21 สิงหาคม 2557

"คิดอย่างไร ใหญ่อย่างอิสราเอล"

"...แม้อิสราเอลจะเป็นประเทศเล็ก แต่ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความแตกต่างมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ประชากรจำนวนน้อยนิดของอิสราเอลนั้นผสมผสานมาจากชนชาติที่แตกต่างกันถึงเจ็ดสิบชาติ ผู้ลี้ภัยชาวยิว...มาจากอิรักและโปแลนด์ หรือเอธิโอเปีย ล้วนไม่ใช้ภาษาเดียวกัน หรือแม้แต่พื้นฐานการศึกษา วัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์ ก็แตกต่างกันมาอย่างน้อยนับสองพันปี

ดังเช่นที่เดวิด แมกวิลเลียมส์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวไอริชอธิบายไว้ว่า "อิสราเอลนั้นไม่ใช่ประเทศยิวมิติเดียว เพราะมันเป็นหม้อความเชื่อทางศาสนาที่หลอมรวมเอาชาวยิวที่พลัดถิ่นไปตั้งแต่สมัยโบราณกลับมา โดยนำเอาวัฒนธรรม ภาษา และขนมธรรมเนียมที่แตกต่างจากสี่มุมโลกมารวมกันไว้อีกครั้ง"
...แท้จริงแล้ว ความลับของอิสราเอลดูเหมือนจะอยู่ในสิ่งที่มากกว่าความสามารถของตัวบุคคล ในบริษัทหลายแห่งมีคนที่มีความสามารถมากกว่าจำนวนวิศวกรที่อิสราเอลมีอยู่เสียอีก อาทิ นักศึกษาชาวสิงคโปร์ที่ได้คะแนนสอบดีที่สุดในโลกด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หลายต่อหลายประเทศก็ได้เข้าไปตั้งบริษัทในอินเดียและไอร์แลนด์ "แต่เราไม่ทำงานหลักสำคัญๆ ของเราที่ประเทศเหล่านั้น" ผู้บริหารชาวอเมริกันจากอีเบย์บอกกับเรา "กูเกิล ซิสโก้ ไมโครซอฟท์ อินเทล อีเบย์ ฯลฯ ความลับสุดยอดคือ เราต่างก็อยู่และตายได้ด้วยการทำงานของทีมงานชาวอิสราเอลของเรา นั่นเป็นเรื่องสำคัญกว่าการที่เราไปตั้งศูนย์บริการที่อินเดีย หรือตั้งหน่วยไอทีที่ไอร์แลนด์ สิ่งที่เราทำในอิสราเอลไม่เหมือนกับที่เราทำที่ไหนในโลก"

ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้อิสราเอลประสบความสำเร็จ...ทั้งหมดคือเรื่องราวที่ไม่ใช่เพียงความสามารถเท่านั้น แต่ยังเป็นพลังใจที่ยืนหยัดไม่ท้อถอยต่อการตั้งคำถามอย่างไม่ลดละต่อผู้มีอำนาจ ความเป็นกันเองอย่างตั้งใจ ผสานรวมกับทัศนคติที่ไม่เหมือนใครในเรื่องความล้มเหลว การทำงานเป็นทีม งานที่ได้รับมอบหมาย ความเสี่ยง และความคิดสร้างสรรค์แบบต่อต้าน

การยึดระเบียบวินัย

"คุตซ์ปาห์ คือ ความกล้าหาญ ความอาจหาญ ความกำแหง ความเด็ดเดี่ยวอย่างไม่น่าเชื่อ ความหยิ่งทะนงและความอหังการแบบที่ไม่มีคำไหนหรือภาษาอื่นใดจะให้ความหมายแบบตรงตัวได้
คนภายนอกจะมองเห็นคุตซ์ปาห์ทุกหนทุกแห่งในอิสราเอล: จากท่าทีที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยพูดคุยกับอาจารย์ของพวกเขา พนักงานที่ท้าทายเจ้านาย จ่าสิบเอกตั้งข้อสงสัยกับนายพล และเสมียนตั้งคำถามต่อการตัดสินใจของรัฐมนตรี ตลอดทุกช่วงเวลาของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือในกองทัพ ชาวอิสราเอลได้เรียนรู้ว่า ความกล้าหาญมั่นใจคือ วิถีปกติ การสงวนท่าทีคือ สิ่งที่เสี่ยงต่อการทำให้ตัวตนของเราถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

สิ่งนี้เห็นชัดในรูปแบบที่เป็นที่นิยมในการพูดถึงบุคคลในอิสราเอล... คุณบอกอะไรได้มากมายเกี่ยวกับสังคมหนึ่ง จากการที่สมาชิกในสังคมพูดถึงกลุ่มบุคคลชั้นนำของตนเอง อิสราเอลเป็นที่เดียวในโลกที่ทุกคนที่อยู่ในตำแหน่งใหญ่โตเปี่ยมอำนาจรวมถึงนายกรัฐมนตรีและนายพลทั้งหลายในกองทัพ มีชื่อเล่นที่ทุกคนเรียกขานกันในกลุ่มประชาชนทั่วไป นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอิสราเอล


 เบนจามิน เนทันยาฮู และอดีตนายกรัฐมนตรี เอเรียล ชารอน มีชื่อเล่นว่า "บีบี" และ "เอริก" ตามลำดับ.... หัวหน้าฝ่ายกองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) นาม โมเช ยาลอน ก็กลายเป็น "โบกีย์"... ชื่อเล่นเหล่านี้ไม่ได้เรียกขานกันลับหลังเท่านั้น แต่ใช้กันแบบกว้างขวางและทุกคนก็ใช้กันทั่วไป... เป็นสิ่งที่เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงระดับความเป็นกันเองของอิสราเอลได้เป็นอย่างดี

ทัศนคติและความเป็นกันเองของชาวอิสราเอลเกิดขึ้นจากความอดกลั้นทางวัฒนธรรม จากสิ่งที่ชาวอิสราเอลบางรายเรียกว่า "ความล้มเหลวแบบสร้างสรรค์" หรือ "ความล้มเหลวอย่างฉลาด" ... ถ้าไม่มีความอดทนต่อความล้มเหลวมากมายขนาดนี้ มันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างนวัตกรรมได้จริงๆ
..วัฒนธรรมและกฏเกณฑ์ของคนอิสราเอลสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่เป็นเอกลักษณ์ต่อความล้มเหลว ทัศนคติที่ทำให้นักลงทุนที่เคยล้มเหลวซ้ำๆ ได้กลับเข้ามาในระบบที่สร้างขึ้น เพื่อให้คนเหล่านี้ได้ใช้ประสบการณ์ที่เคยพลาดได้ลองอีกครั้ง ดีกว่าการปล่อยให้พวกเขาเสื่อมเเสียชื่อเสียงและไร้ความสำคัญตลอดไป

รวบรวมจากหนังสือ "คิดอย่างไร ใหญ่อย่างอิสราเอล" แปลโดย ท่านประภัสสร เสวิกุล


ขอบคุณข้อมูลจาก อ.ศิริพร สุกัญจนสิริ (ใหญ่)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น