07 มิถุนายน 2555

Acts 5:17-26_คริสตจักรที่เผชิญการข่มเหง

ศึกษาพระธรรมกิจการของอัครทูต
คริสตจักร "ต้นแบบ"ตามพระบัญชา
กิจการของอัครทูต 5:17-26
17 ฝ่ายมหาปุโรหิตและพรรคพวกของท่านคือพวกสะดูสี มีความอิจฉาอย่างยิ่ง
18 จึงได้จับพวกอัครทูตจำไว้ในคุกหลวง
19 แต่ในเวลากลางคืนทูตองค์หนึ่งของพระเจ้า ได้มาเปิดประตูคุก พาพวกอัครทูตออกไป บอกว่า
20 "จงไปยืนในบริเวณพระวิหาร ประกาศบรรดาข้อความแห่งชีวิตใหม่นี้ให้ประชาชนฟัง"
21 เมื่ออัครทูตได้ยินอย่างนั้น พอรุ่งเช้าก็เข้าไปสั่งสอนในบริเวณพระวิหารต่อไป ฝ่ายมหาปุโรหิตประจำการกับพรรคพวกของท่าน ได้เรียกประชุมคือพฤฒสภาทั้งหมดของชนอิสราเอล แล้วใช้คนไปที่คุกให้พาอัครทูตออกมา
22 เจ้าพนักงานก็ไปแต่ไม่พบพวกอัครทูตในคุก จึงกลับมารายงานว่า
23 "ข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นคุกปิดอยู่มั่นคงและคนเฝ้าก็ยืนอยู่ที่ประตู ครั้นเปิดประตูเข้าไปก็ไม่เห็นผู้ใดอยู่ข้างใน"
24 เมื่อนายทหารรักษาพระวิหารกับพวกมหาปุโรหิตได้ยินคำเหล่านี้ ก็ฉงนสนเท่ห์ในเรื่องของอัครทูตว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
25 มีคนหนึ่งมาบอกเขาว่า "นี่แน่ะ คนเหล่านั้นซึ่งท่านทั้งหลายได้จำไว้ในคุก กำลังยืนสั่งสอนคนทั้งปวงอยู่ในบริเวณพระวิหาร"
26 แล้วนายทหารรักษาพระวิหารกับพวกเจ้าพนักงาน จึงได้ไปพาพวกอัครทูตมาโดยดี เพราะกลัวว่าคนทั้งปวงจะเอาหินขว้าง


อารัมภบท
เราได้ศึกษาพระธรรมกิจการฯ มาจนถึงในบทที่ 5:12-16 เมื่ออัครทูตได้ทำหมายสำคัญและการอัศจรรย์อย่างมากมาย จนกระทั่งเป็นที่โจษขาน ผู้คนรอบ ๆ กรุงเยรูซาเล็ม พากันนำคนเจ็บ คนป่วยมาหาอัครทูตด้วยความคาดหวังว่า คนเจ็บคนป่วยเหล่านั้น จะได้รับการช่วยเหลือให้ความป่วยไข้รับการรักษาให้หาย และความคาดหวังนั้นได้รับสมความปรารถนา ซึ่งส่งผลให้มีคนมาเข้าพวกกับอัครทูตมากว่าแต่ก่อน ทำให้เป็นที่อิจฉาของพวกบรรดานักการศาสนาในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นพวกฟาริสี สะดูสี เรียกว่า "พวกมีสี"ทั้งหลาย
ฟาริสี คือ กลุ่มนักการศาสนาที่เคร่งครัดในกฎระเบียบที่บรรพบุรุษถ่ายทอด เป็นกลุ่มคนที่อุทิศตัวอย่างจริงจังให้กับลัทธิยูดาห์ของยิว บางคนเชื่อว่าฟาริสีมีต้นกำเนิดย้อนไปตั้งแต่สมัยเอสรา
สะดูสี เป็นกลุ่มผู้เคร่งในศาสนาซึ่งมักอยู่ในกลุ่มคนที่มีสถานะทางสังคมชั้นสูงของยิว มีความเชื่อต่างกับฟาริสีในเรื่องการเป็นขึ้นจากความตาย กล่าวคือ สะดูสีจะไม่เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ขณะที่ฟาริสีเชื่อว่ามีจริง
เวลาจดจำคือ คำว่า ฟา=ฟื้น สะดู=สิ้น ทำให้เราสามารถแยกแยะว่าต่างกันอย่างไร
นอกจากนี้ยังมี คนหลักที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการรวมตัวกันต่อสู้พวกอัครทูต ที่เอ่ยถึง ณ ที่นี้ คือ “มหาปุโรหิต” ซึ่งเป็นหัวหน้าสูงสุดของสภาแซนเฮดดริน ซึ่ง คาดว่าน่าจะเป็น “คายาฟาส”(ยน.11:49-50) ด้วยเหตุที่คายาฟาสเป็นมหาปุโรหิตจึงดำรงตำแหน่งเป็นประธานของสภาแซนเฮดดรินนี้ เขาจึงเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญที่ตัดสินให้พระเยซูคริสต์ถูกตรึงที่กางเขน จากความอิจฉานี่เองทำให้พวกคนเหล่านี้ข่มเหงพวกสาวกของพระเยซูคริสต์ 
นี่เป็นสิ่งที่คริสตจักรในสมัยกิจการฯเผชิญคือการข่มเหง เราได้มีโอกาสศึกษามาแล้วในเรื่องการขัดขวางข่าวประเสริฐในกจ.4 แต่ในบทที่5เป็นการยกระดับของการขัดขวางเป็นการข่มเหงโดยมีการจับกุมตัวอัครทูตไปขังในคุก  ในวันนี้เราจะมีศึกษาต้นแบบของคริสตจักรที่เผชิญการข่มเหงและพวกเขาตอบสนองสถานการณ์อย่างไร เรามาพิจารณาร่วมกัน
1.ข้อสังเกตเพื่อใคร่ครวญ
17...ฝ่ายมหาปุโรหิตและพรรคพวกของท่านคือพวกสะดูสี มีความอิจฉาอย่างยิ่ง
คำว่า “มีความอิจฉาอย่างยิ่ง” ภาษาเดิมให้ความหมายในลักษณะ การถูกทำให้เต็มไปด้วยความขุ่นเคืองใจ อันมาจากจิตใจที่ริษยา ประสงค์ร้าย อย่างแรงกล้า
นี่คือสภาวะจิตใจที่มีความขุ่นเคืองอย่างรุนแรง อะไร คือมูลเหตุที่ทำให้มหาปุโรหิตและพวกสะดูสีมีความรู้สึกรุนแรงขนาดนั้น เป็นความรู้สึกขุ่นเคืองใจ ที่แฝงด้วยความริษยาและมุ่งร้าย
เหตุการณ์ก่อนหน้านั้น บอกว่าเมื่ออัครทูตทำหมายสำคัญและการอัศจรรย์อย่างมากมาย
เป็นหมายสำคัญและการอัศจรรย์ที่ทำให้คนได้รับการช่วยเหลือ
เป็นหมายสำคัญและการอัศจรรย์ที่ทำให้คนได้รับการปลดปล่อยจากพันธนาการ อาทิ โรคร้ายก็มลายหายสิ้น ซึ่งทำให้คนให้ความเคารพอัครทูตเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีคนเป็นจำนวนมากที่เข้ามาเป็นสาวกของพระเจ้ามากกว่าแต่ก่อน
ประเด็นหัวใจหลักที่ทำให้ความรู้สึกขุ่นเคืองใจอย่างรุนแรงถูกก่อขึ้นในจิตใจของมหาปุโรหิตและพวกสะดูสี เป็นความรู้สึกที่มากยิ่งกว่าอิจฉา เป็นความริษยา เป็นความริษยาอันเกิดจากการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม
คริสตจักรในแต่ละยุคมักจะเผชิญการข่มเหงเนื่องจากคริสตจักรไปขัดผลประโยชน์ของผู้ที่มีอิทธิพลในชุมชน
ข้อ 18 บรรยายต่อไปว่า ...จึงได้จับพวกอัครทูตจำไว้ในคุกหลวง
ระหว่างข้อที่ 17 และ 18 ได้ใช้คำที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผลสะท้อน มาจากกัน
ความอิจฉา ความขุ่นเคืองใจ ในข้อ 17 นั้น ได้สะท้อนออกมาเป็น การกระทำ ใน ข้อ 18 คือ จับพวกอัครทูตจำไว้ในคุกหลวง ส่งผลให้อัครทูตได้รับความลำบาก  
ความอิจฉาริษยาทำให้คนที่ตกอยู่ในภาวะอันเลวร้ายนั้น สามารถกระทำได้แม้สิ่งที่เลวร้ายที่สุด ความอิจฉาริษยาสามารถนำมาซึ่งการประหัตประหารและทำลายล้างอย่างน่ากลัว
“พระเยซู” เคยถูกอายัดไว้ก็เพราะความอิจฉาของนักการศาสนา(มธ.27:18)ซึ่งพระองค์ทรงสอนสาวกไว้แล้วให้อดทนต่อการข่มเหง พระองค์บอกว่า "บ่าวไม่ใหญ่กว่านาย" "ถ้าเขาข่มเหงเราเขาก็จะข่มเหงท่านทั้งหลายด้วย ถ้าเขาปฏิบัติตามคำของเรา เขาก็จะปฏิบัติตามคำของท่านทั้งหลายด้วย"(ยน. 15:20)พระเยซูเป็นแบบอย่างที่ดีในการตอบสนองการข่มเหง เราควรที่จะเลียนแบบพระองค์ สิ่งที่เราจะได้รับคือสันติสุขท่ามกลางการข่มเหงและแผ่นดินสวรรค์เป็นของเรา ตามที่พระเยซูคริสต์สอนไว้ใน (มธ.5:10 "บุคคลผู้ใดต้องถูกข่มเหงเพราะเหตุความชอบธรรม ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา")เมื่อเราดำเนินชีวิตในความชอบธรรมเราอาจจะต้องเผชิญคนอธรรมข่มเหง แต่บางครั้งเราต้องมีสติปัญญาด้วย ในการรู้กาลเวลา ไม่นำการข่มเหงมาสู่ตนเองก่อนเวลาสมควรโดยไม่จำเป็น

หากคิดในแง่บวก "การที่คนอิจฉาเราก็ดีกว่าคนสงสารเราเป็นไหนๆ" การที่ถูกอิจฉาแสดงว่าเรามีสิ่งที่ดีจนคนต้องอิจฉา ยิ่งดำเนินชีวิตในทางพระเจ้า จะมีแต่คนเฝ้าคอยอิจฉา เพราะพระเจ้าจะประทานพระพรแก่เรา

2.ข้อคิดสะกิดใจ
ในข้อ 19-21 เป็นเหตุการณ์น่าตื่นเต้นมาก เพราะทูตสวรรค์มาช่วยอัครทูต และอัครทูตได้โอกาสในการประกาศข่าวประเสริฐออกไปทั่ว
ข้อคิดตอนนี้คือ พระเจ้าจะมีวิธีการช่วยเหลือผู้ที่ถูกข่มเหงอย่างเกินธรรมชาติ ทูตสวรรค์มาช่วยเหมือนตอนที่ช่วยเพื่อนของดาเนียล ออกจากเตาไฟ(ดนล.3)
ข้อคิดอีกสิ่งคือ การข่มเหงนำมาซึ่งการเกิดผลที่เพิ่มขึ้น หากเราได้ศึกษาต่อไปในพระธรรมกิจการฯ เราจะเห็นว่ายิ่งคริสเตียนถูกการข่มเหงทำให้ข่าวประเสริฐแพร่กระจายไปมากขึ้น เพราะคริสเตียนเอาจริงเอาจังในการประกาศข่าวประเสริฐ

หากศึกษาตามประวัติศาสตร์คริสตจักร ในช่วงหลังจากค.ศ.313 เป็นต้นไป คริสเตียนได้รับการปลดปล่อยจากการข่มเหงโดยจักรพรรดิ์คอนสแตนตินที่กลับใจมานับถือพระเยซูคริสต์ และประกาศให้คริสตศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของจักรวรรดิโรมัน
คริสเตียนได้รับความสะดวกสบาย แต่กลับกลายเป็นการทำให้คริสเตียนตายด้านในฝ่ายวิญญาณ จนเข้าสู่ยุดมืดของคริสตจักรในช่วงค.ศ.500 เป็นต้นมา เพราะวิญญาณศาสนาครอบงำ คริสเตียนได้ดำเนินชีวิตตามรูปแบบพิธีกรรม แต่ขาดการมีชีวิตชีวา คริสตจักรในสมัยพระธรรมกิจการฯ ได้หายไปทั้งการมีชีวิตชีวา ฤทธิ์เดชหมายสำคัญจากพระเจ้า และความรูปแบบสามัคคีธรรมใกล้ชิดกันตามบ้าน นี่คือสิ่งที่ต้องรื้อฟื้นกลับมาในคริสตจักรปัจจุบัน
ในเหตุการณ์จากพระธรรมตอนนี้ เราได้เห็นถึงการตอบสนองของอัครทูตที่ไม่หวั่นไหวต่อการถูกข่มเหง และยืนหยัดมั่นคงในหลักการของพระเจ้า สิ่งที่ได้รับคือ
1.ได้รับอิสรภาพ (21-23)พระเจ้าปลดปล่อยพวกเขาจากคุก
2.ได้ทำตามพระบัญชา (25)พวกเข้าได้ออกไปประกาศสั่งสอนตามพระบัญชา
3.ได้รับการปกป้องจากความอยุติธรรม (26)พระเจ้าปกป้องเขาให้ได้รับความปลอดภัยไม่ถูกก้อนหินขว้าง เมื่อถึงเวลาที่เหมือนทางตัน พระเจ้าจะประทานทางออกให้เสมอ
ในวันนี้เราต้องถามตนเองว่า หากเราถูกการข่มเหง เราจะตอบสนองอย่างไร และเรามั่นใจไหมว่า พระเจ้าทรงมีแผนการดีที่ช่วยเราเสมอ

3.ข้อสรุปเพื่อการประยุกต์ใช้
พระเจ้าที่ปกป้องบรรดาอัครทูต คือพระเจ้าองค์เดียวกับที่เราทั้งหลายรู้จักและนมัสการพระองค์ ขอให้เราไว้วางใจในการช่วยกู้ของพระเจ้าเมื่อต้องเผชิญกับ การข่มเหง
เพราะ พระเจ้าจะให้อิสรภาพแก่เรา ไม่มีประตูที่ปิดแล้วจะเปิดไม่ได้ ถ้าพระเจ้าเป็นผู้เปิด
เพราะ พระเจ้าจะทำให้คนเหล่านั้นที่ต่อต้านขัดขวางพระราชกิจพระเจ้าต้องตกอยู่ในความประหวั่นพรั่นพรึงเมื่อเห็นพระหัตถ์พระเจ้าอยู่เหนือ คนของพระองค์ที่ดำเนินชีวิตอย่างสัตย์ซื่อ และไม่ประนีประนอมต่อความผิด
เพราะพระเจ้าจะทำให้เราได้ทำตามพระบัญชาที่พระเยซูได้มอบไว้ให้แก่เราจนสำเร็จ คือได้นำพระคุณความรักพระเจ้าไปถึงคนทั้งหลายจนสุดปลายแผ่นดินโลก
เพราะเราจะได้รับการปกป้องจากการอยุติธรรม
ในวันนี้ขอให้เราได้มั่นใจในแผนการที่ดีของพระเจ้า แม้เราจะถูกข่มเหง แต่เราได้เห็นจากตัวอย่างในวันนี้แล้วว่า เหล่าอัครทูตได้รับการปกป้องและผ่านพ้นมาได้ การข่มเหงเป็นอุปกรณ์ไม่ใช่อุปสรรคในการที่จะทำให้ข่าวประเสริฐของพระเจ้าแพร่กระจายไป
ขอพระเจ้าอวยพร พบกันใหม่ในโอกาสต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น