ส่วนคำว่า “อัตลักษณ์” พบว่ามีการใช้มากขึ้นในปัจจุบันโดยเฉพาะในแวดวงวิชาการ คำว่า “อัตลักษณ์” (ไม่ใช่อัปลักษณ์) ไม่มีบันทึกไว้ในพจนานุกรม แต่มีตำราหลายเล่มให้ความหมายไว้
คำว่า “อัตลักษณ์” ไว้ว่าคุณลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ของลักษณะเฉพาะของบุคล สังคม ชุมชน หรือประเทศนั้นๆ เช่น เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมท้องถิ่น และศาสนา ฯลฯ ซึ่งมีคุณลักษณะที่ไม่เหมือนกับของคนอื่นๆ “อัตลักษณ์” มาจากคำว่า อัตตะ + ลักษณ โดยที่ “อัตตะ” มีความหมายว่า ตัวตน, ของตน ส่วน “ลักษณะ” หมายถึง สมบัติเฉพาะตัว
“อัตลักษณ์” จึงเหมาะจะนำมาใช้หมายถึงลักษณะเฉพาะตัวของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากกว่า
พูดง่ายๆได้ว่า “อัตลักษณ์ของเรา คือ ไม่เป็นเหมือนใครและไม่มีใครเป็นเหมือนเรา”(ไม่รู้ว่าใครจะอยากเป็นเหมือนเราหรือเปล่า)
อย่างไรก็ดี คนไทยโดยส่วนใหญ่ยังนิยมใช้คำว่า “เอกลักษณ์” ในความหมายว่าลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครอย่างกว้างขวาง ส่วนคำว่า “อัตลักษณ์” นั้นมักจะใช้ในวงแคบๆ เช่น แวดวงวิชาการเท่านั้น และบางครั้งก็ใช้แบบมีนัยยะแฝง เช่น “เอกลักษณ์” เป็นสิ่งตายตัวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ส่วน “อัตลักษณ์” สามารถเปลี่ยนแปลงได้
การค้นพบ“อัตลักษณ์”จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเมื่อเรามารู้จักกับพระเจ้า หมายถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตไปตามพระลักษณะของพระเจ้าในฐานะเราเป็นคริสเตียนผู้ติดตามพระเจ้า(2คร.5:17)
เหตุฉะนั้นถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสต์ ผู้นั้นก็เป็นคนที่ถูกสร้างใหม่แล้ว สิ่งสารพัดที่เก่าๆก็ล่วงไป นี่แน่ะกลายเป็นสิ่งใหม่ทั้งนั้น
อัตลักษณ์ของเราในพระเจ้าถูกปกปิดด้วยความคิดแบบสังคมโลก
แท้จริงแล้วเราทุกคนเป็นมนุษย์ที่ถูกสร้างมาตามพระฉายของพระเจ้า (ปฐก.1:27)แต่ละคนที่ถูกสร้างให้มีอัตลักษณ์ ทุกคนเป็นที่โปรดปรานในสายพระเนตรพระเจ้า แต่เมื่อมนุษย์ทำบาปไม่เชื่อฟังพระเจ้าไปกินผลไม้ต้องห้าม คือ ต้นไม้แห่งความสำนึกในความดีและความชั่ว มนุษย์สำนึกได้ว่า ตัวเปลือยเปล่าอยู่ ดูช่างน่าอัปลักษณ์! พวกเขาจึงเอาใบมะเดื่อมาสำหรับปกปิดร่างกาย (ปฐก 3:7)อัตลักษณ์ความเป็นตัวตนที่เขาได้รู้จักพระเจ้าว่า “เขาเป็นใครในพระองค์” ได้สูญเสียไปแล้ว โดยความบาปที่เขาไม่เชื่อฟังพระเจ้า ความบาปนำมาซึ่งมาตายและนำมาซึ่งความน่าอับอายที่ต้องปกปิดไว้ไม่ให้ใครรู้ (ปฐก.3:5-7) มนุษย์จึงถูกไล่ออกจากสวนเอเดนต้องหากินยากลำบากอย่าง "อัตคัด" และขัดสน
ใบมะเดื่อเป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ (Identity) เป็นความรู้สึกนึกคิดที่บุคคลมีต่อตนเองว่า “ฉันคือใคร” ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับคนอื่น โดยผ่านการมองตนเองและการที่คนอื่นมองเรา อัตลักษณ์ต้องการความตระหนักในตัวเรา (Awareness) นั่นคือ เราจะต้องแสดงตนหรือยอมรับอย่างตั้งใจกับอัตลักษณ์ที่เราเลือก ความสำคัญของการแสดงตนก็คือ การระบุได้ว่าเรามีอัตลักษณ์เหมือนกลุ่มหนึ่งและมีความแตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างไร และ “ฉันเป็นใคร” ในสายตาคนอื่น
เมื่อมนุษย์เริ่มห่างไกลในความสัมพันธ์กับพระเจ้า เพราะการสูญเสียความเป็นตัวตนของเราที่เป็นผู้ถูกสร้างแต่ห่างไกลจากพระเจ้าพระผู้สร้าง จึงทำให้เขาเอาความเป็นตัวตนของเขามากำหนดเอาเองจากสังคม บางใช้ความรู้การศึกษามาเป็นตัวกำหนดสังคม บ้างเอาเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดความเป็นตัวตนทางสังคม "มีเงินนับเป็นพี่ มีทองนับว่าเป็นน้อง" แต่ท้ายสุดมนุษย์จะต้องมาถึงจัดตระหนักของเขาเองว่า ใบมะเดื่อที่หุ้มกายนั้นเป็นสิ่งที่ชั่วคราว ไม่ได้เป็นสิ่งถาวร อัตลักษณ์ที่เขาสร้างขึ้นในความคิดของเขาเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว ไม่ยั่งยืน เป็นสิ่งที่เรียกว่า “อนิจจัง” (ปญจ. 5:10)
"ความรู้ทำให้เขาหยิ่ง ความจริงของพระเจ้าทำให้เขาได้ตระหนัก และความรักของพระองค์ทำให้เขากลับใจและกลับมาหาพระเจ้า" เพราะพระองค์ประทานแผนการไถ่ของพระองค์ ผ่านทางพระเยซูคริสต์ เสื้อหนังสัตว์จึงเล็งถึงการไถ่และอัตลักษณ์ใหม่ที่พระเจ้าจะสวมให้เมือกลับมาหาพระองค์ (ปฐก.3:21-22)
วันนี้เราจึงต้องหันหลังกลับจากความคิดแบบโลกที่พาหันเหจากทางพระเจ้า สังคมโลกที่ต้องการสร้างเอกลักษณ์ในชุมชนจนไม่สนใจความแตกต่างในปัจเจกบุคคล เราจะต้องกลับใจและกลับมาแสวงหาพระเจ้าเพื่อค้นพบอัตลักษณ์ของเรา แม้จะมีความแตกต่างแต่ไม่ใช่ความแตกแยก แต่เป็นเอกภาพท่ามกลางความแตกต่างที่เสริมสร้างกันและกัน(Unity in diversity) ในพระกายพระคริสต์ที่เราต่างเป็นอวัยวะที่มีความหลากหลายในบทบาทหน้าที่และทุกคนกำลังทำบทบาทของตนเองเพื่อไปสู่เป้าประสงค์ลิขิต(Destiny)ตามพระบัญชาของพระเจ้า
การค้นหาอัตลักษณ์
การค้นหาอัตลักษณ์ในชีวิตของเรา เราจำเป็นต้องเรียนรู้แผนการของพระเจ้าในชีวิต ดังที่อัครทูตเปาโลได้เขียนจดหมายฝากไปถึงคริสเตียนที่เมืองเอเฟซัส ในบทที่ 1 เพื่อเปิดเผยให้ทราบถึงพระปัญญาอันล้ำลึกในพระทัยของพระเจ้า(1:9) ที่ทรงจัดเตรียมแผนการแห่งความรอดและพระพรผ่านทาวคริสตจักร ดังนั้นในภาคประยุกต์เราผูกพันตัวต่อคริสตจักรและดำเนินตามพระบัญชาของพระเจ้า ซึ่งเป็นแผนการที่พระเจ้ามีสำหรับชีวิตของเรา เป็นแผนการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอย่างเจาะจงมีความมุ่งหมายชัดเจน (1:4-6) แม้มนุษย์จะล้มลงในความบาป(ปฐก.3) แต่พระเจ้าทรงริเริ่มความสัมพันธ์ประทานพระบุตรองค์เดียวเพื่อไถ่บาป เราเห็นได้จากภาพของการที่พระเจ้าได้นำเสื้อหนังสัตว์มาสวมใส่แทนใบมะเดื่อเล็งถึงการไถ่และมอบอัตลักษณ์ใหม่ที่ไม่ใช่ตามโลกทัศน์ตามความคิดของมนุษย์แต่เป็นเป้าประสงค์ลิขิต(Destination)ของพระองค์ เราจึงต้องน้อมนำความคิดของเราไว้ในการเชื่อฟังพระคริสต์
(2คร.10:4-5) ..เพราะว่าศาสตราวุธของเราไม่เป็นฝ่ายโลกียวิสัย แต่มีฤทธิ์เดชจากพระเจ้า อาจทำลายป้อมได้ คือทำลายความคิดที่มีเหตุผลจอมปลอม และทิฐิมานะทุกประการที่ตั้งตัวขึ้นขัดขวางความรู้ของพระเจ้า และน้อมนำความคิดทุกประการให้เข้าอยู่ใต้บังคับจนถึงรับฟังพระคริสต์
อัครทูตเปาโลขอให้เราอธิษฐาน ขอพระเจ้าโปรดประทานให้เรามีจิตใจอันประกอบด้วยสติปัญญาและความประจักษ์แจ้งในเรื่องความรู้ถึงพระองค์ และขอให้ตาใจของเขาสว่างขึ้น มีความเข้าใจและรู้จักชีวิตในพระคริสต์อย่างแท้จริง คือขอให้รู้จัก 3 สิ่ง ตามพระธรรมเอเฟซัส บทที่1:18 - 23 ดังนี้
1.รู้จักความหวังแท้ในชีวิต (1:18)ความหวังที่พระเจ้าประทานแก่เราในพระคริสต์เป็นความหวังแท้ ทรงเป็นที่พึ่งที่เราสามารถยึดมั่นได้ตราบนิรันดร ที่เราได้วางใจในพระเยซูเจ้า หากเราหวังผิดจะผิดหวัง แต่เราหวังใจในพระเจ้าจะไม่ผิดหวัง (ฮบ.10:23 “ขอให้เรายึดมั่นในความหวังที่เราทั้งหลายเชื่อและรับไว้นั้นโดยไม่หวั่นไหว เพราะว่าพระองค์ผู้ทรงประทานพระสัญญานั้นทรงสัตย์ซื่อ”)
2.รู้จักมรดกที่มีสง่าราศีของเรา (1:18) คุณค่าสูงส่งของมรดกที่มีสง่าราศีที่พระเจ้าจัดเตรียมไว้อย่างอุดมบริบูรณ์ให้แก่เขาด้วย (1ปต.1:4 เป็นมรดกที่ไม่รู้เปื่อยเน่า ปราศจากมลทินและไม่ร่วงโรย) ซึ่งผู้เชื่อทุกคนจะได้รับเป็นรางวัลสมกับที่ได้ดำเนินชีวิตติดตามพระคริสต์อย่างสัตย์ซื่อในโลกนี้ (1คร.3:14;1 ปต.5:4)
3.รู้จักประสบการณ์แห่งฤทธิ์เดชของพระเจ้า (1:19-23) เราจะมีตาใจสว่าง เพื่อจะได้รู้จักฤทธิ์เดชของพระเจ้า คือ รู้ว่าพระเยซูคริสต์มีฤทธานุภาพเหนือความตาย(1:20) เหนือเทวอำนาจทั้งปวง(21) และเหนือคริสตจักร(22-23) เราจึงจะค้นพบว่าเราได้เป็นบุตรของพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่เหนือสิ่งต่างๆและพระองค์มีแผนการที่ดีให้กับลูกของพระองค์
สิ่งที่เราจะทำในภาคปฏิบัติคือการดำเนินชีวิตตามการทรงนำในแผนการของพระเจ้า โดยพระองค์เปิดเผยผ่านทางคริสตจักร นอกจากนี้พระองค์เปิดเผยผ่านทางการสำแดงอื่นๆเช่น ทางนิมิต ทางความฝันและการเผยพระวจนะตามพระวจนะของพระเจ้าในพระธรรมกิจการฯบทที่ 2 ในเทศทาลเพ็นเทคอสต์ กล่าวถึงการเทลงมาของพระวิญญาณและการสำแดงต่างๆที่สำเร็จตามคำเผยพระวจนะของโยเอล(ยอล.2:28-29)
ดังนั้น เมื่อเรารับการสำแดงต่างๆของพระเจ้าผ่านทางความฝัน นิมิต และคำเผยพระวจนะที่ผ่านมา ในภาคปฏิบัติเราสามารถเรียบเรียงสิ่งเหล่านี้ เพื่อค้นพบอัตลักษณ์ ทำได้ด้วยตนเองง่ายๆ ดังนี้
(R I A)ไม่ใช่ถนน RCA นะครับ
รับการสำแดง (R-Receive the revelation) ผ่านทางความฝัน นิมิตและคำเผยพระวจนะ อธิษฐานใคร่ครวญ
อธิษฐานขอการสำแดงในการตีความ
(I-Interpretation)
โดยเทียบจากหลักการพระคัมภีร์ และนำสิ่งที่ได้รับการสำแดงไปปรึกษากับผู้นำเพื่อให้คำแนะนำ มีที่ปรึกษามากก็จะปลอดภัย(สภษ.11:4)
นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิต(A-Application) ช่วงไตรมาสที่ผ่านมาในปีนี้ เป็นช่วงเวลาที่เราควรจะเก็บรวบรวมไว้ ด้วยการจดบันทึกและนำมาอธิษฐานขอให้สิ่งเหล่านี้สำเร็จในชีวิตของเรา เพื่อเราจะก้าวกระโดดสู่การอัศจรรย์ในปีนี้ร่วมกัน
ขอหนุนใจให้เราได้เขียนสิ่งเหล่านี้ไว้ เป็นการกำหนดอัตลักษณ์ของเรา (Identity Statements) เมื่อเราเริ่มค้นพบอัตลักษณ์ของเรา เราจะมีส่วนรับใช้พระเจ้าในคริสตจักรในบทบาท ของประทานและความสามารถของเราอย่างเต็มกำลัง จงฝึกฝนและพัฒนาให้มากขึ้น เราจะพบว่า การดำเนินชีวิตของเรา ไม่ได้เป็นการเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงเท่านั้นแต่มันจะเป็น “ก้าวกระโดด” ที่จะไปได้ไกลมากขึ้นสู่การอัศจรรย์ของพระเจ้า!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น