10 เมษายน 2560

คุยกับพระวิญญาณบริสุทธิ์

คุยกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ โดย Haiyong Kavilar

ปฏิสัมพันธ์ให้ครบสามพระภาค
       พระเจ้าของอิสราเอลเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวที่มีสามพระภาคหรือสามบุคคลอันประกอบด้วย พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้คนในพันธสัญญาเดิม มีโอกาสในการปฏิสัมพันธ์กับพระบิดามากที่สุด แต่ยังไม่ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์มากนัก ต่อมาเมื่อพระบุตรมาบังเกิดในนามพระเยซู ผู้คนในอิสราเอลก็ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับพระบุตร ท้ายสุดเมื่อพันธสัญญาใหม่ถูกสถาปนาหลังจากที่พระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ ผู้เชื่อก็ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับพระวิญญาณบริสุทธิ์
          ในจดหมายฝากของเหล่าอัครทูตในพันธสัญญาใหม่ได้กล่าวถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ถึง 24 ครั้ง ทั้งๆที่ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมได้กล่าวถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์เพียง 1 ครั้ง นี่สะท้อนให้เห็นว่าผู้เชื่อในพันธสัญญาใหม่ควรจะคุ้นเคยและเรียนรู้จักกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้มากกว่าผู้คนในพันธสัญญาเดิม
           ในพระคัมภีร์ได้เชื้อเชิญให้ผู้คนปฏิสัมพันธ์กับพระเจ้าทั้งสามพระภาค คือทั้งพระบิดา(1 ยอห์น 1:3) พระบุตร(1 โครินธ์ 1:9) และพระวิญญาณบริสุทธิ์(2 โครินธ์ 13:14) แล้วเพื่อนๆเล่าได้ปฏิสัมพันธ์กับพระเจ้าครบทั้ง 3 พระภาคหรือไม่?
       
แม้ว่าพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ จะเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่การปฏิสัมพันธ์กับพระบิดาก็ให้รสชาติแตกต่างไปจากการปฏิสัมพันธ์กับพระบุตร การปฏิสัมพันธ์กับพระบุตรก็ให้รสชาติที่แตกต่างไปจากการปฏิสัมพันธ์กับพระวิญญาณบริสุทธิ์ การปฏิสัมพันธ์กับพระบิดาให้รสชาติของความสัมพันธ์แบบพ่อลูก แต่การปฏิสัมพันธ์กับพระบุตรให้รสชาติของผู้เลี้ยงกับแกะหรืออาจเป็นรสชาติของเจ้านายกับผู้รับใช้ก็ได้ ส่วนการปฏิสัมพันธ์กับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ก็จะเป็นอีกรสชาติหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งการปฏิสัมพันธ์กับพระบิดาและพระบุตรก็ไม่อาจแทนที่การปฏิสัมพันธ์กับพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ 

วิธีปฏิสัมพันธ์กับพระเจ้า
        การปฏิสัมพันธ์กับพระเจ้าไม่ว่าจะเป็นพระภาคใดก็ตาม สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การอธิษฐาน, การคุย, การสรรเสริญ, การขอบพระคุณ
        การอธิษฐานคือการที่เราร้องทูลสิ่งที่เราปรารถนา เป็นเหมือนการยื่นคำร้องต่อพระเจ้าผู้ทรงเป็นองค์จอมกษัตริย์ ส่วนการคุยกับพระเจ้าคือการที่เราสนทนาพระเจ้าในฐานะเพื่อน บางครั้งเวลาเราเศร้า เราก็อาจปรับทุกข์กับพระเจ้าโดยการคุยกับพระองค์โดยตระหนักว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ปลอบประโลม บางครั้งเวลาเราดีใจ เราก็อาจคุยกับพระเจ้าอย่างสนุกๆโดยตระหนักว่าพระองค์ทรงเป็นพระสหาย หรือบางครั้งยามที่เราตื่นเช้า เราอาจทักทายกับพระเจ้าโดยกล่าวอรุณสวัสดิ์กับพระองค์
       การคุยกับการอธิษฐานมีความแตกต่างกัน การอธิษฐานเน้นในมิติของการร้องทุกข์หรือทูลขอ แต่การคุยเน้นในมิติของการกระชับความสัมพันธ์ การปฏิสัมพันธ์กับพระเจ้าจึงไม่ควรมีแต่มิติของการอธิษฐานเท่านั้น แต่ควรมีในมิติของการพูดคุยด้วย พระเจ้ามิได้ทรงเป็นแค่องค์จอมกษัตริย์ที่รับเรื่องร้องขอของเราเท่านั้น แต่ทรงเป็นพระสหายด้วย

ออกพระนามพระวิญญาณบริสุทธิ์
       การคุยกับพระเจ้าไม่ว่าจะเป็นพระภาคใดก็ตาม เริ่มต้นจากการที่เราร้องออกพระนามในพระภาคนั้นๆ เช่น ถ้าเราจะคุยกับพระบิดา เราอาจเริ่มต้นว่า พระบิดา วันนี้ข้าพระองค์มีความสุขจังเลย...” หรือถ้าคุยกับพระบุตร เราก็อาจเริ่มต้นว่า พระเยซู ข้าพระองค์รักพระองค์จังเลย...” ส่วนการคุยกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราอาจเริ่มต้นว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ ข้าพระองค์อยากใกล้ชิดพระองค์...” หากเพื่อนๆปรารถนาจะปฏิสัมพันธ์กับพระวิญญาณบริสุทธิ์ จุดเริ่มต้นอย่างหนึ่งคือการออกพระนามของพระองค์ก่อน จากนั้นก็สนทนากับพระองค์
       เมื่อเพื่อนๆจะคุยกับพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้น ผมแนะนำให้ออกพระนามเต็มเลย (ออกพระนามว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์” ไม่ใช่แค่ “พระวิญญาณ” เฉยๆ) เพราะเมื่อเราออกพระนามพระวิญญาณบริสุทธิ์ เรากำลังบอกกับพระองค์ว่า พระองค์ทรงเป็นวิญญาณหรือบุคคลที่พิเศษสำหรับเรา เพราะคำว่าบริสุทธิ์ในภาษาของพระคัมภีร์หมายถึงการแยกไว้เป็นพิเศษ การที่เราใช้คำว่าบริสุทธิ์กับพระวิญญาณ เรากำลังบอกกับพระองค์ว่าพระองค์ทรงเป็นคนพิเศษสำหรับเรา
        ที่ผ่านมาเพื่อนๆบางคนอาจคุ้นเคยกับการปฏิสัมพันธ์กับพระบิดาและพระบุตร แต่อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับการปฏิสัมพันธ์ต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ ดังนั้นแล้ว การเริ่มต้นคุยกับพระองค์โดยออกพระนามพระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสานสัมพันธ์กับพระองค์ เบนนี่ ฮินน์ (ผู้เขียนหนังสืออรุณสวัสดิ์พระวิญญาณบริสุทธิ์) ได้เอ่ยถึงการปฏิสัมพันธ์กับพระองค์ไว้ว่า เมื่อเขาได้เข้าใจว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นบุคคลที่เขาสามารถปฏิสัมพันธ์ได้ เมื่อเขาตื่นขึ้นในยามเช้า เขาก็ทักทายพระองค์ว่า “อรุณสวัสดิ์ พระวิญญาณบริสุทธิ์” แล้ววันนี้เพื่อนๆได้ทักทายพระองค์แล้วหรือยัง?
 
 พระเจ้าทรงเป็นความรัก นี่หมายว่าทั้งพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ต่างก็เป็นความรักด้วย พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงรักเพื่อนๆและปรารถนาอยากจะใกล้ชิดเพื่อนๆ พระองค์ปรารถนาที่จะค้นลึกเข้าไปในหัวใจของเพื่อนๆ พระองค์อยากจะปลอบประโลมและซับน้ำตายามที่เพื่อนๆทุกข์ใจ ทรงปรารถนาที่จะหัวเราะและยินดีไปกับเพื่อนๆยามที่เพื่อนๆประสบความสำเร็จ แท้จริงพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงปรารถนาที่จะใกล้ชิดกับเพื่อนๆยิ่งกว่าที่เพื่อนๆอยากจะใกล้ชิดกับพระองค์เสียอีก พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงรักเพื่อนๆนะครับ พระองค์ทรงเป็นทั้งผู้ปลอบโยน ผู้ให้กำลังใจ และเป็นพระองค์ผู้ทรงช่วยเหลือเรา

        เมื่อเพื่อนๆอ่านพระคัมภีร์เพื่อนๆอาจคุยกับพระวิญญาณบริสุทธ์ก่อนว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์ ขอทรงช่วยข้าพระองค์ให้เข้าใจในพระวจนะด้วย” หรือยามที่เพื่อนๆประสบความสำเร็จ เพื่อนๆอาจคุยกับพระองค์ว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์ ขอบคุณพระองค์ที่ช่วยเหลือข้าพระองค์เสมอมา” หรือเวลาทำงานเพื่อนๆก็อาจคุยกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์ ขอพระองค์เสริมกำลังข้าพระองค์ในการทำงานด้วย” พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือเพื่อนๆและให้กำลังใจเพื่อนๆ
       
การสรรเสริญและการขอบพระคุณ
การสรรเสริญพระเจ้าคือการที่เรายกย่องหรีอชื่นชมพระองค์ การสรรเสริญไม่ควรจะเล็งไปที่พระบิดาเพียงพระภาคเดียวเท่านั้น แต่ควรจะสรรเสริญทั้งพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วย ทั้งพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงสมควรได้รับการสรรเสริญเหมือนกับพระบิดา
การสรรเสริญพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้น อาจทำในรูปแบบที่เป็นทางการหรือแบบสบายๆก็ได้ ตัวอย่างของการสรรเสริญแบบเป็นทางการอาจจะสรรเสริญว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงสมควรได้รับการยกย่อง ขอให้พระนามของพระองค์ได้รับเกียรติ” ส่วนการสรรเสริญแบบสบายๆอาจจะเป็นการพูดกับพระองค์ว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์ทรงน่ารัก ทรงดีต่อข้าพระองค์อย่างมากมาย” การสรรเสริญพระวิญญาณบริสุทธิ์แบบสบายๆนั้น สามารถทำได้ควบคู่กับการคุยกับพระองค์ เช่น ระหว่างที่คุยกับพระองค์ เราอาจสรรเสริญพระองค์ว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์ข้าพระองค์รักพระองค์ และข้าพระองค์ขอมอบหัวใจแด่พระองค์”
การขอบพระคุณพระเจ้าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรจะมอบให้แด่พระบิดาเพียงพระภาคเดียวเท่านั้น ผู้เชื่อควรจะขอบพระคุณทั้งพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วย
           การขอบพระคุณพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็อาจเริ่มต้นได้ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับการคุยกับพระองค์ ซึ่งเริ่มต้นโดยออกพระนามของพระองค์ก่อน จากนั้นจึงขอบพระคุณพระองค์ เช่น “พระวิญญาณบริสุทธิ์ ขอบคุณพระองค์ที่ทรงรักและดีต่อข้าพระองค์อย่างมากมาย” หรือ “พระวิญญาณบริสุทธิ์ ขอบคุณพระองค์ที่ทรงเสริมกำลังข้าพระองค์ในการทำงานที่ผ่านมา” หรือ “พระวิญญาณบริสุทธิ์ ขอบคุณพระองค์ที่ทรงอยู่กับข้าพระองค์ และขอบคุณพระองค์ที่ช่วยเหลือข้าพระองค์เสมอมา”

        โอ ขอให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับพวกเรา จงมีครบทั้งสามพระภาคเถิด

แนะนำหนังสือเพิ่มเติม

สำหรับเพื่อนๆที่ปรารถนาจะเข้าใจการปฏิสัมพันธ์กับพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้มากขึ้น ผมขอแนะนำหนังสือ “อรุณสวัสดิ์ พระวิญญาณบริสุทธิ์” ที่เขียนโดย เบนนี่ ฮินน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น