บทความเรื่อง "เคลื่อนตามพระวิญญาณ
ไม่ได้หมายความว่า ไม่ต้องเตรียมตัว"
โดย Philip Kavilar
เมื่อกล่าวถึงวลี
เทศน์ตามพระวิญญาณ หรือ นมัสการตามพระวิญญาณ บางคนจะนึกถึง
การเทศน์หรือการนมัสการที่ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวมาก่อน
แต่เป็นการเทศน์สดหรือนมัสการสด โดยมีการขับเคลื่อนตามการดลใจของพระวิญญาณ การเคลื่อนตามพระวิญญาณในความหมายของบางคน
ก็คือ การทำพันธกิจ (เช่น สอน, นมัสการ,
อธิษฐาน) โดยไม่ต้องตระเตรียมอย่างละเอียด แต่ให้ตระเตรียมอย่างคร่าวๆ
และเมื่อถึงคราวทำพันธกิจ ก็ค่อยจับจังหวะอีกทีว่า พระวิญญาณทรงดลใจไปในทิศทางไหน
ประโยคที่ว่า
เคลื่อนตามพระวิญญาณ ดูเหมือนจะเป็นประโยคที่ดูบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์
แต่พระคัมภีร์ได้อธิบายวลีเคลื่อนตามพระวิญญาณไว้อย่างไร? ใช่การทำพันธกิจโดยไม่ต้องตระเตรียมอย่างละเอียดหรือไม่?
ในสมัยก่อน ผมก็เคยมีความคิดว่า การเคลื่อนโดยพระวิญญาณ
ก็คือการทำพันธกิจโดยไม่ต้องตระเตรียมอย่างละเอียด แต่ก่อนเมื่อผมเห็นการเทศน์ที่เคลื่อนไปตามบทเรียนอย่างละเอียด
ผมก็รู้สึกว่า การเทศน์แบบบนี้ ไม่ใช่การเคลื่อนตามพระวิญญาณ
ปีเตอร์ แวกเนอร์ |
และแล้วจุดเปลี่ยนของผมก็มาถึง
อัครทูตคนหนึ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจก็คือ ปีเตอร์ แวกเนอร์ เมื่อปี 2011
อัครทูตท่านนี้ได้มาทำพันธกิจการสอนในประเทศไทยเป็นระยะเวลาสั้นๆ
ส่วนตัวผมก็ได้รับรู้ชีวประวัติของแวกเนอร์มาก่อนว่า
ท่านเป็นพี่เลี้ยงของผู้เผยพระวจนะ ซินดี้ เจคอปส์
และท่านยังเป็นพี่เลี้ยงให้กับอัครทูต ซัค เพียสต์ อีกด้วย ตามการสืบค้นของผม ในแวดวงคริสเตียนสายคาริสมาติก(สายฤทธิ์เดช)
แวกเนอร์ เป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในจุดสูงสุดของคริสเตียนสายนี้
ก่อนที่ผมจะฟังสัมมนาของท่าน ผมคาดหวังไว้ว่า การสอนของแวกเนอร์นี้แหละ
น่าจะเป็นต้นแบบที่ดีของการเทศน์ตามพระวิญญาณ
และแล้ว เมื่อผมได้ฟังสัมมนาของแวกเนอร์
ผมก็งงเป็นไก่ตาแตก สองวันแรก ท่านได้สัมมนาที่เชียงใหม่ อีกสองวันต่อมา
ท่านก็ไปสัมมนาที่กรุงเทพ เนื่องด้วยการที่ผมสนใจในตัวแวกเนอร์มาก
ผมจึงตามไปฟังท่านทั้งที่เชียงใหม่และกรุงเทพ
ปรากฏว่าไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่หรือที่กรุงเทพ ท่านได้เทศน์โดยใช้ถ้อยคำเหมือนกันแทบทุกประโยค!
ไม่มีความแตกต่างกันเลย
ตอนนั้นผมก็งงมากว่า “เฮ้
ท่านแวกเนอร์ผู้อยู่ในจุดสูงสุดของแวดวงคาริสมาติก ผู้เป็นทั้งพี่เลี้ยงของ ซินดี้
เจคอปส์ และ ชัค เพียสต์ กลับเทศน์ตามบทที่เตรียมไว้อย่างละเอียด
โดยไม่แสดงอาการหวือหวาหรือพูดออกนอกบทเลย นี่ใช่การเทศน์ตามการเคลื่อนของพระวิญญาณจริงหรือ?”
วันเวลาผ่านไป
จุดสำคัญอย่างหนึ่งก็ได้เข้ามาในชีวิตของผม ผ่านหนังสือ ฉันคือนักอธิษฐาน?
ในหนังสือเล่มนี้ ได้อธิบายถึงลักษณะของนักอธิษฐานวิงวอนที่แตกต่างกัน
นักอธิษฐานบางคนเป็นนักอธิษฐานเชิงสงคราม ที่มักจะชอบอธิษฐานแบบดุเดือด
นักอธิษฐานบางคนเป็นนักอธิษฐานเชิงนมัสการ
ที่มักจะนมัสการนานๆในเวลาที่เขาเฝ้าเดียว นักอธิษฐานบางคนเป็นนักอธิษฐานตามหัวข้อ
ซึ่งมักจะตระเตรียมหัวข้ออธิษฐานอย่างชัดเจนและเป็นระบบ
ในหนังสือเล่มนี้อธิบายว่า
ของประทานและธรรมชาติของแต่ละคนแตกต่างกัน
และการอธิษฐานของแต่ละคนจะเกิดผลก็ต่อเมื่อเขาอธิษฐานตามลักษณะแห่งของประทานของเขา
คนที่มีของประทานด้านสงคราม ก็จะมีการเจิมเมื่อเขาอธิษฐานเชิงสงคราม
คนที่มีของประทานด้านนมัสการ ก็จะมีการเจิมเมื่อเขาอธิษฐานแบบนมัสการ
คนที่มีของประทานในการจัดระบบระเบียบ ก็จะมีการเจิมเมื่อเขาอธิษฐานตามหัวข้อ
กล่าวโดยสรุป เมื่อเราอธิษฐานให้สอดคล้องกับธรรมชาติหรือของประทานที่เรามี
การเจิมก็จะมาถึง
แต่ถ้าเราอธิษฐานโดยเลียนแบบคนอื่นหรืออธิษฐานในลักษณะที่ขัดกับธรรมชาติของเรา
แม้ว่าภายนอกจะดูสวยหรู แต่ภายในลึกๆจะไม่รู้สึกถึงการเติมเต็ม
ในเรื่องของการสอนหรือการนมัสการก็เช่นกัน
บางคนมีของประทานและธรรมชาติที่เหมาะกับการจัดระบบระเบียบ คนประเภทนี้
เขาจะมีการเจิมก็ต่อเมื่อเขาดำเนินตามหัวข้อและระบบของเขา
แต่บางคนมีของประทานและธรรมชาติที่คล้ายศิลปิน(ทำงานโดยไม่ต้องเตรียมเนื้อหา
แต่ต้องเตรียมอารมณ์) คนประเภทนี้
ก็จะมีการเจิมเมื่อเขาดำเนินแบบไม่ต้องเตรียมการมาก การทำพันธกิจของคนประเภทนี้
มักจะเน้นโดยการเคลื่อนตามจังหวะของการดลใจ
ธรรมชาติของนักวิชาการกับธรรมชาติของศิลปิน
ก็มีความแตกต่างกัน เมื่อนักวิชาการทำงาน
เขาก็จะวางระบบระเบียบเป็นขั้นเป็นตอนอย่างดี
เขาจะทำงานโดยให้ความสำคัญกับการตระเตรียมเนื้อหา ในทางตรงกันข้าม เมื่อศิลปินทำงาน
เขาจะไม่สนใจการวางระบบระเบียบที่ชัดเจน
แต่เขาจะให้ความสำคัญกับการตระเตรียมทางอารมณ์ เมื่อศิลปินทำงาน
เขาจะเคลื่อนไปตามจังหวะของอารมณ์โดยไม่ได้ตระเตรียมไว้ล่วงหน้า แต่ไม่ว่าจะเป็น
นักวิชาการ หรือ ศิลปิน ทั้งหมดนี้ก็เป็นธรรมชาติและของประทานที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน
บางคนมีธรรมชาติแบบนักวิชาการมากหน่อย แต่บางคนก็มีธรรมชาติแบบศิลปินที่มาก
แต่ไม่ว่าเพื่อนๆจะเป็นอะไร
เมื่อเพื่อนๆทำพันธกิจให้ตรงกับธรรมชาติหรือของประทานของเพื่อนๆ การเจิมก็จะมาถึง
สิ่งสำคัญก็คือ
ฤทธิ์เดชและการเจิมจะมาถึงเมื่อเพื่อนๆขับเคลื่อนให้ตรงกับธรรมชาติและของประทานของตน
ดังนั้นการเคลื่อนตามพระวิญญาณ จึงไม่ได้หมายถึงการเคลื่อนแบบไม่ต้องตระเตรียม แต่การเคลื่อนตามพระวิญญาณหมายถึง
การเคลื่อนให้ตรงกับของประทานและธรรมชาติของเรา
ถ้าเพื่อนๆมีของประทานแนวศิลปิน
เพื่อนๆก็ไม่จำเป็นต้องตระเตรียมงานอย่างละเอียด แต่เพื่อนๆก็ควรจะฝึกฝนการจับจังหวะรับการดลใจ
แต่ถ้าเพื่อนๆมีของประทานแนวนักวิชาการ เพื่อนๆก็จะต้องตระเตรียมอย่างละเอียดหน่อย
แต่ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือศิลปิน ถ้าเพื่อนๆทำตามธรรมชาติและของประทานของตน
การเจิมก็มาถึง
ถ้าคนที่มีธรรมชาติแบบนักวิชาการ
กลับไปดำเนินแบบศิลปิน การเจิมก็อาจขัดข้อง ในทำนองเดียวกัน ถ้าคนที่มีธรรมชาติแบบศิลปิน
กลับไปดำเนินแบบนักวิชาการ การเจิมก็อาจขัดข้องเช่นกัน
สิ่งสำคัญในการทำพันธกิจที่เกิดผลก็คือ การขับเคลื่อนให้ตรงกับธรรมชาติและของประทานของเรา
นี่แหละคือการเคลื่อนตามพระวิญญาณ นี่แหละ คือการขับเคลื่อนที่นำการเจิมมา
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
หนังสือ
ฉันคือนักอธิษฐาน? (สำนักพิมพ์แม่น้ำ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น