01 พฤศจิกายน 2561

อวยพรแบบคนยิว (รวยแบบยิว)

        จากสถิติที่ผ่านมามีความชัดเจนว่า คนยิวเป็นชนชาติที่ประสบความสำเร็จในด้านการเงินมากเป็นอันดับต้นๆของโลก มีการประมาณการไว้ว่า 35% ของเศรษฐีในอเมริกาก็มีเชื้อชาติยิว ซึ่งนับว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก เหตุที่คนยิวสามารถก้าวหน้าในด้านการเงินได้ก็มีอยู่หลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่ผมขอเสนอในที่นี้คือปัจจัยที่เกี่ยวกับการอวยพร

ในขนบของศาสนาคริสต์ เมื่อผู้คนเจอกันหรือลาจากกันก็จะอวยพรด้วยประโยค “พระเจ้าอวยพร” หรือ “God Bless You” ทว่าในธรรมเนียมยิวซึ่งมีรากส่วนหนึ่งมาจากพระคัมภีร์ ผู้คนจะไม่ได้อวยพรด้วยคำว่า “พระเจ้าอวยพร” แต่จะอวยพรหรือลาจากกันด้วยคำว่า “Shalom” ซึ่งแปลว่า “ครบบริบูรณ์”
        หมายเหตุ คำว่า Shalom มีคำแปลหลายคำ ซึ่งหลายครั้งจะแปลเป็นคำว่า “สันติสุข” แต่ด้านหนึ่งก็แปลว่า “ครบบริบูรณ์” ก็ได้ ทั้งนี้ในภาษาเดิมคำว่า Shalom ให้ภาพของ “ความครบถ้วนบริบูรณ์” เหมือนกับกำแพงที่ไร้รูรั่ว ซึ่งในทัศนะของผมแล้ว คำว่า “ครบบริบูรณ์” จะให้ภาพของคำว่า Shalom ได้ดีกว่าคำว่า “สันติสุข”

คำว่า Shalom นี้ตามความหมายแล้วสามารถใช้ได้ทั้งในเรื่องของหัวใจและเรื่องของความเป็นอยู่ก็ได้ เมื่อคำว่า Shalom ใช้ในบริบทของหัวใจจะมีความหมายถึง หัวใจที่ครบบริบูรณ์และไร้รูรั่ว (หมายถึง ไร้ความวิตก ไร้ความหวาดผวา ไร้ความสิ้นหวัง ฯลฯ) หัวใจที่มี Shalom เป็นหัวใจที่สะท้อนถึงความเปรมปรีดิ์ มีทั้งความเชื่อ ความหวัง และความรัก อยู่เต็มเปี่ยม

คำว่า Shalom ถ้าใช้กับบริบทของความเป็นอยู่ จะหมายถึงความเป็นอยู่ที่ครบบริบูรณ์และไร้รูรั่ว ซึ่งไม่ขัดสน ไม่เจ็บป่วย แต่มีความมั่งคั่ง มีสุขภาพแข็งแรง และมีชื่อเสียงดี
กรอบความคิดของคนยิวเป็นกรอบความคิดที่ไม่ได้แบ่งแยกโลกฝ่ายวิญญาณกับโลกฝ่ายกายภาพ ดังนั้นเมื่อคนยิวอวยพรด้วยคำว่า Shalom การอวยพรนี้เป็นการอวยพรให้เกิดความครบบริบูรณ์ทั้งในฝ่ายวิญญาณและฝ่ายกายภาพ การอวยพรนี้ไม่ได้เป็นการขอให้มีแต่ความสุขในฝ่ายวิญญาณเท่านั้น แต่เป็นการอวยพรที่ขอให้ความเป็นอยู่ในฝ่ายกายภาพมีความครบสมบูรณ์ด้วย

ในกรอบความคิดของคนต่างชาติ บางครั้งก็มีแนวคิดที่ว่า “พระเจ้าประทานสันติสุขในวิญญาณเท่านั้น” แนวคิดนี้สอนว่า คนเราสามารถมีความสุขในวิญญาณได้แม้ว่าความเป็นอยู่ภายนอกอาจจะย่ำแย่ แนวคิดนี้อาจฟังดูดี แต่ด้านหนึ่งก็เป็นกรอบความคิดแบบคนต่างชาติที่เน้นแต่ฝ่ายวิญญาณ ในกรอบความคิดของคนต่างชาติ คำว่า Shalom จะให้ความหมายถึง “ความครบบริบูรณ์ในหัวใจเท่านั้น” ทว่าในภาษาเดิมและในกรอบความคิดของคนยิวแล้ว คำว่า Shalom จะให้ความหมายถึง ความครบบริบูรณ์ทั้งในหัวใจและความเป็นอยู่

คำว่า Shalom ยังมีรากศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับคำว่า Shalam ซึ่งหมายถึง “การชดเชยหรือการซ่อมแซม” ดังนั้นคำว่า Shalom จึงหมายถึง ความครบบริบูรณ์ที่มีนัยยะของการชดเชยหรือการซ่อมแซม
ในธรรมบัญญัติ เมื่อผู้หนึ่งไปขโมยทรัพย์สินของผู้หนึ่ง เมื่อถูกจับได้แล้ว ผู้ที่ขโมยจะต้องชดเชยให้กับเจ้าของ โดยผู้ที่ขโมยจะต้องชดเชยให้มากยิ่งกว่าทรัพย์สินที่ขโมยไป คำว่า ชดเชย นี้เองคือรากศัพท์ของคำว่า Shalom ทั้งนี้ การชดเชยตามธรรมบัญญัติเป็นการชดเชยที่ล้ำเลิศกว่าสภาพเดิม เช่น ก่อนหน้านี้หากเรามีโคอยู่ 1 ตัว แล้วถ้าโคของเราถูกขโมยไปขาย หากคนที่ขโมยถูกจับ คนที่ขโมยจะต้องชดเชยให้เราคืนด้วยโค 5 ตัว เห็นได้ว่าภายหลังการชดเชย สภาพที่เป็นหลังการชดเชย (โค 5 ตัว) ก็ล้ำเลิศกว่าสภาพก่อนชดเชยเสียอีก (โค 1 ตัว)

ด้วยเหตุนี้ คำว่า Shalom จึงหมายถึงความครบบริบูรณ์ที่มีพื้นเพจากการซ่อมแซมให้ดีกว่าสภาพเดิม คนเราเมื่อดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการทำธุรกิจ บางครั้งบางคราวก็เกิดรูรั่วขึ้น ซึ่งรูรั่วที่เกิดขึ้นนี้บางทีก็เกิดขึ้นโดยไม่ได้เจตนาให้เกิด แต่เมื่อ Shalom มาถึง รูรั่วเหล่านี้ก็ได้รับการชดเชยหรือซ่อมแซมจนเกิดเป็นความครบบริบูรณ์ เมื่อคนยิวอวยพรผู้หนึ่งว่า Shalom การอวยพรนี้มีนัยยะที่ว่า ขอให้รูรั่วต่างๆ (รูรั่วนี้อาจหมายถึง ปัญหาการเงิน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาทางอารมณ์ ฯลฯ) ได้รับการชดเชยและซ่อมแซมจนดียิ่งกว่าเดิม 

       ในขนบของศาสนาคริสต์แบบต่างชาติ ถ้อยคำของอวยพรคือ “ขอพระเจ้าอวยพร” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่เน้นในมิติของพระพร แต่ในธรรมเนียมยิว ถ้อยคำของการอวยพรคือ Shalom อันเป็นถ้อยคำที่เน้นในมิติของการซ่อมแซมจนครบบริบูรณ์

      การอวยพรด้วยคำว่า Shalom เป็นวัฒนธรรมที่ฝังแน่นกับชาวยิวมาช้านาน ด้วยเหตุนี้เมื่อประชากรของพระเจ้าเกิดรูรั่วขึ้น พวกเขาจะไม่วิตกกับรูรั่วมากจนเกินไป แต่พวกเขาจะมีความหวังอยู่เสมอว่า รูรั่วต่างๆนั้นจะได้รับการซ่อมแซม เมื่อประชากรของพระเจ้าเกิดทำสิ่งใดพลาด แม้ว่าความพลาดจะก่อให้เกิดรูรั่ว แต่ประชากรของพระเจ้าก็จะมีความหวังอยู่เสมอว่าพระเจ้าจะเข้ามาซ่อมแซมรูรั่วนั้น และถ้ารูรั่วเหล่านั้นได้รับการซ่อมแซมแล้ว สภาพภายหลังการซ่อมแซมก็จะดียิ่งกว่าสภาพเดิมเสียอีก เพราะพระเจ้าทรงเป็นความครบบริบูรณ์ของพวกเรา (Adonai Shalom)


ชาโลม
Philip Kavilar

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น