26 กันยายน 2561

อะไรคือ ศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูต?


ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ก็เกิดมีกระบวนการเคลื่อนไหวหนึ่งทีเรียกว่า การปฏิรูปแห่งอัครทูตครั้งใหม่ (New Apostolic Reformation - NAR) กระบวนการเคลื่อนไหวนี้เป็นการกระบวนการที่มีจุดเริ่มต้นที่ว่า อัครทูตเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้มีเฉพาะผู้คนในสมัยของพระคัมภีร์เท่านั้น แต่ผู้คนในปัจจุบันนี้สามารถดำรงตำแหน่งอัครทูตได้ และตำแหน่งผู้นำสูงสุดของคริสตจักรไม่ใช่ศิษยาภิบาลแต่เป็นอัครทูต จากจุดเริ่มต้นของตำแหน่งอัครทูตในยุคปัจจุบันก็ผลักดันให้เกิดการต่อยอดนานาประการ และการต่อยอดประการหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวนี้ก็คือ ศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูต (Apostolic Center)

            ในฤดูกาลที่แล้ว ลักษณะของคริสตจักรมักจะเป็นการนำโดยศิษยาภิบาล โดยรูปแบบของคริสตจักรที่เกิดขึ้นสามารถเรียกได้เป็น โบสถ์แบบศิษยาภิบาล (Pastoral Church) แต่ในฤดูกาลใหม่ ลักษณะของคริสตจักรนี้จะเป็นการนำโดยอัครทูต และรูปแบบของคริสตจักรในลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า ศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูต

            ลักษณะและธรรมชาติขององค์กรระหว่าง โบสถ์แบบศิษยาภิบาลกับศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูต จะมีจุดต่างตรงที่ว่า ธรรมชาติของโบสถ์แบบศิษยาภิบาลจะเป็นมิติแบบฝูงลูกแกะ แต่ธรรมชาติของศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูตจะเป็นมิติแบบฝูงราชสีห์ ลูกแกะกับราชสีห์มีลักษณะที่ต่างกันฉันใด ลักษณะของโบสถ์แบบศิษยาภิบาลกับศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูตก็มีความแตกต่างกันฉันนั้น โดยรายละเอียดคร่าวๆอาจเป็นดังนี้

1. ลักษณะของการนมัสการ
            การนมัสการในมิติแบบฝูงลูกแกะ จะเน้นในด้านการใกล้ชิดสนิทสนมกับพระเจ้าและแช่อิ่มอยู่ในความรักของพระองค์ ลักษณะของการนมัสการแบบนี้จะเป็นการร้องเพลงประกอบกับการอธิษฐานเบาๆ แต่การมนัสการในมิติแบบฝูงราชสีห์ จะเน้นในความเป็นองค์จอมโยธาของพระเจ้าและเน้นการแผ่ขยายอาณาจักรของพระเจ้าในระหว่างการนมัสการ ลักษณะของการนมัสการแบบฝูงราชสีห์มักจะเป็นการร้องเพลงสลับกับการอธิษฐานและป่าวประกาศอย่างดุเดือด

2. ลักษณะของการอธิษฐาน
          ลูกแกะเป็นสัตว์ที่มีลักษณะของความถ่อมใจและนุ่มนวล ดังนั้นการอธิษฐานแบบลูกแกะจะเป็นการอธิษฐานอ้อนวอนในวิญญาณของความถ่อมใจ ซึ่งมักจะเป็นการคุกเข่าและอธิษฐานอย่างนุ่มนวล ทว่าการอธิษฐานในแบบราชสีห์จะเป็นการอธิษฐานที่กล้าหาญและดุเดือด การอธิษฐานในแบบราชสีห์นอกจากจะอธิษฐานต่อองค์จอมโยธาแล้ว ยังมีการอธิษฐานป่าวประกาศเข้าไปยังสวรรคสถานอีกด้วย บางครั้งก็จะมีการทำสงครามต่อป้อมปราการของมาร ประกอบกับการทำกิจพยากรณ์

3. เป้าหมายต่อสังคม
            ในการขับเคลื่อนของโบสถ์แบบศิษยาภิบาล เป้าหมายที่มีต่อสังคมก็คือ การนำความรอดไปยังคนไม่เชื่อ โดยจะเน้นการเก็บเกี่ยวผู้คนเข้าสู่คริสตจักร แต่ในการขับเคลื่อนของศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูต เป้าหมายที่มีต่อสังคมจะเป็นการปฏิรูป โดยมุ่งเน้นการยึดครององค์ประกอบต่างๆของสังคม และเปลี่ยนแปลงสังคมนอกโบสถ์ให้สะท้อนถึงลักษณะแห่งอาณาจักรของพระเจ้า

4. การบริหารองค์กร
          การบริหารองค์กรของโบสถ์แบบศิษยาภิบาล จะนำด้วยศิษยาภิบาลโดยมีคณะผู้ปกครองคอยกำกับดูแล ดังนั้นการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆหรือการกำหนดนโยบายต่างๆจะกระทำกันเป็นกลุ่มซึ่งประกอบด้วยศิษยาภิบาลกับคณะผู้ปกครอง แต่การบริหารองค์กรของศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูต จะจัดแจงโดยผู้นำสูงสุดที่ดำรงตำแหน่งอัครทูต ส่วนคณะผู้ปกครองจะมีหน้าที่สนับสนุนอัครทูต(ไม่ใช่กำกับดูแลอัครทูต) และการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆหรือการกำหนดนโยบายต่างๆจะกระทำโดยอัครทูตเพียงคนเดียว

5. การเปลี่ยนแปลงองค์กร
          ในลักษณะของโบสถ์แบบศิษยาภิบาล จะไม่ชื่นชอบต่อการเปลี่ยนแปลง แต่จะสบายใจต่อการคงอยู่ในสภาพเดิม แต่ในลักษณะของศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูต จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ลักษณะของคริสตจักรมีความพรักพร้อมต่อการแผ่ขยายของอาณาจักร

6. วิสัยทัศน์ขององค์กร
          ในระบบของโบสถ์แบบศิษยาภิบาล วิสัยทัศน์ขององค์กรจะได้รับมาจากคณะที่โบสถ์สังกัดอยู่ การขับเคลื่อนขององค์กรจึงเป็นไปตามคณะที่สังกัด แต่ในวิถีของศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูต วิสัยทัศน์ขององค์กรจะได้รับมาจากการสำแดงของทีมผู้เผยพระวจนะที่ทำงานกับอัครทูต การขับเคลื่อนของศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูตจึงก้าวเดินตามการสำแดงที่ได้รับผ่านทีมผู้เผยพระวจนะ

            จึงกล่าวได้ว่า การขับเคลื่อนในศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูตจะไม่อิงอยู่กับถ้อยคำของพระคัมภีร์เท่านั้น แต่จะอิงกับถ้อยคำแห่งการเผยพระวจนะด้วย ด้วยลักษณะเช่นนี้ ผู้คนในศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูตจึงมีความจริงจังมากต่อถ้อยคำเผยพระวจนะ

7. พันธกิจของสมาชิกองค์กร
          ตามขนบแล้ว โบสถ์แบบศิษยาภิบาลจะประกอบไปด้วยทีมผู้รับใช้และฆราวาส โดยฆราวาสที่เป็นสมาชิกของโบสถ์จะมาร่วมนมัสการและถวายทรัพย์ให้กับคริสตจักร ทั้งนี้ฆราวาสบางคนอาจมีส่วนช่วยงานของโบสถ์บ้างเล็กน้อย ส่วนทีมผู้รับใช้ก็จะทำพันธกิจต่างๆของโบสถ์ ทั้งนี้ในภาพรวม พันธกิจศูนย์กลางของโบสถ์แบบศิษยาภิบาล คือการรวมตัวกันนมัสการในวันที่กำหนดไว้

ทว่า ลักษณะของศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูตจะมีความแตกต่างจากขนบเหล่านี้ เพราะเป้าหมายหลักของศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูตจะไม่ใช่การรวบรวมผู้คนมานมัสการ แต่มีเป้าหมายหลักในการส่งผู้คนไปยึดครอง ศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูตจึงมีหน้าที่ติดอาวุธให้กับเหล่าสมาชิก โดยทีมผู้นำในศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูตซึ่งประกอบไปด้วยพันธกรทั้ง 5 (เอเฟซัส 4:11) จะทำหน้าที่ติดอาวุธให้กับเหล่าสมาชิก ส่วนสมาชิกแต่ละคนก็จะมีพันธกิจส่วนตัวในการเข้าไปปฏิรูปสังคมหรือนำอาณาจักรของพระเจ้าเข้าไปยังที่ทำงานของพวกเขา


พระคุณจงทวีคูณแด่เพื่อนๆ
Philip Kavilar


แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
รายละเอียดเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง โบสถ์แบบศิษยาภิบาล กับ ศูนย์บัญชาการเชิงอัครทูต
สามารถดูได้ที่ https://www.gloryofzion.org/docs/Apostolic%20Centers_sm.pdf

หนังสือ ปฏิรูปประชาชาติ เขียนโดย ซินดี้ เจคอปส์
หนังสือ Apostolic Centers เขียนโดย Alain Caron

1 ความคิดเห็น:

  1. ขออนุญาตแชร์ไปที่กลุ่มย่อยให้ทะลุ 1 ของ อ.ใหญ่ใน facebook นะครับ

    ตอบลบ