามาแบ่งปันเป็นข้อคิด และในครั้งต่อๆ ไปผมจะมาแบ่งปันใหม่ สามารถติดตามอ่านกันได้นะครับ


พระธรรมกิจการของอัครทูต เปรียบเสมือนจดหมายเหตุที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเริ่มต้นของคริสตจักรที่ตอบสนองแผนการของพระเจ้า
พระธรรมกิจการฯ จึงนับได้ว่า เป็นหนังสือที่ทำให้เราได้เห็นถึง "คริสตจักรต้นแบบ" ที่ทำให้พระบัญชาของพระเจ้าสำหรับโลกนี้สำเร็จ พระบัญชาของพระเจ้าเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนคริสตจักรในสมัยแรกให้เริ่มกระทำ ดังนั้นหากเราต้องการอยากจะรู้ว่า คริสตจักรแบบใดที่ทำตามพระประสงค์แผนการของพระเจ้า สามารถศึกษาได้จากพระธรรมกิจการฯ


(ผมได้เขียน Blog ไว้เรื่อง "การเคลื่อนคริสตจักรไปสู่ยุคต้นแบบ" เป็นการเปรียบเทียบคริสตจักรแห่งพระบัญชา ที่กำลังก้าวไปสู่การเป็นคริสตจักรต้นแบบของพระคริสต์ สามารถเข้าไปอ่านได้ในhttp://pattamarot.blogspot.com/2011/06/blog-post.html )


เพื่อเป็นการศึกษาพระธรรมนี้โดยการมองเห็นภาพรวมนั้น ผมก็ขอแบ่งภาคของการศึกษาพระธรรมตอนนี้เป็น 3 ส่วน ซึ่งเป็นภาพการเจริญเติบโตของคริสตจักรในสมัยนั้นมีระยะการเติบโตเป็นช่วงต่างๆ ไว้ด้วยกัน คือ ช่วงเลียนแบบ,ช่วงออกแบบและช่วงเป็นคริสตจักรต้นแบบ ผมแบ่งตามบทต่างๆได้ดังนี้

1.ช่วง “เลียนแบบ”ตามพระบัญชาของพระคริสต์ (บทที่ 1–บทที่ 5)
2.ช่วง “ออกแบบ” โดยพระคริสต์ คริสตจักรเริ่มมีการจัดระบบบริหาร (บทที่6-12)
3.ช่วงเป็น “ต้นแบบ” โดยเป็นการเริ่มต้นทำงานพันธกิจโลกและส่งมิชชั่นนารีออกไปเป็นเมล็ดพันธุ์ต้นแบบของโลก (บทที่13-28)

ในการศึกษาพระธรรมกิจการฯนี้ ผมได้แบ่งเป็นข้อต่างๆ ไว้เพื่อง่ายต่อการศึกษาและพิจารณาร่วมกันดังนี้


1.ข้อสังเกตเพื่อใคร่ครวญ –สิ่งที่เป็นข้อสังเกตต่างๆที่น่าสนใจ เช่น ผู้เขียนคือใคร บริบทเป็นอย่างไร มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารสิ่งใด รวมถึงคำศัพท์ที่น่าสนใจเป็นต้น ในเชิงวิชาการจะศึกษาในเรื่องประวัติศาสตร์(Historical) ไวยากรณ์(Grammatical) และความหมายของคำ(Word study)
2.ข้อคิดสะกิดใจ – เป็นการค้นหาใจความสำคัญ (Context) ค้นหาหลักการต่างๆเช่น หลักการพระคัมภีร์(Biblical) หลักศาสนศาสตร์ (Theological) เพื่อนำมาเป็นข้อคิด รวมถึงการฝึกตั้งคำถามเพื่อนำหลักการจากพระคัมภีร์ตอนนั้น นำการประยุกต์ใช้ (Exegesis)
3.ข้อสรุปเพื่อประยุกต์ใช้ – เป็นการประมวลภาพรวมทั้งหมดจากการศึกษาพระธรรมตอนนั้นและนำมาประยุกต์ในภาคปฏิบัติ(Practical) และสิ่งที่สำคัญคือการถ่ายทอดออกไป

ผมได้นำมาเรียบเรียงให้อ่านแบบ “เรียบง่ายแต่ทรงพลัง” ไม่ได้เน้นเป็นวิชาการมากจนซับซ้อนเข้าใจยาก เหมือนหนังซ่อนเงื่อน ผมเชื่อว่าตามพระคำ (ฮบ.4:12) ที่ว่า "พระวจนะของพระเจ้าไม่ตายและทรงพลานุภาพอยู่เสมอ" (Living and active) พระคำของพระองค์ไม่เคยล้าสมัยแต่ร่วมสมัย แม้ว่าคนทั่วไปสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายๆ แต่ทำตามได้ง่ายๆ และมีพลังในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราเสมอ (2ทธ.3:16-18)


การศึกษาพระธรรมนี้ไม่ได้เป็นการบิดเบือนความหมายที่แท้จริงไม่ได้เป็นการอรรถาธิบาย(Expository) แต่เป็นการอธิบายการศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตนเอง โดยการเรียนรู้วิธีการ(Know How)และวัตถุประสงค์เบื้องหลัง(Know why) เพื่อเราจะสามารถนำไปใช้ได้แบบง่ายๆในชีวิต เราลองมาเริ่มศึกษาร่วมกันเลย

บทที่ 1:1-11
1 ข้าแต่ท่านเธโอฟีลัส ในหนังสือเรื่องแรกนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วถึงบรรดาการซึ่งพระเยซูได้ทรงตั้งต้นกระทำและสั่งสอน
2 จนถึงวันที่พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นไป ในเมื่อได้ตรัสสั่งโดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่อัครทูตซึ่งพระองค์ทรงเลือกไว้นั้นแล้ว
3 ครั้นพระองค์ทรงทนทุกข์ทรมานแล้ว ได้ทรงแสดงพระองค์แก่คนพวกนั้นด้วยหลักฐานหลายอย่าง พิสูจน์ว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่และได้ทรงปรากฏแก่เขาทั้งหลายระหว่างสี่สิบวัน และได้ทรงสนทนากับเขาถึงเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า
4 เมื่อพระองค์ได้ทรงพำนักอยู่กับอัครทูต จึงกำชับเขามิให้ออกไปจากกรุงเยรูซาเล็ม แต่ให้คอยรับตามพระสัญญาของพระบิดา คือพระองค์ตรัสว่า "ตามที่ท่านทั้งหลายได้ยินจากเรานั่นแหละ
5 เพราะว่ายอห์นให้รับบัพติศมาด้วยน้ำ แต่ไม่ช้าไม่นานท่านจะรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์"
6 เมื่อเขาทั้งหลายได้ประชุมพร้อมกัน เขาจึงทูลถามพระองค์ว่า "พระองค์เจ้าข้า พระองค์จะทรงตั้งราชอาณาจักรขึ้นใหม่ ให้แก่ชนอิสราเอลในครั้งนี้หรือ"
7 พระองค์ตรัสตอบเขาว่า "ไม่ใช่ธุระของท่าน ที่จะรู้เวลาและวาระ ซึ่งพระบิดาได้ทรงกำหนดไว้ โดยสิทธิอำนาจของพระองค์
8 แต่ท่านทั้งหลายจะได้รับพระราชทานฤทธิ์เดช เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมาเหนือท่าน และท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเราในกรุงเยรูซาเล็มทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรีย และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก"
9 เมื่อพระองค์ตรัสเช่นนั้นแล้ว พระเจ้าก็ทรงรับพระองค์ขึ้นไปต่อหน้าต่อตาเขา และมีเมฆคลุมพระองค์ให้พ้นสายตาของเขา
10 เมื่อเขากำลังเขม้นดูฟ้า เวลาที่พระองค์เสด็จขึ้นไปนั้น มีสองคนสวมเสื้อขาวมายืนอยู่ข้างๆเขา
11 สองคนนั้นกล่าวว่า "ชาวกาลิลีเอ๋ย เหตุไฉนท่านจึงเขม้นดูฟ้าสวรรค์ พระเยซูองค์นี้ซึ่งทรงรับไปจากท่านขึ้นไปยังสวรรค์นั้น จะเสด็จมาอีกเหมือนอย่างที่ท่านทั้งหลายได้เห็นพระองค์เสด็จไปยังสวรรค์นั้น"
ผมขอเปิดฉากด้วยปฐมบทของ คริสตจักร “ต้นแบบ” ตามพระบัญชา ขอนำข้อคิดจากการศึกษาในบทที่ 1:1-11 เริ่มต้นด้วยความเป็นหนึ่งเดียวจากเลข 1 เรียงกัน 4 เลยเป็นการเริ่มต้นที่ดีทีเดียว
บทที่1 ข้อ 1 ถึง 11 เป็นการบรรยายถึงช่วงเริ่มต้นคริสตจักรที่กรุงเยรูซาเล็ม และขยายออกไปจนทั่วแคว้นยูเดีย ซึ่งเป็นเรื่องราวการเริ่มต้นของคริสตจักรตามพระบัญชาของพระคริสต์
โดยในส่วนนี้ เป็นการเริ่มต้นก่อตั้งคริสตจักรอยู่ในช่วงตั้งไข่ หัดเดิน อยู่ช่วงเลียนแบบ เหมือนเด็กที่เลียนแบบผู้ที่เป็นพ่อต้นแบบ คริสตจักรจึงต้องหาแบบในการวางรากฐานที่ถูกต้อง ไม่ได้วางแบบตามใจเราแต่น้ำพระทัยพระเจ้า
(ผมได้แนวคิดนี้จากการฟังคำสอนเรื่อง "พระเจ้ามองคริสตจักรของพระองค์อย่างไร"ของ อ.นิมิต )
สำหรับ ตอนที่ 1 ผมขอตั้งชื่อตอนนี้ว่า คริสตจักรที่น้อมรับพระบัญชา (Total commitment) เพราะเป็นหนังไตรภาค 3 ตอนจบจากบทที่ 1จนถึงบทที่ 2:1-21 โดยผมได้แรงบันดาลใจจากคำพูดของ Benny Hinn ที่ว่า "Total commitment ,Total surrender, Total obedience, Then you will be Christian!..." ผมขอแปลว่า "ยอมน้อมรับอย่างสุดใจ ยอมจำนนอย่างสุดกำลัง ยอมเชื่อฟังทำตามอย่างสุดความคิด นี่เป็นชีวิตคริสตชน"


ในครั้งต่อไปจะขอแบ่งปันในตอนที่ 2 คริสตจักรที่ “ยอมจำนน”ตามพระบัญชา (กจ.1:12-26)และตอนที่ 3 คริสตจักรที่ “ทำตาม”พระบัญชา(กจ.2:1-21)


ข้อสังเกตเพื่อใคร่ครวญ

หากเราได้พิจารณาจาก บทที่ 1:1-11 ซึ่งเป็นการบรรยายที่แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมต่อมาจากหนังสือพระกิตติคุณลูกา
ข้อ 1 นายแพทย์ลูกาได้เริ่มต้นกล่าวว่า …
ข้าแต่ท่านเธโอฟีลัส ในหนังสือเรื่องแรกนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าว แล้วถึงบรรดาการซึ่งพระเยซูได้ทรงตั้งต้นกระทำและสั่งสอน


เหตุที่เราทราบว่ามีความเกี่ยวข้องกันเพราะเขียนถึง เธโอฟีลัส เป็นคนเดียวกับที่ลูกาเขียนถึง ดังนั้นเราจึงทราบได้อย่างไม่ยากว่า นายแพทย์ลูกาเป็นคนเขียนพระธรรมกิจการฯ
หนังสือเล่มแรก ที่ลูกากล่าวถึงคือ หนังสือพระกิตติคุณลูกา ซึ่งบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการทำพระราชกิจของพระเยซูคริสต์
ลก. 1:1 ท่านเธโอฟีลัส ที่เคารพอย่างสูง ท่านทราบแล้วว่า มีหลายคนได้อุตส่าห์เรียบเรียงเรื่องราวเหล่านั้น ซึ่งสำเร็จแล้วในท่ามกลางเราทั้งหลาย

หนังสือกิจการฯ เป็นหนังสือเล่มที่สอง โดยเขียนถึง ‘เธโอฟีลัส’ ซึ่งคาดว่า เป็นข้าราชการชาวกรุงโรม ที่ได้มารู้จักพระเจ้า พระธรรมลูกามีวัตถุประสงค์หลัก คือ “การให้พระกิตติคุณของพระคริสต์เป็นแสงสว่างส่องแก่คนต่างชาติ” ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ไม่ได้เป็นคนยิว
ฉบับที่สอง คือ “หนังสือกิจการฯ” เป็นหนังสือที่มี วัตถุประสงค์หลักเพื่อบรรยายให้เห็นว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์มีบทบาทเช่นไร ที่อยู่เบื้องหลังพันธกรของพระเจ้าในการทำให้คนต่างชาติได้รับพระคุณความรักพระเจ้า
หนังสือเล่มนี้ได้บรรยายให้เห็นว่า คริสตจักรต้องทำตามพระบัญชาที่พระเยซูคริสต์ได้สั่งไว้ก่อนเสด็จขึ้นสู่สวรรค์อย่างไร
พระมหาบัญชานั้น ก็คือ การออกไปสั่งสอนชนทุกชาติให้เป็นสาวกของพระองค์ ให้ถือรักษาสิ่งสารพัดที่พระองค์ได้ตรัสสั่งไว้ทุกประการ (มธ.28:19-20,กจ.1:8)
ตลอดทั้งเล่มของหนังสือกิจการฯ เราจึงได้เห็นรูปแบบของการทำตามพระมหาบัญชา เช่น
ข้อ 1 บอกว่า “...บรรดาการซึ่งพระเยซูได้ทรงตั้งต้นกระทำ…”
หมายความว่า สิ่งที่พระเยซูได้ทรงทำนั้น พระองค์ต้องการให้คริสตจักรทำตามแบบเดียวกัน
หมายถึงสิ่งที่พระเยซูได้เริ่มไว้ แต่ยังไม่เสร็จ และต้องการให้มี การสานต่อให้เสร็จ
ดังนั้น คริสตจักรที่มีรากฐานที่ถูกต้องนั้น จึงต้องเป็นคริสตจักรที่ ทำตามแบบพระคริสต์ คริสตจักรในสมัยแรกจึงเป็นยุคแห่งการ "เลียนแบบ" จากต้นฉบับที่พระเยซูคริสต์ทำไว้เป็นแบบ โดยเราสังเกตได้จากข้อ 1 กล่าวว่า… บรรดาการซึ่งพระเยซูได้ทรงตั้งต้นกระทำและสั่งสอน
นั่นคือ แบบพระคริสต์ที่ทรงทำควบคู่กันอย่างสมดุลเมื่อทำราชกิจ คือ “การกระทำ” และ “การสั่งสอน”
การกระทำ หมายถึง การทำหมายสำคัญการอัศจรรย์
การสั่งสอน
หมายถึง การสื่อสารเนื้อหาข่าวประเสริฐ
ดังนั้น คริสตจักรที่ “ทำตามแบบพระคริสต์” ต้องมีความสมดุล 2 สิ่ง คือ ต้องมีทั้งการกระทำ และ ต้องมีทั้งการสั่งสอน
ซึ่งเราได้เห็นแบบอย่างนี้อย่างชัดเจน เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงปฏิบัติพระราชกิจ
พระองค์ไม่เพียงแต่สื่อสารความจริง แต่ ยังทรงทำหมายสำคัญและ การอัศจรรย์ที่เกินธรรมชาติ
เพื่อให้คนทั้งหลายได้เห็นความจริงเกี่ยวกับพระองค์ และ สิ่งที่พระองค์สื่อสารได้อย่างประจักษ์ชัด
สาวกของพระเยซูคริสต์เมื่อทำการของพระเจ้า ก็ล้วนแต่ทำทั้ง สองด้านนี้ด้วยกัน คือ “การกระทำ” และ “การสั่งสอน”
เช่น ในหนังสือพระกิตติคุณลูกา ได้บันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ที่ พระเยซูคริสต์ได้ส่งสาวก 12 คน ออกไปทำการของพระองค์
ลก. 9:1-2 บันทึกว่า
1 พระองค์ทรงเรียกสาวกสิบสองคนมาพร้อมกัน แล้วก็ประทานให้ เขามีอำนาจเหนือผีทั้งปวง และรักษาโรคต่างๆให้หาย
2 แล้วพระองค์ทรงใช้เขาไปประกาศแผ่นดินของพระเจ้า และรักษาคนป่วยเจ็บให้หาย

จากนั้น ลก.9:10 ได้บันทึกให้เห็นถึงเหตุการณ์หลังจากที่สาวกออกไปทำการของพระเจ้าแล้วว่า ครั้นอัครทูตกลับมาแล้ว เขาทูลพระองค์ถึงบรรดาการซึ่งเขาได้กระทำนั้น พระองค์จึงพาเขาไปแต่ลำพังถึงเมืองที่เรียกว่าเบธไซดา
นั่นคือ หลักฐานที่รับรองว่า เหล่าสาวกได้ไปรักษาโรคและสื่อสาร ข่าวประเสริฐ คือ มีทั้งการสั่งสอนและการกระทำ
คริสตจักรจึงควรมีการสานต่อในสิ่งที่พระองค์ได้เริ่มต้นทำไว้เรียบร้อยแล้ว คือ มีทั้งสอนและกระทำ จึงจะนับได้ว่า เป็นการวางรากฐานคริสตจักร เลียนแบบตามสิ่งที่พระคริสต์สอนและกระทำ
พระเยซูบอกว่า ไม่มีผู้ใดสามารถเป็นสาวกของพระองค์ ถ้าไม่ปฏิเสธตนเอง และ แบกกางเขนตามพระองค์ไป (มก.8:34)
ผมใช้คำว่า "สาวก"(Discipleship)มากกว่า คำว่า "สมาชิก"(Membership) เพราะสาวกคือผู้ที่ติดตามและเลียนแบบพระคริสต์ แม้ว่าเราจะเป็นสมาชิกคริสตจักรแต่เราควรจะผ่านกระบวนการสร้างสาวกเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในฝ่ายวิญญาณ


ข้อคิดสะกิดใจ
ไม่เพียงแต่เป็นคริสตจักรที่ “เลียนแบบอย่างพระคริสต์” คือ มีทั้งการสื่อสารข่าวประเสริฐ และทำหมายสำคัญการอัศจรรย์แล้ว ยังต้องสื่อข่าวสารของพระคริสต์อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและสมดุล
ข้อ 3 ได้บรรยายต่อไปว่า …
ครั้นพระองค์ทรงทนทุกข์ทรมานแล้ว ได้ทรงแสดงพระองค์แก่คนพวกนั้นด้วยหลักฐานหลายอย่าง พิสูจน์ว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ และได้ทรงปรากฏแก่เขาทั้งหลายระหว่างสี่สิบวัน และได้ทรงสนทนากับเขาถึงเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า
ข้อ 3 นี้ ได้บรรยายอย่างชัดเจนให้เราได้เห็นถึงเนื้อหาสาระของ ข่าวสารที่ควรสื่อออกไป เป็นข่าวสารของพระคริสต์ เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการทรงทนทุกข์ทรมานของพระคริสต์ที่บน ไม้กางเขน การทรงสิ้นพระชนม์ และ ทรงฟื้นคืนพระชนม์ เป็นข่าวสารที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง ปลายข้อ 3 บอกว่า เมื่อพระเยซูทรงฟื้นคืนพระชนม์นั้น พระองค์ได้ทรงสั่งสอนเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า ข่าวสารที่พระเจ้าต้องการให้เราสื่อสารออกไป คือ เรื่องแผ่นดินของพระเจ้า เรื่องแผ่นดินของพระเจ้ากับพระคริสต์นั้น มาด้วยกัน
เมื่อพระคริสต์เสด็จมา หมายความว่า แผ่นดินของพระเจ้ามาแล้ว
แผ่นดินของพระเจ้ามาแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ทีเดียว จะมาอย่างสมบูรณ์เมื่อพระคริสต์เสด็จกลับมา และ “แผ่นดินของพระเจ้า"ที่พระเยซูได้ทรงสื่อสารนั้น คือ เรื่องการครอบครองของพระคริสต์ในหัวใจของคน เป็นการนำความรักและความจริงของพระเจ้ามาสถิตอยู่ในใจของคน
เมื่อพระคริสต์มาครอบครองใจของคน ไม่ใช่การครอบครองอย่างที่ เราเห็นในโลกนี้ ไม่ใช่การครอบครองด้วยศาสตราวุธทางสงครามหรือทางยุทธศาสตร์ทางความคิด แต่ครอบครองด้วยศาสตราวุธแห่งความรัก ความรักชนะทุกสิ่งและความจริงแห่งไม้กางเขนของพระคริสต์ เป็นยุทธสาสตร์ที่สำคัญที่ประกาศชัยชนะจากความบาปความตายของเราทั้งหลาย


ไม่ใช่ปรัชญาความรู้ทางความคิดแบบโลก เพราะ"ความรู้ทำให้หยิ่ง ความจริงทำให้ตระหนัก แต่ความรักของพระคริสต์ทำให้เราทั้งหลายกลับใจ"
คริสตจักรจึงต้องสื่อข่าวสารของพระคริสต์ และ การครอบครองของพระคริสต์ด้วยความรักในใจคน
ข้อคิดอีกประการคือ เรื่องการพึ่งพาฤทธิ์เดชจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นดังพระผู้ช่วย


ซึ่งตรงกับที่มีบันทึกไว้ในหนังสือเล่มแรกของนายแพทย์ลูกา คือ หนังสือพระกิตติคุณ ลูกา 24:49-50 พระเยซูได้ตรัสว่า
และดูเถิด เราจะส่งซึ่งพระบิดาของเราทรงสัญญานั้น มาเหนือท่านทั้งหลาย แต่ท่านทั้งหลายจงคอยอยู่ในกรุงกว่าท่านจะได้ประกอบด้วยฤทธิ์เดชที่มาจากเบื้องบน"
สิ่งที่ทรงสัญญานั้น ก็คือ “ฤทธิ์เดชจากเบื้องบน” ซึ่งในพระธรรมกิจการ 1 ข้อ 5 บอกว่า คือ“การรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณ”
ลก. 11:13 พระเยซูบอกว่า …ถ้าท่านทั้งหลายเองผู้เป็นคนบาปยัง รู้จักให้ของดีแก่บุตรของตน ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พระบิดาผู้ทรงสถิตในสวรรค์ จะทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่ผู้ที่ขอต่อพระองค์"
นั่นคือ พระประสงค์ของพระเจ้าต้องการให้ลูกของพระองค์ได้รับ ฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และ ตรัสใน ยน.14:16 และ ข้อ 26 ว่า …
16 เราจะทูลขอพระบิดา และพระองค์จะประทานผู้ช่วยอีก ผู้หนึ่งให้แก่ท่าน เพื่อจะได้อยู่กับท่านตลอดไป
26 แต่องค์ผู้ช่วยคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งพระบิดาจะทรงใช้มาในนามของเรานั้น จะทรงสอนท่านทั้งหลายทุกสิ่งและจะให้ท่านระลึกถึงทุกสิ่งที่เราได้กล่าวไว้แก่ท่านแล้ว

นั่นคือ บทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์เป็นผู้ช่วย เป็นผู้ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่พระเยซูทรงตรัสสอนไว้
พระวิญญาณแห่งความจริงจะเป็นผู้ทำให้โลกนี้รู้แจ้งถึงความผิด ความชอบธรรม และการพิพากษา และ ทำให้เราไปสู่ความจริงทั้งมวลด้วย

ถ้าคริสตจักรสมัยแรกได้รับกำชับจากพระเยซูว่าให้รอจนกว่าจะรับฤทธิ์เดชก่อนที่จะไปประกาศ(กจ.1:4-8)ดังนั้นเราทุกคนควรมีประสบการณ์ที่มีฤทธิ์เดชพระเจ้าเต็มล้นอยู่เสมอ
กิจการ 2 เป็นเหตุการณ์ที่พระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จลงมาจริง ๆ เป็นครั้งแรก เป็นวันเริ่มต้นของคริสตจักร

ลองถามตัวของท่านเองดังนี้นะครับ (ผู้อ่านสามารถตั้งคำถามเพิ่มเติมเองได้)
1.เราได้พึ่งพาฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์มากแค่ไหนในการทำสิ่งต่างๆในชีวิต ?
2.เราได้ประกาศข่าวสารของพระคริสต์แบบใด เป็นข้อมูลความรู้หรือความรักของพระคริสต์ที่ประกาศออกไป?

3.มีสิ่งใดบ้าง ที่เราควรจะเลียบแบบพระคริสต์และต้องการเปลี่ยนแปลงกับพระองค์มากขึ้น?


ข้อสรุปเพื่อประยุกต์ใช้


จากข้อ 6-8 กล่าวต่อไปอีกว่า …
6 เมื่อเขาทั้งหลายได้ประชุมพร้อมกัน เขาจึงทูลถามพระองค์ว่า "พระองค์เจ้าข้า พระองค์จะทรงตั้งราชอาณาจักรขึ้นใหม่ ให้แก่ชนอิสราเอลในครั้งนี้หรือ"
7 พระองค์ตรัสตอบเขาว่า "ไม่ใช่ธุระของท่าน ที่จะรู้เวลา และวาระซึ่งพระบิดาได้ทรงกำหนดไว้ โดยสิทธิอำนาจของพระองค์
8 แต่ท่านทั้งหลายจะได้รับพระราชทานฤทธิ์เดช เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมาเหนือท่าน และท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเราในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย แคว้น สะมาเรีย และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก"


“พระมหาบัญชาของพระคริสต์” คือภารกิจที่พระเจ้ามอบให้ไว้กับคริสตจักร เป็นภารกิจแห่งภาระใจที่เราต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน
ข้อ 6 บอกว่า พวกเขาสนใจกันแต่เพียงว่าเมื่อไรยุคสุดท้ายจะมาถึง พวกเขาสนใจแต่อาณาจักรในโลกนี้ว่า พระเยซูจะมาตั้งอาณาจักรในโลกนี้หรือเปล่า จนลืมงานสำคัญที่พระเจ้าประสงค์ให้สานต่อให้เสร็จ
เป็นข้อคิดที่เตือนใจเราถึงความจริงที่เราต้องสนใจเรื่องยุคสุดท้าย และ พระเยซูทรงปรารถนาให้เราดำเนินชีวิตโดยตระหนักว่ายุคสุดท้ายกำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ
สิ่งที่เราควรสนใจในเรื่องยุคสุดท้ายจริง ๆ ก็คือ การสื่อสาร ข่าวประเสริฐไปถึงปลายสุดแผ่นดินโลก
มีคริสตจักรเป็นจำนวนมากที่สอนเรื่องยุคสุดท้าย แล้วทุกคนก็ตื่นตระหนกตกใจกลัวว่าพระเยซูมา จึงไม่ทำงานทำการอะไร แต่สิ่งที่ควรจะเป็น เราควรตื่นตระหนักและควรสอนเรื่องยุคสุดท้าย และควรจะสื่อสารข่าวประเสริฐไปทั่วทุกแห่งในโลกนี้ เพราะเป็นโอกาสดีที่คนทั้งหลายเปิดใจโดยเฉพาะสถานการณ์โลกปัจจุบันที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ เป็นหมายสำคัญที่เตือนใจว่าวาระสุดท้ายของโลกใกล้เข้ามาทุกขณะ
ข้อ 9-11 กล่าวต่อไปว่า …
9 เมื่อพระองค์ตรัสเช่นนั้นแล้ว พระเจ้าก็ทรงรับพระองค์ขึ้นไป ต่อหน้าต่อตาเขา และมีเมฆคลุมพระองค์ให้พ้นสายตาของเขา
10 เมื่อเขากำลังเขม้นดูฟ้า เวลาที่พระองค์เสด็จขึ้นไปนั้นมีสองคนสวมเสื้อขาวมายืนอยู่ข้างๆเขา
11 สองคนนั้นกล่าวว่า "ชาวกาลิลีเอ๋ย เหตุไฉนท่านจึง เขม้นดูฟ้าสวรรค์ พระเยซูองค์นี้ซึ่งทรงรับไปจากท่าน ขึ้นไปยังสวรรค์นั้น จะเสด็จมาอีกเหมือนอย่างที่ท่าน ทั้งหลายได้เห็นพระองค์เสด็จไปยังสวรรค์นั้น"

นั่นคือ “มีคาดหวังรอคอยการเสด็จกลับมาของพระคริสต์”
ในเวลานั้น เมื่อพระเยซูตรัสกำชับเรื่องสำคัญกับเหล่าสาวกแล้ว พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปต่อหน้าต่อตาเขา แล้วพวกเขาก็เขม้นมองดู
ทูตสวรรค์ได้มาปรากฎบอกว่า “อย่ามัวแต่มองดูพระเยซูซึ่งกำลัง เสด็จขึ้นไป จงรู้เถิดว่า พระเยซูผู้นี้จะกลับ”
ฉะนั้นเราต้อง คาดหวังรอคอยการเสด็จกลับมาของพระคริสต์ ไม่ได้ยึดโลกนี้ซึ่งเป็นเพียงบ้านชั่วคราวนี้ไว้ แต่รอคอยบ้านถาวรในสวรรค์ที่จะได้ไปอยู่กับพระองค์
ขอให้เราเชื่อและวางใจ คาดหวังตามคำสัญญาของพระคริสต์ที่ได้ตรัสไว้ใน ยอห์น 14:3 ว่า พระองค์ได้ไปล่วงหน้าจัดเตรียมที่ให้แก่เราแล้ว
สวรรค์เป็นของคนที่อยู่อย่างคาดหวังการเสด็จกลับมาของพระคริสต์
วิวรณ์ 1:7 บอกว่า ….
ดูเถิดพระองค์จะเสด็จมาพร้อมกับหมู่เมฆ และนัยน์ตาทุกดวง และคนเหล่านั้นที่ได้แทงพระองค์จะเห็นพระองค์ และมนุษย์ทุกชาติทั่วโลกจะร่ำไห้เพราะพระองค์ จะเป็นไปอย่างนั้น อาเมน
ขอให้เราเป็นคนที่จะปิติยินดีอย่างล้นพ้นในวันที่พระคริสต์กลับมา แต่อย่าให้เราเป็นหนึ่งในคนที่ร่ำไห้เพราะใจไม่เชื่อ เพราะใจไม่เคยคาดหวังว่าพระคริสต์จะเสด็จกลับมาจริง
มัทธิว 24:42 บอกว่า คนที่มีใจคาดหวังในการเสด็จกลับมาของ พระคริสต์อย่างแท้จริงนั้น ต้องมีชีวิตที่เฝ้าระวัง


ดังนั้นคริสตชนจึงเป็นคนแห่งความหวังใจ ดำเนินชีวิตใน 3 สิ่งคือ ความเชื่อ ความรักและความหวังใจ (1คร.13:13) นั่นคือ ความเชื่อในเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ที่พิชิตความบาปความตาย ความรักที่เป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไขของพระคริสต์ที่มาสิ้นพระชนม์เพื่อคนบาปอย่างเราบนกางเขน และความหวังใจที่เฝ้ารอคอยการเสด็จกลับมาของพระคริสต์ด้วยใจจดจ่อ


สรุปคือ ให้เราสำรวจดูว่า เราเป็นคริสตจักรที่น้อมรับพระบัญชาของพระองค์อย่างสุดใจ ทั้ง 4 ประการ ดังนี้คือ


1.ทำตามแบบพระคริสต์ คือ การกระทำและการสั่งสอน


2.สื่อข่าวสารของพระคริสต์ด้วยความรัก


3.รับใช้ด้วยฤทธิ์เดชของพระวิญญาณบริสุทธิ์


4.คาดหวังรอคอยการเสด็จกลับมาของพระคริสต์ ด้วยการดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวังเสมอ


ในครั้งนี้คงสรุปเพียงเบื้องต้น ในครั้งต่อไปเราจะมาศึกษากันอย่างเจาะลึกมากขึ้นในสัปดาห์ต่อๆไปในตอนที่ 2 คริสตจักรที่ “ยอมจำนน”ตามพระบัญชา (Total surrender)(กจ.1:12-26)และตอนที่ 3 คริสตจักรที่ “ทำตาม”พระบัญชา (Total obedience) (กจ.2:1-21)


ขอพระเจ้าอวยพระพรครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. ประยุกต์ดีครับ
    โดยเฉพาะเรื่องยุคสุดท้าย
    ...รอติดตามต่อครับ ขอบคุณพระเจ้า

    ตอบลบ
  2. เรื่อง ยุคสุดท้าย เขียนไว้ในหมวด คริสตจักรที่ดำเนินชีวิตในยุคสุดท้าย สามารถเข้าไปอ่านได้นะครับ ตั้งใจว่าจะเขียนเพิ่มขึ้น หากมีเวลาครับ :)

    ตอบลบ