14 พฤศจิกายน 2561

พื้นฐานภาษาฮีบรู (อ่านแปปเดียวจบ)

ภาษาฮีบรูเป็นภาษาดั้งเดิมของพระคัมภีร์ และด้วยเหตุที่ภาษาฮีบรูมีพยัญชนะอยู่ 22 ตัว ก็มีบางท่านเสนอว่า ภาษาฮีบรูเป็นภาษาที่ง่ายต่อการเรียนรู้ ยิ่งถ้าเทียบกับภาษาไทยแล้ว ภาษาฮีบรูก็อาจจะเรียนรู้ง่ายกว่าภาษาไทยมาก นอกจากนี้ภาษาฮีบรูแบบดั้งเดิมก็ไม่มีสระด้วย (ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่)
ภาษาฮีบรูไม่มีสระ
        ภาษาฮีบรูแบบดั้งเดิมจะเขียนเป็นพยัญชนะติดกันโดยไม่มีสระ ทั้งนี้วิธีการออกเสียงของคำแต่ละคำในภาษาฮีบรูจะขึ้นอยู่กับว่าคนรุ่นก่อนๆออกเสียงกันยังไง เช่นคำว่า Shalom ถ้าดูจากภาษาฮีบรูดั้งเดิมจะเขียนเป็น Sh-l-m (ไม่มีสระ) แต่เนื่องด้วยคนรุ่นก่อนออกเสียง Sh-l-m เป็น Shalom ด้วยเหตุนี้ Sh-l-m จึงออกเสียงว่า Shalom
ภาษาฮีบรูมีการแยกแยะเพศ
       คำศัพท์แต่ละคำในภาษาไทยจะไม่มีการแยกเพศ ทว่า ในแผ่นดินโลกนี้ก็มีบางภาษาที่มีการแยกแยะเพศ (เช่น ภาษาฝรั่งเศส) ในภาษาฝรั่งเศส ศัพท์บางคำจะเป็นเพศชาย แต่ศัพท์บางคำก็เป็นเพศหญิง ภาษาฮีบรูก็เป็นภาษาหนึ่งที่มีการแยกแยะเพศในแต่ละคำ
การผันรูปเป็นพหูพจน์
ในภาษาอังกฤษ การผันรูปเป็นพหูพจน์จะทำง่ายๆโดยการเติม s เข้าไป ส่วนภาษาฮีบรูการผันรูปเป็นพหูพจน์จะทำโดยการเติมเสียง –im (อิม) หรือ –oth (โอ้ด) เข้าไป เช่นคำว่า Mitvah ที่แปลว่า “พระบัญญัติ” หากต้องการจะผันคำนี้เป็นรูปพหูพจน์ก็จะผันเป็น Mitvoth ที่แปลว่า “พระบัญญัติหลายๆข้อ”
ภาษาฮีบรูเป็นภาษาภาพ
       พยัญชนะฮีบรูแต่ละพยัญชนะจะเป็นภาพสะท้อนของสิ่งต่างๆ เช่น พยัญชนะ Alef ให้ภาพของ “เขาสัตว์” อันเป็นสัญลักษณ์ของพละกำลัง ส่วนพยัญชนะ Beth จะให้ภาพของ “บ้าน” เมื่อนำอักษร Alef กับ Beth มารวมกันก็จะได้คำว่า Av ที่แปลว่า “คุณพ่อ” ซึ่งถ้าดูจากตัวอักษรแล้ว คำว่า “คุณพ่อ” หมายถึงผู้มีพละกำลังในบ้าน ในภาษาฮีบรูนี้ศัพท์หลายคำจะมีความหมายตามภาพของพยัญชนะที่มาประกอบกัน
คำศัพท์ฮีบรูเบื้องต้น
Elohim แปลว่า “พระเจ้า”
ศัพท์คำนี้ตามความหมายจะสื่อถึง “ผู้ที่มีสภาพเทวะหรือผู้ที่มีสภาพเหนือมนุษย์” นอกจากนี้ศัพท์คำนี้ยังเป็นรูปพหูพจน์อีกด้วย (รูปพหูพจน์ในภาษาฮีบรูจะลงท้ายด้วย –im (อิม) หรือ –oth (โอท) )
ในประเด็นนี้ บางท่านจึงเสนอว่า คำศัพท์ “พระเจ้า” ในภาษาฮีบรูมีนัยยะที่สะท้อนถึง ตรีเอกานุภาพ
Adonai แปลว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” หรือ “เจ้านาย”
ศัพท์คำนี้หมายถึง “เจ้านาย” ซึ่งในภาษาฮีบรูแล้วศัพท์คำนี้จะใช้กับมนุษย์หรือใช้กับพระเจ้าก็ได้ ในกรณีที่เราเป็นลูกน้องของมนุษย์ มนุษย์ที่เป็นนายของเรา เราก็สามารถเรียกเป็น “Adonai” ได้ ทั้งนี้พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่มักจะเขียนให้พระเยซูมีฐานะเป็น Adonai(เจ้านาย) ของผู้เชื่อ และเขียนให้พระเจ้ามีฐานะเป็น Av(คุณพ่อ) ของผู้เชื่อ
YHWH เป็นพระนามของพระเจ้า ซึ่งมีการถกเถียงกันอยู่ว่าต้องออกเสียงอย่างไร
ภาษาฮีบรูแบบดั้งเดิมเป็นภาษาที่ไม่มีสระ และพระนามของพระเจ้าก็ประกอบไปด้วย พยัญชนะ 4 ตัวเขียนติดกันคือ พยัญชนะ Yod + Hey + Vav + Hey เนื่องด้วยการไม่มีสระ จึงไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าคำนี้ต้องออกเสียงอย่างไร สำหรับคนฮีบรูรุ่นก่อน ก็ไม่ได้ออกเสียงคำนี้ตรงๆ แต่จะออกเสียงเป็น Adonai แทน เพราะคนยิวมีความยำเกรงต่อคำนี้มาก จึงไม่กล้าออกเสียง YHWH เลย กระนั้นบางคนก็เสนอว่า คำนี้ควรออกเสียงเป็น “เยโฮวาห์” แต่นักวิชาการบางคนกลับเห็นว่า ออกเสียง “ยาห์เวห์” อาจจะถูกต้องกว่า อนึ่ง แม้ว่าหลายครั้งคนยิวจะออกเสียง YHWH เป็น Adonai แต่บางทีคนยิวก็ออกเสียง YHWH เป็น Yah (ยาห์) โดยที่ไม่เติม Weh (เวห์)
Shalom แปลว่า “สันติสุข” หรือ “ครบบริบูรณ์”
ศัพท์คำนี้ในภาษาฮีบรูให้ภาพของความครบบริบูรณ์ที่ไม่มีรูรั่ว รากของศัพท์คำนี้สื่อถึงการชดเชยหรือการซ่อมแซม ด้วยเหตุนี้คำว่า Shalom จึงหมายถึงความครบบริบูรณ์ที่มีพื้นฐานมาจากการชดเชยหรือการซ่อมแซม ความครบบริบูรณ์นี้จะใช้กับความสัมพันธ์ของมนุษย์หรือใช้กับความกินดีอยู่ดีก็ได้ นอกจากนี้คำว่า Shalom ยังเป็นคำศัพท์ที่คนยิวใช้ทักทายกันด้วย ในการทักทายนี้จึงเป็นการอวยพรที่ว่า ขอให้รูรั่วต่างๆในชีวิตได้รับการซ่อมแซมจนครบบริบูรณ์

ชาโลม
Philip Kavilar

1 ความคิดเห็น:

  1. เเนะนำการอ่านภาษาฮีบรูเเบบไม่มีสระหน่อยครับ

    ตอบลบ