05 กุมภาพันธ์ 2563

ความเข้าใจผิดเรื่องรักแบบ "อากาเป้"

ความเข้าใจผิดเรื่องรักแบบ "อากาเป้" 

เมื่อหลายปีก่อน มีนักวิชาการท่านหนึ่งได้เขียนอธิบายถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรักในภาษากรีก ซึ่งผมคิดเห็นว่า บทความของนักวิชาการท่านนี้ให้ข้อเท็จจริงทางวิชาการที่ยอดเยี่ยมทีเดียว ผมจึงขอเชื้อเชิญเพื่อนๆอ่านบทความนี้ครับ - Brother Philip



ความเข้าใจผิดเรื่องรักแบบ "อากาเป้" 
(ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์)
คริสตชนถูกสอนต่อๆกันมายาวนานว่า คำว่ารักในภาษากรีกมี 4 คำ ซึ่งหมายถึงความรัก 4 แบบแตกต่างกัน อันได้แก่คำว่า 1.เอโรส 2.สเตอร์เก 3.ฟีเล่ย์ 4.อากาเป้ แล้วก็อธิบายว่า 


อีรอส (eros) เป็นความรักของชายหญิงที่มีความใคร่รวมอยู่ด้วย เป็นความรักที่เห็นแก่ตัว


สเตอร์เก (storge) เป็นความรักผูกพัน เหมือนกับรักทางสายเลือด เช่นความรักระหว่าง พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง หรือญาติ


ฟีเลีย หรือ ฟิเลโอ (philia หรือ phileo) เป็นความรักผูกพันที่อบอุ่นแบบสามีภรรยา ทะนุถนอมกัน


แล้วก็มาถึงคำว่ารักแบบสุดท้ายคือ คำว่า "อากาเป้" หรือ อากาเปา (agape, agapao) โดยบอกว่าเป็นรักบริสุทธิ์ รักที่ยิ่งใหญ่ รักที่ไม่มีข้อแม้ แล้วก็มักอธิบายต่อว่า พระคัมภีร์ใช้คำว่า อากาเป้ กับพระเจ้าเท่านั้น หมายความว่า รักแบบของพระเจ้าคือรักแบบอากาเป้ และคริสตชนต้องรักกันด้วยความรักแบบอากาเป้
ที่จริงแล้ว ความเข้าใจเหล่านี้ไม่ถูกต้องใน 4 ประเด็นด้วยกัน


ประการแรก คือ คำกรีกที่มีความหมายถึงการ "รัก" มีมากกว่า 4 คำแน่นอน เช่นยังมีคำว่า
ลูดัส (ludus) หมายถึง ความรักแบบเล่นๆ สนุกสนาน ความรักแบบเด็กๆ
แพร็กม่า (pragma) หมายถึง ความรักที่ยาวนาน เหมือนกับความรักของคู่สามีภรรยาที่อยู่กันจนแก่เฒ่า ฟิลัวเทีย (philuatia) หมายถึงความรักตัวเอง หมายถึงได้ทั้ง การหลงตัว และการสงสารตัวเอง และยังมีคำอื่นอีก


ประเด็นที่สองคือ คำว่าความรักที่พระเจ้าใช้ ตามที่ปรากฎในพระคัมภีร์นั้น ไม่ได้ใช้แต่คำว่า อากาเป้ เท่านั้น ยังมีการใช้คำว่า ฟีเลีย ด้วย มาดูตัวอย่างกัน


ตัวอย่างเช่น ในขณะที่พระธรรมยอห์น 3:16 ที่บอกว่า "เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก" คำว่ารักตรงนี้ใช้คำกรีก อากาเปา (agapao) หรือก็คือ อากาเป้ (agape) นั่นเอง แต่มีปรากฎอย่างน้อย 4 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ภาษากรีก ที่ใช้คำว่ารัก-ฟีเลีย กับพระเจ้า


ยอห์น 5:20 ที่บอกว่า "เพราะว่าพระบิดาทรงรักพระบุตรและทรงแสดงให้พระบุตรเห็นทุกสิ่งที่พระองค์ทรงทำ..."
คำว่า "รัก" ของ "พระบิดา" หรือพระเจ้า ตรงนี้ใช้ ฟิเลโอ (phileo) หรือ ฟิเลีย


ยอห์น 16:27 ก็บอกว่า "เพราะว่าพระบิดาเองก็ทรงรักพวกท่าน เพราะท่านรักเราและเชื่อว่าเรามาจากพระเจ้า"
คำว่า "รัก" ทั้งสองคำนี้ซึ่งเป็นรักของพระบิดา และของมนุษย์ เป็นคำว่า ฟีเลโอ หรือฟีเลีย


วิวรณ์ 3:19 "เรารักใครเราก็ตักเตือนและตีสอนเขา..."
คำว่า "เรา" ตรงนี้หมายถึงพระเยซูคริสต์ผู้ทรงสถานภาพพระเจ้า และ "รัก" ข้อนี้ใช้คำว่า ฟิเลโอ หรือ ฟีเลีย


ทิตัส 3:4 "แต่เมื่อความดีเลิศและความรักของพระเจ้า พระผู้ช่วยให้รอดของเรามาปรากฏ"
คำว่า "ความรัก" ตรงนี้ใช้คำว่า philantropia เป็นความรักในมนุษย์ รากศัพท์ก็มาจาก ฟิเลโอ หรือฟีเลีย


สรุปก็คือ คำว่าความรักในภาษากรีกที่ใช้หมายถึงความรักของพระเจ้า ไม่ได้มีแต่คำว่า อากาเป้ เท่านั้น แต่ใช้คำว่า ฟีเลีย ด้วย มาดูความเข้าใจผิดต่ออีกสองประการ

ความเข้าใจผิดประการที่สาม คำว่า อากาเป้ ก็ไม่ได้ใช้กับพระเจ้าเท่านั้น ยังมีการใช้กับมนุษย์ด้วย เช่น ยอห์น 3:19 ที่บอกว่า "...มนุษย์รักความมืดมากกว่าความสว่าง เพราะกิจการของพวกเขาเลวทราม"
คำว่า "รัก" ในข้อนี้ เป็นการรักของมนุษย์ แต่คำว่า "รัก" ตรงนี้ใช้คำกรีก อากาเปา (agapao) หรือ อากาเป้


และความเข้าใจผิดประการสุดท้าย ประการที่สี่ คำว่า อากาเป้ ไม่ได้ใช้กับความหมายในด้านดีเท่านั้น แต่ใช้ในความหมายที่ไม่ดีด้วย เช่นในยอห์น 3:19 ที่บอกว่า "...มนุษย์รักความมืดมากกว่าความสว่าง เพราะกิจการของพวกเขาเลวทราม" คำว่า "รัก" ในข้อนี้ เป็นการรักของมนุษย์ และเป็นการรัก "ความมืด" ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่คำว่า "รัก" ตรงนี้ใช้คำกรีก อากาเปา (agapao) หรือ อากาเป้ นั่นเอง


ยอห์น 12:43 "เพราะว่าพวกเขารักการชมของมนุษย์ มากกว่าการชมของพระเจ้า"
รักตรงนี้ใช้คำว่า อากาเปา หรือ อากาเป้


2 เปโตร 2:15 "บาลาอัมบุตรโบโซร์ ผู้ซึ่งโปรดปรานสินจ้างที่ได้มาจากการอธรรม"
คำว่า "โปรดปราน" ตรงนี้ในภาษากรีกก็คือคำว่า รัก อากาเปา หรือ อากาเป้


2 ทิโมธี 4:10 "เพราะว่าเดมาสหลงรักโลกนี้ และทิ้งข้าพเจ้าไปยังเมืองเธสะโลนิกาแล้ว"
รักตรงนี้คือ อากาเปา หรือ อากาเป้


ฉะนั้น โปรดอย่าเข้าใจคำว่า "อากาเป้" ผิด หรือให้ความหมายสูงส่งจนเกินข้อเท็จจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น