31 มีนาคม 2554

ยึดสมอไว้เสมอ

“จะเห็นคุณค่าของสมอ เราต้องสัมผัสกับลมพายุ”

(To realize the worth of the anchor, we need to feel the storm.)

ฮีบรู 6:19 ความหวังที่เรายึดนั้นเป็นเสมือนสมอที่แน่และมั่นคงของจิตใจ ...

พระเจ้าทรงเป็นความหวังของเราเสมอ แม้คลื่นลมแห่งความยากลำบาก ความหวังใจเป็นสมอที่ยึดเราไว้

โดยปกติแล้ว“คริสตจักร” ต่าง ๆ ที่อยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ แทบไม่ได้เป็นที่สนใจของชุมชนอันเป็นที่ตั้งเลย เปรียบ เสมือนกับ “สมอเรือ” ที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนในเรือ จนกระทั่งเรือเผชิญกับคลื่นลมพายุที่ซัดใส่ หากไม่มีอะไรยึดเรือไว้ เรือก็อาจถูกซัดไปซัดมาจนไร้ทิศทาง ออกนอกเส้นทางการเดินเรือจนอาจหลงทางหรืออาจไปกระแทกเข้ากับหินโสโครก จนอับปางลงก็ได้

ดังนั้น การมีสมอเรือช่วยยึดเรือไว้จึงจะทำให้ เรือ คนและสิ่งของที่อยู่บนเรือปลอดภัย!

ในยามที่เผชิญกับลมมรสุมแปรปรวนเช่นนี้เองที่ “สมอเรือ” มีบทบาทสำคัญขึ้นมาในทันที

คริสตจักรที่อยู่ท่ามกลางที่ปลอดภัยไร้ปัญหาหรือไร้ความกังวลใด ๆ คือคริสตจักรที่เปรียบเสมือสมอใน เรือที่แล่นลอยอยู่ในทะเลหรือมหาสมุทรที่ปลอดคลื่น คริสตจักรเช่นที่ว่านี้ แทบถูกมองข้ามความสำคัญไปอย่างสิ้นเชิง ดีไม่ดีอาจมีคนรู้สึกว่าเกะกะและกินพื้นที่ของชุมชนเสียด้วยซ้ำ

แต่ในยามที่ชุมชนมากมายกำลังประสบภัยวิบัติภัยนานาชาติ ทั้งภัยน้ำท่วม ภัยหนาว (หรือภัยแล้ง) และอื่น ๆ

คริสตจักร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่) กำลังมีโอกาสสำแดงคุณค่าของตนเอง แต่โอกาสดังกล่าวจะมีอยู่เพียง สั้น ๆ เสมือนกับสมอเรือที่จะมีเวลาให้ใช้อยู่เพียงช่วงเวลาที่จำเป็นเท่านั้น หลังจากนั้นต้องถอนสมอเรือขึ้นมาเก็บ!

หรือเปรียบเสมือนกับภายในบ้านที่มีเทียน ตะเกียงหรือไฟฉายสิ่งที่กล่าวมานั้นแทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย จนกว่าวันนั้นไฟฟ้าดับ!

เช่นเดียวกัน…เรารู้ค่าของคริสตจักรและชุมชนคริสเตียนเมื่อเกิดอุบัติภัย ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ฝนแล้ง ไฟไหม้ แผ่นดินไหว สึนามิ ฯลฯ

ในยามวิกฤติเช่นนั้น คริสตจักรหรือชุมชนคริสตชน จะต้องรีบสำแดงคุณค่าของตนเองต่อผู้อื่นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่หากว่าคริสตจักรหรือคริสตชน เพิกเฉย โอกาสดังกล่าวก็จะผ่านพ้นหรือหลุดลอยไป

คำแนะนำของอาจารย์เปาโลที่ว่า…

“… จงระมัดระวังในการดำเนินชีวิตให้ดี อย่าให้เหมือนคนไร้ปัญหา แต่ให้เหมือนคนมีปัญญา จงฉวยโอกาส…(อฟ.5:15-16)

บางทีคริสตจักรหรือคริสตชนในที่แห่ง นั้นอาจเป็นเหยื่อของวิบัติภัยร่วมกับคนอื่น ๆ ในชุมชนด้วย ทำให้ต้องสาละวนกับการช่วยเหลือตัวเองอยู่ ซึ่งก็เห็นใจ พอเข้าใจ และรับได้!

อย่างไรก็ตาม คริสตจักรและคริสตชนในพื้นที่นั้น ๆ จะต้องไม่ลืมถามตัวเองว่า “เราดำรงอยู่ในพื้นที่นั้น” เพื่ออะไร?

องค์พระเยซูกำชับให้เรารู้บทบาทของเราว่า พระองค์ทรงตั้งเราให้เป็นความสว่างของชุมชนนั้น เราจึงเป็นดุจ ตะเกียง หรือ ไฟฉายที่มีประโยชน์ในยามที่ไฟดับ! เราจึงควรเป็นดุจสมอในยามที่เรือเผชิญกับคลื่นลมแรง!

เราสำแดงคุณประโยชน์เป็นพรต่อคนเหล่านั้นในวิกฤตกาลเช่นนั้นควบคู่ไปกับ การช่วยเหลือตัวของเราเอง มิฉะนั้น โอกาสทองของเราจะผ่านพ้นไปหลังจากที่เราช่วยตัวเองแล้ว เพราะต่อให้เราพร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่น ก็อาจสายเกินไปแล้ว เนื่องจากพวกเขาช่วยตัวเองได้แล้วเช่นกัน เหมือน ตะเกียง และ ไฟฉาย จะหมดความหมายลงในทันทีที่ไฟฟ้าติดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

สมอเรือจึงหมดความหมายแล้ว เมื่อคลื่นลมไม่มี!

ดังนั้น ขอให้คุณจงถามตัวเองว่า วันนี้ คุณได้สำแดงคุณค่าของคุณต่อสังคมรอบตัวของคุณอย่างไรบ้าง ก่อนโอกาสทำดีของคุณจะผ่านพ้นไป?

ท่านทั้งหลายก็เหมือน กับตะเกียง จงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง เพื่อว่าเมื่อเขาได้เห็นความดีที่ท่านทำ เขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่าน ผู้ทรงอยู่ในสวรรค์” (มธ.5:16)

(ข้อมูลจากบทความของ ศจ.ธงชัย ประดับชนานุรัตน์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น