28 เมษายน 2560

ข้อคิดจากหนังเรื่อง The Shack : กระท่อมเหนือปาฏิหาริย์


บทความในครั้งนี้ ขอแบ่งปันข้อคิดจากหนังเรื่อง The Shack : กระท่อมเหนือปาฏิหาริย์ เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงจะได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นภาพยนตร์ที่น่าจะไปชม เพราะเป็นหนังคริสเตียนที่สื่อความหมายได้ตรงไปตรงมาในเรื่องของพระเจ้า และให้ข้อคิดที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเยียวยาภายใน(Inner Healing)

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงหลักวิธีการแก้ไขปัญหาที่รากมากกว่าการควบคุมผลที่เกิดขึ้นหรือกำจัดผลเสียทิ้งไป นั่นคือการพากลับไปสู่ประสบการณ์อันเลวร้ายและปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ อนุญาตให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาช่วยเหลือในการเยียวรักษาจิตใจภายใน

ภาพยนต์เรื่องนี้สร้างจากนวนิยาย (Fictionขอย้ำว่าเป็น "นวนิยาย"(นิยายที่มีความซับซ้อน มีบทสนทนา) นั่นหมายถึงว่าไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเรื่องเล่าจากจินตนาการ อาจจะมีเค้าโครงจากเรื่องจริงแต่ไม่ใช่ทั้งหมด มีการแต่งเติม เพื่อความบันเทิง 

ดังนั้นเราไม่ควรหาความจริงจากนวนิยาย  หากเราจะค้นหาความจริงต้องอ่านพระคริสตธรรมคัมภีร์   เราชมภาพยนตร์ได้เพื่อความบันเทิง  ภาพยนตร์บางเรื่องชมแล้วก็ได้ข้อคิดเช่นกัน

ผู้นำคริสตจักรบางท่านหรือคริสเตียนประเภทอนุรักษ์นิยม(Conservative)บางท่าน หรือเรียกง่ายๆว่า "หัวโบราณ"  มักจะแนะนำว่าไม่ควรไปดูหนังหรืออ่านหนังสือนิยาย เพราะ"มันไม่ฝ่ายวิญญาณ",มันเป็นเรื่อง "เนื้อหนัง" ระวังค่านิยม"ชาวโลก"  

ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าท่านไม่ใช่ชาวโลกแล้วท่านมาจากดาวไหน?  ท่านเป็นคนฝ่ายวิญญาณแล้วเวลาไปสั่งอาหารเช่น ข้าวมันไก่ เอาแต่วิญญาณไก่  ไม่เอาเนื้อหนังหรือเปล่า?

โดยมักจะอ้างข้อความจากสิ่งที่อัครทูตเปาโลเขียนจดหมายฝากไปถึงทิโมธีเพื่อเตือนใจผู้เชื่อว่า ให้สนใจความจริงของพระวจนะ อย่าไปใส่ใจเรื่องไร้สาระ เช่น นิยายต่างๆ

1ทิโมธี  4:7 อย่าใส่ใจกับเทพนิยาย​(Myth)อันหาสาระมิได้ จงฝึกตนในทางธรรม

ทิโมธี  4:4 พวกเขาจะเลิกฟังความจริงและหันไปฟังนิยายต่างๆ

อัครทูตเปาโลเขียนแบบนี้ไม่ใช่ว่า ห้ามเราไม่ให้ไปอ่านนวนิยาย  เพียงแต่อย่าไปใส่ใจมากมาย ให้ความสำคัญกับการศึกษาความจริงจากพระวจนะดีกว่า ทางที่ดีเมื่อเราไปดูหนัง เราควรจะตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหลักการพระคัมภีร์เหมือนคริสตจักรชาวเมืองเบโรอา

กิจการฯ  17:11 ยิวชาวเมือง(เบโรอา)นั้นมีจิตใจสูงกว่าชาวเมืองเธสะโลนิกา ด้วยเขามีใจเลื่อมใสรับพระวจนะของพระเจ้า และค้นดูพระคัมภีร์ทุกวัน หวังจะรู้ว่าข้อความเหล่านั้นจะจริงดังกล่าวหรือไม่

สำหรับความคิดของผมแล้ว บริบทมันแตกต่างกันนะครับ ในสมัยนั้นมีเทพนิยายกรีก (ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า  "ตำนานเทพเจ้า"(Myth)) รวมถึงปรัชญาแนวคิดแบบกรีก กระแสเหล่านี้เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้เชื่อในคริสตจักร ดังเช่น 

ลัทธิไญยนิยม หรือ นอสติก (Gnosticism)  คำว่า Gnostic แปลว่า "ความรู้" รอดได้โดยความรู้ พวกนี้สอนว่า ร่างกายกับจิตวิญญาณแยกออกจากกัน  ร่างกายเป็นสิ่งชั่ว ส่วนจิตวิญญาณเป็นสิ่งดี  วัตถุเป็นสิ่งเลวร้าย ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงกิจกรรมฝ่ายโลก โดยการบำเพ็ญศีลภาวนานั่งวิปัสสนากรรมฐาม (ไม่ใช่นั่งวิตถารนะครับ :) เพื่อจำกัดกิเลศและความคุมความต้องการด้านเนื้อหนังที่เป็นสิ่งชั่วร้ายนั้นเอง (โคโลสี 1:15-18)

ลัทธิบูชาความสำราญ หรือ ลัทธิเอพิคคิวเรียน (Epicureanism)   เป็นพวกสสารนิยม(Materialism)  เชื่อว่าวัตถุเท่านั้นที่เป็นจริง วิญญาณของมนุษย์ก็มีลักษณะเป็นสสารจึงมีความแตกดับเช่นเดียวกับสสาร  ไม่มีโลกหน้าที่มนุษย์จะได้รับการพิจารณาความดีความชั่ว ขณะยังมีชีวิตอยู่จึงควรแสวงหาความสุขให้แก่ตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ความดีความชั่วที่คนเชื่อกันเป็นสิ่งสมมติ

ลัทธิไร้ความรู้สึก หรือลัทธิสโตอิก(Stoicism)  พวกนี้สอนให้การควบคุมตนเองจากอารมณ์ และควบคุมกัมมภาวะ (passion) และอารมณ์สามารถเอาชนะความไม่ร่วมแนว(discord) ของโลกภายนอกและจะได้รับความสุขในตัวเอง  คุณธรรม เหตุผลและกฎธรรมชาติ เป็นตัวชี้นำสำคัญ มุ่งค้นหาความจริงคือคุณธรรม  

กิจการฯ 17:18 ปรัชญาเมธีบางคนในพวกเอปิคูเรียน และในพวกสโตอิกด้มาพบท่าน บางคนกล่าวว่า คนก็เดนความรู้เล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้จะใคร่มาพูดอะไรให้เราฟังเล่าบางคนกล่าวว่า ดูเหมือนเขาเป็นคนนำพระต่างประเทศเข้ามาเผยแพร่เพราะเปาโลได้ประกาศพระนามพระเยซู และเรื่องการเป็นขึ้นมาจากความตาย

ความแตกต่างของนิยายสมัยอัครทูตเปาโลนั้น คือ การนำกระแสโลกเข้ามาในคริสตจักร แต่นวนิยายเรื่องThe Shack : กระท่อมเหนือปาฏิหาริย์ นั้นเป็นการนำหลักการพระคัมภีร์เข้าไปมีอิทธิพลต่อคนในโลกนี้ เพื่อต้องการให้คนได้รู้จักหลักการของพระเจ้า 

เราดูหนังแล้วตรวจสอบได้ตามหลักการพระคัมภีร์แต่อย่ามาจับผิด ห้ามไปดูโดยไม่สนใจในรูปแบบการนำเสนอด้วยวิธีการที่แตกต่างจากการสอนหรือเทศนาพระคัมภีร์ทางตรง

หลักการของผม คือ เพื่อเห็นแก่โลกแต่ไม่ใช่ละทิ้งโลก (For the sake of the world ไม่ใช่ Forsake the world) 
หากเราไม่สนับสนุนหนังแนวคริสเตียนแต่มาจับผิด เราก็ปิดโอกาสที่จะทำให้พระกิตติคุณของพระเจ้าเข้าไปในหัวใจของผู้ที่รับชมหนัง
สรุป คือ ถ้าเราไม่สนับสนุนหนังของคริสเตียน เราก็จะเห็นแต่หนังที่มีค่านิยมของโลกปรากฏในโรงหนัง เช่น หนังผี หนังรักๆใคร่ๆ หนังฆาตรกรรมต่างๆ

 William Paul Young


The Shack: กระท่อมเหนือปาฏิหาริย์ เป็นผลงานของนักเขียนคริสเตียน ชื่อว่า วิลเลี่ยม พอล ยัง  (William Paul Young) เขาไม่ได้เป็นนักศาสนศาสตร์ หรือศิษยาภิบาล  เขาต้องการนำเสนอเรื่องของพระเจ้าในรูปแบบนวนิยาย  ใช้การเปรียบเทียบ แสดงความรู้สึกสะท้อนมุมมองพระเจ้าในแบบที่ต่างจากพระคัมภีร์ ดังนั้นจึงควรนำหนังสือเล่มนี้มาเป็นหลักการเชิงศาสนศาสตร์

คำว่า The Shack - เดอะแช็ค หมายถึง "กระท่อม" เป็นคำอุปมาอันล้ำลึก แทนสถานที่ที่สร้างขึ้นมาจากความเจ็บปวดของตัวเอง  สถานที่ที่ฉุดรั้งชีวิตไว้ไม่ให้ก้าวไปต่อได้เพราะความโศกเศร้า   สถานที่สร้างขึ้นมาเมื่อไร้หนทาง สถานที่ที่เก็บความความลับไว้ด้วยความอับอาย  แต่แล้วในบางครั้งเราต้องกลับไปยังกระท่อมที่เดิมด้วยมุมมองใหม่เพื่อรับการเยียวยารักษาให้หาย

Stuart Hazeldine 


ช่วงเวลาที่เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นช่วงที่ตกต่ำในชีวิตของเขา  เขาต้องการเขียนนวนิยายเพื่อสื่อหลักการพระคัมภีร์เพื่อครอบครัวและสังคมแต่ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนสนใจจะตีพิมพ์ จนตัดสินใจตั้งสำนักพิมพ์เอง
การถ่ายทอดเป็นนวนิยายจึงเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย สะท้อนความรู้สึกและชวนให้ติดตาม 

The Shack : กระท่อมเหนือปาฏิหาริย์ เป็นหนังสือขายดีแบบถล่มทลายของ USA TODAY และ New York Times Best Seller ตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปี 2010 ยอดขายกว่า 22 ล้านเล่มทั่วโลก จึงนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่สร้างความประทับใจและแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมทั้งโลกโดยผู้กำกับที่ชื่อว่า  "สจ๊วต ฮาเซลดีน"(Stuart Hazeldine)

เรื่องย่อ The Shack: กระท่อมเหนือปาฏิหาริย์
แม็ค ฟิลิปส์(Mack Phillips) แสดงโดย แซม เวิร์ธธิงตัน (Sam Worthingtonถ้าจำได้คนนี้เคยเป็นพระเอกเรื่องอวตาร(Avatar) 

แม็ค ฟิลิปส์ (Mack Phillips) ชายหนุ่มผู้เป็นพ่อกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งความเศร้าจากการสูญเสียลูกสาวคนเล็กไปจากการถูกลักพาตัวในการเดินทางไปเที่ยวพักผ่อนช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ 

เหตุการณ์นี้จึงทำให้เขาตั้งคำถามกับความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า ว่าเหตุการณ์ร้ายนี้เกิดกับครอบครัวของเขาได้อย่างไร? 
ทำไมพระองค์ไม่ทรงช่วยเหลือ? 

ในขณะที่แม็ค ฟิลิปส์กำลังอยู่ในสภาพที่หัวใจแตกสลาย ต่อมาเขากลับได้รับจดหมายแปลกๆ ฉบับหนึ่งซึ่งบอกให้กลับไปที่กระท่อมเดิมที่ลูกสาวของเขาถูกลักพาตัว 
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เขากำลังจะได้พบจะเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล แม้ว่าจะข้องใจอยู่ก็ตาม แม็คได้ออกเดินทางไปยังกระท่อมร้างแห่งนั้น ระหว่างทางเขาพบเจอคนแปลกหน้าท่าทางประหลาด 3 คน นำโดยหญิงสาวที่ชื่อว่า "ปาป้า" (Papa) นำแสดงโดย ออคตาเวีย สเปนเซอร์ (Octavia Spencer

จากการพบกันครั้งนี้  แม็คจึงได้พบเจอความจริงบางอย่างที่จะทำให้เขาเข้าใจกับประสบการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล ขอเล่าเท่านี้แล้วกันต้องไปชมเอง ไม่อยากที่จะสปอยมากเกิน

ภาพยนตร์เรื่องนี้วิเคราะห์ประเด็นหลักไว้ 3 ประเด็นหลัก 1.โศกนาฏกรรม 2.การพิพากษา 3.การให้อภัย ขอรีวิวแต่ละประเด็นคร่าวๆดังนี้ (ขอบคุณ ข้อมูลการ Review จาก Christian Thai Subtitle

1.โศกนาฏกรรม - “ทำไมพระเจ้าจึงปล่อยให้คนที่ไม่ได้ทำอะไรผิด หรือแม้แต่คนที่รักพระองค์ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากหรือสูญเสีย”  ตรงนี้หนังก็ให้คำตอบจุใจประมาณนึง อย่างไรก็ตามสิ่งที่พระเจ้าสัญญาคือจะอยู่ด้วยเสมอในวันที่ทุกข์ยากที่สุด

2.การพิพากษา  หนังใช้บทสมมติเลยว่าหากวันหนึ่งเราได้เป็นผู้พิพากษา เราจะพิพากษาอย่างไร และก็จี้จุดไปว่ามนุษย์เราหลายคนทำหน้าที่พิพากษา กำหนดชั่วดีจากมุมมองแคบๆ ของตนเอง ทั้งๆ ที่พระเจ้าผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นผู้พิพากษา ไม่เพียงเท่านี้ พระเจ้าเองแม้จะทรงเปี่ยมไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม แต่ก็ทรงรักคนทุกคนเหมือนเป็นลูก พระองค์จะทรงทำเช่นไร 
หากรู้ว่าลูกทุกคนจะต้องพินาศเพราะบาปในนรก พระองค์จึงต้องลงมาเป็นมนุษย์และรับบาปผิดของทุกคน เพื่อเปิดทางให้ลูกทุกคนของพระเจ้ามีโอกาสรอด

3.การให้อภัย  ประเด็นนี้ แม็ค พระเอกของเรื่อง จะให้อภัยและจะยกโทษให้กับคนที่ทำผิดหรือพรากคนที่เรารักไปได้อย่างไร พระเยซูคริสต์ทรงพร้อมที่จะประคองและโอบอุ้มเราให้ผ่านพ้นไปได้  

ภาพยนตร์เรื่องนี้จะพาเราซึมซับแนวความคิดเรื่องความรักของพระเจ้า  จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละคร และเล่าเรื่องผ่านมุมมองของคริสตชนที่ต้องเผชิญความเจ็บปวดจากการสูญเสียผู้เป็นที่รัก

“อย่าถามว่าพระเจ้าไปไหนในเวลาเราต้องการมากที่สุด”  เพราะเรามองแต่ความต้องการ ความเจ็บปวด ความผิดหวังของตัวเอง จนสายตาเราพลาดไปจากพระเจ้า จึงไม่ได้สัมผัสว่าพระองค์อยู่กับเราเสมอและพร้อมที่จะช่วยเรา การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าจะทำให้เรามีสันติสุข มีความชื่นชมยินดี พระองค์ทรงรักเราเพราะเป็นลูกที่รักของพระองค์  เพราะพระวจนะของพระเจ้าย้ำในความรักนิรันดร์ของพระองค์

เยเรมีย์ 31:3  “พระ‍ยาห์‌เวห์ทรงปรา‌กฏแก่เขา จากที่ไกล ตรัสว่า เราได้รักเจ้าด้วยความรักนิ‌รันดร์ เพราะ‍ฉะนั้น เราจึงนำเจ้ามาด้วยความรัก‍มั่น‍คง” 


บทเพลงประกอบภาพยนตร์  Keep Your Eyes on Me” ขับร้องโดย ทิม แม็กกรอว์(Tim McGraw ร่วมกับภรรยาคือ เฟธ ฮิลล์ (Faith Hill) ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

นอกจากนี้ภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังให้ข้อคิดที่ดีต่างๆ เช่น 

"การยกโทษ ไม่ได้จะให้คุณลืม แต่ให้อภัยต่างหาก"

"พระเจ้าเท่านั้นที่จะเป็นผู้เยียวยารักษาจิตใจที่แตกสลายได้"

"ชีวิต คือ การคงอยู่ ...แม้จะไม่นิรันดร์ แต่การที่อยู่แบบจมกองทุกข์ จะทำให้พลาดกับสิ่งดีๆต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต รวมทั้งอาจสร้างความทุกข์ใจ ให้กับคนรอบข้างเราอีกด้วย" 

"ชีวิต คือ เส้นทางที่ทุกคนต้องเดิน จะสุขหรือทุกข์ ทุกคนล้วนต้องพบเจอ แม้บางสิ่ง บางอย่าง เราไม่สามารถนำมันกลับคืนมาได้ก็ตาม เสียใจ เสียน้ำตาได้ แต่จงรีบเข้มแข็ง จงเรียนรู้ ยอมรับ แล้วนำกลับมา"


“น้ำตา ความเจ็บปวด ความอับอาย จะสร้างคุณให้เป็นคนที่เข้มแข็ง” 

"รถทุกคันมีจุดหมายปลายทาง อย่าเพลินในการขับรถ จนลืมดูความสวยงามข้างทาง"  

เราไม่สามารถเริ่มอะไรใหม่ๆ ได้ ถ้ายังไม่ขุดรากถอนโคลนสิ่งเก่าๆ ที่ทำร้ายใจเราอยู่อย่างนั้น
"เมื่อไหร่ที่เราเพ่งมองแต่ปัญหา เราจะจมลงไปสู่ก้นบึ้งได้อย่างง่ายดาย เลือกเผชิญหน้ากับความเป็นจริงนั้นจะทำให้เราลอยตัวออกมาจากอดีตที่ผ่านไปแล้วได้สบายกว่า"
"ไม่มีใครเป็นผู้ตัดสินว่าใครทำถูกหรือผิดได้ทั้งหมด"
"การรู้จักให้อภัย ไม่ได้ดีกับใครไปมากกว่าตัวเราเอง"

สำหรับประเด็นทางศาสนศาสตร์ที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ อันที่จริงมีหลายประเด็น แต่ผมขอยกมากล่าวในบางประเด็นนะครับ เช่น 

ทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดความเป็นพระเจ้า ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้หญิง (Divine Feminine) เป็นพวกลัทธิสอนผิด เกี่ยวกับพวก New Age Deity หรือไม่?

สำหรับความคิดของผม การจะกล่าวหาว่าเป็นลัทธิสอนผิดนั้นไม่ได้เป็นประเด็นที่ชัดเจน เพราะการนำเสนอของหนังสือหรือภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นนวนิยาย ไม่ใช่รูปแบบคำสอน จึงไม่ใช่หลักการแต่เป็นวิธีการที่นำเสนอเพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้ชมเกิดความรู้สึกร่วมชวนติดตาม

พระยาห์เวห์( YHWH- יהוה‎‎ ) ทรงสำแดงพระองค์เหนือความเข้าใจมนุษย์ เราไม่สามารถระบุได้ว่า พระเจ้าทรงเป็นเพศใด เพราะพระองค์เป็นพระผู้สร้าง  เอโลฮิม (Ehohim אֱלֹהִים ) เป็นภาษาฮีบรู ระบุความเป็นเพศชาย (masculine) เราจึงคิดว่าพระเจ้าเป็นผู้ชาย 
คำว่า "อับบา" (Abba -אבא) เป็นคำเรียกพระเจ้าในฐานะพระบิดา

รม. 8:15...ให้​เรา​ทั้ง​หลาย​ร้อง​เรียก​พระ​เจ้า​ว่า “อับ​บา” คือ​พระ​บิดา
เอเฟซัส 3:14-15 เพราะ​เหตุ​นี้​ข้าพ​เจ้า​จึง​คุก​เข่า​ต่อ​พระ​บิดา  (คำ​ว่า บิดา ของ​ทุก​ตระ​กูล​ใน​สวรรค์​ก็​ดี บน​แผ่น​ดิน​โลก​ก็​ดี มา​จาก​คำ​ว่า​พระ​บิดา​นี้)


พระนามเอล ชัดดาย (El Shaddai  אֵל שַׁדַּי) พระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ ผู้ทรงเลี้ยงดูเราเหมือนกับมารดาที่เลี้ยงดูบุตรในอ้อมอกของเธอ 
ปฐมกาล 49:25 โดย​พระ​เจ้า​ของ​บิดา​เจ้า​ผู้​ทรง​ช่วย​เจ้า โดย​พระ​เจ้า​ผู้​ทรง​มหิท​ธิ​ฤทธิ์ ผู้​ทรง​อวย​พร​แก่​เจ้า ด้วย​พร​ที่​มา​จาก​ฟ้า​เบื้อง​บน พร​ที่​มา​จาก​ที่​ลึก​เบื้อง​ล่าง พร​ที่​มา​จาก​นม​และ​ครรภ์
(blessings of the breasts and womb)

พระวิญญาณบริสุทธิ์(Holy Spirit) ในภาษาฮีบรู คือคำว่า รูอัค ฮา โคเดช ( ruach ha-kodesh - רוח הקודש)  เป็นคำนามของผู้หญิง (feminine)  แต่ในพระคัมภีร์ใหม่  คำว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์ ใช้คำว่า นิวมา (pneuma -πνεῦμα ) เป็นภาษากรีก เป็นได้ทั้ง 2 เพศ (gender neutral)
ดังนั้นพระเจ้าสามารถสำแดงบทบาทความรักในฐานะของการเป็นทั้งพ่อและแม่ เรียกว่า "ความรักแบบ
สเตอร์เก้"  (storge στοργή) โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์สำแดงความรักที่อ่อนโยนเหมือนแม่เลี้ยงดูลูกของตน (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง นิยาม"รัก"ต่างระดับ)

ในความคิดของผมแล้ว ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องมาถกเถียงว่าพระเจ้าทรงเป็นพ่อหรือแม่ เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เพราะพระองค์สามารถสำแดงความรักของพระองค์ในทั้ง 2 บทบาท รวมถึงพระองค์ทรงสร้างสถาบันครอบครัวขึ้นมาเพื่อสำแดงความรักของพระองค์ผ่านทางผู้เป็นพ่อและแม่ที่มีต่อลูกของตน

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ต้องการสื่อถึงการทำงานร่วมกันของตรีเอกานุภาพ(Trinity) คือ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ โดยภาพที่เข้าใจง่ายคือภาพของผู้หญิง ซึ่งบางครั้งผู้ที่มีความบาดเจ็บจากพ่อจะไม่สามารถเข้าใจความรักของพระบิดาได้ การเยียวยารักษาในบางครั้งพระเจ้าทรงสำแดงความรักของแม่ได้เช่นกัน

ประเด็นอื่นๆ เช่น พระคัมภีร์จำกัดความเป็นพระเจ้า โดยลดความสำคัญของพระสุรเสียงของพระเจ้าลงบนกระดาษ: "ไม่มีใครต้องการให้พระเจ้าอยู่ในกล่อง หรืออยู่เพียงในหนังสือ"

(Bible limits God, implying that it was man who reduced God’s voice to paper: “Nobody wanted God in a box, just in a book”)

ความคิดของผมคือ บางเราจำกัดพระเจ้าลงในกล่องเนื่องจากมุมมองความด้านศาสนศาสตร์(Theology) และเราจำกัดพระเจ้าลงในหนังสือเพราะศาสนา(Religious) 

เราต้องทำความเข้าใจว่าพระคัมภีร์มีความสำคัญ เพราะได้รับการดลใจจากพระเจ้า เป็นสำแดงของพระองค์
2 ทิโมธี 3:16 พระ​คัม​ภีร์​ทุก​ตอน​ได้​รับ​การ​ดลใจ​จาก​พระ​เจ้า และ​เป็น​ประ​โยชน์​ใน​การ​สอน การ​ตัก​เตือน​ว่า​กล่าว การ​แก้ไข​สิ่ง​ผิด และ​การ​อบ​รม​ใน​ความ​ชอบ​ธรรม

แต่ไม่ใใช่การสำแดงทั้งหมดของพระเจ้า  บางสิ่งพระคัมภีร์ไม่ได้บันทึกไว้ ไม่ใช่ว่ามันไม่มีจริง แต่บันทึกได้ไม่หมด 


ยอห์น 21:25   มีอีกหลายสิ่งที่พระเยซูได้ทรงกระทำ  ถ้าจะเขียนไว้ให้หมดทุกสิ่งข้าพเจ้าคาดว่า  แม้หมดทั้งโลกก็น่าจะไม่พอไว้หนังสือที่จะเขียนนั้น

เราไม่ควรเป็นพวก Only Bible ไม่ใช่ Holy Bible คือเอาแต่ พระคัมภีร์(Holy Bible)เท่านั้น ในสมัยหลังพระธรรมกิจการฯ มีการรวบรวมคำสอนหลักข้อเชื่อต่างๆของอัครทูต(Apostolic creeds)  และมีการรวบรวมพระคัมภีร์(Canon แปลว่าไม้วัด)  

ดังนั้นไม่ใช่ว่าความจริงของพระเจ้าจะมีแค่ในสารบบของ Holy Bible แม้แต่หนังสือหลักลอย(Apocrypha) ยังมีการบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความจริงของพระเจ้า เพียงแต่ไม่ได้ถูกนำมารวบรวม (Canon)เป็นพระคริสตธรรมคัมภีร์(Holy Bible)เท่านั้น

คำที่น่าสนใจเรียนรู้ คือ Holy Bible คำว่า Holy หมายถึง บริสุทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ คือ การแยกออกมา ในภาษาฮีบรูคือคำว่า Kadosh :คาโดช 

คำว่า "Bible" มาจากคำว่า "bíblos"(ไบบลอส) ในภาษากรีก แปลว่า หนังสือ 

หากเราทำรายงาน เราจะเขียนแหล่งข้อมูลอ้างอิงหนังสือ จะใช้คำว่า Bibliography หรือ บรรณานุกรม 

สรุปความคือ Holy Bible เป็นหนังสือศักสิทธิ์ที่มีการแยกออกมาเป็นสารบบ(canon) เป็นไม้วัดบรรทัดฐานของการสำแดงความจริงเกี่ยวกับพระวจนะ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะพระเจ้าทรงสำแดงในมิติที่เกินความเข้าใจของเราผ่านวิธีการต่างๆ มากมาย 

พระเจ้าทรงใช้การสำแดงได้หลายมิติ  พระเจ้าทรงใช้สื่อต่างๆ ในการเปิดเผยการสำแดงได้ เช่น การพูดเผยพระวจนะ เสียงดนตรี ภาพวาด หรืออื่นๆ  เราจึงไม่ควรใช้ความจำกัดของเรา มาจำกัดพระเจ้าที่ไม่จำกัดว่าการสำแดงมีเฉพาะในพระคัมภีร์เท่านั้น (Only Bible)


เราต้องใช้พระคริสตธรรมคัมภีร์(Holy Bible)เป็นไม้วัดเพื่อวินิจฉัยการสำแดงอื่นๆของพระเจ้าที่เราได้รับเช่นทางนิมิต ภวังค์ ความฝัน การเปิดเผยสำแดงผ่านทางการเผยพระวจนะว่า ขัดแย้งกับหลักการของพระคริสตธรรมคัมภีร์(Holy Bible)ไหม?
หากขัดแย้งแสดงว่าสิ่งนั้นไม่ได้มาจากพระเจ้า เพราะพระเจ้าจะไม่สำแดงสิ่งที่ขัดต่อหลักการที่พระองค์กำหนดไว้
1เธสะโลนิกา 5:21   จงพิสูจน์ทุกสิ่ง  สิ่งที่ดีนั้นจงยึดถือไว้ให้มั่น
ยอห์น 4:1  ท่านที่รักทั้งหลาย  อย่าเชื่อวิญญาณเสียทุกๆวิญญาณ  แต่จงพิสูจน์วิญญาณนั้นๆว่ามาจากพระเจ้าหรือไม่  เพราะว่ามีผู้พยากรณ์เท็จเป็นอันมากจาริกไปในโลก
ฮีบรู 4:12   เพราะว่า  พระวจนะของพระเจ้านั้นไม่ตายและทรงพลานุภาพอยู่เสมอ  คมยิ่งกว่าดาบสองคมใดๆแทงทะลุกระทั่งจิตและวิญญาณ  ตลอดข้อกระดูกและไขในกระดูก  และสามารถวินิจฉัยความคิดและความมุ่งหมายในใจด้วย

(ผมเคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ใน บทความเรื่อง มิติการสำแดงกับความจริงของพระคัมภีร์)


ยังมีประเด็นศาสนศาสตร์หลายประการที่เป็นข้อถกเถียง ทั้งในเรื่องการให้อภัยของพระเจ้าที่ไม่จำกัด ไม่จำเป็นต้องเชื่อในพระเยซูคริสต์ที่ตายบนไม้กางเขนหรือไม่,พระบิดาอยู่กับพระเยซูเสมอและถูกตรึงกางเขนกับพระองค์ด้วยหรือ? เป็นต้น

เนื่องจากบทความมีเนื้อที่จำกัด ขอนำเสนอในประเด็นต่างๆเหล่านี้ในโอกาสต่อไปนะครับ 

ขอสรุปไว้ตรงนี้ว่า หนังเรื่องนี้เป็นนวนิยายเขียนเพื่อความบันเทิงและให้ข้อคิด จุดประสงค์เพื่อนำเสนอให้คนที่ไม่เชื่อในพระเยซูคริสต์สามารถรับชมได้เข้าใจ อาจจะไม่ได้นำเสนอได้ครบถ้วนในมุมด้านความถูกต้องเชิงศาสนศาสตร์ 
ดูหนังThe Shack ยังดีกว่าฟังรายการ The Shock ยกย่องผีเป็นไหนๆ
ถ้าเราไม่สนับสนุนหนังของคริสเตียน เราก็จะเห็นแต่หนังที่มีค่านิยมของโลกปรากฏในโรงหนัง เช่น หนังผี หนังรักๆใคร่ๆ หนังฆาตรกรรมต่างๆ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น