รากศัพท์ภาษากรีก
เมื่อกล่าวถึงคำว่า“พันธกิจ”เพื่อนๆบางท่านอาจจะนึกถึง งานในโบสถ์หรืองานในองค์กรคริสเตียน
อย่างไรก็ตามคำว่าพันธกิจมีความหมายที่มากกว่านั้น
คำว่าพันธกิจมาจากภาษากรีกคือคำว่า diakonia ซึ่งแปลว่าการรับใช้หรือการปรนนิบัติ
เมื่อกล่าวถึงคำว่าพันธกิจ
เพื่อนๆบางท่านอาจจะนึกถึงงานรับใช้ในฝ่ายวิญญาณ (เช่น การเผยพระวจนะ การประกาศ
การทำงานในองค์กรคริสเตียน เป็นต้น) ทว่าในภาษากรีก ศัพท์คำนี้ไม่ได้ถูกใช้ในงานฝ่ายวิญญาณเท่านั้น
แต่ใช้ในงานฝ่ายกายภาพด้วย คำว่า พันธกิจ จึงหมายถึงการรับใช้ไม่ว่าจะเป็นในฝ่ายกายภาพหรือฝ่ายวิญญาณ
พันธกิจในงานอาชีพ
ขณะที่เรากำลังดูแลครอบครัว
เราก็กำลังทำพันธกิจในการรับใช้ครอบครัว เมื่อเราทำงานเป็นคุณหมอ เราก็กำลังทำพันธกิจรับใช้ผู้คนในการรักษาโรค
เมื่อเราทำงานเป็นวิศวกรโยธา
เราก็กำลังทำพันธกิจรับใช้ผู้คนในการสร้างที่อยู่อาศัย ถ้าเราขับรถเมล์
เราก็กำลังทำพันธกิจรับใช้ผู้คนในการเดินทาง คำว่า พันธกิจ ไม่ได้หมายถึงงานฝ่ายวิญญาณอย่างเดียว
แต่ยังหมายถึงการงานอาชีพด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นพันธกิจในงานอาชีพหรือพันธกิจในงานฝ่ายวิญญาณต่างก็สะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน
คนไม่เชื่อก็กำลังทำพันธกิจรับใช้พระเจ้า
(โรม
13:1-7) ทุกคนจงยอมอยู่ใต้บังคับของผู้ที่มีอำนาจปกครอง
เพราะว่าไม่มีอำนาจใดเลยที่ไม่ได้มาจากพระเจ้า และผู้ที่ถืออำนาจนั้น
พระเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ที่ขัดขืนอำนาจนั้น
ก็ขัดขืนผู้ซึ่งพระเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้น และผู้ที่ขัดขืนนั้นจะต้องถูกลงโทษ
เพราะว่าผู้ครอบครองนั้นไม่น่ากลัวเลยสำหรับคนที่ประพฤติดี
แต่ว่าเป็นที่น่ากลัวสำหรับคนที่ประพฤติชั่ว ท่านไม่อยากจะกลัวผู้มีอำนาจหรือ? ถ้าอย่างนั้นก็จงทำแต่ความดี
แล้วท่านก็จะได้เป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจนั้น เพราะว่าผู้ครอบครองนั้น
เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าเพื่อให้ประโยชน์แก่ท่าน
แต่ถ้าท่านทำความชั่วก็จงกลัวเถิด เพราะว่าผู้ครอบครองไม่ได้ถือดาบไว้เฉยๆ
แต่เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า และจะเป็นผู้ลงโทษแทนพระเจ้าแก่ทุกคนที่ประพฤติชั่ว
เพราะฉะนั้นท่านจะต้องเชื่อฟังผู้ครอบครอง
ไม่ใช่เพื่อจะหลีกเลี่ยงการลงโทษอย่างเดียว แต่เพื่อมโนธรรมด้วย เพราะเหตุผลนี้
ท่านจึงได้เสียส่วยด้วย เพราะว่าผู้มีอำนาจนั้นเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า
และปฏิบัติหน้าที่นี้อยู่ จงให้แก่ทุกคนที่ท่านต้องให้เขา คือ
ส่วยแก่คนที่ท่านต้องเสียส่วยให้ ภาษีแก่คนที่ท่านต้องเสียภาษีให้
ความยำเกรงแก่คนที่ท่านต้องให้ความยำเกรง เกียรติแก่คนที่ท่านต้องให้เกียรติ
ข้อพระคัมภีร์นี้กล่าวว่า
ผู้ปกครองบ้านเมือง(แม้จะไม่ใช่ผู้เชื่อก็ตาม)ก็เป็นผู้รับใช้พระเจ้า ดังนั้นคำว่า
ผู้รับใช้ ในมุมมองของเปาโล ไม่ได้หมายถึงผู้รับใช้ที่เป็นคริสเตียนเท่านั้น
แต่หมายถึงคนทั่วไปด้วย
ผู้ปกครองบ้านเมืองก็เป็นผู้รับใช้พระเจ้าในการรับใช้ผู้คนให้อยู่ในร่องในรอย
หลักการที่ว่าผู้ไม่เชื่อก็เป็นผู้รับใช้พระเจ้านั้น ยังสามารถประยุกต์ได้กับอาชีพอื่นๆด้วย
เช่น คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ได้เป็นคริสเตียนก็เป็นผู้รับใช้พระเจ้าในการทำพันธกิจดูแลลูกๆ
คุณหมอที่ไม่ได้เป็นคริสเตียนก็เป็นผู้รับใช้พระเจ้าในการทำพันธกิจรักษาผู้คน คุณครูที่ไม่ได้เป็นคริสเตียนก็เป็นผู้รับใช้พระเจ้าในการทำพันธกิจสั่งสอนนักเรียน
คำว่า
“พันธกิจ” กับคำว่า “ผู้รับใช้พระเจ้า” ไม่ได้ถูกสงวนไว้สำหรับคริสเตียนเท่านั้น
แต่ยังใช้กับคนไม่เชื่อได้ด้วย แต่นี้ไม่ได้หมายความว่าคนไม่เชื่อจะได้รับความรอด
เพราะความรอดถูกสงวนเฉพาะผู้เชื่อเท่านั้น แต่คำว่าผู้รับใช้พระเจ้ากับคำว่าพันธกิจสามารถใช้กับผู้ไม่เชื่อได้
เมื่อเราเข้าใจว่าผู้ไม่เชื่อก็เป็นผู้รับใช้พระเจ้า
และผู้ปกครองบ้านเมือง(ที่ไม่ได้เป็นคริสเตียน)ก็เป็นผู้รับใช้พระเจ้า
ดังนั้นผู้เชื่อจึงควรเคารพและให้เกียรติผู้ปกครองเหล่านั้นในฐานะผู้รับใช้พระเจ้า
แม้ว่าผู้ปกครองคนนั้นจะไม่ใช่คริสเตียนก็ตาม
ผู้เชื่อยังควรให้เกียรติผู้ไม่เชื่อในอาชีพอื่นๆด้วย
เพราะผู้ไม่เชื่อต่างก็เป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่กำลังทำพันธกิจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
(1 เปโตร
2:17) จงให้เกียรติทุกคน จงรักพวกพี่น้อง จงยำเกรงพระเจ้า จงถวายเกียรติแด่จักรพรรดิ
มีศัพท์คำหนึ่งที่ไม่ปรากฏในพระคัมภีร์
แต่ก็มีการใช้กันอยู่คือคำว่า “ชาวโลก”
คริสเตียนบางคนใช้คำนี้ในการเรียกคนไม่เชื่อ โดยมีนัยยะในการดูถูกอยู่นิดหน่อย
อย่างไรก็ตามในพระคัมภีร์เมื่อเอ่ยถึงคนไม่เชื่อ ก็จะใช้คำว่า “คนไม่เชื่อ” หรือ “คนภายนอก”
ซึ่งพระคัมภีร์ไม่ได้คำว่า “ชาวโลก” เลย
ส่วนตัวผมไม่สนับสนุนการเรียกคนไม่เชื่อว่า ชาวโลก เพราะศัพท์คำนี้มีนัยยะที่หลู่เกียรติคนไม่เชื่อ
แท้จริงคนไม่เชื่อที่ประกอบอาชีพอย่างสุจริตก็เป็นผู้รับใช้พระเจ้า
การทำงานอาชีพของคนไม่เชื่อก็ถือเป็นพันธกิจในการรับใช้พระเจ้าอย่างหนึ่ง
ผู้เชื่อควรจะให้เกียรติไม่เพียงแต่คริสเตียนเท่านั้นแต่ควรให้เกียรติคนที่ไม่ได้เป็นคริสเตียนด้วย
Philip Kavilar
Philip Kavilar นักวิชาการด้านฟิสิกส์
ผู้ศึกษาพระคัมภีร์เป็นงานอดิเรก เป็นผู้ที่มีของประทานด้านวิชาการและการเผยพระวจนะผสมผสานกัน
ท่านมีความปรารถนาที่จะเห็นการร่วมประสานกันระหว่างพี่น้องในสายวิชาการกับพี่น้องในสายฤทธิ์เดช
และหนุนใจให้คริสตจักรขับเคลื่อนในการเผยพระวจนะและการแปลภาษาแปลกๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น