30 กรกฎาคม 2555

Acts 6:1-7_จัดระบบบริหารเคลื่อนตามพระวิญญาณ

ศึกษาพระธรรมกิจการของอัครทูต
คริสตจักร "ต้นแบบ"ตามพระบัญชา
กิจการของอัครทูต 6:1-7
1 ในคราวนั้นเมื่อศิษย์กำลังทวีมากขึ้น พวกนิยมกรีกบ่นติเตียนพวกฮีบรูว่า ในการแจกทานทุกๆวันนั้นเขาเว้นไม่ได้แจกให้พวกแม่ม่ายชาวกรีก
2 ฝ่ายอัครทูตทั้งสิบสองคนจึงเรียกบรรดาศิษย์ให้ประชุมกัน แล้วกล่าวว่า "ซึ่งเราจะละเลยพระวจนะของพระเจ้า มัวไปแจกอาหารก็หาควรไม่
3 เหตุฉะนั้นพี่น้องทั้งหลายจงเลือกเจ็ดคนในพวกท่าน ที่มีชื่อเสียงดีประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และสติปัญญา เราจะตั้งเขาให้ดูแลการงานนี้
4 ฝ่ายพวกเราจะขะมักเขม้นอธิษฐาน และรับใช้พระเจ้าในพันธกิจแห่งพระวจนะเสมอไป"
5 คนทั้งหลายเห็นชอบกับคำนี้ จึงเลือกสเทเฟนผู้ประกอบด้วยความเชื่อและพระวิญญาณบริสุทธิ์ กับฟีลิป โปรโครัส นิคาโนร์ ทิโมน ปารเมนัส และนิโคเลาส์ชาวเมืองอันทิโอกซึ่งเป็นผู้เข้าจารีตฝ่ายศาสนายิว
6 คนทั้งเจ็ดนี้เขาให้มายืนต่อหน้าพวกอัครทูต แล้วพวกอัครทูตก็อธิษฐานและวางมือบนเขา
7 การประกาศพระวจนะของพระเจ้าได้เจริญขึ้น และจำพวกศิษย์ก็ทวีขึ้นเป็นอันมากในกรุงเยรูซาเล็ม และพวกปุโรหิตเป็นอันมากก็ได้เชื่อในพระศาสนา

อารัมภบท
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในครั้งนี้เราได้กลับมาศึกษาพระธรรมกิจการฯร่วมกัน เมื่อคริสตจักรมีการเจริญเติบโตอย่างมาก ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเกิดขึ้นเช่นกัน  เนื่องจากในคริสตจักรสมัยแรกรับใช้ด้วยการพึ่งพาพระเจ้า และรับการเต็มล้นด้วยฤทธิ์เดชพระวิญญาณทำให้สามารถขับเคลื่อนคริสตจักรให้เติบโตทั้งคุณภาพและปริมาณ คือ เมื่อศิษย์กำลังทวีมากขึ้น ทำให้การแจกอาหารไม่ทั่วถึง นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหา ในพระธรรมตอนนี้เราจึงได้เห็น “ต้นแบบ” ของการจัดระบบบริหารของคริสตจักร   การจัดระบบบริหารจึงเป็นการเคลื่อนตามการทรงนำของพระวิญญาณ สิ่งที่เราเห็นตามมา คือ การรับใช้ที่มีชีวิตชีวา และเห็นถึงการเกิดผลอย่างมากมาย เราจะมาศึกษาร่วมกัน

1.ข้อสังเกตเพื่อใคร่ครวญ
ข้อสังเกตจากพระธรรมตอนนี้ในการจัดระบบบริหารในคริสตจักรสมัยแรก นั่นคือต้องมีการประชุมประเมินสถานการณ์ และมีการจัดเรียงลำดับความสำคัญ(Priority)ของงานที่ทำ ในข้อ 1-4 อัครทูตได้จัดเรียงลำดับความสำคัญของงานคือ งานหลักคืออธิษฐาน และรับใช้พระเจ้าในพันธกิจแห่งพระวจนะ เป็นบทบาทโดยตรงของอัครทูต แต่งานแจกอาหารก็ไม่ควรที่จะละเลย ทางออกของการแก้ไขปัญหาคือการกระจายงาน โดยมอบหมายงานให้ผู้อื่นช่วยทำ คือ วางคนให้เหมาะสมกับงาน (Put the right man on the right job)ในข้อ 5 คนทั้งหลายเห็นชอบกับคำนี้ จึงเลือกสเทเฟนผู้ประกอบด้วยความเชื่อและพระวิญญาณบริสุทธิ์ กับฟีลิป โปรโครัส นิคาโนร์ ทิโมน ปารเมนัส และนิโคเลาส์ชาวเมืองอันทิโอกซึ่งเป็นผู้เข้าจารีตฝ่ายศาสนายิว อัครทูตได้เลือกทีมงาน 7 คน เรียกว่าเป็นดัง Dream team ในฝ่ายวิญญาณเข้ามามีส่วนร่วมรับใช้พระเจ้าโดยการดูแลแจกอาหารให้คนทั่วไป
การคัดเลือกบุคคลที่มาทำหน้าที่บริหารการแจกทานครั้งนี้ คุณสมบัติคือ ผู้ประกอบด้วยความเชื่อและพระวิญญาณบริสุทธิ์ ไม่ได้เลือกตามผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นหลัก จะเห็นได้ว่าการคัดเลือกบุคคลมาร่วมรับใช้กับคณะอัครทูต คุณสมบัติสำคัญคือคนที่มีชีวิตที่ดี และประกอบด้วยพระวิญญาณฯ เหมือนดังในการคัดเลือกอัครทูตที่มาทำหน้าที่แทนยูดาส ในพระธรรมกิจการฯบทที่ 1 ตามที่เราได้พิจารณากันไปแล้ว ในบทความ(Acts 2:1-21_คริสตจักรที่ “ทำตาม”พระบัญชา) 

2.ข้อคิดสะกิดใจ
ใน กจ.6:1-6 คณะอัครทูตได้แต่งตั้ง “คณะเจ็ดคน” ขึ้นเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจ ทำงานเฉพาะทางคือการแจกทาน เรียกว่า มัคนายก (deacon) การจัดระบบบริหารคริสตจักรต้องเลือกบุคคลที่เหมาะสม เพราะต้องเลือกจากผู้ที่มีหัวใจปรนนิบัติ คำว่า "มัคนายก" (Deacon-เดคอน)หากพิจารณาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือคำว่า diakonos(διάκονος)-ไดโคนอส ให้ความหมายคือ ผู้รับใช้(servant)

ฉะนั้นท่าทีเป็นผู้รับใช้ ปรนนิบัติ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการเลือกคนที่มาทำหน้าที่นี้
ในเวลานั้นการแจกทานให้แก่ผู้เชื่อไม่ทั่วถึงโดยไม่ได้แจกให้พวกแม่ม่ายชาวกรีก การแต่งตั้งคณะเจ็ดคนจึงเป็นความคิดริเริ่มของผู้นำในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยได้แต่งตั้งผู้เชื่อที่ชื่อเสียงดี มีลักษณะชีวิตที่ดีและมีความสามารถให้รับผิดชอบการแจกทาน มัคนายกจึงมีหน้าที่ทำภารกิจงานตามที่ได้รับมอบหมายจากอัครทูตและอยู่ใต้สิทธิอำนาจของอัครทูต และสิทธิอำนาจนั้นเกิดจากการได้รับมอบหมายงานเจาะจง
กจ.6:3 เหตุฉะนั้นพี่น้องทั้งหลายจงเลือกเจ็ดคนในพวกท่าน ที่มีชื่อเสียงดีประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และสติปัญญา เราจะตั้งเขาให้ดูแลการงานนี้
กจ.6:6 คนทั้งเจ็ดนี้เขาให้มายืนต่อหน้าพวกอัครทูต แล้วพวกอัครทูตก็อธิษฐานและวางมือบนเขา
จะเห็นได้ว่าพระเจ้าเป็นผู้แต่งตั้งผู้นำในคริสตจักรเพื่อทำหน้าที่ปกครองดูแลคริสตจักร และผู้นำในคริสตจักรเป็นผู้แต่งตั้งมัคนายกให้ทำหน้าที่ในภารกิจงานที่เจาะจงตามที่ได้รับมอบหมายในฐานะผู้ช่วยและเป็นทีมงานร่วมรับใช้ ตัวอย่างของการจัดระเบียบเหล่าสาวกเจ็ดสิบคนและหน้าที่ของเขาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า “ไม่มีกฎแต่มีความรัก ไม่มีหลักบริหารแต่เคลื่อนตามพระวิญญาณ”
ในการรับใช้ของอัครสาวก พวกเขาตระหนักว่าต้องพึ่งพาฤทธิ์เดชของพระวิญญาณอย่างมาก โดยสะท้อนผ่านคำพูดใน กจ.6:4ก เริ่มต้นว่า “ ฝ่ายพวกเราจะขะมักเขม้นอธิษฐาน...”  ความกระตือรือร้นเป็นสิ่งสำคัญมากและเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นชีวิต ที่มีพระเจ้าอยู่ภายใน หากเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าเราจะแสดงความตื่นเต้นกระตือรือร้นในพระองค์ คำว่า “ขะมักเขม้น” คำนี้แสดงให้เห็นถึงการมีความพากเพียรอุตสาหะ ในลักษณะที่ยึดมั่นถือมั่น เอาจริงเอาจัง หิวกระหาย  นี่คือ ลักษณะวิถีการดำเนินชีวิตของคริสตจักรสมัยแรกที่ยังคงเหนียวแน่น เอาจริงเอาจังในความเชื่อ มีชีวิตแห่งการอธิษฐานอย่างกระตือรือร้น 
“การอธิษฐาน” คือ การพูดคุยสนทนากับพระเจ้าอย่างมีความหมาย ไม่ใช่เป็นการพร่ำบ่น หรือ พูดวนเวียนไปมาโดยปราศจากความหมายแต่แสวงหาคำตอบจากพระเจ้าอย่างเจาะจง พระเจ้าทรงเป็นคำตอบที่เมื่อพบทางตัน พระองค์จะประทานทางออกเสมอในทุกทาง 
การจัดการบริหารจึงเป็นสิ่งที่ช่วยคริสตจักรในการขับเคลื่อนตามการทรงนำของพระวิญญาณ ทั้งนี้เพราะหากไม่จัดารบริหารให้ดีทรัพยากรที่มีความจำกัดก็จะไม่พอเพียง หรือการใช้ของประทานในคริสตจักร หากไม่มีการจัดระบบบริหารก็จเกิดความสับสนวุ่นวาย แต่พระเจ้าไม่ใช่พระเจ้าแห่งการวุ่นวาย (1คร.14:33)จัดระบบบริหารการใช้ของประทานเพื่อปฏิบัติทุกสิ่งตามระเบียบวินัย (1คร.14:40)
พระเยซูคริสต์เป็นต้นแบบของการบริหารจัดการ เช่นในกรณีการเลี้ยงคน 5,000 คน ด้วยขนมปัง 5 ก้อนและปลา 2 ตัว แม้ทรัพยากรจำกัดแต่พระเยซูทรงไม่จำกัดแต่พระองค์ทรงทำการอัศจรรย์ โดยจักระบบการนั่งของสาวกให้นั่งเป็นหมู่ เพื่อรับอาหารและแบ่งปันอย่างครบถ้วน
มก.6:38-42 38 พระองค์ตรัสตอบเขาว่า "พวกท่านมีขนมปังอยู่กี่ก้อน ไปดูซิ" เมื่อรู้แล้วเขาจึงทูลว่า "มีขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัว" 39 พระองค์จึงตรัสสั่งคนทั้งปวง ให้นั่งรวมกันที่หญ้าสดเป็นหมู่ๆ 40 ประชาชนก็ได้นั่งรวมกันเป็นหมู่ๆ หมู่ละร้อยคนบ้าง ห้าสิบบ้าง 41 เมื่อพระองค์ทรงรับขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัวนั้นแล้ว ก็แหงนพระพักตร์ดูฟ้าสวรรค์ ถวายคำสาธุการแล้วหักขนมปังนั้นให้เหล่าสาวก ให้เขาแจกแก่คนทั้งปวง และปลาสองตัวนั้น พระองค์ทรงแบ่งให้ทั่วกันด้วย 42 เขาได้กินอิ่มทุกคน
ข้อคิดคือ การจัดระบบบริหารต้องเอื้ออำนวยให้พระวิญญาณทรงเคลื่อนไหวด้วย ไม่ใช่บริหารคริสตจักรตามหลักบริหารแบบ MBA จนติดยึดรูปแบบตายตัว ผู้นำคริสตจักรควรมีการจัดระบบบริหารและเคลื่อนไปตามการทรงนำของพระเจ้า เป็นผู้นำที่เอื้ออำนวยความสะดวก (facilitator) ให้พระวิญญาณฯเคลื่อนไหว โปรดดำเนินสะดวกในคริสตจักรท้องถิ่นนั้นๆ
ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า หลายคริสตจักรมีการบริหารคริสตจักรแบบมีคณะผู้ปกครอง แต่ได้รับคัดเลือกมาจากนักธุรกิจหรือผู้บริหารองค์กรภายนอกคริสตจักร ทำให้บางครั้งคณะผู้ปกครองใช้หลัการบริหารแบบความรู้ด้านธุรกิจมาบริหารคริสตจักร จึงไม่ได้มีการบริหารที่เอื้ออำนวยให้พระวิญญาณนเคลื่อนไหวในคริสตจักร หรือบางครั้งใช้อำนาจมาแทรกแซงการทำงานของศิษยาภิบาลในคริสตจักรนั้นๆ ทำให้คริสตจักรไม่ได้เกิดผลเท่าที่ควร
หากเราดูผลของการจัดระบบบริหารตามการทรงนำของพระวิญญาณ เราเห็นได้ว่าคริสตจักรเกิดผลมาก
กจ.6:7 การประกาศพระวจนะของพระเจ้าได้เจริญขึ้น และจำพวกศิษย์ก็ทวีขึ้นเป็นอันมากในกรุงเยรูซาเล็ม และพวกปุโรหิตเป็นอันมากก็ได้เชื่อในพระศาสนา
คำถามใคร่ครวญ : เรามีการบริหารจัดการกับทรัพยากรในชีวิตของเราอย่างไรให้เหมาะสม และให้พระวิญาณทรงนำหรือไม่ในการจัดการบริหาร ?

3.ข้อสรุปเพื่อการประยุกต์ใช้
สำหรับข้อสรุปเพื่อการประยุกต์ใช้คือ เราได้เห็นต้นแบบของพระเยซูคริสต์ที่พระองค์จัดระบบการแจกอาหาร และเห็นได้ว่าเมื่อสาวกหยิบยื่นขนมปังและปลาให้กับพระเยซูก็เห็นการอัศจรรยืเกิดขึ้น
เมื่อเราบริหารจัดการเราควรจะมอบทรัพยากรที่เรามีทุกอย่างให้พระเจ้าทรงนำในการจัดการและเราจะเห็นการอัศจรรย์ให้เกิดผลมากขึ้น กว่าความคิดที่จำกัดของเรา เพราะพระเจ้าไม่จำกัดเราจึงอย่าเอาความจำกัดของเรามาจำกัดพระเจ้าที่ไม่จำกัด
จากพระธรรมตอนนี้ เราได้เรียนรู้ในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของงาน และเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน และที่สำคัญคือต้องจัดระบบบริหารเคลื่อนตามการทรงนำของพระวิญญาณ

ขอพระเจ้าอวยพระพร พบกันใหม่โอกาสหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น