บทความเรื่อง "ความล้ำลึกของต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว" โดย Haiyong Kavilar
ปัญหาหนึ่งที่สร้างความงุนงงให้กับคริสเตียนก็คือ
พระเจ้าทรงสร้างต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วขึ้นมาทำไม?
คำถามนี้มีคำตอบอันเป็นที่นิยมก็คือ
“พระเจ้าสร้างต้นไม้นี้ขึ้นมาเพื่อทดสอบมนุษย์” บางคนก็ให้คำตอบเสริมว่า
“ความรักที่แท้จริงจะต้องไม่บีบบังคับแต่ต้องให้อิสระในการตัดสินใจ
ด้วยเหตุนี้ต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วจึงเป็นช่องทางเพื่อให้มนุษย์ตัดสินใจว่าจะเลือกพระเจ้าหรือไม่” อย่างไรก็ตามพระคัมภีร์ก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนว่า
พระเจ้าสร้างต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วขึ้นมาทำไม คำตอบอันเป็นที่นิยมที่ผมยกมา
ด้านหนึ่งก็เป็นเพียงการสันนิษฐานของมนุษย์
ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม
มีภาพสัญลักษณ์และแบบเล็งต่างๆมากมาย เช่น คันประทีปทองคำในพระวิหารเป็นภาพสะท้อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์
ปุโรหิตเมลคีเซเดคเป็นภาพสะท้อนของความปุโรหิตแห่งพระคริสต์ มานาที่ร่วงหล่นจากท้องฟ้าเป็นภาพสะท้อนถึงพระคริสต์ทรงเป็นอาหารแห่งชีวิตที่มาจากสวรรค์
เป็นต้น
ส่วนตัวผมมองว่าต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วก็เป็นภาพสัญลักษณ์ที่มีความหมายฝ่ายวิญญาณแฝงอยู่
หลังจากที่ผมใคร่ครวญมาเป็นเวลาหลายเดือน
ผมก็ได้ข้อสรุปว่าต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วเป็นภาพสะท้อนที่เล็งถึง “ธรรมบัญญัติ”
ในจดหมายโรม
เปาโลได้กล่าวว่า ธรรมบัญญัติทำให้ผู้คนได้รู้ว่า
สิ่งใดเป็นสิ่งชอบธรรมและสิ่งใดเป็นความบาป กล่าวอีกอย่างหนึ่ง
ธรรมบัญญัติทำให้ผู้คนได้รู้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีและสิ่งใดเป็นสิ่งที่ชั่ว
(โรม 7:7)
แต่ว่าถ้าไม่มีธรรมบัญญัติแล้ว ข้าพเจ้าก็คงไม่รู้จักบาป
เพราะว่าถ้าธรรมบัญญัติไม่ได้ห้ามว่า “ห้ามโลภ”
ข้าพเจ้าก็คงไม่รู้ว่าอะไรคือความโลภ
คำว่า “ดี” ในภาษาฮีบรูมาจากคำว่า Tov ส่วนคำว่า “ชั่ว” ในภาษาฮีบรูมาจากคำว่า Rah และคำว่า ธรรมบัญญัติ ในภาษาฮีบรูมาจากคำว่า Torah เมื่อนำคำว่า
“ดีชั่ว” มาประกอบกันก็จะได้เสียงเป็น Tovrah ซึ่งมีเสียงที่ใกล้เคียงกับคำว่า Torah
ที่หมายถึงธรรมบัญญัติ ดังนั้นเป็นไปได้ว่า ต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว
มีความหมายที่สะท้อนถึงธรรมบัญญัติ
ในจดหมาย (1
ทิโมธี 1:8) เปาโลได้กล่าวว่า “เรารู้ว่าธรรมบัญญัตินั้นดีถ้าใช้ให้ถูก” นั่นหมายความว่าธรรมบัญญัติสามารถใช้ในทางที่ถูกหรือผิดก็ได้
ด้านหนึ่งธรรมบัญญัติเป็นกระจกที่สะท้อนพระลักษณะอันชอบธรรมของพระเจ้า
โดยธรรมบัญญัติ ผู้คนก็ได้รับรู้ว่าความชอบธรรมของพระเจ้านั้นเป็นเช่นไร
การใช้ธรรมบัญญัติในทางที่ถูกก็คือ
การใช้ธรรมบัญญัติเพื่อรับรู้ว่าสิ่งใดชอบธรรมและสิ่งใดเป็นบาป
ส่วนการใช้ธรรมบัญญัติในทางที่ผิดก็คือการใช้ธรรมบัญญัติเพื่อกล่าวโทษคนอื่นและยกยอตัวเอง
(เหมือนที่ฟาริสีกระทำ)
ในจดหมาย (2 โครินธ์ 3)
เปาโลได้กล่าวถึงพันธสัญญาใหม่กับพันธสัญญาเดิม
ซึ่งพันธสัญญาเดิมเป็นพันธสัญญาที่พระเจ้าเขียนตัวอักษรลงบนแผ่นศิลา ซึ่งด้านหนึ่ง
“ด้วยว่าตัวอักษรที่เขียนไว้นั้นทำให้ตาย (2 โครินธ์ 3:6)” กล่าวได้ว่าเมื่อมีการใช้ธรรมบัญญัติอย่างผิดๆ
ก็ก่อให้เกิดความตายได้
ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอสรุปประเด็นเกี่ยวกับธรรมบัญญัติก็คือ
1.
ธรรมบัญญัติทำให้รู้ว่าสิ่งใดดีและสิ่งใดชั่ว
2. ธรรมบัญญัติสามารถใช้ในทางที่ถูกหรือผิดก็ได้
3.
ธรรมบัญญัติเมื่อใช้อย่างผิดๆ ก็ก่อให้เกิดความตาย
ใน
(ปฐมกาล 2:9) ได้กล่าวว่า ต้นไม้ทุกต้นในสวนเอเดนต่างเป็นต้นไม้ที่งดงาม
นั่นหมายความว่า ต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วก็ต้องเป็นต้นไม้ที่สวยงามด้วย
(ปฐมกาล 2:9) แล้วพระยาห์เวห์พระเจ้าทรงให้ต้นไม้ทุกชนิดที่งามน่าดูและน่ากินงอกขึ้นจากพื้นดิน
มีต้นไม้แห่งชีวิตต้นหนึ่งอยู่กลางสวนนั้น
กับต้นไม้แห่งการรู้ถึงความดีและความชั่วต้นหนึ่งด้วย
ต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วเป็นต้นไม้ที่สามารถใช้ในทางที่ถูกหรือผิดก็ได้
การใช้ต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วในทางที่ถูกก็คือ
การชื่นชมและมองดูความงดงามของมัน
ส่วนการใช้ต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วในทางที่ผิดก็คือการกินผลของมัน เมื่ออาดัมใช้ต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วในทางที่ผิดโดยการกินผลของมัน
ความตายก็ได้เข้ามา ด้วยเหตุนี้จึงสรุปได้ว่า
เมื่อมีการใช้ต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วในทางที่ผิด ก็ก่อให้เกิดความตายได้
ซึ่งเหมือนกับธรรมบัญญัติที่ว่า เมื่อมีการใช้ธรรมบัญญัติอย่างผิดๆ
ความตายก็ได้เข้ามา
ทั้งต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วและธรรมบัญญัติ
เมื่อใช้ในทิศทางที่ถูกต้องก็สร้างประโยชน์ให้กับผู้คนมากมาย ในหนังสือสดุดี
ดาวิดก็ได้สรรเสริญพระเจ้าเพราะธรรมบัญญัติอยู่บ่อยครั้ง โดยธรรมบัญญัติ
ผู้คนก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งชอบธรรมและกำหนดเวลาของพระเจ้า
ขอบคุณพระเจ้าสำหรับธรรมบัญญัติของพระองค์
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
หนังสือ
พระคริสต์ผู้ครอบคลุมสรรพสิ่ง เขียนโดย วิทเนส ลี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น