08 มิถุนายน 2553

คนล้ม อย่าห้าม

(บทความนี้ลงในข่าวคริสตชน วันที่ 16 มิ.ย.2010)

คนล้มอย่าห้าม (คนไม่ล้มอย่าผลักดัน)

สุภาษิตไทยกล่าวว่า "ไม้ล้มข้ามได้ คนล้มอย่าข้าม" หมายถึง อย่าดูถูกหรือซ้ำเติมคนที่พลาด ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากในชีวิตของแต่ละคนย่อมมีความผิดพลาดกันได้ ไม้ล้มอาจจะข้ามได้ แต่คนล้มไม่ควรซ้ำเติม เพราะล้มได้ เขาสามารถลุกขึ้นมาได้

สุภาษิต 24:16 เพราะคนชอบธรรมล้มลงเจ็ดครั้งแล้วก็ลุกขึ้นอีก...

ในประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมก็ได้พบเห็นหลายคนที่ล้มลงและลุกขึ้นยืนได้ และเมื่อลุกขึ้นครั้งใหม่ ทำให้ยืนอย่างมั่นคงมากขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมา ผมได้รับฟังพี่น้องในคริสตจักรหลายท่าน ที่มีประสบการณ์ล้มในพระวิญญาณฯ แล้วมีชีวิตที่ดีขึ้นก็รู้สึกประทับใจ
ประสบการณ์ล้มในพระวิญญาณฯ ก็ยังเป็นประเด็น Talk of the town ของแวดวงคริสเตียน นักวิชาการพระคัมภีร์บางท่านก็ได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นว่าเหตุใดจึงไม่เชื่อเรื่องการล้มในพระวิญญาณฯ

สำหรับผมคิดว่าความคิดเห็นแต่ละท่านอาจจะแตกต่างกันบ้างก็ไม่เป็นไร หากไม่เชื่อก็อย่าไปดูหมิ่นคนที่ล้มเลย เพราะอย่างที่กล่าวข้างต้น คือ บางคนก็อาจจะมีประสบการณ์สัมผัสพระเจ้าที่แตกต่างกันไป ประสบการณ์ก็ไม่ได้เป็นหลักการ ไม่ใช่ทุกคนจะต้องล้มทุกครั้งที่มีคนมาวางมือ เพราะบางคนล้มมาจากหลายสาเหตุ เช่นมีความบาดเจ็บต้องรับการเยียวยารักษาใจ (Inner healing)
เปรียบเทียบคนเจ็บต้องการหมอผ่าตัด การผ่าตัดหมอก็ต้องวางยาสลบเพื่อผ่าตัด

ฉะนั้นคนจะล้มก็อย่าไปห้ามเขาเลย เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่าอาการ ก็คือ ผลที่ตามมาหลังจากนั้น เราดูต้นไม้จากผล หากมาจากพระวิญญาณของพระเจ้า ก็จะนำมาผลพระวิญญาณ(กท.5:22-23)ตามมา

ผมได้อ่านบทความในเรื่องนี้ ผู้เขียนบอกว่า เรื่องการล้มในพระวิญญาณฯ ผลการศึกษาพระคัมภีร์ปรากฎว่า "ไม่มีเลย" และไม่ควรนำมาปฏิบัติในที่ประชุม

สำหรับความคิดของผมด้วยความเคารพ เราไม่สามารถกล่าวในเรื่องที่ไม่อยู่ในพระคัมภีร์ว่า "สิ่งนั้นไม่มีเลย" เพราะเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ บางเรื่องพระคัมภีร์ก็ไม่ได้บันทึกไว้ แม้แต่เรื่องของพระเยซูคริสต์ ก็ยังมีหลักฐานมากมายนอกเหนือจากพระคัมภีร์ว่าพระเยซูเป็นเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์

ยอห์น 20:30 พระเยซูได้ทรงกระทำหมายสำคัญอื่นๆ อีกหลายประการต่อหน้าสาวกเหล่านั้น ซึ่งไม่ได้บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้

หากจะบอกว่าอะไรไม่มี ต้องไปค้นคว้าและศึกษามากจนแน่ใจแล้วว่าไม่มี สำหรับเรื่องประสบการณ์พระวิญญาณที่เราศึกษาจากพระคัมภีร์ ก็มีอาการหลายประการ การล้มในพระวิญญาณก็เป็นส่วนหนึ่งในอาการที่แสดงออกมา

ฉะนั้นจึงไม่ควรสรุปความคิดเห็นในเรื่องของอาการที่แสดง น่าจะยึดในหลักการว่าพระเจ้าทรงสถิตและผู้เชื่อจะมีประสบการณ์ต่างๆ แต่ที่มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์คือ เรื่องการพูดภาษาพระวิญญาณ หรือในความเข้าใจของคนทั่วไปคือภาษาแปลกๆ ซึ่งมีการเหมือนอาการเมาเหล้าองุ่น

กิจการของอัครทูต 2:10-13 13 แต่บางคนเยาะเย้ยว่า "คนเหล่านั้นเมาเหล้าองุ่นใหม่"

สาเหตุที่พระคัมภีร์เน้นเรื่องการพูดภาษแปลกๆ จนทำให้คริสเตียนกลุ่มหนึ่งเข้าใจว่า การพูดภาษาแปลกๆ จากการบัพติศมาในพระวิญญาณนั้น จะเป็นหมายสำคัญอย่างเดียว
พระคัมภร์ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะว่าเป็น spiritual gift แต่ไม่ได้หมายถึง หมายสำคัญ(sign) เพียงอย่างเดียว เมื่อมีการรับบัพติศมาในพระวิญญาณยังมีอีกหลายอย่างประกอบกัน
ยังมีอีกเช่น การเผยพระวจนะ การบัพติศมาในพระวิญญาณ จึงมิได้มีการพูดภาษาแปลกๆ อย่างเดียวเท่านั้นตามที่เราคุ้นเคย ดังนั้นการบันทึกภาษาแปลกๆ อาจเป็นเพราะนี่เป็นของประทานพระวิญญาณ(Spiritual gifts) และภาษาแปลกๆ ทำให้ผู้นั้นจำเริญ

1โครินธ์ 14:4 ฝ่ายคนที่พูดภาษาแปลกๆนั้นก็ทำให้ตนเองเจริญฝ่ายเดียว แต่ผู้เผยพระวจนะนั้นย่อมทำให้คริสตจักรจำเริญขึ้น

ส่วนที่ไม่ได้บันทึกไว้ เพราะอาการต่างๆ เมื่อเกิดขึ้นจากการมีประสบการณ์มีเยอะ เมื่อพระเยซูส่งสาวกไปรับใช้ในที่ต่างๆ มีการเจิมอยู่กับเหล่าสาวกแม้ ณ ขณะนั้น เหล่าผู้เชื่อยังไม่ได้รับการเต็มล้นในพระวิญญาณ (ลก.10) ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ เป็นอาการ เป็นประสบการณ์ และเห็นได้ทั่วๆ ไปในที่ประชุมจนคุ้นเคย

แม้ในยุคคริสตจักรสมัยแรก การอัศจรรย์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะพระเจ้าทรงใช้คนของพระองค์

กิจการของอัครทูต 19:11 พระเจ้าได้ทรงกระทำอิทธิฤทธิ์อันพิสดารด้วยมือของเปาโล


ประสบการณ์การเต็มล้นในพระวิญญาณเป็นขบวนการชำระ (Sanctification)เมื่อเราเชื่อพระวิญญาณอยู่กับเราแล้ว แต่รับบัพติศมาในพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นการเต็มล้นที่พรั่งพรูออกมา เหมือนเทน้ำจนล้นออกมาจากแก้ว

นอกจากนี้พระคัมภีร์ยังพุดถึงการบัพติศมาด้วยไฟ ซึ่งเป็นการชำระชีวิตอย่างต่อจนไปสู่ความไพบูลย์เหมือนกับพระเจ้า
(Entire Sanctification)

มัทธิว 3:11 เราให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยน้ำ แสดงว่ากลับใจใหม่ก็จริง แต่พระองค์ผู้จะมาภายหลังเรา ทรงมีอิทธิฤทธิ์ยิ่งกว่าเราอีก ซึ่งเราไม่คู่ควรแม้จะถอดฉลองพระบาทของพระองค์ พระองค์จะทรงให้เจ้าทั้งหลาย รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ

ดังนั้นนักวิชาการหลายท่านมักจะเลือกปฏิบัติรับแต่เรื่องบัพติศมาในพระวิญญาณแต่ไม่รับเรื่องไฟทั้งที่พระคัมภีร์กล่าวไว้ รวมถึงบางครั้งไม่เชื่อเรื่องการอัศจรรย์และไม่รับเรื่องประสบการณ์ในพระวิญญาณ


ข้อพิจารณากลุ่มที่ไม่เชื่อเรื่องการล้มในพระวิญญาณ

1.หากเราเชื่อเรื่องพระเจ้าทรงกระทำการอัศจรรย์ได้ทุกสิ่ง ทำไมเราไม่เชื่อเรื่องประสบการณ์ล้มในพระวิญญาณ เพราะพระเจ้าทรงฤทธานุภาพ เมื่อพระเจ้าทรงกระทำให้คนเต็มล้นในพระวิญญาณและมีการอาการต่างๆ แต่กลับไม่เชื่อว่ามาจากพระเจ้า

2.บางครั้งไม่เชื่อเรื่องการล้มในพระวิญญาณ แต่บางท่านพยายามห้ามไม่ให้ผู้นำคริสตจักรที่เชื่อเรื่องนี้มาเทศนาหรือวางมือในคริสตจักรของตน เนื่องจากกลัวว่าว่าสมาชิกคริสตจักรของตนจะล้มในพระวิญญาณ หากไม่เชื่อจะห้ามทำไม เพราะถ้าเชื่อว่าไม่มีการล้มในพระวิญญาณ ต่อให้วางมือเท่าไหร่คนก็จะไม่ล้ม

3.หากไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ก็น่าจะเฉยไว้ หากออกมาแสดงความคิดเห็นว่าไม่มี แล้วเกิดวันหนึ่งพระเจ้าอนุญาตให้เกิดประสบการณ์นี้กับตนเอง จะกล่าวว่าอย่างไร มีตัวอย่างผู้รับใช้ที่มีชื่อเสียงหลายท่านมีประสบการณ์เช่น

Charles G Finney

ในชีวประวัติของ Charles G Finney ได้กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกในการประชุมของเขา ในเวลานั้นเขาเป็น Presbyterian และในกลางวันของวันอาทิตย์หนึ่ง ในเมือง Utica New York
ระหว่างที่เทศนาไปได้ สิบห้านาที เริ่มมีคนล้มจากเก้าอี้ไปบนพื้น พวกเขาเหมือนกับคนตาย หลังจากนั้นสักพัก คนสี่ร้อยคนล้มไปบนพื้น ภายใต้ฤทธิ์เดชของพระวิญญาณบริสุทธิ์ Finney รู้ภายหลังว่า คนเหล่านั้นคือ คนที่ไม่เชื่อ และได้รับความรอดในวันนั้น

George Whitefield

ได้บันทึกไว้เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 1740 ว่า George Whitfield เป็นผู้ช่วยของ John Wesley เมื่อเขาเทศนาฤทธิ์เดชของพระวิญญาณบริสุทธิ์จะลงมา คนจะล้มลง นี่เป็นความจริงในประวัติศาสตร์
มีข้อมูลบันทึกว่า ครั้งหนึ่ง Whitefield เทศนาอยู่ที่จตุรัสแห่งหนึ่งในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซส มีคนหนุ่มหลายคนปีนไปบนต้นไม้ต่าง ๆ รอบจัตุรัส ก่อนที่เขาจะเริ่มต้นเทศนา เขาได้กล่าวว่า

“พี่น้องขอให้ลงมาจากต้นไม้ทั้งหมด เพราะว่าเมื่อผมเริ่มเทศน์ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะลงมา และท่านทั้งหลายจะหล่นลงมา” พวกเขาจึงลงมาจากต้นไม้ และเมื่อ Whitefield เริ่มต้นเทศนา คนก็เริ่มล้มลงบนพื้นทั่วทั้งจตุรัส


4.การตีความพระคัมภีร์ในเรื่องของบุคคลในพระคัมภีร์ เช่น อับราฮัม เอเสเคียล โยชูวาที่มีประสบการณ์ สัมผัสกับพระเจ้าซบหน้าลงถึงดินว่าเป็นรูปแบบการนมัสการอย่างหนึ่ง

ซึ่งหลักการตีความพระคัมภีร์ที่บันทึกเหตุการณ์ เป็นการตีความตามตัวอักษร(Literal) พระคัมภีร์ว่าอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นพระคัมภีร์ว่า ท่านเหล่านี้ล้มลงหน้าลงถึงดิน กลับตีความว่าเป็นการนมัสการ เนื่องจากทัศนคติที่ไม่เชื่อว่าเป็นการล้มลงในพระวิญญาณ

ในหลักการแล้ว แม้ว่าพระคัมภีร์ไม่ได้สอนให้ผู้เชื่อล้ม แต่ได้มีตัวอย่างในพระคัมภีร์ที่คนล้มลงต่อพระพักตร์ของพระองค์ เมื่อได้สัมผัสพระสิริของพระองค์ ฉะนั้นจึงเป็นประสบการณ์ของแต่ละท่าน แต่หลักการคือเมื่อสัมผัสพระเจ้าจะมีผลกับชีวิต แสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ

เมื่อพระเจ้าทรงสัมผัสคนของพระองค์อย่างมาก คนจะไม่สามารถยืนอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม คริสตจักรไม่ได้ส่งเสริมให้ใครล้มเป็นพิธีกรรม แต่ควรอธิษฐานให้พระวิญญาณเคลื่อนไหวและเติมเต็มในชีวิตคนนั้น

นอกจากนี้ เราเห็นบางคนที่บันทึกในพระวจนะอยู่ในภาวะที่ยืนอยู่ไม่ได้ ต้องก้มกราบ ทรุดตัวลง ซบหน้าลงถึงพื้น ในภาษาอังกฤษใช้ว่า fell face down เช่น

Numbers 20:6 (kjv) And Moses and Aaron went from the presence of the assembly unto the door of the tabernacle of the congregation, and they fell upon their faces: and the glory of the Lord appeared unto them.

กันดารวิถี 20:6 แล้วโมเสสและอาโรนออกจากที่ประชุมไปที่ประตูเต็นท์นัดพบและซบหน้าลง และพระสิริของพระเจ้าปรากฏแก่เขา


เอเสเคียล
อสค.3:23-24
23 ดังนั้นข้าพเจ้าจึงลุกขึ้นออกไปยังที่ราบ และนี่แน่ะพระสิริของพระเจ้าก็อยู่ที่นั่น อย่างเดียวกับพระสิริ ซึ่งข้าพเจ้าได้เห็นที่ริมแม่น้ำเคบาร์ และข้าพเจ้าก็ซบหน้าลงถึงดิน
24 แต่พระวิญญาณได้เสด็จเข้าในข้าพเจ้ากระทำให้ข้าพเจ้ายืนขึ้น และพระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าและทรงบอกข้าพเจ้าว่า "จงไป ขังตัวเจ้าไว้ภายในเรือนของเจ้า


อสค.44:4
แล้วท่านก็นำข้าพเจ้ามาตามทางของประตูเหนือมาที่ข้างหน้าพระวิหารและข้าพเจ้ามองดู และดูเถิด พระสิริของพระเจ้าก็เต็มพระวิหารของพระเจ้า และข้าพเจ้าก็ซบหน้าลงถึงดิน


ดาเนียล
ดนล.8:16-18
16 และข้าพเจ้าได้ยินเสียงของชายผู้หนึ่งระหว่างฝั่งแม่น้ำอุลัย และเสียงนั้นร้องเรียกและกล่าวว่า "กาเบรียลเอ๋ยจงทำให้ชายผู้นี้เข้าใจในนิมิตนั้นเถิด"
17 ดังนั้นท่านจึงมาใกล้ที่ที่ข้าพเจ้ายืนอยู่ และเมื่อท่านมาแล้ว ข้าพเจ้าก็ตกใจซบหน้าลงถึงดิน แต่ท่านกล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า "โอ บุตรแห่งมนุษย์เอ๋ย จงเข้าใจเถิดว่า นิมิตนั้นเป็นเรื่องของกาลอวสาน"
18 เมื่อท่านกำลังพูดอยู่กับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็สลบหน้าติดดินอยู่ แต่ท่านแตะต้องข้าพเจ้า ให้ข้าพเจ้ายืนขึ้น


ยอห์นในนิมิต

วว.1:17 เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์ ข้าพเจ้าก็ล้มลงแทบพระบาทของพระองค์เหมือนกับคนที่ตายแล้ว แต่พระองค์ทรงแตะตัวข้าพเจ้าด้วยพระหัตถ์เบื้องขวา แล้วตรัสว่า "อย่ากลัวเลย เราเป็นเบื้องต้นและเป็นเบื้องปลาย

สาเหตุการ ล้มในพระคัมภีร์นั้นมีแตกต่างกันไป ตั้งแต่การที่พระเจ้าทำให้มนุษย์ล้มลงด้วยความกลัวในความบริสุทธิ์ (holy fear)และการถูกบังคับให้ล้มลงนอนเนื่องจากความเย่อหยิ่งและกบฏของมนุษย์ (เช่นเซาโล กจ.9 ที่ถนนดามัสกัส)

หากเราศึกษาเรื่องการทรงสถิตของพระเจ้า พระสิริของพระองค์ปกคลุุม คำว่า "พระสิริ" ภาษาฮีบรู ใช้คำว่า “kabowd” (คาล-โบต) ซึ่งหมายถึง “สิ่งที่หนัก” หรือ "น้ำหนักที่กดทับ" เมื่อพระเจ้าสัมผัสคนของพระเจ้าเป็นไปได้มากเลยที่คนจะยืนอยู่ไม่ได้ตกทรุดตัวลง ดังเช่นที่บันทึกเหตุการณ์ในพระคัมภีร์หลายตอน

โดยสรุปคือ หากพิจาณาจาก 3 หลักคือ ตามหลักการพระคัมภีร์ (Bibical),ประวัติศาสตร์(Historical)และประสบการณ์(experience)ของบุคคลทั่วไปและที่บันทึกในพระคัมภีร์ จึงสรุปได้ว่า ประสบการณ์การล้มในพระวิญญาณมีจริง
และสมเหตุสมผลตามที่กล่าวมา

ในภาคปฎิบัติคงไม่ใช่เป็นหลักการที่จะมาสอนวิธีการล้ม แต่คริสตจักรควรจะสอนในเรื่องการรองรับประสบการณ์ในพระวิญญาณของพระเจ้า ยกตัวอย่างเราเชื่อว่าพระเจ้าจะทำให้ฝนตกเมื่อเราอธิษฐานขอ สิ่งที่เราต้องเตรียมทำคือเตรียมภาชนะรองรับไว้

สิ่งที่คริสตจักรควรจะเตรียมคือ

1.เตรียมใจ สอนให้คนเปิดใจไม่ปิดกั้นประสบการณ์ ไม่ดับพระวิญญาณ หากพระองค์จะทำสิ่งใดขอให้พระองค์และเราควรจะตอบ สนองตามพระวิญญาณ

2.เตรียมพร้อม ในเรื่องการรองรับ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ควรมีการสอนการวินิจฉัยว่า สิ่งใดมาจากพระเจ้า มาจากมาร และสิ่งใดมนุษย์เป็นผู้กระทำ เพราะอาการอาจจะคล้ายคลึงกัน เช่นการเต็มล้นในพระวิญญาณ บางคนมีการคล้ายกับคนเมาเหล้า (กจ2) เราสามารถดูได้จากผลที่ตามมา หากมาจากพระเจ้าจะสะท้อนพระลักษณะของพระองค์
นอกจากนี้ต้องมีการจัดระบบระเบียบคริสตจักร(1คร.14)การจัดระบบไม่ได้ควบคุมพระวิญญาณแต่เป็นการสร้างบรรยากาศให้คนตอบสนองพระวิญญาณได้ง่ายขึ้น

3.เตรียมการเก็บเกี่ยว เมื่อพระเจ้าทรงเคลื่อนไหวด้วยพระวิญญาณของพระองค์สิ่งที่จะตามมาคือการเกิดผล ดังนั้นให้เรารับใช้ด้วยฤทธานุภาพตามของประทานพระวิญญาณของพระองค์

ผมขอสรุปส่งท้ายไว้ดังนี้ว่า เราไม่สามารถตัดสินคนได้โดยดูจากภายนอก เพราะพระเจ้าทรงให้เรามองที่จิตใจ (1ซมอ.16:7)
อาการต่างๆที่แสดงออกมาจากประสบการณ์พระวิญญาณ เราต้องดูที่ผลที่จะตามมาทั้งผลพระวิญญาณทีทำให้ชีวิตที่เปลี่ยนไปเหมือนพระเจ้ามากขึ้น หรือ การรับใช้ที่สำแดงของประทานพระวิญญาณโดยฤทธานุภาพของพระองค์

ขอพระวิญญาณทรงเคลื่อนเถิดและเราจะไปตามการทรงนำของพระองค์

คนที่ไม่มีประสบการณ์อะไรแต่มีสัมผัสพระเจ้ามีสันติสุข ก็ขอบพระคุณพระเจ้า

ประสบการณ์เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่หลักการ

1.ประสบการณ์ไม่ได้เป็นตัววัดการเติบโตฝ่ายวิญญาณจึงไม่ควรเปรียบเทียบกับผู้อื่น
2.การไม่มีประสบการณ์ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าไม่สถิตกับเรา
3.ประสบการณ์มาจากพระเจ้า เราไม่ควรแกล้งทำ
4.การมีประสบการณ์ครั้งหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าต้องมีประสบการณ์นั้นตลอดไปทุกครั้งที่แสวงหาพระองค์
5.เราไม่ควรจดจ่ออยู่ที่การแสวงหาประสบการณ์แต่ควรแสวงหาพระเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตสุดใจ แม้ไม่มีประสบการณ์ก็ตาม
6.บางครั้งประสบการณ์ที่พระเจ้าให้ก็เป็นเรื่องที่เกินความเข้าใจของมนุษย์ เราต้องทูลขอความเข้าใจจากพระเจ้า สิ่งที่เราไม่เข้าใจ
ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้มาจากพระเจ้าทั้งหมด


คนที่เมาในพระวิญญาณ แล้วนิสัยดี ควบคุมตัวเองได้ก็ยังดีกว่าเมาเหล้าที่จะทำให้เสียคน

คนที่หัวเราะในพระวิญญาณ มีผลพระวิญญาณแห่งความชื่นชมยินดี คนหัวเราะก็ดีกว่าคนร้องไห้เสียใจในความทุกข์

คนที่ล้มในพระวิญญาณ ก็ดีกว่าล้มในบาป เพราะที่ใดมีพระวิญญาณที่นั่นย่อมมีเสรีภาพหลุดจากพันธนาการความบาปที่ถ่วงรั้งอยู่

แม้ในวันนี้เราอาจจะไม่ประสบการณ์แบบนี้ คนปกติไม่ต้องการหมอ คนไม่สบายต้องการหมอ พระเจ้ามีการสัมผัสและรักษาคนของพระองค์ด้วยวิธีการต่างๆ เราจึงไม่ควรดูหมิ่นดูแคลนใคร ไม้ล้มอาจจะข้ามไปได้ คนล้มในพระวิญญาณ ถ้าพระเจ้าจะทำก็ไม่สามารถห้ามได้

ยอห์น 3:7-8
7 อย่าประหลาดใจที่เราบอกท่านว่า ท่านทั้งหลายต้องบังเกิดใหม่
8 ลมใคร่จะพัดไปข้างไหนก็พัดไปข้างนั้น และท่านได้ยินเสียงลมนั้น แต่ท่านไม่รู้ว่าลมมาจากไหนและไปที่ไหน คนที่บังเกิดจากพระวิญญาณ ก็เป็นอย่างนั้นทุกคน"


ขอบคุณพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทรงเคลื่อนไหวและทรงนำในชีวิตของเราเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น