42เขาทั้งหลายได้ขะมักเขม้นฟังคำสอนของจำพวกอัครทูตและร่วมสามัคคีธรรม ทั้งขะมักเขม้นในการหักขนมปังและการอธิษฐาน
43 เขามีความเกรงกลัวด้วยกันทุกคนและพวกอัครทูตทำการอัศจรรย์ และหมายสำคัญหลายประการ
44 บรรดาผู้ที่เชื่อถือนั้นก็อยู่พร้อมกัน ณ ที่แห่งเดียว และทรัพย์สิ่งของของเขาเหล่านั้นเขาเอามารวมกันเป็นของกลาง
45 เขาจึงได้ขายที่ดินและทรัพย์สิ่งของ มาแบ่งให้แก่คนทั้งปวงตามซึ่งทุกคนต้องการ
46 เขาได้ร่วมใจกันไปในพระวิหารและหักขนมปังตามบ้านของเขา ร่วมรับประทานอาหารด้วยความชื่นชมยินดีและใจกว้างขวางทุกวันเรื่อยไป
47 ทั้งได้สรรเสริญพระเจ้าและคนทั้งปวงก็ชอบใจ ฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้า ได้ทรงโปรดให้คนทั้งหลายซึ่งกำลังจะรอดมาเข้ากับพวกสาวกทุกวันๆ
อารัมภบท
สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน กลับมาศึกษาพระธรรมกิจการฯกันอีกครั้ง ในตอนที่ 6 ซึ่งเป็นตอนที่มีความสำคัญ เพราะจะเห็นได้ว่ามีชุมชนผู้ที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ ที่ได้ตอบสนองต่อข่าวประเสริฐ จากชุมชนเล็กๆ รวมตัวกันจนได้กลายเป็นชุมชนที่ใหญ่มากขึ้นในทุกวัน และเป็นชุมชนแห่งพระพร ที่ส่งต่อความรักและความรอดของพระเจ้าออกไป ครั้งขอตั้งชื่อตอนว่า
"คริสตจักรที่เป็นชุมชนแห่งพระพร" มีสิ่งใดบ้างที่ข้อคิดและหลักการที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้บ้าง เราจะมาศึกษาร่วมกัน
จากเหตุการณ์ตอนนี้ เราจะเห็นได้ว่าคริสตจักรในสมัยแรก จากพระธรรมกิจการฯ เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่บันทึกเหตุการณ์จริงที่ให้แง่มุมมองหลายสิ่งจากตอนนี้ มุมมองที่สำคัญที่น่าจะคิดใคร่ครวญ คือ การสามัคคีธรรมในกลุ่มย่อย เห็นถึงการเจริญเติบโตของคริสตจักรอย่างรวดเร็ว กลุ่มสามัคคีธรรมเป็นกลุ่มที่เล็กที่สุดในการที่ผู้เชื่อได้มาร่วมกันเพื่อสามัคคีธรรม
ลักษณะการสามัคคีธรรม 2 อย่าง คือ สามัคคีธรรมกับ ”พระเจ้า” และ สามัคคีธรรมกับ “พี่น้อง” ในชุมชน
คำว่า “สามัคคีธรรม” นี้ มาจากภาษาเดิม คือ koinonia ซึ่งให้ ความหมายว่า การแบ่งปัน การมีหุ้นส่วนกัน เมื่อกล่าวถึงการสามัคคีธรรมนั้น ก็มักจะกล่าวถึงพิธีมหาสนิท และ บ่อยครั้งที่อ้างถึงการแบ่งปันข้าวของ หรือ การมีหุ้นส่วนกัน หรือ การมีความสัมพันธ์กันในชุมชน หรือ การมีมิตรภาพต่อกัน การสามัคคีธรรมกันนั้นแสดงออกได้ใน 7 รูปแบบ ที่เป็นดังเสาหลักของคริสตจักรสมัยแรก ดังต่อไปนี้
1.การสามัคคีธรรมในกลุ่มย่อย(46) โดยคริสตจักรสมัยแรกมักจะใช้บ้านเป็นกลุ่มสามัคคีธรรม 46...เขาได้ร่วมใจกันไปในพระวิหารและหักขนมปังตามบ้านของเขา
2.การสอนพระวจนะ(42)…เขาทั้งหลายได้ขะมักเขม้นฟังคำสอนของจำพวกอัครทูต
3.การอธิษฐาน (42) …ขะมักเขม้นในการหักขนมปังและการอธิษฐาน
4.การถวายทรัพย์ แบ่งปันสิ่งของกันและกัน (44) บรรดาผู้ที่เชื่อถือนั้นก็อยู่พร้อมกัน ณ ที่แห่งเดียว และทรัพย์สิ่งของของเขาเหล่านั้นเขาเอามารวมกันเป็นของกลาง
5.การปลดปล่อยของประทานการรับใช้ (43)...เขามีความเกรงกลัวด้วยกันทุกคนและพวกอัครทูตทำการอัศจรรย์ และหมายสำคัญหลายประการ
6.การนมัสการ(47) ทั้งได้สรรเสริญพระเจ้าและคนทั้งปวงก็ชอบใจ
แม้ว่ารูปแบบคริสตจักรในสมัยปัจจุบันโดยเฉพาะการสามัคคีธรรมอาจจะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้เพื่อปรับให้เข้ากับยุคสมัยและความสะดวกสำหรับผู้ร่วมกลุ่มสามัคคีธรรม แต่หลักการต่างๆในคริสตจักรสมัยแรกก็ยังคงใช้ได้อยู่เพียงแต่ปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบทท้องถิ่น เรียกว่า "ยึดหลักการ แต่ยืดหยุ่นในวิธีการ"
2.ข้อคิดสะกิดใจ
นี่คือ ลักษณะวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนคริสตจักรในสมัยแรกที่เป็นต้นแบบของคริสตจักรในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่า การตัดสินใจอย่างกลับใจอย่างทันทีทันใดจากเหตุการณ์ตอนที่แล้วที่มีผู้เชื่อทวีมากขึ้นเป็น 3,000 คนในคราวเดียว แต่ก็มีการมาผูกพันรวมตัวกันในชุมชนอย่างทันทีทันใด ซึ่งแม้การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ย่อมนำการข่มเหงมาสู่ชุมชนผู้เชื่อ ซึ่งเราจะให้ได้ในเหตุการณ์การข่มเหงในพระธรรมกิจการฯในบทต่อๆไป
ดังนั้น คำว่า “ได้ขะมักเขม้น” ในที่นี้ จึงหมายถึงการยังคงมีความตั้งใจ เด็ดเดี่ยว มั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ถูกสั่นคลอนให้ล้มเลิกที่จะฟังคำสอนของพวกอัครทูต ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร ก็ยังคงมีความกระตือรือร้นที่จะรับคำสอนและร่วมสามัคคีธรรม เพราะพวกเขาเห็นว่าการสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ทำให้เผชิญสิ่งต่างๆได้
ในพระธรรมกิจการฯบทที่ 2 นี้ถือว่าเป็นการสถาปนาคริสตจักรอย่างเป็นทางการหลังจากที่พระวิญญาณบริสุทธุิ์เทลงมา คำว่า "คริสตจักร" หรือ "Ekklessia" ไม่ได้หมายถึงตัวอาคารสถานที่ แต่หมายถึงชุมชนของผู้เชื่อที่ถูกเรียกออกมาจากความมืดเข้าสู่ความสว่างในพระคริสต์และมารวมกันเป็นชุมชน (1เปโตร 2:9 แต่ท่านทั้งหลายเป็นชาติที่พระองค์ทรงเลือกไว้แล้ว เป็นพวกปุโรหิตหลวง เป็นประชาชาติบริสุทธิ์ เป็นชนชาติของพระเจ้าโดยเฉพาะ เพื่อให้ท่านทั้งหลายประกาศพระบารมีของพระองค์ ผู้ได้ทรงเรียกท่านทั้งหลายให้ออกมาจากความมืด เข้าไปสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์) จะเห็นได้ว่าคริสตจักรสมัยแรกจะไปร่วมสามัคคีธรรมในพระวิหาร หรือธรรมศาลา(Synagogue)และตามบ้าน
การสามัคคีธรรมนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการสามัคคีธรรมกับพระเจ้า คือ ไม่ว่าจะในรูปแบบของการร่วมพิธีมหาสนิท การอธิษฐาน และ นมัสการ
ยังมีการสามัคคีธรรมกันระหว่างพี่น้องอีกด้วย ซึ่งแสดงออกเป็น 2 รูปแบบที่พบได้ในตอนนี้ คือ การแบ่งปันสิ่งของและแป่งปันประสบการณ์ชีวิตที่เป็นพระพรต่อกันและกัน
ข้อ 44 บรรดาผู้ที่เชื่อถือนั้นก็อยู่พร้อมกัน ณ ที่แห่งเดียว และทรัพย์สิ่งของของเขาเหล่านั้นเขาเอามารวมกันเป็นของกลาง
ข้อ 45 เขาจึงได้ขายที่ดินและทรัพย์สิ่งของ มาแบ่งให้แก่คนทั้งปวงตามซึ่งทุกคนต้องการ
นั่นคือ ภาพของการสามัคคีธรรมที่มีต่อกันระหว่างพี่น้อง
เป็นการสามัคคีธรรมที่แสดงออกด้วยการแบ่งปัน ซึ่งเป็นไปตามความหมายของภาษาเดิม koinonia เป็นเพราะพวกเขาตระหนักดีว่า เมื่อก่อนนั้นพวกเขาถูกแยกออกจากกัน ขาดความสัมพันธ์ที่พึงมี เพราะกำแพงแห่งความสัมพันธ์ ของขนบธรรมเนียมประเพณี เชื้อชาติ ระหว่างยิวและคนต่างชาติ
แต่มาบัดนี้ โดยพระโลหิตของพระเยซูที่หลั่งออกที่ไม้กางเขน ทำให้ความสัมพันธ์นั้นกลับคืนมาดังเดิมแล้ว
ดังที่ เอเฟซัส 2:13-19 ได้บรรยายไว้ว่า…
13 แต่บัดนี้ในพระเยซูคริสต์ท่านทั้งหลายซึ่งเมื่อก่อนอยู่ไกล ได้เข้ามาใกล้โดยพระโลหิตของพระคริสต์
14 เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นสันติสุขของเรา เป็นผู้ทรงกระทำให้ ทั้งสองฝ่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทรงรื้อกำแพงที่กั้นระหว่างสองฝ่ายลง
15 คือการเป็นปฏิปักษ์กัน โดยในเนื้อหนังของพระองค์ ได้ทรงให้ธรรมบัญญัติอันประกอบด้วยบทบัญญัติและกฎหมายต่างๆนั้นเป็นโมฆะ เพื่อจะกระทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นคนใหม่คนเดียว
ในพระองค์ เช่นนั้นแหละ จึงทรงกระทำให้เกิดสันติสุข
16 และเพื่อจะทรงกระทำให้ทั้งสองพวกคืนดีกับพระเจ้า เป็นกายเดียวโดยกางเขน ซึ่งเป็นการทำให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อกันหมดสิ้นไป
17 และพระองค์ได้เสด็จมาประกาศสันติสุขแก่ท่านที่อยู่ไกล และประกาศสันติสุขแก่คนที่อยู่ใกล้
18 เพราะว่าพระองค์ทรงทำให้เราทั้งสองพวกมีโอกาสเข้าเฝ้าพระบิดาโดยพระวิญญาณองค์เดียวกัน
19 เหตุฉะนั้นท่านจึงไม่ใช่คนต่างด้าวต่างแดนอีกต่อไป แต่ว่าเป็นพลเมืองเดียวกันกับธรรมิกชน และเป็นครอบครัวของพระเจ้า
ถ้าเราทำความเข้าใจหลักการนี้ การแบ่งปันก็จะไม่ใช่เรื่องยากเย็นเลย เพราะเราเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ความทุกข์ของสมาชิกในครัวเรือน คนในครัวเรือนย่อมทุกข์ร้อนด้วยพระวจนะพระเจ้าบอกว่า การแบ่งปันข้าวของซึ่งกันและกัน เป็นเครื่องบูชาที่พระเจ้าพอพระทัย
ฮีบรู 13:16 จงอย่าละเลยที่จะกระทำการดี และจงแบ่งปันข้าวของซึ่งกันและกัน เพราะเครื่องบูชาอย่างนั้นเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า
นั่นคือ สิ่งที่เราทำกับพี่น้องก็เป็นเช่นการกระทำถวายแด่พระเจ้า นอกจากนั้น ในการแบ่งปัน พระวจนะระบุว่า ยังต้องให้ด้วยใจกว้างขวาง
โรม 12:8 …ถ้าเป็นการบริจาคก็จงให้ด้วยใจกว้างขวาง…
การให้ด้วยใจกว้างขวางแสดงว่า เป็นการให้มาจากใจ ไม่ใช่รู้สึกฝืนใจที่ต้องให้ แต่ให้ด้วยความเต็มใจ การสามัคคีธรรมกับพี่น้องด้วยการแบ่งปันนั้น จึงต้องทำมาจากใจ และ จากใจที่กว้างขวาง การให้ด้วยใจกว้างขวางนี้เอง ที่เป็นเหตุให้พระเจ้าเพิ่มเติมให้อีก เพื่อจะได้มีแจกจ่ายต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด
2โครินธ์ 9:11…โดยทรงให้ท่านทั้งหลายมีสิ่งสารพัดมั่งคั่งบริบูรณ์ขึ้น เพื่อให้ท่านมีแจกจ่ายอย่างใจกว้างขวางซึ่งโดยเราจัดแจก จะให้เกิดการขอบพระคุณพระเจ้า
นี่คือ ความอัศจรรย์ที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของเราได้ อยากรับประสบการณ์นี้ จงเริ่มต้นให้ออกไป แล้วท่านจะเห็นการเทลงมาอย่างมั่งคั่งบริบูรณ์ เพื่อจะได้มีแจกจ่ายอย่างใจกว้างขวางต่อไป
นี่คือ หลักการของพระเจ้าในการหมุนเวียนทรัพยากรภายในความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง ที่ทำให้ไม่มีใครสักคนต้องขัดสนท่ามกลางพวกเราเลย ตรงกันข้าม คนที่หวงแหนสิ่งที่ควรจำหน่ายออกไป ก็จะยิ่งขัดสนอย่างไม่สิ้นสุด (สุภาษิต 11:24 บอกไว้อย่างนั้นว่า บางคนยิ่งจำหน่ายยิ่งมั่งคั่ง บางคนยิ่งยึดสิ่งที่ควรจำหน่ายไว้ยิ่งขัดสนก็มี)
นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในคริสตจักรสมัยแรกนั้น มีการช่วยเหลือกันและกัน คนที่มีมากกว่าก็ช่วยเหลือคนที่มีน้อยกว่าเช่นในกจ.4:34-35 บันทึกไว้ว่า ในพวกศิษย์ไม่มีผู้ใดขัดสน
เพราะอัครทูตทำหน้าที่แจกจ่ายให้ทุกคนตามที่ต้องการนั่นคือ ด้วยการแบ่งปันกัน ในที่สุดจะไม่มีใครที่ขัดสนเลย
ไม่เพียงแต่แบ่งปันกันภายในหมู่พี่น้องที่อยู่ใกล้ชิดเท่านั้น คริสเตียนที่เมืองอันทิโอกยังแบ่งปันให้กับพี่น้องคริสเตียนที่แคว้นยูเดีย ในคราวที่มีการกันดารอาหารอีกด้วย (กจ.11:29)
คริสตจักรที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นคริสตจักรต้นแบบที่สามัคคีธรรมกันด้วย “การแบ่งปันกัน”
และเป็นชุมชนแห่งพระพรที่ส่งออกไปทั่วโลก จนทำให้คนทั้งหลายได้มารับความรอด
บิล จอห์นสัน (Bill Johnson) ศบ.คริสตจักรเบธเอล (Bethel Church) ใน USA ผู้เขียนหนังสือ “เมื่อสวรรค์บุกรุกโลก” ได้กล่าวว่า “บางคนอาจจะให้ได้โดยไม่มีความรัก แต่เป็นไปไม่ได้ถ้ารักและจะไม่ให้ เมื่อมีความรักจะให้ออกไปโดยไม่เก็บเอาไว้ มีคนอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทแรกเมื่อพระเจ้าเร้าใจก็จะให้ออกไป และอีกประเภทคือเขาจะให้ออกไปจนกว่าพระเจ้าจะเร้าใจให้หยุด”
ในวันนี้ขอให้เราเป็นคนประเภทที่ 2 ที่เราจะแบ่งปันความรักของพระเจ้าด้วยการให้ออกไป จนกว่าพระเจ้าจะเร้าใจให้หยุดให้ออกไป เพราะรักจึงให้ออกไปแบบที่พระเจ้าทรงรักเราด้วยความรักของพระองค์ พระคัมภีร์สอนให้เราแบ่งการถวายของเราเป็น 3 ส่วน คือ สิบลด การไปถวายในเทศกาลต่างๆ และการให้แก่ผู้ยากไร้ผู้ขัดสน(ฉธบ15:9-15)
คำต่อมาที่น่าสนใจคือ “มีหมายสำคัญและการอัศจรรย์” หมายสำคัญและการอัศจรรย์ย่อมเกิดขึ้นในชุมชนคริสตจักรที่มีการสอนพระวจนะอย่างสัตย์ซื่อ อย่างครบถ้วน อย่างมีความเชื่อในสิ่งที่สอน อย่างตั้งใจทำและ ตั้งใจเป็น ในสิ่งที่พระวจนะบอกไว้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคริสตจักรที่มีสามัคคีธรรมกับพระเจ้าอย่างสนิทสนมซึ่งเป็นการนำการทรงสถิตของพระเจ้ามาอยู่ด้วยอย่างชัดเจน
ที่ไหนที่พระเจ้าสถิตอยู่ด้วย ยากยิ่งที่จะไม่ได้เห็นหมายสำคัญการอัศจรรย์
หมายสำคัญและการอัศจรรย์ไม่ใช่สิ่งที่พ้นสมัยแล้ว แต่ยังร่วมสมัยอยู่ (มก.16:17 มีคนเชื่อที่ไหนหมายสำคัญเหล่านี้จะบังเกิดขึ้น ที่นั้น …)
นี่คือ เหตุที่คริสตจักรในสมัยกิจการฯเป็นคริสตจักรต้นแบบนี้ มีหมายสำคัญและการอัศจรรย์เกิดขึ้น พระคัมภีร์บอกว่า หลายประการ ไม่ใช่บางประการ และ แสดงว่า เกิดขึ้นบ่อย ไม่ใช่นาน ๆ ครั้งแน่ ดังที่ตลอดหนังสือกิจการ บันทึกไว้อย่างมากมาย อาทิเช่น...
(กจ.3:6-10) คนง่อยแต่กำเนิดเดินได้ (กจ.5:12) มีหมายสำคัญและการอัศจรรย์หลายอย่าง ซึ่งอัครทูตได้ทำด้วยมือของตน ในหมู่ประชาชน พวกสาวกอยู่พร้อมกันในเฉลียงของซาโลมอน
นั่นคือ มีหมายสำคัญการอัศจรรย์หลายประเภท หลายอย่าง ทั้งคนง่อยเดินได้ คนตาบอดมาเห็นได้ คนหูหนวกได้ยิน คนถูกพันธนาการจากวิญญาณชั่ว ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นไท
กจ. 5:15 บอกอย่างนั้นว่า...ผู้คนคาดหวังการอัศจรรย์ถึงขนาดว่า เอาคนเจ็บป่วยนอนบนแคร่และวางตามถนนที่รู้ว่า เปโตรจะเดินผ่าน เพราะคาดหวังว่า เงาเปโตรจะได้รักษาคนป่วยได้เลยทีเดียว
กจ.9:40 บรรยายต่อไปให้เห็นว่า มีคนตายไปแล้วก็ยังฟื้นขึ้นมาผ่านการอธิษฐาน และคำสั่งของเปโตรที่บอกให้ฟื้นขึ้น
ลักษณะคริสตจักรต้นแบบ เป็นที่ที่มีการทรงสถิตของพระเจ้า เพราะดำเนินชีวิตอยู่ในสัจธรรมของพระเจ้า
ยอห์น 14:12 ผู้ที่วางใจในเราจะกระทำกิจการซึ่งเราได้กระทำนั้นด้วย และเขาจะกระทำกิจที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก
เราจะทำกิจที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก หากเราเชื่อ นี่คือ พระสัญญาของพระเจ้า
ที่ใดที่มีคนเชื่อ หมายสำคัญและการอัศจรรย์จะเกิดขึ้นที่นั่น และ ที่ใดที่มีคนร่วมใจกัน ผูกพันกัน ที่ใดที่มีการสามัคคีธรรมกัน มีความสัมพันธ์กับพระเจ้า และ มีความสัมพันธ์กันระหว่างพี่น้องในพระคริสต์ที่นั่น หมายสำคัญและการอัศจรรย์จะเกิดขึ้นแน่ เพราะพระเจ้าอยู่ที่นั่น
ในวันนี้เราจึงต้องมาถามกลุ่มสามัคคีธรรมของเรา ว่า กลุ่มสามัคคีธรรมของเรามีลักษณะแบบคริสตจักรในสมัยกิจการฯหรือไม่? และมีสิ่งใดบ้างที่เราต้องการให้พระเจ้าเพิ่มเติมมากขึ้นในกลุ่มสามัคคีธรรมของเรา?
3.ข้อสรุปเพื่อการประยุกต์ใช้
จากมุมมองที่ผมเห็นในกลุ่มสามัคคีธรรมของคริสตจักรในสมัยแรก และเทียบจากปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ารูปแบบการสามัคคีธรรมจะแตกต่างไปตามสถานการณ์และบริบทท้องถิ่นนั้นๆ แม้แต่บางคริสตจักรจะมีชื่อเรียกที่ต่างกันออกไป บางคริสตจักรจะเรียกกลุ่มสามัคคีธรรมระหว่างสัปดาห์ว่า "กลุ่มเซลล์ (Cell)" หรือ บางที่เรียกว่า "กลุ่มแคร์ (Care)" หรือกลุ่มสร้างสรรค์ชีวิต หรืออื่นๆ สำหรับผมแล้วคิดว่าจะเรียกว่าอย่างไรก็ตามแต่สะดวกและเห็นควรเพียงแต่สิ่งที่ต้องรักษาไว้คือการสามัคคีธรรมที่เป็นพรต่อกัน มีการแบ่งปันหนุ่นใจพระวจนะและมีการช่วยเหลือกันทั้งในด้านจิตใจ จิตวิญญาณและฝ่ายกายภาพ โดยหวังเพื่อประโยชน์กับสมาชิกกลุ่มที่มาร่วม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ต่อตนเอง หรือสมาชิกในกลุ่มบางคน เช่นผลประโยชน์ด้านธุรกิจ กลุ่ม Cellที่หมายถึง สิ่งที่ชีวิตที่มาเชื่อมต่อและขยายแพร่ตัวดัง Cell ในร่างกาย ก็จะกลายร่างเป็น กลุ่ม Sale ทำการค้าขายตรง หรือ กลุ่ม care ที่หมายถึงการดูแลกันและกัน ก็จะกลายเป็นกลุ่มแชร์ (Share)แทนที่จะแบ่งปันพระพรของพระเจ้าต่อกันและกัน กลายเป็นกลุ่มเล่นแชร์ลุูกโซ่หวังผลประโยชน์จากสมาชิก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้กลุ่มสามัคคีธรรมนั้นถูกบิดเบื้อนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น
ผมขอให้ข้อคิดโดยสรุปจากพระธรรมตอนนี้เป็นคำภาษาอังกฤษจากคำว่า "CARE"หมายถึงการเอาใจใส่ดูแลกันและกันและเป็นความหมายของกลุ่มสามัคคีธรรมที่มักพูดติดปากว่ากลุ่มแคร์ มีหลักการดังนี้
C-Christ Center กลุ่มสามัคคีธรรมต้องมีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะทำกิจกรรมต่างๆ เช่นการนมัสการ แบ่งปันพระคำ หรือการอธิษฐาน และสมาชิกในกลุ่มจะได้รับพระพรเมื่อพระองค์ทรงเป็นศูนย์กลางดังคริสตจักรในสมัยกิจการอัครทูต
R-Relationship กลุ่มสามัคคีธรรมต้องมีการปฎิสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง และเป็นกันเอง(relax) เพื่อให้ทุกคนได้ผ่อนคลายและได้รับการเสริมสร้างชีวิตในฝ่ายวิญญาณ รวมถึงการดูแลกันและกันทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจ
E-Evangelism กลุ่มสามัคคีธรรมต้องมีการประกาศข่าวประเสริฐและการขยายกลุ่มออก(Expansion)ไปเพื่อเป็นพระพรไปสู่คนทั้งหลาย ไม่ใช่เพียงสามัคคีธรรมในกลุ่มที่ปิดเท่านั้น อย่างเช่นกจ.2:47 มีคนมารับความรอดทุกวันๆ
ขอพระเจ้าอวยพระพรทุกกลุ่มสามัคคีธรรมให้เป็นชุมชุนแห่งพระพรและส่งต่อพระพรของพระเจ้าออกไปสู่ชุมชนภายนอกคริสตจักร พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น