11 เมษายน 2561

ข้อคิดจากละครบุพเพสันนิวาส

ชั่วโมงนี้ใครที่ไม่ได้ดูละครฮิตติดจออย่าง บุพเพสันนิวาส ที่กำลังออกอากาศอยู่ทางช่องไทยทีวีสีช่อง 33 ในขณะนี้ 
พูดได้เลยว่า “เอาท์” ตกเทรนด์เอามากๆ เพราะละครเรื่องนี้กระแสแรงมากๆ ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ซึ่งเป็นละครแนวพีเรียด(period)เป็นแนวโบราณย้อนอดีต นำเสนอความสวยงามของวัฒนธรรมและอิงประวัติศาสตร์ในอดีตถ่ายทอดมาให้ผู้ชมได้รับชมกัน
แม้ว่าจะเป็นละครแนวพีเรียด แต่กลับกลายเป็นละครซิทคอม(sitcom)สร้างความฮาทำเอาทุกคนในครอบครัวติดกันจนงอแงม  สร้างปรากฏการณ์ถนนหนทางจากที่เคยรถติด  กลับกลายเป็นถนนว่างกันหลายสายในค่ำคืนวันพุธและวันพฤหัสบดีที่ละครกำลังออกอากาศอยู่
กระแสคำว่า “ออเจ้า” ที่เป็นสรรพนามโบราณที่ใช้เรียกผู้อาวุโสน้อยกว่า  กลายคำฮิตติดปากหรือตามสังคมออนไลน์ไปในปัจจุบัน เป็นคำฮิตติด hashtag ว่า #ออเจ้า นอกจากนี้ยังนำคำว่า "ออเจ้า" ยังมาใช้เป็น "ออเดอร์" ขายของกันตรืมในร้านขายของออนไลน์
ละคร "บุพเพสันนิวาส" จึงกลายเป็น  "บุพเพอาละวาด" ที่ระบาดความฮาไปทั่วลั่นสนั่นพระนคร

เรื่องย่อของละครเป็นดังนี้  นักแสดงหญิง "เบลล่า ราณี แคมเปน" ที่มารับบทของ เกศสุรางค์  นักโบราณคดีสาวสุดอวบวัย 25 ปี นิสัยดีร่าเริงแจ่มใส และยังมีความรู้ทั้งเรื่องโบราณคดีและภาษาฝรั่งเศสที่ต้องมาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเสียชีวิตคาที่  
แต่แล้ววิญญาณของเธอก็ได้ไปพบกับวิญญาณของ การะเกด หญิงสาวสุดร้ายที่เกิดในสมัยพ.ศ.2225 ที่เสียชีวิตจากการได้รับกรรมจากมนต์กฤษณะกาลี จากการที่เธอไปทำร้ายผู้อื่นจนเสียชีวิต วิญญาณของเกษสุรางค์ได้กลับมาเข้าร่างของการะเกดและได้มาพบรักกับ พระเอก คือ “โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ” รับบทเป็น หมื่นสุนทรเทวา อันเป็น "บุพเพสันนิวาส"  เป็นเนื้อคู่ตามชะตาฟ้าลิขิตที่ทำบุญร่วมกันมาเป็นคู่กันทุกชาติไป  

การรับบทการะเกดของเบลล่าในครั้งนี้ ทำให้เธอถูกพูดถึงเป็นอย่างมากจากความฮาของบทนี้ ได้ถูกสังคมออนไลน์นำมาทำเป็น มีม หรือภาพล้อเลียนใส่คำพูดตลกๆ แชร์กันไปทั่วและได้ตั้งฉายาให้ว่า “การะเกดร้อยมีม”
ก่อนที่ละครเรื่องนี้จะถึงตอนอวสานลาจอกันไป ขอแบ่งปันให้ข้อคิดที่ได้จากละครเรื่องนี้ในฐานะมุมมองของคริสตชนคนหนึ่ง  ดังนี้นะครับ 

ค้นหาความจริงจากประวัติศาสตร์ไม่ใช่ละครอิงประวัติศาสตร์

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่านิยายหรือละครแต่งขึ้นมาเพื่อความบันเทิง อาจจะสอดแทรกสาระให้สมจริงสมจัง เป็นละครอิงประวัติศาสตร์ แต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด  เราควรจะแยกแยะสิ่งที่จริงและสิ่งที่แต่งเติมเข้าไปในละครที่ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน  เมื่อชมละครก็ย้อนนำมาคิดพิจารณา ศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องจะเป็นการเพิ่มความรู้ เรียกว่า "ดูละครและเกิดประโยชน์"

วิเคราะห์ประเด็นด้านศาสนศาสตร์อย่างถูกต้องและสมดุล

ละคร "บุพเพสันนิวาส" เขียนบนพื้นฐานความเชื่อทางพุทธศาสนา บางประเด็นขัดต่อหลักข้อเชื่อคริสตชนและด้านศาสนศาสตร์ ดังเช่น  เรื่อง“บุพเพสันนิวาส” (Love Destiny) 

คำว่า “บุพเพสันนิวาส” มาจากภาษาบาลีว่า ปุพฺเพสนฺนิวาส หมายถึง การเคยอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่ชาติก่อน เป็นคู่สามีภรรยาในชาติก่อน และถูกกำหนดมาเป็น "คู่จิ้น" กันในชาตินี้ (ใช้จินตนาการล้วนๆ)   อย่างเช่นในละครนางเอก คือ เกศสุรางค์ (การะเกด) กับ พระเอก คือ หมื่นสุนทรเทวา เป็นเนื้อคู่ตามชะตาฟ้าลิขิตเป็นบุพเพสันนิวาสเป็นคู่กันทุกชาติๆ ไป 

อันที่จริงแล้ว "คู่จิ้น" ไม่สำคัญเท่า "คู่จริง"  เพราะเราเป็นผู้กำหนดเป็นผู้เลือกเอง  

ประการต่อมา คือ กฏแห่งกรรม

คำว่า “กรรม” เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤตว่า กรฺมนฺ (อ่านว่า  กัร-มัน) คำในภาษาบาลีว่า กมฺม (อ่านว่า  กัม-มะ) แปลว่า การกระทำ
กฏแห่งกรรม คือ ทำสิ่งใดได้รับสิ่งนั้น  นั่นคือ ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว การหว่านสิ่งใด เก็บเกี่ยวสิ่งนั้น (ยกเว้นหว่านถั่วเขียวมันจะออกมาเป็นถั่วงอก)

ผลแห่งกรรมที่ทำไว้ในอดีต ทั้งในชาตินี้และชาติก่อนๆ จะส่งผลมาถึงปัจจุบัน เรียกว่า "ทำบุญ" (merit)
“บุญ” (ปุญญ) แปลว่า ชำระ หมายถึง การทำให้หมดจด ปราศจากมลทิน เครื่องเศร้าหมอง อันได้แก่ ความโลภ (โลภะ) ความโกรธ (โทสะ) และ ความหลง (โมหะ)
ตัวอย่างเช่นในละคร การะเกดต้องตายเพราะมนต์คาถากฤษณะกาลี ทำให้การะเกดต้องทุรนทุรายจนจบชีวิตลง ซึ่งพอเป็นวิญญาณ  ยมทูตถือบ่วงมาจับไปลงนรกตามแรงกรรมที่ได้ทำไว้
แต่วิญญาณของการะเกดขอให้เกศสุรางค์ใช้ร่างการะเกดทำดีเพื่อส่งผลบุญมาให้  ด้วยการไปวัดปฏิบัติธรรมเพื่อทำบุญเผื่อ และทำดีเพื่อชดเชยความผิดที่ตนเคยทำไว้

ซึ่งเป็นแนวความคิดการคือ ทำดีเพื่อสะสมบุญเหมือนการสะสมแต้มเพื่อได้รับของรางวัล 

ในความเป็นจริงแล้ว การทำความดีและความบาปจะถูกแยกกัน ไม่สามารถทดแทนกันได้ แม้แต่การตัดสินพิพากษาในโลกนี้ การตัดสินบนพื้นฐานการกระทำความผิด เอาความดีมาลบล้างก็ไม่สามารถทำได้  แม้แต่ในละครตอนที่สมเด็จพระนารายณ์ได้สั่งให้ลงโทษโบยเจ้าพระยาโกษาธิบดีเหล็ก 60 ครั้งเพราะรับส่วย จนเจ้าพระยาโกษาธิบดีเหล็กถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้คิดถึงคุณความดีที่เคยทำมาตั้งแต่ครั้งอดีต 

ดังนั้นความดีส่วนความดี ความชั่วส่วนความชั่ว ทำความดีทดแทนกันไม่ได้


ในความเชื่อของคริสตชนคือ เราทุกคนเป็นคนบาป ความดีของเราไม่สามารภยกโทษบาปได้

แต่เดี๋ยวนี้ความชอบธรรมของพระเจ้านั้นปรากฏนอกเหนือธรรมบัญญัติ … คือความชอบธรรมของพระเจ้า ซึ่งปรากฏโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์แก่ทุกคนที่เชื่อ โดยไม่ทรงถือว่าเขาแตกต่างกัน เพราะว่าทุกคนทำบาป และเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า” (โรม 3:21-23)

มีเพียงพระเยซูคริสต์ องค์เดียวเท่านั้นที่ทรงปราศจากบาป แลทรงไถ่บาปแก่เราทุกคนได้ เพื่อจะไม่มีผู้ใดอวดได้เพราะความรอดนั้น มิใช่ด้วยการกระทำ แต่ด้วยพระคุณและเพราะความเชื่อ 
“แต่พระเจ้าทรงมีพระคุณให้เขาเป็นผู้ชอบธรรมโดยไม่คิดมูลค่า โดยที่พระเยซูคริสต์ทรงไถ่เขาให้พ้นบาปแล้ว พระเจ้าได้ทรงตั้งพระเยซูไว้ให้เป็นเครื่องบูชาไถ่บาปโดยพระโลหิตของพระองค์ ความเชื่อจึงได้ผล ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นความชอบธรรมของพระเจ้า ในการที่พระองค์ได้ทรงอดกลั้นพระทัย และทรงยกบาปที่ได้ทำไปแล้วนั้น และเพื่อจะสำแดงในปัจจุบันนี้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ชอบธรรม และทรงให้ผู้ที่เชื่อในพระเยซูเป็นผู้ชอบธรรมด้วย(โรม 3:24-25)

"ด้วยว่าซึ่งท่านทั้งหลายรอดนั้นก็รอดโดยพระคุณเพราะความเชื่อ และมิใช่โดยตัวท่านทั้งหลายกระทำเอง แต่พระเจ้าทรงประทานให้ ความรอดนั้นจะเนื่องด้วยการกระทำก็หามิได้ เพื่อมิให้คนหนึ่งคนใดอได้ “ (เอเฟซัส 2:8-9) 

เราที่เป็นผู้ที่เชื่อไม่ได้ทำดีเพื่อสะสมแต้มไปถึงความรอด แต่เราได้รับความรอดจากบาปแล้ว เราจึงสำแดงออกเป็นการกระทำดี การทำความดีและความรอดจึงไม่ได้เป็นการโอ้อวด
เพราะว่าเราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ที่ทรงสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ประกอบการดี ซึ่งพระเจ้าได้ทรงดำริไว้ล่วงหน้าเพื่อให้เรากระทำ” (เอเฟซัส 2:10) 
การประกาศข่าวประเสริฐด้วยความรัก ลดอคติเรื่องศาสนา
ละครเรื่องนี้ได้นำเสนอประเด็นของการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในสมัยยุคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 
ทำให้คนไทยมีอคติในเรื่องการประกาศข่าวประเสริฐในสมัยนั้น ที่เรียกว่า "การเข้ารีต" จึงกลายเป็น "การขูดรีด" แทนที่จะเป็นการนำรับเชื่อแต่เป็นบังคับเชื่อ  


สิ่งที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประสงค์ก็คือ การให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเปลี่ยนศาสนา (เข้ารีต) การที่ราชทูตถวาย พระคัมภีร์ไบเบิ้ลสีทอง ให้เป็นของกำนัลนั้นแสดงถึงความประสงค์นั้น
นั่นเป็นเหตุผลที่ สมเด็จพระนารายณ์ ตรัสกับ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน)  ว่า 
“เองเป็นคริสต์เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าถ้าเองเปลี่ยนศาสนาแล้วละก็ข้าจะถือว่าเองเป็นคนคบไม่ได้”   

การเปลี่ยนศาสนาเพื่อให้เป็นที่ยอมรับนั้น ถือเป็นการทรยศต่อตัวเอง และเป็นคนใช้การไม่ได้ นอกจา่กนี้ การบังคับให้เปลี่ยนศาสนายังเป็น
สิ่งที่ทำให้บรรดาข้าราชการในละครกังวลว่า ประเทศจะถูกยึดเป็นอาณานิคม ชาวต่างชาติมาเพื่อจะเข้ายึดประเทศเพื่อหวังในทรัพยากร 

เมื่อเราดูละคร เราต้องทำความเข้าใจว่าการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในยุคสมัยนั้น เป็นการประกาศศาสนานั้นมาควบคู่กับการค้า  
เหล่าบาทหลวงเป็นสปอนเซอร์ใหญ่หรือผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของเรือสินค้าต่าง ๆ ด้วยความเชื่อและความหวังว่าจะทำให้มีคนกลับใจเป็นคริสเตียนได้มากๆ
บาทหลวงคณะแรกที่เข้ามาอยุธยานั้นอาศัยเข้ามาพร้อมกับพ่อค้าชาวโปรตุเกสในปี ค.ศ. 1567 ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์จะขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1656 แต่เริ่มมีการประกาศจริงจังในปี ค.ศ. 1662 เมื่อคณะเยสุอิตจากฝรั่งเศสเข้ามาตั้งสำนักงานและเปิดโรงเรียนสอนพระคัมภีร์ (สอนพระนักบวช) คำว่า "คริสเตียน" ในสมัยนั้นหมายถึง ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค 
ต่อมาจึงได้คณะมิชชั่นนารีนิกายโปรแตสแตนท์จะเข้ามาไทยใน ปี ค.ศ.1828  ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยศาสนาจารย์จาคอบ ทอมลิน และนายแพทย์คาร์ล กุตสลาฟ สังกัดคณะสมาคมมิชชันนารีแห่งลอนดอน (London Missionary Society) เดินทางเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาที่กรุงเทพฯ  โดยใช้การประกาศศาสนาแบบทำคุณความดีควบคู่ไปด้วย ทำให้คนไทยได้รับคุณประโยชน์

โดยในสมัยของหมอบรัดเลย์ หรือ แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley) เป็นนายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ และยังเป็นผู้เริ่มต้นการพิมพ์อักษรไทยในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และทำการผ่าตัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก 

ทำให้เกิดความเข้าใจความแตกต่างระหว่างคริสเตียนกับคริสตัง 
คริสตัง คือ คำที่ใช้เรียกผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก  ส่วนคริสเตียน คือ คำที่ใช้เรียกผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์

อย่างไรก็ตามในสมัยต่อมา ประเทศไทยได้เปิดกว้างในเรื่องการนับถือศาสนากันมากขึ้น ทำให้มีคณะมิชชั่นนารีเข้ามาในประเทศมากขึ้นและมีส่วนในการพัฒนาประเทศไทย  คนไทยจึงมีอคติต่อศาสนาคริสต์น้อยลงไป

อัครทูตเปาโลดีใจที่ข่าวประเสริฐได้เผยแพร่ไปแท้จะท่าทีที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรควรที่จะประกาศด้วยความรักจะเป็นการลดอคติ และให้ความรักของพระคริสต์ครอบครองด้วยหัวใจดีกว่าใช้กำลังทางทหารหรือการค้าในการประกาศข่าวประเสริฐ

ความจริงมีบางคนประกาศพระคริสต์ด้วยจิตใจริษยาและทุ่มเถียงกัน แต่ก็มีคนอื่นที่ประกาศด้วยใจหวังดี 
ฝ่ายหนึ่งประกาศพระคริสต์ด้วยการชิงดีชิงเด่นกัน ไม่ใช่ด้วยความจริงใจ จงใจจะเพิ่มความทุกข์ยากให้แก่เครื่องพันธนาการของข้าพเจ้า 
แต่ฝ่ายหนึ่งประกาศด้วยใจรัก โดยรู้แล้วว่าทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ป้องกันข่าวประเสริฐนั้นไว้ 18 ถ้าเช่นนั้นจะแปลกอะไร แม้เขาจะประกาศด้วยประการใดก็ตาม จะเป็นด้วยการแกล้งทำก็ดี หรือด้วยใจจริงก็ดี แต่เขาก็ได้ประกาศพระคริสต์ ในการนี้ทำให้ข้าพเจ้ามีความยินดี และจะมีความชื่นชมยินดีต่อไปด้วย  
(ฟิลิปี 1:14-18)

นั่นเป็นข้อคิดจากละครบุพเพสันนิวาส  ที่นำมาฝากัน และเชื่อว่าเราจะดูละครได้ทั้งความสนุกและได้รับสาระด้วย  ขอฝากข้อคิดจากอัครทูตเปาโล ที่หนุนใจในจดหมายฝากไปถึงทิโมธีในฉบับแรกว่า
1 ทิโมธี 4:7-8 
7 อย่าใส่ใจกับเทพนิยายอันหาสาระมิได้ จงฝึกตนในทางธรรม 
8 เพราะถ้าการฝึกทางกายนั้นมีประโยชน์อยู่บ้าง ทางของพระเจ้าก็มีประโยชน์ในทุกทาง เพราะทรงไว้ซึ่งประโยชน์สำหรับชีวิตปัจจุบันและชีวิตอนาคตด้วย 

เมื่อเราดูหรืออ่านนิยายเพื่อความบันเทิง เราควรจะหันมาใส่ใจฝึกฝนชีวิตในฝ่ายจิตวิญญาณเพื่อเกิดประโยชน์อย่างครบถ้วน มีหลักการความจริงไม่เป็นคนหลักลอย คล้อยไปตามกระแสสังคมจนไม่สามารถแยกแยะความจริงและสิ่งที่ีเติมแต่งในละครและอาจจะส่งผลเสียในชีวิตได้ในที่สุด

ขอพระเจ้าอวยพรออเจ้าทั้งหลายหนา 



เรียบเรียงข้อมูลจาก https://www.choojaiproject.org/ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น