06 ตุลาคม 2554

เทศกาลลบมลทินบาป:Forgive-Forget-For God

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือช่วงวันที่ 28ก.ย.-30ก.ย.11 เป็นเทศกาลเป่าแตรเขาสัตว์ “ร้อช ฮ้าชชะนาห์” (Rosh Hashanah) เป็นการเฉลิมฉลองวันต้นปี(Head of The Year)ตาม ปฏิทินฮีบรู และเป็นเวลาแห่งเสียงแตรเขาสัตว์ปลุกจิตวิญญาณให้ตื่นขึ้นมา ซึ่งในเดือนนี้มีเทศกาลอยู่ 3 เทศกาลด้วยกัน คือ เทศกาลเป่าแตร เทศกาลลบมลทินบาป และเทศกาลอยู่เพิง เทียบตามปฏิทินสากลจะเป็นดังนี้

1. เทศกาลแห่งเสียงแตรเขาสัตว์ Rosh Hashanah (ร้อช ฮ้าชชะนาห์) ช่วงวันที่ 28 ก.ย.-30 ก.ย.11


2. เทศกาลวันลบมลทินบาป (Day of Atonement) (Yom Kippur - ยม คิปปูร์)ช่วงวันที่ 7-8 ต.ค.11 ในช่วง 10 วันตั้งแต่ Rosh Hashanah ถึง Yom Kippur เป็นช่วงวันแห่งความยำเกรงพระเจ้า (Days of Awe)(Awesome)

3. เทศกาลอยู่เพิง (Feast of Tabernacles)(Sukkot-สุคต)ช่วงวันที่ 12-19ต.ค.11

ทั้ง3เทศกาลนี้เป็นแบบที่ทำให้เห็นแผนการแห่งการไถ่ที่สมบูรณ์ของพระเจ้า


ในบทความนี้ผมจะขอพูดถึงเรื่อง "เทศกาลลบมลทินบาป" (The Day of Atonement) วันแห่งการลบมลทินบาปนี้ ถือว่าเป็นเวลาส่วนตัวที่เล็งถึงแต่ละคนจะยืนขึ้นต่อหน้าพระเจ้าที่ทรงประทับบนบัลลังก์การพิพากษาและร้องขอการอภัยบาป และการชำระบาป เป็นเทศกาลที่เน้นการใคร่ครวญทางจิตวิญญาณ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเสด็จกลับมาพิพากษาและปกครองโลก


ในสมัยก่อนนั้นวันที่บริสุทธิที่สุดของชาวอิสราเอลในรอบปีคือ ยมคิปปูร์ (Yom Kippur)
หรือวันลบมลทินบาป ซึ่งในวันนี้นั้น มหาปุโรหิตจะเข้าไปในห้องอภิสุทธิสถาน เพื่อถวายสัตวบูชาและจะขอการอภัยโทษ ความบาปผิดทั้งบาปที่ได้ทำเป็นการส่วนตัวหรือบาปของคนส่วนรวมทั้งประเทศ

เลวีนิติ 16:34 ทั้งนี้ให้เป็นกฎเกณฑ์ถาวรแก่เจ้าทั้งหลาย ให้ทำการลบมลทินบาปเพื่อคนอิสราเอลปีละครั้งเพราะบาปทั้งสิ้นของเขา"

โมเสสได้กระทำตามที่พระเจ้าทรงบัญชาท่านไว้
ใน 1 วันก่อนวันลบมลทินบาป หรือ Yom Kippur นั้นคือวัน Erev Yom Kippur (เออฟ ยมคิปปูร์)ซึ่งวันนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะขอการอภัยโทษความผิดบาปจากผู้อื่นก่อนที่วัน ยมคิปปูร์จะมาถึง

ดังนั้นเราต้องยกโทษให้อภัย หากทำผิดต้องขออภัยจากผู้อื่น เราต้องจัดการเรื่องขัดเคืองของเรากับผู้อื่นก่อน เราจึงจะนมัสการพระองค์ได้อย่างสิ้นสุดจิตสุดใจได้

มัทธิว 5:23-24
23 เหตุฉะนั้น ถ้าท่านนำเครื่องบูชามาถึงแท่นบูชาแล้ว และระลึกขึ้นได้ว่า พี่น้องมีเหตุขัดเคืองข้อหนึ่งข้อใดกับท่าน
24 จงวางเครื่องบูชาไว้ที่หน้าแท่นบูชา กลับไปคืนดีกับพี่น้องผู้นั้นเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาถวายเครื่องบูชาของท่าน

ริค วอร์เรน (Rick Warren)ศิษยาภิบาลคริสตจักร Saddleback กล่าวไว้ว่า "ความบาปแม้ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ส่งผลส่วนรวม บ่อยครั้งที่ทำบาปก็จะทำร้ายผู้อื่นให้บาดเจ็บ แม้ว่าจะพยายามเก็บซ่อนบาปไว้"
(Sin may be private but it's never just personal. I ALWAYS hurt others when I sin, even with secret sins.)

ในวันก่อนวันลบมลทินบาปเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ก่อนที่จะเตรียมใจมาแสวงหาพระเจ้า ต้องเคลียร์ใจให้สะอาด นั่นคือการวางเครื่องบูชาไว้ก่อนและไปคืนดีกับพี่น้องที่มีเหตุขัดเคืองใจ แม้อาจจะรู้สึกขัดใจ แต่คงต้องทำใจ เพราะหากเราเก็บงำนำความโกรธเคืองไว้ในใจ ก็เหมือนกับเก็บสิ่งเน่าเสียไว้ในชีวิต เมื่อผ่านไปก็จะส่งกลิ่นเหม็น ดังนั้นต้องทิ้งสิ่งเหล่านี้


เหมือนดังบทเพลง ที่ร้องว่า "...เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง ให้มันไหลลง ไหลลง ไหลลง ไหล ลงทะเล ..."
เราต้องทำส่วนของเราคือการให้อภัย ไม่จดจำความผิด แบบที่พระเจ้าให้อภัย ทิ้งความบาปลงไปในสายธารน้ำแห่งการชำระของพระเจ้า พระองค์จะชำระให้ใสสะอาด


มีคาห์ 7:19 พระองค์ทรงเมตตาเราทั้งหลายอีก พระองค์จะทรงเหยียบความผิดของเราไว้ พระองค์จะทรงเหวี่ยงบาปทั้งหลายของเรา ลงไปในที่ลึกของทะเล

เพราะพระเจ้าทรงรักเราให้อภัยเราอย่างไม่มีเงื่อนไข แม้ความบาปจะแดงเข้มดังผ้าแดงแต่ก็พระเจ้าก็ชำระให้บริสุทธิ์ดุจดังขนแกะ
อิสยาห์ 1:18 พระเจ้าตรัสว่า "มาเถิด ให้เราสู้ความกัน ถึงบาปของเจ้าเหมือนสีแดงเข้ม ก็จะขาวอย่างหิมะ ถึงมันจะแดงอย่างผ้าแดง ก็จะกลายเป็นอย่างขนแกะ

หลักการคือ "ให้อภัย ไม่จดจำ ทำเพื่อพระเจ้า" (Forgive-ให้อภัย Forget-ไม่จดจำ For God-ทำเพื่อพระเจ้า)

แม้ในปัจจุบันการทำพิธีลบมลทินบาปเราไม่ต้องทำแล้ว ขอบพระคุณพระเจ้าที่ให้มหาปุโรหิตเข้าไปถวายสัตวบูชาในวันลบมลทินบาปเพราะพระเยซูคริสต์ทรงไถ่เราแล้วที่กางเขน นำการชำระบาปชั่วนิรันดร์
ฮีบรู 9:11-14
11 แต่เมื่อพระคริสต์ได้เสด็จมาเป็นมหาปุโรหิตแห่งสิ่งประเสริฐ ซึ่งมาถึงแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จเข้าไปสู่เต็นท์อันใหญ่ยิ่งกว่าแต่ก่อน
12 พระองค์เสด็จเข้าไปในวิสุทธิสถานเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และพระองค์ไม่ได้ทรงนำเลือดแพะและเลือดลูกวัวเข้าไป แต่ทรงนำพระโลหิตของพระองค์เองเข้าไป และทรงสำเร็จการไถ่บาปชั่วนิรันดร์
14 พระโลหิตของพระเยซูคริสต์ผู้ได้ทรงถวายพระองค์เอง แด่พระเจ้าโดยพระวิญญาณนิรันดร์ ให้เป็นเครื่องบูชาอันปราศจากตำหนิ ก็จะทรงชำระได้มากยิ่งกว่านั้นสักเพียงใด เพื่อให้จิตใจของคนที่หมกมุ่นในการประพฤติที่นำไปสู่ความตาย หันไปรับใช้พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่


สิ่งที่เราควรจะทำในชีวิตคือการจดจำสิ่งที่ดีที่พระเยซูคริสต์ทรงทำให้เรา และไม่จดจำปรักปรำในความผิดที่เราทำ และพึ่งพระคุณพระองค์ในการลบความบาปของเรา ภาพปรียบเสมือน
"ดินสอกับยางลบ"
...ถ้าเปรียบการเขียนเป็นการ"จำ" ดินสอ เขียนบันทึกจำทุกเรื่องทั้งดีและไม่ดี สิ่งไม่ดีให้เขียนเตือนใจ

การลบเปรียบเหมือนการ "ลืม" คือการให้อภัยนั่นเอง เราควรจะจดจำทำแต่สิ่งดี ๆ และลืมในสิ่งที่อาจผิดพลาดบ้าง เริ่มต้นใหม่ได้โดยพระองค์...

เมื่อเป็นแบบนี้แล้วทำไมเราจำเป็นต้องเรียนรู้และต้องทำความเข้าใจเรื่องเทศกาลลบมลทินบาป?


คำตอบ คือ ก็เพราะว่าเทศกาลนี้เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงไปถึงการที่พระเยซูคริสต์เสด็จมาเพื่อถวายเครื่องบูชาไถ่บาปแทนเรา ด้วยพระชนม์ชีพของพระองค์!


จากพระบัญชาของพระเจ้าให้ถือเทศกาลนี้อยู่ใน เลวีนิติ 23:26-32

26 พระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า
27 "ในวันที่สิบของเดือนที่เจ็ดนี้เป็นวันทำการลบมลทิน จะเป็นวันประชุมบริสุทธิ์แก่เจ้า และเจ้าจงบังคับใจตนเอง และนำเครื่องบูชาด้วยไฟถวายแด่พระเจ้า
28 ในวันเดียวกันนั้นเจ้าอย่าทำงานใดๆ เพราะเป็นวันทำการลบมลทิน ที่จะทำการลบมลทินของเจ้าต่อพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้า
29 ในวันเดียวกันนี้ถ้าผู้ใดไม่บังคับใจก็ให้อเปหิผู้นั้นเสียจากท่ามกลางชนชาติของตน
30 และในวันเดียวกันนี้ถ้าผู้ใดทำงานใดๆ เราจะทำลายผู้นั้นเสียจากท่ามกลางชนชาติของเขา
31 เจ้าอย่าทำงานสิ่งใดเลย ทั้งนี้เป็นกฎเกณฑ์ถาวรตลอดชั่วชาตพันธุ์ของเจ้าทั่วไปในที่อาศัยของเจ้า
32 จะเป็นวันสะบาโตสำหรับหยุดพักสงบแก่เจ้า และเจ้าจงบังคับใจของเจ้า เริ่มแต่เวลาเย็นในวันที่เก้าของเดือนเจ้าต้องรักษาวันสะบาโตจากเวลาเย็นถึงเวลาเย็น"

รายละเอียดเกี่ยวกับพิธีในพระวิหารสำหรับเทศกาลนี้อยู่ใน เลวีนิติ 16
ผมขอสรุปไว้ดังนี้ครับ
(ข้อมูลจาก http://www.4windsprayer.com/index.php/godsfest/71-2010-10-12-12-16-05)

ชื่อในภาษาฮีบรูเรียกว่า Yom Kippur (ยมคิปปูร์- ยม แปลว่า "วัน"(Day)คิปปูร์แปลว่า การลบมลทินบาป (Atonement) ในภาษาฮีบรูให้หมายความว่า ปกคลุม ขจัด แก้ไข คืนดี ปกปิด)

ความสำคัญของเทศกาลนี้ คือ





1.วันทำการลบมลทินเป็นวันสะบาโตหยุดพักอย่างสมบูรณ์ ถือว่าเป็นสะบาโตพิเศษ เป็น สะบาโตของสะบาโตทั้งหลาย (ภาษาฮีบรู :שבתון שבת (Shabbat Shabbaton- Complete Rest)






2.วันทำการลบมลทินเป็นวันที่ประชาชนอิสราเอลได้รับพระบัญชาให้ “ถ่อมจิตใจลง” ในบางคำแปลเรียกว่า “ความเจ็บปวดของจิตวิญญาณ” วลีนี้มีความหมายคล้ายคลึงกับที่ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์กล่าวไว้ในอิสยาห์ 58:3 โดยพื้นฐานวันทำการลบมลทินจึงเป็นวันแห่งการอดอาหารด้วยใจที่สำนึกผิด






อิสยาห์ 58:3 'ทำไมข้าพระองค์ทั้งหลายได้อดอาหาร และพระองค์มิได้ทอดพระเนตร ทำไมข้าพระองค์ทั้งหลายได้ถ่อมตัวลง และพระองค์มิได้ทรงสนพระทัย' ดูเถิด ในวันที่เจ้าอดอาหาร เจ้าทำตามใจของเจ้าและบีบบังคับคนงานของเจ้าทั้งหมด






3.ประชากรคนใดที่ไม่สำนึกผิดหรือไม่กลับใจเสียใหม่จะถูกตัดออกจากชนชาติ






4.เป็นพิธีกรรมแห่งการไถ่ พิธีกรรมในพระวิหารนี้ซับซ้อน มีการถวายเครื่องสัตวบูชาที่มีชีวิตและด้วยเลือด จะมีการเลือกแพะ2ตัว ตัวหนึ่งจะต้องเป็นเครื่องบูชาด้วยเลือดถวายแด่พระเจ้าเพื่อสำแดงแก่อิสราเอลว่าได้มีการจ่ายชำระโทษทัณฑ์แห่งบาปแล้ว แพะตัวที่สอง ซึ่งเรียกว่า “อาซาเซล” หรือแพะที่หนึ่งไปจะมีผ้าสีแดงหรือแดงเข้มผู้เขาไว้ ส่วนหนึ่งของผ้านี้จะแขวนไว้ที่ประตูพระวิหารด้วย (อย่างนี้สุภาษิตที่ว่า "แพะรับบาป" คงอาจจะมาจากเหตุการณ์ตอนนี้ ว่าไปนั่น) มหาปุโรหิตจะวางมือบนแพะตัวนี้และสารภาพบาปของอิสราเอลเป็นสัญลักษณ์ว่าได้ถ่ายทอดบาปของพวกเขาลงไปยังแพะตัวนี้ แล้วจะนำอาซาเซลเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร เพื่อปล่อยไป (หรือบางคนบอกว่ามันจะถูกผลักลงจากหน้าผาให้ตาย)
หากพระเจ้าทรงยอมรับการถวายเครื่องบูชาไถ่บาปนี้ในวันทำการลบมลทิน ผ้าสีแดงที่แขวนที่ประตูพระวิหารจะเปลี่ยนเป็นสีขาว เหมือนดังข้อความในอิสยาห์ 1:18 “แม้บาปของเจ้าจะแดงอย่างผ้าแดง บาปนั้นก็จะขาวดุจหิมะ แม้จะแดงอย่างสีแดงเข้ม ก็จะกลายเป็นเหมือนขนแกะ”






ความสำคัญวันทำการลบมลทิน คือ เป็นวันเดียวเท่านั้นที่มหาปุโรหิตได้รับอนุญาตให้เข้าไปในอภิสุทธิสถานเพื่อประพรมโลหิตแห่งการลบมลทินบาปลงเหนือพระที่นั่งกรุณา
เครื่องถวายบูชา
ในเลวีนิติ ได้กล่าวถึงเครื่องถวายบูชาของอิสราเอล ซึ่งมีเครื่องถวายบูชาพื้นฐาน 5 อย่างได้แก่

1. เครื่องเผาบูชา หรือ เครื่องบูชาเผาทั้งตัว เป็นฐานแห่งเครื่องเผาบูชาอื่น ๆ ทุกส่วนของสัตว์ที่ถูกนำมาถวายจะถูกเผาหมด ยกเว้นหนัง
2. ธัญบูชา สิ่งที่ถูกนำมาถวายจะถูกเผาเพียงแค่หนึ่งกำมือ ไม่ได้ถูกเผาทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นของปุโรหิต
3. ศานติบูชา เป็นการเผาเพื่อสรรเสริญพระเจ้า และเฉลิมฉลอง ผู้ที่ถวายจะสามารถรับประทานได้ โดยรับประทานต่อพระพักตร์ของพระเจ้า
4. เครื่องบูชาลบล้างบาป หรือ เครื่องบูชาไถ่บาป เกี่ยวข้องกับความบาปที่มนุษย์ทำ นำสัตว์ถวายอย่างเดียว
5. เครื่องบูชาไถ่กรรมบาป หรือ เครื่องบูชาชดใช้บาป ต้องใช้เงินร่วมด้วย โดยชดใช้สิ่งที่ไม่ควรทำ เท่ากับมูลค่าของสิ่งนั้น บวกกับ 1 ใน 5

ความหมายของการไถ่
คนอิสราเอล จะเข้าใจคำว่าการไถ่ในความหมายกว้าง ๆ โดยเขาจะคุ้นเคยกับคำว่าการไถ่ใน 6 ลักษณะ ได้แก่
1. ไถ่จากความบาป โดยผ่านทางพิธีการถวายเครื่องบูชาไถ่บาป เป็นลักษณะของเครื่องถวายบูชาแบบที่ 4
2. ไถ่จากการติดหนี้ทรัพย์สินที่ดิน คล้ายกับในปัจจุบัน ที่มีการซื้อขายที่ดิน มีการจำนอง เช่า เซ้ง โดยคนยิวในสมัยนั้นเป็นเจ้าของที่ดินตามการสืบเชื้อสาย ในลักษณะการเซ้ง และทุก 50 ปีจะมีปีเสียงเขาสัตว์ก็จะต้องคืนให้แก่เจ้าของเดิม แต่ก่อนหน้าปีเสียงเขาสัตว์นั้นจะสามารถตกลงในการไถ่คืนได้
3. ไถ่หรือกู้ออกมาจากปัญหา ความทุกข์ เช่น โยบ นางรูธ
4. ไถ่จากสภาพไร้ผู้สืบทอดทายาท เช่น โบอาสไถ่นางรูธ (ญาติสนิทคนถัดไป)
5. ไถ่จากการตกเป็นทาสคน คนสมัยก่อน มีการขายตัว ยอมเป็นทาสแรงงาน
6. ไถ่จากการตกเป็นเชลยประเทศมหาอำนาจ ในประวัติศาสตร์ อิสราเอลเป็นทาสของอิยิปต์ อัสซีเรีย บาบิโลน กรีก เปอร์เซีย เป็นทาสหลายยุคหลายสมัย มีความทุกข์อย่างมาก และจะได้รับการไถ่จากการตกเป็นเชลยโดยการทรงช่วยจากพระเจ้า
การไถ่ออกจากอียิปต์
"พระองค์ทรงนำชนชาติอิสราเอลซึ่งพระองค์ทรงไถ่ไว้ด้วยความรักมั่นคงของพระองค์ พระองค์ทรงพาเขามาถึงที่สถิตอันบริสุทธิ์ของพระองค์ ด้วยพระเดชานุภาพ" (อพยพ 15:13)

การที่พระเจ้าทรงนำอิสราเอลออกจากอียิปต์ พระองค์ทรงไถ่อย่างไร? ขณะที่คนอิสราเอลอยู่ในอียิปต์ ก่อนที่เขาจะออกมา บุตรหัวปีของอียิปต์ตายหมด ขณะที่บุตรหัวปีของอิสราเอลนั้นยังอยู่ครบทุกคน นี่เป็นที่มาของเทศกาลปัสกา เพราะพระเจ้าทรงไว้ชีวิตคนอิสราเอลที่เป็นบุตรหัวปี ซึ่งพวกเขาต้องชดเชยด้วยแกะ และชดเชยด้วยชีวิตของเลวีทั้งหมด โดยนำคนเลวีทั้งเผ่า ให้ทำหน้าที่รับใช้พระเจ้าไปตลอดชีวิต

นอกจากนี้ พระเจ้าทรงใช้การอัศจรรย์ของพระองค์ในการไถ่
"ความรู้สึกเสียวสยองและความตกใจกลัวอุบัติขึ้นในใจของเขา เนื่องด้วยฤทธานุภาพแห่งพระกรของพระองค์ เขาหยุดนิ่งอยู่เหมือนก้อนหิน ข้าแต่พระเจ้า จนประชากรของพระองค์ผ่านพ้นไป จนชนชาติซึ่งพระองค์ทรงไถ่ไว้แล้วผ่านไป" (อพยพ 15:16)

การทรงไถ่ กับการทรงซื้อนั้น ความหมายเหมือนกัน พระองค์ทรงใช้การอัศจรรย์ของพระองค์ ซื้อชนชาติอิสราเอล

ในพระธรรมตอนนี้จึงคำว่า "ซื้อ" เพราะพระองค์จำเป็นต้องจ่ายค่าไถ่นั้น พระองค์จำเป็นต้องกระทำการอัศจรรย์ต่าง ๆ เพื่อไถ่อิสราเอล และพระเยซูคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์ก็เพื่อไถ่เราให้พ้นจากบาป

"เหตุฉะนี้จงกล่าวแก่ชนชาติอิสราเอลว่า 'เราคือพระเยโฮวาห์ เราจะนำพวกเจ้าไปให้พ้นจาก งานตรากตรำที่ชาวอียิปต์เกณฑ์ให้ทำ และจะให้พ้นจากการเป็นทาสเขา เราจะช่วยกู้เจ้าด้วยแขนที่เงื้อง่า และด้วยการพิพากษาอันใหญ่หลวง' (อพยพ 6:6)

ภาพของแขน หรือพระกรของพระองค์ มีความหมาย 2 อย่าง ได้แก่ การส่งไป และ การช่วย แขนที่เงื้อง่า คือ แขนที่ลงโทษคนอียิปต์ และการพิพากษา ก็คือการพิพากษาคนอียิปต์
พระเจ้าทรงช่วยคนอิสราเอลด้วยการต่อสู้และลงโทษคนอียิปต์เพื่อจะช่วยให้อิสราเอลรอด สำหรับเราที่เป็นคริสเตียน เราต้องตระหนักว่าพระเจ้าทรงยุติธรรม ขณะเดียวกันพระองค์ทรงรักเรา

พระองค์ทรงยุติธรรม พระองค์จำเป็นต้องตัดสินลงโทษ และค่าจ้างของความบาปคือความตาย ดังนั้น ที่ถูกต้องคือพระองค์จะทรงลงโทษเราทุกคน ใครทุกคนที่ทำบาปจะต้องถูกลงโทษ ขณะเดียวกัน พระเจ้าทรงเป็นความรัก พระองค์ทรงรักผู้ที่พระองค์ทรงสร้าง แล้วพระองค์จะทรงรักษาความรักและความยุติธรรมพร้อมกันได้อย่างไร? พระองค์ทรงแก้ปัญหานี้ด้วยการ รักเรา และลงโทษบาปของเราลงบนพระเยซูคริสต์
โรม 6:23 เพราะว่าค่าจ้างของความบาปคือความตาย แต่ของประทานจากพระเจ้าคือชีวิตนิรันดร์ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา



ความสำคัญต่อมาคือ พระเยซูจะกลับมาเมื่อมีเสียงแตรครั้งสำคัญในวันทำการลบมลทินในปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ!
ปีเฉลิมฉลองการครบรอบเกี่ยวาข้องอย่างยิ่งกับวันทำการลบมลทิน ทุกปี่ที่ 7 เป็นปีสะบาโตขณะที่ทุกปีที่ 50 เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองครอบรอบ (Jubilee) กล่าวอีกแง่หนึ่ง คือ 7 สะบาโตของปี (7X7 = 49) และปีต่อไปจะเป็นปีแห่งการครบรอบ
จูบิลี (ปีแห่งการครบรอบ) หมายถึง ช่วเวลาแห่งการร้องตะโกน คำฮีบรู คือ “yobel” หรือ เสียงเป่าเขาสัตว์ เป็นการเป่าเขาแกะ
(เลวีนิติ 25:8-55)ในจูบิลีนี้ จะต้องเป่าประกาศถึงเสรีภาพให้ดังทั่วแผ่นดินในวันทำการลบมลทินของปีที่ 50! (เลวีนิติ 25:9)
ปีที่ 50 เป็นปีศักดิ์สิทธิ์ (เลวีนิติ 25:12)
ทุกคนจะต้องกลับคืนสู่ทรัพย์สินของตน หากเขาเป็นคนจนและได้สูญเสียหรือจำนองหรือขายทรัพย์สินหรือมรดกของเขาไป ในปีเป่าเขาสัตว์เขาจะสามารถกลับมาเป็นเจ้าของได้อีก นี่เป็นกรณีพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเขาไม่สามารถไถ่คืนหรือให้ญาติที่เป็นผู้ไถ่คืนไถ่มาให้ได้ (เลวีนิติ 25:13-17,23-34;กันดารวิถี 36:4) ทาสทุกคนจะได้รับการปลดปล่อยในปีแห่งการเฉลิมฉลองนี้ หากพี่น้องเกิดยากจนลงและต้องขอยืมเงินเพื่อดำรงชีวิต หรือขายตัวให้เป็นทาสรับใช้ ในปีเป่าเขาสัตว์นี้เขาจะได้รับอิสระหากว่าไม่มีญาติมาไถ่เขาได้ในระหว่างช่วงเวลาก่อนปีเป่าเขาสัตว์ (เลวีนิติ 25:35-55) เสียงของแตรในปีเป่าเขาสัตว์เป็น “เสียงที่ชื่นชมยินดี” ซึ่งอวยพรประชากรของพระเจ้า (สดุดี 85:15)
ปีนี้เป็นเวลาของควาร่าเริงยินดีในอิสราเอลเพราะมีการประกาศอิสรภาพด้วยเสียงแตรในแผ่นดิน มีการยกหนี้ ทาสได้รับการปลดปล่อย ครอบครัวกลับมารวมกัน มรดกทรัพย์สินที่สูญเสียหรือถูกจำนองได้รับกลับคืน เป็นปีแห่งการร้องตะโกนอย่างแท้จริง (ภาษาฮีบรู :yobel)
เมื่อพระเยซูเริ่มพระราชกิจของพระองค์ พระองค์อธิบายถึงพระราชกิจของพระองค์ไว้ในลูกา 4:17-19
พระเยซูเสด็จมาและประกาศปีแห่งการเป่าเขาสัตว์ในการเสด็จมาครั้งแรก พระองค์จะเสด็จมาอีกเป็นเวลาแห่งการชดเชย (กิจการฯ 3:21) เรียกว่าเป็น "ช่วงเวลาแห่งการรื้อฟื้นสิ่งสารพัดขึ้นใหม่ ไม่มีสิ่งใดเหมาะสมสำหรับการเสด็จกลับมาของพระเยซูมากไปกว่าในวันทำการลบมลทินในปีเป่าเขาสัตว์สุดท้าย"
ภาพของการพิพากษาสุดท่ายที่เกี่ยวข้องกับสภาพท้องฟ้าอากาศที่ปรากฎใน วิวรณ์ 19 และ 20 สะท้อนถึงลักษณะพิเศษของวันทำการลบมลทิน เช่นเดียวกับที่มหาปุโรหิตสวมใส่เครื่องแต่งกายผ้าฝ้ายขาวบริสุทธิ์อย่างพิเศษในวันทำการลบมลทิน พระเยซูก็จะทรงสวมเสื้อผ้าพิเศษในการเสด็จกลับมาครั้งที่สองด้วย!
พระองค์จะสวมอาภรณ์ที่จุ่มด้วยเลือด (วิวรณ์ 19:13) เป็นเครื่องรำลึกถึงเลือดที่มหาปุโรหิตใช้ในวันทำการลบมลทินเพื่อชำระสถานนมัสการ
นอกจากนี้ พระเยซูมิได้ถือเลือดไว้เหมือนมหาปุโรหิตในสมัยโบราณ แต่ทรงสวมชุดที่จุ่มพระโลหิตของพระองค์ซึ่งชำระล้างบาปทั้งปวงของประชาชน และประชาชนเหล่านี้ก็ “สวมอาภรณ์ผ้าป่านเนื้อละเอียดขาวบริสุทธิ์ ได้นั่งบนหลังม้าขาวตามเสด็จพระองค์ไป” (วิวรณ์ 19:14)
ผลลัพธ์ของการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูยังเหมือนกับผลของวันทำการลบมลทินด้วยพระเยซูทรงทำลายคนชั่วร้ายด้วย “พระแสง” ของพระองค์ (วิวรณ์ 19:21) เตือนให้เราระลึกถึงผู้ไม่สำนึกผิดที่ถูก “ตัดออก” ในวันทำการลบมลทิน (เลวีนิติ 23:29) ซาตานถูกมัดและโยนทิ้งลงไปใน “นรก” (วิวรณ์ 20:3) เตือนให้เราคิดถึงการส่งอาซาเซลเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร (หรือโยนทิ้งจากหน้าผาลงไปในหุบเหว!) (เลวีนิติ 16:21)
ผู้ชอบธรรมฟื้นขึ้นและครอบครองร่วมกับพระคริสต์ เตือนให้ระลึกถึงเสรีภาพและการเพิกถอนหนี้สิน รวมถึงความชื่นชมยินดีในเสรีภาพในวันทำการลบมลทิน (เลวีนิติ 25:9)
วันทำการลบมลทินเป็นที่รู้จักในภาษาฮีบรูว่า Yom Ha Peduth ซึ่งมีความหมายว่า “วันแห่งการไถ่”
ในลูกา 21:27-28 กล่าวว่า “เมื่อนั้นเขาจะเห็นบุตรมนุษย์เสด็จมาในเมฆทรงฤทธานุภาพ และพระสิริเป็นอันมาก เมื่อ เหตุการณ์ทั้งปวงนี้เริ่มจะบังเกิดขึ้นนั้นท่านทั้งหลายจงยึดตัวและผงกศีรษะขึ้น ด้วยการไถ่ท่านใกล้จะถึงแล้ว”

เศคาริยาห์ 13:1 "ในวันนั้น จะมีน้ำพุพลุ่งขึ้นสำหรับราชวงศ์ของดาวิดและชาวเยรูซาเล็ม เพื่อจะชำระเขาให้พ้นจากบาปและความไม่สะอาด




เศคาริยาห์ 12:10 "และเรา {หรือ ท่าน} จะเทวิญญาณแห่งความเมตตาเอ็นดูและการวิงวอนบนราชวงศ์ดาวิดและชาวเยรูซาเล็ม ดังนั้นเมื่อเขาทั้งหลายมองดูเรา ผู้ซึ่งเขาเองได้แทงเขาจะไว้ทุกข์เพื่อท่าน เหมือนคนไว้ทุกข์เพื่อบุตรคนเดียวของตน และร้องไห้อย่างขมขื่นเพื่อท่าน เหมือนอย่างคนร้องไห้เพื่อบุตรหัวปีของตน



บทสรุปข้อคิด การเตรียมใจในเทศกาลลบมลทินบาป
1.สำรวจใจ ดำเนินชีวิตอยู่ในความบริสุทธิ์โดยเฉพาะช่วง 10วันแห่งความยาเกรง(Days of Awe)ก่อนวันลบมลทินบาป

2.สงบใจ สารภาพบาป กลับใจใหม่ได้เสมอ ไม่ต้องปรักปราตนเอง ขอบพระคุณในการไถ่ของพระเจ้า

3.สุขใจ เฝ้ารอคอยการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซู ด้วยความมั่นใจ

ในช่วงเทศกาลนี้เราต้อง "ให้อภัย ไม่จดจำ ทำเพื่อพระเจ้า" (Forgive-ให้อภัย Forget-ไม่จดจำ For God-ทำเพื่อพระเจ้า)
และพระองค์จะไม่ Forsake-ละทิ้งเรา พระองค์จะเสด็จมารับเรา เตรียมชีวิตเราให้พร้อม!



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น