21 ธันวาคม 2555

เลวี – คนดีของพระเจ้า

เลวี – คนดีของพระเจ้า
(Levi - be a good man for good God)
สวัสดีครับเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ผมอยากขอบคุณพระเจ้าสำหรับสิทธิพิเศษในการได้มาเป็นผู้รับใช้พระเจ้าเต็มเวลา ปีนี้เป็นปีที่ 15 แล้ว สรรเสริญพระเจ้าสำหรับการทรงเรียกที่มาถึงในชีวิตของผม ผมไม่เคยสมัครงานที่ไหนเลย เพราะก่อนที่จะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ผมได้มาเป็นอาสาสมัครช่วยงานในคริสตจักรด้วยความเต็มใจไม่รับเงินเดือนหลายเดือน เรียกว่าเป็นพวก “Full heart –Part time” ทำงานเต็มใจแม้ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา

ในสมัยก่อน ผมยังเคยสงสัยว่าพวกผู้รับใช้เต็มเวลา เขาทำงานอะไรบ้างในคริสตจักร จะเป็นเหมือนดังพวกมัคทายกที่ทำงานในศาสนสถานตามความเชื่อเดิมหรือไม่ แต่เมื่อได้มามีส่วนร่วมในการทำงานแล้วรู้สึกประทับใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่เต็มเวลาในคริสตจักรที่ขยันขันแข็ง และรู้สึกประทับใจในคำพยานของเจ้าหน้าที่เต็มเวลาหลายท่านที่ยอมเสียสละแม้ว่าต้องเสียโอกาสที่จะไปทำงานในองค์กรภายนอก ได้เงินเดือนมากมายและมีหน้ามีตาในสังคม แต่สิ่งที่ได้รับมากกว่าสิทธิประโยชน์ต่างๆในโลก คือ การได้รับสิทธิพิเศษคือได้เป็น “เลวี ผู้รับใช้พระเจ้า” ได้ใกล้ชิดและปรนนิบัติพระเจ้าในพระวิหารของพระองค์ นี่คือค่านิยมที่ปลูกฝังในชีวิตของผม
จนเมื่อผมได้อธิษฐานและได้รับการทรงเรียกให้มาเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา ผ่านคำเชิญของผู้นำคริสตจักร ผมตัดสินใจอย่าง"แน่วแน่"ในเวลานั้น แม้ว่าอนาคตของตนอาจจะ “เน่าแน่” เพราะไม่ได้ทำงานตามสิ่งที่ผู้ปกครองคาดหวัง

ในวันที่ 17 มีนาคม ปีค.ศ.1997 ได้เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่เต็มเวลาในคริสตจักรสมความตั้งใจตามที่ได้ปวารณาตัวเอาไว้ เป็นการอุทิศตัวเพื่อรับใช้พระเจ้าอย่างเต็มเวลา ความรู้สึกในเวลานั้นเหมือนการออกบวช (Ordain) เป็นบรรพชิตอย่างไงอย่างนั้น เป็นไงเป็นกัน ตั้งใจติดตามพระคริสต์แล้ว จับคันไถ คันหลังแล้วไม่หันหลังเกา เอ้ย! ไม่ใช่ จับคันไถแล้วไม่คิดหันหลังกลับ
ลูกา9:62 …"ผู้ใดเอามือจับคันไถแล้ว หันหน้ากลับเสีย ผู้นั้นก็ไม่สมควรกับแผ่นดินของพระเจ้า"

การเข้ามาเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา มักจะมีคำพูดย้ำเตือนให้ตระหนักว่า “เป็นคนเลวี ทำตัวให้ดี อย่าให้สระ(อี)หายไป ไม่งั้นจะเป็นคนเลว”

คำนี้เป็นคำจริงเพราะการเป็นผู้รับใช้เต็มเวลาเป็นกิจการงานที่ประเสริฐ
1ทิโมธี 3:1 คำนี้เป็นคำจริง คือว่าถ้าผู้ใดปรารถนาหน้าที่ผู้ปกครองดูแลคริสตจักร ผู้นั้นก็ปรารถนากิจการงานที่ประเสริฐ
คำว่า "ผู้ปกครอง" หมายถึง คณะผู้รับใช้(Deacon)เป็นคำเดียวกับกลุ่มมัคนายกในกจ.6 ที่ได้รับมอบหมายแจกจ่ายทานทำหน้าที่แทนบรรดาอัครทูต
(ภาษาไทยใช้คำว่า มัคนายก ไม่ได้เป็นแบบ"มัคทายก" มัคทายก เป็นคำสมาส มาจากภาษาบาลี 2 คำ คือ "มัคค" (แปลว่า ทาง) + "ทายก" (แปลว่า ผู้ถวายจตุปัจจัยแด่ภิกษุสงฆ์ ผู้นับถือศาสนา ) รวมความแล้ว จึงหมายถึง ทางของผู้นับถือศาสนา)


เมื่อผมทำงานมาได้สักระยะหนึ่ง ผมสัมผัสได้ถึงการดูแลจากการจัดสรรของพระเจ้าที่ผ่านทางครอบครัว แม้ว่าจะได้รับเงินเดือนตอบแทนไม่ได้มากนักเท่าเทียมกับการทำงานองค์กรภายนอก แต่ก็มีความภาคภูมิใจ เพราะเราเป็น “คนเลวีผู้รับใช้พระเจ้า ไม่ใช่ผู้รับจ้าง” ไม่ได้เป็น “มนุษย์เงินเดือน แต่เป็น “มนุษย์เงินถวาย” นี่คือนิยามในความคิดของผม เพราะเราต้องเป็นผู้อารักขา ทำงานตามเงินสิบลดที่พี่น้องถวายมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดูแลผู้รับใช้เต็มเวลาในคริสตจักร ทำงานให้คุ้มค่าเกิดผลสูงสุดต่ออาณาจักรของพระเจ้า
แต่ในบางครั้งมีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจบ้าง เมื่อได้รับการปฏิบัติโดยมุมมองของคริสตสมาชิก มักจะมองว่า “ผู้รับใช้พระเจ้าต้องสมถะ” มักจะได้รับสิ่งของมือสอง บริจาคมาโดยพี่น้องสมาชิกคริสตจักร แล้วคุณค่าที่ควรได้รับของเลวีตามหลักการพระคัมภีร์เป็นเช่นไร? พระเจ้ามองคนเลวีผู้รับใช้ของพระองค์เป็นเช่นไร? เมื่อศึกษาพระคัมภีร์ เราจะพบว่า…

ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม ชนเผ่าเลวี เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษจากพระเจ้า ได้รับเลือกให้เป็นผู้ปรนนิบัติในที่ประทับของพระองค์ แม้ว่าพวกเลวีที่ปรนนิบัติพระเจ้าตามที่พบในพันธสัญญาเดิมล้วนเป็นเพศชาย แต่ในคริสตจักร ปัจจุบันคำว่า “เลวี” ย่อมหมายถึงบุคคลทั้งชายหญิงที่รับใช้พระเจ้าในคริสตจักรท้องถิ่น

คำว่า “เลวี” มีความเป็นมาอย่างไร?
คำว่า “เลวี” หมายถึง ความสนิทสนม การเชื่อมต่อผูกสนิท(Joined unto) (ปฐก.29:34 นางตั้งครรภ์และมีบุตรชายอีกคนหนึ่ง นางกล่าวว่า "ครั้งนี้สามีจะสนิทสนม {ฮีบรู ว่า ลาวาห์} กับข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้ามีบุตรชายกับเขาสามคนแล้ว" เหตุนี้จึงตั้งชื่อเขาว่า เลวี)

ผมชอบคำนี้ “ความสนิทสนม” เพราะนางเลอาห์นั้น เธอรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในสามีคือยาโคบ ที่รักน้องสาวของตนคือราเชลมากกว่าตน
หากสมมุติบทบาทเป็นดังละครแรงเงา แรงหึงก็คงประหนึ่งนางนพนภา เมียหลวงที่อิจฉาริษยานางสาวมุตตาเมียน้อย ที่ได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับผอ.(ผัวอั้วะ)มากกว่าตน 
เมื่อนางมีบุตรกับยาโคบ นางคิดว่า เด็กชายเลวี จะทำให้เธอกับนายยาโคบสามีได้มีเวลาอยู่ด้วยกันอย่างสนิทสนม นี่เป็นความเหงาปนความเศร้าของเธอ
ขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้เลวีคือผู้ที่สนิทสนมกับพระองค์ ทุกเช้าก่อนเข้าทำงาน ต้องเข้าไปอุทิศตัว(Devotion) เพื่ออธิษฐานนมัสการพระองค์ก่อนเริ่มงาน พระเจ้าเป็นผู้ที่ปรารถนาจะสนิทสนมกับผู้ที่เป็นผู้รับใช้พระองค์เสมอ

เมื่อศึกษาในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม กล่าวถึงบทบาทของพวกเลวี พิจารณาถึงการวิวัฒนาการของพวกเลวีตามสมัยต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ ปฐมกาลจนถึงมาลาคี เป็นดังนี้

เลวีคือเชื้อสายยาโคบพงศ์พันธุ์อิสราเอล
เมื่อยาโคบไปอยู่กับลาบัน ลุงของตน ลาบันให้ยาโคบทำงาน 7 ปี เพื่อแลกกับนางราเชล บุตรสาวคนเล็กของตน แต่เมื่อครบ 7 ปีตามกำหนด ลาบันกลับให้ยาโคบแต่งงานกับนางเลอาห์ บุตรีคนโต ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นธรรมเนียมที่คนพี่จะต้องแต่งงานก่อนคนน้อง ยาโคบจึงต้องทำงานอีก 7 ปีเพื่อให้ได้นางราเชล เมื่ออยู่กินกันนั้น ยาโคบรักนางราเชล และชังนางเลอาห์ พระเจ้าจึงทรงเบิกครรภ์ของนางให้มีบุตรชายแก่ยาโคบ ถึง 4 คนติดต่อกัน และเลวี เป็นบุตรคนที่สามของยาโคบ กับนางเลอาห์

ลำดับบุตรของยาโคบทั้ง 13 คน (ตัวเลขในวงเล็บคือลำดับของการเกิด (ญ = บุตรสาว))
นางเลอาห์ มีบุตร 7 คน :รูเบน(1),สิเมโอน(2),เลวี (3),ดีนาห์(ญ),ยูดาห์ (4),อิสสาคาร์ (9),เศบูลุน (10)
นางบิลลาห์(สาวใช้นางราเชล)มีบุตร 2 คน :ดาน(5),นัฟทาลี (6)
นางศิลปาห์(สาวใช้นางเลอาห์) มีบุตร 2 คน: กาด (7),อาเชอร์(8)
นางราเชล มีบุตร 2 คน :โยเซฟ (11),เบนยามิน(12)
(หมายเหตุ :โยเซฟมีบุตรที่เป็นพงศ์พันธุ์เผ่าอิสราเอลคือ :เอฟราอิมและมนัสเสห์ )

ดังนั้นหากไล่ตามลำดับพงศ์พันธุ์ เลวีเป็นชนเผ่าพิเศษที่แยกออกมาปรนนิบัติพระเจ้า จาก 12 เผ่า
โมเสสผู้รับใช้พระเจ้าจากเผ่าเลวี และต้นตระกูลของปุโรหิต
โมเสส เป็นบุตรชายของอัมราม(อับราฮัม)ชาวเผ่าเลวี ผู้รับใช้ที่ได้รับการทรงเรียกให้นำคนอิสราเอลออกมาจากอียิปต์ (อพย.2-3)

ในพระธรรมอพยพ 28:1 พระเจ้าทรงตรัสสั่งให้ โมเสสนำอาโรนพี่ชายของท่าน และบุตรของเขา ซึ่งเป็นชนเผ่าเลวีนั้น แยกออกจากหมู่ชนชาติในอิสราเอล และแต่งตั้งให้ท่าน และบุตรหลานของท่าน เป็น ปุโรหิต ปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าและในพระธรรมเลวีนิติ บทที่ 21 ได้กล่าวถึงแบบอย่างความประพฤติที่ปุโรหิตจะต้องปฏิบัติชีวิตในความบริสุทธิ์ เช่น ห้ามแตะต้องศพ ห้ามแต่งงานกับคนต่างชาติ ห้ามแต่งงานกับหญิงที่เป็นมลทิน หรือหญิงม่าย ไม่ให้โกนศีรษะหรือหนวดเครา อย่าปล่อยผม ห้ามบุตรสาวของปุโรหิตเป็นโสเภณี เป็นต้น ข้อสังเกตคือการเป็นปุโรหิตต้องมาจากการแต่งตั้งโดยพระเจ้า ไม่ใช่แต่งตั้งตนเองตามใจ จะโดนการแช่งสาปจากพระเจ้า ในพระธรรมกันดารวิถี บทที่ 16 ได้กล่าวถึง โคราห์ ชายเผ่าเลวีที่คิดกบฏต่อ โมเสส และอาโรน และตั้งตนเป็นปุโรหิตเอง แต่สุดท้าย โคราห์และพวก ก็ถูกพระเจ้าลงโทษโดยการให้แผ่นดินสูบพวกเขาไป เป็นการยืนยันการทรงเลือกของพระเจ้าที่จะมอบตำแหน่งปุโรหิต ให้แก่ตระกูลของอาโรน

ความแตกต่างระหว่าง“เลวี” และ “ปุโรหิต”
ภาคพันธสัญญาเดิมบางตอนคำว่า “เลวี” และ “ปุโรหิต” มี ความหมายเดียวกันคือทั้ง 2 คำ เป็นปุโรหิต ส่วนในตอนอื่น ๆ นั้นพวกเลวีปุโรหิตพวกหนึ่งที่รองลงมา จากปุโรหิตเชื้อสายอาโรนแต่ในบทความที่ผมเขียนนี้จะไม่แยกแยะระหว่างพวกเลวีและปุโรหิตอื่น ๆ จะเน้นที่เลวีและบทบาทของเลวี

ในพระธรรมอพยพ 19:6 คำตรัสของพระเจ้าที่ตรัสแก่โมเสสว่า ถ้า ประชากรยอมฟังเสียงพระองค์และรักษาพันธสัญญาของพระองค์ไว้ เขาจะเป็น “อาณาจักรปุโรหิต... ชนชาติบริสุทธิ์”

เราจะสังเกตความสำคัญของคำเหล่านี้ได้จากภาคพันธสัญญาใหม่ที่กล่าวว่าคริสตชน เป็น “พวกปุโรหิตหลวง เป็นชนชาติบริสุทธิ์” (1ปต.2:9) ความหมายที่บ่งชัดไว้ที่นี้ก็คือว่าประชากร ของพระเจ้ามีพันธกิจแบบปุโรหิต (เลวี) ท่ามกลางบรรดาประชาชาติ “เพราะแผ่นดินโลกทั้งสิ้นเป็นของ เรา” (อพย 19:5) พันธกิจนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อจะนำพระพร ของพระเจ้ามาสู่ “บรรดาเผ่าพันธุ์ทั่ว โลก” (ปฐก.12:3)

ตรงนี้แหละที่เราจะพบความสำคัญของพันธกิจคืองานที่ทำคือการนำคนเข้ามาหาพระเจ้า ปุโรหิตคือผู้ที่เป็นผู้กลางที่เชื่อมนำคนมาหาพระเจ้า เป็นผู้ที่คนจะนำของถวายมาถวายให้เพื่อรับการอวยพร

ในยุคแห่งพระคุณ พระเยซูคริสต์เป็นมหาปุโรหิต(ฮบ.9)ที่เข้าไปถวายเครื่องบูชาครั้งเดียวเสร็จสิ้นแล้วที่ไม้กางเขนแล้ว เราไม่ต้องมีผู้กลางอีกที่ทำหน้าที่นี้ แต่ไม่ได้หมายถึงบทบาทนี้จะหมดไปแล้ว เพราะปุโรหิตในปัจจุบันคือหัวหน้าของคนเลวีผู้รับใช้พระเจ้าเต็มเวลา นั่นคือผู้ที่เป็นศิษยาภิบาลคริสตจักร

ในความเข้าใจของผม คริสตจักรแบบถุงหนังองุ่นใหม่ คริสตจักรแบบเคลื่อนด้วยของประทานอัครทูต ผู้ที่เป็นอัครทูตของเรา คือ ปุโรหิตที่เราจะนำของถวายไปถวาย เหมือนกับในสมัยพระธรรมกิจการฯ พวกสาวกนำเงินไปถวายไว้ที่แทบเท้าอัครทูต(กจ.4:35 และนำเงินค่าของที่ขายได้นั้นมาวางไว้ที่เท้าของอัครทูต อัครทูตจึงแจกจ่ายให้ทุกคนตามที่ต้องการ)

แม้ปัจจุบันเราอยู่ในยุคแห่งพระคุณไม่ได้ดำเนินชีวิตแบบระบอบเก่า คือมีผู้กลางเชื่อมระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า แต่เราต้องมีผู้ที่จะทำหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้เต็มเวลาเพื่อเป็นพระพรต่อสมาชิกคริสตจักร ไม่ใช่นั้นจะเป็นเหมือนสถานการณ์ในพระธรรมฮักกัยที่พระนิเวศถูกละทิ้งทำให้ชุมชนไม่ได้รับการอวยพระพรจากพระเจ้า

การที่ผมกล่าวแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ไม่ได้มาเต็มเวลาจะไม่ได้เป็นผู้รับใช้พระเจ้า เพราะเราทุกคนเป็นผู้รับใช้พระเจ้าในสถานภาพ แต่บทบาทอาจจะแตกต่างกัน เราอาจจะเป็นผู้รับใช้พระเจ้าในที่ทำงานที่เราทำงานอยู่ แต่พระนิเวศของพระเจ้าหรือคริสตจักรต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้เต็มเวลา คนเหล่านี้จึงเป็นผู้ที่ถูกแยกออกมาเฉพาะดังเช่นคนเผ่าเลวี ที่พระเจ้าแยกพวกเขาออกจากเผ่าต่างๆของอิสราเอลเพื่อทำหน้าที่ในพระนิเวศ

เลวี ผู้ที่พระเจ้าทรงแยกออกจากประชากรทั่วไปเพื่อ “บริสุทธิ์” แด่พระเจ้า

การเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้หมายถึง การเป็นคนดีที่ดีพร้อมเพียงพอ แต่พระคุณของพระเจ้าพอเพียงที่เรียกให้ออกมาปรนนิบัติรับใช้
สิ่งที่พระเจ้าจะใช้พระองค์จะทำให้บริสุทธิ์โดยการชำระและแยกไว้สำหรับพระองค์เสมอ ยกตัวอย่างเช่นเครื่องใช้ไม้สอยในพลับพลา (อพย.40)อิสราเอลเป็นชนชาติบริสุทธิ์ พระเจ้าทรงแยกอิสราเอลออกจากประเทศอื่น ๆ ให้เป็น “กรรมสิทธิ์ของพระองค์และกระทำ พันธสัญญากับเขาที่ภูเขาซีนาย (อพย.19:5,24:8,ฉธบ.5:2-3) เพื่อให้เขาทำพันธกิจของพระองค์ ในทำนองเดียวกัน พระองค์ก็ทรงแยกคนเลวีออกมาจาก อิสราเอลทั้งปวงให้เป็นของพระองค์ (กดว.8:14)และทรงทำพันธสัญญาพิเศษกับพวกเลวี(กดว.25:12, มลค.2:4-5) เพื่อให้เขาประกอบพันธกิจในท่ามกลางประชากรผู้เป็นอาณาจักรปุโรหิตและพันธกิจของพวกเลวีก็คือ เพื่อช่วยให้ประชากรผู้เป็น “กรรมสิทธิ์ของพระเจ้าได้ทำพันธกิจที่ได้รับมอบหมายจากพระองค์”

ฐานะพิเศษของคนเลวีปรากฏชัดอยู่ในพิธีแต่งตั้งเขาให้เป็นปุโรหิต
อันดับแรกมีพิธีชำระและลบมลทินบาป (กดว.8:6,12) แล้วผู้ที่ถูกชำระให้บริสุทธิ์นั้นจะสั่งสอนให้ประชากร “ชำระตัว” และกระทำตัวให้สะอาด เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นศิษยาภิบาลและคณะผู้รับใช้เต็มเวลา จะต้องรับการชำระจากพระเจ้าและการอภัยโทษจากพระองค์กว่าจะสามารถนำประชากร ให้เข้าหาองค์ บริสุทธิ์ที่จะชำระเขาจากสิ่งชั่วร้ายทั้งสิ้น (ยรม.33:8, อสค.36:25,1 ยน.1:7,9)

การได้รับมอบสิทธิ์ทำแทนประชาชนทั่วไป
ประชาชนจะวางมือบนเลวีแสดงว่าประชาชนได้มอบสิทธิ์ให้พวกเลวีทำพิธีศาสนาแทน และ เพื่อพวกเขา (กดว.8:10) เช่นเดียวกันสมาชิกคริสตจักรมอบสิทธิ์ให้ศิษยาภิบาลและคณะผู้รับใช้ทำพิธีศาสนาแทน และเพื่อเขา มหาปุโรหิต (อาโรน)จะถวายคนเลวีแด่พระเจ้าเสมือนเป็นเครื่องที่ยื่นถวายจาก ประชาชนอิสราเอล
(กดว.8:11,13)
คำว่า “เครื่องยื่นถวาย” นั้นมาจากพิธีถวายผลแรก(firstfruit) ผู้ถวายจะยื่นของถวายเข้าถึงแท่นบูชา แสดงว่า เป็นการสมัครใจของผู้ถวาย และ เป็นสัญลักษณ์หมายถึงผลผลิตทั้งหมดที่ถวายไว้เพื่อใช้ตามน้ำพระทัยของพระเจ้า (อพย.29:24) แสดงถึงประชาชนยินดีมอบถวายคนเลวีไว้รับใช้พระเจ้าให้ทำหน้าที่แทนพวกเขา
สำนักงานและหน้าที่ของคนเลวี(office&JD)
ในพระธรรมกันดารวิถี ได้กล่าวถึงหน้าที่(Job description)ของเผ่าเลวี ที่แตกต่างจากเผ่าอื่น ๆ โดยให้มีหน้าที่ปรนนิบัติงานของสถานนมัสการ โดยแบ่งออกงานออกเป็น 3 กลุ่มตามวงศ์วานของเผ่าเลวี ดังนี้




1.วงศ์วานเกอร์โชน มีจำนวนผู้ชายอายุ 1 เดือนขึ้นไปจำนวน 7,500 คน ต้องตั้งค่ายอยู่ข้างหลังพลับพลาด้านทิศตะวันตก โดยมีหน้าที่รับผิดชอบงานในพลับพลา ได้แก่ งานพลับพลา งานเต็นท์ พร้อมเครื่องเต็นท์ แท่นบูชา และสิ่งของทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้

2.วงศ์วานโคอาท มีจำนวนผู้ชายอายุ 1 เดือนขึ้นไปจำนวน 8,600 คน ต้องตั้งค่ายอยู่ทางใต้ของพลับพลา มีหน้าที่ดูแลหีบพระโอวาท โต๊ะขนมปัง คันประทีป แท่นบูชาทั้งสอง และเครื่องใช้สถานนมัสการซึ่งปุโรหิตใช้งาน และม่าน

3.วงศ์วานเมรารี มีจำนวนผู้ชายอายุ 1 เดือนขึ้นไปจำนวน 6,200 คน ต้องตั้งค่ายอยู่ด้านเหนือของพลับพลา มีหน้าที่ดูแลงานไม้กรอบพลับพลา ไม้กลอน ไม้เสา ฐานรองและเครื่องประกอบทั้งหมด เสารอบลานพลับพลา พร้อมกับฐานรองหลักหมุดและเชือกโยง

พระเจ้าทรงกำหนดให้คนเลวีทำงาน เมื่อมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป จนกระทั่งถึงอายุ 50 ปีจึงให้หยุดปฏิบัติงาน ซึ่งแตกต่างจากเผ่าอื่น ๆ ที่มีกำหนดอายุทำงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และในขณะเดียวกัน พระเจ้าทรงนำคนเลวี ตั้งแต่เมื่ออายุ 1 เดือนขึ้นไป ในขณะที่ทรงนับคนเผ่าอื่น เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป

บทบาทและหน้าที่โดยสังเขปของเลวี

ดูแลที่ประทับของพระเจ้า
ในพระธรรมกันดารวิถีบทที่ 8 ก่อนที่จะกล่าวถึงพิธีแต่งตั้งคนเลวีเป็นปุโรหิตนั้นโมเสสสั่งให้อาโรน “จุดคันประทีป” (กดว.8:2-33, อพย.25:32,37) ปุโรหิตมีหน้าที่ “ดูแล” (อพย.37:21) "จัด" (ลนต.24:4) และ “แต่ง” (อพย.30:7) ประทีปเจ็ดดวง “เพื่อจะให้ประทีปนั้นส่องสว่างเสมอ” (อพย. 27:20)

ดังนั้นความสว่างของคันประทีป ตามธรรมเนียมประเพณีของชาวตั้งแต่สมัยโบราณจนทุกวันนี้ ตะเกียงเจ็ดดวงบนคันประทีป เป็นสัญลักษณ์ถึงประชากรอิสราเอลผู้เป็นความสว่างแก่บรรดาประชาชาติในพันธสัญญาใหม่คัน ประทีปเจ็ดดวงเป็นสัญลักษณ์ถึงแต่ละคริสตจักร (วว. 2:1) คริสตจักรเป็น “ความสว่างของโลก” (มธ.5:14) ดังนั้น เราจะเห็นความสำคัญของพวกเลวีในชีวิตประชากรของพระเจ้า คือดูแลตะเกียงให้ความ สว่างของความรักและความรอดของพระเจ้าส่องแสงอยู่เสมอ ถ้าปราศจากเลวีตะเกียงจะติดไฟไม่ได้ หรือว่าถ้าติดจะไม่ค่อยสว่างและอาจจะดับ (1ซมอ.3:3)

พวกเลวีต่างดูแลภาชนะบริสุทธิ์ในพระวิหาร เช่น ขนมปังตั้งถวาย (1พศด. 23:28-29, 2 พศด.13:11) และหีบพันธสัญญา (ฉธบ.31:9) นอกนั้นพวกเลวีทำหน้าที่เป็นเหรัญญิกด้วย (1 พศด.26:20,2 พศด.24:11) แสดงว่าการ เก็บบันทึกและรายงานเรื่องการเงิน

เลวีทำหน้าที่ถวายการนมัสการแด่พระเจ้า

การนมัสการ คนเลวีมีส่วน รับผิดชอบ 3 ประการคือ

1.คนเลวีเป็นผู้นำในการสรรเสริญพระเจ้า (2พศด.8:14,อสร.3:10)

2.คนเลวีเป็นนักดนตรีทั้งการขับร้องและการเล่นเครื่องดนตรี
(1พศด.9:33,15:16,22,23:5, 2 พศด.5:12, 6:7)

3.คนเลวีเป็นผู้ประกอบพิธีถวายสัตวบูชา (2พศด.29:34,30:17)

เลวีตัดสินคดีความ
พวกเลวีเป็นผู้ตัดสินคดี (ฉธบ.21:5,33:8) และ บางครั้งจะทำหน้าที่ตัดสินร่วมกับผู้พิพากษาประจำการ (ฉธบ.21:5)

เลวีเป็นผู้ตีความธรรมบัญญัติแห่งพันธสัญญาให้ประชากรฟังและเข้าใจ
คนเลวี ได้รับการมอบหน้าที่การสอนธรรมบัญญัติ(ฉธบ.31:11-13,33:10,นหม. 8:1-3,นหม. 8:7-8,ยรม. 36:6) โมเสสสั่งให้คนเลวีรวบรวมประชากรอิสราเอลทุกเจ็ดปีให้อ่าน และตีความหมายของธรรมบัญญัติให้เขาได้ยินและเรียนรู้ที่จะยำเกรงพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเขา และให้ระวังที่จะกระทำตามถ้อยคำทั้งสิ้นของธรรมบัญญัติ

เลวีผู้หามหีบพันธสัญญา
คนเลวีในฐานะผู้หามหีบ (ฉธบ.10:8) เพื่อเตือนให้ประชากรทราบอยู่เสมอว่า พระคุณและธรรมบัญญัติแห่งพันธสัญญาอยู่ท่ามกลางเขาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่หรือสถานการณ์ใด ๆ หีบพันธสัญญา (ยชว.4:5)เป็นสัญลักษณ์หมายถึงพระเจ้าทรงสถิตอยู่กับประชากร เมื่อขาเดินทางมุ่งไปสู่แผ่นดินแห่งการสัญญา” (ยชว.3:3)
เมื่อชาวอิสราเอลต้องเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ในแผ่นดินคานาอัน พวกเลวีที่หามหีบเดิน “ข้างหน้าประชาชน” เมื่ออิสราเอลจะข้ามแม่น้ำจอร์แดนขณะนั้นน้ำกำลังเต็มฝั่ง และพระเจ้าทรงให้น้ำที่ไหลมาจาก ทางเหนือนั้นหยุดและนูนขึ้นเป็นกอง (ยชว.3:16) พวกเลวีหามหีบพันธสัญญายืนมั่นอยู่บนดินแห้ง กลางแม่น้ำจนประชาชาติข้ามแม่น้ำจอร์แดนไปหมด (ยชว.3:17)เขาต้องกล้าหาญเลี่ยงชีวิตเพราะเห็นแก่ ความปลอดภัยของประชากรผู้เดินเข้าสู้แผ่นดินใหม่ (ผู้ที่ไม่ใช่คนเลวีแตะหีบพันธสัญญาแล้วต้องตายเช่นนายอุสซาห์ อุตส่าห์ช่วยประคองหีบไม่ให้ตก ยังต้องตาย(2ซมอ.6:7)

สิ่งที่จัดสรรไว้ให้เลวี และปุโรหิต
ในพระธรรมกันดารวิถี  พระเจ้าทรงจัดสรรให้บรรดาปุโรหิต และคนเลวีนั้น ได้รับจัดสรรสิ่งต่าง ๆ จากบรรดาของถวายของอิสราเอลที่ไม่ได้นำไปเผาไฟ ให้เป็นสิ่งที่จัดไว้ให้แก่ปุโรหิตและคนเลวี นอกจากนี้ ยังทรงกำหนดให้อิสราเอล มีการไถ่บรรดาบุตรหัวปีของตนจากพระเจ้า เป็นเงิน 5 เชเขล ซึ่งส่วนนี้จะตกเป็นของปุโรหิต และคนเลวีตามสัดส่วนเช่นกัน(กดว.3)

นอกจากนี้ ในการแบ่งดินแดนคานาอัน แม้พระเจ้าจะทรงยกเว้น คนเลวี ที่จะไม่ได้รับมรดกจากแผ่นดินคานาอันก็ตาม แต่ทรงกำหนดให้แต่ละเผ่าของอิสราเอล ได้จัดสรรหัวเมืองให้แก่คนเลวีตามขนาดของแต่ละเผ่า ซึ่งประกอบด้วยเมืองลี้ภัยจำนวน 6 เมือง และหัวเมืองอื่น ๆ อีก 22 เมือง โดยแบ่งตามวงศ์วานของเลวีดังนี้

ตระกูลอาโรน (ตระกูลปุโรหิต)ได้รับ 13 หัวเมืองจากดินแดนของเผ่ายูดาห์ เผ่าสิเมโอน และเผ่าเบนยามิน

วงศ์วานโคอาท ได้รับ 10 หัวเมือง จากดินแดนของ เผ่าเอฟราอิม เผ่าดาน และเผ่ามนัสเสห์ครึ่งเผ่าในดินแดนคานาอัน

วงศ์วานเกอร์โชน ได้รับ 13 หัวเมือง จากดินแดนของเผ่าอิสสาคาร์ เผ่าอาเชอร์ เผ่านัฟทาลี และเผ่ามนัสเสห์ครึ่งเผ่าในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน

วงศ์วานเมโรรี ได้รับ 12 หัวเมือง จากดินแดนของเผ่ารูเบน เผ่ากาด และเผ่าเศบูลุน

เพราะพระคุณของพระเจ้า คนเลวีไม่มีส่วนแบ่งในแผ่นดินอย่างที่เผ่าอื่น ๆ มีกัน (ยชว.14:1) เพราะ “พระเยโฮวาห์พระ เจ้าของอิสราเอลเป็นมรดกของเขา” (ยชว.13:33) หมายความว่าพวกเลวีไม่สังกัดเผ่าใด ๆ แต่มี ความสัมพันธ์พิเศษกับพระเจ้าเพื่อประกอบพันธกิจใช้พระองค์ในทุกเผ่า

ดังนั้นคนเลวีหรือผู้รับใช้พระเจ้าเต็มเวลาไม่ควรจะกระวนกระวายถึงธุรกิจหาเงินดังคนอื่น แต่ควรจะสามารถทำการอภิบาลเต็มเวลา เพราะพระเจ้าเป็นผู้กำหนดหลักการการดูแลคนเลวีไว้นั่นคือ “ทศางค์ของประชากร”
ประชากรเห็นความสำคัญของพวกเลวีได้ถวายทศางค์ “เป็นคำตอบแทนงานที่เขาปฏิบัติ”(กดว.18:21)และเป็น “มรดก” ของเขา (กดว.18:24) นอกนั้นเผ่าต่าง ๆ ก็ให้พวกเลวีมีอยู่ อาศัยพร้อมกับรายได้จากไร่นาเพื่อบำรุงชีวิตของเขา (ยชว. 21:2-3)

แต่หากคนเลวีไม่ได้รับการดูแลอย่างดีจะเกิดผลเสียต่อพระนิเวศ นั่นคือ คนเลวีต้องออกไปหากินเองและพระ นิเวศของพระเจ้าก็ถูกทอดทิ้ง (นหม.13:10-11)

สิ่งที่ผมได้รวบรวมจากการศึกษามานี้ จะเห็นว่าพระเจ้าทรงให้ความสำคัญและพระองค์ทรงคัดเลือกสรรคนเลวี ผู้ที่จะมาปรนนิบัติพระองค์ในพระนิเวศ และพระเจ้าทรงให้หลักการในการดูแลคนเลวีไว้อย่างชัดเจน เพื่อเป็นหลักการแห่งพระพรในชุมชนของพระเจ้า

คำถามคือ ทำไมผู้รับใช้พระเจ้าเต็มเวลา ที่เป็นคนเลวีของพระเจ้า จึงไม่ได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น?

ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะสมาชิกคริสตจักรมีความบาดเจ็บในเรื่องการนำเงินไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในเรื่องการบริหารการเงินในคริสตจักร
หรือมุมมองที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเป็นผู้รับใช้ต้องสมถะหรือต้องยากจนจึงจะดูน่าเชื่อถือหรือดูขลังเป็นคนฝ่ายวิญญาณไม่ติดยึดกับสิ่งที่เป็นเนื้อหนัง

คนเลวีถูกมองเป็นลูกจ้างขององค์กร ทำงานเป็น Staff เต็มเวลาทำงานประจำวัน(Routine) เพื่อตอบสนองความต้องการเป็นการบริการสมาชิก

ผลกระทบคือ มุมมองการให้เกียรติจึงไม่ได้รับอย่างที่คนเลวีควรจะได้รับ

คำว่า “Staff” ผมไม่ค่อยชอบคำนี้เลย เพราะมันพ้องกับคำว่า “Stuff” เป็นเหมือนสิ่งที่ถูกดองไว้ ไม่มีชีวิตชีวา วมถึงคำว่า “ลูกจ้าง” ขององค์กร นั้นเป็นคำที่แสลงใจ เพราะผู้รับใช้ไม่ใช่ผู้รับจ้าง ทำงานเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงชีพ แต่ผู้รับใช้เป็นสถานะพิเศษที่พระเจ้าทรงเรียกมาให้มีส่วนในการรับใช้

ขอบคุณพระเจ้าสำหรับการได้มาอยู่ในคริสตจักรแห่งพระบัญชา ที่นำการรื้อฟื้นคืนชีวิต คืนจิตวิญญาณ และไถ่เวลาที่สูญเสียไปกลับมา

ผมรู้สึกขอบคุณพระเจ้าที่ทรงให้มุมมองใหม่ เพราะเป็น Full Timeทำงานเต็มเวลา ที่ถวายตัวพระเจ้าแบบเต็มใจ Full heart

ผมประทับใจในมุมมองของผู้นำคือท่านอาจารย์นิมิตและอาจารย์อ้อย ระเบียบ 
ท่านได้ให้แนวคิดที่ว่า “พวกเลวีอยู่ใกล้ที่สุด และต้องได้รับก่อน ได้รับการเรียนรู้ผ่านการได้ยิน  พวกเราจะต้องผ่านการฝึกฝน (Training)ในทั้งวิชาบังคับ (การศึกษาพระคัมภีร์) และวิชาเลือก พัฒนาจนไปถึงจุดที่พระวิญญาณเป็น Trainer ส่วนตัว จนกลายเป็นต้นแบบในการที่คนเห็นว่าพระเจ้ากำลังทำอะไร พวกเลวีต้องตอบได้ว่าอะไรที่เปลี่ยนไปจากอดีต พวกเลวีต้องจำให้ได้ว่าเราได้รับการ Train ในเรื่องอะไรบ้าง เพื่อไปเป็นพระพรต่อคริสตจักรอื่นๆ ด้วย”

นี่คือการเปลี่ยนมุมมองความคิดใหม่และสถานภาพใหม่ด้วย

จากทหารเกณฑ์ดำเนินตามกฎเกณฑ์ กลายเป็นทหารของพระคริสต์ดำเนินชีวิตอยู่ในเสรีภาพ

ชีวิตไม่ถูกกดแต่ได้รับการยกชูเพราะรู้พระทัยพระเจ้า ว่าพระองค์ทรงมีแผนการที่ดีกับเราเสมอ

เยเรมีย์ 29:11 พระเจ้าตรัสว่า เพราะเรารู้แผนงานที่เรามีไว้สำหรับเจ้า เป็นแผนงานเพื่อสวัสดิภาพ ไม่ใช่เพื่อทุกขภาพ เพื่อจะให้อนาคตและความหวังใจแก่เจ้า

จากสถานภาพลูกจ้างชั่วคราว พระองค์ยกชูให้เราเป็นลูกพระเจ้าชั่วนิรันดร์

ยอห์น 1:12 แต่ส่วนบรรดาผู้ที่ต้อนรับพระองค์ผู้ที่เชื่อในพระนามของพระองค์ พระองค์ก็ทรงประทานสิทธิให้เป็นบุตรของพระเจ้า

ขอบพระคุณพระเจ้าที่พระองค์ทรงรักเราเสมอ แม้เราเป็นเช่นไร พระองค์รักเราในความเป็นเราไม่ใช่ในสิ่งที่เราทำ แม้เราไม่ได้ทำสิ่งใดให้พระองค์ แต่พระองค์ทรงรักเพราะเราเป็นลูกไม่ใช่ลูกจ้าง

เป็นผู้รับใช้ไม่ใช่ผู้รับจ้าง หลักประกันการทำงานคือแผนการอนาคตแห่งสวัสดิภาพที่พระองค์เตรียมไว้ตามน้ำพระทัยของพระองค์

พระเจ้าเปิดเผยอนาคตให้รู้น้ำพระทัยของพระองค์ รวมถึงอนาคตของเราที่พระเจ้าเปิดเผยให้เห็น

ในวันนี้พระเจ้าปรารถนาให้คนของพระเจ้าเคลื่อนไปตามการทรงนำของพระองค์ ดังที่ในสมัยก่อนพระเจ้าให้คนเลวีหามหีบเพื่อนำหน้ากองทัพของอิสราเอลในการเคลื่อนไปแผนการของพระองค์

สรรเสริญพระเจ้าที่พระองค์เลือกคนเลวี เพื่อให้เป็นผู้ที่พระองค์จะใช้ในการนำหน้าคนของพระองค์ วันนี้คนเลวีต้องดำเนินชีวิตให้ดี เพื่อเป็นคนดีของพระเจ้า

ผมขออธิษฐานป่าวประกาศ ขอพระเจ้าอวยพระพรไปสู่เพื่อนๆผู้รับใช้เต็มเวลา และผู้นำคริสตจักรต่างๆ ทั่วประเทศไทย ให้ได้พระพรและเกียรติที่พวกเขาสมควรจะได้รับ
เพราะพวกเขาเป็นเลวี คนดีของพระเจ้า

6 ความคิดเห็น:

  1. ยินดีด้วยครับ ขอพระเจ้าอวยพร
    อาเมน

    ตอบลบ
  2. ยินดีด้วยครับ ขอพระเจ้าอวยพร
    อาเมน

    ตอบลบ
  3. ขอบพระคุณพระเจ้าและขอบพระคุณ อาจารย์ค่ะ ข้าพเจ้าได้รับความรู้มากๆ

    ตอบลบ
  4. ขอคำอวยพรนี้เป็นจริงด้วยเทิด คนไทยทุกจะได้มีชีวิต ที่ดีขึ้น ขอบคุณพระเจ้า

    ตอบลบ
  5. ขอบคุณมากๆครับสำหรับบทความทั้งหมด
    ขอพระเจ้าอวยพร เพิ่มเติมมากพูนล้นนะครับ ขอบคุณพระเจ้า

    ตอบลบ